สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 27 May 2024 12:21:06 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘จีน’ เตรียมเปิดกองทุนมูลค่า 3.44 แสนล้านหยวน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ หลังโดนสหรัฐฯ ปิดกั้นหนัก https://positioningmag.com/1475269 Mon, 27 May 2024 10:18:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1475269 หลังจากที่โดน สหรัฐอเมริกา กีดกันไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยี ชิป หรือ เซมิคอนดักเตอร์ ทำให้ล่าสุด จีน ก็เตรียมเปิดกองทุนใหม่ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลจีน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศจีน

จีน ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐตามแผนครั้งที่สาม เพื่อ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยทุนจดทะเบียน 3.44 แสนล้านหยวน (ราว 1.77 ล้านล้านบาท) เพื่อการรันตีว่าจีนจะสามารถผลิตชิปได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ

กองทุนดังกล่าวถือเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐฯ กำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกหลายชุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างถึงความกังวลว่าจีนอาจใช้ชิปขั้นสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการทหาร และจากมาตรการดังกล่าวทำให้หุ้นชิปของจีนเพิ่มขึ้น โดยดัชนี CES CN Semiconductor พุ่งขึ้นมากกว่า +3%

สำหรับกองทุนเพื่อการลงทุนอุตสาหกรรมวงจรรวมของจีนระยะที่ 3 ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม และจดทะเบียนภายใต้สำนักงานบริหารเทศบาลนครปักกิ่งเพื่อการควบคุมตลาด โดย กระทรวงการคลังของจีนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 17% และมีทุนชำระแล้ว 6 หมื่นล้านหยวน ตามข้อมูลของ Tianyancha บริษัทฐานข้อมูล ตามด้วยบริษัท China Development Bank Capital เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับสองด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 10.5%

นอกจากนี้ มีหน่วยงานอื่น ๆ อีก 17 แห่งที่จดทะเบียนเป็นนักลงทุน ซึ่งรวมถึงธนาคารจีนรายใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ Industrial and Commercial Bank of China, China Construction Bank, Agricultural Bank of China, Bank of China และ Bank of Communications โดยแต่ละแห่งมีสัดส่วนประมาณ 6% ของเงินทุนทั้งหมด

กองทุนระยะแรกก่อตั้งขึ้นในปี 2557 ด้วยทุนจดทะเบียน 138.7 พันล้านหยวน และระยะที่สองตามมาในปี 2562 ด้วยทุนจดทะเบียน 2.04 แสนล้านหยวน ส่วนกองทุนระยะสามแห่งนี้ ถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดที่ก่อตั้งโดยกองทุนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมวงจรรวมของจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ บิ๊กฟันด์ (Big Fund)

โดย Big Fund ได้จัดหาเงินทุนให้กับโรงหล่อชิปรายใหญ่ที่สุดของจีนสองแห่ง ได้แก่ Semiconductor Manufacturing International Corporation และ Hua Hong Semiconductor รวมถึง Yangtze Memory Technologies ผู้ผลิตหน่วยความจำแฟลช รวมถึงบริษัทและกองทุนขนาดเล็กอีกหลายแห่ง และปัจจุบัน กองทุนกำลังพิจารณาจ้างสถาบันอย่างน้อย 2 แห่งเพื่อลงทุน

Source

]]>
1475269
‘ไมโครซอฟท์’ ขอให้พนักงานในจีนอย่างน้อย 100 คน ย้ายไปทำประเทศอื่น เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ https://positioningmag.com/1474209 Fri, 17 May 2024 13:59:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1474209 ดูเหมือนว่าความตึงเครียดระหว่าง สหรัฐฯ กับ จีน จะยังไม่มีทีท่าจะเบาบางลง โดยเฉพาะในส่วนของ สงครามเทคโนโลยี ล่าสุด ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ได้ขอให้พนักงานอย่างน้อย 100 คนในจีนพิจารณาย้ายไปประเทศอื่น ตามรายงานของสื่อทางการจีน

Wall Street Journal รายงานว่า ไมโครซอฟท์ ขอให้พนักงานบริษัทในจีนที่ทำงานเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติ้งและเอไอ พิจารณาย้ายไปทำงานในประเทศอื่น โดยมีตัวเลือกอย่างสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และไอร์แลนด์ โดยคาดว่าวิศวกรสัญชาติจีนในแผนกดังกล่าวมีจำนวนมากถึง 800 คน 

โดย Wall Street Journal ได้อ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อว่า ฝ่ายบริหารของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลัง เตรียมจำกัดไม่ให้บริษัทจีนเข้าถึงบริการคลาวด์ของสหรัฐฯ โดยกำลังพิจารณาออกกฎหมาย ให้บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา ต้องได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ก่อนให้ลูกค้าในประเทศจีนสามารถใช้งานหรือเข้าถึงเทคโนโลยีเอไอได้ ดังนั้น คาดว่าไมโครซอฟท์จึงยื่นข้อเสนอดังกล่าวเพื่อ บริหารความเสี่ยง 

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ไม่ได้ระบุถึงจำนวนพนักงานที่บริษัทเสนอให้ย้าย และระบุว่าการให้โอกาสภายในเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายโอนภายในที่ทำเป็นประจำขององค์กรตามปกติ แต่จากแหล่งข่าวของ Yicai สื่อการเงินของรัฐจีนเขียนว่า มีพนักงานมากกว่า 100 คนได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์เข้าสู่ประเทศจีนในปี 1992 โดยมีห้องปฏิบัติการวิจัย Microsoft Research Lab Asia ในกรุงปักกิ่ง 

สงครามเทคโนโลยีระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองทวีความรุนแรงขึ้นมานานหลายปี โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้จำกัดประเภทของเซมิคอนดักเตอร์ที่บริษัทอเมริกันสามารถขายให้กับจีนได้ และรายงานดังกล่าวมีขึ้น

ในสัปดาห์เดียวกับที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีนมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกหลายประเภท โดยไบเดน กล่าวว่า เขาพยายามป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากจีนที่ทำลายอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ

Source

]]>
1474209
Apple จะลดการพึ่งพาซัพพลายเชน “จีน” …ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจต้องใช้เวลา 8 ปีเพื่อย้ายฐานผลิต https://positioningmag.com/1402837 Mon, 03 Oct 2022 05:26:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1402837 หากเป็นอุตสาหกรรมอย่างเสื้อผ้าหรือของเล่น การจะลดซัพพลายเชนใน “จีน” และย้ายฐานไปประเทศอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีการลงทุนในจีนมามากกว่า 2 ทศวรรษ ลงเงินไปหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การจะถอนตัวออกมาจึง “ไม่ง่าย” โดย Bloomberg Intelligence ประเมินว่า กว่าที่ Apple จะย้ายกำลังผลิตออกจากจีนได้สัก 10% ของการผลิตทั้งหมด ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี

บริษัทอเมริกันมีหลายเหตุผลให้ย้ายฐานผลิตออกจากจีน ตั้งแต่การตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันมาตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนถึงนโยบายล็อกดาวน์ Zero-Covid ของจีน และยังมีความกดดันทางการเมืองระหว่างกันเพราะเกาะไต้หวันเพิ่มเข้ามาอีก

แต่การจะเลิกคบค้าสมาคมกันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

Apple Inc. กำลังพยายามจะลดการพึ่งพิงจีน โดยเริ่มขั้นแรกไปแล้วด้วยการย้ายการผลิต iPhone 14 บางส่วนไปผลิตในอินเดีย รวมถึงซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของ Apple อย่าง Foxconn Technology Group ก็ตกลงที่จะขยายฐานการผลิตมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 11,000 ล้านบาท) ในเวียดนามแล้ว

อย่างไรก็ตาม Bloomberg Intelligence (BI) รายงานบทวิเคราะห์ว่า กว่าที่ Apple จะย้ายกำลังผลิตออกจากจีนได้สัก 10% ของการผลิตทั้งหมด ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี โดยปัจจุบัน 98% ของ iPhone ถูกผลิตขึ้นในจีน

Photo : Shutterstock

ความพร้อมของซัพพลายเออร์ท้องถิ่น การขนส่งทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและโทรคมนาคมที่พร้อมสรรพ ซัพพลายเชนที่เลียนแบบได้ยากเหล่านี้ ร่วมกับการลงทุนลงแรงของบริษัทเทคฯ อเมริกันมานานกว่า 2 ทศวรรษกับเม็ดเงินหลายหมื่นล้านเหรียญ ทำให้การก้าวขาออกจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกไม่ใช่เรื่องง่าย

มีหลายบริษัทอเมริกันที่เข้าไปลงทุนสร้างฐานผลิตในจีน เช่น Amazon, HP, Microsoft, Cisco Systems หรือ Dell แต่บริษัทที่ลงทุนมากที่สุดก็หนีไม่พ้น Apple ทำให้เป็นบริษัทที่ลดการผลิตในจีนได้ยากที่สุด

สำหรับบริษัทอื่นๆ “กรณีส่วนใหญ่” นั้น BI คาดว่าจะสามารถลดการผลิตในจีนลงได้ 20-40% ภายในปี 2030

 

สหรัฐฯ ผลักดันเต็มที่ให้ย้ายฐานออกจากจีน

แน่นอนว่าเหตุไม่คาดฝันอย่างการคว่ำบาตรซึ่งกันและกันระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก กลายเป็นเหตุย้ำเตือน “ความเสี่ยง” ที่จะเกิดขึ้นหากบริษัทใดทุ่มลงทุนไปกับแหล่งเศรษฐกิจเพียงแห่งเดียว

ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ยังสานต่อแนวทางการทำสงครามเย็นทางเศรษฐกิจกับจีน โดยมีแนวนโยบายส่งเสริมให้บริษัทอเมริกัน ‘friend-shoring’ คือ ถ้าไม่ย้ายฐานผลิตกลับบ้านเกิดที่สหรัฐฯ ก็ขอให้ย้ายไปอยู่ในประเทศที่เป็นมิตรทางการเมือง โดยใช้ทั้งแรงจูงใจทางภาษีและเงินสนับสนุนจากรัฐให้ย้ายฐาน และกดดันด้วยกำแพงภาษี โควตาการส่งออก-นำเข้ากับจีน นโยบายนี้จึงยิ่งเป็นแรงหนุนให้บริษัทอเมริกันย้ายออกจากจีน

(Photo by Chip Somodevilla/Getty Images)

แรงหนุนเหล่านี้ยังไม่เกิดผลจริงในทันที เม็ดเงินของบริษัทอเมริกันที่ลงทุนโดยตรงในจีนสะสมอยู่ที่ 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นปี 2020 และแม้จะพูดกันเรื่องกระจายความเสี่ยง ไม่ลงซัพพลายเชนหลักไว้ในประเทศเดียว แต่ในปี 2021 บริษัทอเมริกันก็ยังลงทุนโดยตรงในจีนอีก 2,500 ล้านเหรียญ (ประมาณ 95,000 ล้านบาท) ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์แห่งประเทศจีน ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงอาจจะสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะบางธุรกิจอาจจะใช้วิธีลงทุนผ่านทางบริษัทในฮ่องกงเพื่อเลี่ยงภาษี

อีกทั้งมิตรของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้ตอบรับขันแข็งกับนโยบาย ‘friend-shoring’ พันธมิตรหลักอย่างสิงคโปร์ถึงกับเตือนรัฐบาลไบเดนว่า การแยกให้จีนไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกผันผวนได้ และทำให้การเติบโต ความร่วมมือภายในภูมิภาคลดลง ทำให้ประเทศต่างๆ แตกแยกกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของภาคเอกชนต่อการลงทุนในจีนก็เริ่มลดลงแล้ว โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ US-China Business Council มีการสำรวจพบว่า ปัจจัยลบหลักๆ ที่ทำให้เอกชนลดความสนใจที่จะลงทุนในจีนต่อในอนาคต มาจากนโยบายล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ของจีนซึ่งรวมถึงการจำกัดการเดินทางช่วงโควิด-19 ด้วย ตามด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แย่ลง และความกังวลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์-ดาต้า

การสำรวจครั้งนี้พบด้วยว่า เกือบ 1 ใน 4 ของบริษัทที่สำรวจเริ่มย้ายฐานซัพพลายเชนบางส่วนออกจากจีนในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นการย้ายแบบ “จีน+1” คือการผลิตหลักก็ยังคงอยู่ในจีน เพียงแต่เพิ่มกำลังเสริมในประเทศเขตเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย

Source

]]>
1402837
ผู้บริหาร TikTok ในสหรัฐฯ แห่ลาออก การแยกบริษัทไม่มีผล “จีน” ยังควบคุมการตัดสินใจทั้งหมด https://positioningmag.com/1401670 Mon, 26 Sep 2022 04:21:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1401670 ผู้บริหารอาวุโสของ TikTok สหรัฐฯ ทยอยลาออกไปอย่างน้อย 5 คนในรอบ 2 ปี หลังจากพบว่าตนเอง “ไม่มีอำนาจตัดสินใจ” ฝ่ายบริหาร ByteDance จาก “จีน” ยังคงควบคุมการดำเนินงานทั้งหมด สะท้อนภาพว่าการที่สหรัฐฯ พยายามบังคับให้แอปฯ นี้แยกการบริหารเด็ดขาดจากจีนนั้นไม่มีผลจริง

สำนักข่าว Forbes สหรัฐฯ รายงานพิเศษสัมภาษณ์แหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตน 3 ราย โดยพวกเขา/เธอเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงใน TikTok สหรัฐฯ แต่ลาออกมาเพราะพบว่า ByteDance บริษัทแม่ในจีนยังคงควบคุมทิศทางการทำงานทุกอย่าง วิธีบริหารนี้เกิดขึ้นกับทุกแผนก จนทำให้ผู้บริหารอาวุโสพากันลาออก เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินใจใดๆ

“พวกเขาแค่ต้องการเบี้ยตัวหนึ่ง หรือคนที่ตอบ ‘ได้ครับ/ค่ะ’ อยู่ตลอด เขาแค่อยากได้คนเดินเอกสาร แค่ฟันเฟืองตัวหนึ่งในระบบ ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวผม/ฉันเลย” หนึ่งในอดีตระดับหัวหน้าที่ TikTok สหรัฐฯ กล่าว

ทำไมการลาออกของผู้บริหาร TikTok สหรัฐฯ จึงสำคัญ? ย้อนกลับไปในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยมีคำขู่จะ “แบน” แอปพลิเคชัน TikTok ออกจากตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากเกรงว่าแอปฯ นี้จะเป็นภัยความมั่นคง มีการส่งข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าอเมริกันกลับไปที่จีน

ทำให้ในปี 2019 บริษัทต้องออกมาชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกันไว้ในประเทศจีน

บริษัทยังเริ่มเปิดโปรเจกต์ Project Texas มีวัตถุประสงค์เพื่อจะแยกการดำเนินงานของ TikTok สหรัฐฯ ออกจากบริษัทแม่ ByteDance ที่จีน เพื่อจะทำให้รัฐสภาของสหรัฐฯ มั่นใจว่ารัฐบาลจีนไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของคนอเมริกัน

ByteDance
ก่อนหน้านี้บริษัทแม่ที่จีนทำเหมือนกับให้ TikTok สหรัฐฯ ได้บริหารแยกเป็นอิสระแล้ว แต่มาพบในภายหลังว่า ByteDance ยังคงควบคุมเบ็ดเสร็จ (Photo: Shutterstock)

แต่สุดท้ายความก็แตกในช่วงต้นปี 2022 เมื่อสำนักข่าว BuzzFeed News ออกรายงานว่า แม้ว่าสถานที่เก็บข้อมูลของ TikTok สหรัฐฯ จะไม่อยู่ในจีน แต่พนักงาน ByteDance จากจีนก็เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้อเมริกันได้อยู่ดีและมีการเข้าถึงเป็นประจำด้วย ข้อมูลนี้ต่อมาได้รับการยืนยันเป็นจดหมายจากตัวบริษัทส่งถึงวุฒิสภา

รวมถึงพนักงานคนในของบริษัทก็ยืนยันตรงกันว่า แม้ภายนอก TikTok จะทำเหมือนลดความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ที่จีน แต่จริงๆ แล้วภายในก็ยังบริหารเสมือนเป็นบริษัทเดียวกันด้วยซ้ำ

ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน 2021 พนักงานตรวจสอบภายในจาก ByteDance ยังเคยให้คำแนะนำกับทีมงานที่สหรัฐฯ ว่า ควรจะสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างทีมอเมริกันกับจีน เพราะอย่างไรทางจีนก็เป็นผู้ควบคุมเครื่องมือในการทำงานของ TikTok สหรัฐฯ อยู่ดี หากไม่มีความร่วมมือกัน การทำงานให้สำเร็จก็จะยากขึ้น

 

สหรัฐฯ กลับมาเข้มกับการควบคุม TikTok

หลังจากรายงานดังกล่าว สหรัฐฯ มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2022 คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (FCC) กลับมาร้องขอให้ Apple และ Google ลบแอปฯ TikTok ออกจากแอปสโตร์อีกครั้ง

หน่วยงานสืบสวนของวุฒิสภาเริ่มเปิดการสืบสวนว่า TikTok บิดเบือนข้อมูลที่ให้แก่รัฐสภาสหรัฐฯ หรือไม่ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ออกคำสั่งผู้บริหารให้คณะกรรมการกำกับการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐฯ ดูแลความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์และการเก็บข้อมูลคนอเมริกันของ TikTok ให้รัดกุมยิ่งขึ้น

สมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกัน 5 รายยังเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายที่จะทำให้การที่พนักงาน TikTok จากจีนเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้อเมริกันได้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมถึงจะแบนการดาวน์โหลดแอปฯ นี้ลงบนอุปกรณ์ใดๆ ของรัฐบาล

ดัสตี้ จอห์นสัน ส.ส.จากรัฐเซาท์ดาโกตา หนึ่งในคนที่เสนอกฎหมายดังกล่าว หวังว่า หากรัฐบาลแบนการใช้ TikTok บนเครื่องมือของรัฐ น่าจะทำให้คนอเมริกันตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด

การที่ผู้บริหารระดับอาวุโส TikTok สหรัฐฯ พากันลาออกเพราะ “ไม่มีอำนาจตัดสินใจ” จึงสะท้อนว่า ความพยายามที่จะแยกการบริหารออกจากกัน ไม่ให้จีนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการที่ดำเนินอยู่ในสหรัฐฯ นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ได้ผล

Source

]]>
1401670
Foxconn ย้ายสายผลิต iPad-MacBook จากจีนมาเวียดนาม ลดเสี่ยงสงครามการค้า https://positioningmag.com/1307902 Fri, 27 Nov 2020 06:50:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307902 ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) กำลังย้ายสายประกอบ iPad และ MacBook จากจีนไปยังเวียดนามตามคำร้องของ Apple Inc. หลังบริษัทของสหรัฐฯ พยายามกระจายการผลิตเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

การพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะพ้นวาระ สนับสนุนให้กิจการของสหรัฐฯ ย้ายการผลิตออกจากประเทศจีน และในระหว่างการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ สหรัฐฯ ได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในจีนสูงขึ้น และจำกัดการจัดส่งส่วนประกอบที่ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีสหรัฐฯ ให้แก่บริษัทจีน โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง

ผู้ผลิตไต้หวัน ที่ระมัดระวังไม่ให้ตกอยู่ในสงครามการค้าดังกล่าว ได้ย้ายหรือกำลังพิจารณาที่จะย้ายการผลิตบางส่วนจากจีนไปยังประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม เม็กซิโก และอินเดีย

ฟ็อกซ์คอนน์กำลังสร้างสายการประกอบสำหรับแท็บเล็ต ไอแพด และแล็ปท็อปแม็คบุ๊ก ที่โรงงานของบริษัทใน จ.บั๊กซยาง (Bac Giang) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม ที่จะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564

“ความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปตามคำร้องของแอปเปิล”

ฟ็อกซ์คอนน์ระบุในคำแถลงว่า “ตามนโยบายของบริษัท และด้วยเหตุผลเรื่องความอ่อนไหวทางการค้า เราจะไม่แสดงความคิดเห็นในแง่มุมใดๆ เกี่ยวกับงานของเราสำหรับลูกค้าหรือผลิตภัณฑ์ของพวกเขา” ขณะเดียวกันบริษัทแอปเปิลก็ไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอความเห็นแต่อย่างใด

เมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ย. ฟ็อกซ์คอนน์ได้ประกาศการลงทุนมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์ เพื่อตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ชื่อ FuKang Technology Co Ltd ความเคลื่อนไหวที่บุคคลนิรนามกล่าวว่ามีเป้าหมายที่จะสนัสนุนการขยายกิจการในเวียดนาม

ผู้ผลิตจากไต้หวันรายนี้ยังมีแผนที่จะผลิตโทรทัศน์ที่โรงงานเวียดนามสำหรับลูกค้ารายต่างๆ ซึ่งรวมถึงบริษัทโซนี่ (Sony Corp) ของญี่ปุ่น ที่มีกำหนดเริ่มการผลิตในปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 แต่โซนี่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

โรงงานในเวียดนามจะยังใช้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อีก เช่น คีย์บอร์ด

การย้ายการผลิตไอแพดมาเวียดนามครั้งนี้จะทำให้ฟ็อกซ์คอนน์ประกอบอุปกรณ์ชิ้นนี้นอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก

Source

]]>
1307902
‘หัวเว่ย’ อาจถูก ‘เสียวหมี่’ แซงขึ้นเบอร์ 2 ของโลก หากไม่มี ‘ออเนอร์’ https://positioningmag.com/1306536 Wed, 18 Nov 2020 06:37:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306536 จากจุดเริ่มต้นในปี 2019 ที่ ‘หัวเว่ย (Huawei)’ ได้ถูก ‘สหรัฐอเมริกา’ ติด Entity list ทำให้สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยไม่สามารถใช้งาน Google และระบบปฏิบัติการ Android ได้ โดยอ้างว่ามีความกังวลเรื่องความมั่นคง แม้หัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ตาม จนมาในปี 2020 ก็ได้แบนไม่ให้เข้าถึง ‘ชิป’ ที่จำเป็นต่อการผลิตสมาร์ทโฟนอีก และดูเหมือนว่าหัวเว่ยเองจะเริ่มทนพิษบาดแผลไม่ไหวจนต้องตัดใจขาย ‘ออเนอร์ (Honor)’ แบรนด์ลูกที่เน้นทำตลาดในกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาประหยัดทิ้ง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ออกแถลงการณ์ว่าได้ ‘ขาย’ แบรนด์ ‘ออเนอร์’ ให้กับกลุ่มตัวแทนจำหน่ายและดีลเลอร์จำนวนกว่า 30 ราย โดยหัวเว่ยจะไม่ถือหุ้นในออเนอร์อีกต่อไป และกลุ่มผู้ซื้อจะทำการจัดตั้งบริษัทแห่งใหม่ชื่อว่า Shenzhen Zhixin New Information Technology อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยไม่ได้เปิดเผยถึงมูลค่าการซื้อขาย แต่มีการประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.5 แสนล้านบาท

Nicole Peng นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยตลาด Canalys กล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้บริหารของหัวเว่ยได้กล่าวในการประชุมว่า บริษัทอยู่ใน “สถานการณ์ที่ยากลำบาก” และ “การอยู่รอดคือเป้าหมาย” และเมื่อหัวเว่ยมีทรัพยากรที่จำกัด ดังนั้น การขายออเนอร์เพื่อลดใช้ทรัพยากรเพื่อมุ่งเน้นไปที่สมาร์ทโฟนเรือธงของหัวเว่ยเองจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก

การอยู่รอดหมายความว่าพวกเขาต้องแน่ใจว่ามีส่วนประกอบเพียงพอที่จะมีความต่อเนื่องทางธุรกิจเป็นระยะเวลานานขึ้น และการขายออเนอร์จะทำให้หน่วยสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยได้มีพื้นที่หายใจ อย่างน้อยตอนนี้ก็สามารถเก็บรักษาทรัยากรไว้สำหรับรุ่นเรือธงได้”

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อหัวเว่ยจะคลี่คลายลงเมื่อ Joe Biden เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีที่คนใหม่ แต่ไม่มีการรับประกันว่าฝ่ายบริหารของ Biden จะยกเลิกข้อจำกัดของหัวเว่ยหรือไม่

อนาคตและแนวโน้มของหัวเว่ยยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ดังนั้นพวกเขาจึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่พวกเขามี และสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขามีคือ สมาร์ทโฟนรุ่นระดับไฮเอนด์” Wil Wong นักวิเคราะห์จากบริษัท วิจัยตลาด IDC กล่าว

โทรศัพท์รุ่นเรือธงของหัวเว่ย เช่น P Series และ Mate Series มีราคาขายได้สูงกว่า 4,500 หยวน (20,700 บาท) และ 6,400 หยวน (29,000 บาท) ตามลำดับ ขณะที่ออเนอร์ที่จับตลาดกลางมีราคาถูกกว่ามาก โดย 10X Series ล่าสุดเริ่มต้นที่ประมาณ 2,100 หยวน (9,600 บาท) และรุ่น Play ที่จับตลาดระดับล่างขายเพียง 1,200 หยวน (5,500 บาท)

“การให้ความสำคัญกับรุ่นเรือธงจะช่วยให้หัวเว่ยรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ระดับไฮเอนด์ และยังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย” Wong กล่าว

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียออเนอร์จะติดอันดับในตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกของหัวเว่ยได้รับผลกระทบในทางลบ จากที่เมื่อต้นปีหัวเว่ยเคยขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนโลกในช่วงสั้น ๆ แซงหน้า ‘ซัมซุง (Samsung)’ ที่มียอดขายตกลงในช่วง COVID-19 โดยความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากแบรนด์ออเนอร์ เนื่องจากในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาแบรนด์ราคาประหยัดมีสัดส่วนระหว่าง 25% – 29% ของการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั้งหมดของหัวเว่ย ซึ่งออเนอร์คิดเป็น 20% – 40% ของยอดขายทั้งหมดของหัวเว่ย

Photo : Shutterstock

อย่างในไตรมาสที่สองของปีนี้ที่หัวเว่ยขึ้นเป็นเบอร์ 1 แบรนด์ออเนอร์สามารถทำรายได้มากกว่า 1 ใน 4 ของยอดขายสมาร์ทโฟนทั้งหมดของหัวเว่ย ดังนั้น หากไม่มียอดจากออเนอร์ที่ขายได้ประมาณ 15 ล้านเครื่อง หัวเว่ยจะไม่ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้นำ ซึ่งปัจจุบัน ซัมซุงครองตำแหน่งเบอร์ 1 ในไตรมาสสามของตลาดสมาร์ทโฟนโลก ตามมาด้วยหัวเว่ย และ ‘เสียวหมี่ (Xiaomi)’ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีสมาร์ทโฟนออเนอร์ มีความเป็นไปได้ที่หัวเว่ยจะหล่นไปเป็นอันดับ 3 ตามหลังเสียวหมี่

Source

]]>
1306536
คนจีนยังรักชาติแรง! เทศกาล “วันคนโสด” งดซื้อแบรนด์อเมริกัน แบรนด์ยุโรปโดนหางเลข https://positioningmag.com/1303493 Wed, 28 Oct 2020 10:54:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303493 เทศกาลช้อปปิ้ง “วันคนโสด” ปี 2020 ชาวจีน 57% ตั้งใจจะเลี่ยงซื้อแบรนด์อเมริกัน โดยตัวเลขนี้ลดลงมากจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม 39% จะเลี่ยงซื้อแบรนด์ยุโรป ต่างจากปีก่อนที่ชาวจีนยังซื้อสินค้ายุโรปตามปกติ จุดโฟกัสปีนี้คือ “สินค้าลักชัวรี” เพราะคนจีนที่ไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ มีแนวโน้มจะซื้อสินค้ากลุ่มนี้สูงขึ้น

เลือดรักชาติของคนจีนยังแรงอยู่ โดยบริษัท AlixPartners จัดสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคจีน 2,029 คน ก่อนถึง เทศกาลวันคนโสด 11.11 เทศกาลลดราคาช้อปปิ้งออนไลน์ครั้งใหญ่ โดยพบความคิดเห็นที่น่าสนใจดังนี้

  • 66% จะเลือกแบรนด์จีนมากกว่าแบรนด์ต่างชาติ
  • 57% จะลดการซื้อสินค้าแบรนด์อเมริกัน
  • 39% จะลดการซื้อสินค้าแบรนด์ยุโรป
  • 62% ระบุสาเหตุที่เลือกแบรนด์จีนมากกว่าเพราะประเด็น “ชาตินิยม”

เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเดียวกันเมื่อปี 2019 ปีก่อนนั้นชาวจีนถึง 78% ตอบว่าจะเลี่ยงการซื้อสินค้าแบรนด์อเมริกัน สะท้อนให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านอเมริกันในปีนี้ลดลงจากปีก่อน ส่วนแบรนด์ยุโรปเป็นในทางตรงข้าม จากปีก่อนชาวจีนยังคงสนใจแบรนด์ยุโรป ปีนี้กลับมีชาวจีนที่จะเลี่ยงการซื้อถึง 39%

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการเลือกซื้อของคนจีนก็ยังเลือกแบรนด์จีนมากกว่าเหมือนเดิม และเป็นเพราะ “ชาตินิยม” เหมือนกับปีก่อน

ในแง่ของกำลังซื้อ ปีนี้ 39% ของชาวจีนที่สำรวจตอบว่าจะใช้จ่ายมากขึ้นในวันคนโสด ขณะที่มี 15% ที่จะใช้จ่ายน้อยลงเทียบปีก่อน เนื่องจากภาวะโรคระบาด COVID-19 ทำให้กังวลในการใช้จ่าย

“ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สินค้าอเมริกันเคยได้รับความสนใจอย่างสูง” เดวิด การ์ฟิลด์ กรรมการผู้จัดการ AlixPartners กล่าว “แต่ผู้บริโภคจีนเริ่มรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าพวกเขาสามารถได้คุณสมบัติสินค้าอย่างเดียวกันในแบรนด์อื่นได้ สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่เหนือไปกว่าเรื่องภูมิรัฐศาสตร์หรือผลกระทบจากสงครามการค้า”

Nike เป็นแบรนด์อเมริกันที่บูมมากในจีน เมื่อปี 2018 Nike รายงานยอดขายในจีนเติบโตถึง 21% เทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าจับตาของเทศกาล 11.11 ปีนี้คือ “สินค้าลักชัวรี” เพราะตั้งแต่มีการปิดพรมแดนทั่วโลก ชาวจีนไม่สามารถบินออกไปเที่ยวและจับจ่ายสินค้าลักชัวรีนอกประเทศได้ ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าลักชัวรีไปแล้ว โดยกินส่วนแบ่งตลาดถึง 43% รองลงมาคือญี่ปุ่น 30%

ไม่เพียงแต่สินค้าลักชัวรีแบรนด์ตะวันตก แต่การ์ฟิลด์กล่าวว่า แบรนด์ลักชัวรีจีนเองก็พัฒนามากจนต้องจับตามอง โดยยกระดับการทำตลาดให้หรูหราได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ปีนี้ผู้ที่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงน่าจะเป็นแบรนด์หรูอเมริกันที่พึ่งพิงชาวจีนมากในระยะหลัง เช่น Tiffany’s

สำหรับยอดใช้จ่ายเฉพาะของชาวจีนในเทศกาล 11.11 วันคนโสด ทำยอดขายไปมากกว่า 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ต้องมาลุ้นกันว่าปีนี้แรงซื้อของคนจีนจะยังไม่ตกหรือเปล่า ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก

Source

]]>
1303493
Huawei กุมขมับ “ชิป” ผลิตสมาร์ทโฟนไม่พอ ปีหน้าอาจปิดตำนาน Kirin ในมือถือ https://positioningmag.com/1298399 Wed, 23 Sep 2020 10:37:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298399 Huawei เครียด “ชิป” ผลิตอุปกรณ์ในโครงข่ายโทรคมนาคมยังมีพอ แต่ที่ใช้สำหรับผลิตสมาร์ทโฟนส่อแววไม่พอ หลังจากสิ้นปีนี้ไป อาจไม่ได้ใช้ชิประดับสูงอย่าง Kirin อีกแล้ว หลังสหรัฐฯ กีดกันไม่ให้ Qualcomm ผู้ผลิตชิปทำการค้าด้วย นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบ Harmony OS แทนในมือถือ Huawei ทุกรุ่น

Huawei Technologies ยักษ์เทคโนโลยีจีน และเหยื่อรายใหญ่รายแรกในสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เปิดเผยว่าบริษัทมีซัพพลายชิปเพียงพอสำหรับธุรกิจอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคม แต่ไม่เพียงพอสำหรับผลิตโทรศัพท์มือถือ และต้องการจะซื้อซัพพลายใหม่จากบริษัทสหรัฐฯ ทั้งนี้ จะต้องได้รับ “ใบอนุญาต” จากเจ้าหน้าที่รัฐสหรัฐฯ ก่อน ตามกฎหมายใหม่ที่ออกมาเมื่อปี 2019

ความเดิมตอนที่แล้วคือเมื่อปี 2019 สหรัฐฯ มีการออกบัญชีดำที่เรียกว่า Entity List ห้ามมิให้บริษัทอเมริกันทำการค้ากับบริษัทที่อยู่ในรายชื่อ และ Huawei เป็นหนึ่งในบริษัทเหล่านั้น โดยที่ Huawei ยังต้องพึ่งพาส่วนประกอบและซอฟต์แวร์จากสหรัฐฯ อยู่ ที่สำคัญที่สุดคือ “ชิป” จากบริษัท Qualcomm กับ TSMC และระบบปฏิบัติการ Android

บริษัทกล่าวว่า ยังคงมีการประเมินอยู่ว่าผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จะส่งผลแค่ไหน หลังจากได้รับซัพพลายชิปลอตสุดท้ายเข้ามาเติมสต็อกในเดือนกันยายน

“สต็อกชิปเซ็ตสำหรับใช้กับธุรกิจเอนเตอร์ไพรซ์ (หมวดสินค้าที่เกี่ยวกับโครงข่ายโทรคมนาคม) นั้นมีเพียงพอ แต่บริษัทยังมองหาทางแก้ปัญหาชิปเซ็ตสำหรับใช้กับสมาร์ทโฟนอยู่ เนื่องจาก Huawei มีดีมานด์การใช้ชิปเซ็ตในสมาร์ทโฟนหลายร้อยล้านชิ้นทุกปี” Guo Ping กล่าวบนเวที Huawei Connect 2020 งานอีเวนต์ประจำปีของบริษัท

“ชิปเซ็ตของ Qualcomm จะยังใช้กับสมาร์ทโฟนของเรา ถ้าหากพวกเขาได้ใบอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ Qualcomm เป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจที่ส่งซัพพลายชิปเซ็ตให้เรามานานมากกว่า 1 ทศวรรษ” Ping กล่าว

การบังคับใช้กฎหมาย “แบน” Huawei ออกจากสารบบการค้าของบริษัทเทคฯ อเมริกันเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้บริษัท Qualcomm และ TSMC ผลิตและส่งชิปให้ไม่ได้ นอกเสียจากจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ และการรับรองอนุญาตก็ดูเหมือนจะไม่มีความแน่นอนแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ของ Huawei จะย้ำเสมอว่าบริษัทมีการสต็อกซัพพลายชิปเซ็ตเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม Richard Yu ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ (หมวดสินค้าที่เกี่ยวกับผู้บริโภครายย่อย) ของ Huawei กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เป็น “ความสูญเสียครั้งใหญ่” และบริษัทอาจจะไม่สามารถออกจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่ใช้เทคโนโลยีชิประดับไฮเอนด์ Kirin ได้หลังจากหมดสิ้นปีนี้

ฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่า โอกาสที่สหรัฐฯ จะยอมอนุญาตให้ Qualcomm กลับมาส่งชิปให้ Huawei ได้ก็ริบหรี่ “จากความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่พยายามกีดกันไม่ให้ Huawei พัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีระดับสูง เช่น 5G ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะยกเลิกการแบนเรื่องชิปโทรศัพท์มือถือในระยะเวลาอันสั้นก็มีน้อยมาก” Arisa Liu นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมผลิตชิปจาก Taiwan Institute of Economic Research กล่าว

ด้านปัญหาซอฟต์แวร์ Huawei กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า บริษัทกำลังเตรียมตัวปรับระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนทั้งหมดของค่ายมาใช้ Harmony OS ซึ่งเป็นระบบของบริษัทเอง แทนที่ระบบ Android ที่บริษัทเคยใช้มาตลอด

ธุรกิจสมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจกลุ่มคอนซูเมอร์ของ Huawei ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสัดส่วนใหญ่ที่สุดในบริษัท ธุรกิจกลุ่มนี้สร้างรายได้ 3.65 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกปี 2020 และสมาร์ทโฟน Huawei สามารถเอาชนะ Samsung แซงขึ้นเป็นเบอร์ 1 ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในโลกเรียบร้อยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยคว้าส่วนแบ่งตลาดไป 19% ส่วน Samsung มีส่วนแบ่งตลาด 17%

หลังจาก Huawei เป็นเหยื่อรายแรกในสงครามเทคโนโลยีของจีน-สหรัฐฯ บริษัทอื่นๆ ก็ถูกโจมตีตามมาอีกเป็นพรวน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท AI อย่าง Megvii และ SenseTime หรือกลุ่มแอปพลิเคชันดัง เช่น TikTok, WeChat ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกันคือ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” เพราะมีการส่งข้อมูลชาวอเมริกันกลับไปให้รัฐบาลจีน โดยที่บริษัทเทคโนโลยีจีนทั้งหมดในลิสต์ถูกแบนต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นเสียงเดียวกัน

Source

]]>
1298399
Oracle ปาดหน้า Microsoft ปิดดีล “เป็นพาร์ตเนอร์” TikTok สหรัฐฯ จีนส่อกันท่าไม่ให้ขาย https://positioningmag.com/1296811 Mon, 14 Sep 2020 10:09:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1296811 TikTok และ Oracle จะร่วมเป็น “พาร์ตเนอร์” ทางธุรกิจกันในสหรัฐฯ ดีลที่เกิดขึ้นหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ขีดเส้นตายให้ ByteDance ขายกิจการ TikTok สหรัฐฯ โดยดีลครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะแบบแซงโค้งเหนือคู่แข่ง Microsoft ที่ออกตัวแรง หมายมั่นจะปิดการซื้อขายให้สำเร็จมาหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ดีลยังมีสิทธิล่มเพราะรัฐบาลจีนออกท่ากีดกันไม่ให้การขายเกิดขึ้น

สำนักข่าว CNN รายงานข้อมูลอ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดกับดีลซื้อขายกิจการว่า Oracle คือบริษัทผู้กำชัยชนะในสงครามแย่งชิงแอปพลิเคชันวิดีโอสั้นยอดฮิต TikTok ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าลักษณะดีลจะเป็นอย่างไร แต่แหล่งข่าวระบุว่าดีลจะไม่ใช่การขายหุ้นออกโดยสมบูรณ์

ข่าวนี้แพร่สะพัดไม่นานหลังจากบริษัท Microsoft ประกาศเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมาว่า ByteDance จะ “ไม่ขาย” TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับบริษัท แม้ว่า Microsoft มีความพยายามที่จะเข้าซื้อกิจการมานานหลายสัปดาห์ และเป็นบริษัทเดียวที่ออกแถลงอย่างเป็นทางการว่าบริษัทมีความสนใจเข้าซื้อจริง พร้อมจับมือ Walmart ยักษ์ธุรกิจค้าปลีก ที่จะเข้ามามีเอี่ยวในดีลนี้ด้วย แต่สุดท้ายดีลก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ต่างมองว่า Microsoft ซึ่งเป็นตัวเก็งในดีลซื้อกิจการ กำลังมีโอกาสครั้งสำคัญในการ “ทำรัฐประหาร” ในโลกโซเชียลมีเดีย ผ่านการยึดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่โตเร็วที่สุดอย่าง TikTok

 

เป้าหมายคือการเก็บข้อมูลคนอเมริกันต้องโปร่งใส

เนื่องจากการบีบให้ ByteDance ขาย TikTok มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ป้องกันข้อมูลชาวอเมริกันรั่วไหลไปถึงรัฐบาลจีน ทำให้การขายกิจการครั้งนี้ถูกจับตามองว่าจะมีลักษณะอย่างไร และจะสอดคล้องกับคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือไม่

ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ มีดีลที่สามารถเทียบเคียงได้เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งคือ เมื่อปี 2013 บริษัท SoftBank จากญี่ปุ่นจะเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 78% ในบริษัท Sprint บริษัทด้านโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ทั้งสองบริษัทต้องทำสัญญาที่มีเงื่อนไขหลายอย่างเกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงของชาติ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และกระทรวงยุติธรรม ต้องมีอำนาจในการตรวจสอบและสั่งยกเลิกการเลือกใช้อุปกรณ์บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้

เจมส์ ลูอิส รองประธานอาวุโส Center for Strategic and International Studies และเคยเป็น
ที่ปรึกษาให้กับดีลระหว่าง SoftBank กับ Sprint ให้ความเห็นว่า ดีลครั้งนี้อาจจะบรรจุข้อกำหนดเข้าไปด้วยว่าจะจำกัดไม่ให้ ByteDance เข้าถึงข้อมูลใดบ้าง หรืออาจจะมีการกำหนดหน่วยงานหรือบุคคลชาวอเมริกันให้ร่วมอยู่ในบอร์ดบริหารบริษัท

 

ดีลยิ่งซับซ้อน เมื่อจีนส่อแววกันท่าไม่ให้ขาย TikTok

แม้จะได้พาร์ตเนอร์ในสหรัฐฯ แน่นอนมากขึ้นแล้ว แต่ดีลนี้ก็ยังคงซับซ้อนอยู่ เพราะวันนี้ CGTN สื่อมวลชนที่กำกับโดยรัฐบาลจีนเพิ่งจะรายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในว่า บริษัท ByteDance จะไม่ขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับ Microsoft หรือ Oracle หรือบริษัทใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ต้องการให้ source code ของแอปฯ แก่ผู้ซื้อสัญชาติอเมริกัน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังเพิ่มรายการเทคโนโลยีที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลก่อนจะขายออกให้ต่างชาติได้อีก 23 รายการ แม้ว่าจะไม่ได้เอ่ยชื่อ TikTok ตรงๆ แต่ ByteDance ออกมาตอบรับทันทีว่าบริษัทจะปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ของรัฐบาลจีนก่อนตัดสินใจขายกิจการ TikTok ที่สหรัฐฯ เนื่องจากแอปฯ นี้มีเทคโนโลยีที่ถูกระบุในลิสต์ที่ต้องได้รับอนุญาตดังกล่าว เช่น เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูดและข้อความ (Speech and Text Recognition)

เส้นตายของการแบน TikTok กำลังงวดใกล้เข้ามา โดยกำหนดการคือวันที่ 20 กันยายนนี้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะต้องออกรายละเอียดว่าธุรกิจใดที่เกี่ยวข้องกับ TikTok ที่จะถูกแบนตามคำสั่งฝ่ายบริหารที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2020 ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะแบนกันอย่างไร ส่วนการขายกิจการ มีเส้นตายให้ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้

Source

]]>
1296811
สหรัฐฯ เตรียมแบนสินค้าที่ใช้ “ฝ้าย” จากซินเจียง โจมตีจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ https://positioningmag.com/1295773 Tue, 08 Sep 2020 06:08:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1295773 สหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาแบนสินค้าที่ใช้ “ฝ้าย” จากมณฑลซินเจียง ประเทศจีน เป็นการตอบโต้กลับหลังมีรายงานพบว่าจีนบังคับใช้แรงงานเก็บฝ้าย และจีนมีการปราบปรามลงโทษอย่างรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียง

สำนักข่าว The New York Times อ้างอิงแหล่งข่าวภายในที่เกี่ยวข้องสามราย กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาแบนสินค้าที่ผลิตโดยใช้ฝ้ายจากมณฑลซินเจียง ประเทศจีน เพื่อตอบโต้จีนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมอุยกูร์

การแบนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสินค้าเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่ใช้ฝ้ายเกือบทั้งตลาด เนื่องจากผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลกส่วนใหญ่ต่างใช้ฝ้ายและเส้นใยผ้าที่ส่งมาจากซินเจียง พื้นที่ส่งออกฝ้ายหลักของโลก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าการแบนจะแบนเฉพาะสินค้าที่ส่งตรงออกมาจากซินเจียง หรือนับรวมไปถึงสินค้าที่นำไปแปรรูปที่ประเทศแห่งที่สามแล้วด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะตัดสินใจอย่างไร

แบรนด์ดังอย่าง H&M, Muji, Uniqlo ต่างก็เคยมีชื่อเข้าไปพัวพันกับ “ฝ้ายซินเจียง” ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะมณฑลซินเจียงคือตลาดส่งออกฝ้ายหลักของโลก

การตอบโต้ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังมีรายงานออกมาว่า รัฐบาลจีนกวาดต้อนชาวอุยกูร์ให้ใช้แรงงานในไร่ฝ้าย โรงงานผลิตผ้าฝ้าย รวมถึงโรงงานประเภทอื่นๆ และหากขัดขืนจะถูกส่งเข้า “ค่ายกักกัน”

ค่ายกักกันดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีชุดข้อมูลโต้กลับกันไปมาตั้งแต่ปี 2561 โดยจีนกล่าวว่าค่ายเหล่านี้คือ “โรงเรียน” ที่ให้การศึกษาใหม่แก่ชาวอุยกูร์ที่มีแนวโน้มหัวรุนแรงคลั่งศาสนา ไม่ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นวิธีการเพื่อป้องกันกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ซินเจียง

ขณะที่รายงานจาก The Australian Strategic Policy Institute พบว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งเข้าค่ายกักกัน
มีนับล้านคน และข้อหาที่ทำให้ถูกส่งเข้าค่ายนั้นเกิดจากยังคงถือวัตรปฏิบัติตามแบบผู้นับถืออิสลาม เช่น สตรีสวมผ้าคลุมผม มีคัมภีร์อัลกุรอ่านไว้ในครอบครอง ทำละหมาด หรือถ้าหากมีญาติพี่น้อง-เพื่อนอยู่ในต่างประเทศจะถูกส่งเข้าค่ายเช่นกัน เพราะถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ก่อการร้าย

ส่วนการบังคับใช้แรงงานในโรงงาน ชาวอุยกูร์จะถูกบังคับกักตัวให้อยู่ในหอพักของโรงงานเพื่อทำงาน และหลังหมดชั่วโมงทำงานจะต้องเข้าห้องเรียนภาษาจีนแมนดารินกับการฝึกอบรมอุดมการณ์ ภายในจะมีกล้องวงจรปิดคอยจับตาตลอดเวลา และห้ามมิให้ทำกิจกรรมทางศาสนา

อีเวนต์หาเสียงของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ทัลซา โอคลาโฮมา คืนวันที่ 20 มิถุนายน 2020 (Photo : Twitter@realDonaldTrump)

ในอีกมุมหนึ่ง การตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจประเมินได้ว่าเกิดจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่กำลังงวดใกล้เข้ามาทุกที ทำให้ทรัมป์พยายามแสดงแสนยานุภาพตอบโต้จีน ตั้งแต่การโจมตีจีนอย่างหนักว่าเป็นต้นเหตุการระบาดของไวรัสโคโรนาและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อด้วยการแบนบริษัทจีนอีกหลายบริษัท และการเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าจะเป็นการเดินหมากล่าสุด โดยใช้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงเป็นฐานโจมตี

อย่างไรก็ตาม จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ปะทุขึ้นมานานปี ทำให้บริษัทเสื้อผ้าหลายรายเริ่มย้ายฐานผลิตออกจากจีนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยส่วนใหญ่จะย้ายไปยังเวียดนาม บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย แต่หลายรายก็ยังพบว่าคุณภาพการผลิตในประเทศอื่นยังไม่เทียบเท่าจีน และหาพื้นที่ลงทุนโรงงานได้ยากเนื่องจากมีคู่แข่งที่ต้องการย้ายฐานผลิตจำนวนมาก

ทั้งนี้ หลายๆ บริษัทที่มีชื่อเข้าไปพัวพันกับการใช้แรงงานที่ถูกบังคับ กล่าวว่าซัพพลายเชนในประเทศจีนค่อนข้างคลุมเครือ ทำให้พวกเขาก็ตรวจสอบย้อนกลับได้ยากว่าฝ้ายที่นำมาใช้ผลิตนั้นมาจากแหล่งไหน

Source : The New York Times, BBC

]]>
1295773