เศรษฐกิจ “จีน” ส่อแววเกิดวิกฤต “เงินฝืด” สัญญาณเตือนภัยกระทบชิ่งเศรษฐกิจโลก

Photo : Shutterstock
ตรงข้ามกับเศรษฐกิจส่วนอื่นของโลก “จีน” กำลังส่อแววภาวะวิกฤต “เงินฝืด” ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และด้วยขนาดที่ใหญ่ของเศรษฐกิจจีน ภาวะนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน

ตั้งแต่รัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการโควิด-19 ต้องเป็นศูนย์ไปเมื่อสิ้นปีก่อน ปีนี้จีนยังไม่ได้กลับมาเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตามคาด เพราะเกิดปัญหาค่าเงินหยวนตกต่ำ และภาคการผลิตอุตสาหกรรมเร่งผลผลิตไม่ได้ตามเป้า

ล่าสุดเศรษฐกิจจีนยังส่งสัญญาณลบเพิ่มอีกเรื่องหนึ่งคือภาวะ “เงินฝืด” หลังจากมีรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนยังคงทรงตัวในเดือนมิถุนายน โดยมีการเติบโตเพียง 0.4% ต่อปี

“ราคาสินค้ายังคงเดิม” ถ้ามองเผินๆ อาจจะดูเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้บริโภค แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ดีในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะนั่นหมายถึงขนาดเศรษฐกิจจะไม่เติบโต

นักเศรษฐศาสตร์มักจะเสนอทฤษฎีว่า เศรษฐกิจที่มีภาวะเงินเฟ้อต่ำๆ จะเป็นเศรษฐกิจที่สุขภาพดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา มักจะตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ต่อปี

ภาวะเงินเฟ้อมากเกินไปจะทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงจนผู้บริโภคเดือดร้อน (ดังที่โลกตะวันตกเผชิญในปีนี้) แต่ภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อที่ต่ำมากๆ จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

Photo : Shutterstock

Gary Jefferson ศาสตราจารย์ด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศ Brandeis University กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าไม่ปรับขึ้นหรือบางครั้งถึงขนาดปรับลงไม่ใช่เรื่องดี เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้จะทำให้ผู้บริโภคไม่ใช้จ่ายทันที แต่จะรอด้วยความหวังว่าสินค้าจะปรับราคาลงอีกในอนาคต โดยเฉพาะสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน รถยนต์

เมื่อผู้บริโภคหยุดใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้ผู้ผลิตยิ่งพยายามลดราคาเพื่อกระตุ้นให้ซื้อ กำไรยิ่งน้อยลง และเริ่มลดการจ้างงาน เมื่อประชาชนตกงานมากขึ้นก็ยิ่งทำให้กำลังซื้อลดลงอีก กลายเป็นวัฏจักรที่แก้ไขได้ยาก

ภาวะเงินฝืดเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ “ญี่ปุ่น” ซึ่งต้องรับมือกับภาวะนี้นานถึง 2 ทศวรรษในช่วง 1990s-2000s จนถูกเรียกว่าเป็น ทศวรรษที่สูญหาย

ในกรณีของจีนนั้น ธนาคารกลางแห่งประเทศจีนมองภัยเงินฝืดเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรง และเริ่มรับมือไปแล้วด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย แต่ถ้าหากมาตรการนี้ก็ยังไม่ได้ผล อนาคตข้างหน้าของจีนน่าจะปวดหัวเป็นแน่

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่จีนประเทศเดียวที่จะต้องกุมขมับ เพราะเศรษฐกิจจีนนั้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จีนคือเป็นประเทศผู้ส่งออกหลัก และเป็นแหล่งผู้บริโภคของสินค้าหลายๆ ชนิด หลายแบรนด์ฝั่งตะวันตกเรียกได้ว่าพึ่งพิงลูกค้าจีนเป็นหลัก เช่น Apple, Nike ทำให้ถ้าหากเศรษฐกิจจีนมีปัญหา โลกก็จะมีปัญหาไปด้วย

ศาสตราจารย์ Jefferson มองว่า หากจีนเกิดภาวะเงินฝืดจะเป็นเหมือน “ดาบสองคม” แก่ประเทศอื่นๆ ในโลก เพราะผลกระทบในแง่บวกคือ ราคาสินค้าส่งออกจากจีนจะถูกลงหรือราคาค่อนข้างเสถียร แต่ในแง่ลบคือ กำลังซื้อชาวจีนจะลดลง ทำให้ประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนจะเผชิญผลลบไปด้วยกัน

ที่มา: Business Insider, VOA