ความรับผิดชอบต่อสังคม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 10 Nov 2021 23:49:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 3 ใน 4 ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ มองว่า “Facebook” ทำให้ “สังคมแย่ลง” ผลโพลจาก CNN https://positioningmag.com/1361433 Wed, 10 Nov 2021 16:15:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1361433 โพลจาก CNN ร่วมกับ SSRS สำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ มองว่า Facebook ทำให้ “สังคมแย่ลง” เกือบครึ่งหนึ่งในผู้ถูกสำรวจกล่าวว่า ตนรู้จักบางคนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดจากการเสพคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มนี้

CNN Poll ร่วมกับ SSRS จัดสำรวจเมื่อวันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2021 โดยสุ่มเลือกผู้ใหญ่อเมริกัน 1,004 คนบนโลกออนไลน์ ผลโพลครั้งนี้พบว่า ชาวอเมริกันถึง 76% เชื่อว่า Facebook ทำให้สังคมแย่ลง ขณะที่ 13% เชื่อว่าไม่มีผลใดๆ และ 11% เท่านั้นที่เชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้ทำให้สังคมดีขึ้น แม้แต่คนที่ใช้ Facebook เป็นประจำหลายครั้งต่อสัปดาห์ ก็มีถึง 70% ที่มองว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กนี้ทำร้ายคนมากกว่าช่วยให้ดีขึ้น

เกือบครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันคือ 49% บอกว่าตัวเองรู้จักบางคนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดเพราะเสพคอนเทนต์จากบน Facebook ถ้าแบ่งตามช่วงอายุ คนอายุน้อยมักจะรู้จักคนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดมากกว่า โดยเกิดขึ้น 61% ในผู้ใหญ่วัยต่ำกว่า 35 ปี แต่มีเพียง 35% ที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่วัย 65 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าแพลตฟอร์มควรจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อความเสียหายที่เกิดกับสังคมหรือไม่ ความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย โดย 55% มองว่าผู้ใช้ Facebook ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักมากกว่า ขณะที่ 45% มองว่าเป็นความรับผิดชอบของ Facebook ที่เป็นฝ่ายดูแลแพลตฟอร์ม

Photo : Shutterstock

Facebook ต้องเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์รอบใหม่จากกรณี ‘Facebook Papers’ เมื่อพนักงานในองค์กรตัดสินใจออกมาแฉเอกสารภายในบริษัทว่า วัฒนธรรมของบริษัทส่งเสริมให้คอนเทนต์ที่สร้างความแตกแยกยิ่งแพร่ออกไป และบริษัทเกิดความยากลำบากในการดูแลปัญหาข้อมูลผิดๆ และกลุ่มแนวคิดสุดโต่งบนแพลตฟอร์ม

“ฟรานเซส เฮาเกน” พนักงานที่ออกมาแฉคนดังกล่าว ขึ้นให้การกับวุฒิสภาเมื่อเดือนก่อน และขอให้สภาคองเกรสเพิ่มการกำกับดูแลแพลตฟอร์มให้มากขึ้น

ความเห็นส่วนใหญ่ของชาวอเมริกันสอดคล้องกับเรื่องนี้ 53% ของคนอเมริกันมองว่ารัฐบาลกลางควรเพิ่มการกำกับควบคุม Facebook ขณะที่ 35% มองว่าไม่ควรเปลี่ยนแปลงอะไร และ 11% มองว่าควรจะลดการกำกับควบคุม

มองในภาพกว้างกว่านั้น ชาวอเมริกันมีศรัทธาที่น้อยลงต่อบรรดาบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ว่าจะมีความตั้งใจที่ดี โดยมี 38% ที่บอกว่าตนไม่ไว้ใจบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ เช่น Google, Facebook, Amazon ว่าจะดำเนินกิจการเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้งาน ตัวเลขนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเคยอยู่ที่ 29% เมื่อเดือนมีนาคม 2019 ตัวเลขของคนที่ไว้ใจบิ๊กเทคคัมปะนี ‘อยู่บ้าง’ ก็ลดลงเช่นกัน โดยลงมาเหลือเพียง 34% จากเดิมอยู่ที่ 40% เมื่อสองปีก่อน

CNN ยังจัดโพลแยกโปรไฟล์คนตามพรรคที่ตนเลือกด้วย โดยพบว่าคนเลือกพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มมากกว่าที่จะไม่ไว้ใจบริษัทเทค 71% ของชาวรีพับลิกันรู้สึกไม่ไว้ใจหรือไว้ใจเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับฝั่งชาวเดโมแครตจะอยู่ที่ 58%

Source

]]>
1361433
“TMB” แชมป์ธนาคาร “เป็นธรรม-รับผิดชอบสังคม” สูงสุด “กรุงไทย” ก้าวกระโดดคว้าอันดับ 2 https://positioningmag.com/1315423 Wed, 20 Jan 2021 13:26:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1315423 Fair Finance Thailand ประกาศผลธนาคารที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อสังคมสูงสุดปี 2563 แชมป์เก่า “TMB” ยังครองแชมป์ต่ออีกสมัย ด้านธนาคาร “กรุงไทย” ก้าวกระโดดขึ้นสู่อันดับ 2 ไฮไลต์การพัฒนาความรับผิดชอบสังคมปีนี้ มีตั้งแต่นโยบายต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ จนถึงการไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชีพื้นฐาน

Fair Finance Thailand จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้วในประเทศไทย โดยการประเมินนี้เป็นเครือข่ายและใช้ดัชนีชี้วัดจาก Fair Finance International (FFI) ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2552 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันมีทั้งหมด
11 ประเทศที่นำดัชนีนี้มาใช้ชี้วัดการทำงานที่รับผิดชอบสังคมของธนาคาร ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม

สำหรับ Fair Finance Thailand มีองค์กรที่มีส่วนร่วมในการประเมินทั้งหมด 5 แห่ง คือ ป่าสาละ, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ International Rivers โดยการเปิดรายชื่ออันดับปีนี้นำโดย “สฤณี อาชวานันทกุล” หัวหน้าคณะวิจัย Fair Finance Thailand เป็นผู้รายงาน

การวัดผลความเป็นธรรมและรับผิดชอบ มีดัชนีชี้วัด 3 หมวด 13 หัวข้อหลัก ซึ่งจะแตกออกเป็นมากกว่า 200 หัวข้อย่อย หัวข้อหลักที่วัดผล เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ผลกระทบต่อสุขภาพ (ซึ่งเป็นหัวข้อใหม่), สิทธิแรงงาน, ความเท่าเทียมทางเพศ, การคุ้มครองผู้บริโภค, ความโปร่งใสและความรับผิด เป็นต้น การวัดผลทั้งหมดจะมาจากการตรวจสอบนโยบายที่ประกาศเป็นสาธารณะเท่านั้น เช่น รายงานประจำปี ข้อมูลบนเว็บไซต์

ปี 2563 มีธนาคารที่ได้รับการประเมินทั้งหมด 12 แห่ง ไล่เรียงตามขนาดสินทรัพย์ ดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารออมสิน (GSB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารทีเอ็มบี (TMB), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), ธนาคารทิสโก้ (TISCO) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)

ทั้งนี้ ธนาคารที่ออกจากรายชื่อการประเมินปีนี้คือธนาคารธนชาตเนื่องจากได้ควบรวมกับ TMB แล้ว และธนาคาร 4 แห่งที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะจัดอันดับแยกออกไป เนื่องจากภารกิจบางอย่างไม่สอดคล้องกับดัชนีชี้วัด ได้แก่ ธ.ออมสิน ธกส. ธอส. และ SME Bank

ผลสรุป อันดับธนาคารพาณิชย์ใน Fair Finance Thailand 2563 เป็นธรรม-รับผิดชอบสังคมสูงสุด ได้แก่

1) ทีเอ็มบี คะแนน 38.9% (เพิ่มขึ้น +72%)
2) กรุงไทย คะแนน 22.4% (เพิ่มขึ้น +43%)
3) กรุงเทพ คะแนน 21.8% (เพิ่มขึ้น +28%)
4) ไทยพาณิชย์ คะแนน 21.2% (เพิ่มขึ้น +4%)
5) กสิกรไทย คะแนน 20.6% (ลดลง -0.5%)
6) กรุงศรีอยุธยา คะแนน 16.9% (ลดลง -1.9%)
7) เกียรตินาคินภัทร คะแนน 16.1% (เพิ่มขึ้น +0.5%)
8) ทิสโก้ คะแนน 15.9% (ลดลง -0.9%)

(Photo : Fair Finance Thailand)

ผลสรุป อันดับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐใน Fair Finance Thailand 2563 เป็นธรรม-รับผิดชอบสังคมสูงสุด ได้แก่

1) ธกส. คะแนน 22.1%
2) ออมสิน คะแนน 15.4%
3) ธอส. คะแนน 11.0%
4) SME Bank คะแนน 9.0%

สฤณีกล่าวว่า ปี 2563 ธนาคารทีเอ็มบียังคงครองแชมป์ และพัฒนาขึ้นสูงมาก มีหลายดัชนีชี้วัดที่ทีเอ็มบีเป็นธนาคารเดียวในไทยที่มีนโยบาย ส่วนธนาคารกรุงไทยมีการพัฒนาที่สูงไม่แพ้กัน โดยปรับตัวขึ้นจากอันดับ 7 เมื่อปีก่อนมาเป็นอันดับ 2 ในปีนี้

“ภาพรวมค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ของไทยอยู่ที่ 21.7% ซึ่งพัฒนาขึ้นไวมาก จากเมื่อสองปีก่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 12% เท่านั้น เห็นได้ชัดว่าเกิดบรรยากาศการแข่งขันที่ดีในหมู่ธนาคารที่จะมีความรับผิดชอบสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 5 อันดับแรก” สฤณีกล่าว

สำหรับหัวข้อที่ธนาคารไทยให้ความใส่ใจสูงสุด คือ “การคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งทุกธนาคารจะมีนโยบายเกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ ในทางกลับกัน หัวข้อที่ธนาคารไทยยังมีนโยบายน้อยคือ “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีเอ็มบีได้คะแนนสูง เพราะเป็นธนาคารที่มีนโยบายในด้านนี้มากกว่าธนาคารอื่นอย่างเห็นได้ชัด

 

ไฮไลต์ “นโยบายเพื่อสังคม” ที่โดดเด่นของธนาคารชั้นนำ

สฤณียังนำเสนอไฮไลต์ตัวอย่างนโยบายเพื่อสังคมเด่นๆ ของกลุ่มธนาคาร 5 อันดับแรกที่น่าสนใจ ดังนี้

1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – จัดรายการธุรกิจ “เหมืองถ่านหิน” หรือ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB

2) การต่อต้านการทุจริต – ประกาศไม่ทำกิจกรรมใดๆ กับล็อบบี้ยิสต์ –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB, KTB, SCB

“ความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมและรับผิดชอบสังคม

3) ความเท่าเทียมทางเพศ – กำหนดเป้าหมายรักษาสัดส่วนผู้บริหาร “หญิง” ไม่น้อยกว่า 40% ของตำแหน่งผู้บริหารทั้งหมด –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB

4) การขยายบริการทางการเงินมีบัญชีเงินฝากพื้นฐานที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชี –> ธนาคารที่มีนโยบาย : KTB, KBANK

5) นโยบายค่าตอบแทน – การจ่ายค่าตอบแทนโบนัสกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานตั้งอยู่บนเกณฑ์อื่นนอกเหนือจากธุรกิจด้วย เช่น ความพึงพอใจของผู้รับบริการ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (เป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้ผู้บริหาร/พนักงานนำกลยุทธ์ความยั่งยืนต่างๆ ไปใช้จริง) –> ธนาคารที่มีนโยบาย : TMB,KTB, SCB, KBANK

 

“แชมป์” TMB มีนโยบายจัดลิสต์ธุรกิจที่ “ไม่ปล่อยกู้”

สำหรับบริษัทที่ได้อันดับ 1 อีกครั้งในปีนี้ มีนโยบายที่น่าสนใจและแตกต่างจากธนาคารอื่น คือการจัดทำ “รายการธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน” (exclusion list) ด้วย โดยรายการธุรกิจเหล่านี้ถูกแบนด้วยเหตุผลด้านการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม

ต่อประเด็นนี้ “นริศ อารักษ์สกุลวงศ์” หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีเอ็มบีจัดทำนโยบายนี้ โดยอ้างอิงกรอบการทำงานมาจาก ING ธนาคารที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในทีเอ็มบี แบ่งลิสต์ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

“รายการธุรกิจที่ไม่สนับสนุนทางการเงิน”
1) การพนัน
2) ภาพอนาจาร
3) ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับสวัสดิภาพสัตว์
4) อาวุธที่เป็นประเด็นในสังคม (เช่น โดรนโจมตีอัตโนมัติ)
5) พลังงาน
6) การประมง
7) ป่าไม้
8) พันธุวิศวกรรม
9) แร่ธาตุ
10) เหมืองถ่านหิน
11) พื้นที่หวงห้าม

“รายการธุรกิจที่จะพิจารณาอย่างเข้มงวด”
1) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2) อาวุธ เครื่องมือป้องกันตัว
3) พลังงาน เคมีภัณฑ์ ทรัพยากรธรรมชาติ
4) แร่กัมมันตรังสี
5) ยาสูบ

“รายการธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน” (exclusion list) ของทีเอ็มบี (Photo : TMB)

นริศกล่าวว่า ลิสต์เหล่านี้จัดทำขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่า ธุรกิจที่ธนาคารสนับสนุนด้วยการให้สินเชื่อจะตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนในภาพใหญ่ที่ธนาคารวางแนวทางไว้ นอกจากกรอบคิดจาก ING แล้ว ในประเทศไทยเอง ทีเอ็มบีก็กำลังพยายามมองโจทย์ของประเทศด้วย เช่น ขณะนี้ทีเอ็มบีกำลังมุ่งเน้นหารือกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ไร่อ้อย” เพื่อหาความร่วมมือสนับสนุนให้ธุรกิจมีการเผาไร่อ้อยลดลง เพื่อร่วมแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเผาไร่ทางการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของ PM 2.5

การจัดอันดับตามดัชนีชี้วัดของ Fair Finance Thailand ทำให้เห็นว่า “ธนาคาร” สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งการทำงานทางตรงภายในธนาคารเอง และในฐานะที่เป็นแหล่งทุนในการทำธุรกิจ

]]>
1315423
Facebook จะจำกัดการเผยแพร่ “กรุ๊ปลับ” ที่ให้ข้อมูลสุขภาพและที่เกี่ยวกับความรุนแรง https://positioningmag.com/1297648 Thu, 17 Sep 2020 17:17:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1297648 Facebook ประกาศในวันที่ 17 กันยายน 2020 ว่า บริษัทมีการออกนโยบายใหม่ จำกัดการเผยแพร่ของฟังก์ชัน “กรุ๊ป” ที่ตั้งค่าเป็นส่วนตัว (private) และมีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ข้อมูลสุขภาพ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ จะทำการเก็บถาวร (archive) กรุ๊ปที่ไม่มีแอดมิน เพราะถือว่าขาดบุคคลคอยบริหารจัดการกรุ๊ป

การจำกัดการเผยแพร่ของ Facebook คือแพลตฟอร์มจะไม่มีการแสดงกรุ๊ปดังกล่าวในพื้นที่แนะนำกรุ๊ปที่คุณอาจสนใจ โดยระบุในบล็อกโพสต์แถลงการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้ควรได้รับข้อมูลด้านสุขภาพจากแหล่งที่มาที่เป็นทางการ” ถือเป็นการขยับของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่เพื่อตอบโต้การนำฟังก์ชัน “กรุ๊ปลับ” แบบนี้ไปใช้ส่งต่อข้อมูลบิดเบือดเกี่ยวกับโรคระบาด COVID-19 และวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับกรุ๊ปลับด้านสุขภาพ สำหรับกรุ๊ปที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง Facebook ก็จะไม่นำไปแนะนำในพื้นที่ทั่วไป และจะเพิ่มความเข้มงวดด้วยการปิดไม่ให้ค้นหา (search) กรุ๊ปเหล่านี้ได้ และลดความถี่ของคอนเทนต์จากกรุ๊ปที่จะเข้าไปแสดงบนหน้า News Feed ของผู้ใช้ที่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว

การตอบโต้ต่อกรุ๊ปที่เกี่ยวโยงกับความรุนแรง เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มติดอาวุธในเมืองเคโนชา รัฐวิสคอนซิน ใช้ Facebook เป็นตัวกลางในการสร้างเพจ และเปิดฟังก์ชัน “อีเวนต์” ชวนรวมตัวก่อความรุนแรงต่อม็อบประท้วงตำรวจซึ่งกำลังชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้เจค็อบ เบลก การปะทะครั้งนี้นำไปสู่ผู้เสียชีวิต 2 ราย

Facebook กล่าวแสดงความขอโทษในภายหลังที่แพลตฟอร์มไม่ได้ลบเพจและอีเวนต์นั้นออกไปก่อนเกิดเรื่อง แม้ว่าจะมีผู้ใช้กดรายงานเข้ามาแล้วก็ตาม โดยอ้างว่าเป็น “ความผิดพลาดในการปฏิบัติ”

การอัปเดตนโยบายครั้งนี้ Facebook ยังจะบังคับใช้การ “เก็บถาวร” (archive) กรุ๊ปที่ไม่มีแอดมินดูแล ดังนั้นก่อนที่แอดมินกรุ๊ปจะถอนตนเองออกจากตำแหน่ง ควรเชิญสมาชิกคนอื่นให้เป็นแอดมินดูแลกรุ๊ปแทน เพื่อให้มีคนสอดส่องข้อมูลในกรุ๊ปตลอดเวลา มิฉะนั้นแพลตฟอร์มจะเก็บถาวรกรุ๊ปนั้นไป คาดว่าน่าจะทำให้กรุ๊ปยังสามารถอ่านข้อมูลเก่าย้อนหลังได้ แต่เคลื่อนไหวข้อมูลใหม่ๆ ไม่ได้

ความพยายามและคำมั่นสัญญาของ Facebook ในการจัดการกับข้อมูลที่บิดเบือนและความรุนแรงบนแพลตฟอร์ม เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด โลกฝั่งตะวันตกมีการรณรงค์แฮชแท็ก #StopHateForProfit โดยมีทั้งเซเลบและแบรนด์ดังร่วมแคมเปญนี้เพื่อกดดันให้ Facebook ดำเนินการอย่างจริงจังต่อ Hate Speech หรือการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังต่อชนชาติ เชื้อชาติ สีผิว ฯลฯ

ฝั่งแบรนด์ใช้วิธีคว่ำบาตรถอนโฆษณาออกจาก Facebook โดยมีแบรนด์ที่เข้าร่วมมากกว่า 500 แห่ง เช่น Unilever, Pfizer, Lego, Dunkin Donuts, Starbucks, Coca-Cola ส่วนเซเลบคนดังใช้การ “แช่แข็ง” บัญชีของตัวเอง คือจะไม่มีการเคลื่อนไหวใน Instagram เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จนถึงขณะนี้มีคนดังร่วมแคมเปญ เช่น คิม คาร์ดาเชียน เวสต์, เคที่ เพอร์รี่ และลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ

Source: CNBC, AP

]]>
1297648
รู้จัก Cancel Culture กระแสบอยคอตเพราะจุดยืนทางสังคม-การเมืองที่ “แบรนด์” ควรระวัง https://positioningmag.com/1295727 Mon, 07 Sep 2020 09:39:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1295727 การรณรงค์บอยคอตคนดังหรือแบรนด์สินค้าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่สังคมออนไลน์ที่ปฏิสัมพันธ์กันง่ายและเร็วทำให้กระแสนี้เกิดขึ้นมากตามไปด้วย จนมีศัพท์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Cancel Culture’ เพราะการรวมตัวกันบอยคอตของคนในสังคมกำลังกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยของยุค และแม้ว่าวัฒนธรรมนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเหมาะควรหรือไม่ ในกรณีของ “แบรนด์” สินค้าอาจต้องจับตาและวางกลยุทธ์รับมือให้ดี เพราะดูเหมือนกระแสจะไม่จางหายไปง่ายๆ

กระแสบอยคอตสินค้าครั้งใหญ่เพิ่งเกิดขึ้นกับช่องโทรทัศน์ช่องหนึ่ง โดยมีเหตุมาจากความคิดเห็นทางการเมือง สร้างความปั่นป่วนให้สารพัดแบรนด์สินค้าต้องวางกลยุทธ์แก้วิกฤตภาพลักษณ์ บางรายเลือกออกแถลงการณ์ชี้แจงอย่างหนักแน่นถึงวิธีการเลือกลงโฆษณาของตนเอง บางรายออกแถลงการณ์แบบกำกวมเพื่อไม่ให้กระทบใจทุกฝ่าย หรือบางรายเลือกถอดโฆษณาออกก่อนแบบเงียบๆ โดยไม่ชี้แจงเพื่อรอให้พายุพัดผ่านไป

กระแสบอยคอตเนื่องจากความเห็นทางสังคมหรือการเมือง ที่จริงเริ่มขึ้นมานานหลายปีในต่างประเทศ แต่ไม่ได้เริ่มจากแบรนด์สินค้า กระแสนี้เกิดขึ้นกับตัวบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ถูก ‘Canceled’ เนื่องจากทัศนคติทางสังคมหรือการเมือง โดยสำนักข่าว Vox รายงานว่ามีกระแสเหล่านี้ในสหรัฐฯ รวมถึงโลกตะวันตกมาตั้งแต่ปี 2558 และเริ่มกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยจนถูกเรียกว่า Cancel Culture ราวๆ ช่วงปี 2561

นิยามของกระแสนี้คือ ถ้าหากบุคคลมีชื่อเสียงถูกพบว่ามีทัศนคติทางสังคมหรือการเมืองที่คนกลุ่มใหญ่มองว่าไม่เหมาะสม เช่น เหยียดสีผิว เหยียดเพศ เล่นมุกเกี่ยวกับการข่มขืน สนับสนุนความรุนแรง ฯลฯ พวกเขาจะถูก Canceled คือเลิกติดตามผลงาน เลิกให้ความสนใจ ถ้าคนดังรายนั้นเกี่ยวข้องกับแบรนด์ใดๆ แบรนด์นั้นอาจจะถูกบอยคอตไปด้วย เพราะติดร่างแหในกระแสยกเลิกงานดารา

วิธีการตอบโต้คนมีชื่อเสียงในรูปแบบนี้แพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณีล่าสุดมีการรณรงค์บอยคอตงดชมภาพยนตร์ Mulan เวอร์ชันคนแสดง เนื่องจาก “หลิวอี้เฟย” นักแสดงนำของเรื่อง ให้สัมภาษณ์สนับสนุนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงเพื่อปราบม็อบผู้ชุมนุม เห็นได้ว่ากระแสต้องการจะบอยคอตหลิวอี้เฟย แต่เพราะต้องการแบนผลงานของเธอ กระแสนี้จะกระทบไปถึง Disney ค่ายผู้สร้างหนังด้วย

หรือย้อนไปอีกนิด ก่อนหน้านี้ “เจ.เค.โรวลิ่ง” นักเขียนคนดังผู้เขียนเรื่อง Harry Potter ก็แสดงออกว่าเธอไม่ยอมรับสตรีข้ามเพศ ก่อกระแสไม่พอใจและจะแบนผลงานของเธอในอนาคต

ในโลกตะวันตกที่เผชิญ Cancel Culture มาก่อนไทย วัฒนธรรมแบบนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่ มุมมองของฝ่ายที่เลือกใช้วิธีบอยคอตมองว่า เป็นวิธีที่ทำให้บุคคลนั้นๆ “รับผิดชอบต่อสังคม” ด้วยการขอโทษและปรับทัศนคติตนเอง

ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมองว่ากระแสนี้ “รุนแรงเกินไป” แม้แต่ “บารัค โอบามา” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “นี่ไม่ใช่การทำกิจกรรมทางสังคม สิ่งนี้ไม่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าหากสิ่งที่คุณทำทั้งหมดคือการปาหินใส่ คุณคงไปไหนไม่ได้ไกล”

แต่ไม่ว่าเรื่องนี้จะเหมาะหรือไม่เหมาะ กระแสก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และในมุมของแบรนด์สินค้าที่ต้องทำยอดขาย ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มนำปัจจัยจุดยืนทางสังคมการเมืองมาเสริมในการตัดสินใจเลือกซื้อ แบรนด์จะทำอย่างไรในเวลานี้

 

เก็บ “ดาต้า” อย่างละเอียดเพื่อหา “ผู้บริโภคตัวจริง”

หลังจาก Cancel Culture เริ่มนิยมมากขึ้นในไทย ไม่ใช่แค่ตัวบุคคลที่ถูกบอยคอต แต่กลายเป็นแบรนด์สินค้าก็ถูกบอยคอตโดยตรงไปด้วย และเป็นกระแสที่แบรนด์มองข้ามได้ยาก เพราะผู้บริโภครวมตัวกันอย่างแข็งแรงและพร้อมใจกันผ่านโลกออนไลน์

Positioning ต่อสายคุยกับ “รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ” อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ถึงประเด็นการรับมือต่อกระแสสังคมลักษณะนี้ รศ.ดร.กุลทิพย์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือแบรนด์ต้องมี “ดาต้า” ลูกค้าผู้ซื้อจริงของตนเองในมือ ต้องเห็นภาพชัดว่า “ผู้บริโภคตัวจริง” ของตนเองคือใคร

ยกตัวอย่างเช่น สินค้ากลุ่มเครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน แม้ผู้ใช้สินค้าจะเป็นกลุ่มแมส ใช้ด้วยกันทั้งบ้านตั้งแต่ปู่ย่าตายาย พ่อแม่และลูกหลาน แต่ผู้ตัดสินใจซื้อเลือกแบรนด์ส่วนใหญ่จะเป็น “พ่อแม่” นั่นคือกลุ่มตัวจริงที่แบรนด์ต้องโฟกัส

 

ถ้ากลุ่มเป้าหมายคือ “คนยุคใหม่” อาจต้อง “เลือกข้าง”

เมื่อรู้จักผู้บริโภคตัวจริงของแบรนด์แล้ว รศ.ดร.กุลทิพย์กล่าวว่า กลยุทธ์ของแบรนด์ในการแก้ไขหรือป้องกันวิกฤตย่อมต่างกัน เพราะจะเห็นได้ว่ากระแส Cancel Culture การติดแฮชแท็กรณรงค์เรื่องต่างๆ ในสังคมมักจะเป็นกระแสของ “คนยุคใหม่” ส่วนใหญ่คือคนเจนเนอเรชันวายถึงเจนเนอเรชันซี (คนที่เกิดตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา หรือจะมีอายุไม่เกิน 40 ปีในขณะนี้)

“ผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นที่ต้องการเปลี่ยนโลก” รศ.ดร.กุลทิพย์กล่าว “มุมมองคนยุคใหม่คือการเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเพศ เรื่องสีผิว อะไรที่เคยเป็นกระแสหลักในอดีต เขาจะมองไม่เหมือนเดิม และมีความสนใจที่เป็นสากลขึ้น”

รองเท้ารุ่น Air Force 1 ’07 ที่มีโลโก้ใบหน้าโคลิน แคปเปอร์นิกอยู่ด้านหลัง ออกจำหน่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2019 และขายหมดภายในวันเดียว กรณีของ Nike เป็นตัวอย่างแบรนด์ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนการรณรงค์หยุดเหยียดสีผิว โดยได้รับทั้งคำชมและคำตำหนิกลับมา แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือแบรนด์ขายได้ดีขึ้น (Photo by Nike)

ทัศนคติที่เปลี่ยนนี้ยังหลอมรวมกับวิธีเลือกซื้อสินค้าของคนยุคใหม่ ที่มีปัจจัย “ภาพลักษณ์” เข้ามาเสริม การเลือกซื้ออะไรผูกกับความเป็นตัวตนและไลฟ์สไตล์ จึงต้องการแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในแนวทางเดียวกับตนเอง

ดังนั้น รศ.ดร.กุลทิพย์มองว่า ถ้าแบรนด์ศึกษาดาต้าอย่างละเอียดแล้วมั่นใจว่าผู้บริโภคตัวจริงคือคนเจนวายถึงเจนซีแน่นอน แนะนำให้แบรนด์ “เลือกยืนอยู่กับผู้บริโภค” โดยยกตัวอย่างเคสในต่างประเทศคือแบรนด์ Nike ที่ทำแคมเปญประกาศจุดยืนสนับสนุน BlackLivesMatter สนับสนุนสิทธิคนผิวสีอย่างชัดเจน เพราะแบรนด์วิเคราะห์มาแล้วว่าการเลือกข้างจะได้มากกว่าเสีย

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของประเทศไทยและความเป็นคนไทย รศ.ดร.กุลทิพย์เสริมว่าแบรนด์ต้องนำจุดนี้มาพิจารณาร่วมด้วย ต้องระมัดระวังให้สารที่สื่อออกมา “ไม่แรง” คือมีความสุภาพและสื่อสารอย่างชาญฉลาด และจะอาศัยภาพลักษณ์แบรนด์อย่างเดียวในการทำตลาดไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วราคาและโปรโมชันก็ยังมีผลในการดึงผู้บริโภคด้วย

 

ถ้าคนซื้อไม่ใช่คนยุคใหม่ให้ “นิ่งไว้ก่อน”

ในทางตรงข้าม ถ้ามีกระแสบอยคอตกระทบกับตัวแบรนด์ แต่วิเคราะห์แล้วพบว่าเสียงที่มาถึงไม่ได้มาจากผู้บริโภคตัวจริง แบบที่รศ.ดร.กุลทิพย์กล่าวว่าเป็นกระแสที่ “ไม่มีผล แต่ทำให้หวั่นไหว” กลุ่มนี้แนะนำว่าให้แบรนด์สินค้า “นิ่งไว้ก่อน” ไม่ควรสร้างความเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ต้องมีการตอบโต้ รอให้ทุกอย่างผ่านไปโดยไม่จำเป็นต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดสนใจเพิ่ม

ด้าน “ปรัตถจริยา ชลายนเดชะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ในมุมของเอเยนซี่โฆษณาและนักวางแผนสื่อ ปกติมีการเลือกสื่อที่ลงโฆษณาจากกลุ่มเป้าหมายของสื่อนั้นๆ ที่ตรงกับแบรนด์อยู่แล้ว

เมื่อเกิด “ดราม่า” หรือกระแสบอยคอตจะถือเป็นการบริหารจัดการวิกฤต แผนการลงสื่อมักจะยังคงไว้ตามเดิม เพียงแต่จะมีการจัดการเฉพาะหน้า มอนิเตอร์ก่อนว่ายอดขายตกลงหรือไม่ และนำความคิดเห็นของโลกออนไลน์มาพูดคุยกัน แต่โดยส่วนใหญ่ธรรมชาติของโลกออนไลน์แม้จะรุนแรงขึ้นกว่าก่อน แต่ประเด็นมักจะผ่านไปเร็วเช่นกัน

เรื่องนี้รศ.ดร.กุลทิพย์มองตรงกัน คือการบอยคอตสินค้าเพราะทัศนคติทางสังคมหรือการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตคนไทยเคยมีการรณรงค์เลิกใช้เครือข่ายมือถือยี่ห้อหนึ่งเพราะการเมือง หรืองดซื้อสินค้าสกินแคร์แบรนด์หนึ่งเพราะโฆษณาเหยียดผิว

แต่อย่าลืมว่ากระแสเหล่านี้ล้วน “มาไวก็ไปไว” ทำให้แบรนด์อาจจะระวังตัวแต่ไม่ต้องตื่นตระหนกจนเกินไป!

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม : Vox, Insider

]]>
1295727
เริ่มแล้ว! Tiffany ระบุแหล่งที่มาเพชรทุกเม็ด หลีกเลี่ยงมีส่วนในอาชญากรรม “เพชรสีเลือด” https://positioningmag.com/1293570 Thu, 20 Aug 2020 11:41:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1293570 Tiffany & Co. ประกาศเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทได้เริ่มกระบวนการให้ใบรับรองเพชรทุกชิ้นของบริษัทว่ามีแหล่งกำเนิดและแหล่งเจียระไนเพชรที่ใดบ้าง เพื่อแสดงความโปร่งใส่ว่าบริษัทใส่ใจต่อการรับผิดชอบสังคม ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในวังวนอาชญากรรม “เพชรสีเลือด” สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจประเด็นดังกล่าว

บริษัท Tiffany & Co. ร้านเพชรที่ก่อตั้งมายาวนาน 183 ปี ประกาศว่า บริษัทจะเริ่มให้ใบรับรองเพชรกับเครื่องประดับที่มีเพชรขนาด 0.18 กะรัตขึ้นไปเป็นส่วนประกอบ โดยจะรับรองว่าเป็นเพชรที่ขุดได้จากเหมืองแห่งใด ประเทศไหน รวมไปถึงเจียระไนที่ใด สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

บริษัทจะเริ่มต้นให้ใบรับรองเดือนตุลาคมนี้ และประกาศว่าตนเป็นบริษัทแรกที่สามารถระบุที่มาของเพชรทุกเม็ดได้สำเร็จ

นโยบายของ Tiffany นั้นเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ 20 ปีก่อน เมื่อกลุ่ม Kimberly Process ก่อตั้งขึ้น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มรณรงค์ต่อต้านและหยุดยั้งการค้า “เพชรสีเลือด” หรือเพชรแห่งความขัดแย้ง ซึ่งหมายถึงเพชรที่ตกไปอยู่ในมือพ่อค้าสงคราม ใช้แทนเงินในการซื้อขายแลกเปลี่ยนอาวุธ โดยเฉพาะอาวุธที่ใช้ในสงครามกลางเมืองแถบทวีปแอฟริกา เช่น ไอวอรีโคสต์, คองโก, เซียร์รา ลีโอน ฯลฯ นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชน

เมื่อผู้บริโภครับทราบความโหดร้ายที่พ่วงมากับอุตสาหกรรมเพชร ทำให้มีการเรียกร้องให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเพชรช่วยกันรับผิดชอบ ไม่ซื้อเพชรสีเลือดเหล่านี้มาใช้ผลิตสินค้า

ผู้บริโภคบางกลุ่มหันไปใช้ “เพชรเลี้ยง” ที่สร้างขึ้นในห้องวิจัยแทนที่เพชรขุุดจากธรรมชาติ เพื่อความมั่นใจว่าตนเองไม่ได้ส่งเสริมความโหดร้ายของสงครามอยู่ (แถมยังราคาถูกกว่าเพชรขุดประมาณ 50%) โดยมีผลวิจัยจาก MVI Industries เมื่อปี 2561 พบว่า คนเจนเนอเรชันวาย 70% มีแนวโน้มพิจารณาเลือกใช้แหวนเพชรเลี้ยงแทนเพชรขุด เมื่อจะซื้อแหวนหมั้นให้กับเจ้าสาว

สำหรับยอดขายแหวนหมั้นประดับเพชรของ Tiffany & Co. ช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ตกลงถึง -97% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยลดจาก 280.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 142.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยอดขายรวมทั้งบริษัทลดลง -45% จากปีก่อนทำได้กว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 555.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นผลจากการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 ทำให้หลายคนเลื่อนการขอหมั้นและแต่งงานออกไปก่อน

Source

]]>
1293570
แค่ผิวๆ! นักวิเคราะห์ประเมินกระแส “บอยคอตโฆษณา” Facebook กระทบรายได้เพียง 5% https://positioningmag.com/1286371 Thu, 02 Jul 2020 13:48:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286371 ด้วยจำนวนบริษัทมากกว่า 500 แห่งที่ประกาศร่วมแคมเปญ “บอยคอตโฆษณา” ใน Facebook ตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิพลเมือง ทำให้นักลงทุนหลายรายกังวลว่ารายได้บริษัทจะลดลงมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทวิเคราะห์หุ้นจาก Wall Street ประเมินว่ารายได้ Facebook จะลดลงเพียง 5% เท่านั้น แต่ถ้าเกิดขึ้นยาวนานกว่า 1 เดือนก็อาจจะมีผลกระทบสูงขึ้น

แคมเปญ #StopHateforProfits มีบริษัทตบเท้าเข้าร่วมด้วยมากกว่า 500 แห่งแล้ว โดยมีบริษัทรายใหญ่จำนวนมากที่ประกาศร่วมแคมเปญนี้ด้วย เช่น Unilever, Pfizer, Lego, Dunkin Donuts, Starbucks, Coca-Cola ฯลฯ การรวมตัวกัน “คว่ำบาตร” งดลงโฆษณาใน Facebook ครั้งนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัทร่วงลงทันที 8% เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

แต่บริษัทวิเคราะห์และลงทุนใน Wall Street ประเมินว่าหุ้น Facebook ยังแข็งแรงอยู่โดยแนะนำให้ “ซื้อ” หุ้นบริษัท เพราะมองว่ารายได้ Facebook จะลดลงจากแคมเปญนี้ไม่เกิน 5%

บริษัท Morgan Stanley คาดการณ์ว่า หากบริษัทที่ลงโฆษณาสูงสุด 100 แห่งหยุดลงโฆษณาทั้งหมด Facebook จะสูญเสียรายได้ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

ส่วนนักวิเคราะห์จาก Citi มองว่า ถ้าการบอยคอตโฆษณาเกิดขึ้นเพียงเดือนเดียว ราคาหุ้นบริษัทจะลดลงประมาณ 1 เหรียญต่อหุ้น แต่ถ้าหาก Facebook ไม่สามารถจูงใจให้บริษัทลูกค้ากลับมาลงโฆษณาอีก ราคาหุ้นน่าจะลดลงถึง 17 เหรียญต่อหุ้น

Starbucks หนึ่งในบริษัทร่วมแคมเปญ บอยคอตโฆษณา

ด้าน Rohit Kulkarni นักวิเคราะห์จาก MKM Partners กล่าวว่า นักโฆษณาต่างลดการใช้เม็ดเงินโฆษณาลงอยู่แล้วตั้งแต่เกิดโรคระบาด COVID-19 แต่ Facebook นั้นมีฐานรายได้ที่หลากหลายจากแหล่งผู้ลงโฆษณานับหลายล้านรายทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น Procter & Gamble ซึ่งเป็นผู้ลงโฆษณารายใหญ่ที่สุดในโลก มีส่วนในรายได้ของ Facebook เพียง 0.5% เท่านั้น

บทวิเคราะห์เหล่านี้สอดคล้องกับฐานข้อมูลของ Pathmatics ที่ระบุว่าแม้รวม Top 100 ผู้ลงโฆษณามูลค่าสูงที่สุดของ Facebook ก็ยังคิดเป็นเพียง 6% ของรายได้ทั้งหมด นอกจากนี้ Bank of America ยังวิเคราะห์ด้วยว่า แม้ผู้ลงโฆษณาเหล่านี้จะหยุดไป โซเชียลมีเดียนี้ก็มีกลไก “ประมูล” ที่ดึงผู้ลงโฆษณารายอื่นเข้ามาอยู่ดี

แคมเปญ #StopHateforProfits ดังกล่าว มีการเรียกร้องให้บรรดาโซเชียลมีเดียจัดการกับ Hate Speech หรือคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังบนแพลตฟอร์มอย่างจริงจัง และบริษัทที่เข้าร่วมแคมเปญนี้จะหยุดลงโฆษณาไปก่อน จนกว่าแพลตฟอร์มจะจัดการกับปัญหา โดย Facebook คือโซเชียลมีเดียที่ถูกบอยคอตในครั้งนี้

เรื่องนี้ทำให้ Facebook ออกมาตอบโต้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 จากการแถลงของ นิก เคลกก์ รองประธานฝ่ายความสัมพันธ์ระดับโลกของบริษัท ระบุว่า “Facebook ไม่ได้ทำกำไรจากความเกลียดชัง” พร้อมโต้กลับว่าแพลตฟอร์มของบริษัทสามารถลบข้อความสร้างความเกลียดชังได้เร็วกว่าคู่แข่ง เช่น YouTube หรือ Twitter ด้วยซ้ำ

รายได้จากการโฆษณาของ Facebook เมื่อปี 2019 สูงถึง 6.97 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก Google ที่ทำรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์สูงที่สุดในโลก

Source

]]>
1286371
ส่อง 5 แคมเปญ “แบรนด์” สินค้าในประเทศไทยฉลอง “Pride Month” ประจำปี 2020 https://positioningmag.com/1284283 Fri, 19 Jun 2020 12:41:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1284283 เดือนมิถุนายนเดือนแห่ง “Pride Month” เวียนมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยความสำคัญของเดือนนี้คือการกาปฏิทินร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ หลายแบรนด์ที่จำหน่ายสินค้า-บริการในประเทศไทยมีการออกแคมเปญร่วมสนับสนุน LGBTQ ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจนี้ด้วย Positioning จึงขอยกตัวอย่างแคมเปญดีๆ ที่เราเห็นถึงความตั้งใจขับเคลื่อนสังคมให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ปีนี้เป็นปีที่ 51 นับจากการประท้วง Stonewall Riots ในสหรัฐอเมริกา และเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เรียกร้องสิทธิชาวเกย์ และขยายครอบคลุมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งหมดในเวลาต่อมา โดยเลือกเอาเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์เป็นเดือนแห่ง “Pride Month” ร่วมรณรงค์กันตลอดเดือน

ประวัติของ Stonewall Riots มาจากตำรวจบุกตรวจค้นผับ Stonewall Inns ซึ่งเป็นแหล่งรวมชาวเกย์และเลสเบี้ยนในนิวยอร์กในปี 1969 การบุกตรวจค้นมีการแยกเอาชายที่แต่งกายเป็นหญิงและหญิงที่แต่งกายเป็นชายไว้ต่างหาก เนื่องจากในยุคนั้นวิถี LGBTQ และการแต่งกายข้ามเพศถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงถูกตราหน้าว่ามีความผิดปกติทางจิต การบุกค้นครั้งนี้นำไปสู่ความรุนแรงทั้งจากผู้ถูกจับกุมต่อตำรวจ และจากตำรวจต่อชาวเกย์ จนเกิดการจลาจลประท้วงบนถนนต่อเนื่อง 6 วัน

ขบวนพาเหรด Pride Month ในเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เดือนมิถุนายน 2019 (Photo: Shutterstock)

แม้การเรียกร้องสิทธิ LGBTQ จะส่งผลให้มุมมองของสังคมต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศดีขึ้นเป็นลำดับ แต่การเลือกปฏิบัติยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ “Pride Month” ยังมีต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2019 มีผู้ร่วมงานเดินขบวนเทศกาลนี้ในนิวยอร์กถึง 5 ล้านคน และมีการจัดเทศกาลในทำนองเดียวกันทั่วโลก

ปี 2020 อาจจะเป็นปีที่การรณรงค์ “Pride Month” เงียบเหงาไปสักหน่อยเนื่องจากโรคระบาด COVID-19 ทำให้ไม่สามารถจัดการเดินขบวนรณรงค์ได้ แต่เหล่าแบรนด์สินค้าและบริการที่มีจุดยืนสนับสนุนความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ ยังคงจัดแคมเปญหรือแนวนโยบายเพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง ที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโลโก้หรือออกสินค้าสีรุ้งเท่านั้น!

 

1.”แสนสิริ” – ลงนามกับ UN ผลักดันสิทธิ LGBTI

ปีนี้ “แสนสิริ” แบรนด์อสังหาริมทรัพย์ไทย ยกระดับการสนับสนุน LGBTI (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล บุคคลข้ามเพศ และบุคคลเพศกำกวม) ด้วยการลงนามในข้อตกลง UN Standards of Conduct for Business ซึ่งเป็นข้อตกลงเพื่อให้คำมั่นว่าบริษัทจะปฏิบัติตามหลักการทางธุรกิจ 5 ข้อเหล่านี้

  • เคารพสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTI ในทุกการดำเนินการทางธุรกิจ
  • ขจัดการเลือกปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTI ในสถานที่ทำงาน
  • ให้การสนับสนุนเชิงรุกแก่พนักงาน LGBTI สร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวก ให้ความเชื่อมั่น ทำให้พนักงานทำงานร่วมกันได้อย่างมีเกียรติ
  • ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่อาจเกิดจากการกีดกันโดยคู่ค้า คู่สัญญา ลูกค้า หรือบุคคลอื่นๆ
  • ผลักดันประเด็นความเท่าเทียมอย่างเป็นสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยในสังคม สนับสนุนทางการเงิน หรือปัจจัยอื่นๆ

โดยแสนสิริมีข้อปฏิบัติในองค์กรที่แสดงออกตามหลักการเหล่านี้แล้ว เช่น การจัดห้องน้ำแบบไม่ระบุเพศที่ชั้น 1 ของทุกตึกในสำนักงานใหญ่ หรือการเป็นพันธมิตรธนาคาร 4 แห่ง คือ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ออมสิน และ ยูโอบี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครอบครัว LGBTI กู้ซื้อบ้านร่วมกันได้ง่ายขึ้น

ประเด็นการช่วยผลักดันให้ LGBTI กู้ซื้อบ้านร่วมกันเพื่อสร้างชีวิตคู่เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปกติแล้วธนาคารมักจะไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือเป็นเครือญาติกู้สินเชื่อบ้านร่วมกัน เมื่อประเทศไทยยังไม่มีการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน ทำให้การกู้ซื้อบ้านของคู่รัก LGBTI ยุ่งยากขึ้น แต่ก็มีหลายธนาคารดังกล่าวข้างต้นที่มีเกณฑ์การตรวจสอบและอนุมัติให้แล้วในปัจจุบัน

 

2.โรงหนัง House Samyan – จัดพื้นที่ฉายให้หนัง LGBTQ

ไม่เพียงแต่เปลี่ยนโลโก้มีแถบธงสีรุ้งด้านล่าง เดือนนี้โรงหนัง House Samyan ยังมีโปรแกรมฉายภาพยนตร์เก่า 3 เรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตและความรักของ LGBTQ อย่าง Beautiful Thing (1996), Tangerine (2019) และ Portrait of a Lady on Fire (2019)

เดือนมิถุนายนปีนี้เป็นช่วงที่วิกฤตโรคระบาด COVID-19 เพิ่งคลี่คลาย และโรงภาพยนตร์เพิ่งได้รับอนุญาตให้กลับมาฉายได้ตามปกติ ทำให้ภาพยนตร์เด่นๆ หลายเรื่องเลือกจะเลื่อนเปิดฉายออกไปก่อน จนโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ต้องดีลหนังเก่าที่ผู้ชมน่าจะสนใจดูซ้ำกลับมาฉายใหม่

สำหรับโรงหนัง House ก็เช่นกัน ภาพยนตร์หลายเรื่องในตารางเป็นการฉายซ้ำหนังเก่า โดยเลือกที่จะสนับสนุน “Pride Month” ด้วยการอุทิศพื้นที่ฉายราว 1 ใน 3 ให้กับหนัง LGBTQ ซึ่งมีส่วนช่วยเปิดพื้นที่ให้คอนเทนต์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศไปสู่สังคมได้มากขึ้น

 

3.Guss Damn Good – เวิร์กช็อปค้นหารสไอศกรีม

ไอศกรีมรส Equality จาก Guss Damn Good ที่ได้จากการเวิร์กช็อปร่วมกับลูกค้าเมื่อปี 2019

มาถึงแบรนด์ของกินกันบ้าง แบรนด์ไอศกรีม Guss Damn Good ที่มี 9 สาขาหน้าร้านและจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นแบรนด์ไอศกรีมคนไทยที่ก่อตั้งเมื่อปี 2014

ปีนี้น่าเสียดายที่วิกฤต COVID-19 ทำให้ Guss Damn Good ไม่สามารถจัดเวิร์กช็อปค้นหารสชาติไอศกรีมเพื่อเฉลิมฉลอง “Pride Month” ได้ แต่ได้นำรสชาติไอศกรีม Equality ที่ได้จากการเวิร์กช็อปปีที่แล้วกลับมาจำหน่ายใหม่ พร้อมกับการตกแต่งร้านด้วยธงสีรุ้งทั่วทั้งร้าน และเปลี่ยนสติกเกอร์ปิดกล่องจัดส่งพัสดุไอศกรีมเป็นสีรุ้ง

ย้อนไปปี 2019 แบรนด์ Guss Damn Good จัดเวิร์กช็อป We support LGBTQ+ เนื่องจาก “นที จรัสสุริยงค์” ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ เล็งเห็นถึงความไม่เท่าเทียมต่อ LGBTQ ในสังคมไทย เพราะพนักงานเพศหลากหลายของร้านคนหนึ่งถูกเลือกปฏิบัติจากลูกค้า

หน้าร้าน Guss Damn Good ประดับธงสีรุ้ง (Photo by Guss Damn Good)

ตัวแบรนด์ที่มีจุดยืนเป็นไอศกรีมที่ถ่ายทอดรสชาติความทรงจำ ต้องการให้ทานไอศกรีมแล้วนึกถึงบางสิ่งบางอย่างอยู่แล้ว จึงนำจุดยืนของแบรนด์มาช่วยสนับสนุน สร้างสรรค์เวิร์กช็อปกับลูกค้า จนออกมาเป็นไอศกรีมรส Equality (ความเท่าเทียม) และ Love is Love (รักก็คือรัก)

การจัดเวิร์กช็อปให้ลูกค้าเข้าร่วมคิดค้นรสชาติ ทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นที่ได้ engagement กับการคิดคำนึงถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อถึงหรือเรียกร้องให้กับ LGBTQ ไม่ใช่แค่การหากิมมิกเพื่อขายสินค้าเท่านั้น

 

4.”เจนเนอราลี่” – ปลดล็อก “คู่ชีวิต” เป็นผู้รับประโยชน์กรมธรรม์

อีกแคมเปญที่มีผลต่อการใช้ชีวิตคู่ของคู่รักเพศเดียวกัน คือเรื่องของกรมธรรม์ประกันชีวิต ปีนี้ “เจนเนอราลี่” ออกแคมเปญ “Gen LOVE Wins เพราะความรักชนะทุกสิ่ง” โดยเปิดกว้างให้คู่ชีวิต LGBTQ สามารถระบุชื่อผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นคู่ชีวิตของตนเองได้ เพียงแสดงหลักฐานการใช้ชีวิตร่วมกัน เช่น ภาพถ่ายบนโซเชียลมีเดีย ภาพถ่ายการสมรส หลักฐานการซื้อหรืออยู่บ้านเดียวกัน หลักฐานการทำธุรกิจร่วมกัน ทะเบียนสมรส (กรณีจดทะเบียนในต่างประเทศ)

ประเด็นนี้มีความสำคัญเพราะปกติแล้วการลงชื่อผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิต มักจะต้องระบุความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือทางกฎหมาย ขณะที่คู่รักเพศเดียวกันในไทยยังไม่ได้รับการรับรองให้จดทะเบียนสมรสได้ ทำให้บริษัทประกันแต่ละแห่งจะต้องมีนโยบายของบริษัทเองเพื่อรองรับ

นอกจากเจนเนอราลี่แล้ว ยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เปิดกว้างในประเด็นนี้เช่นกัน เช่น กรุงไทยแอ็กซ่า เมืองไทยประกันชีวิต เอฟดับบลิวดี ช่วยสนับสนุนให้ LGBTQ ดำเนินชีวิตได้อย่างเท่าเทียม

 

5.”Beautrium และ Levi’s” – สินค้าสีรุ้งส่งรายได้บริจาคให้ LGBTQ

(ซ้าย) แคมเปญจำหน่ายหน้ากากผ้าจาก Beautrium (ขวา) สินค้าคอลเลกชัน Levi’s Pride 2020 : Use Your Voice

วิธีสนับสนุน LGBTQ ที่ทำได้ไม่ยาก คือการสนับสนุนทางการเงิน โดยบางแบรนด์อาจจะจัดทำสินค้าการกุศลเพื่อระดมทุนไปบริจาคให้กับองค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

เช่นปีนี้ Beautrium แบรนด์ร้านขายเครื่องสำอางแบบมัลติแบรนด์สัญชาติไทย เลือกผนวกการฉลอง “Pride Month” เข้ากับยุค COVID-19 ผลิตหน้ากากผ้าสายสีรุ้งในราคา 99 บาท รวมถึงลดราคาสินค้ากลางปีวันที่ 15-30 มิถุนายน 2563 รายได้จากการจำหน่ายหน้ากากและสินค้าลดราคาช่วงนี้ จะนำไปบริจาคให้กับองค์กรที่สนับสนุนกลุ่ม LGBT เช่น สื่อออนไลน์ Spectrum ที่มุ่งเน้นเสนอคอนเทนต์เรื่องเพศและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

หรือแบรนด์ Levi’s ที่ผลิตสินค้าคอลเลกชัน Levi’s Pride 2020 : Use Your Voice มีทั้งหมวก เสื้อยืด แจ็กเก็ตยีนส์ กระเป๋า โดยรายได้จะนำไปบริจาคให้กับ OutRight Action International องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ยุติความรุนแรงต่อ LGBTI ในระดับสากล

แบรนด์และแคมเปญเหล่านี้คือตัวอย่างของการสนับสนุน “Pride Month” ที่มากไปกว่าการกล่าวถึง เปลี่ยนโลโก้ หรือผลิตสินค้าสีรุ้งมาจำหน่าย แต่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ LGBTQ ใช้ชีวิตได้อย่างภาคภูมิใจและเท่าเทียมกับบุคคลรักต่างเพศมากขึ้น

]]>
1284283