รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 18 Oct 2023 11:29:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “โค้ก” เปลี่ยนมาใช้ “พลาสติกรีไซเคิล” (rPET) ผลิตขวด ประเดิมในกลุ่ม “1 ลิตร” วางจำหน่ายทั่วไทย https://positioningmag.com/1448518 Wed, 18 Oct 2023 09:11:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1448518 ตั้งแต่วันนี้ “โค้ก” ขวดพลาสติกขนาด 1 ลิตร จะเปลี่ยนมาใช้ขวด “rPET” หรือขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ทั้งหมด (*ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเฉพาะส่วนตัวขวด ไม่รวมฝาและฉลาก) วางจำหน่ายทั่วประเทศ

“ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศ ‘ก้าวแรก’ ของโคคา-โคล่าในไทยที่เปลี่ยนมาใช้ขวดทำจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET ในบางไลน์ผลิตภัณฑ์

โดยก้าวแรกนี้จะเปลี่ยนมาใช้ขวด rPET ในไลน์ผลิตภัณฑ์ “โค้ก” รสออริจินอลและรสไม่มีน้ำตาล เฉพาะสินค้าขนาด “1 ลิตร” ก่อน แต่เป็นการเปลี่ยนทั้งไลน์การผลิตของขวด 1 ลิตร และส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ

rPET โค้ก
“โค้ก” ขวด 1 ลิตร ที่เปลี่ยนมาใช้ขวดผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล

ศรุตขอสงวนข้อมูลด้านจำนวนการจำหน่ายโค้กขวด 1 ลิตรในแต่ละปี และบอกกว้างๆ ว่าเหตุที่เลือกเริ่มต้นใช้ rPET ในกลุ่ม 1 ลิตรก่อน มาจากการพิจารณา ‘หลายด้าน’ ประกอบกัน

อย่างไรก็ตาม เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าขวด 1 ลิตรไม่ใช่ขนาดสินค้าที่ขายดีที่สุดของโค้ก การเลือกผลิตในกลุ่มนี้ก่อนจึงเป็นเหมือนการทดลองตลาดของโคคา-โคล่า เพราะต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังมีหลายคนไม่มั่นใจในขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลแบบผ่านการใช้งาน (post-consumer) มาแล้ว ด้วยความกังวลว่าขวดอาจไม่สะอาด ทำให้โคคา-โคล่าอาจจะต้องการเปลี่ยนในไลน์สินค้าที่มีจำนวนน้อยกว่าก่อน

สำหรับการเปลี่ยนมาใช้งานขวด rPET ของโคคา-โคล่า ภาพรวมทั่วโลกมีการใช้งานจริงไปแล้วถึง 40 ประเทศ ส่วนในอาเซียนนั้นไทยถือเป็นประเทศที่ 4 ต่อจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมา ที่มีการใช้งานขวดจากพลาสติกรีไซเคิล

การเปลี่ยนมาใช้ขวดจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลนั้นดีต่อโลกมากกว่าเพราะได้นำพลาสติกเก่ากลับมาใช้ใหม่ แต่ด้านต้นทุนนั้นยังสูงอยู่ โดยทีมงานโคคา-โคล่าแจ้งเป็นภาพกว้างๆ ว่า ต้นทุนการผลิตขวดด้วยเม็ดพลาสติกรีไซเคิลนั้นแพงกว่าพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) อย่างน้อย 10%

แต่ในอนาคต หากมีการใช้งานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลกันสูงขึ้น มีโรงงานผลิตได้จำนวนมากขึ้น โอกาสที่ต้นทุนจะลดลงมาเท่ากับเม็ดพลาสติกใหม่ก็เป็นไปได้ เพราะเป็นไปตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย

 

“โค้ก” ผนึกพันธมิตร “เอ็นวิคโค”

ด้านซัพพลายการผลิตขวด rPET ของโคคา-โคล่า มาจากโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลรายแรกของไทยอย่าง บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (*บริษัทในกลุ่ม PTTGC)

“ณัฐนันท์ ศิริรักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ชี้แจงถึงวิธีการแปรรูปขวด PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลว่า เริ่มจากการรับขวดพลาสติกที่ทำความสะอาดแล้วมาตัดเป็นเกล็ด แล้วผ่านกระบวนการแปลงกลับเป็นเม็ดพลาสติกโดยใช้ความร้อนสูงถึง 200 องศาเซลเซียส จากนั้นเอ็นวิคโคจึงส่งเม็ดพลาสติกรีไซเคิลให้ลูกค้าไปขึ้นรูปเป็นขวดอีกครั้ง

ณัฐนันท์กล่าวว่า ด้วยความร้อนที่สูงขนาดนี้ตั้งแต่ขั้นตอนการแปลงกลับเป็นเม็ดพลาสติก ทำให้เชื้อโรคและสิ่งเจือปนต่างๆ ถูกกำจัดออกหมด ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ถึงความสะอาด

“ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด และ “ณัฐนันท์ ศิริรักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด

ทั้งนี้ ณัฐนันท์ระบุว่า ปัจจุบันโรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประเทศไทยมีเพียง 3 แห่งเท่านั้น โดยเอ็นวิคโคเป็นรายใหญ่ที่สุด มีกำลังการผลิต 30,000 ตันต่อปี ขณะนี้เดินเครื่องที่อัตรา 70-80% ของกำลังการผลิตสูงสุด มีลูกค้าสั่งเม็ดพลาสติกรีไซเคิลแบ่งเป็นในประเทศ 50% และต่างประเทศ 50%

 

โจทย์ใหญ่: ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ “rPET”

ในตลาดเครื่องดื่มปัจจุบัน การที่ขวด rPET จะประสบความสำเร็จได้ ทางโคคา-โคล่ามองว่าการทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการผลิตขวด rPET ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัจจุบันผู้บริโภคทั่วไปมักจะเข้าใจว่า การนำขวดพลาสติกใช้แล้วกลับมารีไซเคิลหมายถึงการนำขวดเดิมมาล้างทำความสะอาดแล้วเติมเครื่องดื่มเข้าไปใหม่ทันที ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความจริงอย่างมาก

โคคา-โคล่าจึงต้องมีแคมเปญสร้างความเข้าใจถึงขวด rPET และรณรงค์เรื่องการรีไซเคิล ดึงซัพพลายขวด PET ใช้แล้วจากผู้บริโภคกลับมาเข้ามาในวงจรรีไซเคิล

โค้ก rPET
“ขวดโค้กยักษ์” ในอีเวนต์ชั้น G ดิเอ็มควอเทียร์

โดยบริษัทมีการจับมือกับ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เปิดแคมเปญ “โค้ก คิดเพื่อโลก” จัดอีเวนต์วาง “ขวดโค้กยักษ์” ที่ชั้น G ดิเอ็มควอเทียร์ จัดนิทรรศการสร้างความเข้าใจเรื่องการผลิตขวด rPET พร้อมกับวางจุดรับคืนขวด PET แบบไม่จำกัดแบรนด์เพื่อนำมารีไซเคิล ผู้ร่วมคืนขวดจะได้ลุ้นรับสิทธิเป็นผู้โชคดี 30 คนที่ได้กระทบไหล่ “พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” ในมินิคอนเสิร์ต (*จะมีแคมเปญเดียวกันนี้อีกแห่งหนึ่งที่ “สยามเซ็นเตอร์” ด้วย)

รวมถึงโคคา-โคล่ายังมีแคมเปญกับ “Trash Lucky” สตาร์ทอัปด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อนหน้านี้ด้วย ภายใต้แคมเปญ “โค้กชวนแยก แลกลุ้นโชค” ซึ่งทาง Trash Lucky มีการวางจุดรับขวด PET ตามห้างฯ และปั๊มน้ำมัน 64 จุดทั่ว กทม. และ 5 จุดในจ.ภูเก็ต ผู้ที่สนใจสามารถหย่อนขวด PET ใช้แล้วได้ทุกแบรนด์ และรับโค้ดไปลุ้นของรางวัลมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท รางวัลใหญ่ที่สุดแจกรถยนต์ไฟฟ้า Neta V แคมเปญเปิดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2566

นิทรรศการสร้างความเข้าใจด้านกระบวนการผลิตขวด rPET

ด้านการขยายไปใช้ rPET ในไลน์สินค้าชนิดอื่น “ศรุต” กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยแผนได้อย่างชัดเจนและขอรอดูผลตอบรับจากลูกค้าก่อน แต่จะต้องมีการผลักดันอย่างแน่นอนเพราะเป็นนโยบายจากบริษัทแม่ โดยโคคา-โคล่าระดับโลกมีเป้าที่จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลให้ได้ 50% ของสินค้าทั้งหมด ภายในปี ค.ศ.2030

สำหรับการใช้งานขวด rPET ในไทย “โค้ก” ไม่ใช่รายแรก เพราะปี 2566 นี้มีหลายแบรนด์ที่ประกาศการใช้งานออกมาก่อนแล้ว เช่น  “เป๊ปซี่” ที่เริ่มใช้ในไลน์ผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่สูตรปกติและสูตรไม่มีน้ำตาลขนาด 550 มล. และ “มิเนเร่” น้ำแร่จากเครือเนสท์เล่ ที่เริ่มใช้ในไลน์ขวดขนาด 750 มล.

]]>
1448518
KitKat ออสเตรเลีย จะเปลี่ยนมาใช้ซองทำจาก “พลาสติกรีไซเคิล” นำร่องขนมอื่น ๆ ของ Nestle https://positioningmag.com/1387903 Mon, 06 Jun 2022 11:46:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387903 Nestle ผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ KitKat ในออสเตรเลียให้ผลิตจาก “พลาสติกรีไซเคิล” 30% ของตัวแพ็กเกจจิ้ง โดยจะเป็นการนำร่องสำหรับขนมแบรนด์อื่นๆ ในเครือ

บริษัท Nestle ประกาศนโยบายนี้เพื่อต้อนรับ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” วันที่ 5 มิถุนายน 2022 โดยขนมช็อกโกแลต KitKat ขนาด 45 กรัมมีการจำหน่ายในออสเตรเลียถึงปีละ 40 ล้านชิ้น และบริษัทเตรียมเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ผสมพลาสติกรีไซเคิลตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป พร้อมกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ

การปรับมาใช้พลาสติกรีไซเคิลของขนม KitKat จะทำให้บริษัทลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ 250,000 ตารางเมตร เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 200 สระรวมกัน

มาร์กาเร็ต สจ๊วต ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและความยั่งยืน Nestle Oceania กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทต้องการจะลดการใช้พลาสติกใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2025 รวมถึงมีเป้าให้พลาสติกทำแพ็กเกจจิ้งเหล่านี้สามารถรีไซเคิลหรือนำไปใช้ใหม่ได้ทั้งหมด

“เราหวังว่าห่อบรรจุภัณฑ์นี้จะไม่เพียงแต่ลดการใช้พลาสติกใหม่ แต่ยังหวังว่าจะเป็นเครื่องเตือนใจว่าการวนกลับมาใช้ใหม่ของพลาสติกประเภทอ่อนนั้นทำได้ รวมถึงความสำคัญของการรีไซเคิลแพ็กเกจจิ้งของคุณด้วย” สจ๊วตกล่าว

“เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้นก็จริง แต่เราอยากจะเห็นอนาคตที่ออสเตรเลียสามารถนำขยะพลาสติกอ่อนมาเปลี่ยนกลับเป็นแพ็กเกจจิ้งอาหารที่เป็นพลาสติกอ่อนได้อีก”

KitKat พลาสติกรีไซเคิล
ด้านหลังซองขนม KitKat ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 30%

เธอยังกล่าวด้วยว่า การที่บริษัทใหญ่อย่าง Nestle จัดซื้อและใช้พลาสติกรีไซเคิล จะทำให้มีบริษัทจำนวนมากขึ้นลงทุนผลิตวัตถุดิบแพ็กเกจจิ้งประเภทนี้ และนำไปสู่การรีไซเคิลมากขึ้น

ในกรณีพลาสติกอ่อนตัวนั้น การนำมารีไซเคิลยังไม่แพร่หลาย และเทคโนโลยีเพื่อจะนำมันมารีไซเคิลหรือใช้ใหม่ก็ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก

“เราต้องตามหาไปทั่วเพื่อจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ แต่เราก็ได้ส่งข้อความออกไปด้วยว่ามันเป็นเรื่องสำคัญในการจัดเก็บและรีไซเคิลพลาสติกอ่อน เพราะเรารู้ว่าผู้บริโภคจะต้องการสินค้าที่ยั่งยืน” สจ๊วตกล่าว

“การจะใช้วัสดุรีไซเคิล 100% นั้นเป็นไปได้แต่ยังทำไม่ได้ในตอนนี้ แต่เราเองจะเดินต่อในการใช้พลาสติกรีไซเคิลในซองบรรจุภัณฑ์สินค้าของเราทั้งหมด” โดยบริษัท Nestle จะศึกษาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่มีว่าสามารถพัฒนากับสินค้าไหนได้บ้างอย่างเหมาะสม

คริส โอดอนเนล ผู้จัดการทั่วไปแผนกขนมและของหวาน กล่าวว่า การเปลี่ยนวัสดุซองห่อขนมจะไม่มีผลต่อสินค้า KitKat จะยังคงสดใหม่และกรอบเหมือนปกติ

“ขณะที่ทุกคนเคยชินกับขวดพลาสติกที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลแล้ว พลาสติกอ่อนที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลแบบนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการ” โอดอนเนลกล่าว

“คำมั่นของเราต่อการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของเราต่อความยั่งยืน ประเด็นอื่นของเรา เช่น การสนับสนุนฟาร์มและชุมชนผลิตโกโก้ รวมถึงการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2025”

ในออสเตรเลียนั้นมีเครือข่ายองค์กรที่เรียกว่า REDcycle ซึ่งผนึกกำลังกับร้านค้ารีเทลในการตั้งถังรับพลาสติกอ่อน เช่น ซองห่อไอศกรีมแท่ง ซองขนม ถุงขนมปังแถว บับเบิ้ลกันกระแทก ถุงใส่ของสด ฯลฯ เพื่อนำไปรีไซเคิล โดยองค์กรนี้จะรณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันนำพลาสติกอ่อนมาคืน และติดต่อให้บริษัท/ราชการนำพลาสติกอ่อนไปรีไซเคิลใช้งาน

Source

]]>
1387903
McDonald’s อังกฤษทดลองระบบ “แก้วใช้ซ้ำ” คืนแก้วได้คืนเงินมัดจำ แก้ปัญหาขยะล้นโลก https://positioningmag.com/1296708 Sat, 12 Sep 2020 08:42:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1296708 McDonald’s ประเทศอังกฤษ กำลังวางแผนทดสอบระบบ “แก้วใช้ซ้ำ” ร่วมกับบริษัท Loop โดยลูกค้าวางเงินมัดจำค่าแก้วก่อน และจะได้คืนเมื่อคืนแก้วภายในร้าน หรือถ้าสั่งกลับบ้าน สามารถนำแก้วไปคืนที่จุดรับคืนอื่นๆ ได้ ช่วยแก้ปัญหาขยะล้นโลก และสะดวกกับลูกค้ามากกว่าการรณรงค์ให้พกแก้วไปเอง

ถ้าคุณมีโอกาสได้แวะร้าน McDonald’s ที่ประเทศอังกฤษช่วงต้นปีหน้า คุณอาจสังเกตเห็นทางเลือกใหม่ในการสั่งเครื่องดื่มร้อนอย่างกาแฟหรือช็อกโกแลตร้อน แทนที่จะใส่แก้วกระดาษใช้แล้วทิ้งอย่างเคย ร้านจะให้แก้วพลาสติกและฝาปิดแก้วแบบใช้ซ้ำได้แทน โดยแก้วรูปแบบนี้สามารถนำกลับมาล้าง ฆ่าเชื้อ และนำกลับเข้าระบบของร้านสำหรับเสิร์ฟลูกค้ารายต่อไปได้

McDonald’s เป็นเชนร้านอาหารเจ้าแรกที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท Loop เพื่อสร้างระบบภาชนะใช้ซ้ำขึ้นมา บริษัท Loop นั้นเป็นผู้นำในระบบบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเคยร่วมเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ดังผู้ผลิตแชมพูและไอศกรีม สร้างเครือข่ายให้ผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์กลับมาคืน แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่บริษัททำงานกับเชนร้านอาหาร ซึ่งบริบทการใช้และคืนบรรจุภัณฑ์อาจจะแตกต่างออกไป

ในประเทศอังกฤษ สาขาส่วนใหญ่ของ McDonald’s ใช้แก้วกระดาษที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าการใช้ซ้ำแก้วเดิมย่อมมีผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเข้ากระบวนการรีไซเคิลทันที

ตัวอย่างแก้วใช้ซ้ำ (Reuse) ของ McDonald’s อังกฤษ

ระบบใหม่นี้จะให้ลูกค้ามัดจำเงินค่าแก้วใช้ซ้ำไว้ก่อน หากนั่งทานในร้านเสร็จแล้วสามารถคืนแก้วที่จุดรับคืนของ Loop ในร้านและได้รับเงินมัดจำคืนทันที หรือถ้าลูกค้าสั่งกลับบ้าน (take away) สามารถเก็บแก้วมาคืนทีหลังได้ หรือจะคืนที่จุดรับคืนอื่นๆ ของ Loop ก็ได้ นอกจากในร้าน McDonald’s แล้ว ยังมีจุดรับที่ซูเปอร์มาร์เก็ต Tesco ด้วย

หลังจากได้คืนแก้วแล้ว Loop จะเป็นผู้นำไปทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และบรรจุหีบห่อกลับมาที่ร้านใหม่อีกครั้ง (ถ้าหากลูกค้าหาจุดรับคืนไม่เจอ ตัวแก้วเองสามารถรีไซเคิลได้)

“ทอม ซากี้” ซีอีโอ Loop มองว่า การทำระบบคืนแก้วแบบนี้สะดวกกับลูกค้ามากกว่าการต้องพกแก้วส่วนตัวไปทุกที่ “กุญแจสำคัญคือเราจะทำอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าการใช้ซ้ำ (reuse) นั้นใช้ได้จริงกับธุรกิจที่มุ่งเน้นเรื่องความสะดวกสบายของลูกค้า ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นกับการสร้างความสะดวกให้กับการทิ้ง แต่ยังทำให้สิ่งนั้นกลับมาใช้ซ้ำได้อยู่”

 

ถ้าระบบ ‘เวิร์ก’ อาจจะขยายไปใช้กับเมนูอื่นต่อ

การทดสอบระบบใหม่กับแก้วกาแฟครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของ McDonald’s เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดรายนี้เคยทดลองระบบแก้วใช้ซ้ำในเยอรมนีมาแล้ว แต่ระบบนั้นคือการให้ส่วนลดกับลูกค้าที่นำแก้วมาเอง และเสิร์ฟเครื่องดื่มในแก้วกระเบื้องเมื่อลูกค้าต้องการทานในร้าน ซึ่งเป็นระบบแบบเดียวกับร้านอาหารฟูลเซอร์วิสทั้งหลายทำกัน แต่สำหรับเชนฟาสต์ฟู้ดที่ลูกค้าจำนวนมากซื้ออาหารกลับบ้าน วิธีนี้จึงไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่

“เรากำลังใช้โครงการนำร่องนี้เพื่อทดสอบ และเพื่อพิจารณาว่าโมเดลการใช้ซ้ำจะใช้ได้จริงกับระบบของเราได้อย่างไร ทั้งในมุมมองของการบริหารร้าน และมุมมองของลูกค้า” เจนนี่ แมคคอลล็อค รองประธานฝ่ายความยั่งยืนระดับโลก McDonald’s Corporation กล่าว

“โครงการนี้จะเหมือนกับเวลาที่เราทดลองลงเมนูใหม่ เราต้องเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแฟรนไชส์ของเรา ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับตั้งแต่การสั่งออร์เดอร์ การสัมผัสกับแก้วและเครื่องดื่มในแก้ว จนถึงการคืนแก้ว โดยเรามีแบบประเมินประสิทธิภาพของสิ่งเหล่านี้รอไว้แล้ว โครงการจะทดลองหลายๆ รูปแบบ เช่น ต้องมีเงินมัดจำจูงใจเท่าไหร่ถึงจะกระตุ้นให้ลูกค้านำแก้วมาคืน แก้วจะถูกใช้ซ้ำกี่ครั้งก่อนที่จะหายเข้าไปสู่การรีไซเคิล แม้ว่างานดีไซน์จะออกแบบมาให้แก้วใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 100 ครั้งก็ตาม” แมคคอลล็อคอธิบาย

มีความเป็นไปได้ที่ระบบนี้จะถูกนำไปใช้กับบรรจุภัณฑ์อย่างอื่นในร้านด้วย “ถ้าหากใช้ได้จริงกับแก้วเครื่องดื่มร้อน มันอาจจะขยายไปใช้กับน้ำอัดลม หรือแมคเฟลอร์รี่ด้วยก็ได้” ซากี้กล่าว “จากนั้นก็อาจจะขยายไปถึงแพ็กเกจจิ้งที่ใช้ใส่แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟราย นักเก็ตไก่ ไปจนถึงพายแอปเปิล”

ซากี้ยังหวังด้วยว่า ระบบนี้อาจจะขยายไปสู่เชนร้านอาหารอื่นๆ “ความงามของเครือข่ายของเราคือ ยิ่งมีผู้เล่นในตลาดเข้ามาใช้งานมากเท่าไหร่ เครือข่ายของจุดรับคืนก็จะยิ่งมากและสะดวกขึ้นเท่านั้น”

McDonald’s เองก็หวังว่าร้านอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันจะช่วยกันทำให้ระบบนี้ก้าวหน้า “สิ่งหนึ่งที่เราเห็นบ่อยๆ ในการสร้างความยั่งยืนคือ ยิ่งมีผู้มีส่วนร่วมที่หลากหลายและมุมมองจากส่วนต่างๆ ของสังคมจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะยิ่งง่ายขึ้นในการสร้างความก้าวหน้า ในกรณีโครงการนี้คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโซลูชันเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะไปอยู่ในธรรมชาติ” แมคคอลล็อคกล่าว

Source

]]>
1296708
ไม่ธรรมดา เมื่อ Evian – Coke – McDonald’s พร้อมใจประกาศเป้ารีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ 100% https://positioningmag.com/1154057 Mon, 22 Jan 2018 00:15:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1154057 ถ้าไม่นัดก็ต้องถือว่าเป็นเทรนด์แรงไม่ธรรมดา เมื่อ Coca-Cola ประกาศว่าต้องการเก็บและรีไซเคิลขวดและกระป๋อง Coke ทั้งหมด 100% ภายในปี 2030 คำประกาศนี้เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์เดียวหลังจากยักษ์ใหญ่ฟาสต์ฟู้ด McDonald’s ระบุว่าบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท เช่น ถุง หลอด ถ้วย กระดาษ จะมาจากการรีไซเคิลหรือวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปี 2025

การที่แบรนด์ใหญ่ประกาศในทางเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมายนี้ แสดงว่านี่คือแนวโน้มที่จะมีผลต่อตลาดอื่นทั่วโลกในอนาคต กรณีของ Coca-Cola เจ้าพ่อเครื่องดื่มน้ำดำต้องการช่วยเก็บและรีไซเคิลขวดรวมถึงกระป๋อง Coke ทุกชิ้นที่จำหน่ายภายในปี 2030 เนื่องจาก CEO James Quincey มองว่า Coke มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาบรรจุภัณฑ์ของโลก

หาก Coca-Cola สามารถทำได้ตามเป้า เรื่องการเก็บและรีไซเคิลขวดและกระป๋องน้ำทุกชิ้นที่บริษัทจำหน่ายในอีก 12 ปีข้างหน้า แปลว่าภายในปี 2030 ขวดและกระป๋อง Coke ทั้งหมดทั่วโลกจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้แบบ 100% ซึ่งในช่วงระหว่างนี้ บริษัทหวังว่าขวด Coke จะใช้วัสดุรีไซเคิลราว 50% โดยเฉลี่ย

นอกจากนี้ Coke ยังพยายามสร้างขวดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นการพัฒนาเรซินจากพืช และการลดปริมาณพลาสติกที่ใช้

การประกาศครั้งนี้ถือเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภค ที่เริ่มเรียกร้องให้บริษัทอาหารเครื่องดื่มดำเนินการแก้ปัญหาขยะอย่างจริงจังและยั่งยืน Coke และบริษัทเครื่องดื่มอื่นจึงไม่สามารถอยู่นิ่ง เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงในฐานะต้นเหตุของปัญหาจากภาชนะบรรจุที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

ก่อนหน้า Coke แบรนด์น้ำแร่ Evian ในเครือ Danone และ PepsiCo ก็ประกาศพันธกิจที่คล้ายกันเพื่อยกระดับการรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย Danone กล่าวว่าน้ำแร่ Evian จะผลิตขวดพลาสติกทั้งหมดจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ภายในปี 2025 ขณะที่ PepsiCo ตั้งเป้าหมายในปีที่แล้ว ว่า 100% ของบรรจุภัณฑ์ Pepsi จะสามารถนำไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปี 2025 โดยจะร่วมมือกับพันธมิตร ผลักดันให้อัตราการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นจริงจัง

สำหรับ McDonald’s เชนฟาสต์ฟู้ดตั้งเป้าหมายว่าจะใช้กล่อง ถุง กระดาษ ถ้วย และหลอดที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นภายในปี 2025 ยกระดับจากปัจจุบันที่ใช้วัสดุทดแทนในอัตราครึ่งหนึ่งเท่านั้น 

ประเด็นของ McDonald’s นั้นพิเศษขึ้นอีกนิด เพราะ McDonald’s ประกาศว่าต้องการให้ร้านอาหาร 100% ทั่วโลกรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อย่างเต็มที่ ถือเป็นภารกิจท้าทายเมื่อเทียบว่ามีเพียง 10% ของร้าน McDonald’s เท่านั้นที่มีกระบวนการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในร้านขณะนี้

ถามว่าทำไมแบรนด์กลุ่มนี้ต้องยืดช่วงปี 2025-2030 เป็นหลักไมล์เพื่อยกระดับรีไซเคิล คำตอบคือข้อจำกัดเรื่องอินฟราสตรักเจอร์ กฎระเบียบ และพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกที่ต่างกัน ทำให้บางพื้นที่ต้องใช้เวลากว่าแบรนด์จะสามารถทำงานจนบรรลุเป้าหมายได้ เรื่องนี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ Coke ตั้งเป้าล่าช้ากว่าคนอื่น 5 ปี

นอกจากนี้ วันนี้ความต้องการพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลยังได้รับผลกระทบจากราคานำเข้าที่เพิ่มขึ้น จากการที่จีนสั่งห้ามนำเข้าวัสดุรีไซเคิล บวกกับราคาน้ำมันที่ต่ำ ทำให้ต้นทุนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกใหม่มีราคาถูกกว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร McDonald’s ยอมรับว่าพันธกิจรีไซเคิลนี้ถือเป็นคำขออันดับหนึ่งของลูกค้า ที่ต้องการให้แบรนด์ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลง และมีความรับผิดชอบรวมถึงดูแลบรรจุภัณฑ์เหล่านี้หลังจากใช้งาน โดยในสหราชอาณาจักร วันนี้ร้านค้าไม่มีการใช้กล่องโฟมแล้ว และร้านอาหารกว่า 1,000 แห่งมีถังรีไซเคิลสำหรับพลาสติกและถ้วยกระดาษให้บริการ

ทั้งหมดทั้งมวล Coke เผยว่าวางแผนที่จะลงทุนเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิล เพราะหลายตลาดยังมีช่องว่าง ผู้บริโภคทุกคนไม่รู้ว่าอะไรสามารถ และไม่สามารถรีไซเคิลได้ จุดนี้ CEO ของ Coke อย่าง James Quincey กล่าวว่าผู้บริโภคต้องการและคาดหวังให้บริษัทดำเนินการเรื่องรีไซเคิลได้ ทำให้ Coke ลงมือทำและขอเชิญให้แบรนด์อื่นมามีส่วนร่วมกับการเดินทางที่สำคัญนี้.

ที่มา :

]]>
1154057