ในปี 2022 ตลาดอีคอมเมิร์ซ 5.6 แสนล้านบาท สามารถเติบโตประมาณ 20% ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10% แม้จะเติบโตน้อยลง แต่สัดส่วนของสินค้าในกลุ่ม Home & Living ยังถือว่าน้อย โดยถ้านับเฉพาะเฟอร์นิเจอร์มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วงโควิดที่ผ่านมา ผู้บริโภคก็สนใจตกแต่งบ้านมากขึ้น ทำให้ ชลลักษณ์ มหาสุวีระชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบ็ตเตอร์บี มาร์เก็ตเพลส จำกัด หรือแพลตฟอร์ม NocNoc จึงเชื่อว่าแพลตฟอร์มมีโอกาสเติบโตได้โดยวางเป้ายอดขายรวมทั้งปีที่ 5,000 ล้านบาท
โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มียอดขายรวมทั้งหมด 5,000 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 200% และโดยเฉลี่ยมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นกว่า 3 ล้านรายต่อเดือน ทั้งลูกค้า B2C และ B2B ปัจจุบันมีผู้ขาย (Seller) ในระบบกว่า 3,000 ราย รวมสินค้ามากกว่า 500,000 SKU จากทั้งหมด 22 หมวดหมู่ และนอกจากสินค้า แพลตฟอร์มยังมีส่วนของ บริการ (Service) ตั้งแต่บริการล้างแอร์ไปจนถึงรีโนเวตบ้าน
ชลลักษณ์ อธิบายถึง ข้อจำกัด ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ว่า แม้ว่าราคาสินค้าต่อชิ้นจะสูง ทำให้เฉลี่ยยอดสั่งซื้อของผู้ใช้จะอยู่ที่กว่า 15,000-20,000 บาท แต่ อัตราซื้อซ้ำน้อย ปัจจุบันอยู่ที่ 30% ดังนั้น กลยุทธ์ของแพลตฟอร์มในปีนี้คือการขยายไปยังกลุ่ม Living ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแม่และเด็ก, สัตว์เลี้ยง ที่ผู้บริโภคซื้อซ้ำง่าย
“คงไม่มีใครเปลี่ยนเก้าอี้ทุกเดือน ดังนั้น การขยายสโคปของสินค้าสำคัญมาก ซึ่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเรามั่นใจว่ารากฐานเราแข็งแรงโดยเฉพาะสินค้าในบ้าน แต่ยังเหลือกลุ่ม Living ที่ไม่ได้เน้นมากนัก ดังนั้น ยังเหลือโอกาสอีกมาก”
ที่ผ่านมา สินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 คือกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้าน (50%) อันดับ 2 คือกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า (40%) กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่ม Home Improvement (10%) และสุดท้ายคือการให้บริการเรื่องบ้าน (Service) โดยแบ่งเป็นประเภทสินค้า 5 อันดับแรกคือ โซฟา, เครื่องนอน, ชั้นจัดเก็บ โต๊ะ, เก้าอี้ และกระเบื้อง
ส่วนกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน 60% เป็นกลุ่มอายุ 25-34 ปี, 30% เป็นกลุ่มอายุมากกว่า 40 ปี และ 10% เป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งนี่จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต
อีกตลาดที่เป็นโอกาสก็คือ กลุ่ม B2B เช่น ร้านอาหาร, โรงแรม, คาเฟ่ร้านกาแฟ และออฟฟิศ ซึ่งมีการเติบโตอย่างมากในช่วง Q3-Q4 ปี 2022 เนื่องจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้ร้านค้าและโรงแรมลงทุนมากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกลุ่ม B2B เป็น 25%
“ข้อดีของมาร์เก็ตเพลสคือความหลากหลาย แน่นอนเขาอาจไปดีลกับแบรนด์เองโดยตรงได้ แต่สินค้าก็อาจจะมีจำกัด เขาอาจต้องหาหลายเจ้า แต่เรารวมไว้หมดแล้ว ดังนั้น เขาสามารถผสมแบรนด์ได้”
นอกจากนี้ จะขยายตลาดไปสู่ หัวเมืองใหญ่ อาทิ พัทยา, เชียงใหม่ ทั้งการทำตลาดและหาพาร์ตเนอร์ร้านค้า เนื่องจากที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก โดยคาดว่าภาพรวมทั้งปีจะมีร้านค้าในระบบเพิ่มเป็น 4,000 ราย
อีกหนึ่งข้อจำกัดของสินค้าเฟอร์นิเจอร์ก็คือ ต้องมี Physical touch หรือ ได้ลองจับ สัมผัส สินค้าจริง ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกโจทย์ของแพลตฟอร์ม โดย NocNoc จะมีการออกอีเวนต์ออฟไลน์อย่าง NocNoc แฟร์ ที่จะเปิดพื้นที่ออฟไลน์ให้เซลเลอร์ได้มาโชว์สินค้าปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการจับบมือกับงาน บ้านและสวนแฟร์
อีกส่วนคือการ ให้ความรู้เซลเลอร์ ในการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอสินค้า เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพ รวมถึงให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ซื้อให้กลับมา รีวิวสินค้า เพื่อเป็นการ ป้ายยา และช่วยให้ลูกค้าคนอื่น ๆ ได้เห็นภาพสินค้าที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงให้ลูกค้าคืนสินค้าได้ใน 30 วันหากไม่พอใจ โดยรวมแล้ว แพลตฟอร์มจะใช้งบการตลาดประมาณ 10% ของยอดขาย
“กว่าผู้บริโภคเขาจะซื้อเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นเขาต้องลองนั่ง ลองจับ แต่ที่เขามาซื้อบนมาร์เก็ตเพลสก็เพราะ ราคา และความหลากหลาย ยิ่งถ้าเจอสินค้าที่เขาเคยลองสัมผัสบนมาร์เก็ตเพลส จะทำให้เขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ดังนั้น นี่เป็นอีกโจทย์ของเรา เพราะเรื่องประสบการณ์เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก”
สำหรับการลงทุนนอกจาการตลาด แพลตฟอร์มจะเน้นไปที่ ระบบ โดยมีแผนจะจ้างเดเลลอปเปอร์เพิ่มในปีนี้ โดยที่ผ่านมา แพลตฟอร์มจะให้ความสำคัญกับระบบ Big Data เพื่อใช้ AI ในการคาดการณ์ทั้งความต้องการ ไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมการซื้อแบบ Hyper-Personalized Marketing
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังมี InspiREALtion Feed ช่วยให้แรงบันดาลใจในการแต่งบ้านเป็นจริงได้ และได้เปิดตัว Community ในแอปพลิเคชัน NocNoc ที่ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมแชร์ แลกเปลี่ยนไอเดีย และประสบการณ์เรื่องบ้านที่อยากป้ายยา หรือรีวิวให้กับกลุ่มคนรักบ้านได้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
ชลลักษณ์ ทิ้งท้ายว่า อีกปัจจัยที่ทำให้ NocNoc เติบโตได้ก็คือ บริการ เพราะสามารถจัดส่งสินค้าได้แบบ End-to-End โดยมีช่างพร้อมบริการติดตั้ง และจัดส่งถึงที่ ซึ่งเป็นอีกเพนพอยต์ของสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งบริการที่ดีก็จะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
]]>โครงการ Design Village ของบุญถาวรนั้นเริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2561 ที่สาขาราชพฤกษ์ ตามด้วยสาขาพุทธมณฑลในปี 2562 และสาขาเกษตร-นวมินทร์ปี 2564 ปัจจุบันทั้งสามสาขาทำรายได้รวมกันปีละ 4,500 ล้านบาท และมีลูกค้าใช้บริการเฉลี่ยวันละ 20,000 คน
ข้อมูลข้างต้นจาก “สิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญถาวร กรุ๊ป จำกัด สะท้อนให้เห็นว่าโมเดลธุรกิจนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี ตอบโจทย์ผู้บริโภคเพราะเทรนด์ใหม่ของคนรักบ้านนอกจากจะมาช้อปปิ้งของแต่งบ้านหรือต่อเติมบ้าน ยังต้องการไลฟ์สไตล์เข้ามารองรับ เช่น ช้อปปิ้งสินค้าแฟชั่น ทานอาหาร
ปี 2566 บริษัทจึงมีการลงทุนไปกว่า 1,000 ล้านบาทเพื่อเปิด Design Village เพิ่มอีก 2 สาขาที่ “บางนา” และ “รัชดา” โดยเป็นการรีโนเวตจากสาขาเดิมของบุญถาวร ได้แก่ บุญถาวร สุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ริมถนนบางนา-ตราด เยื้องเมกา บางนา และบุญถาวร รัชดา ใกล้กับ MRT รัชดาภิเษก
สำหรับ Design Village สาขาบางนา จะพร้อมเปิดบริการเดือนเมษายน 2566 และสาขารัชดา จะพร้อมเปิดบริการเดือนกันยายน 2566
“สาโรจน์ เจิมธเนศ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญถาวร แอสเซท จำกัด ผู้ดูแลการพัฒนาและบริหารโครงการ Design Village กล่าวถึงรายละเอียดของแต่ละสาขา ดังนี้
มีเนื้อที่รวม 30 ไร่ ริมถนนบางนา-ตราดซึ่งถือเป็นทำเลสำคัญ เพราะภายในรัศมี 5 กม.รอบโครงการ มีหมู่บ้านมากกว่า 180 แห่ง มีบ้านเรือน 42,000 หลังคาเรือน ภายในโซนบางพลี บางแก้ว จนถึงเขตประเวศ โอกาสการขายสินค้าเกี่ยวกับบ้านมีสูง
สาขานี้ออกแบบด้วยคอนเซ็ปต์ ‘super accessible’ โครงการมีทางเข้าออกหลายจุด ลูกค้าสามารถจอดรถหน้าร้านที่ต้องการหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อเดินเข้าร้านต่างๆ ได้ง่าย ไม่ต้องเดินผ่านโถงทางเข้าหลัก โดยรอบโครงการมีที่จอดรถให้ 600 คัน เพื่อความสะดวกสบาย
ปัจจุบันบุญถาวรปิดการขายพื้นที่เช่าสาขานี้ได้แล้ว 80% มีพันธมิตรแบรนด์ดังที่เข้ามา เช่น Gourmet Market, Starbucks, Uniqlo
มีเนื้อที่รวม 14 ไร่ บนถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับ MRT รัชดาภิเษก ซึ่งถือเป็นย่านนิวซีบีดีของกรุงเทพฯ แวดล้อมด้วยคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงาน และมีแนวโน้มการเติบโตของแหล่งที่อยู่อาศัย
สาขานี้จะแบ่งออกเป็น 3 อาคาร และมีคอนเซ็ปต์ต่างจากสาขาอื่นเพราะเป็น ‘Design Business District’ มีส่วนที่จัดไว้สำหรับเป็น co-working space พื้นที่จัดการประชุม-สัมมนา จัดอีเวนต์เปิดตัวสินค้าด้วย โดยสาขานี้จะมี Starbucks บริการเช่นกัน
หลังการเปิดสาขาเพิ่มครบ 5 สาขา บุญถาวรตั้งเป้าปี 2566 โครงการ Design Village รวมทั้ง 5 สาขาจะสามารถสร้างยอดขายรวม 11,000 ล้านบาท
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
]]>SCB EIC เปิดรายงานคาดการณ์ธุรกิจ “ค้าปลีก” ปี 2565 คาดการณ์ว่า ตลาดจะกลับมาโต 11% YoY หรือคิดเป็นมูลค่า 3.45 ล้านล้านบาท (ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าตลาด 3.48 ล้านล้านบาท) เนื่องจากผู้บริโภคมีการเดินทาง ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ช่วยเสริมกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564
อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า “ปัจจัยลบยังมีมากกว่าปัจจัยบวก” เพราะราคาพลังงานพุ่งสูง ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า หมวดไฟฟ้า ประปา เชื้อเพลิง ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 14.4% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งมีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าเกือบทุกหมวดปรับราคาขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ ขึ้นมา 15.5% และหมวดการขนส่งและการสื่อสารขึ้นมาแล้ว 10.8%
เมื่อรวมกับปัจจัยหนี้ครัวเรือนสูง และอัตราว่างงานสูง ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่ำ และจะส่งผลต่อการเลือกจับจ่ายของผู้บริโภค สินค้าแต่ละกลุ่มในธุรกิจค้าปลีกจะฟื้นตัวแบบไม่เท่ากัน
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ EIC คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีคือกลุ่มของจำเป็น ได้แก่ ของสด (grocery) และ สินค้าซ่อมบ้านและตกแต่งบ้าน
กลุ่มสินค้าของสดนั้นคาดว่าปี 2565 จะโต 12% YoY ทำให้มูลค่าใกล้เคียงกับปี 2562
ส่วนสินค้าซ่อมบ้านและแต่งบ้านคาดว่าจะโต 4% YoY กลับมาใกล้เคียงปี 2562 เช่นกัน เนื่องจากบ้านที่มีอายุมาก อายุบ้าน 11-20 ปีจะต้องการรีโนเวตครั้งใหญ่ และอายุบ้าน 5-10 ปี จะต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ สองกลุ่มนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 42% ของที่อยู่อาศัย รวมถึงบ้านอายุน้อยกว่า 5 ปีก็มีการตกแต่งบ้านจากเทรนด์ “อยู่บ้าน” มากขึ้น ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตได้
ด้านสินค้าบิวตี้นั้น EIC เชื่อว่าปีนี้จะโต 13% YoY แต่เนื่องจากสองปีที่ผ่านมาตลาดหดตัวอย่างมาก ทำให้การฟื้นตัวนี้ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 ต้องรอให้การกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้นก่อน
สินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และรองเท้าก็เช่นกัน คาดว่าจะโต 14% YoY แต่ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย ยกเว้นตลาดระดับลักชัวรีซึ่งพยุงตัวได้มากกว่า เพราะถึงแม้ว่าลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับมาไม่มากเท่าก่อนเกิดโรคระบาด แต่ในทางกลับกันลูกค้าคนไทยก็หันมาช้อปภายในประเทศแทน เพราะยังไม่สะดวกเดินทางออกต่างประเทศ
จากกลุ่มสินค้าที่มีทั้งกลับมาฟื้นตัวสุดขีด และกลุ่มที่ยังฟื้นแบบช้าๆ ทำให้ช่องทางการขายที่จะได้อานิสงส์มากที่สุดปีนี้คือ “ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต” เพราะเป็นช่องทางขายของสด และผู้ประกอบการมีการปรับโมเดลส่งซูเปอร์ฯ ไซส์เล็กเข้าหาแหล่งชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อจากสาขาใกล้บ้าน (กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจะต้องมีการปรับตัวต่อไป)
ขณะที่ช่องทางที่น่าจะยังซบเซา ฟื้นตัวได้ไม่มาก คือ “ห้างสรรพสินค้า” ซึ่งเป็นแหล่งขายสินค้ากลุ่มแฟชัน-บิวตี้เป็นหลัก รวมถึง “รีเทลขายเครื่องสำอาง” โดยเฉพาะ ยกเว้นร้านกลุ่มดรักสโตร์ที่มีการขายยาและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพด้วย กลุ่มนี้จะยังได้กระแสรักสุขภาพของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาช่วยพยุงยอดขายไว้ได้
ช่องทางที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งคือ “อีคอมเมิร์ซ” EIC คาดว่ามูลค่าตลาดการขายผ่านช่องทางนี้จะโต 24% YoY ในปี 2565 เพราะเป็นช่องทางที่ซื้อสินค้าได้หลากหลาย และเติบโตขึ้นมากจากความสะดวกในช่วงเกิด COVID-19 แม้ว่าจะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่จากการสำรวจความเห็นผู้บริโภคพบว่า 26% จะใช้อีคอมเมิร์ซซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอีกเทียบกับการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และมี 24% ที่จะยังซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยความถี่คงเดิม ทำให้ช่องทางนี้จะยังคงความสำคัญต่อไป
]]>ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง-ตกแต่งบ้านในเครือเซ็นทรัลรีเทลกำลังจะกลับมาโหมตลาดอีกครั้ง หลังผ่อนคันเร่งลงไปในช่วง COVID-19 โดย “สุทธิสาร จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ประกาศเป้าหมายในอนาคต บริษัทต้องการชิงอันดับ 1 ในธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ผ่านแผนการการลงทุน พัฒนาธุรกิจ และลดต้นทุนหลายกลยุทธ์
เป้าหมายในเชิงตัวเลขของซีอาร์ซี ไทวัสดุช่วง 10 ปีต่อจากนี้ คือการทำรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 18% และทำกำไรเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% จากเมื่อปี 2564 บริษัททำรายได้มากกว่า 30,000 ล้านบาท เป้าหมายเหล่านี้ถือเป็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นจากโรคระบาด
บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุเริ่มก่อตั้งจากวิสัยทัศน์ของสุทธิสารที่เล็งเห็นโอกาสในตลาดเมื่อปี 2553 เริ่มต้นจากร้าน “ไทวัสดุ” สาขาแรกใน อ.บางบัวทอง ก่อนจะขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมกับแตกแบรนด์ใหม่ๆ ออกมา ได้แก่ “บ้าน แอนด์ บียอนด์” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บีเอ็นบี โฮม) ขายของตกแต่งบ้านประเภท Soft DIY, “วีฟิกซ์” แผนกบริการงานช่างให้ลูกค้า, “ออโต้วัน” ธุรกิจซ่อมรถ ดูแลรถ และ “โก! ว้าว” (Go! Wow) ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด ที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อปี 2564
สุทธิสารกล่าวว่า เป้าหมายที่วางไว้จะไปถึงได้ด้วย 5 กลยุทธ์ ดังนี้
เจาะกลยุทธ์แต่ละส่วนที่น่าสนใจ ปีนี้ซีอาร์ซี ไทวัสดุเตรียมงบลงทุนถึง 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้กับการซื้อที่ดิน ขยายสาขา รีโนเวตสาขาเดิม และลงทุนด้านเทคโนโลยี
สุทธิสารกล่าวว่า ถือเป็นการลงทุนที่มากใกล้เคียงกับเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทยังขยายตัวสูง และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากช่วง COVID-19 ปี 2564 ซึ่งบริษัทใช้งบลงทุนไปเพียง 2,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังการลงทุน
การขยายสาขาปี 2565 นี้จะเกิดขึ้นในทุกๆ แบรนด์ภายในเครือ โดยรวมทั้งเครือ ณ สิ้นปี 2564 มี 92 สาขา จนถึงสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 183 สาขา โดยแบ่งได้ดังนี้
สำหรับกลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง จะเน้นการเปิด ไทวัสดุโมเดลมาตรฐาน (ร้านใหญ่สีแดง) และจะปรับเซกเมนต์ภายในร้าน ขยายส่วนขายเฟอร์นิเจอร์จาก 200-300 ตร.ม. เป็น 600 ตร.ม. พร้อมกับเปิดแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า และมีโซนพลาซ่าร้านอาหาร-ช้อปปิ้งมากขึ้น เพื่อตอบสนองลูกค้าได้หลากหลาย
นอกจากนี้จะเพิ่มสาขาที่เป็น โมเดลไฮบริดซึ่งรวมไทวัสดุกับบีเอ็นบี โฮมไว้ในสาขาเดียว เพราะพิสูจน์แล้วจากสาขาแรกที่ศรีสมาน หลังเปิดในปี 2564 ทำยอดขายได้ดีกว่าสาขาปกติ พบว่าโมเดลนี้ ‘เวิร์ก’
ส่วน บีเอ็นบี โฮม ที่รีแบรนด์มาจากบ้าน แอนด์ บียอนด์ จะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้เข้าใกล้คนเมืองมากกว่าเดิม มีการเปิดใกล้ๆ หรืออยู่ในศูนย์การค้ามากขึ้น เช่น เซ็นทรัล ราชพฤกษ์ ซึ่งจะก่อสร้างบนที่ดินเดิมของบ้าน แอนด์ บียอนด์ ต่อไปสาขานี้จะรีแบรนด์เป็นบีเอ็นบี โฮม และเข้าไปเป็นร้านค้าภายในศูนย์ฯ แทน
ขณะที่การขยายร้าน ออโต้วัน จะยังคงเกาะไปกับไทวัสดุ จากแนวคิดเดิมที่ร้านซ่อมรถเกิดขึ้นเพื่อ ‘utilize’ ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเห็นโอกาสจาก ‘รถช่าง’ ที่เข้าออกร้านบ่อย
ปิดท้ายกับน้องใหม่ร้าน โก! ว้าว ปีนี้จะเน้นการออกไปเปิดสาขาสแตนด์อะโลนนอกห้างฯ เพื่อทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ๆ (ขณะนี้สาขาเกือบทั้งหมดอยู่ในศูนย์การค้าหรือบีเอ็นบี โฮม)
สุทธิสารกล่าวต่อถึงการขยายคลังสินค้า อ.วังน้อย จ.อยุธยา จากพื้นที่ 120 ไร่ บริษัทยังใช้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ทำให้จะขยายคลังต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายสาขา และการขายออนไลน์ที่สินค้าหลายชิ้นจะส่งออกจากคลังโดยตรง
อีกส่วนที่สำคัญคือการเปลี่ยนมาใช้ “รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า” (EV) จากปัจจุบันฟลีทขนส่งของไทวัสดุมีกว่า 100 คัน เดือนพฤษภาคมนี้จะปรับมาใช้ EV นำร่อง 6 คัน และปี 2566 จะปรับไปใช้ EV เป็น ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของฟลีทรถบรรทุกทั้งหมด รวมถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาทุกสาขา จะปรับให้ครบทั้งหมดภายในปี 2566
สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนให้บริษัท เพราะการใช้รถ EV จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 50% ของค่าพลังงานในการขนส่ง และการใช้โซลาร์รูฟช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 50% เช่นกัน เป็นคีย์หลักในการไปสู่เป้าหมายการทำกำไรเพิ่ม
การเติบโตของตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างปี 2565 ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท สุทธิสารคาดว่าจะโตราว 2-3% แต่ CRC ไทวัสดุ ต้องการโตไม่ต่ำกว่า 13% โตมากกว่าตลาดจากการระดมเปิดสาขาดังกล่าวซึ่งจะช่วยให้ดึงมาร์เก็ตแชร์ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการปรับโมเดล ปรับสินค้าขายให้ครอบคลุมสินค้าหลากหลาย หรือรวมสองแบรนด์ไว้ด้วยกัน มีทั้งวัสดุก่อสร้าง แต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ครบจบในที่เดียว
ส่วนผลกระทบระยะสั้นจากปัจจัยลบที่ยังเรื้อรัง เช่น ฟลีทเรือขนส่งที่ยังมีปัญหา บริษัทได้แก้ปัญหาล่วงหน้าแล้วด้วยการสั่งสินค้านำเข้ามากักตุน ขณะที่ปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างพาเหรดกันขึ้นราคา สินค้าบางตัวที่มีราคาตลาด เช่น เหล็ก ปูน บริษัทไม่สามารถตรึงราคาได้ แต่สินค้าประเภทอื่นจะพยายามตรึงไว้อีก 90 วันเป็นอย่างน้อย เช่น สินค้ากลุ่มโคมไฟ ก๊อกน้ำ เครื่องมือช่าง
“เลี่ยงไม่ได้ที่สินค้าจะราคาขึ้น แต่เราจะพยายามตรึงให้นานที่สุด เพราะถ้าราคาแพงขึ้น เราก็จะขายไม่ได้เหมือนกัน” สุทธิสารกล่าว
]]>สถานการณ์บีบบังคับให้ช่วงที่ผ่านมาทุกคนต้องหาความสุขจากการอยู่ในบ้าน ด้วยเหตุนี้บรรดาของแต่งบ้านโดยเฉพาะ “ต้นไม้” จึงเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคสนใจมากขึ้น
วัดได้จากการค้นคำว่า “ปลูกต้นไม้” “กระบองเพชร” “กระถางต้นไม้” และ “แต่งห้อง” ด้วยเครื่องมือ Google Trends ทั้ง 4 คำมีการค้นหาที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดช่วงหลังวันที่ 28 มีนาคม 63 หลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และขึ้นไปพีคสูงสุดช่วงวันที่ 3-9 พฤษภาคม 63 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มคลายล็อกดาวน์ระยะ 1 ผ่อนปรนเปิดตลาดได้
หากเทียบระหว่างก่อนประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ชุมนุมชนกับช่วงที่คำค้นเหล่านี้ขึ้นไปพีคสูงสุด อัตราการค้นหาสูงขึ้น 25-100% เลยทีเดียว
วันที่ 20 พฤษภาคม 63 Positioning ลงพื้นที่ “ตลาดต้นไม้จตุจักร” ที่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดทำการเป็นสัปดาห์ที่สอง เพื่อสอบถามยอดขายที่แท้จริงเทียบกับกระแสในอินเทอร์เน็ตว่าสอดคล้องกันหรือไม่ ปรากฏว่า ร้านค้าทุกร้านขายดีขึ้นกว่าช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดตลาดป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยส่วนใหญ่บอกว่า “ขายดีขึ้นเท่าตัว” และสำหรับร้านที่เปิดขายออนไลน์ควบคู่ยิ่งได้ประโยชน์
นุชนาฏ ศรีสุวรรณ เจ้าของร้าน CACTUSHOME_X เปิดขายในตลาดต้นไม้จตุจักรมา 1 ปี จำหน่ายเฉพาะต้นกระบองเพชร บอกกับเราว่า “เซอร์ไพรส์” มากที่คนสนใจต้นไม้มากขึ้น จากเดิมเกรงว่าจะมียอดขายต่ำลงเพราะลูกค้าอาจจะประหยัดค่าใช้จ่าย ในทางตรงข้าม ตั้งแต่มีการกักตัวอยู่บ้านเธอมีรายได้ดีขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว จากปกติทำกำไรได้วันละ 5,000 บาท ขึ้นมาเป็น 10,000 บาท บางวันมากกว่าปกติ 2-3 เท่า
ช่วงที่ตลาดต้นไม้จตุจักรปิดไป นุชนาฏหันไปขายผ่านหน้าร้าน “ออนไลน์” แทน โดยสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นด้วยจากการปรับราคาขึ้น 50% เช่น เดิมขายอยู่ที่ตลาดในราคา 100 บาท ปรับเป็น 150 บาท แต่กลับขายดีกว่าเดิม แม้ตลาดจะกลับมาเปิดทำการแล้วแรงซื้อก็ยังไม่ตก
ส่วนร้านที่เน้นขายส่งในตลาดที่ได้สอบถามมาพบว่า ไม่มีการปรับไปขายออนไลน์แทนในรอบเกือบ 2 เดือนที่ปิดตลาดจตุจักรไป ทำให้ไม่มีรายได้หรือมีน้อยมาก โดยมาจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่ยังให้จัดส่งอยู่ แต่หลังจากเปิดตลาดอีกครั้งพบว่ายอดขายพุ่งจากช่วงก่อนปิดตลาดเช่นกัน
“เปิดมาก็ขายดีเลย ไม่ถึงกับเพิ่มเท่าตัวแต่ก็ดีขึ้น ส่วนใหญ่เป็นขาประจำที่รับไปขายต่อ คาดว่าหน้าร้านเขาคงจะขายหมดแล้ว กลุ่มนี้จะมารับไปเยอะมาก” ข้อมูลจากร้านพี่มะยมที่เปิดขายต้นไม้และกระถางในจตุจักรมานานกว่า 10 ปี
อย่างไรก็ตาม พ่อค้าแม่ค้าก็มีความกังวลว่ากระแสอาจจะเริ่มลดลงหลังจากนี้ โดย “สมนึก หรุ่นรุ่งเรือง” เจ้าของ ร้านสมนึกพฤกษา เปิดขายไม้ดอกมานานกว่า 35 ปี กล่าวว่า สัปดาห์แรกหลังเปิดตลาดทำยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเท่าตัว จากวันละ 10,000 บาทเป็น 20,000 บาท แต่มาถึงสัปดาห์ที่สองเริ่มซาลงไป เหลือวันละ 17,000-18,000 บาท
สมนึกกล่าวว่า ลูกค้าขาจรเริ่มลดลงในสัปดาห์ที่สอง อาจเพราะศูนย์การค้าเริ่มเปิดทำการแล้ว ทำให้ลูกค้าเลือกเดินห้างฯ มากกว่าเดินตลาด
จากการเดินสำรวจตลาดต้นไม้จตุจักร เราพบว่า กลุ่มวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว ที่มาเดินเลือกซื้อมีไม่น้อยเลยทีเดียว และพ่อค้าแม่ค้าต่างยืนยันว่าพบคนหนุ่มสาวเข้ามาเดินหาซื้อเพิ่มขึ้น จากปกติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ามาซื้อราคาส่งเพื่อไปขายต่อ
แล้วทำไมจึงเป็น “ต้นไม้” เมื่อพูดถึงการแต่งห้อง? กระแสหนึ่งที่มาแรงในหมู่วัยรุ่น-วัยหนุ่มสาวในช่วงที่ผ่านมาคือ การแต่งห้องสไตล์เกาหลีแบบมินิมอลๆ ประกอบด้วยห้องสีเอิร์ธโทน สีขาว เบจ น้ำตาล เทา และมักจะใช้ต้นไม้สีเขียวประดับห้องให้ดูสดชื่น ใกล้ชิดธรรมชาติ
กระแสแต่งห้องสไตล์นี้มีมาแล้ว 1-2 ปี แต่เมื่อการแต่งห้องเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ที่นิยมในช่วงกักตัว ยิ่งทำให้เทรนด์ห้องแนวเกาหลี/มินิมอลมาแรง
โดยมีคอนเทนต์ประเภท “Room Tour” หรือการที่อินฟลูเอนเซอร์/คนดังในโลกออนไลน์พาชมการแต่งห้องของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบวิดีโอหรือรูปถ่าย และมักจะมีต้นไม้อยู่ในนั้น ทำให้วัยรุ่นหันมาสนใจ “ปลูกต้นไม้” มากกว่าเดิม โดยเฉพาะต้นไม้กลุ่มที่เลี้ยงง่ายและปลูกไว้ในห้องได้ เช่น กระบองเพชร พลูด่าง มอนสเตร่า กวักมรกต ฯลฯ
เทรนด์ผู้บริโภคแบบนี้อาจจะยังเป็นที่สนใจอีกระยะหนึ่ง เมื่อชีวิตคนยังไม่กลับมาเป็นปกติและต้องอยู่ในบ้านเป็นหลัก เป็นโอกาสของพ่อค้าแม่ค้าและนักการตลาดที่อาจจะปรับสินค้าให้เข้าเทรนด์ฮิตแบบนี้กันได้!
]]>“มร.แยป ดูร์บวส” รองผู้อำนวยการธุรกิจค้าปลีก อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า บริษัททุ่มงบลงทุน 6,300 ล้านบาท ขยายอิเกีย บางใหญ่ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายหลักคนกรุงเทพฯ โซนตะวันตก รวมถึงนนทบุรี ซึ่งดีเดย์ให้บริการอย่างเป็นทางการมีนาคมปีหน้า และคาดว่าจะมาใช้บริการประมาณ 4 ล้านคนต่อปี
สำหรับไฮไลต์ของสาขาดังกล่าวมีพื้นที่ 50,278 ตารางเมตร (ตร.ม.) ส่งผลให้เป็นสาขา “ใหญ่สุด” ในภูมิภาคอาเซียน แซงหน้าสาขาที่ยะโฮร์ บาห์รู ประเทศมาเลเซีย ส่วนภายในสโตร์จะมีการเพิ่มจุดเด่นตั้งแต่การแก้โจทย์ชำระเงินในทุกชั้น รวมจำนวน 29 เคาน์เตอร์ มากกว่าบางนา มี 24 เคาน์เตอร์ จะข่วยให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ไม่ต้องการเดินวนตามลูกศรเพื่อช้อปปิ้งจนจบแล้วไปจ่ายเงินเหมือนสาขาบางนา
นอกจากนี้ ทางเข้าห้างยังมีถึง 6 จุด และมีการเชื่อมต่อกับห้างเซ็นทรัลเวสต์เกตด้วย เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ลูกค้าต้องการเข้าไปยังส่วนไหนก่อนก็ได้ เช่น ดูเฟอร์นิเจอร์ หรือรับประทานอาหาร รวมทั้งมีการเพิ่มร้านอาหารอิเกีย 2 จุด เนื้อที่ 2,785 ตร.ม. มากกว่าสาขาที่บางนา ที่มีมีเพียงร้านเดียว อีกทั้งยังมีเมนูอาหารสวิดิชที่จำหน่ายเฉพาะสาขาบางใหญ่ ดึงดูดลูกค้าด้วย
ส่วนการตกแต่งห้องตัวอย่าง ตอบสนองคนในพื้นที่บางใหญ่มากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคย่านนี้อยู่อาศัยบ้าน จึงต้องมีห้องตัวอย่างขนาดใหญ่ เทียบกับในเมืองจะเป็นห้องตัวอย่างขนาดเล็ก
“การขยายสาขาห้างอิเกียใหม่ๆ จะส่งผลให้ขีดความสามารถการแข่งขันของสโตร์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงจับกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น โดยเมื่อรวม 2 สาขาที่เปิดให้บริการบางนาและบางใหญ่ จะส่งผลให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า 7.8 ล้านคนต่อปี”
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการขยายลงทุนอิเกีย สาขาที่ 3 ในกรุงเทพฯ เพิ่มเติมด้วย และภายใน 5 ปี ยังเตรียมเพิ่มศูนย์รับส่งสินค้า (Pick-up & Order Point) เป็น 5 แห่ง ส่วนในอาเซียน เตรียมไปเปิดสาขาที่ประเทศฟิลิปปินส์ จากปัจจุบันมีสาขาให้บริการ 6 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ 2 มาเลเซีย 3 และไทย 1
“เหตุผลที่ทำให้อิเกียประสบความสำเร็จในการเป็นห้างเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านที่มีสาขา 423 แห่ง ใน 29 ประเทศทั่วโลก เพราะเราเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค ก่อนการเปิดตัวโลเกชั่นไหน จะต้องไปศึกษาตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ ว่าใช้ห้องครัว ห้องนั่งเล่นอย่างไรบ้าง แล้วนำความชอบทั้งหมดมาวิจัย เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย”
สำหรับอิเกีย ประเทศไทย เปิดให้บริการมา 6 ปี ในปี 2559 บริษัทมีรายได้ในปี 2559 กว่า 4,700 ล้านบาท เติบโต 8.94% มีกำไรสุทธิกว่า 300 ล้านบาท เติบโตกว่า 167% และรายได้ในไทยมีสัดส่วน 28% เทียบทั้งภูมิภาค
1. อิเกีย บางใหญ่ มีพื้นที่ 50,278 ตารางเมตร (ตร.ม.) ใหญ่สุดในภูมิภาค “แซงหน้า” อิเกีย ยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่สโตร์ประมาณ 46,000 ตร.ม.
2. พฤติกรรมผู้บริโภคที่ช้อปปิ้งในอิเกีย ทั่วโลกใช้เวลาเฉลี่ย 61 นาที ส่วนในประเทศไทยใช้เวลาเฉลี่ย 90 นาที
3. เพิ่มจุดชำระเงินทุกชั้น รวม 29 จุด มากกว่าอิเกีย บางนาซึ่งมี 24 จุด เพื่อที่ลูกไม่ต้องเดินวนตามลูกศรที่ห้างกำหนดไว้จนจบแล้วค่อยจ่ายเงิน ลูกค้าพอใจสินค้าตอนไหน สามารถซื้อและออกไปจ่ายเงินได้ทันที
4. เพิ่มร้านอาหารอิเกีย 2 จุด พื้นที่รวม 2,785 ตร.ม. มากกว่าอิเกีย บางนา ที่มีเพียงจุดเดียว พร้อมนำเสนอเมนูอาหารสวีเดนมาทำตลาดที่นี่เพียงแห่งเดียว เพื่อดักลูกค้าที่ช้อปเฟอร์นิเจอร์ให้แวะพักแล้วกลับไปช้อปใหม่วนไป
5. ปี 61 ลงทุนแพลตฟอร์ม อิเกีย อีคอมเมิร์ซ เป็นของตัวเอง เพื่อบุกตลาดออนไลน์ในประเทศไทยต่อจากสิงคโปร์ โดยการจัดส่งสินค้ายังคงคิดค่าบริการเหมือนปัจจุบัน หลังให้บริการตั้งเป้ามีคนเข้าชมเว็บไซต์แตะ 1 ล้านคน
6. จะขยายสาขาใหม่แห่งที่ 3 ในทำเลกรุงเทพฯ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายบริษัทต้องการมีสาขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12 แห่ง ภายใน 7 ปี และเตรียมปักหมุดในฟิลิปปินส์เร็วๆ นี้
7. ภายใน 5 ปี วางแผนเพิ่มศูนย์รับส่งสินค้า (Pick-up & Order Point) เป็น 5 แห่ง จากปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียวที่จังหวัดภูเก็ต
8. อิเกีย บางใหญ่ ตั้งเป้ากวาดกลุ่มเป้าหมายในย่านกรุงเทพฯ ตะวันตก นนทบุรี 4 ล้านคน แต่ถ้ารวม 2 สาขา อิเกีย บางใหญ่ และบางนา คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการกว่า 7.8 ล้านคน
9. อิเกีย ประเทศไทย มีรายได้ในปี 2559 กว่า 4,700 ล้านบาท เติบโต 8.94% มีกำไรสุทธิกว่า 300 ล้านบาท เติบโตกว่า 167% และรายได้ในไทยมีสัดส่วน 28% เทียบทั้งภูมิภาค รองจากมาเลเซีย 36% และสิงคโปร์ 38% ขณะที่จำนวนพื้นที่ห้างค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย เป็นเบอร์ 2 รองจากมาเลเซีย ซึ่งขับเคี่ยวการเติบโตสูสีกัน