สนธิ ลิ้มทองกุล นักคิดผู้ทรงอิทธิพล

แม้ว่าวันนี้บทบาทของกลุ่มพันธมิตรฯ จะยุติลง แต่ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ยังคงเป็นผู้นำทางความคิด การตั้งคำถามของเขามีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหามาแล้วหลายครั้ง

แม้ว่าบทบาทของการเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” จะยุติลงไปแล้ว หากแต่ในด้านของ “สื่อ” แล้ว เขายังคงทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การตั้งคำถามของเขาผ่านรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV และเว็บไซต์ผู้จัดการ ก็มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล คมช. หลายครั้งหลายหน

กรณีการแก้ปัญหา “ค่าเงินบาท” เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 49 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นต่อเนื่องจาก 38 สู่ 32 บาทต่อดอลลาร์ในเวลาไม่กี่เดือน ทำให้ผู้ส่งออกเดือดร้อนกันทั่วไป เพราะกลายเป็นว่าขายได้เท่าไหร่ แปลงกลับมาเป็นเงินไทยได้น้อยลงๆ ทุกวัน รายได้หายไปเกือบ 20% ในเวลาไม่กี่เดือนทั้งที่ขายสินค้าได้เท่าเดิม

แบงก์ชาติออกมาตรการ ช็อก ด้วยการบังคับให้ “เงินนอก” ที่เข้าไทย ต้องกันสำรองไว้ 30% ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ตาม หากจะถอนเงินทุนออกไปก่อน 1 ปีเงินสำรอง 30% จะถูกยึด ทั้งนี้เพื่อป้องกันเงินใหม่ไม่ให้ไหลเข้า และทำให้เงินเก่าเสียแรงจูงใจจะอยู่ต่อต้องไหลออกไป หวังช่วยทำให้บาทอ่อนลงอย่างฉับพลันทันที

ปรากฏว่า มาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ ดัชนี้หุ้นไทย ติดลบวันเดียวถึง 100 กว่าจุด ก่อนที่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล จะประกาศกลับลำเว้นให้เฉพาะตลาดหุ้นในคืนนั้นแล้วทำงานต่อไปราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

แต่ปัญหาค่าเงินบาทยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง สนธิจึงเสนอผ่านรายการยามเฝ้าแผ่นดิน แพร่ภาพทาง ASTV ให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยมาตรการลดอัตราดอกเบี้ย ระบุว่าปัญหา “ค่าเงินบาท”แข็งค่าขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง แต่เกิดจาก “Market Maker” ซึ่งเป็นกลุ่มการเงินที่ทรงอิทธิพล ควบคุมค่าเงินบาทให้อ่อนหรือแข็งได้ตาม

สนธิ เสนอว่า วิธีที่แทรกแซงไม่ได้ คือ “อัตราดอกเบี้ย” ถ้าทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยนอกประเทศ โดยมีช่องว่างสูง เงินจะไหลออก ซึ่งจะเกิดผลอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในที่สุด ธนาคารชาติก็ใช้นโยบายการเงินค่อยๆ ลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง ส่วน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็ลาออกไปหลังจากนั้นไม่นาน ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่พอใจที่ “สื่อรายหนึ่ง” มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล

รวมทั้งกรณีของ “ไอทีวี” ที่ไม่ยอมจ่ายค่าปรับจากการไม่จ่ายสัมปทานตอบแทนรัฐ ซึ่งแต่เดิม รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์จะให้ อสมท. ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น เข้าไปซื้อกิจการและจ้างงานผู้บริหารข่าวและรายการชุดเดิมๆไว้ทั้งหมด

แต่หลังจาก สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาชี้ประเด็นผ่านรายการยามเฝ้าแผ่นดิน ว่า ไม่ควรให้ อสมท. ซึ่งถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นของประชาชนอุ้มไอทีวี เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม กับพนักงานของหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่ต้องประสบปัญหาเดียวกันมาก่อน แต่รัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลืออะไร และการล่มสลายของไอทีวีก็เป็นปัญหาจากผู้ถือหุ้น อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อหลบเลี่ยงการจ่ายสัมปทาน

ในที่สุดรัฐบาลจึงหาทางออกให้กับทีไอทีวี ด้วยให้จัดตั้งเป็น “หน่วยงานบริหารเฉพาะกิจรูปแบบพิเศษ หรือ เอสดียู” เพื่อรองรับการบริหารงานชั่วคราวของ “ทีไอทีวี” และให้ยกเว้นระเบียบราชพัสดุ เพื่อให้กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี ได้เต็มประสิทธิภาพ

นี่คือตัวอย่างของการทำหน้าที่ “สื่อมวลชน” ที่แนวคิดของเขายังคงมีผลต่อนโยบายของรัฐบาลหลายครั้ง

ASTV สื่อนิยมชนชั้นกลาง

แม้จะหมดกระแสการขับไล่ทักษิณ แต่ ASTV ได้กลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการรับชมของผู้ชมในวันนี้อย่างมาก ไม่น่าแปลกใจที่ในวงการตลาดสื่อดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะเรียก ASTV ว่า เป็น Frist Band ของการตัดสินสื่อดาวเทียมในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางของประเทศ

“จากการประเมินการเติบโตสมาชิกเคเบิลหรือดาวเทียม เติบโตขึ้นเดือนละ 10% คล้ายกับในยุคหนึ่งเมื่อปี 2530 ที่ทีวีเมืองไทยเปลี่ยนจากขาวดำเป็นสี” ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน อธิบาย

แรงเติบโตนี่เอง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ทีวีดาวเทียม หรือสื่อเคเบิลท้องถิ่น กลายเป็นทางเลือกของผู้ชมในสังคมราวกับว่านี่คือสิ่งจำเป็นของการเสพความสุข ไม่น่าแปลกใจที่เคเบิลท้องถิ่นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล และเข้ามาชิงตลาดในเมืองหลวงอย่างรุนแรง

ASTV ถือเป็นช่องสัญญาณที่รุกคืบมาพร้อมๆ กับการเติบโตของเคเบิลท้องถิ่นด้วย อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่องสัญญาณที่มีความจำเป็นต่อการเติบโตของเคเบิลและจานดาวเทียมยุคปัจจุบัน เนื่องจากกระแสความนิยมตั้งแต่ยุคการขับไล่ทักษิณ

“ถ้ามองในเชิงสินค้า ASTV ถือมีจุดแตกต่างของสินค้าอย่างมาก โดยเฉพาะช่อง NEWS1 สถานีข่าว ซึ่งแตกต่างจากช่องข่าวฟรีทีวีทั่วไป ในการสะท้อนความจริงทุกเรื่อง และเป็นสถานีข่าวที่มีเสรีในการนำเสนอข่าวสูงมาก”

ไม่น่าแปลกใจว่าผลการสำรวจด้านสื่อดาวเทียมล่าสุด ASTV ได้ขึ้นสู่ความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง…

ทั้งนี้ผลการสำรวจล่าสุดของสำนักงานวิจัยแอแบคโพลล์ เรื่อง พฤติกรรมการชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี (ASTV) : กรณีศึกษาผู้ชมข่าวโทรทัศน์ในเขตกรุงเทพฯ และในเขตเทศบาลรวม 17 จังหวัด จำนวน 4,868 ตัวอย่าง พบว่า ASTV ถือเป็นช่องดาวเทียมที่มีผู้ชมนิยมสูงสุด ในสัดส่วนร้อยละ 17.8 รองลงมาได้แก่ ทรู วิชั่นส์ หรือยูบีซีเดิม ร้อยละ 14.6 และอันดับสาม คือ ABTV ร้อยละ 11.8

ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มคนที่นิยมติดตาม ASTV นั้นเป็นกลุ่มคนระดับชั้นกลาง ที่มีรายได้ถึง 10,000 บาทขึ้นไป โดยสามารถวิเคราะห์ได้ว่า กลุ่มชนชั้นกลางที่มีรายได้สูง มีความต้องการเสพข่าวสารสูงมาก

ปัจจุบัน ASTV สามารถดูได้จากช่องทางจานดาวเทียม อินเทอร์เน็ต และเคเบิลทีวี โดยมีผู้ชมผ่านเครือข่ายนี้หลายล้านคน
ASTV จึงเป็นสื่อทรงอิทธิพลสูงสุดในยุคนี้…