องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ในอีก 35 ปีข้างหน้า หรือปี 2593 ผู้สูงอายุจะมีจำนวนถึง 2,092 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20% ของประชากรโลกเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งมีจำนวนเพียง 901 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 12.3%

ด้วยตัวเลขของนักท่องเที่ยวสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เอง ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดเสวนาพิเศษเรื่อง “การท่องเที่ยวผู้สูงอายุ…โอกาสและความพร้อมของไทย” โดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อเร็วๆ นี้

นักท่องเที่ยวสูงอายุ 611 ล้านคน อีก 25 ปี

ภราเดช พยัฆวิเชียร อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวตอนหนึ่งว่า จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลให้คนยุค Baby Boomer หรือเกิดในปี 2489-2507 เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ ทั้งยังถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) มีการประมาณการว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 ทั่วโลกจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุมากถึง 611 ล้านคน

word_icon

คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีเวลาท่องเที่ยวมากกว่านักท่องเที่ยววัยอื่นๆ เนื่องจากไม่มีภาระด้านการทำงานและครอบครัว ทั้งยังมีความพร้อมทางด้านการเงินที่สะสมมาจากการทำงาน หรือการได้รับสวัสดิการจากรัฐบาล จึงต้องการพักผ่อน หรือแสวงหากำไรให้ชีวิตด้วยการเดินทางท่องเที่ยว โดยการเดินทางแต่ละครั้งยังมักมีผู้ติดตามด้วยประมาณ 1-3 คน จึงถือเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรจะมีนโยบายและการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

word_icon2

สร้างรายได้ร่วม 2 แสนล้านบาท

จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 2558 นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ สร้างรายได้ให้ประเทศไทยรวม 195,891 ล้านบาท หรือ 8.66% ของรายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็นต่างชาติจำนวน 3,628,758 คน สร้างรายได้ 183,869 ล้านบาท และคนไทย จำนวน 4,810,464 คน สร้างรายได้ 12,022 ล้านบาท

จำนวนนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุต่างชาติ คิดเป็นสัดส่วน 12.1 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 17.21% สูงกว่าการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดเฉลี่ยต่อปี 10.21%

โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2564 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุสูงถึง 6.2 ล้านคน

นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุต่างชาติที่มีจำนวนสูงสุด 3 ลำดับแรกในปี 2558 

  • จีน 823,296 คน
  • มาเลเซีย 682,367 คน
  • ญี่ปุ่น 239,378 คน

ใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 4.9 พันบาท

นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุต่างชาติมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวัน 4,728 บาท (ต่ำกว่านักท่องเที่ยวโดยรวมที่ใช้จ่ายเฉลี่ย 4,919.63 บาท)

ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันสูงสุด 3 ลำดับแรก

  • สิงคโปร์ 5,965 บาท (เน้นใช้จ่ายด้านที่พักและบริการ เช่น บริการเชิงสุขภาพ, กิจกรรมกีฬา ฯลฯ)
  • สหรัฐอเมริกา 5,475 บาท (เน้นใช้จ่ายด้านที่พักและอาหาร-เครื่องดื่ม) และออสเตรเลีย 5,235 บาท (เน้นใช้จ่ายด้านที่พักและอาหาร-เครื่องดื่ม)

แหล่งท่องเที่ยวไทยยอดนิยมของคนสูงวัย

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศไทย สำหรับนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุชาวจีน คือ กรุงเทพฯ และพัทยา มาเลเซีย คือ หาดใหญ่, กรุงเทพฯ และชลบุรี ญี่ปุ่น คือ เชียงใหม่ และเชียงราย

ส่วนออสเตรเลีย, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร คือ พัทยา, พังงา, กระบี่, ภูเก็ต, เชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่มีระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 10.72 วันต่อครั้ง นานกว่านักท่องเที่ยวโดยรวม 1.25 วัน

ผู้สูงอายุทั่วโลกเลือกเที่ยว “ไทย” อันดับ 1 ในเอเชีย

ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่อยู่ในความนิยมอันดับต้นๆ ของผู้สูงอายุทั่วโลกที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและใช้ชีวิต สอดคล้องกับข้อมูล Retirement Index 2016 โดย International Living ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 7 จาก 43 ประเทศของประเทศที่ผู้เกษียณอายุนิยมไปใช้ชีวิตมากที่สุด ทั้งยังเป็นอันดับ 1 ใน 2 ของประเทศของภูมิภาคเอเชียที่เป็นเป้าหมายสูงสุด 10 อันดับแรกของผู้เกษียณอายุที่นิยมไปใช้ชีวิตมากที่สุด (อีกหนึ่งประเทศคือมาเลเซีย อยู่ในอันดับที่ 5)

สำหรับข้อได้เปรียบของประเทศไทย (คะแนนประเมินสูงกว่า 90) ตามที่ International Living ระบุคือ ราคาอสังหาริมทรัพย์และราคาที่พักที่ไม่สูงมากนัก ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายเรื่องคุณภาพการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงกิจกรรมบันเทิงและนันทนาการ ส่วนข้อเสียเปรียบ (คะแนนประเมินต่ำกว่า 90) คือ สิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ผู้สูงอายุ สิทธิพิเศษด้านวีซ่า ระบบสาธารณสุข สุขอนามัย ความปลอดภัย สาธารณูปโภคด้านขนส่งและดิจิทัล

พัฒนาการท่องเที่ยวยังไงให้โดนใจ

นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุมีลักษณะพิเศษ คือ มีเวลาในการท่องเที่ยวที่ยาวนานกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ เน้นการท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพดีและคุ้มค่า ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจเป็นหลัก ไม่กังวลต่อค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เลือกกิจกรรมที่เหมาะกับวัยและสุขภาพ มีความละเอียดรอบคอบในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ

การพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุของประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการรองรับการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ การส่งเสริมประชาสัมพันธ์สู่กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ การจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (Long Stay)

ขณะเดียวกันยังต้องพัฒนาทั้งในเรื่องของที่พัก แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนมาตรฐานการบริการแบบไทยในการเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุ ผนวกกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยธรรมชาติ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีไทย

ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาบริการการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐาน การศึกษาและประเมินความต้องการด้านการรองรับการพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ

ด้วยเหตุที่ผู้สูงอายุมีประสบการณ์มากจึงทำให้มีความต้องการด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจึงควรกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจและอำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุในด้านต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ทางเดิน ที่นั่งพัก รถเข็น บุคลากรผู้คอยให้ความช่วยเหลือดูแล รวมถึงการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆ ดังจะสังเกตเห็นได้ว่าปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุมีการใช้ไลน์เป็นจำนวนมาก

info_travelnew