สัมภาษณ์งาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 30 Jan 2023 13:25:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ทำไมการแสดง “บุคลิก/อุปนิสัย” ของตัวเองในการ “หางาน” จึงสำคัญ และต้องทำอย่างไร? https://positioningmag.com/1417286 Mon, 30 Jan 2023 12:19:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1417286 ทักษะและประสบการณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการได้งานทำก็จริง แต่คุณอาจจะแปลกใจที่ได้รู้ว่า “บุคลิก/อุปนิสัย” ของผู้สมัครเป็นเรื่องสำคัญอันดับ 3 ในการพิจารณารับเข้าทำงานของหัวหน้างานหรือฝ่าย HR บางครั้งบุคลิกของผู้สมัครยังสำคัญกว่าการศึกษาหรือศักยภาพด้วยซ้ำ!

อแมนด้า ออกัสติน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจาก Top Resume บริการเขียนประวัติสมัครงาน กล่าวว่า คนเรามักจะอธิบายบุคลิกหรือนิสัยของเพื่อนร่วมงาน จากมุมมองต่อการทำงานร่วมกันกับคนคนนั้นว่าเป็นอย่างไร

“บุคลิก/อุปนิสัยเป็นเรื่องสำคัญต่อการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร” ออกัสตินกล่าว “มันมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการทำงาน เช่น สไตล์การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน วิธีการแก้วิกฤต หรือคุณเป็นคนยืดหยุ่นได้แค่ไหนหากมีการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน คุณต้องเข้ากันได้มากพอที่จะสื่อสารกันรู้เรื่องและบรรลุเป้าหมายการทำงานร่วมกันได้”

หากว่าเพื่อนร่วมงานคนใหม่มีบุคลิกที่ไม่เข้ากับหัวหน้างานหรือพนักงานคนอื่น ในระยะยาวแล้วชีวิตการทำงานร่วมกันจะซับซ้อนมาก “พูดตรงๆ ก็คือการเลือกจ้างคนที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรมาเป็นความผิดพลาดราคาแพง” ออกัสตินกล่าว “คนเราไม่มีใครอยากจะเสียเงินและเวลาหรอก ไม่ว่าจะนั่งอยู่ฝั่งไหนของโต๊ะสัมภาษณ์งานก็ตาม”

ออกัสตินกล่าวต่อว่า เพื่อให้ทั้งผู้สมัครงานและองค์กรได้เจอ ‘คนที่ใช่’ ทั้งสองฝ่าย ฝั่งผู้สมัครไม่จำเป็นต้องรอให้ไปถึงขั้นสัมภาษณ์งานก่อนจะโชว์ความเป็นตัวเอง เพราะบุคลิกของเราสามารถสื่อสารได้ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้น

 

โซเชียลมีเดีย คือพื้นที่บอกบุคลิกของคน

เริ่มจากดิจิทัล ฟรุตปรินท์ของเรา โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่เน้นเรื่องการงานอย่าง LinkedIn จะช่วยได้มากในการเติมบุคลิกของเราลงไปในเรซูเม่

“LinkedIn เพิ่มโอกาสให้เราได้แสดงบุคลิกออกมา ทุกอย่างตั้งแต่รูปโปรไฟล์ไปจนถึงสิ่งที่เขียนในหมวด ‘About’ ของตนเองล้วนเป็นจุดสำคัญทั้งนั้น” ออกัสตินกล่าว

ตัวอย่างเช่น About เกี่ยวกับเรานั้นอาจจะเขียนบรรยายว่าทำไมเราถึงชื่นชอบงานที่ตัวเองทำอยู่ กว่าจะมีวันนี้ได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และเรากำลังตื่นเต้นกับการทำงานอะไรเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงอยากจะร่วมงานกับคนอื่นๆ อย่างไร

“เขียนเรื่องเหล่านี้ในโทนที่ฟังดูสบายๆ เป็นโทนที่ปกติเราจะไม่เขียนในเรซูเม่” ออกัสตินกล่าว “พื้นที่นี้เป็นโอกาสที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าได้คุยกับเราจริงๆ” เธอยังกล่าวด้วยว่าการโพสต์หรือคอมเมนต์ต่างๆ ใน LinkedIn ก็สำคัญเช่นกัน

ส่วนโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของเรานั้นแน่ใจได้เลยว่าผู้จ้างงานก็ต้องหาทางเช็กก่อน ดังนั้น เป็นการตัดสินใจของเราว่าต้องการจะเก็บโซเชียลมีเดียอื่นไว้เป็นเรื่องส่วนตัวในกลุ่มคนสนิท หรือจะเปิดเป็นสาธารณะ “ถ้าคุณตัดสินใจว่าโซเชียลมีเดียอื่นของคุณก็จะเปิดเป็นสาธารณะด้วย ต้องให้แน่ใจว่าคอนเทนต์ในนั้นสะท้อนตัวตนและบุคลิกที่เป็นจริงของคุณออกมา” เธอกล่าว

 

อย่ามองข้าม “จดหมายแนะนำตัว”

ออกัสตินกล่าวต่อว่า ผู้สมัครงานไม่ควรมองข้าม “จดหมายแนะนำตัว” ปกติคนมากมายไม่เขียนจดหมายแนะนำตัวแนบไปเพราะมองว่าเป็นขั้นตอนที่น่าเบื่อ และส่วนใหญ่ก็มักจะเขียนเหมือนกับเป็นบทคัดย่อว่าในเรซูเม่เรามีอะไรบ้าง

“แต่จริงๆ แล้วถ้าคุณเขียนอย่างมีกลยุทธ์ คุณจะได้แสดงออกถึงบุคลิกตัวตนออกมา ทำให้เห็นว่าคุณน่าจะเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรนั้น” เธอกล่าว

ตัวอย่างการเขียนให้มีชั้นเชิง เช่น เล่าเรื่องประสบการณ์ความท้าทายในหน้าที่การงานและคุณสามารถผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้อย่างไร หรืออธิบายว่าคุณชอบและตื่นเต้นกับอาชีพที่ทำอยู่เพราะอะไร

จดหมายแนะนำตัวจะเป็นโทนเสียงที่สะท้อนบุคลิกตัวตน และยังทำให้เห็นทักษะประสบการณ์ได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าเรซูเม่ที่กำลังจะได้อ่าน

 

หมัดเด็ดสุดท้าย “สัมภาษณ์งาน”

แน่นอนว่าการสัมภาษณ์งานคือจุดที่สะท้อนบุคลิกของเราได้ดีที่สุด การพูดคุยสัพเพเหระช่วงต้นก่อนการสัมภาษณ์คือนาทีสำคัญที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้จักบุคลิกของเรามากขึ้น

“เรื่องที่มักจะหยิบมาพูดกันมากที่สุดเวลาที่เพิ่งทักทายกันจบคือ เรื่องดินฟ้าอากาศ แต่คุณสามารถมองหาหัวข้ออื่นมาพูดได้อีก เช่น หยุดยาวนี้กำลังจะไปเที่ยวที่ไหน การเกริ่นเรื่องพวกนี้ทำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจว่าเวลาว่างเราทำอะไร หรือเราให้ความสำคัญกับอะไรในชีวิต และถ้าหากบังเอิญโชคดี ถ้าคุณกับคนสัมภาษณ์งานมีความสนใจบางอย่างที่ตรงกัน คุณจะได้ใช้ประโยชน์จากมันเพื่อสร้างมิตรภาพ” ออกัสตินกล่าว

“20% ของการสัมภาษณ์งานเป็นการพิสูจน์ทักษะที่คุณมีว่าทำงานได้จริงหรือเปล่า แต่อีก 80% คือคนสัมภาษณ์ต้องการจะรู้ว่าคุณจะเข้ากับทีมได้ไหม” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า 80% นั้นจะเต็มไปด้วยคำถามเพื่อทำความเข้าใจว่าคุณเป็นคนอย่างไร

คำถามที่ว่า เช่น ทดสอบพฤติกรรมการทำงาน อาจจะถามว่าถ้าคุณเจอสถานการณ์แบบหนึ่ง คุณจะตอบโต้อย่างไร ซึ่งคำตอบก็จะทำให้รู้นิสัยในทันที

ออกัสตินยังแนะนำด้วยว่า เราควรจะแสดงออกแค่ ‘น้ำจิ้ม’ ของบุคลิกตัวตนของเรา ไม่ใช่เปิดตัวเต็มที่หรือพูดเรื่องตัวเองเยอะเกินไป คือแสดงออกเพียงแค่ให้อีกฝ่ายพอจะเดาได้ว่าถ้าทำงานกับคุณจะเป็นอย่างไร

เธออธิบายว่า การสัมภาษณ์งานก็เหมือนไปเดตกับแฟนครั้งแรก หรือไปพบหน้าพ่อแม่แฟนครั้งแรก กฎเดียวกันในเรื่องพวกนี้คือแสดงออกแค่พอประมาณนั่นเอง

Source

]]>
1417286
Work from Anywhere ทำให้คนแอบไป “สัมภาษณ์งานใหม่” และ “ย้ายงาน” ง่ายขึ้น https://positioningmag.com/1387706 Fri, 03 Jun 2022 12:45:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387706 นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บริษัทหลายแห่งไม่ต้องการให้พนักงาน Work from Anywhere เพราะการทำงานที่ไหนก็ได้ทำให้พนักงานแอบไป “สัมภาษณ์งานใหม่” ได้ง่ายกว่าเดิม โอกาสพนักงานลาออก “ย้ายงาน” มีสูงยิ่งขึ้น

นึกภาพชีวิตก่อนเกิด COVID-19 และทุกคนต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน หากคนเราคิดอยากย้ายงานขึ้นมาและต้องนัดสัมภาษณ์งาน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการแอบรับโทรศัพท์จากฝ่ายบุคคล การขอลาป่วยหลายครั้งในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อไปสัมภาษณ์งานหลายแห่ง

หรือถ้าจะแอบแวบออกจากออฟฟิศเพื่อไปสัมภาษณ์งาน ก็ต้องเป็นออฟฟิศที่ไม่ไกลกันมากเพื่อไม่ให้ผิดสังเกต แถมยังต้องกังวลว่าวันนี้แต่งตัวเป็นทางการเกินไป จะมีใครจับได้หรือเปล่าอีก

แต่เมื่อชีวิตหลัง COVID-19 มีหลายบริษัทอนุญาตให้พนักงาน Work from Anywhere ทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปทันที ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครได้ยินการคุยโทรศัพท์ สามารถนัดสัมภาษณ์ออนไลน์ 30-60 นาทีได้สบายๆ หรือถ้าว่าที่ออฟฟิศใหม่ต้องการสัมภาษณ์แบบเจอตัว ก็สามารถเดินทางไปได้โดยไม่ต้องลาหยุด และไม่ต้องคิดถึงระยะเดินทาง

ปรากฏการณ์นี้ถูกยืนยันว่าเกิดขึ้นจริง จากงานวิจัยโดยนักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและ ITAM เม็กซิโก สัมภาษณ์พนักงานอเมริกัน 2,000 คน ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่า การทำงานจากบ้านทำให้เข้าสัมภาษณ์งานใหม่ง่ายกว่ามาก

Business situation, job interview concept. Job seeker present resume to managers.

ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า หากเจ้านายรู้ว่าคุณกำลังหางานใหม่อยู่ อาจจะเป็นผลเสียต่อตัวคุณได้ รวมถึงการหางานมักจะกระทบกับงานที่ทำปัจจุบัน เพราะต้องลางานบ่อยเพื่อเดินทางไปสัมภาษณ์

เมื่อการทำงานอยู่บ้านช่วยแก้ปัญหานี้ ทำให้พนักงานอเมริกันสมัครงานเยอะกว่าเดิม ข้อมูลจาก Monday Talent เอเจนซี่หางานในสหรัฐฯ ระบุ

ปัจจัยนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของ The Great Resignation ในสหรัฐฯ ด้วย ช่วงที่ผ่านมามีกระแสพนักงานลาออกและย้ายงานครั้งใหญ่จากความเปลี่ยนแปลงช่วงหลังโรคระบาดคลี่คลาย ซึ่งการสัมภาษณ์งานได้ง่ายเป็นตัวเร่งหนึ่งของเรื่องนี้

แอนโตนิโอ เนฟส์ โค้ชที่ปรึกษาการสมัครงาน ให้ความเห็นว่า ยิ่งเป็นพนักงานระดับกลางแล้วนั้น ทางเลือกการทำงานมีสูงมากจนตัวพนักงานเองสามารถสัมภาษณ์ว่าที่หัวหน้าใหม่ได้พอๆ กับที่ตัวเองถูกสัมภาษณ์

ดังนั้น อัตราการลาออกน่าจะสูงขึ้นอย่างถาวร เพราะความยืดหยุ่นในการหางานใหม่ที่มากขึ้น เหมือนกับการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ทำให้คนซื้อสินค้ามากขึ้น

Source

]]>
1387706
วิธีรับมือ 7 คำถาม “สัมภาษณ์งาน” ที่คนสมัครงานมักจะต้องเจอ https://positioningmag.com/1312651 Thu, 31 Dec 2020 10:47:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1312651 ปีใหม่ 2564 นี้หลายคนอาจมีคิว “สัมภาษณ์งาน” รออยู่ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย และจำนวนตำแหน่งงานในตลาดที่ลดลง การตอบคำถามสัมภาษณ์ให้ปังจนนายจ้างให้คะแนนคุณเป็นเบอร์หนึ่งคือเรื่องสำคัญมาก

สถิติจากเว็บไซต์ InterviewSuccessFormula.com พบว่า 80% ของผู้สมัครงานที่ส่งเรซูเม่จะไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ ดังนั้น หากคุณคือ 20% ที่เหลือที่ผ่านการประเมินรอบแรก ใบสมัครงานเข้าตากรรมการ และกำลังจะเข้าสู่ด่านต่อไปคือการ “สัมภาษณ์งาน” ร่วมกับคู่แข่งที่ไม่รู้ว่ามีอีกกี่คน นี่คือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการตอบคำถาม

“แอชลีย์ สตาห์ล” โค้ชและนักพูดด้านการงานอาชีพ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา เขียนบทความแนะนำการตอบ 7 คำถามสำคัญในการสัมภาษณ์งาน คำถามเหล่านี้เป็นคำถามทั่วไปที่คนมักจะเจอ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ตอบได้ดี

1) แนะนำตัวเอง

คำถามที่ดูเหมือนเป็นคำถามธรรมดาๆ จริงๆ แล้วเป็นหนึ่งในคำถามที่สำคัญที่สุด ผู้สัมภาษณ์มักจะมองคำถามนี้เป็นเหมือนการ “อุ่นเครื่อง” สำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกในลำดับต่อไป สตาห์ลแนะนำว่า ผู้ตอบควรจะใช้โอกาสนี้ในการแนะนำตัวให้เห็นความตั้งใจในการสมัครงาน โดยแบ่งคำตอบออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

  • เล่าเรื่องราวของตัวเอง : นอกจากการเล่าประวัติการศึกษาและการทำงาน ควรจะเสริมข้อมูลการสมัครงานนั้นๆ ด้วยว่าคุณมีแพสชัน มีความตั้งใจอย่างไรที่จะทำงานนี้ ไม่ใช่การหว่านใบสมัครและบังเอิญได้รับเลือกให้มาสัมภาษณ์
  • ชิงบอกจุดอ่อนก่อน : ในระหว่างเล่าประวัติการทำงาน คุณอาจจะมีบางอย่างที่เป็นจุดอ่อนบนเรซูเม่ เช่น ทำไมจึงมีช่วงว่างระหว่างการย้ายงานบางจุด หรือทำไมคุณจึงออกจากที่ทำงานเก่าเร็วนัก ผู้สัมภาษณ์อาจจะถามหรือไม่ถามเรื่องพวกนี้ในการสัมภาษณ์ก็ได้ แต่พวกเขามองเห็นจุดอ่อนเหล่านี้แน่นอน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่คุณจะชี้ให้เห็นและอธิบายสั้นๆ
  • “ทักษะทองคำ” ของคุณ : ไม่ต้องเล่าทักษะความสามารถจนหมดทุกเม็ด แต่เน้นเฉพาะความสามารถที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานก็พอ และอย่าลืมเล่าด้วยทีท่า “อวดเบาๆ” ไม่ใช่การอวดความสามารถใหญ่โต เพราะมีการศึกษาในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลพบว่า 72% ของ HR มองว่าบุคลิกภาพแบบ “มั่นใจจนเกินไป” คือเรื่องใหญ่ที่สุดที่จะทำให้คุณถูกกาหัวกระดาษ
  • เป้าหมายของคุณ : นี่คือศาสตร์แห่งการผูกเป้าหมายการทำงานของคุณเข้ากับภารกิจของบริษัทได้อย่างแนบเนียน และยังเป็นการบอกใบ้ให้ผู้สัมภาษณ์รู้ว่า คุณต้องการจะทำงานกับบริษัทนี้ในระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่บริษัทต้องการ

แค่เพียงแนะนำตัวแต่ต้องตอบยาวขนาดนี้เลยหรือ? คุณอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วการตอบแบบปังๆ ตั้งแต่ต้นจะทำให้คุณเป็นผู้สมัครงานที่โดดเด่นขึ้นมาทันที

2) คุณมีข้อเสียสำคัญอะไรบ้าง

นี่คือคำถามเพื่อให้ผู้สมัครงานโชว์ความซื่อสัตย์และจริงใจ และแสดงให้เห็นว่าคุณมีบุคลิกแบบ “คนที่ตระหนักถึงข้อดี-ข้อด้อยของตัวเอง” ซึ่งเป็นซอฟต์สกิลที่สำคัญมากในที่ทำงาน เพราะเป็นทักษะที่คนส่วนใหญ่ไม่มี จากการวิจัยของ Eurich Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้บริหารในสหรัฐฯ พบว่ามีคนเพียง 10-15% ที่มีทักษะดังกล่าว ดังนั้น คุณควรจะแสดงให้เห็นว่าคุณคือหนึ่งในกลุ่มคนหายาก โดยขอแนะนำว่า “อย่า” ใช้คำตอบเหล่านี้

  • ฉันเป็นคนรักความสมบูรณ์แบบ – คนสัมภาษณ์เคยได้ยินมาเยอะแล้ว
  • ฉันเป็นคนบ้างาน – คนสัมภาษณ์รู้ว่าเป็นคำตอบเพื่อเลี่ยงจะตอบความจริง
  • ฉันชอบเก็บงานกลับไปทำที่บ้าน – อาจถูกมองได้ว่า คุณเป็นคนบริหารเวลาไม่เป็น
  • ฉันไม่ชอบการทำให้ใครไม่พอใจ – สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคุณตอบ “ได้ค่ะ/ครับ” กับทุกอย่าง ซึ่งไม่ใช่ข้อเสียจริงๆ ที่คนฟังอยากได้ยิน

การตอบคำถามเรื่อง “ข้อเสีย” เป็นเรื่องของการจัดสมดุลระหว่าง การแสดงให้เห็นจุดอ่อนใหญ่จริงๆ ของคุณโดยไม่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าคุณไม่มีทางที่จะพัฒนาจากจุดนั้นได้เลย พร้อมๆ กับการอ่านให้ออกว่า ตำแหน่งที่คุณสมัครต้องการคนที่มีจุดอ่อนแบบไหน ซึ่งจะกลายเป็นจุดเด่นที่เหมาะสมกับตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งนี้ต้องการคนที่รักการทำงานเป็นทีม หรือต้องการคนที่ทำงานด้วยตนเอง หรือต้องการผู้นำ หรือต้องการคนที่ทำตามคำสั่งได้ดี

คุณต้องวิเคราะห์ตำแหน่งของตัวเองที่สมัครไปให้ออก โดยสตาห์ลมีคำตอบตัวอย่างให้นำไปปรับใช้ให้เหมาะกับตำแหน่งที่คุณสมัครงาน เช่น

  • ฉันเป็นคนทำตามอารมณ์ และมักจะตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ
  • ฉันจะทำงานได้ดีถ้าทำคนเดียว และมักจะทำตามเป้าหมายได้ดีกว่าถ้าไม่มีคนแนะนำมากเกินไป
  • ฉันทำงานได้ดีกว่าในการทำงานเป็นทีม และมักจะต้องการการร่วมมือเพื่อวางวิสัยทัศน์
  • ฉันมักจะชอบคิดแผนงานแบบภาพใหญ่ และให้คนอื่นช่วยคิดรายละเอียดแทน
  • ฉันชอบการคิดรายละเอียดเล็กๆ ในการทำงาน และให้คนอื่นช่วยคิดภาพใหญ่

เพื่อเสริมให้เห็นความสำคัญ เมื่อคุณเลือกจุดอ่อนที่จะตอบได้แล้ว สตาห์ลแนะนำให้พูดถึงความท้าทายด้วยว่าจุดอ่อนนั้นมีผลอย่างไรกับการทำงานของคุณในอดีต และได้พยายามพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

3) ทำไมคุณจึงเหมาะที่สุดที่จะทำงานนี้

ความจริงก็คือ คุณไม่รู้หรอกว่าคุณเหมาะที่สุดหรือเปล่า แต่คุณต้องเชื่อว่าคุณคือคนที่ใช่ สตาห์ลแนะนำวิธีตอบคำถามปลายเปิดและตอบได้กว้างมากนี้ว่า คุณอาจจะเริ่มจากการแนะนำทักษะประเภทซอฟต์สกิลของตัวเองที่ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้เห็นบนเรซูเม่ เช่น

  • ฉันทำงานได้ตามคำสั่งและไม่ต้องมีการตามงานหรือตรวจงานมากนัก
  • ฉันเก่งเรื่องการเล็งเห็นปัญหาล่วงหน้าและสามารถป้องกันสิ่งเหล่านั้นก่อนได้
  • สิ่งที่ฉันทำได้ดีมากคือการรับมือกับลูกค้าที่อารมณ์ไม่ดี

เมื่อพูดถึงทักษะเหล่านี้แล้ว คุณควรจะเล่าเรื่องสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นทักษะนั้นของคุณ และเรื่องสั้นๆ เหล่านี้เองที่ฉายภาพความเป็นตัวคุณได้ดียิ่งกว่าการพูดคุยหรือการอ่านแค่เรซูเม่ และยังเป็นโอกาสได้แสดงตัวตนว่าคุณจะเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรของที่นั่นหรือไม่

การแสดงออกถึงบุคลิกที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรนั้นสำคัญมาก สถิติจาก Millenial Branding พบว่า 43% ของเจ้าหน้าที่ HR มองว่า “บุคลิกเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร” คือคุณลักษณะที่สำคัญ ขณะที่คนสมัครงานส่วนใหญ่มักจะพูดเรื่องทักษะการทำงานเป็นหลักเพื่อแสดงว่าตัวเองเหมาะกับตำแหน่ง การที่คุณเล่าเรื่องเพื่อโชว์บุคลิกที่เข้ากับบริษัทจะส่งให้คุณโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ

4) ถ้าเกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน คุณจะทำอย่างไร

คำถามสุดหินที่คำตอบจะสะท้อนได้ว่าคุณมี EQ มากแค่ไหน และเรื่องความฉลาดทางอารมณ์คือซอฟต์สกิลที่สำคัญมาก โดยมีผลวิจัยพบว่า 71% ของผู้จัดการฝ่าย HR จะเลือกผู้สมัครงานที่มี EQ ดีมากกว่าคนที่มี IQ สูง และ 59% ในจำนวนนี้ถึงกับตอบว่าพวกเขาจะทิ้งใบสมัครของคนที่ IQ สูงแต่มี EQ ต่ำเสียด้วยซ้ำ

จำไว้ว่า สิ่งสุดท้ายที่คุณอยากทำในการสัมภาษณ์งานคือการสร้างบรรยากาศเชิงลบ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะพูดคุยเรื่องความขัดแย้งในการทำงาน คุณก็ต้องเล่าถึงมันในเชิงบวกให้ได้ เช่น การเล่าวิธีรับมือความขัดแย้งในอดีตคงไม่ใช่การเล่าแบบเจาะลึกว่าเพื่อนร่วมงานคุณรับมือยากและขัดขวางการทำงานขนาดไหน แต่อาจจะใช้คำว่า เพื่อนร่วมงานทำให้กระบวนการทำงานช้ากว่าแผน และคุณได้สร้างบทสนทนาเพื่อส่งเสริมกระตุ้นให้เพื่อนร่วมงานให้ความร่วมมือในเชิงบวก

โทนโดยรวมของการเล่าเรื่องนี้ไม่ใช่การบ่นเรื่องคนทำงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างกันของคน แต่เป็นการโชว์ให้เห็นว่าคุณมุ่งมั่นที่การทำงานให้ดีขึ้น

5) คุณเห็นภาพตัวเองอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า

ได้โปรด อ ย่ า ต อ บ ว่ า “อยู่ในตำแหน่งนี้แหละ”

เหมือนกับคำถามที่ขอให้แนะนำตัวเอง นี่คือคำถามปลายเปิดเพื่อให้คุณโชว์ความมั่นใจและแรงขับในการเติบโตทางการงาน คุณควรแสดงให้เห็นว่าคุณจะทำงานหนักและจะเติบโตต่อไป สิ่งที่บริษัทอยากได้ยิน 3 อย่างจากคำถามนี้คือ

  • ความปรารถนาที่จะเติบโตไปกับบริษัท
  • ความปรารถนาที่จะเผชิญความท้าทายภายในบริษัท
  • ความต้องการของคุณและความจำเป็นของบริษัทคือสิ่งที่ไปด้วยกันได้

คำตอบที่ยอดเยี่ยมคือคำตอบที่สามารถเน้นย้ำให้เห็นว่า โอกาสการเติบโตในบริษัทสามารถไปคู่กับเป้าหมายอาชีพในระยะยาวของคุณ

6) เราจะได้เห็นอะไรจากคุณบ้างภายใน 90 วันแรกของการทำงาน

อีกหนึ่งโอกาสให้คุณแสดงออกว่า คุณทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่งนี้มาดี วิธีที่ดีในการตอบคำถามนี้คือลงลึกในรายละเอียดว่า คุณเข้าใจความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับตำแหน่งนี้ รวมถึงมองไปข้างหน้าทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่าหน้าที่นี้น่าจะได้ทำอะไรบ้าง นี่คือคำตอบที่คุณสามารถนำไปพิจารณาใช้

  • พบผู้จัดการแผนกเพื่อพูดคุยว่าเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวคืออะไร
  • สร้างแผนภูมิเป้าหมายเพื่อหาว่าเป้าหมายใดที่จะ “สร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง” เพื่อเน้นทิศทางการทำงานไปในทางนั้น
  • ใช้เวลานี้ในการเฝ้ามอง เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร และแง่มุมต่างๆ ของธุรกิจนี้ให้มากที่สุด
  • สำรวจการทำงานของบริษัทคู่แข่ง และมานำเสนอว่าถ้าพวกเขาจ้างคุณ คุณจะใช้โซลูชันใดให้บริษัทแข่งขันได้ดีขึ้น
  • สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานใหม่

7) คุณมีคำถามจะถามเราไหม

คำตอบของคำถามนี้คือ “ใช่”

คุณต้องไม่ลืมที่จะเตรียมคำถามตัวเองไปบ้างเหมือนกัน ไม่ต้องถามเยอะเกินไป แต่ต้องมีบ้าง ปกติผู้สัมภาษณ์จะยิงคำถามนี้เมื่อใกล้จะจบการสัมภาษณ์ หรืออาจจะเป็นคำถามสุดท้ายเลย ดังนั้น นี่เป็นโอกาสท้ายสุดเหมือนกันที่คุณจะได้แสดงออกว่า คุณมีการเตรียมตัวและกระตือรือร้น รวมถึงเป็นโอกาสให้คุณหาข้อมูลเพิ่มเติมถ้าหากคุณได้รับงานนี้จริงๆ นี่คือลิสต์คำถามที่คุณอาจจะอยากถาม

  • คุณต้องการเห็นความสำเร็จแบบไหนจากฉัน ถ้าฉันได้รับงานนี้
  • ถ้าฉันทำงานนี้ได้ดีเยี่ยม ฉันจะไปได้ไกลแค่ไหนในบริษัทภายในเวลา 6-12 เดือน
  • ชีวิตประจำวันของตำแหน่งนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง
  • อยากให้เริ่มงานเมื่อไหร่
  • ฉันอ่านเจอเรื่อง (บางอย่างที่เกี่ยวกับบริษัท) ดูน่าสนใจมาก คุณช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม
  • วัฒนธรรมองค์กรที่นี่เป็นอย่างไร
  • คุณชอบอะไรมากที่สุดในการทำงานที่บริษัทนี้
  • คุณมีประสบการณ์ที่น่าสนใจในบริษัทมาเล่าให้ฟังบ้างไหม

แต่ละการสัมภาษณ์ย่อมแตกต่างกันไป คุณอาจจะได้รับคำถามพวกนี้ทั้งหมดหรือไม่ได้เลยก็ได้ แต่เป็นไปได้สูงกว่ามากที่ผู้สัมภาษณ์ต้องแตะคำถามอย่างน้อยสักหนึ่งคำถามในนี้ และการเตรียมตัวเองเพื่อตอบคำถามสามัญธรรมดาพวกนี้ย่อมทำให้คุณเหนือกว่าผู้สมัครคนอื่น

การสัมภาษณ์ก็คือบทสนทนาครั้งหนึ่ง ขอแค่คุณพกความมั่นใจไปและอย่าลืมว่าพวกเขาก็ต้องการคนทำงานเช่นคุณมากพอๆ กับที่คุณอยากได้งานนั่นแหละ!

Source

]]>
1312651