ทักษะแรงงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 10 Jan 2025 01:09:12 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จุฬาฯ เปิด “ChulaGenie” Gen AI สัญชาติไทยแท้ มองการศึกษายุคใหม่ ปรับทักษะสู้เอไอถึงอยู่รอด https://positioningmag.com/1505919 Thu, 09 Jan 2025 10:03:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1505919 ปัจจุบันจากสภาพสภาวะสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ส่งผลให้ทักษะแรงงานในอนาคตก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน

AI เขย่าตลาดแรงงานโลก

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนทิศทางตลาดงาน เนื่องจากบางตำแหน่งงานสามารถทดแทนได้ด้วย AI

สอดรับกับรายงาน Future Jobs 2025 ที่จุฬาฯ ได้ร่วมกับ World Economic Forum จัดทำเพื่อวิเคราะห์ทิศทางตลาดงาน ในปี 2568-2573 พบว่า 5 ตำแหน่งงานสุ่มเสี่ยงโดนดิสรัปชั่นล้วนแต่เป็นงานรูปแบบดั้งเดิม (Traditional) ได้แก่

  1. เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์
  2. พนักงานธนาคารและตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง
  3. เจ้าหน้าที่ป้อนข้อมูล
  4. พนักงานแคชเชียร์และพนักงานจำหน่ายตั๋ว
  5. ผู้ช่วยด้านงานธุรการและเลขานุการบริหาร

ส่วนอีก 5 ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ล้วนเกี่ยวโยงกับเทคโนโลยี ดังนี้

  1. ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data
  2. วิศวกรด้าน Fintech
  3. ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI
  4. นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน
  5. ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการและความปลอดภัย

“ภายในปี 2573 สองในห้าของทักษะที่มีอยู่จะถูกเปลี่ยนแปลง”

ทักษะที่สำคัญของไทย คือ

  • ทักษะด้าน AI และ Big Data
  • ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
  • ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
  • ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล

ทักษะสำคัญของระดับโลก คือ

  • ทักษะด้าน AI และ Big Data
  • ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล
  • ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี
  • ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์

“คาดว่าจะมี 92 ล้านตำแหน่งงานที่หายไปจากโลก หรือเปลี่ยนชื่อตำแหน่งตามการปรับทักษะรูปแบบงานก็เป็นได้ แต่ก็จะมี 170 ล้านตำแหน่งงานใหม่เข้ามาทดแทนเช่นกัน”

มองแรงงานเร่งปรับทักษะ หาสิ่งที่ AI แทนไม่ได้

ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวต่อไปว่า จากปัจจัยท้าทายจาก AI ทำให้แรงงานปัจจุบันต้องเร่งอัพสกิล ขณะที่การศึกษาก็ต้องปรับการสอนให้เป็นรูปแบบบูรณาการกันระหว่างคณะมากขึ้น เพราะ ยุคนี้เน้นความรู้แบบองค์รวม (Holistic) แตกต่างจากอดีตที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialist)

“วิธีที่แรงงานจะอยู่รอดต้องปรับทักษะให้สู้ AI ได้ หรือมีในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้”

ดังนั้น จุฬาฯ จึงมุ่งหมายสู่การเป็น มหาวิทยาลัยแห่งปัญญาประดิษฐ์ (The University of AI)

โดยจะพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) เน้นพัฒนาทักษะเฉพาะทาง หรือความรู้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจบในระดับปริญญา ให้ผู้เรียนเลือกเฉพาะวิชาที่สนใจ หรือกลุ่มวิชาที่ต้องการพัฒนาความรู้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงาน หรือการพัฒนาตนเองได้ทันที ใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 6-7 เดือนให้กับผู้สนใจสาขาเฉพาะในรายคณะการศึกษา

ต่อยอดจากเดิมในหลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือ ปริญญาโท ใช้ระยะเวลาเรียน 4 ปี และ 2 ปี

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปั้น ChulaGenie เจนฯ เอไอสัญชาติไทย อนาคตจ่อเปิดใช้สาธารณะ

นอกจากนี้ จุฬาฯ ได้ร่วมกับกูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) พัฒนา ChulaGENIE แพลตฟอร์ม Generative AI สำหรับสนับสนุนการทำงานของบุคลากรภายในจุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย เปิดทดลองใช้ในเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา

รวมไปถึงในอนาคตยังมีความเป็นไปได้ในการต่อยอดแพลตฟอร์มฯ นี้เพื่อเปิดให้บริการเชิงสาธารณะด้วย

“นอกจากทักษะด้านการใช้งานหรืออด็อปต์เอไอในฐานะยูสเซอร์แล้ว ประเทศไทยควรต่อยอดไปสู่การเป็นเจ้าของหรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อสร้างความยั่งยืนในรอบด้านตามเทรนด์โลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”

]]>
1505919
พนักงานอเมริกัน 22% หวั่น “เทคโนโลยี” จะทำให้ตนเอง “ตกยุค” AI กระทบหนัก “มนุษย์ออฟฟิศ” https://positioningmag.com/1454066 Thu, 30 Nov 2023 13:45:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1454066 Gallup สำรวจพนักงานอเมริกันพบ 22% หวั่นกลัวว่าตนเองจะ “ตกยุค” เพราะตำแหน่งงานถูกทดแทนได้ด้วย “เทคโนโลยี” เห็นชัดความต่างจาก 2 ปีก่อน ความกังวล “มนุษย์ออฟฟิศ” พุ่งพรวดหลัง AI โชว์ทักษะที่อาจมาทดแทนงานนั่งโต๊ะได้

“FOBO” หรือ Fear of Becoแรงงแรming Obsolete “กลัวที่จะตกยุค” เป็นสิ่งที่เริ่มเพิ่มขึ้นในใจพนักงานอเมริกัน จากการสำรวจโดย Gallup ที่เริ่มการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2017

จนถึงครั้งล่าสุดในปี 2023 การสำรวจพบว่า 22% ของคนอเมริกันกลัวว่า “เทคโนโลยี” จะมาทำให้ตำแหน่งงานของตัวเองล้าสมัยไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไป ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นจากสัดส่วนเพียง 15% เมื่อปี 2021 และเป็นครั้งแรกที่เห็นการพุ่งขึ้นอย่างชัดเจนของความกังวลนี้

พนักงาน AI

ความกังวลที่สูงขึ้นชัดเจนนี้เป็นผลมาจากกลุ่มพนักงานที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานนั่งโต๊ะเป็น “มนุษย์ออฟฟิศ” จากเดิมพนักงานกลุ่มนี้เคยกังวลเรื่องเทคโนโลยีเพียง 8% แต่ล่าสุดมีคนที่กังวลเพิ่มเป็น 20% แล้ว เทียบกับกลุ่มพนักงานที่จบต่ำกว่าระดับมหาวิทยาลัย มีกลุ่มที่กังวลเรื่อง ‘FOBO’ เป็นสัดส่วน 24% เท่าเดิม

สะท้อนให้เห็นว่าบัดนี้กลุ่มมนุษย์ออฟฟิศก็กังวลเรื่อง ‘การทดแทนตำแหน่งงานด้วยเทคโนโลยี’ ไม่ต่างจากกลุ่มพนักงานโรงงานเท่าใดนัก

 

ยิ่งอายุน้อยและยิ่งรายได้น้อย…จะยิ่งกังวลมากขึ้น

หากเปรียบเทียบในเชิงเจนเนอเรชัน จะเห็นว่ากลุ่มพนักงานยิ่งอายุน้อยก็จะยิ่งกังวลว่าตนอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ในกลุ่มพนักงานวัย 18-34 ปี มีถึง 28% ที่กังวล รองลงมาในกลุ่ม 35-54 ปี มีความกังวล 23% ปิดท้ายที่วัย 55 ปีขึ้นไปมีคนที่กังวลแค่ 13% เท่านั้น ส่วนเพศชาย-เพศหญิงไม่มีผลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลชัดเจนคือระดับรายได้ ในกลุ่มคนที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 100,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) มีความกังวลเรื่อง FOBO ถึง 27% ขณะที่กลุ่มรายได้ครัวเรือนตั้งแต่ 100,000 เหรียญสหรัฐต่อปีขึ้นไป กลับมีความกังวลเพียง 17% เท่านั้น

พนักงาน AI

 

กลัวถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน

ด้านผลของการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี พนักงานอเมริกันส่วนใหญ่ 31% กลัวว่าจะทำให้สวัสดิการของตนลดน้อยลง 24% เกรงว่าจะถูกลดเงินเดือน 20% กลัวถูกเลย์ออฟ 19% กลัวถูกลดชั่วโมงทำงาน และ 7% กลัวว่าบริษัทจะย้ายตำแหน่งงานไปในต่างประเทศแทน

อย่างไรก็ตาม Gallup ชี้ให้เห็นว่าความกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนทั้งหลายนี้ของพนักงานชาวอเมริกัน ยังต่ำกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อปี 2009 และ 2013 มาก

 

AI มีผลมากต่อมนุษย์ออฟฟิศ

Gallup ให้ความเห็นว่า การพัฒนาทักษะของคอมพิวเตอร์จนสามารถลอกเลียนแบบทักษะภาษาของมนุษย์ได้นั้นปรากฏชัดจากการเปิดตัว ChatGPT ระบบที่พัฒนาบนฐานของ AI ทำให้คนทำงานเห็นความเปลี่ยนแปลงว่า สิ่งที่คอมพิวเตอร์ทำได้ในพื้นที่ของการทำงานนั้นไม่ใช่แค่ “หุ่นยนต์” ในโรงงานหรือคลังสินค้าอีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ยกระดับมากขึ้น ทำงานที่เกี่ยวกับทักษะภาษาได้ ซึ่งจะมากระทบกับงานนั่งโต๊ะออฟฟิศได้เช่นกัน

จากความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้พนักงานที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเริ่มมีความกังวลว่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้อาชีพการงานตัวเองเป็นไปอย่างไร ถึงกระนั้นก็ตาม ปัจจุบันก็ยังมีไม่ถึง 1 ใน 4 ของพนักงานที่คิดว่าสิ่งนี้จะเป็นภัยต่ออาชีพ ส่วนใหญ่ยังรู้สึกในเชิงบวกต่ออนาคตด้านการงานของตนเองอยู่

Source

]]>
1454066
‘Digital Literacy’ ไม่ใช่แค่ “ข้อได้เปรียบ” แต่เป็นสิ่งที่ “ต้องมี” สำหรับพนักงานทุกตำแหน่ง https://positioningmag.com/1402897 Mon, 03 Oct 2022 10:18:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1402897 ทักษะความเข้าใจและใช้งานดิจิทัลได้ หรือ Digital Literacy กลายเป็นสิ่งที่ “ต้องมี” สำหรับพนักงานทุกตำแหน่ง ทุกอุตสาหกรรมไปแล้ว ไม่ใช่แค่ “ข้อได้เปรียบ” ในการสมัครงานอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะทำงานอะไรก็หนีไม่พ้นความเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ดิจิทัลไม่มากก็น้อย

Digital Literacy ในสมัยก่อนหมายถึงต้องการพนักงานที่ส่งอีเมลเป็น พิมพ์งานบนคอมพิวเตอร์ได้ และมักจะเป็นแค่บางตำแหน่งที่ต้องใช้ให้เป็นและใช้คล่อง

แต่โลกทพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบัน Digital Literacy คือการมีทักษะที่จะตามโลกดิจิทัลให้ทันในวันที่การสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ

คอนเซ็ปต์ของทักษะนี้จึงเป็นความสามารถที่จะเข้าใจเครื่องมือดิจิทัลทั้งหมดที่มีในออฟฟิศ ไฮบริดออฟฟิศ หรือการทำงานทางไกลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ทำงานออนไลน์ร่วมกันแบบเรียลไทม์ ระบบแอปฯ แชทในที่ทำงาน หรือเครื่องมือทำงานดิจิทัลใดๆ ที่ออฟฟิศใช้งานอยู่

การมี Digital Literacy วันนี้จึงไม่ใช่ความสามารถว่าใช้งานโปรแกรมอะไรเป็นบ้าง แต่กลายเป็น ‘mindset’ หรือทัศนคติที่จะเรียนรู้เครื่องมือใหม่ได้ตลอด ไม่ว่าจะเจอกับเทคโนโลยีอะไรที่มาพร้อมกับตำแหน่งงานนั้นๆ ก็ต้องสามารถปรับตัวให้ใช้งานมันเป็น และปรับตัวได้ต่อเนื่องถ้าบริษัทมีการเปลี่ยนอุปกรณ์หรือวิธีการทำงาน

Photo : Shutterstock

“ทักษะนี้กลายเป็นทักษะสากลที่ต้องมีกันเกือบทุกคน” Ying Zhou ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านอนาคตการทำงานที่ University of Surrey ประเทศอังกฤษ กล่าว

รายงานจากรัฐบาลอังกฤษเมื่อปี 2019 พบด้วยว่า 82% ของประกาศรับสมัครงานออนไลน์ ต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัลเป็นคุณสมบัติที่ต้องมี

Zhou กล่าวว่า พนักงานที่หยุดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล มีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง “ทุกครั้งที่เทคโนโลยีถูกพัฒนา ก็จะยิ่งผลักดันให้แรงงานต้องพัฒนาทักษะตาม กลายเป็นเหมือนการแข่งขันกันระหว่างการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วเท่าใด เราก็ยิ่งต้องพัฒนาทักษะตัวเองให้เร็วเท่านั้น การแข่งขันนี้จึงดันขีดจำกัดให้สูงขึ้นตลอดเวลา”

 

ทำไมทุกคนต้องมี Digital Literacy

“Digital Literacy เป็นคอนเซ็ปต์แบบกว้างๆ สิ่งนี้หมายถึงคุณสามารถทำงานกับอุปกรณ์ดิจิทัลได้ตั้งแต่งานง่ายๆ ไปถึงงานที่ซับซ้อนก็ทำได้” Zhou กล่าว “มันอาจจะเป็นไปได้ตั้งแต่ปรินท์เอกสารใบวางบิล ใช้งาน Word และ Excel เป็น หรืองานที่ซับซ้อนกว่านั้นอย่างการดีไซน์เว็บไซต์ วิเคราะห์ดาต้า และโค้ดดิ้งโปรแกรม”

งานวิจัยในศูนย์ฯ ของ Zhou พบว่า ตำแหน่งงานที่บอกว่าต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัลนั้นเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแม้แต่งานที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรง ก็ยังต้องใช้งานดิจิทัลให้เป็นแล้ว เช่น พนักงานในโกดังสินค้า ต้องเข้าใจระบบการจัดการบนคลาวด์, แพทย์ต้องใช้ระบบพบหมอทางไกลกับคนไข้ผ่านวิดีโอคอล, ผู้รับเหมาต้องก่อสร้างโครงการและประสานงานกับคนอื่นผ่านแอปพลิเคชันเฉพาะทางด้านก่อสร้าง เทคโนโลยีจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น

อาชีพแพทย์ก็ต้องปรับตัวมาใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ

“สิ่งที่เคยเป็นเหมือน ‘โบนัส’ ในการสมัครงาน ขณะนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญของทุกตำแหน่งงานแล้ว” Danny Stacy หัวหน้าฝ่ายทาเลนต์อัจฉริยะของ Indeed แพลตฟอร์มจ้างงานในลอนดอน กล่าว

ยิ่งนายจ้างเริ่มหันมาทำงานแบบไฮบริดหรือทำงานทางไกลได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความต้องการพนักงานที่มีทักษะดิจิทัลก็ยิ่งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของ Digital Literacy ไม่ได้แปลว่าพนักงานจะต้องใช้ซอฟต์แวร์เป็นทุกอย่างมาก่อนจะได้ทำงาน แต่ต้องมีความมั่นใจในทักษะดิจิทัลของตนเอง พร้อมที่จะ “อัปเกรด” กระตือรือร้น ยืดหยุ่น ปรับตัวที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ (และต้องทำให้ได้เร็วๆ ด้วย) รวมถึงมีทัศนคติที่ยอมรับว่าการมีอุปกรณ์ที่ถูกต้องจะทำให้การทำงานราบรื่นและพนักงานทำงานร่วมกันได้คล่องตัวกว่า

Zhou กล่าวด้วยว่า วิธีการที่พนักงานจะเรียนรู้ Digital Literacy ได้เร็วที่สุด ก็คือการเรียนรู้จากการทดลองทำและผิดพลาด การเรียนรู้จากเพื่อนพนักงานด้วยกันคือวิธีที่ดีที่สุด

Source

]]>
1402897
ส่อง 10 ทักษะที่องค์กรต้องการร่วมงานด้วยมากสุดในปี 2021 https://positioningmag.com/1313102 Wed, 06 Jan 2021 09:48:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313102 ทักษะใดที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบันที่ช่างไม่แน่นอนเสียเลย คุณลักษณะใดบ้างที่ผู้หางานควรปลูกฝังเพื่อให้เป็นผู้สมัครที่เหมาะสมสำหรับองค์กร ดังนั้น ‘Forbes’ ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ 10 คนจาก Forbes Human Resources Council มาจัด 10 ทักษะที่องค์กรกำลังมองหาในการจ้างงานในปี 2021

1. Growth Mindset

‘Growth Mindset’ หรือ ‘ความคิดที่จะโตไปข้างหน้า’ เป็นหนึ่งในค่านิยมหลักที่องค์กรต้องการเพื่อใช้ขับเคลื่อน บวกกับความอยากรู้อยากเห็น ทำให้หลายองค์กรมีแนวโน้มที่จะจ้างคนที่ต้องการเรียนรู้และมีความยืดหยุ่นมากกว่าคนที่มีทักษะทางเทคนิคทั้งหมดแต่ขาดความอยากรู้อยากเห็นหรือความยืดหยุ่น เนื่องจากสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและวิธีการทำงานของเราจำเป็นต้องสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

2. Continuous Learning

ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องหรือ ‘Continuous Learning’ เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าครึ่งหนึ่งของทักษะในปัจจุบันกำลังจะหายไปและไม่เป็นที่ต้องการ ดังนั้น หากไม่มีความสามารถในการสร้างและฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง พนักงานจะต้องดิ้นรนเพื่อปรับตัวในสถานที่ทำงานที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น คนที่พยายามเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาจะมีโอกาสที่ดีกว่าในการประสบความสำเร็จ

Photo : Shutterstock

3. Critical Thinking

ความสามารถในการคิดวิเคราะห์จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกหลัง COVID-19 เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ จะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การคิดเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่วิกฤตและร้ายแรงจึงจำเป็นอย่างมากในยุคนี้

4. Survival Skills

ทักษะการเอาตัวรอดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของรายการ เพราะองค์กรต้องการคนที่ไม่ว่าจะถูกอัดหนักหรืออยู่ในสถานการณ์คับขันแค่ไหนก็สามารถเอาตัวรอดได้ รวมถึงมีแรงผลักดันและความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จแม้จะทุกอย่างจะไม่เป็นใจ ซึ่งทักษะดังกล่าวไม่ใช่อะไรที่สอนกันได้

Photo : Shutterstock

5.Resilience

อีกหนึ่งทักษะที่หลายองค์กรมองหาก็คือ ความสามารถในการปรับตัวและความอยากรู้อยากเห็น โดยหลายองค์กรต้องการคนที่อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกรอบตัว อีกทั้งต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามา รวมถึงมีความอดทนเพื่อเอาชนะอุปสรรค

6. Flexibility

ความยืดหยุ่นกำลังจะเป็นกุญแจสำคัญในปี 2021 เพราะตอนนี้คนเริ่มชินกับสภาวะ New Normal แต่โลกก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งอย่างรวดเร็วในปี 2021 และบางสิ่งอาจเหมือนปี 2019 บางอย่างก็คล้ายปี 2020 และบางอย่างก็จะใหม่เอี่ยม ดังนั้น เรากำลังอยู่ในการเดินทางครั้งใหม่ การค้นหาพนักงานที่สบายใจกับการเปลี่ยนแปลงจะช่วยให้คุณและพวกเขาเริ่มต้นได้ดี

Photo : Reuters / Kim Kyung-Hoon

7. Dedication

การทุ่มเทอุทิศตนเป็นทักษะที่หลายองค์กรแสวงหา อย่างในช่วงของการ Work from Home ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนอาจเจอกับความ ‘ขี้เกียจ’ เข้าจู่โจม จนบางครั้งงานก็ออกมาได้ไม่ดีนัก ดังนั้น หากคุณแสดงถึงความทุ่มเทให้กับการทำงานและมีความรับผิดชอบเพียงพอ นี่ก็จะเป็นกุญแจสำคัญในรับพิจากรณาการทำงานแน่นอน

8. Coaching Mindset

ทักษะสูงสุดที่องค์กรในยุคนี้กำลังมองหาในทีมก็คือ ‘ทัศนคติชอบการฝึกสอน’ เมื่อตลาดของเราเปลี่ยนไปและลูกค้าของเราต้องการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะ New Normal ดังนั้น เราต้องการให้ทีมของเราช่วยเหลือและฝึกสอนผู้อื่นในด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ ทัศนคติที่ชอบช่วยเหลือและพร้อมให้ความแนะนำจะช่วยสร้างทีมที่คนในทีมสามารถเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมอย่างมากในการทำงาน ซึ่งทักษะดังกล่าวจะต้องพร้อมรับฟังเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความอดทน มีความเห็นอกเห็นใจ และทำงานร่วมกันได้ดีเพื่อแก้ไขปัญหาที่ยากลำบาก

Young startup businessmen teamwork brainstorming meeting to discuss the new project investment.

9. Comfort With Ambiguity

ความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่เห็น ๆ กัน รูปแบบธุรกิจทางการเงินได้เปลี่ยนแปลงบทบาทไปชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะเหล่า Startup ดังนั้น ผู้สมัครและพนักงานควรสามารถแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความคล่องตัว และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงภายใต้บทบาทและความรับผิดชอบของตนได้อย่างไรบ้าง

10. Thriving In A Virtual Environment

การค้นหาผู้มีความสามารถในการทำงานในสภาวะแวดล้อมแบบ Virtual หรือการ Work from Home จะมีความสำคัญในปี 2021 ดังนั้น ผู้สมัครงานต้องแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความสามารถในการบริการจัดการและสามารถทำงานจากระยะไกลได้ รวมถึงการเสนอถึงทักษะที่สำคัญในการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางเทคโนโลยี รวมถึงทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีมผ่านการทำงานแบบระยะไกล

Back view of Asian business woman talking to her colleagues about plan in video conference. Multiethnic business team using computer for a online meeting in video call. Group of people smart working from home.

Source

]]>
1313102
มุมมอง “ธุรกิจกงสี” ในมือทายาทรุ่นใหม่ สู้เศรษฐกิจซบเซา-โรคระบาด ธุรกิจเล็กเสี่ยงล้ม https://positioningmag.com/1268063 Thu, 12 Mar 2020 12:17:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1268063 ต้องยอมรับว่า “ธุรกิจครอบครัว” หรือที่เรามักเรียกว่า “ธุรกิจกงสี” เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้ ด้วยการมีอยู่ถึง 80% ของระบบเศรษฐกิจเเละมีมูลค่ารวมถึง 30 ล้านล้านบาท โดยจำนวนเกินครึ่งของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ SET50 เป็นธุรกิจครอบครัว มีมูลค่าในตลาด รวมกว่า 4.76 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจาก ตลท. ณ วันที่ 28 ก.พ. 63)

เป็นที่น่าจับตามองว่า ธุรกิจครอบครัวไทยราว 90% กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเเละเเนวทาง “เเตกต่าง” จากคนรุ่นพ่อเเม่หรือปู่ย่าตายาย

นักธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้มีความคิดเห็นต่อ “การปรับปรุงเเละพัฒนา” องค์กรไปในทิศทางใด ขณะที่ต้องเผชิญความท้าทายทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภัยโรคระบาด ค่าเงินบาทผันผวน การขาดเเคลนเเรงาน เเละการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัล

เปิดรายงาน NextGen Survey 2019 ผลสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัว ฉบับแรกของ PwC โดยความท้าทายอันดับที่ 1 ของธุรกิจครอบครัวในสายตาผู้นำรุ่นใหม่ในปีนี้ คือการเข้ามาของดิจิทัลที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ (Digital disruption) ในอนาคต

NextGen Survey 2019 ได้สำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ทั่วโลกจำนวนกว่า 950 ราย รวมทั้งผู้นำธุรกิจครอบครัวไทยจำนวน 31 ราย

เปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล ความหวังพาธุรกิจรอด 

“ผู้นำรุ่นใหม่คาดหวังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในกลุ่มนี้กว่า 81% ต้องการมีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวอย่างเเข็งขัน ส่วนอีก 13% ตั้งใจมีส่วนร่วมในอนาคต เเละอีก 6% คิดว่าจะไม่มีส่วนในกิจการครอบครัวในอนาคต”

ผลสำรวจชี้ว่ากว่า 83% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ มองว่าการมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่พวกเขาจะให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ การดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ และการเสริมสร้างทักษะให้กับพนักงานที่ 62% เท่ากัน

นอกจากนี้ 79% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทย เห็นว่าการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัวและช่วยให้กิจการสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ขณะเดียวกัน มองว่าอุปสรรคที่ทำให้กิจการครอบครัวยังตามหลังคู่เเข่งคือ การใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารอย่างมืออาชีพ เเละการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรเเบบผู้ประกอบการ ส่วนข้อได้เปรียบของธุรกิจครอบครัวคือ การมุ่งเน้นให้บริการลูกค้า มีเป้าหมายชัดเจนเเละความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร 

“การเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธุรกิจในยุคนี้ แต่วิธีการที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความความสำเร็จต่างหาก คือความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจครอบครัวของไทยหลายราย ยังค้นหาหนทางไม่พบ”

นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัวและหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า แม้สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแบบนี้อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล รวมไปถึงการยกระดับทักษะขององค์กรหลายแห่ง เเต่ผลลัพธ์ของการนิ่งเฉยจะยิ่งส่งผลเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลเพราะในที่สุด ทุกองค์กรไม่เฉพาะธุรกิจครอบครัว จำเป็นที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเป็นผลดีกับองค์กรในระยะยาว

Upskilling เป็นเรื่องที่รอไม่ได้

ผลจากการสำรวจ ได้เปิดเผยถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรด้วยการยกระดับทักษะ (Upskilling) ให้กับตัวผู้นำรุ่นใหม่และพนักงาน

โดย 83% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทย เชื่อว่าการยกระดับทักษะจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัวได้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ในเอเชียแปซิฟิก (62%) และทั่วโลก (61%)

โดยองค์กรที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานส่วนต่าง ๆ จะสามารถบริหารจัดการเรื่องต้นทุนได้ดีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานได้มากขึ้นอีกด้วย

“การยกระดับทักษะแรงงานเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ทำได้หลายวิธี โดยผู้นำรุ่นใหม่หรือแม้กระทั่ง พนักงาน สามารถอัพสกิลตัวเองได้ผ่านการเรียนรู้จากเว็บไซต์ แอปพลิเคชันต่างๆ คอร์สเรียนออนไลน์หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต”

เศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจขนาดเล็กเสี่ยงปิดกิจการ 

ปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งการระบาดของไวรัสCOVID-19 ได้ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในบางกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงตามกำลังซื้อที่หดตัวจากการขาดรายได้จากแรงงานในภาคการขนส่งและท่องเที่ยว

ผู้บริหาร PwC ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อย หรือ SMEs รวมไปถึงบริษัทขนาดเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่สูง โดยมองว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 เดือนนี้อาจเห็นธุรกิจขนาดเล็กเริ่มปิดกิจการ

โดยคาดว่าการระบาดของไวรัสนี้ อาจจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ได้ ต้องติดตามว่าสถานการณ์จะกินเวลานานแค่ไหน จึงจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ซึ่งหากยืดเยื้อ มองว่าน่าจะเห็นธุรกิจครอบครัวหรือบริษัทขนาดเล็ก จะล้มหายไปจากระบบพอสมควร

“แต่ในมุมกลับกัน นี่เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจครอบครัวที่มีความพร้อมด้านเงินทุนในการซื้อกิจการหรือหาพาร์ตเนอร์ เพื่อเป็นพันธมิตรเพราะน่าจะได้ของดี ราคาไม่แพงและต้นทุนทางการเงินไม่สูงนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง”

ผู้บริหาร PwC ฝากถึงผู้นำรุ่นใหม่เเละเจ้าของกิจการว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะเลวร้ายแค่ไหน แต่เราไม่สามารถหยุดที่จะพัฒนาตัวเองและองค์กรได้ เพราะการยกระดับทักษะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนเพื่อให้อยู่รอดและแข่งขันได้ในโลกทำงานยุคดิจิทัล

 

]]>
1268063
เมินคนนอก! “ซีอีโอ” แห่เพิ่มทักษะแรงงานองค์กร รับมือดิจิทัล ดิสรัปชั่น https://positioningmag.com/1239346 Wed, 17 Jul 2019 05:39:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1239346 ในยุคเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ทักษะเดิมไม่เพียงพอกับการทำงานในโลกยุคใหม่ การ Reskilling & Upskilling จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นหัวใจของการอยู่รอดของแรงงงานยุคนี้  

จากรายงาน Talent Trends 2019: Upskilling for a Digital World เป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจประจำปี Annual Global CEO ครั้งที่ 22 ของ PwC สัมภาษณ์ “ซีอีโอ” 3,200 รายในกว่า 90 เมืองทั่วโลก

ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจซีอีโอทั่วโลก ของ PwC ปีนี้ สัดส่วน 79% กังวลว่าการขาดแคลนทักษะแรงงานที่จำเป็นของพนักงานในองค์กร กำลังเป็นภัยคุกคามการเติบโตในอนาคต ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 63% ในปี 2557 จากปัจจัยการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ถือเป็นความกังวลของซีอีโอทั่วโลก เช่น ซีอีโอจากญี่ปุ่น 95% ยุโรปกลางและตะวันออก 89% กังวลประเด็นนี้มากที่สุด ขณะที่ซีอีโอจากอิตาลี 55% และตุรกี 45% กังวลเรื่องทักษะแรงงานน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม 55% ของซีอีโอที่มีความกังวลมากที่สุด บอกว่าธุรกิจของพวกเขาไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีก 52% กล่าวว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานสูงขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดไว้

ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์

ปัจจุบันองค์กรไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลเช่นเดียวกับทั่วโลก ทาเลนท์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง การเรียนรู้ของเครื่องจักร และการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลกำลังเป็นที่ต้องการมาก ส่วนใหญ่หันมาลงทุนด้านบุคลากรมากขึ้น โดยมีการนำระบบบริหารจัดการบุคลากรเข้ามาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถในการวิเคราะห์ทรัพยากรบุคคลขององค์กร

บริษัทไทยหลายรายจัดโปรแกรมฝึกอบรมการเพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลให้แก่พนักงานมากขึ้นด้วย เพื่อปิดช่องว่างทางทักษะและลดความกังวลของพนักงานในการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี

 

เพิ่มทักษะแรงงานเดิม “ต้นทุน” ต่ำกว่าหาใหม่

การเพิ่มพูนทักษะใหม่ (Upskilling) และเสริมสร้างทักษะเดิม (Reskilling) กลายเป็นวาระสำคัญของซีอีโอทั่วโลก

ผลสำรวจพบว่า ซีอีโอกำลังปรับเปลี่ยนวิธีปิดช่องว่างทางทักษะความสามารถให้กับแรงงานของตน โดยเกือบครึ่ง หรือ 46% ของซีอีโอทั่วโลกบอกว่า การฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ กลายเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่สุดในการปิดช่องว่างทางทักษะ ตรงข้ามกันกับผู้บริหารเพียง 18% ที่บอกว่าจะว่าจ้างแรงงานที่มีทักษะจากภายนอกอุตสาหกรรมของตน

การสำรวจปีนี้ยังตรงข้ามกับผลจากการสำรวจในปีที่ผ่านๆ มา ที่ระบุว่า ซีอีโอกำลังมองหาแรงงานที่มีทักษะจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและมีการจ้างแรงงานชั่วคราวจากภายนอก (Gig economy worker)

PwC สหราชอาณาจักร เสริมมุมมองนี้ว่า “แม้ว่าการฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่ให้กับพนักงานจะต้องอาศัยการลงทุน แต่เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกปลด และต้นทุนในการเฟ้นหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ มองว่าการฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า”

แรงงานทั่วโลกพร้อมฝึกทักษะใหม่

ผลสำรวจพนักงานทั่วโลกจำนวนกว่า 12,000 ราย พบว่าพนักงานยินดีที่จะใช้เวลา 2 วันต่อเดือนในการเข้าฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะทางด้านดิจิทัลของตนจากนายจ้าง

การหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะใหม่นั้น เกิดขึ้นหลังจากการเพิ่มขึ้นของการใช้ระบบออโตเมชั่นและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence: AI โดยแม้ว่าเทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านี้ จะเข้ามาแทนที่พนักงานบางตำแหน่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความคิดเห็นของซีอีโอก็แตกต่างกันไปตามขนาดและความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นๆ การลงทุนเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างแรงงานในอนาคต (Workforce of the future)

]]>
1239346