ทีวี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 22 Apr 2024 01:41:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 TCL เตรียมปรับกลยุทธ์ภาพลักษณ์แบรนด์ ขายทีวีจอใหญ่-รุ่นพรีเมียม ชี้ผู้บริโภคในจีนต้องการเพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1470487 Sun, 21 Apr 2024 10:41:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470487 ทีซีแอล (TCL) ผู้ผลิตทีวีรายใหญ่จากประเทศจีน เตรียมปรับกลยุทธ์ภาพลักษณ์แบรนด์ ขายทีวีจอใหญ่-รุ่นพรีเมียม โดยสาเหตุสำคัญคือผู้บริโภคในประเทศจีนต้องการสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าแผนดังกล่าวของบริษัทจะประสบความสำเร็จได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา

South China Morning Post รายงานข่าวว่า TCL หนึ่งในผู้ผลิตทีวีรายใหญ่จากประเทศจีน เตรียมที่จะปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูดีมากขึ้น โดยบริษัทจะมาโฟกัสในการผลิตทีวีที่มีขนาดจอภาพใหญ่มากขึ้น หรือแม้แต่ทีวีที่พรีเมียมแต่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้

Dmitri Hu รองประธานของ TCL Industries กล่าวว่า บริษัทจะหันมาผลิตสินค้าที่มีความพรีเมียมแต่ลูกค้าสามารถที่จะยังเข้าถึงได้ เขาเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบริษัทได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาอีกสักระยะเท่านั้น

นอกจากนี้ TCL เองยังเตรียมผลิตทีวีที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยี mini LED ทำให้สามารถผลิตจอทีวีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เรื่องของราคาสามารถที่จะแข่งขันกันได้มากขึ้น โดยในงาน CES 2024 ซึ่งเป็นงานโชว์สินค้าไอทีและสินค้าที่เกี่ยวข้องนั้นบริษัทได้นำทีวีรุ่น 115 นิ้วเข้าไปโชว์ในงานด้วย

ไม่เพียงเท่านี้บริษัทยังได้ผลิตทีวีขนาด 163 นิ้ว ในรุ่น X11H Max ซึ่งเป็นรุ่นพรีเมียม ราคาตกอยู่ที่ 800,000 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทย 4.15 ล้านบาท โดยบริษัทกล่าวว่ามีลูกค้ามากกว่า 10 รายได้สั่งจองล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย

สำหรับแบรนด์ TCL เองนั้นมีภาพลักษณ์ของผู้บริโภคส่วนใหญ่แล้วจะมองถึงเรื่องความคุ้มค่า เนื่องจากผู้ผลิตจากประเทศจีนรายนี้ได้ขายทีวีที่มีราคาถูกเมื่อเทียบขนาดกับราคา

รายงานของ Counterpoint ชี้ว่าในปี 2023 ที่ผ่านมายอดขายทีวีรุ่นพรีเมียมในประเทศจีนถือว่าเติบโตมากถึง 39% และยอดเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตจากจีนทั้งนั้น

แต่ถ้าเป็นสัดส่วนการครองตลาดทีวีทั่วโลกแล้วนั้นในปี 2023 ที่ผ่านมา Samsung เองยังครองเบอร์ 1 ของโลก ด้วยสัดส่วน 16% รองลงมาคือ Hisense อยู่ที่ 11%

ปัจจุบันรายได้จากการผลิตทีวีของ TCL ในไตรมาส 1 ของปี 2024 ถือว่าเติบโต 30% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งรายได้ที่เติบโตมากขึ้นมาจากการขายทีวีจอใหญ่ซึ่งทำยอดขายได้ดีมากขึ้น และบริษัทเชื่อว่าจะรักษาโมเมนตัมดังกล่าวได้จากความต้องการของลูกค้าที่ต้องการทีวีจอใหญ่

]]>
1470487
‘ซัมซุง’ ขอ 3 ปีขึ้นเบอร์ 1 เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม ชู ‘ดีไซน์-นวัตกรรม’ จับกลุ่มพรีเมียม https://positioningmag.com/1415452 Fri, 13 Jan 2023 07:44:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1415452 แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2022 ที่ผ่านมาจะมีวิกฤตหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะ เงินเฟ้อ แต่ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า 5.3 หมื่นล้านบาทก็ยังเติบโตได้ 5-6% ซึ่งก็ได้กลุ่ม พรีเมียม เป็นตัวขับเคลื่อนตลาด โดย ซัมซุง (Samsung) แบรนด์สัญชาติเกาหลีใต้ก็เห็นโอกาสในส่วนนี้ และขอสู้เพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในทุกกลุ่มสินค้าภายใน 3 ปี

ตลาดพรีเมียมโตสวนทางแมส

เจนนิเฟอร์ ซอง ประธานบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2022 ที่ผ่านมาไม่ใช่ปีที่ดีนักสำหรับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะมีทั้งปัจจัยเรื่องค่าเงิน และเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดและตัวซัมซุงเองยังคงเติบโตได้ 5-6% โดยมีสินค้าใน กลุ่มพรีเมียม เป็นตัวขับเคลื่อนตลาด เนื่องจากช่องว่างระหว่างครัวเรือนที่มีรายได้สูงและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว้างขึ้น

“สินค้ากลุ่มพรีเมียมของเราเติบโต 2 เท่าในทุกกลุ่มสินค้า เพราะตั้งแต่ COVID-19 ระบาด คนอยู่บ้านมากขึ้น เขามองว่าบ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัวและเริ่มอยากตกแต่งบ้านใหม่ ๆ มากขึ้น แต่แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ซัมซุงที่เห็นโอกาสนี้ ดังนั้น เชื่อว่าการแข่งขันในกลุ่มสินค้าพรีเมียมจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย”

อัดสินค้าใหม่กว่า 100 รุ่น ชูความ Personalize

เจนนิเฟอร์ กล่าวต่อว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มพรีเมียมจะให้ความสำคัญกับความเป็นตัวตน ต้องการสินค้าที่ สะท้อนความเป็นตัวตน มากกว่าราคา นอกจากนี้ ต้องมีนวัตกรรมที่ทำให้เขาใช้ชีวิต ง่ายขึ้น ดังนั้น สินค้าของซัมซุงในกลุ่มพรีเมียมจะเน้น ดีไซน์สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ นวัตกรรมทันสมัย และ การเชื่อมต่ออัจฉริยะ นอกจากนี้ ต้องตอบโจทย์ ความยั่งยืน ด้วย

“ผู้บริโภค 70% มองว่า ถ้าสินค้าเข้าใจในตัวตนเขาจริง ๆ เขาก็จะเลือกอยู่กับแบรนด์นั้น ๆ โดยเฉพาะ Gen Z ที่ 55% ระบุว่า เขาจะซื้อของที่สะท้อนความเป็นตัวเอง นอกจากนี้ คนไทยถึง 72% มีความต้องการติดตั้งสมาร์ทโฮม”

ในปีนี้ ซัมซุงมีแผนจะเพิ่มโปรดักส์ใหม่กว่า 100 รุ่น โดยจะเน้นไปที่กลุ่มพรีเมียม และการทำตลาดช่วง Q1-Q3 จากนี้จะเน้นที่เรื่อง ไลฟ์สไตล์ โดยสินค้าในกลุ่ม Bespoke จะขยายไปกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจาก ตู้เย็น  อาทิ ไมโครเวฟ, เครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น และเปลี่ยนการสื่อสารเป็น Bespoke Home เพื่อสื่อสารถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งบ้าน ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา กลุ่มเครื่องซักผ้าและตู้เย็นเติบโต 5% กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก (เตาอบไมโครเวฟ เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องฟอกอากาศ) เติบโต 10%

ในส่วนของ ทีวี จะเน้น Lifestyle TV และกลุ่ม QLED, OLED เพราะในปีที่ผ่านมาจะเห็นเทรนด์อย่างชัดเจนว่าทีวีขนาด 65 นิ้วขึ้นไป เติบโตขึ้นมากแบบเห็นได้ชัดถึง 1.5 เท่า ทีวีพรีเมียมยังคงเติบโตสูง อาทิ Neo QLED เติบโตขึ้นถึง 3 เท่า เฉพาะ Neo QLED 8K เติบโตถึง 4 เท่า

ด้าน เครื่องปรับอากาศ ที่ใช้เทคโนโลยี WindFree ซึ่งเป็นกลุ่มพรีเมียมเติบโตถึง 30% โดยปีนี้ซัมซุงเตรียมเปิดตัวไลน์อัพเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ในกลุ่ม WindFree คาดว่าจะคิดเป็น 90% ของไลน์สินค้า ครอบคลุมกลุ่มกลาง-บน พร้อมขยายระยะเวลารับประกันสูงสุดถึง 10 ปี

เดินหน้าลุยตลาด B2B

อีกตลาดที่จะช่วยให้ซัมซุงเติบโตก็คือ B2B ที่ปีนี้บริษัทจะเน้นมากขึ้น อาทิ โครงการบ้านและคอนโด โดยจะชูจุดเด่นเรื่อง โทเทิ่ลโซลูชั่น ที่สินค้าทั้งหมดของซัมซุงสามารถเชื่อมต่อกันได้ และสินค้าที่จะใช้เป็นตัวนำในการบุกก็คือ เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากในปีที่ผ่านมายอดขายเครื่องปรับอากาศในกลุ่ม B2B เติบโตถึง 40% ก่อนจะตามด้วยสินค้าอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี, ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า

“เราเพิ่งเริ่มทำตลาด B2B แต่เรามองว่านี่คือ โอกาสสำคัญ เพราะจุดแข็งเราคือ ไลน์สินค้าที่ครบวงจร สามารถตอบสนองความต้องการได้ต่างจากคู่แข่ง โดยเฉพาะการตอบโจทย์เรื่องโทเทิ่ลโซลูชั่น”

ขึ้นเบอร์ 1 ทุกกลุ่มสินค้าใน 3 ปี

สำหรับเป้าหมายของซัมซุงในปี 2023 ต้องเติบโต 2 หลัก ขึ้นไป โดยมองว่าปีนี้มีปัจจัยบวกจากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากภาค การท่องเที่ยว ทั้งจากตัวนักท่องเที่ยว เม็ดเงินที่เข้ามาช่วยให้ผู้บริโภคจับจ่ายได้ดีขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้า คาเฟ่ และโรงแรมต่าง ๆ ลงทุนเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ต้นทุนต่าง ๆ น่าจะลดลง สินค้าก็จะมีราคาดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจับต้องสินค้าได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าคือ ไม่ใช่สินค้าหลักที่ผู้บริโภคจะใช้เงิน เพราะเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคอยากใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยว ดังนั้น เชื่อว่ากว่าที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจะกลับมาเป็นสินค้าหลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้จ่ายคงต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี

“ตอนนี้คนไปเที่ยวกันเยอะเพราะเขาอั้นมานาน ดังนั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าจากที่เคยเป็นอันดับ 1-2 สิ่งที่ผู้บริโภคเลือกใช้เงินก่อน แต่ตอนนี้มันไม่ใช่”

สำหรับเป้าหมายใน 3 ปีจากนี้ ซัมซุงต้องการขึ้นเป็นอันดับ 1 ในทุกกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า จากปัจจุบันสินค้ากลุ่มทีวี, ตู้เย็น เป็นอันดับ 1 ที่แข็งแรง และกลุ่มต่อไปที่ซัมซุงมองว่ามีโอกาสขึ้นเป็นอันดับ 1 คือ เครื่องซักผ้า ที่ปัจจุบันเป็น Top 2 ของตลาด ตามมาด้วย เครื่องปรับอากาศ ที่ปัจจุบันเป็น Top 5 ของตลาด

]]>
1415452
ส่องเทรนด์ ‘ทีวี’ ยุคดิจิทัล ชี้คนไทยใช้ Smart TV เพิ่ม 147% รายการ ‘ข่าว’ มาแรงเทียบชั้น ‘ละคร’ https://positioningmag.com/1388186 Wed, 08 Jun 2022 09:56:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388186 แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้ดิจิทัลจะมีเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทีวียังเป็นช่องทางที่เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด ซึ่ง 95% ของครัวเรือนไทยที่สามารถเข้าถึงทีวีได้ แต่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนจากการดูผ่านเครื่องเล่นทีวีแบบดั้งเดิมมาเป็นช่องทางดิจิทัล ซึ่งอาจไม่ได้รับชมแค่ช่องทีวีปกติอีกต่อไป

การสำรวจของ นีลเส็น พบว่า การรับชมทีวีผ่าน Smart TV ของคนไทยเติบโตขึ้นถึง 147% เมื่อเทียบกับปี 2019 หรือช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 และกว่า 45% ดูทีวีผ่าน โทรศัพท์มือถือ ซึ่งโตถึง 83% แสดงให้เห็นว่าเมื่อเทรนด์ของผู้ชมเริ่มไปทางฝั่งออนไลน์มากขึ้น ทีวีเริ่มมีการปรับตัว

โดยทีวีหลายสำนักมีการทำเนื้อหาในรูปแบบออนไลน์ สร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อดึงผู้ชม ทำให้ตลาดสตรีมมิ่งปัจจุบันจึงมีความสนุกและเข้มข้นมาก ผู้ชมมีตัวเลือกเยอะมากขึ้น จากผลสำรวจเมื่อปี 2019 ถึงจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือ OTT (Over the top) พบว่ามีประมาณ 29% ของคนไทยทั้งประเทศที่ใช้งาน แต่จากข้อมูลล่าสุดได้ทำการสำรวจช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 59%

จากจำนวนผู้ใช้ในตลาดสตรีมมิ่งที่โตแบบก้าวกระโดด ผู้ชมจำนวนมากยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อติดตามเนื้อหา ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีจำนวนแพลตฟอร์มจำนวนมาก โดยการสำรวจของนีลเส็นสหรัฐฯ พบว่าปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จ่ายเงินเพื่อติดตามเนื้อหาสตรีมมิ่ง 2-3 แพลตฟอร์มต่อคน

รายการ ข่าว มาแรง

นอกจากเทรนด์ของรับชมทีวีเปลี่ยนไป เนื้อหาที่คนไทยรับชมผ่านทีวีก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในปี 2019 เนื้อหาที่คนไทยดูผ่านทีวีมากที่สุด คือ ละคร ซีรีส์ (54%) แต่ข้อมูลในปีล่าสุดพบว่า เนื้อหาที่คนไทยดูมากที่สุดตอนนี้คือ รายการข่าว (52%) คนไทยหันมาสนใจข่าวมากขึ้น โดยสาเหตุหนึ่งคาดว่ามาจากสถานการณ์โควิดมีส่วนทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน โดยช่วงเริ่มแรกคนติดตามข่าวการรายงานรายวันและสถานการณ์รอบโลก และปัจจุบันรายการข่าวหลายรายการมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเอื้ออำนวยให้ผู้ชมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เรื่องเล่าเช้านี้

ยกระดับการวัดเรตติ้ง

ความท้าทายในปัจจุบันคือ ประเทศไทยผู้ชมจำนวนมากที่ยังนิยมดูรายการทีวีอยู่ แต่ผู้ชมเหล่านั้นกระจัดกระจายไปตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งคนที่ดูผ่านจอทีวีและจอออนไลน์ ซึ่งผู้ชมในแต่ละแพลตฟอร์มมีพฤติกรรมการชมที่แตกต่างกันไป เพื่อความเข้าใจผู้ชมมากขึ้นและเพื่อที่จะได้สะท้อนภาพของผู้ชมที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีระบบการวัดเรตติ้งที่สามารถวัดรวมทั้งทางทีวีและทางดิจิทัลไปพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนารูปแบบรายการ และมีเดียเอเจนซี สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์วางแผนในการซื้อสื่อโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นีลเส็น ประเทศไทย กำลังพัฒนา การวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Platform) ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช). โดยนีลเส็น ได้ดำเนินการตามแผนงานโดยมีการติดตั้งและปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ เพื่อรองรับการวัดการรับชมผ่านออนไลน์เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเก็บผลสำรวจและทดสอบระบบ ซึ่งจะได้รายงานผลสำรวจความนิยมของรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลทฟอร์มชุดแรกในช่วง ไตรมาส 3 ของปี

สำหรับการสำรวจความนิยมรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลตฟอร์มนี้ เป็นเทคโนโลยีระบบการวิจัยล่าสุดที่นีลเส็นได้พัฒนาและเริ่มใช้แล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน

“พฤติกรรมของผู้ชมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการนำการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพมาสู่ประเทศไทย มาตรวัดนี้จะเป็นค่ามาตรฐานที่ช่วยให้นักการตลาดและเจ้าของสื่อเข้าใจในพฤติกรรมของคนไทย อีกทั้งยังช่วยสร้างสรรค์โอกาสใหม่ให้กับผู้ลงโฆษณา และผลักดันการผลิตเนื้อหาที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มผู้ชมมากยิ่งขึ้น” อารอน ริกบี้ กรรมการผู้จัดการ นีลเส็นประเทศไทย กล่าว

]]>
1388186
ตลาดหด! ทีวี LG ไตรมาสแรกกำไรร่วง 93% พ้นระยะล็อกดาวน์ คนอยู่หน้าจอน้อยลง https://positioningmag.com/1383099 Wed, 27 Apr 2022 09:53:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383099 ธุรกิจจอแสดงผลของ LG กำไรไตรมาส 1/2022 หดตัวเกือบ 93% เนื่องจากดีมานด์ลดลง เมื่อการล็อกดาวน์ผ่อนคลาย ทำให้ความต้องการทีวี จอคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ลดตามไปด้วย รวมถึงราคาจอยังลดลง 7-11% ช่วงที่เหลือของปีบริษัทตั้งใจบุกหนักทีวี OLED เกาะตลาดไฮเอนด์ที่โตได้ดีกว่า

LG Display Co. ผู้ผลิตจอแสดงผลรายใหญ่ของเกาหลีใต้ โดยผลิตทั้งโทรทัศน์ และจอคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2022 ของบริษัท รายได้ร่วงลง 6% เทียบกับไตรมาสแรกปีก่อน โดยทำรายได้ไปเพียง 6.5 ล้านล้านวอน (ประมาณ 1.76 แสนล้านบาท)

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานลดฮวบอย่างหนัก จากช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้ 5.23 แสนล้านวอน (ประมาณ 1.42 หมื่นล้านบาท) ลดไปถึง 93% เหลือเพียง 38,300 ล้านวอนเท่านั้น (ประมาณ 1,040 ล้านบาท)

สาเหตุมาจากดีมานด์ที่น้อยลงหลังโรคระบาดคลี่คลาย การล็อกดาวน์จบลงทำให้คนอยู่หน้าจอน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อราคาตลาดของจอแสดงผลที่ถูกกดดันให้ต่ำลงไปด้วย

ข้อมูลจาก WitsView พบว่า ราคาจอแสดงผลลดลงไป 7-11% ในช่วงไตรมาสแรก ยิ่งเป็นกลุ่มโทรทัศน์ยิ่งลดหนัก ทีวี LCD ขนาด 55 นิ้วนั้นราคาลดลงไป 16% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบกับเดือนสิงหาคมปี 2021 ราคาปัจจุบันได้ลดลงไปถึง 47% และเป็นราคาต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคระบาดเพิ่งเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังเกิดจากปัญหาการส่งมอบสินค้าด้วย เพราะการระบาดและล็อกดาวน์ในจีนทำให้การส่งมอบชิ้นส่วนล่าช้า

 

หันไปเน้นทีวี “ไฮเอนด์” แทน

ปกติหน้าจอแบบ LCD จะคิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้รวม LG Display ส่วนอีก 30% มาจากหน้าจอ OLED เทคโนโลยีที่สูงกว่า

ทำให้บริษัทคาดว่า กำไรตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไปน่าจะดีขึ้น เพราะบริษัทจะออกโทรทัศน์เทคโนโลยีใหม่ OLED.EX ซึ่งให้ภาพคมชัดและสีสดมากขึ้นกว่าจะ OLED แบบเดิม

LG ทีวี
เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด OLED EX ที่ LG หมายมั่นจะมากู้กำไรคืนได้ในปี 2022

LG มองว่า แม้ตลาดทีวีโดยรวมจะหดตัวลง แต่มีโอกาสรออยู่ในกลุ่มทีวีไฮเอนด์ เพราะตลาดรวมหดตัวไป 10% และตลาดทีวีจอ LCD ถูกเล่นสงครามราคาหนักจากทีวีจีน แต่ทีวีกลุ่มไฮเอนด์ใช้จอ OLED กลับเติบโตมากกว่า 40% ในไตรมาสแรก จากการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างความต่างในตลาด

ด้านดีลที่ LG กำลังพยายามเจรจาเพื่อเป็นผู้ผลิตจอ OLED ให้กับทีวี Samsung นั้นยังไม่คืบหน้า แต่ว่าโอกาสก็ยังเปิดอยู่ หากทั้งสองบริษัทสามารถเจรจากันได้ลงตัว ดีลนี้ก็อาจเกิดขึ้น

Source: Reuters, Yonhap

]]>
1383099
ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘ทีวี’ จะตายเร็วขึ้นเพราะการมาของ ‘เมตาเวิร์ส’ https://positioningmag.com/1381684 Mon, 18 Apr 2022 09:54:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381684 ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า อุตสาหกรรมโทรทัศน์จะต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกแห่งความบันเทิงออนไลน์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หากพวกเขาหวังว่าจะอยู่รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เมตาเวิร์ส’ (Metaverse)

ในขณะที่ผู้บริโภคสูงอายุยังคงแต่งงานกับทีวีแบบดั้งเดิม แต่จำนวนผู้ชมในกลุ่มอายุต่ำกว่า 35 ปีได้ลดลงเกินกว่าครึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตามของมูลของ Statista และจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อ metaverse พัฒนาขึ้น ทำให้บริษัทด้านคอนเทนต์หลายรายกำลังมุ่งไปที่ ‘เกมออนไลน์’ เพื่อแย่งชิงความสนใจของผู้ชมอายุน้อยและเงินโฆษณาที่จะตามมา รวมไปถึงการเร่งพัฒนา Metaverse ที่จะดึงดูดผู้ใช้หลายล้านคน

“ช่องทีวีกำลังจะตายไปพร้อมกับผู้ชม คนหนุ่มสาวเขาย้ายตัวเองมาอยู่บนสมาร์ทโฟนที่สามารถโต้ตอบได้อย่างเรียลไทม์” เฟรเดอริก คาวาซซา ผู้ร่วมก่อตั้ง Sysk บริษัทฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกล่าว

เพื่อเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น ผู้แพร่ภาพกระจายเสียงจะต้องแข่งขันกับแพลตฟอร์มเกมอย่าง Roblox, Fortnite และ Minecraft ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นแบบของ metaverse โดยบริษัทวิจัยสื่อ Dubit ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของเด็กอายุ 9-12 ปีในสหรัฐอเมริกาใช้ Roblox อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งทำทุกอย่างตั้งแต่เล่นเกม ดูคอนเสิร์ต ไปจนถึงไปเที่ยวกับเพื่อน

“มีผู้ชมกว่า 33 ล้านคนดูแร็ปเปอร์ Lil Nas X แสดงบน Roblox ในปี 2020 ซึ่งมากกว่าสามเท่าของจำนวนที่คนที่ดูเขาทางทีวีที่ Grammys ในสัปดาห์นี้”

Matthew Warneford ผู้ร่วมก่อตั้ง Dubit กล่าวว่า ผู้แพร่ภาพกระจายเสียงต้องเลือกว่าจะยึดติดกับตลาดที่หดตัวลงสำหรับรายการโทรทัศน์แบบเดิม ๆ หรือเริ่มนำตัวละครและแบรนด์ของตนมาสู่แพลตฟอร์ม metaverse

“มันหมายถึงการนำผู้คนเข้าสู่โลก ทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว เล่นเคียงข้างเพื่อนของพวกเขา เช่นเดียวกับที่ดิสนีย์แลนด์อนุญาตให้คุณและเพื่อนของคุณอยู่ในโลกของพวกเขากับมิกกี้เมาส์”

ทีวียังพอมีเวลาปรับตัว แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เพราะตอนนี้คนวัยกลางคนที่เปลี่ยนไปใช้สตรีมมิ่ง และคนหนุ่มสาวที่ต้องการความบันเทิงแบบอินเทอร์แอคทีฟและโซเชียล ซึ่งถ้าทีวีอยากอยู่รอด จะต้องวางตำแหน่งตัวเองในทุกการใช้งานเหล่านี้

อีกความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือเรื่อง เงิน โดยรายได้จากโฆษณาของช่องทีวีกำลังลดลง แม้จะไม่ได้หดหายเหมือนกับสื่อสิ่งพิมพ์ก็ตาม ตอนนี้อาจจะยังยากที่จะโยกโฆษณาจากทีวีไปสู่โลกของเกม แต่ด้วยขอบเขตที่เปิดกว้างของ metaverse แบรนด์ต่าง ๆ จะมีพื้นที่มากขึ้นในการโปรโมตตัวเองและขายสินค้าให้กับผู้ใช้โดยตรง อาทิ แบรนด์แฟชั่นและสินค้าหรูหราทำยอดขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับเสมือนจริงบน Roblox, Fortnite และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้แล้ว

Source

]]>
1381684
เจาะอินไซต์การรับชม ‘กีฬา’ และ ‘อีสปอร์ต’ ที่แบรนด์ต้องรู้ก่อนจะลงเงินโฆษณา https://positioningmag.com/1338835 Thu, 24 Jun 2021 11:28:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1338835 หากพูดถึงเรื่อง กีฬา และ กีฬาอีสปอร์ต เชื่อว่าเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่คนไทยหลายคนให้ความสนใจ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่มาคู่กันก็คือ สปอนเซอร์ แต่หลายแบรนด์อาจจะยังไม่แน่ใจว่าในส่วนของรายการกีฬานั้นมีผู้ชมมากน้อยแค่ไหน เป็นใคร และจะได้อะไรกลับมา ดังนั้น นีลเส็น ประเทศไทย จึงได้ออกมาเปิดเผยถึงอินไซต์ว่าภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง

ประชากรไทย 43 ล้านคนชมกีฬา

จากผลสำรวจในช่วง 12 เดือน ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ชมชาวไทย 84% หรือกว่า 43 ล้านคน กลับมารับชมกีฬา และมากกว่า 20 ล้านคน รับชมกีฬาในสนามแข่ง โดยคนไทย 19 ล้านคน เล่นกีฬา

แพลตฟอร์มในการรับชมกีฬา 5 อันดับ ได้แก่

  • ฟรีทีวี (74%)
  • โซเชียลมีเดีย (69%)
  • สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม (46%)
  • OTT แพลตฟอร์ม (44%)
  • เพย์ทีวี (37%)

คนดูโหยหารายการกีฬา

แม้ว่าช่วงการระบาดของ COVID-19 จะทำให้ไม่สามารถจัดแข่งขันกกีฬาได้ ซึ่งส่งผลกระทบให้ไม่มีรายการกีฬาถ่ายทอดสด จากยอดการรับชมเดือนละ 40-45 ล้านคนกลายเป็นศูนย์ในช่วงเดือนเมษายน 2020 แต่พอช่วงที่มีการผ่อนปรน มีการจัดแข่งขันกีฬาสดคนก็กลับมาชมกีฬาเหมือนเดิม อย่างที่ผ่านมา รายการ วอลเลย์บอลหญิงเนชั่นลีก 2021 สามารถทำเรตติ้งได้ 5.3%

ส่งผลให้โฆษณาสามารถเข้าถึงคนดูได้มากขึ้น อาทิ มิตซูบิชิ สามารถเข้าถึงคนดูได้ 3.9 ล้านคน จากการแข่งขัน AFC U23 Championship Thailand 2020, Coca-Cola เข้าถึงคนดู 1.8 ล้านคนจากรายการ Thai Fight, Leo Soda เข้าถึงคน 1.1 ล้านคน จากรายการ Toyota Thai League และ Nescafe เข้าถึคนดู 5 ล้านคน จากรายการวอลเลย์บอลหญิงเนชั่นลีก 2021 สำหรับการแข่งขัน ฟุตบอลยูโร 2020 มียอดผู้ชมสะสม 8.1 ล้านคนในช่วง 12 วันที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารายการกีฬาที่สำคัญยังสามารถดึงดูดคนได้อยู่

คนดูกีฬามักมีรายได้สูงกว่า

ผู้ชมกีฬาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ สูง เมื่อเทียบกับผู้ชมทั่วไป โดยประเภทรายการกีฬาที่คนไทยสนใจมากสุดคือ

  • ฟุตบอล (61%) ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากกว่าคนไทยทั่วไป ส่วนใหญ่อาศัยในกรุงเทพฯ และเขตเทศบาลต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย
  • วอลเลย์บอล (53%) มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนใหญ่อาศัยในกรุงเทพฯ และเขตเทศบาลต่างจังหวัด กำลังซื้อระดับปานกลาง
  • แบตมินตัน (42%) ผู้ชมส่วนใหญ่รายได้ปานกลางถึงสูง อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก
  • มวยไทย (41%) จับกลุ่มรายได้น้อย ส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด

 

โซเชียลช่องทางหลักติดตามข่าว

โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางอันดับ 1 (80%) ตามด้วยทีวี (78%) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง (75%) Social Messaging (63%) และ เว็บไซต์ต่าง ๆ (60%) ทั้งนี้ ช่องทางการติดตามโซเชียล 5 อันดับ ดังนี้

  • Facebook 93%
  • YouTube 92%
  • Instagram 66%
  • Twitter 61%
  • TikTok 55%

สำหรับรายการแข่งขันที่คนไทยให้ความสนใจ ได้แก่ FIFA Would Cup 61%, Asian Game 55%, Sea Game 54% และ Asian Volleyball Cup 53%

ส่วนการแข่งขันที่จัดเป็นฤดูการที่คนไทยสนใจ ได้แก่ Premier League 55%, UEFA Champions League 49%, UEFA Europa League 44% และ Toyota Thai League 43%

ในส่วนของกีฬาโอลิมปิกที่จะจัดแข่งในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้พบว่า คนไทยให้ความสนใจเพียง 43% แม้ว่าจะรู้จักเกือบ 100% อย่างไรก็ตาม หากวัดตามจำนวนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 60,000 บาทพบว่าพวกเขาให้ความสนใจ 53% สูงกว่าค่าเฉลี่ย

สปอนเซอร์มีภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับแฟนกีฬา

  • 65% ของผู้ชมเห็นด้วยว่าแบรนด์ผู้สนับสนุนกีฬาได้รับความสนใจจากผู้ชมมากขึ้น
  • 63% รู้สึกจดจำชื่อแบรนด์ได้
  • 60% รู้สึกว่าแบรนด์มีความรับผิดชอบต่อสังคม
  • 55% จะเลือกใช้แบรนด์สปอนเซอร์มากกว่าแบรนด์คู่แข่ง

ที่น่าสนใจคือ สำหรับแฟนกีฬาจะให้ความสำคัญกับสปอนเซอร์มากกว่าผู้ชมทั่วไป โดยจะมีความภักดีต่อแบรนด์มากกว่า รักแบรนด์มากกว่า

แฟนอีสปอร์ตเป็นวัยรุ่นรายได้สูง

จากการสำรวจแฟนกีฬาอีสปอร์ตในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า 65% เป็นเพศชาย เป็นกลุ่มนักศึกษาหรือ Fist Jobber อายุเฉลี่ยประมาณ 27 ปี มีรายได้สูงกว่าเฉลี่ยคนกรุงที่ 45,000 บาท โดยเฉลี่ยมักจะใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการ เล่นเกม และใช้เวลา 5 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยในการ รับชมการแข่งขันอีสปอร์ต ดย  79% ดูเพราะชื่นชอบ 74% ดูเป็นงานอดิเรก และ 61% ดูเพื่อพัฒนาทักษะการเล่นเกม

 

โทรศัพท์มือถือ เป็นอุปกรณ์หลักสำหรับใช้เล่นเกมและรับชมการแข่งขันมากถึง 88% ส่วนการเล่นเกมบน พีซี คิดเป็น 54% และมีเพียง 45% ที่ใช้เกม คอนโซล ส่วนแพลตฟอร์มที่ชาวอีสปอร์ตไทยใช้รับชมการแข่งขันอีสปอร์ต ได้แก่

  • YouTube 77%
  • Twitch 48%
  • Facebook 16%
  • mixer 12%
  • Garena 11%

ทั้งนี้ 71% ของแฟนอีสปอร์ตมองว่าสปอนเซอร์ช่วยทำให้ประสบการณ์ดีขึ้น 69% รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มคอมมูนิตี้อีสปอร์ต และ 55% รู้สึกว่าแบรนด์ที่ได้รับการแนะนำจากนักกีฬาหรือสตรีมเมอร์ให้ความรู้สึกว่ามีความจริงใจ

สรุป คนดูกีฬามีอำนาจการซื้อสูงกว่า โดยทีวียังคงเป็นช่องทางหลักในการรับชม แต่โซเชียลมีความสำคัญในการติดตามข่าวสาร ส่วนแบรนด์สปอนเซอร์จะได้รับผลบวกจากการสนับสนุนแน่นอน และแม้การแข่งขันกีฬาจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แต่ผู้ชมกีฬาไม่เคยหายไปไหน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอาจยังไม่ฟื้นจากพิษ COVID-19 แต่หากไม่ลงโฆษณาอาจทำให้แบรนด์ไม่ได้สื่อสาร ทำให้ถูกลืมและถูกคู่แข่งแทรกขึ้นมาได้ ดังนั้น ต้องวางแผนอย่างรัดกุมและเฉียบขาดมากขึ้น

]]>
1338835
เริ่มฟื้น! เม็ดเงินโฆษณาเดือนพ.ค. 64 เพิ่มขึ้น 27% สื่อทีวีเพิ่มขึ้น 37% https://positioningmag.com/1337115 Sat, 19 Jun 2021 15:40:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1337115 นีลเส็น เปิดเผยมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในช่วงมกราคม-พฤษภาคมปี 2564 เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าอยู่ที่ 44,956 ล้านบาท สื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 60% ขณะที่ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สื่อทีวียังเป็นสื่อหลัก มีการใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้งยังเป็นช่วงของการกลับมาของ “สรยุทธ์” มีส่วนทำให้งบโฆษณาเพิ่มขึ้นได้ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ยังเป็นสื่อเดียวที่ติดลบ 11%

ภาพรวมใช้เม็ดเงินโฆษณาปี 2564 ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่

  • กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) มูลค่า 8,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33%
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มูลค่า 6,587ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17%
  • กลุ่มยานยนต์ (Automotive) มูลค่า 2,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%
  • กลุ่ม Media & Marketing ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจขายตรงมูลค่า 5,026 ล้านบาท ลดลง 3%
  • กลุ่มยา (Pharmaceuticals) มูลค่า 2,324 ล้านบาท ลดลง 1%

3 บริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในปี 2564

UNILEVER (THAI) HOLDINGS มูลค่า 2,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 33% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือ คอมฟอร์ท อัลตร้าแคร์ ปกป้องสี และใยผ้าจากการซัก ทางสื่อทีวีมูลค่า 48 ล้านบาท รองลงมาคือคนอร์ สูตรใหม่ หอมกลิ่นหมู เพิ่มขึ้นทางสื่อทีวีมูลค่า 25 ล้านบาท

NESTLE (THAI) มูลค่า 1,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 73% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือ ไมโล ประโยชน์เต็มแก้ว ทางสื่อทีวีมูลค่า 24 ล้านบาท รองลงมาคือเนสกาแฟ ทริปเปิ้ล เอสเปรสโซ่ อร่อยเข้มคูณสามทางสื่อทีวีมูลค่า 22 ล้านบาท

PROCTER & GAMBLE (THAILAND) มูลค่า 1,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 27% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือ รีจอยส์ ผมนุ่มสลวย พร้อมกลิ่นหอมติดผมยาวนาน ทางสื่อทีวีมูลค่า 29 ล้านบาท รองลงมา คือ พริงเกิ้ล ลุคใหม่! สุดปัง ทางสื่อทีวีมูลค่า 23 ล้านบาท

]]>
1337115
ปัญหาขาดแคลนชิปทำ ‘ทีวี’ ราคาพุ่ง 30% ส่วน ‘Ps5’ ขาดตลาดยาวถึง 2022 https://positioningmag.com/1332674 Tue, 18 May 2021 08:22:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1332674 โทรทัศน์, แล็ปท็อป และแท็บเล็ตเป็นที่ต้องการอย่างมากในช่วงที่ COVID-19 ระบาด เนื่องจากผู้คนทำงานและเรียนผ่าน Zoom, คุยกับเพื่อน ๆ ผ่าน Skype และใช้ Netflix เพื่อบรรเทาอาการเบื่อ แต่การขาดแคลนชิปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นนั้นทำให้ ราคาของดีไวซ์พุ่งสูงขึ้น โดยเริ่มจาก ‘ทีวี’

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาของทีวีระดับตัว Top พุ่งขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีที่ผ่านมาตามรายงานของบริษัทวิจัยตลาด NPD การที่ราคาพุ่งอย่างก้าวกระโดดเป็นผลโดยตรงจากวิกฤตชิปขาดแคลนในปัจจุบันและเป็นการตอกย้ำว่าปัญหามีความซับซ้อนมากกว่าการเพิ่มกำลังการผลิต

ปัญหาดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณว่าดีไวซ์อื่น ๆ อาจมีราคาสูงขึ้นตาม ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป, แท็บเล็ต และชุดหูฟัง VR โดย ‘Asus’ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชาวไต้หวันกล่าวว่าการขาดแคลนส่วนประกอบอาจหมายถึง การปรับขึ้นราคาที่สูงขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

SEOUL, SOUTH KOREA – 2020/11/13: People wearing masks exit a PlayStation Store in Seoul. (Photo by Simon Shin/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

Michael Hurlston ซีอีโอของ Synaptics ซึ่งเป็นบริษัทขายวงจรสำหรับควบคุมหน้าจอสัมผัสให้กับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มั่นใจว่า “ราคาจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน” สำหรับส่วนประกอบเหล่านี้ เพราะบริษัทเห็นการขึ้นราคาของส่วนประกอบอื่น ๆ จากบริษัทอื่น

ด้าน Sony ได้เปิดเผยว่า PlayStation 5 จะยังคงขาดตลาดไปจนถึงปี 2022 เนื่องจากปัญหาดังกล่าว โดยบริษัทระบุว่าส่วนประกอบบางอย่างได้เห็นยอดสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ ตัวควบคุมแรงดันไฟฟ้าที่ใช้ในผลิตภัณฑ์จำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งปกติราคา 50 เซ็นต์ แต่ตอนนี้ขายได้มากถึง 70 เหรียญ ซึ่งผู้ผลิตวงจรจอแสดงผลจะรู้สึกถึงผลกระทบเป็นอันดับแรก

“คำที่ฉันได้ยินเมื่อไม่นานมานี้คือ สินค้าคงเหลือหมดลงแล้ว ดังนั้นราคาใหม่เที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อร้านค้าปลีกและการบริโภคของผู้บริโภค” Peggy Carrieres รองประธานของ AVNet ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กล่าว

Photo : shutterstock

ก่อนหน้านี้ ผลกระทบได้เกิดกับผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องหยุดการผลิตเพราะขาดแคลนชิป ขณะที่มีอีกหลายปัญหาที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายแล้งในไต้หวัน ที่กระทบต่อผู้ผลิตชิปในประเทศเพราะน้ำถือเป็นส่วนสำคัญในการผลิต นอกจากนี้มีเหตุไฟไหม้ในเดือนมีนาคมที่ต้องปิดโรงงานในญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์หลายชนิดรวมถึงวงจรรวมจอแสดงผล

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปอาจกินเวลานานกว่าหนึ่งปี ซึ่งปัญหาการขาดแคลนดังกล่าวได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรม รวมถึงผลกระทบต่อความก้าวหน้าในเทคโนโลยีสำคัญ ๆ เช่น AI, 5G และเทคโนโลยีทางทหาร

ที่ผ่านมา Intel ผู้ผลิตชิปชั้นนำของสหรัฐฯ ที่พ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งอย่าง TSMC ในไต้หวัน และ Samsung ในเกาหลีใต้ แต่ปัจจุบันบริษัทวางแผนที่จะลงทุนอย่างหนักเพื่อความพยายามที่จะกลับมาเป็นผู้นำ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เสนอมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมชิปของสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตชิปของอเมริกา อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะไม่ช่วยอะไรในสถานการณ์ปัจจุบัน

Source

]]>
1332674
‘พานาโซนิค’ เตรียมจ้าง ‘TCL’ ผลิตทีวี พร้อมยุติการไลน์ผลิตใน ‘อินเดีย-เวียดนาม’ https://positioningmag.com/1330450 Wed, 05 May 2021 04:22:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1330450 ‘พานาโซนิค’ บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นกำลังเตรียมการขั้นสุดท้ายภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม สำหรับการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีน ‘TCL Electronics’ ที่มียอดขายทีวีเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยพานาโซนิคจะจ้างให้ TCL เป็นผู้ผลิต ‘ทีวี’ ขนาดเล็กและกลางภายในปีงบประมาณ 2564

หลังจากที่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลาย ๆ รายของญี่ปุ่นต่างเจ็บตัวจากธุรกิจทีวี เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงกับคู่แข่งในต่างประเทศ ส่งผลให้พานาโซนิคกำลังวางแผนที่จะปรับปรุงการดำเนินงานด้านการผลิตทีวีให้ลดลงเหลือ 40% ภายในปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากตัวเลขรายได้จากฝั่งทีวีของพานาโซนิคติดตัวแดงอยู่

โดยพานาโซนิค วางแผนที่จะลดต้นทุนโดยการจ้าง TCL ผลิตแบรนด์ Viera ในขณะที่บริษัทยังคงผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มระดับไฮเอนด์ เช่น ทีวี LCD และ OLED TV ขนาดใหญ่ เพื่อขายในตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก ทั้งนี้ ด้วยการร่วมมือกับ TCL คาดว่าจะลดการผลิตภายในประจำปีเหลือประมาณ 3.5 ล้านหน่วยซึ่งน้อยกว่าระดับปัจจุบัน 30-40% ซึ่งนี่จะเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจทีวีครั้งใหญ่ครั้งแรกของบริษัท นับตั้งแต่มีการถอนการผลิตในจีนและอเมริกาเหนือในปีงบประมาณ 2558

โรงงานผลิต TV ของ TCL ในจีน ภาพจาก shutterstock

นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนที่จะทบทวนการผลิตที่โรงงาน 7 แห่งทั่วโลกรวมถึงในมาเลเซีย และสาธารณรัฐเช็ก และจะยุติการผลิตในอินเดียและเวียดนามภายในสิ้นปีงบประมาณ 2564 ส่วนโรงงานในอุสึโนมิยะ ซึ่งเป็นฐานการผลิตทีวีแห่งเดียวในญี่ปุ่นจะถูกใช้เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ แม้ว่าจะมีทีวี OLED บางรุ่นจะยังคงผลิตอยู่ที่นั่นก็ตาม

ที่ผ่านมา พานาโซนิคจำหน่ายทีวีประมาณ 6 ล้านเครื่องทั่วโลกต่อปี โดยรายงานของบริษัทวิจัย Omdia ของอังกฤษระบุว่า พานาโซนิคอยู่ในอันดับที่ 12 ของการจัดส่งทีวีทั่วโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 1.8% นี่คือการลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากอันดับที่ 4 ในปี 2010 ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 7.9% โดยมียอดขาย 20.23 ล้านเครื่องทั่วโลก

Source

]]>
1330450
ถอดแนวคิด ‘Single Content Multiple Platform’ โอกาสฟื้น ‘ช่อง 3’ ให้ทำ ‘กำไร’ อีกครั้ง https://positioningmag.com/1308987 Thu, 03 Dec 2020 13:32:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308987 ย้อนไปเมื่อปี 2560 หลายคนคงจำได้ว่า ‘สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์’ หนึ่งในผู้บริหารของกลุ่มช่อง 3 ได้ย้ายไปรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่ช่อง PPTV และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนปีนี้ สุรินทร์ก็ได้ ‘Comeback’ กลับมาสู่วิก 3 ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แทนที่ ‘บี๋ อริยะ พนมยงค์’ ที่ลาออกไป

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์

ครึ่งปีแรกขาดทุนอ่วม

ย้อนไปช่วงไตรมาสแรก ผลประกอบการของ ‘บีอีซี เวิลด์’ หรือ ‘กลุ่มช่อง 3’ มีรายได้รวม 1,636.5 ล้านบาท ติดลบ -19.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ที่มีรายได้รวม 2,023.8 ล้านบาท แม้รายได้ที่ลดลงจะน่าช็อก แต่ที่ช็อกกว่าคือ ‘3 ผู้บริหารระดับสูง’ ที่ทยอย ‘ลาออก’ อย่าง ‘ประชุม มาลีนนท์’ ที่ออกจากตำแหน่ง ‘G-CEO’ และ ‘อริยะ พนมยงค์’ ที่ออกจากตำแหน่ง ‘President’

ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ก็ยังสาหัด โดยมีรายได้รวม 1,183.8 ล้านบาท ติดลบ -43.4% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่ทำได้ 2,092.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก COVID-19 ส่วนในไตรมาส 3 ทำรายได้ 1,322.8 ล้านบาท ติดลบ -39% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีรายได้ 2,169.8 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการลดต้นทุนที่เข้มข้นช่อง 3 สามารถกลับมามีกำไรที่ 60 ล้านบาท

ปีหน้าพร้อมทวงตำแหน่ง ‘เบอร์ 1’

ยอมรับว่าในปีนี้จะเห็นว่าสถานีมีละคร ‘รีรัน’ ค่อนข้างมาก ซึ่งสาเหตุมาจากทั้งสภาวะเศรษฐกิจ การระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การถ่ายทำคอนเทนต์ได้น้อยลง พนักงานก็ต้อง Work from Home ส่งผลให้ไม่มีรายการใหม่ ๆ มาป้อนช่อง รวมถึงโฆษณาที่ถูกถอดออกไป แต่ในปีหน้า ช่อง 3 จะค่อนข้างรุกมากขึ้น โดยเฉพาะละครที่จะค่อย ๆ เติมละคร First Run ให้มากขึ้น โดยเชื่อว่า หากมีคอนเทนต์ดี ละครดี ช่อง 3 ก็จะกลับมาทวงตำแหน่ง ‘เบอร์ 1’ ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่

“เราโชคดีที่มีคอนเทนต์จำนวนมากทำให้รีรันได้ ต่างจากหลายช่อง ซึ่งหลังหมดช่วงล็อกดาวน์เราก็เริ่มมีละคร First Run มาเติมมากขึ้น อย่างในเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ปกติ และสะท้อนกลับมาสู่รายได้ที่ดีขึ้น”

ให้ความสำคัญ ‘คอนเทนต์’ อันดับ 1

จากนี้ไปช่อง 3 จะเน้นที่ ‘คุณภาพเนื้อหา’ เป็นหลัก อาจจะลดค่าใช้จ่ายด้านอื่น เช่น ขนาดองค์กรและต้นทุนที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ แต่คุณภาพของรายการจะต้องไม่ลดลง เพราะทุกวันนี้การแข่งขันไม่ได้อยู่ว่าเหลือกี่สถานี แต่แข่งที่คุณภาพคอนเทนต์ใครดีกว่ากัน โดยช่อง 3 จะเน้นที่ ‘ละคร’ ‘ข่าว’ และ ‘วาไรตี้’ โดยในแต่ละปีช่อง 3 ผลิตละครปีละ 30-40 เรื่อง และจากนี้ละครช่อง 3 จะมีความหลากหลายและเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

เช่นเดียวกับรายการข่าวจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบผู้ประกาศให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นเพื่อให้กลับมา ‘ดัง’ แต่ความชัดเจนอาจต้องรอช่วงต้นปีหน้า เพราะเป็นช่วง Post COVID-19 อีกครั้ง ส่วน ‘วาไรตี้’ ที่ปัจจุบันความนิยมลดน้อยไปเยอะเพราะมีหลายแพลตฟอร์มให้เลือกเสพ และถ้าไม่มีความแปลกใหม่ก็จะไม่ดึงดูด ดังนั้นส่วนนี้ทางช่องก็จะมีการคุยกับผู้จัดให้มากขึ้น ขณะที่รายการที่ยังแข็งแรงอย่างศึก 12 ราศี, 3 แซ่บ และตีท้ายครัวก็ยังเป็นกำลังสำคัญของช่อง

Single Content Multiple Platform โอกาสพลิกทำกำไร

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือ ยังเสพคอนเทนต์ทีวีแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม ดังนั้นช่อง 3 จึงมีแนวคิด ‘Single Content Multiple Platform’ โดยต้องมองการเปลี่ยนแปลงให้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค โดยใช้จุดแข็งของละครที่มีกว่า ‘พันเรื่อง’ มีคอนเทนต์รวมกัน ‘หลายหมื่นชั่วโมง’ ที่ไม่มีใครมีเท่า รวมถึงดาราระดับเอลิสต์ และผู้จัดที่แข็งแรงเป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งนี่คือสิ่งที่คนอื่นไม่มี และช่อง 3 กระจายคอนเทนต์เหล่านี้ไปในหลายช่องทาง ซึ่งเป็นการต้นทุนครั้งเดียวแต่ขายได้หลายครั้ง

“การที่มีผู้เล่น OTT เข้ามาในบ้านเราเยอะแยะเราไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง แต่มองเป็นคู่ค้าที่เพิ่มมากขึ้น เพราะแต่ละแพลตฟอร์มที่เข้ามาก็จะดึงคอนเทนต์ฮอลลีวูด คอนเทนต์เกาหลี แต่คนไทยก็ยังต้องการดูคอนเทนต์ไทย ซึ่งต่อไปแพลตฟอร์ม 3Plus ของเราจะมีการปรับรูปแบบใหม่ในปีหน้าด้วย”

ไม่ใช่แค่ออนไลน์ แต่ตลาด ‘ต่างประเทศ’ ก็เป็นส่วนสร้างรายได้สำคัญ โดยเฉพาะประเทศ ‘จีน’ และ ‘อาเซียน’ ซึ่งจากนี้ช่อง 3 จะมีเริ่มสำรวจความชอบ ความนิยมของคู่พระนาง และข้อกำหนดกฎหมายเพื่อผลิตคอนเทนต์ได้ตรงใจ โดยปัจจุบันรายได้ของขายการลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปต่างประเทศและ New Media จะเพิ่มเป็น 25% ในปีหน้า จากปีนี้มีสัดส่วน 20% และในอนาคตช่อง 3 จะไม่ใช่สถานีทีวีแต่มั่นใจว่าจะกลายเป็นบริษัทผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ของไทย

มั่นใจผ่าน ‘จุดต่ำสุด’ แล้ว

แม้ว่าจะมีการประเมินว่าอุตสาหกรรมโฆษณาทีวีจะหดตัวต่อเนื่องถึงปี 2566 ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะหดตัวถึง 40% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้มีการชะลอการใช้งบโฆษณารวมทั้งการโยกการใช้เงินสื่อโฆษณาจากออฟไลน์ แต่ไตรมาส 3 ช่อง 3 ก็กลับมาทำกำไรได้ และเชื่อว่าในไตรมาส 4 ช่อง 3 จะรักษาโมเมนตั้มการทำกำไรไว้ได้ ขณะที่ในปีหน้า ช่อง 3 ก็มั่นใจว่าจะสามารถเติบโตได้ 2 หลักจากแนวคิด Single Content Multiple Platform นี้

“ผมคิดว่าเราผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว อย่างไตรมาสที่แล้วก็เริ่มเห็นกำไร และจากนี้เราหวังว่าจะมีกำไรเพราะโมเมนตั้มมันกำลังดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุน เพราะแม้เราจะเป็นธุรกิจขาลง คนลดงบโฆษณาแต่ไม่ได้แปลว่า เลิก แต่ เลือก ดังนั้น ขอแค่เขาไม่ตัดเรา เราอาจจะได้งบโฆษณาเท่าเดิมหรือดีดว่าเดิม ซึ่งเหตุผลเดียวที่เขาจะลงเงินก็คือ คอนเทนต์ ซึ่งเมื่อก่อนเราอาจจะโฟกัสที่ปลายทางมาก ไปโฟกัสที่การสร้างแพลตฟอร์มโดยที่ไม่ได้มองว่าคอนเทนต์ที่ดีจะนำเราไปสู่ทุกอย่าง”

]]>
1308987