ตรวจคนเข้าเมือง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 19 Jun 2024 11:50:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 4 เดือนแรกปี 2024 คนไทย “เที่ยวเกาหลี” ลดฮวบ -21% สาเหตุหลักไม่อยากเสี่ยง “ติดตม.” https://positioningmag.com/1478924 Wed, 19 Jun 2024 11:27:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1478924 สถิติพบคนไทย “เที่ยวเกาหลี” ช่วง 4 เดือนแรกปี 2024 ลดฮวบ -21% สวนทางกับภาพรวมการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่ฟื้นตัว 87% จากปีก่อน สาเหตุหลักเพราะคนไทยไม่อยากเสี่ยง “ติดตม.”

สำนักข่าว Yonhap News Agency รายงานข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศเกาหลีใต้พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าประเทศเกาหลีใต้ 119,000 คน ซึ่งลดลง -21.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับภาพรวมการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าประเทศเพิ่มขึ้น 86.9% ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้

หากมองเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) นักท่องเที่ยวไทยเคยครองแชมป์อันดับ 1 สัญชาตินักท่องเที่ยวจาก SEA ที่เข้าไปเที่ยวเกาหลีใต้มากที่สุดในช่วงก่อนโควิด-19 แต่ด้วยตัวเลข 4 เดือนแรกปีนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวไทยตกไปอยู่อันดับ 3 ในกลุ่มนักท่องเที่ยว SEA ที่เข้าเกาหลีใต้มากที่สุด รองจาก “เวียดนาม” (163,000 คน) และ “ฟิลิปปินส์” (158,000 คน)

ตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยที่เข้าเกาหลีใต้เพียง 119,000 คน ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 59% ของจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เข้าเกาหลีใต้ใน 4 เดือนแรกของปี 2019 (ก่อนเกิดโรคระบาด) เทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวโดยรวมของเกาหลีใต้ที่กลับมามีสัดส่วน 88% ของปี 2019 ถือว่าตลาดท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาสูงมากแล้ว

หมู่บ้านวัฒนธรรมคัมชอน ปูซาน

สาเหตุที่คนไทยยังไม่กลับไปเที่ยวเกาหลีใต้มากเท่าในอดีต ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเกาหลีใต้มองว่าเป็นเพราะ “ความรู้สึกเชิงลบ” ของคนไทยจากกรณีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของเกาหลีใต้ปฏิเสธไม่ให้คนไทยเข้าประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยขั้นแรกก่อนเดินทาง คนไทยจะต้องกรอกข้อมูลในระบบ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศเกาหลีใต้ 112 ประเทศ (*มีนักท่องเที่ยว 22 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับยกเว้นทั้งวีซ่าและการกรอก K-ETA เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน แต่ชาวไทยไม่ได้อยู่ในลิสต์นี้)

ชาวไทยจำนวนมากถูกปฏิเสธตั้งแต่ขั้นตอนการกรอก K-ETA โดยไม่มีคำอธิบายสาเหตุที่ไม่ได้รับการอนุมัติ

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือนักท่องเที่ยวไทยบางคนที่ได้รับอนุมัติ K-ETA แล้วก็ยังถูก ตม. เกาหลีใต้ปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศและส่งกลับไทยทันที ทั้งหมดทำให้ชาวไทยรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก

ตัวอย่างการพูดคุยเกี่ยวกับ #แบนเกาหลี เมื่อปีก่อน ส่งผลต่อเนื่องให้ปีนี้คนไทยตัดสินใจไปเกาหลีน้อยลง

เรื่องราวการถูกปฏิเสธเข้าเมืองโดย ตม. เกาหลีใต้กลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียไทยตั้งแต่ปลายปี 2023 อีกด้วย ผ่านการติดแฮชแท็ก #แบนเกาหลี เล่าประสบการณ์การถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเมืองด้วยเหตุผลที่น่ากังขา ประสบการณ์เลวร้ายที่ถูกเผยแพร่ต่อเหล่านี้จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวไทยเข้าเกาหลีใต้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ให้เหตุผลว่า ความเข้มงวดต่อคนไทยเป็นเพราะคนไทยเป็นสัญชาติหลักที่มักจะหนีเข้าเมืองมาเป็นแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลี ทางกระทรวงฯ มิได้มีอคติเลือกปฏิบัติต่อคนไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สำหรับสัญชาตินักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นมากที่สุดใน 4 เดือนแรกปีนี้ คือ “จีน” จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเกาหลีพุ่งขึ้นถึง 470% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รองลงมาคือ “ญี่ปุ่น” เพิ่มขึ้น 86% ตามด้วย “ฟิลิปปินส์” เพิ่มขึ้น 76% “อินโดนีเซีย” เพิ่มขึ้น 51% “มาเลเซีย” เพิ่มขึ้น 35% “เวียดนาม” เพิ่มขึ้น 29% และ “สิงคโปร์” เพิ่มขึ้น 11%

Source

]]>
1478924
สายการบินใหญ่ญี่ปุ่น ANA เเละ JAL เริ่มทดสอบใช้ “บัตรผ่านดิจิทัล” โชว์สถานะผู้ตรวจ COVID-19 https://positioningmag.com/1308259 Mon, 30 Nov 2020 07:44:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308259 สองสายการบินใหญ่ของญี่ปุ่น เริ่มทดสอบใช้ทดสอบระบบใบรับรองดิจิทัล สำหรับผู้เดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ ที่มีผลตรวจเป็นลบเพื่อลดความซับซ้อนของขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง

โดย All Nippon Airways หรือ ANA จะเริ่มใช้งานเเอปพลิเคชัน “CommonPass” บนเที่ยวบินระหว่างสนามบินฮาเนดะของกรุงโตเกียว กับนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน ซึ่งทาง Japan Airlines ก็กำลังพิจารณาใช้โปรแกรมใบรับรองดิจิทัลในลักษณะนี้เช่นกัน

สำหรับเเอปพลิเคชัน “CommonPass” เป็นระบบที่เเสดงผลของผู้ผ่านการตรวจ PCR รวมถึงชื่อสถานที่ตรวจ หมายเลขหนังสือเดินทาง แผนการเดินทาง สถานะสุขภาพปัจจุบันของผู้ใช้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางอื่นๆ ผ่านการสแกนทางสมาร์ทโฟน

โดยเป็นการช่วยลดขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองในสถานการณ์ COVID-19 ที่มีความซับซ้อนเเละจะทำให้ทราบอย่างรวดเร็วว่าผู้ใช้เเอปฯ นี้ มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดในการเข้าประเทศหรือไม่

สายการบินหลายเเห่งทั่วโลก อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้ “CommonPass” กับเที่ยวบินโดยสาร เช่น สายการบิน United Airlines และ Cathay Pacific Airways ของฮ่องกง ก็กำลังทำการทดลองใช้เเอปฯ นี้ ซึ่งที่ผ่านมา CommonPass ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาจาก World Economic Forum

อย่างไรก็ตาม การใช้ CommonPass อย่างเต็มรูปแบบเเละมีมาตรฐานระดับโลกนั้น ยังมีความท้าทายอยู่มากเพราะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่กักกันโรค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามประเทศต่างๆ ซึ่งต้องรอดูว่าต่อไปจะมีการพัฒนาเชื่อมต่อข้อมูลกันได้ในระดับใด

 

ที่มา : NHK , Financial Times 

]]>
1308259
ตม.สหรัฐฯ อาจส่งนักศึกษาต่างชาติกลับประเทศ ถ้ามหา’ลัยที่เรียนเปลี่ยนไปสอนออนไลน์ https://positioningmag.com/1286713 Tue, 07 Jul 2020 12:45:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286713 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ ICE ของสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2020 ว่า นักเรียนต่างชาติที่กำลังอยู่ระหว่างศึกษาในสหรัฐฯ อาจถูกส่งกลับประเทศบ้านเกิด หากมหาวิทยาลัยที่บุคคลนั้นเรียนอยู่ปรับไปเป็นระบบเรียนออนไลน์เท่านั้น ระเบียบนโยบายใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อนักเรียนต่างชาติ 1.2 ล้านคนในประเทศสหรัฐฯ

มหาวิทยาลัยจำนวนมากของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับการเรียนการสอนไปเป็นการเรียนออนไลน์เท่านั้น เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Harvard ประกาศปรับไปเป็นการเรียนออนไลน์ทุกวิชา ไม่ว่านักศึกษาจะยังอยู่ในเขตแคมปัสมหาวิทยาลัยหรือไม่ ซึ่งทำให้นักศึกษาสามารถเดินทางออกจากสหรัฐฯ กลับประเทศบ้านเกิดได้เลย

“มีความไม่แน่นอนมากมายและน่าหงุดหงิดอย่างมาก” วาเลอเรีย เมนดิโอล่า นักศึกษาด้านบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัย Harvard กล่าวกับสำนักข่าว CNN “ถ้าฉันต้องกลับไปเม็กซิโก ฉันก็กลับได้ แต่นักเรียนต่างชาติหลายคนไม่สามารถทำอย่างนั้นได้”

จากข่าวประชาสัมพันธ์ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ICE ประกาศวันที่ 6 ก.ค. 2020 เปิดเผยว่า นักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่ใช้วีซ่านักเรียน “ไม่สามารถปรับไปเรียนออนไลน์ทั้งภาคการศึกษาแล้วยังคงพักอาศัยในสหรัฐฯ ต่อได้” รวมถึงเสริมว่า “กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะไม่ออกวีซ่าให้กับนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนในโปรแกรมหรือในสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทุกวิชาสำหรับทั้งภาคการศึกษา และด่านตรวจคนเข้าเมืองจะไม่อนุญาตให้นักเรียนกลุ่มนี้เข้าสู่สหรัฐฯ ด้วย”

ทั้งนี้ ปกติวีซ่าประเภท F-1 ที่ให้ชาวต่างชาติพำนักในประเทศระยะยาวได้ตลอดการศึกษา จะอนุญาตให้นักศึกษาผู้ถือวีซ่าเรียนวิชาที่เปิดสอนแบบออนไลน์ได้ไม่เกิน 1 วิชาต่อเทอม สำหรับกรณีนี้ ICE จะอนุโลมให้ผู้ถือวีซ่า F-1 เรียนออนไลน์ได้หลายวิชา แต่ต้องไม่ใช่ทุกวิชา ดังที่กล่าวไปข้างต้น

มหาวิทยาลัย Harvard หนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ ซึ่งจะปรับมาเป็นระบบการเรียนการสอนออนไลน์ทุกวิชา รับมือโรค COVID-19 (photo: college.harvard.edu)

นโยบายใหม่นี้ทำให้นักเรียนต่างหัวหมุน โดยเอเจนซี่ที่ดูแลการเรียนต่อของนักศึกษาแนะนำว่านักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในสหรัฐฯ ไปแล้วควรใช้วิธีหลีกเลี่ยงนโยบายนี้ เช่น โอนย้ายหน่วยกิตไปอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ยังมีการเรียนแบบผสมผสาน คือมีทั้งเรียนออนไลน์และยังมีคลาสเรียนแบบปกติอยู่

แบรด ฟาร์นสเวิร์ธ รองประธาน สภาการศึกษาอเมริกัน หน่วยงานที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกว่า 1,800 แห่งทั่วประเทศ กล่าวว่า ประกาศของ ICE ทำให้เขาและอีกหลายคนแปลกใจ และมองว่าประกาศนี้จะสร้างความสับสนและความไม่แน่นอนยิ่งขึ้นไปอีก

ฟาร์นสเวิร์ธมองว่า นโยบายนี้จะเป็นอย่างไรต่อ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) และมหาวิทยาลัยจำนวนมากกว่านี้ตัดสินใจปรับไปเป็นการเรียนออนไลน์ทุกวิชาเพื่อช่วยป้องกันโรค

“ผมคิดว่าเรื่องนี้จะยิ่งก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักเรียนต่างชาติ รวมถึงว่าที่นักศึกษาที่กำลังมองหาสถาบันเรียนต่อในฤดูใบไม้ร่วง ความไม่แน่นอนนี้อาจจะผลักให้พวกเขาเลือกมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นได้” ฟาร์นสเวิร์ธกล่าว

 

นักศึกษาหลายประเทศกลับบ้านเกิดไม่ได้

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่อนุมัติออกวีซ่าให้กับนักเรียนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในคอร์สแบบเรียนออนไลน์ทุกวิชาอยู่แล้ว แต่สถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่เป็นเหตุผลให้ ICE ต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นนี้

“นี่ไม่ใช่พวกมหาวิทยาลัยห้องแถว ไม่ใช่การหลอกลวง นี่คือกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีตัวตนจริง เป็นมหาวิทยาลัยที่จะสอนในคลาสเรียนปกติอยู่แล้วหากไม่เกิดโรคระบาดขึ้น” เธเรซ่า คาร์ดินัล บราวน์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายตรวจคนเข้าเมืองและผู้อพยพจาก ศูนย์นโยบาย Bipartisan กล่าว

“ปัญหาใหญ่ไปกว่านั้นคือ ประเทศหลายประเทศออกกฎการเดินทางที่เข้มงวดไปแล้ว ทำให้นักศึกษากลับบ้านไม่ได้ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นพวกเขาจะทำอย่างไร มันจะกลายเป็นปัญหาที่ไร้ทางออกสำหรับนักเรียนหลายคน” บราวน์กล่าว

(Photo by Anna Shvets from Pexels)

ด้าน แลร์รี่ บาโคว ประธานมหาวิทยาลัย Harvard ตอบโต้ในวันเดียวกันนั้นว่า “เรามีความกังวลอย่างยิ่งต่อนโยบายที่ออกโดย ICE ซึ่งเป็นวิธีการอันรุนแรงและกำปั้นทุบดินสำหรับปัญหาที่สลับซับซ้อน สำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกปรับไปอยู่ในคอร์สออนไลน์แล้ว พวกเขาจะมีทางเลือกเพียงแค่เดินทางกลับประเทศหรือย้ายมหาวิทยาลัยเท่านั้น”

บาโควยังกล่าวต่อว่า นโยบายของ ICE นั้น “ทำลายวิธีการรับมือที่พิจารณามาอย่างถี่ถ้วนของมหาวิทยาลัยหลายแห่งและ Harvard ด้วยในการที่จะปกปักประโยชน์ของนักเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนต่อในโปรแกรม โดยที่ยังรักษาสุขภาพและความปลอดภัยจากโรคระบาดได้”

“เราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศเพื่อหาหนทางต่อจากนี้” เขากล่าวเสริม

 

แผนสกัดนักศึกษาต่างชาติ?

รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวนโยบายเพิ่มความเข้มงวดต่อการเข้าเมืองของคนต่างชาติอยู่แล้ว ดังนั้นการระบาดของโรค COVID-19 จึงส่งผลให้สหรัฐฯ เร่งระงับวีซ่าทำงานของชาวต่างชาติ โดยที่โรงงานอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญ และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้อพยพ ต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เพียงฉวยโอกาสนี้เป็นตัวเร่งนโยบายส่งกลับผู้อพยพ รวมถึงลดอัตราการอนุมัติให้คนต่างชาติเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายด้วย

นโยบายยกเลิกวีซ่านักเรียนต่างชาติก็เช่นกัน หากบังคับใช้จะทำให้นักเรียนต่างชาติ (ซึ่งมักจะเสียค่าเทอมสูงลิ่วให้ประเทศสหรัฐฯ) ต้องหาทางบินกลับประเทศบ้านเกิด

สถาบันศึกษานโยบายการอพยพ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในวอชิงตันดีซี ให้ข้อมูลว่า มีนักศึกษาประมาณ 1.2 ล้านคนตกอยู่ภายใต้กลุ่มวีซ่าที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายใหม่นี้ โดยนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ลงทะเบียนเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาราว 8,700 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนนักศึกษาเมื่อเดือนมีนาคม 2018)

ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า Top 3 สัญชาติของนักเรียนนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐฯ ได้แก่ จีน (31%), อินเดีย (17%) และเกาหลีใต้ (4.4%) ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนไทยในสหรัฐฯ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน รายงานว่ามีนักเรียนนักศึกษาไทยรวม 6,636 คน ในช่วงที่เกิดโรคระบาดเมื่อต้นเดือนเมษายน

จนถึงขณะนี้นักเรียนนักศึกษาบางส่วนเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว แต่อีกจำนวนมากยังพำนักอยู่ในสหรัฐฯ ดังนั้น นโยบายของ ICE อาจจะมีผลต่อนักเรียนไทยด้วยเช่นกัน

Source

]]>
1286713
ลดเวลาต่อคิว! สนามบินนาริตะ เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ตรวจคนเข้าเมืองอิเล็กทรอนิกส์ “พาสปอร์ตไทย” ใช้ได้ https://positioningmag.com/1246371 Fri, 13 Sep 2019 13:00:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1246371 Photo : asahi.com

สนามบินนาริตะ จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยใช้ประตูอัตโนมัติที่มีระบบจดจำใบหน้า และยื่นข้อมูลศุลกากรผ่านแอปพลิเคชันมือถือ

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านสนามบินนาริตะ ประตูเข้าสู่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น จะสามารถใช้ประตูอัตโนมัติที่มีระบบจดจำใบหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้กับเฉพาะชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้ขยายมาใช้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย เพื่อลดเวลาในการตรวจคนเข้าเมือง

ผู้ที่ต้องการใช้ประตูอัตโนมัตินี้จะต้องมีพาสปอร์ตที่มีชิปอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพาสปอร์ตของประเทศไทยก็ระบบนี้ โดยระบบจะเปรียบเทียบภาพถ่ายและข้อมูลบนพาสปอร์ต กับผู้ที่เดินทางเข้าเมือง

ระบบจดจำใบหน้านี้ได้ทดลองใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ที่สนามบินนาริตะ และได้ผลเป็นอย่างดี จึงเปิดทางให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ใช้ด้วย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินนาริตะ ระบุว่าในปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ญี่ปุ่นผ่านทางสนามบินนาริตะ วันละ 21,000 คน หรือมากกว่า 7.71 ล้านคนต่อปี

ทางด้านด่านศุลกากรก็นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เช่นกัน โดยได้ทดลองติดตั้งประตูอัตโนมัติที่อาคารผู้โดยสารที่ 3 ของสนามบินนาริตะ เมื่อเดือนเมษายนระบบดังกล่าวจะให้ผู้เดินทางสามารถแจ้งรายการศุลกากร โดยผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน โดยไม่ต้องกรอกใบศุลกากรที่เป็นกระดาษอีก หากไม่มีสินค้าที่ต้องสำแดงเพื่อเสียภาษี ผู้เดินทางก็จะสามารถผ่านด่านศุลกากรได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ระบบจดจำใบหน้าเช่นเดียวกัน

นักท่องเที่ยวต่างชาติจะสามารถใช้ระบบตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งขาเข้าและขาออกแบบเต็มรูปแบบได้ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ที่อาคารผู้โดยสารที่ 1 และ 2 ของสนามบินนาริตะ รวมทั้งที่สนามบินสำคัญอื่นๆ ทั่วญี่ปุ่น.

Source

]]>
1246371