เจาะ 10 อันดับเรตติ้งทีวี พ.ย. 61 วิทยุไม่ตาย แต่ไม่โต คว้างบ 437 ล้านบาท 

สำนักงาน กสทช. รายงานสภาพตลาดกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เดือน พ.ย. 2561 พบว่า ช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด (เรตติ้ง) 10 อันดับแรก 

  • อันดับ 1 ช่อง 7HD เรตติ้ง 1.720
  • อันดับ 2 ช่อง 3HD เรตติ้ง 1.127
  • อันดับ 3 ข่อง MONO29 เรตติ้ง 0.858
  • อันดับ 4 ช่อง Workpoint TV เรตติ้ง 0.770
  • อันดับ 5 ช่อง ONE HD เรตติ้ง 0.549
  • อันดับ 6 ช่อง 8 เรตติ้ง 0.494
  • อันดับ 7 ช่อง ไทยรัฐ ทีวี เรตติ้ง 0.398
  • อันดับ 8 ช่อง 3SD เรตติ้ง 0.361
  • อันดับ 9 ช่อง Amarin TV HD เรตติ้ง 0.286
  • อันดับ 10 ช่อง NOW เรตติ้ง 0.214

สำหรับเดือน พ.ย. 2561 นี้ เรตติ้ง 10 อันดับแรกยังเป็นกลุ่มช่องรายการเหมือนเดือนก่อนหน้า มีเพียง 3 ช่องรายการ ช่อง 8 ช่อง 3SD และช่อง NOW ที่มีเรตติ้งเพิ่มสูงขึ้น โดยเกิดจาก

• ละครพื้นบ้าน “สาปกระสือ” เป็นละครเย็นที่ช่วยดันเรตติ้งของช่อง 8 ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือน 2.663 และเรตติ้งเฉลี่ยทั้งรายการ 2.136 นอกจากนี้ ละครเย็น “ซิ่นลายหงส์” ที่ออกอากาศต่อจากละครเรื่อง “สาปกระสือ” ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชม โดยมีเรตติ้งที่ออกอากาศในเดือน พ.ย. 2561 เฉลี่ย 1.875

• สำหรับช่อง 3SD รายการถ่ายทอดสดการแข่งขันมวยไทยโลก ไทยไฟท์ สระบุรี ได้เรตติ้ง 2.412 และเป็นคอนเทนต์หลักที่ดันเรตติ้งเฉลี่ยของช่องให้สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ รายการ “ข่าวนอกลู่” และละครรีรัน “สองหัวใจนี้…เพื่อเธอ” ก็เป็นอีกสองรายการที่มีฐานผู้ชมแข็งแกร่ง โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือน 1.824 และ 1.890 ตามลำดับ

• ส่วนช่อง NOW รายการ แม็กซ์ มวยไทย และรายการเดอะแชมป์เปี้ยน มวยไทยตัดเชือก ยังคงเป็นคอนเทนต์หลักที่ช่วยให้ช่องได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศ ส่งผลให้มีเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนอยู่ในการจัดอันดับ TOP 10 มาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ย. 2561 รายการ แม็กซ์ มวยไทย มีเรตติ้งเฉลี่ย 1.678 และรายการเดอะแชมป์เปี้ยน มวยไทยตัดเชือก มีเรตติ้งเฉลี่ย 1.551

ทีวีฟันงบโฆษณา 5,809 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าการโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ พบว่า มูลค่าการโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เดือน พ.ย. 2561 มียอดรวมประมาณ 5,809 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 113 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2 แต่เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการโฆษณาของเดือน พ.ย. 2561 กับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว พบว่า สูงกว่ามูลค่าการโฆษณาของปี 2560 อยู่ 417 ล้านบาท โดยมูลค่าการโฆษณาของเดือน พ.ย. 2560 ยอดประมาณ 5,392 ล้านบาท

คนไทยฟังวิทยุในบ้านเกินครึ่ง

ส่วนสภาพตลาดกิจการกระจายเสียงของประเทศไทยประจำเดือน พ.ย. 2561 พบว่า จากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบ เอฟ.เอ็ม. จำนวน 40 สถานี (87.5 MHz – 107.0 MHz) จากทุกช่องทาง เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า เดือน พ.ย. 2561 มีประชากรไทยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับฟังวิทยุประมาณ 10,569,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า (ตุลาคม 2561) ประมาณ 37,000 คน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.3

ทั้งนี้ จากข้อมูลพฤติกรรมการรับฟังวิทยุเดือน พ.ย. 2561 พบว่า หากแยกตามสถานที่ผู้คนส่วนใหญ่

  • นิยมรับฟังวิทยุที่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 52.16
  • ฟังวิทยุในรถ ร้อยละ 36.17
  • ฟังในที่ทำงาน ร้อยละ 11.07 และอื่นๆ ร้อยละ 0.60

หากแยกการรับฟังวิทยุตามประเภทอุปกรณ์ พบว่า รับฟังวิทยุผ่านทางเครื่องรับวิทยุคิดเป็นร้อยละ 73.12 ตามมาด้วยการรับฟังผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ร้อยละ 25.83 และผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ร้อยละ 1.05

ในส่วนของมูลค่าโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบ เอฟ.เอ็ม.ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 สถานี (88.0 MHz-91.5 MHz, 93.0 MHz-103.5 MHz และ 104.5 MHz-107.0 MHz พบว่า ในเดือน พ.ย. 2561 มีมูลค่าโฆษณารวมประมาณ 437,452,000 บาท ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนประมาณ 1.84 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของเดือน พ.ย. 2561 กับปีก่อนหน้า พบว่า มีมูลค่าลดลงประมาณ 1.75 ล้านบาท.