โค้งสุดท้ายของมหากาพย์ Brexit สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (EU) ประกาศบรรลุดีลเบื้องต้นก่อนถึงเส้นตายวันที่ 31 ธันวาคมนี้ อ่านสรุป 10 ข้อเนื้อหาสำคัญในข้อตกลงได้ที่นี่
กระบวนการ Brexit หรือการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักรยืดเยื้อมานานถึง 4 ปี นับตั้งแต่การลงประชามติในปี 2016 โดยมีเส้นตายการทำข้อตกลงกับ EU ให้ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 มิฉะนั้น อังกฤษจะต้องออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลง
มีผลกระทบหลายด้านที่จะเกิดขึ้นทั้งกับอังกฤษและ EU หากเกิด ‘No-deal Brexit’ ขึ้นจริง แต่ในที่สุดประชาชนทั้งสองฝั่งได้รับข่าวดีต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส โดยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2020 ทั้ง “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ “เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ต่างประกาศความสำเร็จในการจับมือทำข้อตกลงกันได้ในที่สุด
โดยข้อตกลงเบื้องต้นที่แจ้งต่อสื่อจากรายละเอียดรวมนับพันๆ หน้า สรุปเป็น “10 ข้อสำคัญปิดดีล Brexit” ดังนี้
1) เขตปลอดภาษีทางการค้า และไม่จำกัดโควตาการนำเข้า-ส่งออก
2) สิ้นสุดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่างประชาชนในสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ส่งผลให้ประชาชนชาวอังกฤษไม่สามารถทำงาน เรียนต่อ อยู่อาศัย หรือเริ่มต้นธุรกิจใน EU ได้โดยไม่มีวีซ่า
3) เริ่มการจัดตั้งจุดตรวจชายแดนระหว่าง EU กับอังกฤษ
4) อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการจัดตั้งด่านชายแดนถาวร (hard border) ระหว่างพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือกับประเทศไอร์แลนด์
5) น่านน้ำการประมงของอังกฤษจะค่อยๆ ทยอยกลับคืนสู่อังกฤษ 100% ภายในเวลา 5 ปีครึ่ง โดยจะทยอยลดโควตาเรือประมงของ EU ที่เข้ามาจับปลาในน่านน้ำได้ในแต่ละปี เริ่มปีแรกลดลง 15%
6) ยังคงมีสัญญาต่อกันในการสร้างความร่วมมือ ด้านสิ่งแวดล้อม สู้โลกร้อน และลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงความสนใจที่ตรงกันในด้านอื่นๆ เช่น พลังงาน ความปลอดภัย ขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ตาม มีโครงการหนึ่งที่อังกฤษจะไม่มีส่วนร่วมใน EU อีกต่อไปคือโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน Erasmus
7) สัญญาร่วมกันในการปกป้องสิทธิแรงงานและสังคม
8) รักษามาตรฐานความโปร่งใสด้านภาษี
9) สิทธิแรงงานและผู้โดยสารในธุรกิจขนส่ง
10) โปรแกรมต่อเนื่องที่สหราชอาณาจักรมีร่วมกับ EU จนถึงปี 2027 เช่น โครงการ Horizon Europe จะยังคงได้รับเงินสนับสนุนตามส่วนของสหราชอาณาจักรต่อไป
จอห์นสัน กล่าวถึงดีลในครั้งนี้ว่าเป็น “ดีลที่ดีสำหรับทวีปยุโรปทั้งหมด” และย้ำเตือนถึงแคมเปญ Brexit ในลักษณะชาตินิยมอีกครั้งว่า “เราได้นำสิทธิกำหนดควบคุมกฎหมายและชะตาของเราเองกลับคืนมาอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 เราจะอยู่นอกสหภาพ นอกตลาดเดียว กฎหมายของอังกฤษจะอยู่ในมือรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น ถูกตีความโดยผู้พิพากษาอังกฤษ ในศาลของอังกฤษ และการตัดสินใจของศาลแห่งสหภาพยุโรปจะถึงจุดสิ้นสุด”
- อังกฤษเล็งเปิด “ท่าเรือปลอดภาษี” 10 แห่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง Brexit
- ย้อนอ่าน >> สรุปไทม์ไลน์ “Brexit” มหากาพย์ 3 ปีแห่งความปั่นป่วนก่อน UK พ้นสมาชิกสภาพ
ด้าน ฟอน เดอร์ เลเยน แถลงเช่นกันว่า EU ได้เซ็นดีลที่สมดุลและยุติธรรม แต่ให้สัญญาณว่า EU ได้เปรียบกว่าในดีลครั้งนี้
“อย่างที่เราทราบกันดี หากว่ามีการออกจาก EU แบบ Hard Brexit จะไม่ส่งผลดีกับทั้งสองฝ่าย แต่จะส่งผลกระทบที่หนักกว่ากับสหราชอาณาจักร เพราะเรามีประชากรถึง 450 ล้านคนใน EU ดังนั้น จากความแข็งแกร่งของเราทำให้เราบรรลุดีลที่ครอบคลุมที่สุดที่เราเคยได้มา” ฟอน เดอร์ เลเยนกล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าหนักใจอย่างต่อไปคือการนำข้อตกลงมาประกาศเป็นกฎหมาย ฝั่งสหราชอาณาจักรจะมีการประชุมสภาในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ โดยพรรคฝ่ายค้านแสดงท่าทีแล้วว่าพรรคจะโหวตผ่านดีลข้อตกลงทางการค้า แต่ฝั่ง EU นั้นมีแนวโน้มที่จะเซ็นกฎหมายไม่ทันก่อนปีใหม่ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 มีความเป็นไปได้ที่บริษัทต่างๆ จะเตรียมตัวไม่ทันรับฐานภาษีที่พุ่งสูงขึ้นชั่วคราว