การท่องเที่ยว – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 25 Apr 2024 14:32:50 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ผลสำรวจเผยชาวจีนอยากท่องเที่ยวต่างประเทศแต่ยังไม่ได้จองตั๋วในปีนี้มากถึง 40% มองประเทศไทยทำการแคมเปญการตลาดได้ดี https://positioningmag.com/1471162 Thu, 25 Apr 2024 10:55:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1471162 Dragon Trail Research ได้เปิดเผยผลสำรวจชาวจีนเกี่ยวกับมุมมองการท่องเที่ยวในเดือนเมษายนว่า ชาวจีนมากถึง 40% มีแผนที่จะท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ยังไม่มีการจองตั๋วแต่อย่างใด ขณะที่ผู้จองตั๋วและมีการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศมีเพียงแค่ 5% เท่านั้น ขณะเดียวกันก็มองว่าประเทศไทยนั้นทำการตลาดแคมเปญได้ประทับใจ

Dragon Trail Research สำรวจชาวจีนมากถึง 1,015 ราย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งเมืองใหญ่และเมืองรองทั่วประเทศ และสอบถามโดยตั้งคำถามว่ามีแผนที่จะท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2024 นี้หรือไม่ พบว่า 40% มีแผนที่จะท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ยังไม่มีการจองตั๋วแต่อย่างใด รองลงมาคือไม่แน่ใจว่าปีนี้จะได้ท่องเที่ยวต่างประเทศหรือไม่ 27% ขณะที่ 18% ได้มีการจองตั๋วทริปต่างประเทศแล้ว 10% นั้นไม่มีแผนออกนอกประเทศจีน ที่เหลืออีก 5% ได้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว

ในเรื่องของความปลอดภัยในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ชาวจีนที่ได้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 39% ไม่แน่ใจในเรื่องความปลอดภัยของประเทศไทย 34% มองว่าไม่ปลอดภัย ที่เหลืออีก 24% เชื่อมั่นว่าปลอดภัย

ประเทศไทยในมุมมองของชาวจีนที่ตอบแบบสอบถามของบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าวถือว่าปลอดภัยต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น อียิปต์ เม็กซิโก ด้วยซ้ำ แม้ว่าผลสำรวจในเดือนเมษานี้แสดงให้เห็นว่าชาวจีนเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในความปลอดภัยของประเทศไทยก็ตาม

ขณะที่แผนการเดินทางนอกเหนือจากทวีปเอเชียของชาวจีนที่ตอบแบบสอบถามดังกล่าวนั้นลดลงเหลือ 60% จากเดิมมากถึง 75% ในปี 2023 ที่ผ่านมา โดยทวีปยุโรปยังเป็นเป้าหมายหลักของชาวจีน

ข้อมูลจาก Dragon Trail Research

สิ่งที่ดึงดูดให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศนั้น ในแบบสอบถามมีคำตอบ เช่น วิวทิวทัศน์ที่หลากหลาย วัฒนธรรมที่แตกต่าง ผู้คนของแต่ละท้องถิ่น และอาหารแปลกใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับชาวจีนนั้นกว้างไกลมากขึ้น

ค่าใช้จ่ายในการใช้จ่ายประเทศนั้น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 10,000 ถึง 30,000 หยวนต่อทริป ชาวจีนส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถาม 73% มองถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารการกินในต่างแดนเป็นหลัก รองลงมาคือสินค้าของประเทศนั้นๆ ขณะที่สินค้าประเภทเครื่องสำอางหรือเสื้อผ้า เครื่องประดับ เป็นสัดส่วนรองลงมา

แพลตฟอร์มที่ชาวจีนไว้หาข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยวส่วนใหญ่คือ Xiaohongshu โดย Dragon Trail Research แนะนำให้แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทำแคมเปญการตลาดผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นหลักในปี 2024 นี้

นอกจากนี้ในผลสำรวจของ Dragon Trail Research ยังชี้ว่าการทำการตลาดของประเทศไทย ที่เกี่ยวกับด้านท่องเที่ยวนั้นสามารถสร้างความประทับใจให้กับชาวจีนได้ โดยประเทศมีอันดับรองลงมาคือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มัลดีฟ เป็นต้น

]]>
1471162
“พิมาลัย” เกาะลันตา วอนรัฐเร่งดึง “ไฟลท์บินตรง” จากต่างประเทศลง “กระบี่” เสริมการท่องเที่ยว https://positioningmag.com/1452219 Thu, 16 Nov 2023 11:44:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1452219 “พิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา” รีสอร์ทสัญชาติไทยบนเกาะลันตา อัปเดตสถานการณ์การท่องเที่ยวใน “กระบี่” ตลาดลองสเตย์จากยุโรป-สหรัฐฯ ฟื้นแล้ว แต่โซนเอเชียยังเงียบเพราะขาด “ไฟลท์บินตรง” จากแหล่งนักท่องเที่ยวหลัก เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ วอนรัฐเร่งผลักดันปี 2567

“ก่อนโควิด-19 กระบี่เคยได้เปรียบในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เพราะเรามีไฟลท์บินตรงจากจีนมาวันละ 5-6 เที่ยวบิน แต่หลังโควิด-19 ตอนนี้ยังเงียบมาก ไม่มีเที่ยวบินตรงจากจีนเลย” ชรินทิพย์ ตียาภรณ์ ทายาทรุ่น 2 และเจ้าของร่วมของ พิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา เปิดใจถึงข้อกังวลในธุรกิจท่องเที่ยวของกระบี่วันนี้

พิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา นั้นเป็นรีสอร์ทระดับลักชัวรีบนเกาะลันตา จ.กระบี่ มีที่พักทั้งหมด 121 ห้อง กลุ่มลูกค้าหลักของรีสอร์ท 90% เป็นชาวต่างชาติ มีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นชาวไทย

พิมาลัย กระบี่
พิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา เกาะลันตา

แม้ว่าอัตราเข้าพักของพิมาลัยในปี 2566 จะฟื้นแล้ว คาดว่ารวมทั้งปีอัตราเข้าพักจะไปแตะ 65% แต่ชรินทิพย์มองเป้าว่าปี 2567 สามารถดันอัตราเข้าพักของรีสอร์ทไปถึง 72% ได้ หากการท่องเที่ยวกระบี่ฟื้นได้มากกว่านี้จากการทำตลาดโซนเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มหลัก คือ จีน อินเดีย และเกาหลีใต้

ปัจจุบันกลุ่มนักท่องเที่ยว Top 5 ของพิมาลัยคือ อังกฤษ เยอรมัน สวิส อเมริกัน และจีน

โดยกลุ่มชาติตะวันตกเป็นกลุ่มที่มักจะมาพักแบบลองสเตย์ 7-10 คืนต่อครั้ง และนิยมมาในช่วงไฮซีซันเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน

สลับกันกับกลุ่มเอเชียที่จะมาพักระยะสั้นด้วยระยะทางบินใกล้กว่า จะพัก 2-3 คืนต่อครั้ง และมักมาในช่วงโลว์ซีซันเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม

ชรินทิพย์ ตียาภรณ์ ทายาทรุ่น 2 และเจ้าของร่วมของ พิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา

ชรินทิพย์กล่าวว่า ในกลุ่มชาติตะวันตกถือว่าตลาดฟื้นได้พอสมควร และกำลังจะมีไฟลท์บินตรงจากประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียและประเทศโปแลนด์เข้ามาที่สนามบินกระบี่ แต่ในตลาดเอเชียนั้นยังเงียบมากเพราะมีไฟลท์บินตรงเข้ามาน้อย ที่มีขณะนี้จะมาจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

เป็นที่สังเกตว่า “สนามบินกระบี่” เป็น 1 ใน 3 สนามบินที่อยู่ระหว่างกระบวนการถ่ายโอนจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เป็นผู้บริหาร จึงเป็นไปได้ที่ทำให้ช่วงที่ผ่านมาไม่มี ‘เจ้าภาพ’ ในการทำการตลาด เจรจาดึงไฟลท์บินตรงเข้าสู่สนามบินอย่างเคย

จัดโปรฯ ลดค่าห้อง – ดึงนทท. “ออสซี่” ทดแทน

ชรินทิพย์กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาพิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปาจึงต้องมีการพลิกแพลงกลยุทธ์ ผ่านการจัดโปรโมชันลดค่าห้องหรือพักยาวขึ้นได้ค่าห้องถูกลง เพื่อดึงให้กลุ่มตะวันตกที่มักพักลองสเตย์เลือกพักยาวกว่าเดิม

บรรยากาศห้องพัก

อัตราเฉลี่ยราคาห้อง (ADR) จึงลดลงเหลือ 7,300 บาทต่อคืน จากก่อนโควิด-19 เคยไปแตะสูงสุด 8,000 บาทต่อคืน แต่ชรินทิพย์มองว่าช่วงนี้ควรเน้นการดึงแขกให้พักยาวมากกว่า เพราะยิ่งอยู่ยาวยิ่งมีโอกาสที่ลูกค้าจะการใช้จ่ายภายในรีสอร์ท เช่น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สปา แพ็กเกจทัวร์ มากขึ้น

อีกส่วนหนึ่งคือการหาตลาดใหม่ ล่าสุดเป็น “ออสเตรเลีย” ที่พิมาลัยประสานเอเจนซีและนำเสนอที่พัก ซึ่งได้รับผลตอบรับดีเกินคาด เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ช่วยกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพิงลูกค้ากลุ่มยุโรป

พิมาลัย กระบี่
The Heritage โซนใหม่ที่จะเป็นบาร์วิวทะเล

รวมถึงพิมาลัยเองจะอัปเกรดจุดขายใหม่ ๆ ปลายปี 2566 นี้เตรียมพบกับ “The Heritage” บาร์และร้านขนมไทยที่หวังปั้นเป็น “จุดหมายที่ต้องมาเยือน” บนเกาะลันตา เพราะจะตั้งอยู่ในทำเลที่มองเห็นวิวทะเลรอบร้านได้อย่างงดงาม

และในปี 2567 เตรียมออกแพ็กเกจทัวร์ชุมชน “ตกปลากับชาวประมงเกาะปอ” และนำปลาที่จับได้มาทำอาหารในรีสอร์ท ส่งเสริมเรื่องประสบการณ์ท้องถิ่น (Local Experience) ที่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่นิยม รวมถึงช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น

กระบี่

รีสอร์ททะเลไทยต้องแข่งกับ “บาหลี-เวียดนาม”

มองในแง่การแข่งขันของรีสอร์ทในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ของไทยหลังโควิด-19 ชรินทิพย์มองว่า หากเป็นตลาดลักชัวรี ไทยจะต้องแข่งขันกับกลุ่มรีสอร์ทชายทะเลระดับท็อปของโลก เช่น มัลดีฟส์ หมู่เกาะมอริเชียส กรีซ

แต่ถ้าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่อ่อนไหวด้าน “ราคา” จะต้องแข่งขันกับ “บาหลี” และ “เวียดนาม” เพราะราคาที่พักรีสอร์ทถูกกว่าไทย 10-20%

“ในแง่คุณภาพที่พัก บาหลีหรือเวียดนามแข่งขันกับเราได้ แต่เราจะต้องชูเรื่องฮอสพิทาลิตี้สไตล์ไทยที่เราโดดเด่นกว่ามาก ในด้านการบริการ คนไทยมีความจริงใจมากกว่า และมีความรู้ด้านมารยาทสูงกว่า” ชรินทิพย์กล่าวถึงจุดแข็งที่ทำให้ลูกค้าเลือกมาประเทศไทย และหลายคนประทับใจจนมาพักซ้ำ ซึ่งท่องเที่ยวไทยต้องชูจุดนี้ให้มากขึ้น

]]>
1452219
CEO ของ Boeing เผย “ปัญหาใหญ่เวลานี้คือเรื่อง Supply Chain ทำให้การผลิตเครื่องบินไม่ทันความต้องการ” https://positioningmag.com/1446194 Fri, 29 Sep 2023 07:21:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446194 ผู้บริหารสูงสุดของ Boeing ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทว่าความต้องการเครื่องบินยังมีสูงมากจากความต้องการที่อัดอั้นมานาน ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว การเดินทาง ที่ยังเติบโต แต่บริษัทเองก็พบปัญหาเรื่อง Supply Chain ที่ทำให้การผลิตเครื่องบินไม่ทันด้วย

Dave Calhoun CEO ของ Boeing ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ CNBC ว่า โดยมองถึงความต้องการของเครื่องบินนั้นกลับมา จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังกลับมาเติบโตได้ อย่างไรก็ดีเขาพบว่าปัญหาที่ทุกคนต้องเจอคือเรื่อง ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ส่งผลต่อการผลิตกับบริษัท

เขาชี้ว่ายอดการสั่งซื้อรวมถึงความต้องการเครื่องบินของบริษัทนั้นแข็งแกร่งเท่าที่เคยเห็นมาในชีวิตการทำงานของเขาขณะเดียวกันเขาก็ยังกล่าวว่าความต้องการที่อัดอั้นมานาน (Pent Up Demand) นั้นกำลังกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การท่องเที่ยว

หัวเรือใหญ่ของ Boeing ได้กล่าวว่า “ปัญหาที่เราทุกคนกำลังต่อสู้อยู่คือ Supply Chain จะฟื้นคืนความยืดหยุ่นที่เคยมีมาก่อนการแพร่ระบาดของโควิดได้อย่างไร เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้”

ตัวเลขในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Boeing สามารถส่งมอบเครื่องบินได้เพียง 35 ลำ ลดลงจากเดือนกรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ 43 ลำ โดยบริษัทได้ให้เหตุผลถึงเรื่อง Supply Chain ทำให้บริษัทไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากไปกว่านี้

สอดคล้องกับมุมมองของ CEO บริษัทให้เช่าเครื่องบินรายใหญ่อย่าง Aercap ที่กล่าวในเดือนสิงหาคมโดยมองว่าความต้องการเครื่องบินยังสูง แต่ปัญหาคือผู้ผลิตเครื่องบินซึ่งรวมถึง Boeing ไม่สามารถส่งมอบเครื่องบินได้ทันกับความต้องการ และสายการบินอาจต้องใช้เครื่องบินรุ่นเก่าไปอีกสักระยะ

ความกังวลเรื่องของเครื่องบินที่ประกอบในประเทศจีนอย่าง Comac C919 ที่อาจกลายเป็นคู่แข่ง CEO ของ Boeing มองว่าเครื่องบินรุ่นดังกล่าวต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัท และถ้ามองว่าเครื่องบินจากจีนขึ้นมาเป็นคู่แข่งจริงๆ เขาก็มองว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้ายด้วยซ้ำ เนื่องจากความต้องการท่องเที่ยวยังสูงไปจนถึงปี 2050

เมื่อ CEO ของ Boeing ได้ถูกถามเกี่ยวกับความกลัวที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เขากล่าวว่าความกังวลเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมการบิน ขณะที่เรื่องความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์รอบๆ ประเทศจีน เขาหวังว่าเรื่องดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายลงเล็กน้อย และมองว่าอุตสาหกรรมการบินในจีนจะกลับมาได้

]]>
1446194
หลายเมืองในยุโรป-อเมริกา สั่งแบน-จำกัดจำนวน “เรือสำราญ” เข้าท่า หลังส่งผลเสียมากกว่าผลดี https://positioningmag.com/1439989 Sat, 05 Aug 2023 05:54:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439989 หลายเมืองในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการสั่งแบนหรือจำกัดจำนวน “เรือสำราญ” ขนาดใหญ่ที่จะเข้าจอดในท่าเรือ เพราะพบว่าส่งผลเสียหลายประการต่อเมือง และไม่ได้ช่วยสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร

เมืองที่ว่านี้ เช่น เวนิซ ประเทศอิตาลี, บาร์เซโลนา ประเทศสเปน, ซานโตรินี ประเทศกรีซ, ดูบรอฟนิก ประเทศโครเอเชีย, อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ส่วนเมืองที่เลือกแบนหรือจำกัดจำนวนเรือสำราญในสหรัฐฯ​ มักจะเป็นเมืองเล็กๆ ที่รู้สึกว่ารับนักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่ไหว เช่น มอนเทอร์รีย์ เบย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย, คีย์เวสต์ รัฐฟลอริดา, บาร์ ฮาร์เบอร์ รัฐเมน

——————

กิจการเรือสำราญนั้นเป็นวิธีการท่องเที่ยวแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม ผู้โดยสารจะมีโอกาสได้ล่องเรือผจญภัยไปตามริมฝั่งเส้นทางต่างๆ แต่ละเส้นทางสั้นยาวไม่เท่ากัน บางเส้นทาง 7 วัน ขณะที่บางเส้นทางเที่ยวรอบโลก อาจได้อยู่บนเรือกันนานนับเดือน

บนเรือสำราญจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย บางลำที่มีขนาดใหญ่มโหฬารอาจเป็นเหมือน ‘เมืองลอยน้ำ’ เลยทีเดียว เพราะนอกจากห้องพักแล้ว บนเรือยังมีทั้งสวนน้ำ ห้องอาหาร ร้านช้อปปิ้ง กาสิโน โรงภาพยนตร์ โรงละคร

เรือเหล่านี้มักจะแวะตามท่าเรือต่างๆ เพื่อพักเติมน้ำมันและเสบียง ระหว่างแวะพักผู้โดยสารจะมีเวลาได้ลงไปเที่ยวชมเมืองชายทะเล อาจมีเวลาให้ไม่กี่ชั่วโมงหรือแวะ 1 วัน

——————

กลุ่มเรือสำราญที่มีขนาดใหญ่เหล่านี้ จะจุผู้โดยสารได้หลักหลายพันคน และยังมีลูกเรือกลุ่มพนักงานอีกนับพันคนเช่นกัน ทำให้การแวะพักแต่ละครั้งจะมีคนบนเรือจำนวนมากลงมาใช้บริการต่างๆ ในเมือง

ดังนั้น ก่อนหน้านี้ใครๆ ต่างก็ต้องการต้อนรับเรือสำราญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลายปีมานี้กลับมีหลายเมืองที่ ‘ไม่ต้อนรับ’ เรือสำราญอีกต่อไป โดยมีเหตุผลหลักๆ เช่น

1) เรือขนาดใหญ่เกินไป จนมีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานของเมือง

2) คนจากบนเรือลงมาท่องเที่ยวพร้อมกันหลายพันคน แต่เมืองเล็กๆ ไม่สามารถจะรับนักท่องเที่ยวได้ไหว นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะมากเกินไป

3) นักท่องเที่ยวแวะเพียงชั่วครู่ จึงไม่ได้ใช้จ่ายมากนัก และแพ็กเกจทัวร์เรือสำราญส่วนใหญ่รวมค่าอาหาร-เครื่องดื่มบนเรือไว้แล้ว หลายคนจึงรอกลับไปทานอาหารบนเรือมากกว่า เคยมีการศึกษาจากเมืองเบอร์เกน ประเทศนอร์เวย์ พบว่าคนจากเรือสำราญจะใช้จ่ายเฉลี่ย 23 ยูโรต่อคนเท่านั้น

4) นักท่องเที่ยวจากเรือสำราญไม่มีเวลาพอที่จะเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะมีเวลาแวะพักเฉลี่ย 8 ชั่วโมงเท่านั้น

5) เรือสำราญทำลายสิ่งแวดล้อม ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากเรือสำราญที่แวะเมืองท่าในยุโรปในปี 2022 รวมกันแล้วเท่ากับเที่ยวบินไปกลับปารีส-นิวยอร์ก 50,000 เที่ยว และเรือสำราญ 63 ลำจะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกมาเท่ากับรถยนต์ทั้งหมดที่มีในยุโรป

6) เรือสำราญขนาดใหญ่ยังทำลายระบบนิเวศทางทะเลได้ โดยอาจทำลายแนวปะการัง และสัตว์น้ำต่างๆ เช่น วาฬ

——————

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับการแบนหรือจำกัดจำนวนเรือสำราญ

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของธุรกิจหลายรายในบาร์ ฮาร์เบอร์ รัฐเมน สหรัฐอเมริกา รวมกันฟ้องหน่วยงานราชการ เพราะการจำกัดจำนวนผู้โดยสารเรือสำราญให้เข้าท่าได้ไม่เกิน 1,000 คนต่อวัน ทำให้ธุรกิจเสียหายมาก

เมื่อธุรกิจบางส่วนก็ยังหวังพึ่งพิงเรือสำราญ ทำให้ทางออกที่เป็นไปได้ของท่าเรือเหล่านี้คือการเก็บ “ภาษี” ต่อหัวในการเข้าท่าให้สูงขึ้น เพื่อเป็นเงินตั้งต้นไว้ก่อนว่าเมืองนั้นๆ จะได้รายได้คุ้มค่ากับการบำรุงรักษา และต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อม

ที่มา: Insider, Business Insider, Euronews

]]>
1439989
ไม่ใช่แค่บาหลี! “อินโดนีเซีย” วางแผนโปรโมต 5 จุดหมายใหม่ ขยายเวลาเที่ยวต่อทริป https://positioningmag.com/1429607 Sat, 06 May 2023 10:13:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1429607 ภาคท่องเที่ยว “อินโดนีเซีย” จะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 ด้วยนโยบายขยายการโปรโมต 5 จุดหมายปลายทางใหม่ในประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติขยายเวลาท่องเที่ยวต่อทริป ไม่ได้มาเที่ยวเฉพาะ “บาหลี” อีกต่อไป

“ซานดิอากา อูโน” รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยถึงแผนการสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ให้เล็งเห็นศักยภาพการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียที่ “มากกว่าแค่บาหลี”

โดยอินโดฯ ต้องการโปรโมต 5 จุดหมายปลายทางใหม่ที่จะถือเป็น “จุดหมายหลักที่สำคัญยิ่ง” สำหรับการท่องเที่ยวต่อจากนี้ ได้แก่

  • ทะเลสาบโตบา ทางเหนือของเกาะสุมาตรา เป็นทะเลสาบบนปากปล่องภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • บุโรพุทโธ ตอนกลางของเกาะชวา วัดพุทธที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
  • ลาบวน บาโจ เมืองชาวประมงที่เป็นถิ่นที่อยู่ของมังกรโคโมโด
  • หาดมันดาลิกา ทางตอนใต้ของเกาะลอมบอก เด่นด้วยชายหาดยาวสีขาวและแหล่งเล่นเซิร์ฟ
  • หาดลิกูปัง ทางตอนเหนือของเกาะสุลาเวสี จุดหมายใหม่ของการดำน้ำ

เนื่องจากในระยะหลัง นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมาอินโดนีเซียเพื่อเยี่ยมชมบาหลีเป็นหลัก แต่พวกเขาเริ่มเลือกที่จะอยู่สำรวจจุดหมายอื่นๆ ในอินโดฯ เพิ่มมากขึ้น ทำให้อินโดฯ เล็งเห็นว่าควรเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ

“ดังนั้น เราจะไม่มุ่งเน้นแต่การท่องเที่ยวแบบหาดทราย สายลม แสงแดด ซึ่งเป็น 3 สิ่งที่เราโด่งดังอยู่แล้ว” อูโนกล่าว “เราจะเพิ่ม 3 สิ่งใหม่เข้าไปในการท่องเที่ยว คือ ความสงบ ความยั่งยืน และเรื่องทางจิตวิญญาณ”

ลาบวน บาโจ ถิ่นอาศัยของมังกรโคโมโด (Photo: Bowo Ikhsanto / Pixabay)

“เรามีจุดหมายปลายทาง 5 จุดสำคัญที่พร้อมจะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยแต่ละแห่งมีประสบการณ์และความทรงจำที่พิเศษเป็นของตนเอง”

นอกจาก 5 จุดหมายสำคัญที่ได้กล่าวไปแล้ว อินโดนีเซียยังมีจุดหมายรองอีก 5 จุดที่กำลังพิจารณาผลักดันอยู่ คือ หมู่เกาะบังกาเบอลีตุง, หาดตันจุงเลซุง, เกาะโมโรไท, แหล่งดำน้ำหมู่เกาะวาคาโทบิ และหมู่เกาะราชาอัมพัต

 

เน้นผลักดันด้าน “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

อูโนกล่าวด้วยว่า อินโดนีเซียกำลังมุ่งเน้นด้านความยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยวหลังฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยจะผลักดันด้านการจัดการขยะอาหาร (food waste) และการลดคาร์บอนฟุตปรินท์

โรงแรม ร้านอาหาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว จะได้รับแรงจูงใจเพื่อให้สร้างซัพพลายเชนที่ใช้ทรัพยากรจากท้องถิ่น

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีส่วนคิดเป็น 8% ในการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศโลก ดังนั้น อินโดนีเซียตั้งใจจะลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการท่องเที่ยวลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2035 และไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (net-zero) ภายในปี 2045

โซลูชันในการไปถึงจุดนั้นได้คือรัฐบาลจะปลูกป่าโกงกางให้มากขึ้น และสนับสนุนการท่องเที่ยวสีเขียว (green tourism)

“ทุกจุดหมายการท่องเที่ยวต้องมีตัวเลือกให้เราสื่อสารกับตลาดได้ว่า เรามีจุดหมายท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเราพร้อมที่จะช่วยคุณลดคาร์บอนฟุตปรินท์ที่เกิดจากการท่องเที่ยว นี่คือการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่จะทำให้เข้ากับท้องถิ่นมากขึ้น สร้างสรรค์เฉพาะบุคคลมากขึ้น” อูโนกล่าว

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่รัฐมนตรีอูโนยังเชื่อว่าการท่องเที่ยวในอินโดนีเซียจะเป็นไปในเชิงบวก และเชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าสู่อินโดฯ ในปี 2023 จะเพิ่มเป็นเท่าตัวจากปีก่อนได้

Source

]]>
1429607
ประกาศเปิดประเทศแล้ว…แต่การท่องเที่ยวในประเทศ “จีน” น่าจะใช้เวลาฟื้นตัวอีกนาน https://positioningmag.com/1414726 Thu, 05 Jan 2023 11:21:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1414726 บทวิเคราะห์จาก South China Morning Post มองว่าการประกาศเปิดประเทศของ “จีน” ไม่น่าจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวในประเทศจีนฟื้นตัวได้เร็ว เพราะปัญหาเศรษฐกิจ-อัตราว่างงานทำให้คนจีนเองลดงบประมาณการท่องเที่ยวลง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่กล้าเดินทางเข้าจีนมากนักเพราะหวั่นเกรงเรื่องการระบาดของโควิด-19 ในจีน

หลังจากจีนประกาศยกเลิกหลายมาตรการที่ใช้ในการควบคุมโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวจีนเริ่มมีความหวังว่าจะได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่เส้นทางการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจีนดูจะยังอีกยาวไกล

จากช่วงเทศกาลปีใหม่ 2023 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวภายในประเทศมีการฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย โดยมีการเดินทางทั้งหมด 52.7 ล้านครั้งทั่วประเทศ ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของเทศกาลปีใหม่ 2022 อ้างอิงข้อมูลโดย กระทรวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของประเทศจีน

จำนวนการท่องเที่ยวในประเทศนี้คิดเป็นเพียงสัดส่วน 42.8% เมื่อเทียบกับปีใหม่ปี 2019 ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ และหากคิดเป็นมูลค่า จะลดเหลือเพียง 35.1% ของปี 2019 ด้วย

ที่จริงการฟื้นตัวในเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาควรทำได้ดีกว่านี้ แต่เพราะเกิดอัตราติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงในประเทศทำให้หลายคนต้องล้มเลิกแผนท่องเที่ยวไป

ภาพจาก Shutterstock

ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา โรงแรมต่างๆ พยายามเอาตัวรอดด้วยการโปรโมตแพ็กเกจการจัดปาร์ตี้รับปีใหม่และ ‘staycation’ สำหรับคนท้องถิ่นทดแทน เนื่องจากยอดจองห้องจากต่างประเทศยังต่ำอยู่

ส่วนปี 2023 นี้ การคลายล็อกมาตรการคุมโควิด-19 น่าจะทำให้คนจีนเกิดความกระตือรือร้นที่จะท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญและเอเจนซี่ทัวร์หลายแห่งมองตรงกันว่า คนจีนน่าจะเลือกจองทริปเที่ยวสั้นลงและถูกลง เพราะการต่อสู้กับโรคระบาดมาตลอดทำให้เศรษฐกิจจีนฝืดเคือง และเกิดอัตราว่างงานสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เน้นทริปที่มีระยะสั้นไม่เกิน 3 วัน

 

ต่างชาติเที่ยวจีนน่าจะยังซบเซา

หาก ‘จีนเที่ยวจีน’ นับว่าฟื้นตัวช้าแล้ว การท่องเที่ยวขาเข้าจากต่างประเทศเข้ามายังแดนมังกรยิ่งฟื้นตัวช้ากว่า โดยบริษัทบริหารโรงแรมหลายรายมองตรงกันว่า การคลายเข้มงวดในการควบคุมโควิด-19 ทำให้ยอดจองห้องพักในจีนดีขึ้นบ้าง แต่การที่ยังมีข่าวการระบาดในเมืองต่างๆ ทั่วแดนมังกรก็ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงลังเลที่จะเข้ามาเยือน

ภาพจาก Shutterstock

ผู้บริหารโรงแรมระดับ 5 ดาวรายหนึ่งในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า โรงแรมของตนค่อนข้างมองบวกกับการคลายล็อกการเข้าประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมนี้ เพราะปกติปักกิ่งเคยเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เชื่อว่ายอดจองจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่คิดว่าจะเร็วนัก ในช่วงสองสามสัปดาห์แรกหลังคลายล็อกน่าจะยังไม่มียอดจองเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

รายงานจากสมาคมการท่องเที่ยวประเทศจีนที่ออกมาเมื่อเดือนธันวาคม 2022 เชื่อว่า จีนจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 20 ล้านคนภายในปี 2023 เทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 145 ล้านคนที่เดินทางเข้าจีนในปี 2019 ปีนี้การท่องเที่ยวขาเข้าของจีนน่าจะยังซบเซาอยู่มาก

จุดหมายปลายทางในจีนในระยะนี้ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมสูง คือมณฑลที่อยู่ทางใต้ซึ่งอากาศอบอุ่นกว่า เช่น ยูนนาน ไห่หนาน น่าจะเป็นจุดหมายของทั้งต่างชาติและคนจีนจากเมืองใหญ่เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ นานจิง เทียนจิน ที่อยากออกท่องเที่ยวกันแล้ว

Source

]]>
1414726
“ไทยเวียตเจ็ท” บุกหนักต่างประเทศ เตรียมบิน “อินเดีย” ตั้งเป้าผู้โดยสารปี’66 แตะ 8 ล้านคน https://positioningmag.com/1410764 Thu, 01 Dec 2022 10:12:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1410764
  • “ไทยเวียตเจ็ท” สรุปการดำเนินงานปี 2565 ปีแห่งการขยายเส้นทางบิน คาดมีผู้โดยสารรวม 6.3 ล้านคน
  • ปี 2566 บุกหนักบินข้ามพรมแดน พลิกสัดส่วนไฟลท์ระหว่างประเทศเป็น 67% มากกว่าบินในประเทศ วางแผนเปิดรูท “อินเดีย” เบาะรองรับหากจีนไม่เปิดประเทศ
  • ตั้งเป้าผู้โดยสารปี 2566 ขึ้นไปแตะ 8 ล้านคน เพิ่มฟลีทเครื่องบินอีก 3 ลำ ลดปัญหาดีเลย์
  • 2565 นับเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของธุรกิจ “สายการบิน” โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มซาลง ทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก รวมถึงสายการบิน “ไทยเวียตเจ็ท” ก็เช่นกัน

    “วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท สรุปผลการดำเนินงานช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ มีผู้โดยสารกับไทยเวียตเจ็ทไปแล้ว 5 ล้านคน และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะมีครบ 6.3 ล้านคน

    ในแง่ของการขยายเที่ยวบิน ปัจจุบันไทยเวียตเจ็ทมีการบินในประเทศ 12 เส้นทาง ทำการบินเกือบ 100 เที่ยวบินต่อวัน อัตราผู้โดยสารต่อเที่ยว (load factor) อยู่ที่ 85%

    ไทยเวียตเจ็ท
    8 เส้นทางบินต่างประเทศของไทยเวียตเจ็ทในปี 2565

    ส่วนระหว่างประเทศมีการบิน 8 เส้นทาง ได้แก่ โฮจิมินห์ซิตี้, ดานัง, ฟูโกว๊ก, ดาลัด, สิงคโปร์, ฟุกุโอกะ, ไทเป และพนมเปญ รวมทำการบินระหว่างประเทศ 92 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ อัตราผู้โดยสารต่อเที่ยว (load factor) อยู่ที่ 75-80%

    เป็นปีที่ไทยเวียตเจ็ทกลับมาขยายตลาดอย่างรวดเร็ว เฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีการเพิ่มเส้นทางและความถี่ขึ้นถึง 7 เท่าในระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา และเที่ยวบินในประเทศนั้นเพิ่มเที่ยวบินจนเป็นสายการบินที่ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ของตลาด ด้วยสัดส่วน 20%

     

    เส้นทางบิน “ต่างประเทศ” หัวใจการทำกำไร

    วรเนติกล่าวต่อว่า การเน้นหนักเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ไทยเวียตเจ็ทจะทำต่อเนื่อง จากขณะนี้มีสัดส่วน 40% ในการทำการบินทั้งหมด จนถึงสิ้นปี 2566 เที่ยวบินระหว่างประเทศจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 67% พลิกสัดส่วนมากกว่าการบินในประเทศ และทำให้จำนวนผู้โดยสารบินระหว่างประเทศเติบโตมากกว่า 3 เท่า

    ไทยเวียตเจ็ท
    สัดส่วนไฟลท์บินระหว่างประเทศเทียบกับในประเทศ ปี 2565-66

    “ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท อธิบายเพิ่มว่าทำไมไทยเวียตเจ็ทต้องปั้นพอร์ตเที่ยวบินระหว่างประเทศให้มากขึ้น

    การบินต่างประเทศคือการทำให้เครื่องบิน 1 ลำได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า เพราะน้ำมันเครื่องบินจะใช้เยอะที่สุดคือช่วงเทกออฟและแลนดิ้ง รวมถึงค่าเสื่อมอะไหล่ของการบิน 1 ชม. กับ 5 ชม. ไม่ต่างกัน การได้บินนานๆ ต่อ 1 ไฟลท์จึงคุ้มค่ากว่า นอกจากนี้ การบินระยะไกลยังทำให้เครื่องบินมีโอกาสได้ใช้บินช่วงกลางคืนด้วย ต่างจากการบินสั้นในประเทศ ไม่มีผู้โดยสารต้องการมาขึ้นเครื่องดึกๆ แน่นอน ดังนั้น เราต้องทำไฟลท์ระหว่างประเทศให้ได้เยอะกว่านี้ เพื่อเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินต่อวัน” ปิ่นยศกล่าว

    เหตุผลรองอีกส่วนหนึ่งคือการแข่งขันในประเทศค่อนข้างสูง ปิ่นยศกล่าวว่าช่วงหลังเปิดประเทศ แม้แต่สายการบินฟูลเซอร์วิสก็ลดระดับราคาลงมาแข่งขันกับโลว์คอสต์ แต่ถ้าเป็นรูทต่างประเทศ การลดราคาแข่งจะยากกว่า และบางเส้นทางที่ไทยเวียตเจ็ทเลือก มีดีมานด์สูง และเป็นเส้นทางบินของนักธุรกิจที่มีกำลังซื้อ ทำราคาได้ เช่น กรุงเทพฯ-สิงคโปร์, กรุงเทพฯ-พนมเปญ จึงมีโอกาสทำกำไรมากกว่า

     

    ปี’66 เชียงใหม่-โอซาก้ามาแน่ เตรียมเพิ่ม “อินเดีย” เข้าแผนที่

    นอกจากจะเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางเดิม เช่น กรุงเทพฯ-ไทเป, กรุงเทพฯ-พนมเปญ ยังจะมีเส้นทางใหม่ๆ เพิ่มมาในแผนของไทยเวียตเจ็ทด้วย ที่แน่นอนแล้วคือ กรุงเทพฯ-ดาลัด จะกลับมาบินวันพรุ่งนี้ (2 ธันวาคม 2565) เป็นวันแรกนับตั้งแต่เผชิญโควิด-19

    อีกเส้นทางที่จะเริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2566 คือ เชียงใหม่-โอซาก้า เป็นเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยบินมาก่อน วางราคาไม่เกิน 8,000 บาทต่อคนต่อเที่ยว (ไม่รวมน้ำหนักกระเป๋า)

    “เชื่อว่าเส้นทางนี้จะได้ทราฟฟิกคนโอซาก้าหรือคนญี่ปุ่นมาเที่ยวเชียงใหม่เป็นหลักราว 80% อีก 20% จะเป็นคนไทยภาคเหนือออกไปเที่ยวญี่ปุ่น” วรเนติกล่าว

    Photo : Shutterstock

    สำหรับเส้นทางบินอื่นๆ ที่เป็นเป้าหมายของไทยเวียตเจ็ท ได้แก่ ประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน อินเดีย และเกาหลีใต้

    ปิ่นยศกล่าวว่า ที่คาดว่าน่าจะได้บินเร็วๆ นี้แน่นอนคือ “อินเดีย” อยู่ระหว่างรอรับใบอนุญาตสิทธิการบินจากทางอินเดีย โดยเตรียมรูทบินไว้ 3-4 เส้นทาง บินสู่เมืองมุมไม, อาห์เมดาบัด, ชัยปุระ และลัคเนา

    เส้นทางบินอินเดียนี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะอาจได้เป็นตลาดทดแทน “จีน” ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ แม้จะคาดการณ์กันว่าน่าจะเปิดประเทศได้ภายในไตรมาส 2 ปีหน้าก็ตาม

    ไทยเวียตเจ็ท
    ผู้บริหารไทยเวียตเจ็ท: (ซ้าย) “วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ (ขวา) “ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์

     

    ปีหน้าขอแตะ 8 ล้านคน สั่งเครื่องเพิ่ม 3 ลำ

    วรเนติสรุปเป้าหมายปี 2566 จะดันจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8 ล้านคน และจากการเพิ่มเที่ยวบิน ทำให้สายการบินมีการเพิ่มจำนวนเครื่องบินอีก 3 ลำ รวมเป็น 20 ลำในฟลีท

    ช่วงที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์ วรเนติยอมรับว่าไทยเวียตเจ็ทมีปัญหาการดีเลย์กลับมาอีกครั้งเพราะจำนวนเครื่องบินไม่เพียงพอ หลังจากมี 1 ลำต้องพักซ่อมแซมเครื่อง และอีก 1 ลำที่คาดว่าจะเติมฟลีทได้กลับได้รับอนุญาตบินล่าช้ากว่ากำหนด แต่เมื่อได้เครื่องบินกลับมาเต็มพอร์ต น่าจะทำให้ปัญหาดีเลย์หมดไป

    ถ้าหากทำได้ตามแผน ทั้งการขยายเส้นทางและดึงผู้โดยสารได้ตามเป้า วรเนติเชื่อว่าสายการบินจะพลิกมาทำกำไรได้ในปีหน้า!

    ]]>
    1410764
    ถ้าเที่ยวต่างประเทศได้ “คนจีน” จะไม่ไป “สหรัฐฯ” เพราะกังวลเรื่องความรุนแรง-เหยียดชาติ https://positioningmag.com/1399889 Tue, 13 Sep 2022 03:03:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399889 “สหรัฐฯ” เคยเป็นหนึ่งในจุดหมายอันดับต้นๆ ที่ “คนจีน” ชอบเดินทางไปท่องเที่ยว แต่การสำรวจครั้งล่าสุดก่อนจีนเปิดประเทศเต็มที่เร็วๆ นี้ กลับพบว่าสหรัฐฯ เสื่อมความนิยมลง เพราะคนจีนกังวลเรื่องความรุนแรง อาชญากรรม และการเหยียดเชื้อชาติ โดยทวีปยุโรปกลายเป็นจุดหมายที่นิยมมากขึ้นแทน

    Morning Consult บริษัทวิจัยสัญชาติอเมริกัน จัดสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างชาวจีน 1,000 คน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า ชาวจีน 1 ใน 5 คนพร้อมที่จะออกไปเที่ยวต่างประเทศเมื่อจีนเปิดพรมแดน

    อย่างไรก็ตาม จุดหมายที่คนจีนชื่นชอบมีความเปลี่ยนแปลง “สหรัฐอเมริกา” นั้นเคยเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมที่คนจีนอยากไปเที่ยว แต่ปัจจุบันเสื่อมความนิยมเพราะคนจีนหวั่นกลัวความรุนแรง เช่น การกราดยิงในที่สาธารณะ

    ชาวจีนที่ไม่ต้องการไปเที่ยวสหรัฐฯ 57% ของกลุ่มนี้ให้เหตุผลเรื่องความรุนแรงเป็นหลัก ตีคู่มากับเรื่อง COVID-19 ส่วนเหตุผลรองๆ ลงมาจะเป็นเรื่อง การก่อการร้าย การเหยียดชาติจีนในหมู่คนท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ และเรื่องค่าใช้จ่าย

    นิวยอร์ก เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่มีคดีทำร้ายคนเอเชียเพิ่มสูงขึ้น (Photo by Noam Galai/Getty Images)

    ก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาด COVID-19 นักท่องเที่ยวจีนนั้นถือเป็นอันดับ 3 สัญชาตินักท่องเที่ยวที่เข้าสู่สหรัฐฯ มากที่สุด แต่ปัจจุบันจากการสำรวจดังกล่าว มีคนจีนแค่ 35% ที่อยากไปท่องเที่ยวสหรัฐฯ เทียบกันแล้ว “ยุโรป” จะได้รับความนิยมมากกว่า เพราะ 54% ของคนจีนที่สำรวจต้องการไปเยือนทวีปนี้

    “คนจีนจำนวนมากมีความสนใจเพียงเล็กน้อยหรือไม่สนใจเลยที่จะไปเที่ยวสหรัฐฯ” Morning Consult สรุป

     

    ข่าวกราดยิง ทำร้ายคนเอเชีย คือปัจจัยลบ

    “สื่อจีนชอบตีข่าวเรื่องความรุนแรงจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะข่าวการกราดยิง นั่นทำให้ความกลัวของคนจีนยิ่งเพิ่มมากขึ้น” สก็อต มอสโควิตซ์ นักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ของ Morning Consult กล่าว

    นอกจากนี้ เป้าหมายของการทำร้ายในสหรัฐฯ มักจะเป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวเอเชียนอเมริกันที่ตกเป็นเป้ามากขึ้น

    จากข้อมูลของศูนย์การศึกษาด้านความเกลียดชังและความรุนแรง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการออกรายงานว่า คนเอเชียนอเมริกันถูกโจมตีเพราะความเกลียดชังเชื้อชาติเพิ่มขึ้นถึง 339% เทียบระหว่างปี 2020-2021 โดยในเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น นิวยอร์ก, ลอสแอนเจลิส และซานฟรานซิสโก นั้นเกิดเหตุมากขึ้นแบบพุ่งทะยาน

    การจะขอให้สื่อจีนลดการนำเสนอความรุนแรงในสหรัฐฯ นั้นเป็นไปได้ยาก Morning Consult จึงแนะนำว่าบริษัททัวร์ที่ยังต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน อาจจะต้องทำการตลาดที่เน้นย้ำเรื่องการดูแลความปลอดภัยเป็นหลัก

    Source

    ]]>
    1399889
    เหตุผลที่สนามบิน-สายการบิน “ยุโรป” สุดโกลาหล ยกเลิกไฟลท์-เที่ยวบินดีเลย์เพียบ https://positioningmag.com/1392204 Mon, 11 Jul 2022 12:05:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1392204 สายการบินมีการยกเลิกไฟลท์หลายหมื่นเที่ยวบินตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2022 ผู้โดยสารมากมายถูกทิ้งไว้กลางทาง ภาพการต่อคิวยาวเหยียด หรือกระเป๋าเดินทางถูกทิ้งไว้ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลกลายเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไป เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ใน “ยุโรป” ดูจะโกลาหลหนักกว่าทวีปอื่นๆ

    ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2022 สายการบินอเมริกันมีการยกเลิกไฟลท์บินไปกว่า 21,000 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 2.7% ของจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด

    แต่จำนวนเที่ยวบินยกเลิกของฝั่งสหรัฐฯ ก็ยังไม่เท่ากับไฟลท์ยกเลิกของฝั่งยุโรปซึ่งมากกว่าเป็นเท่าตัว จากการเก็บข้อมูลของบริษัท RadarBox.com ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2022 ในหมู่สนามบินที่แย่ที่สุดของยุโรป 10 แห่ง มีการยกเลิกเที่ยวบินสะสม 64,100 เที่ยวบิน ระหว่าง 3 เดือนดังกล่าว

    ทำไมยุโรปถึงอาการหนักในการ “เท” ผู้โดยสาร? คำตอบคือ 2 เหตุผลนี้

     

    1.พนักงานไม่พอ รับสมัครกลับมาไม่ทัน แถมยังมี “สไตรค์”

    สายการบินอเมริกันมีการปลดพนักงานออกในช่วงโรคระบาดเหมือนกัน แต่สายการบินอเมริกันมีการเตรียมตัวกลับสู่โลกปกติได้เร็วกว่า โดยเริ่มรับสมัครงานพนักงานกลับมาตั้งแต่กลางปี 2021

    นโยบายของฝั่งสหรัฐฯ ที่กลับมารับพนักงานเร็ว ก็เป็นเพราะการเดินทางภายในประเทศของสหรัฐฯ ทำได้ง่ายกว่า ด้วยกฎเกณฑ์ด้านโรคระบาดสำหรับการเดินทางระหว่างรัฐนั้นไม่เข้มงวดมากนัก เทียบกับในยุโรปแล้ว มีการควบคุมเข้มงวดกว่าเพราะเป็นการเดินทางระหว่างประเทศ ดังนั้น จำนวนเที่ยวบินฝั่งสหรัฐฯ จึงดีดกลับมาเร็วกว่า ต้องการพนักงานเพิ่มมาตั้งแต่ปีก่อน

    ยุโรป สนามบิน โกลาหล
    สัมภาระของผู้โดยสารถูกวางเกะกะไว้บริเวณเบลท์สัมภาระ สนามบินสคิปโฮล เนื่องจากขาดพนักงานดูแล ภาพจากวันที่ 12 มิ.ย. 2022 (Photo: Shutterstock)

    ขณะที่ฝั่งยุโรปนั้น ในช่วง COVID-19 มีการปลดคนสูงสุด 191,000 คนทั่วยุโรป รวมทั้งพนักงานบนเครื่องบินและพนักงานภาคพื้นในสนามบิน เฉพาะพนักงานในสนามบินนั้น การเลย์ออฟทั้งหมดคิดเป็น 58.5% ของพนักงานทั้งหมด จากข้อมูลที่ศึกษาโดย สมาพันธ์แรงงานด้านการขนส่งแห่งยุโรป

    เมื่อขณะนี้การท่องเที่ยวเพิ่งจะพุ่งทะยานกลับมาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด จึงไม่มีพนักงานเพียงพอ ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลการสแกนสัมภาระ ความปลอดภัย หรือกระทั่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

    อีกทั้งการรับสมัครงานพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการบิน ยังต้องผ่านการตรวจสอบประวัติเพื่อความปลอดภัยหลายอย่างซึ่งใช้เวลา ขณะที่เงื่อนไขการทำงานก็ไม่ค่อยจูงใจแรงงานเท่าไหร่

    Ryan Air หนึ่งใสสายการบินที่เผชิญปัญหาพนักงานสไตรค์ (Photo: Markus Winkler/ Pexels)

    ยกตัวอย่างสนามบินฮีทโธรว์ของอังกฤษ เพิ่งจะเริ่มรับสมัครงานกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 และกว่าจะทยอยบรรจุพนักงานได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ก็คาดว่าจะต้องรอถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

    ซ้ำร้าย พนักงานที่ยังทำงานอยู่ขณะนี้ก็มีสไตรค์ นัดหยุดงานประท้วงบ่อยครั้ง เพราะเงื่อนไขการทำงานหนักหน่วง และยังได้ค่าจ้างแบบยุคโรคระบาดที่ถูกตัดเงินเดือนไปมาก ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน Ryanair, Easyjet, Lufthansa หรือ สนามบิน สคิปโฮล ในเนเธอร์แลนด์ สนามบินชาร์ลส์ เดอ โกล ในฝรั่งเศส ต่างก็เคยเกิดพนักงานสไตรค์มาแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอีกเรื่อยๆ ในสายการบินอื่นหรือสนามบินอื่น

     

    2. “ยุโรป” คือศูนย์รวมการเดินทาง

    พนักงานไม่พอ แต่ยุโรปคือศูนย์รวมแห่งการเดินทางท่องเที่ยว ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2022 ยุโรปมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น 280% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถ้าเทียบกันแล้ว สหรัฐฯ มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่ม 117% เทียบกับปีก่อน เห็นได้ว่ายุโรปต้องรับภาระหนักมากกว่า

    ทำไมนักท่องเที่ยวจึงพร้อมใจกันมา? เรื่องนี้เป็นเพราะยุโรปเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดด้านโรคระบาดก่อนทวีปอื่น ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนของยุโรป จุดหมายปลายทาง 31 แห่งของยุโรปไม่มีกฎด้าน COVID-19 ในการเข้าสู่ดินแดนโดยสิ้นเชิง

    ภาคท่องเที่ยวต้องการจะต้อนรับผู้มาเยือน แต่ซัพพลายด้านการเดินทางไม่พร้อมจะรับดีมานด์เหล่านี้เลย

    สนามบินใหญ่ๆ ของยุโรป เช่น สคิปโฮล ในอัมสเตอร์ดัม หรือ ฮีทโธรว์ ในกรุงลอนดอน ต่างวอนขอให้สายการบินช่วยลดจำนวนเที่ยวบินลง บางสายการบินเรียกได้ว่าถูกบังคับให้ตัดไฟลท์ออก ซึ่งทำให้ผู้โดยสารไม่พอใจอย่างมาก

    โชคร้ายหน่อยที่สถานการณ์เหล่านี้คงไม่จบในเร็ววัน จนกว่าจะพ้นฤดูร้อนซึ่งเป็นหน้าท่องเที่ยว เพราะผู้โดยสารยังคงเพิ่มจำนวนขึ้น และเจ้าหน้าที่ก็ไม่เพียงพอ แม้จะมีการรับสมัครงานเพิ่มขึ้นแต่ก็เทรนไม่ทันในตำแหน่งที่ต้องใช้เวลาฝึก เช่น ความปลอดภัย การจัดการสัมภาระ ทำให้ผู้โดยสารที่ต้องการจะบินเข้าออกยุโรปในช่วงฤดูร้อนของที่นั่น อาจต้องเตรียมใจหากจะเกิดเที่ยวบินดีเลย์หรือยกเลิกไฟลท์ขึ้น

    Source: Euronews, Reuters

    ]]>
    1392204
    น้ำมันแพง พนักงานไม่พอ แต่ดีมานด์พุ่ง ทำให้ “ค่าตั๋วเครื่องบิน” แพงขึ้น 20-30% https://positioningmag.com/1388010 Tue, 07 Jun 2022 07:05:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388010 สายการบินต่างๆ กำลังพยายามกลับมาทำกำไรหลังวิกฤตโรคระบาดผ่านพ้น ขณะที่ดีมานด์การเดินทางพุ่งสูง ทั้งจากกลุ่ม ‘Revenge Travel’ และการเดินทางเพื่อธุรกิจ แต่น้ำมันที่ราคาพุ่งไม่แพ้กัน พร้อมด้วยปัญหาพนักงานไม่เพียงพอ ไฟลท์บินมีจำกัด ส่งผลให้ “ค่าตั๋วเครื่องบิน” แพงขึ้น 20-30% เทียบกับก่อน COVID-19

    หลัง COVID-19 คลี่คลาย หลายประเทศเปิดพรมแดนการเดินทางอีกครั้ง ปัญหาต่อมาที่ทุกคนต่างพูดถึงคือ “ค่าตั๋วเครื่องบิน” ราคาสุดโหดในขณะนี้

    ผู้บริโภคจำนวนมากกำลังหาตั๋วเครื่องบิน หลายคนวางแผนเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หรือที่เรียกกันว่า ‘Revenge Travel’ แม้ว่าค่าตั๋วจะพุ่งสูงในหลายๆ เส้นทาง แต่นักท่องเที่ยวก็ยังอยากไปเที่ยวเพื่อชดเชยหลายปีที่ไม่สามารถไปไหนได้เลย

    ปัจจุบันค่าตั๋วไปกลับที่นั่งชั้นประหยัดของ Singapore Airlines เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี – สิงคโปร์ ต้องใช้วงเงินถึง 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 125,000 บาท) เทียบกับก่อนโรคระบาดที่มีราคาเพียง 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 50,000 บาท)

    ขณะที่ค่าตั๋วไปกลับ ฮ่องกง-ลอนดอน โดยสายการบิน Cathay Pacific Airways ช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ พบว่าราคาไปถึง 42,051 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 185,000 บาท) หรือสูงขึ้นเกือบ 5 เท่าของราคาทั่วไปในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่ราคาตั๋วระหว่างนิวยอร์ก-ลอนดอน ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ขึ้นไปถึง 2,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 69,000 บาท)

    Mastercard Economics Institute พบว่า ราคาตั๋วเครื่องบินไปหรือกลับจากสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 27% เมื่อเดือนเมษายน 2022 เทียบกับเดือนเมษายน 2019 ขณะที่ไฟลท์ไปหรือกลับออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้น 20% ราคาที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากรีบซื้อตั๋วล่วงหน้านานหลายเดือน เพราะกังวลเรื่องราคาตั๋วนาทีสุดท้าย

    “ดีมานด์พุ่งทะยาน” เอ็ด บาสเตียน ซีอีโอ Delta Air Lines กล่าว และบอกด้วยว่า ฤดูร้อนนี้ราคาตั๋วเครื่องบินน่าจะสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดถึง 30% ซึ่งจะเกิดขึ้นกับการเดินทางทุกๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนหรือธุรกิจ

    ราคาค่าตั๋วเครื่องบินที่พุ่งสูงเกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน และไม่ใช่ทุกเหตุผลที่สายการบินจะควบคุมได้

     

    เครื่องบินลำใหญ่ยังไม่ถูกเรียกกลับมาใช้งาน

    หลายสายการบินยังไม่นำเครื่องบินลำใหญ่กลับมาใช้งาน ซึ่งหมายถึงเครื่องบินอย่าง แอร์บัส A380 ซูเปอร์จัมโบ้ และโบอิ้ง 747-8 เพราะสายการบินยังต้องการใช้งานรุ่นที่ประหยัดน้ำมันมากกว่าอย่าง แอร์บัส A350 หรือ โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์

    (Photo by Nicolas Economou/NurPhoto)

    เมื่อประเทศใหญ่ในเอเชียอย่างประเทศจีนยังคงปิดพรมแดน ทำให้สายการบินยังไม่พร้อมจะนำเครื่องลำใหญ่มาใช้ รวมถึงการเปิดประเทศเต็มที่ของฝั่งเอเชียก็เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้การปรับฟลีทเครื่องบินให้เหมาะสมต้องใช้เวลา “ยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เราเพิ่งจะเข้าเดือนมิถุนายนเอง เรื่องนี้ไม่เหมือนกับแค่เปิดก๊อกน้ำหรอกนะ” สุภัส เมนอน ผู้อำนวยการทั่วไป สมาคมสายการบินแห่งเอเชียแปซิฟิก กล่าว

    ไฟลท์บินก็น้อยลงตั้งแต่ช่วงเกิดโรคระบาด และหลายเที่ยวบินตรงที่เคยมีก็ยังไม่กลับมา เช่น British Airways ยังไม่กลับมาบินสู่ฮ่องกงเลยในตอนนี้

    โดยรวมแล้ว เมื่อมีเที่ยวบินน้อยลง เครื่องบินน้อยและเล็กลง ทำให้มีจำนวนที่นั่งจำกัด เทียบกับดีมานด์ที่เติบโตเร็วกว่า ย่อมส่งผลให้ค่าตั๋วแพงขึ้น

     

    น้ำมันแพง (มาก)

    เมื่อรัสเซียบุกรุกดินแดนยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนน้ำมันขณะนี้คิดเป็นสัดส่วน 38% ของต้นทุนสายการบิน เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 27% เมื่อปี 2019 สำหรับสายการบินโลว์คอสต์ อาจจะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50%

    นักลงทุนหลายสถาบันวิเคราะห์ว่า สายการบินฝั่งเอเชียจะได้รับผลกระทบสูงกว่าตะวันตก เพราะหลายสายไม่มีการเฮดจ์ราคาเชื้อเพลิงล่วงหน้า

     

    พนักงานขาดแคลน

    ทั้งนักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานภาคพื้น และอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการบิน ต่างก็สูญเสียตำแหน่งงานไปในช่วงโรคระบาด แต่เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว อุตสาหกรรมกลับพบว่าตนเองไม่สามารถจ้างงานพนักงานกลับมาได้เร็วพอที่จะรองรับ

    Photo : Shutterstock

    ยกตัวอย่างสนามบินชางงี สิงคโปร์ สนามบินที่มักจะได้รับการโหวตให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ประกาศรับสมัครงานพนักงานกว่า 6,600 คน เพราะพนักงานหลายคนที่ให้ออกไปแล้วในช่วง 2 ปีก่อนนี้ เข้าสมัครและทำงานอาชีพอื่นที่ผันผวนน้อยกว่าเรียบร้อยแล้วและไม่ต้องการจะกลับมาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้สนามบินชางงีต้องเสนอโบนัสพิเศษสำหรับคนที่สมัครเข้าทำงาน

    ในสหรัฐฯ สถานการณ์สายการบินระดับภูมิภาคไม่สามารถทำการบินได้เต็มอัตรา เพราะสายการบินรายใหญ่ซื้อตัวนักบินไปหมด ขณะที่ในอังกฤษ หลายเที่ยวบินถูกยกเลิกในช่วงหยุดเทศกาล ในยุโรปก็พบเห็นเที่ยวบินดีเลย์และยกเลิกมากมายเพราะพนักงานไม่เพียงพอ ทั้งหมดเป็นการ ‘ดิสรัปต์’ ตารางการบิน และทำให้ค่าใช้จ่ายยิ่งสูงขึ้น

     

    แพงเท่าไหร่ก็ไป

    แม้ว่าค่าตั๋วเครื่องบินจะแพงมหาโหด แต่ก็สกัดกั้นนักท่องเที่ยวไม่ได้ ผู้บริโภคบางส่วนยังขยับงบท่องเที่ยวของตัวเองขึ้นอีก อัปเกรดตั๋วขึ้นเป็นชั้นที่สูงกว่าสำหรับการไปพักผ่อน

    “บุคคลที่ได้รับผลกระทบทางอารมณ์จากการล็อกดาวน์ และต้องการไปเที่ยวอย่างมากในช่วงสองปีนี้ พวกเขาฝันถึงการไปเที่ยวมาตลอด” เฮอร์ไมโอนี่ จอย หัวหน้าธุรกิจการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก Google กล่าว “ดังนั้น พวกเขาจึงพร้อมจ่ายอย่างมาก”

    แล้วเมื่อไหร่ค่าตั๋วจะถูกลง? ไม่มีใครตอบได้แน่ชัดว่าเมื่อไหร่ค่าตั๋วจะถูกลง “การพุ่งขึ้นของค่าตั๋วเป็นปรากฏการณ์ระยะสั้น” สตีเฟน เทรซี่ ซีโอโอของ Milieu Insight บริษัทวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคจากสิงคโปร์ กล่าว “เราหวังได้เพียงว่า เมื่อทุกอย่างกลับมาสมดุลอีกครั้ง ราคาจะกลับลดลง ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสถานการณ์นั้นจะเกิดขึ้น”

    Source

    ]]>
    1388010