ภาวะผู้นำ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 23 Sep 2024 13:15:31 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 10 สัญญาณเตือนว่าคุณยัง “ไม่พร้อม” ที่จะเป็น “ผู้นำ” https://positioningmag.com/1491309 Mon, 23 Sep 2024 10:22:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1491309 การเปลี่ยนตัวเองจากฐานะสมาชิกทีมมาสู่การเป็น “ผู้นำ” นั้นอาจจะเป็นเรื่องท้าทาย เพราะตำแหน่งใหม่จะมาพร้อมกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ในโลกของการทำงาน และหลายครั้งที่คุณอาจจะยัง “ไม่พร้อม” รับตำแหน่งนี้ วัดได้จากสัญญาณเตือนมากมายเหล่านี้

นาตาลี เพียร์ซ ผู้ร่วมก่อตั้ง The Future Kind มองว่า บุคลิกที่มีเสน่ห์และความมั่นใจอาจจะทำให้คนสนใจและส่งคุณขึ้นเป็น “ผู้นำ” องค์กรได้ แต่นิสัยที่ซ่อนอยู่ต่างหากที่จะตัดสินว่าคุณพร้อมหรือยังที่จะนำองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการรู้จักตัวเองตั้งแต่แรกๆ ที่ขึ้นรับตำแหน่งจะทำให้คุณปรับตัวเพื่อสนับสนุน เป็นแรงบันดาลใจให้กับทีม แทนที่จะเป็นอุปสรรคของทีมเสียเอง

“ผู้นำที่ให้ทีมเป็นศูนย์กลางได้ดีที่สุดที่ผมเคยเห็นมา เป็นคนที่เข้าใจหลักการว่าการเป็นผู้นำไม่ได้หมายถึงคนที่เก่งไปเสียทุกอย่าง” คริส เพอร์ซิวาล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ CJPI กล่าว “แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ผู้นำที่เก่งมักจะเป็นคนที่สามารถดึงแนวคิดที่ดีที่สุดออกมาจากคนอื่นได้ และส่งเสริมให้คนที่เก่งกว่าตนเองสามารถรับผิดชอบงานของตนได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ ทั้งสองผู้บริหารจากองค์กรพัฒนาการเป็นผู้นำมองว่ามี 10 สัญญาณเตือนที่บอกได้ว่าคุณยัง “ไม่พร้อม” ที่จะเป็น “ผู้นำ” และควรจะเร่งปรับตัว ดังนี้

1.รับเครดิตไปคนเดียว

สัญญาณเตือนสำคัญของคนที่ยังไม่พร้อมเป็นผู้นำคือ ผู้นำที่ชอบรับเครดิตผลสำเร็จของงานไปคนเดียว บุคคลที่มีลักษณะแบบนี้มักจะเป็น ‘คอขวด’ ในการสร้างนวัตกรรมสิ่งใหม่ของทีมเสียเอง

2.ลูกน้องเลี่ยงที่จะคุยด้วย

ถ้าเห็นสัญญาณว่าลูกน้องในทีมหลีกเลี่ยงที่จะคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้า สะท้อนได้ว่าหัวหน้าไม่สามารถสร้างบรรยากาศปลอดภัยภายในทีมได้ ตัวอย่างเช่น ลูกน้องไม่อยากเปิดกล้องในการประชุมออนไลน์ ไม่อยากทำกิจกรรมนอกเวลางาน ไม่กล้าถามคำถามมากเมื่อได้รับมอบหมายงาน

3.ไม่เชื่อมั่นในตนเอง

เมื่อคนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเองมาเป็นผู้นำ ความรู้สึกนั้นจะถ่ายทอดต่อมาที่ทีมงานด้วย ซ้ำร้ายหากลูกน้องในทีมทำได้ดี หัวหน้าลักษณะนี้อาจจะหวั่นเกรงว่าลูกน้องกำลังจะมาแทนที่ตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งและไม่เชื่อมั่นกันไปหมด

4.ไม่รับรู้ว่าทีมชอบช่องทางการสื่อสารและทำงานร่วมกันแบบไหน

ยุคนี้เป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและการทำงานทางไกล ทำให้แต่ละคนต่างก็มีวิธีการและช่องทางสื่อสารที่ตนเองชอบ บางคนอาจจะชอบการประชุมตอบโต้กันทันทีมากกว่า บางคนชอบการเขียนไอเดียมาแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องมานั่งอยู่พร้อมกัน การเป็นผู้นำยุคใหม่จึงต้องเข้าใจและจัดสมดุลการสื่อสารในทีมได้ โดยดูจากคนในทีมเป็นหลักมากกว่าความชอบของตัวผู้นำเอง

5.ปฏิเสธการวิจารณ์ผลงาน (feedback)

หากใครสักคนไม่ชอบที่จะถูกวิจารณ์งานที่เป็นประโยชน์ คนคนนั้นก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำ คนเป็นผู้นำจะต้องสร้างวัฒนธรรมของความเชื่อมั่นและการร่วมมือกันทำงาน สร้างทัศนคติแบบ ‘เน้นผลลัพธ์ของงานก่อน’ เพื่อทำให้ทีมงานรู้สึกปลอดภัยที่จะอภิปรายถกเถียงกันโดยไม่ต้องเกรงใจตำแหน่งหรือการเมืองในบริษัท ซึ่งการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ผู้นำจะต้องเอาชนะอีโก้ของตัวเองให้ได้เสียก่อน

6.ไม่รู้จุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเอง

สัญญาณเตือนแรงๆ ว่ายังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำคือการไม่รู้ตนเอง หากใครสักคนไม่รู้ว่าจุดแข็งของตัวเองคืออะไร และจุดที่ควรจะพัฒนาคืออะไร พวกเขาจะมีปัญหาเมื่อถึงเวลาต้องสนับสนุนและแนะนำคนอื่น ต่างกับผู้นำที่สามารถรับคำวิจารณ์ได้ ยอมรับความผิดพลาดของตนเองได้ จะกลายเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอื่นในการพัฒนาตนเอง และปิดจุดอ่อนของตัวเอง

7.รู้ไปหมด

ผู้นำที่เชื่อมั่นตนเองมากเกินไป เชื่อว่าตนเองรู้และเก่งหมดทุกเรื่อง ทั้งที่จริงสิ่งที่ผู้นำประเภทนี้ไม่รู้คือ ไม่รู้ขีดจำกัดของตนเอง ผู้นำแนวนี้จะหยุดการเติบโตและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของทีม

ผู้นำที่ดีควรจะต้องมีความถ่อมตน และเลือกจะพาทีมที่มีความสามารถมาทำงานร่วมกัน สร้างบรรยากาศที่ทำให้ทีมแชร์ความเห็นที่แตกต่างกันได้ เพื่อให้ทุกคนดึงจุดแข็งของตัวเองออกมาสร้างความสำเร็จร่วมกัน

8.ไม่เห็นค่าการมีส่วนร่วมของทีมงาน

ผู้นำที่ยังไม่พร้อมมักจะเป็นคนที่ไม่เห็นค่าการทำงานของทีมงานคนอื่น การทำงานเป็นทีมหมายถึงการหาโซลูชันให้ได้ไปพร้อมๆ กันก็จริง แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้นำก็ต้องให้เครดิตกับบุคคลแต่ละคนในทีมด้วย เพื่อให้ทีมงานรู้สึกว่าทุกคนต่างก็ได้ทำงานที่มีค่ากับทีม

9.ไม่ให้เกียรติคนอื่น

สิ่งที่ผู้นำควรมีมากที่สุดคือ ความฉลาดทางอารมณ์ หากเป็นผู้นำที่ชอบด้อยค่าและหยาบคายกับลูกน้อง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ นั่นหมายความว่าคนคนนั้นไม่มีความอดทนต่อการเรียนรู้และเติบโตของลูกน้อง หากผู้นำไม่สามารถสนับสนุนลูกน้อง ไม่มีมารยาท และไม่ให้เกียรติ ก็จะทำให้องค์กรไม่สามารถดึงคนทำงานไว้ได้นาน

10.ไม่มีทักษะการฟัง

การเป็นผู้นำคือการฟังคนอื่นให้เป็น หากขึ้นเป็นผู้นำเพื่อจะทำตามความคิดของตนเท่านั้น แปลว่าคนคนนั้นยังไม่พร้อมที่จะนำองค์กร คนเป็นผู้นำจะต้องฟังทีมงานอยู่เสมอ ต้องปล่อยให้ทีมงานแสดงความเห็นมากกว่าขัดจังหวะไม่ให้พูด และเป็นคนที่ฟังไอเดียและ feedback จากลูกน้องอย่างจริงจัง เพราะการเป็นผู้นำคือการว่าจ้างคนที่เก่งในงานชนิดนั้นๆ และเชื่อมั่นในตัวพวกเขาที่จะปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่ถนัด

Source

 

อ่านบทความอื่นๆ ต่อ

]]>
1491309
เปิดเหตุผลทำไมทีมทำงานดีขึ้น? เมื่อหัวหน้าออกกำลังกายมีวินัยทุกวัน! https://positioningmag.com/1331190 Sun, 09 May 2021 14:47:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331190 หัวหน้าที่ดีต้องออกกำลังกาย! ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ในองค์กรฟันธง การจัดการความเครียดของหัวหน้า คือหนทางพาลูกทีมทำงานเต็มประสิทธิภาพ แนะผู้นำทุกคนควรสละเวลา 5 นาทีรีเซตอารมณ์ทุกวัน ก่อนที่ความเหนื่อยใจจะทำร้ายการตัดสินใจในระยะยาว

แม้เทคนิคเช่นการนับถึง 10 และการหายใจเข้าลึก จะมีประโยชน์ แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่พบว่ายากที่จะทำได้ผลเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่บีบคั้นและซับซ้อนกว่าปกติ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทำคือการหาทางทำให้มีช่วงเวลาที่จิตใจไม่สร้างความเครียดขึ้นมา ผ่านกิจกรรมที่ชอบในทุกวัน การันตีเทคนิคนี้จะสร้างความแตกต่าง ยกระดับวิธีปฏิสัมพันธ์กับตัวเอง คนรอบข้าง และลูกทีมแบบจับต้องได้

อย่าละเลย

Paul Donovan ผู้ก่อตั้งบริษัท The Change Company ในออสเตรเลียตั้งแต่ปี 1999 นั้นมีความเชี่ยวชาญในการแนะนำให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรสามารถเจรจาและตัดสินใจที่เอื้อให้ทีมทำงานอย่างมีคุณภาพ ล่าสุด Paul ออกมาแนะนำให้ผู้นำองค์กรจัดการความเครียดของตัวเอง หากต้องการให้ลูกน้องทุกคนมีประสิทธิผลในการทำงาน โดยอธิบายว่า แม้การจัดการกับความรับผิดชอบจำนวนมากจะเป็นส่วนหนึ่งของงานผู้นำก็จริง แต่การละเลยสุขภาพของตัวเอง ก็อาจจะทำร้ายประสิทธิภาพในการตัดสินใจได้แบบรุนแรง

Donovan บอกว่าในฐานะผู้นำ การจัดการความเครียดอาจเป็นเรื่องท้าทาย เพราะหัวหน้างานมักจะจมอยู่กับงานการทำงานหลายอย่างพร้อมกันตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว ดังนั้น การเรียนรู้วิธีจัดการความเครียด จึงเป็นสิ่งที่ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งที่ผู้นำทุกคนสามารถทำได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับสุขภาพจิตใจโดยรวม แต่ยังช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างความมั่นใจให้ตัวหัวหน้า ว่าจะสามารถทำงานบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเพื่อนร่วมทีม

Donovan ย้ำว่าผู้นำองค์กรหลายคนประสบกับความเครียดในระดับสูงค่อนข้างบ่อย ซึ่งในความเป็นจริง การศึกษาพบว่าสังคมโลกประสบกับความเครียดมากขึ้นเรื่อย เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนี้มักเรียกกันว่าการแพร่ระบาดของความเครียดเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทีมต้องทำโปรเจกต์ใหญ่ที่ทีมต้องทุ่มเทพลังงานเต็มที่

เมื่อความรู้สึกเครียดครอบงำ ระดับคอร์ติซอลในร่างกายของคนนั้นจะเพิ่มขึ้น สิ่งนี้ทำให้เกิดมุมมองว่าเรื่องโน้นเรื่องนี้เป็นภัยคุกคาม สมองของคนผู้นั้นจึงเพิ่มความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ภาวะนี้เองที่จะทำให้คนผู้นั้นไม่ได้ใช้พลังของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่มักจะเริ่มรู้สึกไร้เรี่ยวแรง รู้สึกอ่อนแอ และเริ่มสูญเสียวิจารณญาณ

ในขณะที่ความเครียดตัวร้ายเริ่มออกฤทธิ์ หลายคนจะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อสิ่งที่เรียกว่าความขัดแย้งทางอำนาจ (power paradox) ความขัดแย้งทางอำนาจนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคนผู้นั้นถูกบีบให้ใช้ตำแหน่งหรือยศของตัวเองเพื่อช่วยให้รู้สึกดีขึ้นชั่วคราว หลายคนอาจเคยประสบกับภาวะนี้ด้วยตัวเองหรือเคยเห็นเหตุการณ์นี้กับบุคคลอื่น เช่น หัวหน้างานที่เครียดและกังวลว่าเรื่องนั้นก็ไม่ดี เรื่องนี้ก็ไม่ใช่และทันใดนั้น หัวหน้ารายนี้ก็กลายร่างเป็นคนที่ฝักใฝ่งานสมบูรณ์แบบและมีแรงผลักดันพลังงานล้นปรี่ แล้วจึงเริ่มออกคำสั่งคนรอบข้างเพื่อลดความเครียด กลายเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เข้าท่าไป

Donovan บอกว่าที่สุดแล้ว ทุกคนอาจรู้สึกเครียดได้ที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ถ้าใครมียศมีตำแหน่ง ก็จะถูกกระตุ้นให้ใช้ตำแหน่งของตัวเองเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความรู้สึกว่าไร้อำนาจ ความเครียดยังมีแนวโน้มที่จะทำให้พวกเราทุกคนรู้สึกไร้พลัง และเมื่อรู้สึกเช่นนี้ หลายคนอาจจะไม่ใช้พลังของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ นี่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางอำนาจซึ่งผู้นำหรือหัวหน้าทีมต้องระวังให้ดี

จัดการกับความเครียดสไตล์ผู้นำ

Donovan ยกตัวอย่างว่าเมื่อใดที่ใครก็ตามรู้สึกเครียดมาก เมื่อนั้นมักเป็นสัญญาณว่าคนผู้นั้นผลักดันตัวเองมากเกินไป และไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเร็วพอที่จะจัดการกับอารมณ์ได้ แต่ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าจะสายเกินไปที่จะทำอะไรบางอย่างกับอารมณ์ที่คุกรุ่น เพียงแต่ทุกคนจะต้องไม่รอให้ถึงเวลาที่เครียดจัดก่อนที่จะลงมือแก้ไข

ตรงนี้ Donovan ยอมรับว่าแม้เทคนิคเช่นการนับถึง 10 และการหายใจเข้าลึก จะมีประโยชน์ แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่พบว่ายากที่จะทำได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่บีบคั้นมากๆ ดังนั้นสิ่งที่แนะนำให้ทำคือออกกำลังกายให้มีวินัยมากขึ้น และควบคุมให้เข้มข้นขึ้นเมื่อไม่ได้รู้สึกเครียด 

Donovan เชื่อว่าทุกคนโดยเฉพาะหัวหน้างาน ควรต้องหาเวลาทุกวันที่จะปลีกตัวออกจากงาน แล้วนั่งลง คิด อ่าน ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และผ่อนคลาย หากทำเช่นนี้ทุกวัน ความเครียดจะไม่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้คลายความรู้สึกหนักใจไม่ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องจนสะสม

สิ่งนี้เป็นเหมือนการรีเซต Donovan เปรียบเทียบว่าเหมือนการตั้งค่ากลับเป็นศูนย์ทุกวันในเวลาครู่หนึ่ง เทคนิคนี้ถือว่าสำคัญ ผู้บริหารบางคนใช้วิธีนั่งสมาธิ หรือออกกำลังกายแบบใช้สมาธิง่ายๆ เช่น เก็บของใส่ตู้ อ่านหนังสือ หรือยืดเส้นยืดสาย แม้ว่าจะเป็นเวลาเพียง 5 นาที แต่หลายคนพบว่าสิ่งนี้จะเริ่มสร้างความแตกต่าง ช่วยให้ไม่ได้รู้สึกเครียดเพิ่มขึ้นบ่อยครั้งเหมือนเคย

การจัดการความเครียด จึงถือเป็นสิ่งสำคัญเมื่อเราอยู่ในสถานะที่มีอำนาจ การสละเวลาปล่อยวางออกจากงานอย่างมีสติ และใช้เวลาในแต่ละวันให้ช้าลง จะสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมาก ต่อวิธีปฏิสัมพันธ์กับตัวเองและคนรอบข้างแบบเห็นได้ชัด Donovan ทิ้งท้าย ซึ่งสะท้อนได้ชัดถึงเหตุผลว่าทำไม? ทีมจึงทำงานดีขึ้นเมื่อหัวหน้าจัดการความเครียดของตัวเองได้สำเร็จ.

ที่มา

]]>
1331190
มรสุม ปี 2020 สุดยอด “ผู้นำหญิง” เฉิดฉายในเกมการเมืองโลก https://positioningmag.com/1312563 Thu, 31 Dec 2020 09:18:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1312563 ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดปี 2020’ ทั่วโลกต้องเผชิญมรสุมโรคระบาดครั้งใหญ่ มาซัดกระหน่ำเเบบไม่หยุดหย่อน เเละจะส่งผลกระทบทุกภาคส่วน ต่อเนื่องไปอีกหลายปี

การมาของ COVID-19 ได้พลิกวิถีชีวิตของผู้คนไปเเบบคาดไม่ถึง เมื่อการเดินทางที่เคยไปไหนก็ได้ทั่วโลกกลับหยุดชะงัก ยอดผู้ติดเชื้อสะสมที่ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องหวั่นวิตกกับการกลายพันธุ์ที่มาซ้ำเติมระหว่างรอวัคซีน ทำให้เศรษฐกิจโลกที่ทรุดอยู่เเล้ว ต้องทรุดหนักลงไปอีก รัฐบาลในเเต่ละประเทศต้องต่อสู้กับการบริหารจัดการวิกฤต

ช่วงมรสุมที่ต้องเจอกับสารพัดความท้าทายตลอดปี 2020 นี้ เป็นช่วงเวลาที่ผู้นำหญิงได้เเสดงศักยภาพอันโดดเด่นในการบริหารประเทศ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากประชาคมโลกไม่น้อย เเละผลงานของพวกเธอจะยังเฉิดฉายต่อไปในปี 2021 อย่างเเน่นอน

Positioning รวบรวมสุดยอดผู้นำหญิง’ (บางส่วน) ที่มีบทบาทสำคัญในเกมการเมืองโลกตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

อังเกลา แมร์เคิล : เยอรมนี

เริ่มต้นกับสุดยอดหญิงเเกร่งอย่างอังเกลา แมร์เคิล’ (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเเห่งเยอรมนี ผู้ได้รับการตัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน 

เยอรมนีถือเป็นประเทศผู้นำของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการเศรษฐกิจเเละสังคมต่างๆ รวมไปถึงข้อตกลงดีลเบร็กซิตการเเยกตัวของสหราชอาณาจักร ที่เพิ่งบรรลุไปหมาดๆ จบมหากาพย์ยืดเยื้อยาวถึง 4 ปี

อ่านรายละเอียด : สรุป 10 ข้อสำคัญปิดดีล Brexit” อังกฤษ-EU

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด แมร์เคิลต้องเเบกภาระหนักอึ้ง จากสถานการณ์ในเยอรมนีนั้นไม่ค่อยสู้ดีนัก เมื่อต้องติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดของโลก โดยยอดล่าสุดอยู่ที่ราว 1.29 ล้านราย รักษาหายแล้ว 9.5 แสนราย 

ที่ผ่านมา เยอรมนีใช้มาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป หลังจากผ่านการระบาดในช่วงเเรก เเละตอนนี้กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดอีกระลอก เมื่อเริ่มพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเป็นจำนวนมากกว่าการระบาดช่วงฤดูใบไม้ผลิถึง 3 เท่า

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน

ดังนั้น รัฐบาลเยอรมนี จึงขยายการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ด้วยการสั่งปิดร้านค้าที่ไม่จำเป็น รวมถึงให้มีการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ ไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 10 มกราคม 2021

ในช่วงมรสุม แมร์เคิล ชนะใจประชาชนด้วยการพูดคุยอย่างเปิดเผยว่าประเทศชาติกำลังเผชิญความท้าทายอะไรอยู่ โดยในช่วงเเรกๆ ที่เกิดการเเพร่ระบาด เธอได้ออกมายอมรับอย่างรวดเร็วว่า COVID-19 เป็นภัยที่ร้ายแรงมากต้องรีบจัดให้มีการตรวจหาเชื้อติดตามและกักตัวผู้ติดเชื้อ

EU ได้เริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.. ที่ผ่านมา โดยเริ่มเเจกจ่ายให้กลุ่มเปราะบาง และบุคลากรการแพทย์ก่อน ซึ่งคุณยายวัย 101 ปีได้รับเป็นคนแรกในเยอรมนี

สิ่งที่น่าจับตามองในปี 2021 คือการประกาศวางมือทางการเมืองของเเมร์เคิล ที่กำลังก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังหมดวาระลงในปีหน้านี้ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองยุโรป ต้องติดตามกันว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

จาซินดา อาร์เดิร์น : นิวซีเเลนด์ 

โดดเด่นทั้งบุคลิกเเละผลงาน ต้องมอบมงให้จาซินดา อาร์เดิร์น” (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ที่ได้รับคำชมจากนานาชาติอย่างล้นหลาม เเละการชื่นชมชมจากประชาชนในประเทศ ด้วยการเลือกให้ชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2

ตลอดการทำงานในตำเเหน่งผู้นำประเทศ เธอได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ที่หลากหลายเเละเเปลกใหม่ทั้งการรับมือผู้ก่อการร้ายที่นำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายครอบครองอาวุธปืน การส่งเสริมสิ่งเเวดล้อมผลักดันปัญหาสภาพอากาศในเวทีโลก การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เเละการสร้างงานต่างๆ

เเละในขณะที่ประเทศต้องรับมือกับโรคระบาด อาร์เดิร์นก็ตัดสินใจได้เฉียบขาดไม่เเพ้ใคร

โดยนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ตั้งใจจะหยุดการแพร่ระบาดโดยสิ้นเชิง ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ตอนที่ผู้เสียชีวิตในประเทศมีแค่ 6 รายเท่านั้น เพื่อเดินหน้าตรวจและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งในช่วงกลางปี 2020 นิวซีเเลนด์มียอดผู้ติดเชื้อใหม่เป็นศูนย์เเละติดลิสต์เป็นหนึ่งในประเทศที่จัดการโรคระบาดได้ดีที่สุด

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ (Photo by Hagen Hopkins/Getty Images)

นิวซีแลนด์ ได้สั่งจองวัคซีน COVD-19 มากเพียงพอต่อประชากรภายในประเทศทั้งหมดราว 5 ล้านเเล้ว โดยต่อไปจะมีการเเบ่งปันวัคซีนส่วนต่างไปให้ประเทศใกล้เคียงด้วย

รัฐบาลนิวซีแลนด์เพิ่งให้ไฟเขียวข้อตกลง Travel Bubble กับออสเตรเลีย ภายในไตรมาสแรกปี 2021 เป็นความพยายามครั้งใหม่ หลังจากเคยคุยกันมาหลายรอบแต่เป็นอันพับแผนเพราะการระบาดซ้ำ โดยข้อตกลงนี้สำคัญกับภาคท่องเที่ยวของนิวซีแลนด์ ซึ่งมีลูกค้าต่างประเทศเป็นชาวออสเตรเลียเกือบ 50%

ซานนา มาริน : ฟินเเลนด์ 

นี่คือยุคของคนรุ่นใหม่ของจริงกับซานนา มาริน (Sanna Marin) นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก วัย 34 ปี จากฟินแลนด์ เธอเดินหน้าสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ จัดตั้งรัฐบาลผสมที่ล้วนมีผู้หญิงเป็นผู้นำพรรค ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองโลก

มารินได้เสนอตารางการทำงานแบบใหม่ โดยแบ่งให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ในเวลา 6 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้คนงานใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น

ก่อนที่เธอจะเป็นนายกรัฐมนตรี มารินเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของฟินแลนด์ ในขณะที่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าว Marin สนับสนุนให้มีเวลาทำงานน้อยลง เพื่อปรับปรุงความสามัคคีและผลผลิตของพนักงาน ขณะที่ปัจจุบันฟินแลนด์ทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน ห้าวันต่อสัปดาห์

ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์

ฉันเชื่อว่าผู้คนควรใช้เวลากับครอบครัว คนที่รัก งานอดิเรก และใช้เวลากับด้านอื่นๆ ของชีวิต เช่น วัฒนธรรม และนี่อาจเป็นขั้นต่อไปสำหรับชีวิตการทำงานของเรา

ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ก็สร้างความท้าทายให้ผู้นำรุ่นใหม่ไม่น้อย เเต่ฟินแลนด์ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเสียงชื่นชมในการรับมือ COVID-19 อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่วันก่อน ทางการระบุว่า พลเมืองฟินแลนด์อย่างน้อย 1 คนที่เพิ่งเดินทางกลับจากสหราชอาณาจักร ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโรค COVID-19  กลายพันธุ์ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลภายใต้การนำของซานนา มารินจะจัดการวิกฤตนี้ต่อไปอย่างไร

ไช่อิงเหวิน : ไต้หวัน 

เราคงคุ้นเคยกับชื่อของไช่อิงเหวิน(Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน ที่ขึ้นชื่อในความเเข็งเเกร่ง ด้วยการการดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนแผ่นดินใหญ่พยายามผลักดันให้ไต้หวันมีบทบาท เเละเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก รวมถึงการประกาศให้ไต้หวันใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันเป็นชาติแรกในเอเชีย 

โดยเมื่อต้นที่ผ่านมา ไช่อิงเหวิน ชนะเลือกตั้งด้วยคะเเนนเสียงท่วมท้น นั่งเก้าอี้ผู้นำไต้หวันต่อเป็นสมัยที่ 2

ความท้าทายในปีนี้ของไช่อิงเหวิน นอกเหนือจากการเล่นการเมืองเเห่งอำนาจเเล้ว เธอยังต้องเจอวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ที่ค่อนข้างสาหัสทีเดียว ในช่วงเเรกไต้หวันได้รับการยกย่องว่าจัดการโรคระบาดได้ดีลำดับต้นๆ ของโลก ก่อนจะมีการระบาดซ้ำในเวลาต่อมา

ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน (Photo by Clicks Images/Getty Images)

เเผนการรับมือ COVID-19 ของไต้หวัน ที่สำคัญคือการตื่นตัว และไม่นั่งอยู่เฉยๆ จากนั้นไต้หวันใช้วิธีรุกด้วยการตั้งศูนย์บัญชาการกลาง Central Epidemic Command Center ศูนย์ CDC นี้ทำให้ไต้หวันสามารถเดินมาตรการและตัดสินใจได้เร็วทันการณ์ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจจับและติดตามผู้ติดเชื้อแบบไม่คลาดสายตา

ขณะเดียวกัน ไต้หวันทำได้ดีคือการเตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์ หน้ากากที่ไต้หวันไม่ขาดตลาดและมีราคาตั้งที่ 16 เซ็นต์ต่อแผ่นเท่านั้น (ราว 0.17 บาท) ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ต่อสาธารณชนอย่างทั่วถึง คู่ไปกับภาคประชาชนที่ลงมือดูแลตัวเอง ตรวจวัดอุณหภูมิลูกหลานตั้งแต่ที่บ้าน แล้วรายงานให้ครูทราบเมื่อเดินทางมาถึงโรงเรียน ทั้งหมดนี้ไต้หวันทำได้เพราะการเรียนรู้จากประสบการณ์ล้วนๆ

อ่านเพิ่มเติม : กรณีศึกษา: ถอด 8 บทเรียน ทำไมไต้หวันคุม COVID-19 ได้อยู่หมัด!

ไช่อิงเหวิน เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อเกมการเมืองโลก เรื่อยไปอย่างน้อยจนถึงปี 2024 เเน่นอน

คามาลา แฮร์ริส : สหรัฐอเมริกา 

ตั้งเเต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป ใครๆ ก็คงจับตาการเมืองฉากใหม่ของอเมริกา

คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) สร้างประวัติศาสตร์ เป็นสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เเละยังเป็นลูกครึ่งเอเชียคนแรก และชาวอเมริกันผิวสีคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งนี้ด้วย

จากอัยการเขตหญิงคนแรกของซานฟรานซิสโก สู่การขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเบอร์สอง “แฮร์ริสจุดประกายความหวังในโลกการเมืองของผู้หญิงอีกครั้ง หลังฮิลลารี คลินตันพ่ายแพ้ให้แก่ประธานาธิบดีทรัมป์ ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน

แม้ว่าฉันจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ทำงานนี้ แต่ฉันจะต้องไม่ใช่คนสุดท้าย

คามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Photo : Twitter / @KamalaHarris )

หลังรู้ผลว่าชนะเลือกตั้ง แฮร์ริส ได้กล่าวยกย่องผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติและสีผิวในอเมริกา ที่ช่วยต่อสู้ให้ผู้หญิงผิวสีในอเมริกาได้มีวันนี้ ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิที่จะได้แสดงความคิดเห็นหรือร่วมลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยเธอบอกว่า เด็กผู้หญิงทุกคนที่กำลังดูอยู่ จะเห็นว่านี่คือประเทศแห่งความเป็นไปได้

โจ ไบเดนเพิ่มความหลากหลายทางเพศในคณะทำงานระดับสูงของเขา ด้วยการเปิดตัวทีมสื่อสารหญิงล้วน (4 คนในนั้นเป็นผู้หญิงผิวดำ) ทีมเศรษฐกิจหญิงแกร่ง นำโดยอดีตประธานเฟดอย่างจาเน็ต เยลเลนเเละดึง ส.ส. หญิงอายุน้อยมานั่งกระทรวงแรงงาน นี่คือความต้องการพลิกการเมืองจากยุคของโดนัลด์ ทรัมป์

รอดูกันว่า ปี 2021 การเปลี่ยนเเปลงด้วยพลังหญิงในรัฐบาลมหาอำนาจอย่างอเมริกา จะสร้างแรงกระเพื่อมได้มากน้อยเพียงใด

 

]]>
1312563
นิยาม “ผู้นำ” ยุคใหม่ ไม่ใช่คนสั่ง-กำกับควบคุม แต่เป็นคนดึงศักยภาพพนักงาน https://positioningmag.com/1293324 Wed, 19 Aug 2020 13:23:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1293324 “แพคริม” ชี้ทิศการเป็น “ผู้นำ” องค์กรยุคใหม่ที่ต้องก้าวให้ทันความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ มองคำตอบต้องปรับองค์กรให้มีวัฒนธรรมแบบ “Agile” ทำงานแบบคล่องตัว ลดโครงสร้างตำแหน่ง และผู้นำในวัฒนธรรมนี้ไม่ใช่คนสั่งการผ่านวิสัยทัศน์-ความสามารถของตนเองคนเดียว แต่เป็นผู้ดึงศักยภาพพนักงานทุกคนออกมา

“พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ กลุ่มบริษัทแพคริม ที่ปรึกษาและฝึกอบรมด้านการพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 28 ปี เปิดบรรยายในหัวข้อ “Reimagine Leadership Development for the New Normal”

โดยพรทิพย์กล่าวว่า ความท้าทายสำคัญของโลกธุรกิจยุคนี้คือ “ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว” กว่าเดิมมาก พฤติกรรมผู้บริโภคมีความซับซ้อนและต้องการความเข้าใจมากกว่าเดิม ไปจนถึงเรื่องการปฏิรูปทางดิจิทัลที่มีผลกระทบ ทำให้ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของกลุ่ม “ผู้นำ” องค์กร เพื่อจะนำพาองค์กรให้ก้าวทันความเร็วเหล่านี้

 

“Agile” คือคำตอบในการติดสปีด

ก่อนจะไปถึงเรื่องการปรับทักษะผู้นำ พรทิพย์กล่าวถึง “รูปแบบองค์กร” ที่จะทำให้ปรับตัวได้เร็ว คำตอบคือโครงสร้างแบบ Agile การบริหารองค์กรแบบนี้จะมีความคล่องตัวมากกว่าเดิม เพราะลดลำดับตำแหน่งในองค์กรลง ทำให้โครงสร้างการบริหารราบลงมามากขึ้น แต่ละคนไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะของตนเองเท่านั้น แต่สามารถช่วยเหลือกันเป็นทีม ทำงานหลายอย่าง (multitask) พร้อมๆ กันได้

เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารองค์กรเป็นแบบ Agile รับโลกธุรกิจยุคใหม่

เธอเปรียบเทียบการทำงานแบบ Agile ว่าเหมือนกับเรือยางล่องแก่ง คนบนเรือทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหา และเป็นทีมที่เหมาะกับความเชี่ยวกรากของสายน้ำ เหมือนกับความเร็วของธุรกิจยุคนี้ จะต่างจากลักษณะองค์กรใหญ่สมัยก่อน (หรือกระทั่งสมัยนี้) ที่เหมือนกับเรือสำราญลำยักษ์ คนบนเรือมีหน้าที่เฉพาะของตนเองและทำเฉพาะหน้าที่เท่านั้น

 

ผู้นำไม่ใช่อัจฉริยะแต่เป็นผู้สร้างอัจฉริยะ

พรทิพย์กล่าวต่อว่า เมื่อองค์กรบริหารแบบ Agile ความเป็นผู้นำแบบเดิมๆ ก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะคนที่สำคัญที่สุดคือพนักงานระดับ frontline หัวหน้าหรือผู้นำไม่ใช่คนที่ใช้ความสามารถของตัวเองและสั่งการลงมา แต่เป็นคนที่ทำให้พนักงาน frontline ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ให้มากที่สุด โดยแจกแจงความต่างของผู้นำยุคเก่าสู่ยุคใหม่ 5 ข้อ ดังนี้

1.ความเป็นผู้นำมิได้วัดกันที่ “ชื่อตำแหน่ง” แต่เป็น “ผลลัพธ์และงานที่ทำให้องค์กร”
2.ไม่ดูความเป็นผู้นำจาก “งานที่ได้รับมอบหมาย” แต่เป็น “ตัวตน คุณลักษณะ”
3.ผู้นำไม่ใช่ “ช่างเครื่อง” ที่รวบรวมสิ่งที่มีอยู่แล้วมาสร้างเครื่องยนต์ แต่เป็น “คนทำสวน” ที่ปลูกสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาให้เติบโต
4.ผู้นำไม่ใช่ “ผู้ควบคุมสั่งการ” แต่เป็น “ผู้ปลดปล่อยความสามารถ” ให้กับพนักงาน
5.ผู้นำไม่ได้ทำหน้าที่ “ปิดจุดอ่อน” แต่ทำหน้าที่ “สร้างศักยภาพใหม่ๆ” ให้กับองค์กร

เธออ้างอิงคำพูดจาก “ลิซ ไวส์แมน” นักวิจัยและนักเขียนเกี่ยวกับภาวะความเป็นผู้นำ มาให้ทุกคนลองถามตนเองดู โดยเป็นประโยคท้าทายความคิดของคนเป็นหัวหน้าว่า “คุณเป็นอัจฉริยะ หรือเป็นผู้สร้างอัจฉริยะ?”

 

ฝึกรู้เท่าทันตนเอง ไม่เป็นผู้นำแบบเดิมๆ

ไวส์แมน ยังให้คำแนะนำด้วยว่า การเปลี่ยนองค์กรและเปลี่ยนทักษะความเป็นผู้นำสู่ยุคใหม่ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อาจจะเริ่มต้นด้วยการรู้เท่าทันตนเอง “ไม่” เป็นผู้นำ 9 แบบ ต่อไปนี้ เพื่อไม่ติดกับดักเป็นผู้นำแบบเก่าที่จะทำให้พนักงานไม่พัฒนา และเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความสามารถ

1.ผู้นำไอเดียพรั่งพรู – มีสิ่งที่คิดฝันมากเสียจนพนักงานไม่ได้คิดเลย
2.ทำงานตลอดเวลา – สร้างความรู้สึกเหนื่อยล้าให้กับพนักงาน
3.ช่วยตลอด – เพราะกลัวพนักงานทำไม่ถูก จึงลงมือทำเองหรือเข้าช่วยตลอด ทำให้พนักงานไม่พัฒนา
4.ทำงานเร็วเกินไป – บางครั้งความเร็วก็อาจจะส่งผลร้ายได้ หากคนในองค์กรเดินตามไม่ทัน
5.ทำแทนพนักงาน – คล้ายกับข้อ 3 แต่ทำแทนพนักงานเพราะพนักงานทำไม่ทันใจ
6.มองโลกแง่ดีเกินไป – เช่น คิดว่านโยบายนั้นๆ สามารถทำได้จริง แต่พนักงาน frontline ทำไม่ได้
7.เจ้านายสาย ‘โอ๋’ – มีความรักและปกป้องพนักงานเกินไป จนพนักงานไม่ได้เจอปัญหา
8.นักวางกลยุทธ์มือทอง – แต่วางละเอียดเกินไปจนไม่เหลือให้พนักงานช่วยเติมเต็ม
9.นิยมความสมบูรณ์แบบ – บีบคั้นพนักงานจนเกินไปเพราะอยากให้งานสมบูรณ์แบบ 100% จนพนักงานรู้สึกว่า “ทำเท่าไหร่ก็ดีไม่พอ”

โดยสรุปแล้ว พรทิพย์กล่าวว่าผู้นำยุคใหม่ควรฝึกทักษะ “การส่งเสริมศักยภาพ” คนในองค์กรให้ทำผลงานด้วยตนเอง เพราะความรู้สึกเชื่อใจในทีม รู้สึกได้เป็นเจ้าของทั้งงานและองค์กรที่ทำนั้น คือสิ่งที่สำคัญยิ่งในปัจจุบัน

ผู้นำที่ดีไม่ใช่ผู้ให้คำตอบแต่เป็นผู้ถามคำถามที่ดี เป็นคนที่หยุดหาว่าพนักงานคนไหนเก่งกว่า แต่หาว่าแต่ละคนเก่งอย่างไร เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความสามารถ และเพิ่มความท้าทายมากขึ้นๆ เพื่อให้พนักงานพัฒนาตนเอง

]]>
1293324
ถอดรหัสความคิด! ทำไม “ผู้หญิง” เป็นผู้นำที่สู้ภาวะวิกฤตได้ดีกว่า? https://positioningmag.com/1280352 Sun, 24 May 2020 12:26:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280352 ในขณะที่หลายประเทศยังคงต่อสู้กับการระบาดของ COVID-19 แต่นิวซีแลนด์และไอซ์แลนด์เป็น 2 ประเทศล่าสุดที่ถูกยกย่องว่าจัดการวิกฤตได้มีประสิทธิภาพมากกว่าใคร เหตุบังเอิญคือรัฐบาลของทั้ง 2 ชาติมีผู้นำเป็นผู้หญิง และอีกหลายพื้นที่ที่ถูกยกเป็นแถวหน้าเรื่องการจัดการ COVID-19 ได้ดีในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีผู้นำเป็นผู้หญิง เช่น ไต้หวัน เยอรมนี ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ 

ปรากฏการณ์นี้เชื่อมโยงกับภาวะผู้นำในองค์กรได้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตใดก็ตาม สิ่งที่ผู้คนต้องการคือผู้นำที่มี Empathy การเข้าถึงใจที่มากกว่าความเห็นอกเห็นใจ ขณะเดียวกันก็ต้องมี Compassion หรือความรู้สึกเมตตากรุณา ที่สำคัญคือต้องมีความสามารถในการแสดงการสนับสนุน ซึ่งทั้งหมดเป็นทักษะที่ผู้นำหญิงมักจะแสดงออกได้มากกว่าผู้ชาย

ภัย COVID-19 ที่เกิดขึ้นถูกมองเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่าโลกควรยอมรับในความสามารถพิเศษของผู้นำหญิง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่หลายบริษัทจะเปิดใจและให้โอกาสผู้หญิงเป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น โดยไม่ต้องรอจนบริษัทต้องพบวิกฤตก่อน จึงจะเปิดให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นผู้นำ

COVID-19 คือบทพิสูจน์

จาซินดา อาร์เดิร์น แห่งนิวซีแลนด์

นายกรัฐมนตรี “จาซินดา อาร์เดิร์น” แห่งนิวซีแลนด์ และ “แคทริน เจคอบสดอตเตอร์” แห่งไอซ์แลนด์ ต่างได้รับการยกย่องชื่นชมจากโลกถึงความเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมของทั้งคู่ในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ซึ่งหากมองใน 10 ประเทศที่มีผลงานยอดเยี่ยมที่สุดในแง่ของการตรวจรักษาและการเสียชีวิต

แคทริน เจคอบสดอตเตอร์ แห่งไอซ์แลนด์

พบว่า 4 พื้นที่เป็นจุดที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำมวลชน ได้แก่ เอสโตเนีย ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ และไต้หวัน โดยผู้นำหญิงอย่าง นายกรัฐมนตรีเยอรมัน “แองเจลา มาร์เคิล” และนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก “แมท เฟรดเดอริกเซน” ก็ได้รับคำชมเชยจากการเป็นผู้นำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคเช่นกัน

แองเจลา มาร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน

ในภาพรวม ผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 7% ของผู้นำของโลก ดังนั้นความจริงที่ว่ามีผู้นำหญิงหลายคนเกิดมีชื่อเสียงในช่วงวิกฤต COVID-19 จึงเป็นเรื่องน่าสังเกต

ผู้ชายจัดการได้แย่จริงหรือ?

แต่อีกประเด็นที่สื่อทั่วโลกไม่มองข้าม คือ ประเทศที่มีผลการดำเนินงานเลวร้ายที่สุดบางประเทศกลับนำโดย “ผู้ชาย” ยกตัวอย่างเบาๆ คือประธานาธิบดี “แจร์ โบลโซนาโร” ของบราซิลที่สื่อแซวว่าได้ถ่ายทอดมุมมองและความเป็นตัวตนที่เรโทรสุดๆ ด้วยการเรียกไวรัสโคโรนาว่า “measly cold” หรือ หวัดธรรมดา พร้อมกับคุยโตว่าเขา “จะไม่รู้สึกอะไรเลย” ถ้าติดเชื้อ

ในอังกฤษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการบันทึกผู้เสียชีวิตมากที่สุดในยุโรป นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ก็เคยมีประวัติแสดงความคิดเห็นแบบหัวเก่าเรื่องผู้หญิง เช่นเดียวกับโบลซานาโร สัญชาตญาณแรกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างจอห์นสันคือพยายามพูดลดความรุนแรงของ COVID-19 ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จบลงด้วยการเปลี่ยนท่าที หลังจากจอห์นสันติดเชื้อ และต้องดูแลรักษาตัวที่หน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก

แม้แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นผู้นำอีกคนที่ถูกมองว่าจัดการกับ COVID-19 ได้ยอดแย่ แถมยังมองข้ามวิกฤตโควิดแบบต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นพิลึกพิลั่น เช่น การบีบให้ “จีนจ่ายเงินชดเชย” โทษฐานเป็นต้นเหตุให้ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลก

หากจะวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จของผู้นำหญิงนั้นสัมพันธ์กับการตอบสนองต่อการระบาดของโรค การตอบสนองที่ดีและเข้าท่ากว่าเหล่านี้อาจมีรากฐานมาจากคุณสมบัติ “ความเป็นผู้หญิง” เช่น ความเห็นอกเห็นใจ และความเต็มใจที่จะร่วมมือกัน ประเด็นนี้สำนักข่าวฟอร์บส์ (Forbes) เรียกการกล่าวคำปราศรัยทางโทรทัศน์ของนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ “เออร์นา ซอว์เบิร์ก” ว่าเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมเรียบง่าย จากแม่เมืองสู่ลูกเมืองที่เกิดขึ้นได้ภายใต้การนำประเทศของผู้หญิง

COVID-19 ยังถูกมองเป็นกระจกที่สะท้อนว่าชายบางคนเป็นผู้นำประเทศที่ไร้ความสามารถและมีแต่คำพูดเยาะเย้ย ตรงกันข้ามกับผู้นำหญิงที่จัดการวิกฤติได้เต็มประสิทธิภาพสูง ปัญหามากมายได้รับการแก้ไข ชี้ขาด ประเมินพยานและหลักฐาน แล้วลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้วยความเด็ดขาด

กรณีของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ พบว่านายกฯ อาร์เดิร์นใช้คติ “go hard and go early” ที่เน้นการทำงานจริงจังและทำให้เร็ว ขั้นแรกอาร์เดิร์นบังคับใช้การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด 4 วันก่อนที่ผู้ป่วย COVID-19 คนแรกของนิวซีแลนด์จะเสียชีวิต ขณะที่ประธานาธิบดีไต้หวัน “ไซ่ อิงเหวิน” ประกาศมาตรการด้านสาธารณสุขมากกว่าร้อยข้อในเดือนมกราคม ทั้งที่ตอนนั้นองค์การอนามัยโลกยังคงเอาแต่สงสัยว่า จะมีความเป็นไปได้ไหมในการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์?

เกี่ยวไหม? นิสัยแบบผู้หญิง

คำพูดว่า “นิสัยแบบผู้หญิง” ไม่ได้อธิบายถึงประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งของผู้นำหญิงในช่วงวิกฤต แต่ที่จะอธิบายได้ดีคือเส้นทางที่ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจขึ้นมา ประเด็นนี้เชื่อมโยงได้กับปรากฏการณ์ “หน้าผาแก้ว” หรือ glass cliff phenomenon ซึ่งมีงานวิจัยมากมายพยายามอธิบายถึงสถานการณ์ขององค์กรที่เริ่มดึงผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำเมื่อต้องจัดการวิกฤติในบริษัท

งานวิจัยเรื่อง glass cliff มีต้นตอมาจากความที่ผู้หญิงมีแนวโน้มได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำช่วงที่บริษัทเริ่มย่ำแย่ ภาวะผู้นำหญิงในสถานการณ์นี้จึงถูกเรียกเป็นหน้าผาแก้วที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และล่อแหลมเพราะง่ายต่อความล้มเหลว การวิจัย glass cliff หลายฉบับ พบว่าก่อนที่จะแต่งตั้งผู้ชายเข้าสู่บอร์ด บริษัทเหล่านี้มักเป็นบริษัทร้อนแรงในตาราง Financial Times Stock 100 Index เพราะราคาหุ้นมีเสถียรภาพ แต่เมื่อมีการเริ่มแต่งตั้งผู้หญิงสักคนเข้ามาในบอร์ดบริหาร บริษัทนั้นก็มักเข้าสู่ช่วงที่ราคาหุ้นบริษัทตกต่ำมาแล้วนานกว่า 5 เดือน

แนวโน้มนี้ไม่ได้หยุดเฉพาะในสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนบริษัท และองค์กรทั่วโลกเริ่มเพิ่มความหลากหลายทางเพศให้บอร์ดบริหารหลังจากเริ่มประสบปัญหาใหญ่ไปแล้วเช่นกัน แม้แต่ในวงการเมืองอังกฤษ “มาร์กาเร็ต แทตเชอร์” ก็กลายเป็นผู้นำของพรรคอนุรักษ์นิยมในยามวิกฤต แม้แต่อาร์เดิร์นก็หนีไม่พ้นกรณีของ glass cliff จนได้โอกาสเป็นผู้นำของพรรคแรงงานของนิวซีแลนด์ในปี 2017 หลังจากหัวหน้าพรรคคนเก่าต้องลาออกเพราะคะแนนนิยมตกต่ำสุดขีด จนอีก 2 เดือนต่อมา อาร์เดิร์นก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดของประเทศในรอบ 150 ปี

ผลการวิจัยพบว่า glass cliff เป็นปรากฏการณ์ที่มักเกิดขึ้นเมื่อองค์กรรู้สึกยอมเสี่ยง และยินดีที่จะท้าทายสถานะ “ไม่มีอะไรจะเสีย” ที่กำลังเป็นอยู่ แต่สิ่งที่พบคือความแตกต่างที่ชัดเจนของการมีผู้หญิงเข้ามาเป็นบอร์ดดูแล นั้นสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสีย เรียกว่าผู้ถือหุ้นจะเบาใจได้ว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น

ด้วยมือของผู้บริหารเลือดใหม่ บนพื้นฐานความคิดแบบ “ผู้หญิง” ที่จะสู้ภาวะวิกฤตได้ดีกว่า!


ที่มา : 

]]>
1280352