สินค้าอุปโภคบริโภค – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 21 Jan 2022 13:56:39 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 2022 เป็นปีที่ “ไม่แย่” สำหรับสินค้า FMCG คาดโต 2.1% บทวิเคราะห์จาก Kantar https://positioningmag.com/1371214 Fri, 21 Jan 2022 12:24:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371214 Kantar Worldpanel คาดการณ์ตลาดสินค้าของกินของใช้ FMCG ในไทยปี 2022 น่าจะเป็นอีกปีที่ “ไม่แย่” เติบโตได้ 2.1% หากการระบาดของโอมิครอนไม่รุนแรงจนต้องล็อกดาวน์ และภาวะเงินเฟ้อราคาอาหารเป็นผลระยะสั้น แต่หากปัจจัยลบสูง อาจติดลบเล็กน้อย -0.2%

“สุริยา อ้นมงคล” Head of Expert Solutions, Kantar, Worldpanel Division ประเทศไทย เปิดเผยการคาดการณ์ของบริษัท จากการใช้ชุดข้อมูลเชิงลึกผนวกกับการใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง คาดว่าตลาด FMCG ในไทยปี 2022 จะเติบโต 2.1% โดยให้ปัจจัยอัตราเงินเฟ้อราคาอาหารเป็นภาวะระยะสั้น และการระบาดของโอมิครอนไม่มีผลสำคัญต่อการควบคุมการเดินทางหรือใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัจจัยลบคืออัตราเงินเฟ้อราคาอาหารและต้นทุนเชื้อเพลิงเกิดขึ้นยาวนาน โดยที่รัฐไม่มีหรือลดโครงการเงินอุดหนุน จะทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลต่อภาระที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขาย FMCG อาจติดลบได้ถึง -0.2% หรือบวกได้ไม่เกิน 0.1%

FMCG

ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา FMCG เคยทำยอดขายเติบโตสูงสุด 3.4% ทำให้ถ้าหากการเติบโตปีนี้อยู่ที่ 2.1% ถือว่าเป็นปีที่ “ไม่แย่” นักสำหรับตลาดของกินของใช้

ด้านปัจจัยบวกต่อ FMCG รูปแบบพฤติกรรมที่ผ่านมาพบว่า การเปิดโครงการเงินอุดหนุนของรัฐจะเป็นผลบวกต่อ FMCG ทำให้ประชาชนจับจ่ายสินค้ามากขึ้น และถ้ามีแนวโน้มจะล็อกดาวน์ ประชาชนมักจะซื้อสินค้าเพื่อกักตุน

 

ช่องทาง “อี-คอมเมิร์ซ” เติบโตสูง

อีกประเด็นที่น่าสนใจในตลาด FMCG เมื่อปี 2021 พบว่า ช่องทางการขายสินค้าของกินของใช้ผ่าน “อี-คอมเมิร์ซ” ในไทยโตสูงถึง 38% YoY มากกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียที่โต 27.7% YoY ซึ่งเกิดจากการปรับตัวของผู้ขายมาตั้งแต่ปี 2020 เริ่มปรับกลยุทธ์การตลาดให้แม่นยำผ่านสื่อดิจิทัล ประกอบกับการระบาดเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมตนเอง

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องจับตาว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อ FMCG ได้แก่

  • Mobility Trends ข้อมูลจาก Google เมื่อเดือนมกราคม 2022 พบว่า การเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ทำงานลดลง -14% แต่การเคลื่อนที่ในแหล่งที่อยู่อาศัยกลับเพิ่มขึ้น 4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนจำนวนหนึ่งยังมีพฤติกรรมทำงานจากบ้านอยู่
  • จับตาจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องการอัดแคมเปญดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศปีนี้ 5-15 ล้านคน จะทำรายได้ด้านการท่องเที่ยว 1.3-1.8 ล้านล้านบาท (ทั้งนี้ ศบค. ปรับมาตรการล่าสุด กลับมาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศในระบบ Test & Go ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้)
]]>
1371214
5 “ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค” ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดบน “ทวิตเตอร์” ปี 2563-64 https://positioningmag.com/1347343 Tue, 17 Aug 2021 15:52:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1347343 “ทวิตเตอร์” เป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมเป็นลำดับต้นๆ และนักการตลาดเริ่มหาทางบุกเข้าไปทำการตลาดได้มากขึ้น นี่คือ 5 ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคที่คนไทยพูดถึงมากที่สุด เป็นโอกาสของแบรนด์ที่จะเข้าถึงผู้บริโภค

อันดับ 1 อาหารสำเร็จรูป >> แบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ 1.แม็กกี้ 2.เลย์ 3.คนอร์ 4.เนสท์เล่ 5.วอลล์

อันดับ 2 เครื่องดื่ม >> แบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ 1.เป๊ปซี่  2.เนสกาแฟ 3.ดัชมิลล์ 4.ซังซัง 5.แลคตาซอย

อันดับ 3 ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม >> แบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ 1.ซันซิลก์ 2.แพนทีน 3.เฮด แอนด์ โชลเดอร์ 4.โดฟ 5.เคลียร์

อันดับ 4 ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิว >> แบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ 1.คีลส์ 2.ยูเซอริน 3.การ์นิเย่ 4.ลอรีอัล 5.โอเลย์

อันดับ 5 ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน >> แบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ 1.ดาวนีย์ 2.แอทแทค 3.บรีส 4.คอมฟอร์ท 5.เอสเซ้นซ์

 

“พฤติกรรมผู้บริโภค” บนทวิตเตอร์ที่น่าสนใจ

  1. “ผู้หญิง” จะทวีตข้อความเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่าผู้ชาย
  2. กลุ่มที่สนใจสินค้าอุปโภคบริโภค มักจะมีความสนใจอื่นๆ ที่ตรงกัน 2 เรื่องคือ “ดนตรี” กับ “ศิลปะ”
  3. การใช้เซเลปสร้างบทสนทนาและสร้างสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค คือวิธีที่ดีมากบนทวิตเตอร์
  4. คนไทยบนทวิตเตอร์สนใจซื้อและลอง “ของใหม่” มีความต้องการเป็นผู้นำเทรนด์ ใช้แล้วรีวิวต่อ
  5. คนไทยสนใจ “สุขภาพ” มากขึ้นในปีนี้ ทั้งเทรนด์อาหารสุขภาพ และการดูแลบ้านให้สะอาดปลอดโรค

หมายเหตุ : ข้อมูลจาก Twitter Thailand สำรวจระหว่างวันที่  1 ม.ค. 2563 – 31 พ.ค. 2564

]]>
1347343
โตดีเพราะล็อกดาวน์! ลูกค้าเลือกช่องทาง “ออนไลน์” ซื้อของกินของใช้สูงขึ้นในปี 2020 https://positioningmag.com/1328686 Wed, 21 Apr 2021 11:51:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328686 Kantar เปิดข้อมูลการซื้อสินค้า “ของกินของใช้” ประเภท FMCG ปี 2020 พบว่า ช่องทาง “ออนไลน์” กลายเป็นช่องทางเติบโตสูงในการซื้อสินค้ากลุ่มนี้ โดยการเติบโตสอดคล้องกับมาตรการ “ล็อกดาวน์” ทวีปยุโรปโตแรงที่สุด ส่วนทวีปเอเชียมีสัดส่วนการซื้อผ่านออนไลน์สูงที่สุด

บริษัทวิจัย Kantar เก็บข้อมูลจาก 26 ประเทศทั่วโลก รวมประเทศไทย วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าประเภท FMCG ในปี 2020 พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ช่องทาง “ออนไลน์” กลายมาเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเลือกใช้มากขึ้นในการซื้อสินค้ากลุ่มนี้

โดยคาดว่าสอดคล้องกับมาตรการ “ล็อกดาวน์” ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องการอยู่บ้านให้มากขึ้น ลดการออกไปในที่ชุมชน ทำให้ทั่วโลกมีการซื้อสินค้า FMCG ผ่านช่องทางออนไลน์คิดเป็นสัดส่วน 12% ของการซื้อทั้งหมด ถือเป็นการเติบโตที่ปกติต้องใช้เวลา 2 ปีจึงจะโตได้เท่านี้

เมื่อแบ่งออกเป็นทวีปต่างๆ พบว่าทวีป “ยุโรป” โตมากที่สุด แม้จะยังมีสัดส่วนจากออนไลน์น้อยเพียงแค่ 9% แต่ในรอบปีก่อนโตเทียบเท่ากับที่ปกติต้องใช้เวลาถึง 9 ปี

อย่างไรก็ตาม ผู้นำในตลาดนี้คือ “เอเชีย” ซึ่งมีสัดส่วนการซื้อ FMCG ผ่านออนไลน์สูงที่สุดถึง 22% ปีก่อนมีการเติบโตมากกว่าปกติเช่นกัน โดยโตเทียบเท่ากับปกติต้องใช้เวลา 1 ปีกับอีก 3 ไตรมาส

เป็นไปได้ว่าทวีปยุโรปมีการเติบโตที่สูงมาก เพราะเป็นภูมิภาคที่เผชิญการล็อกดาวน์บ่อยครั้งและนานที่สุดเมื่อปีก่อน ทำให้ต้องพึ่งพิงการซื้อออนไลน์มากขึ้นเมื่อต้องการของกินของใช้ในบ้าน

 

FMCG ขายดีเพราะ ล็อกดาวน์

ไม่เพียงแต่ช่องทางออนไลน์ที่โต ภาพรวมในปี 2020 สัดส่วน 2 ใน 3 ของสินค้า FMCG ทั่วโลกมียอดขายที่สูงขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่เติบโตมากที่สุดปีก่อน ได้แก่ เนื้อสัตว์บรรจุกระป๋อง, ซุปกระป๋อง, น้ำยาฟอกขาว, ผ้าอ้อมผู้ใหญ่, ซอสมะเขือเทศ, น้ำตาลและสารให้ความหวาน, อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง กลุ่มนี้โตมากกว่า 10%

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ยอดขายตก สอดคล้องกับกิจวัตรที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้สินค้าประเภทเครื่องสำอาง, น้ำหอม และผลิตภัณฑ์กันแดด ติดลบมากกว่า 10%

ทั้งนี้ มีบางประเทศที่เทรนด์ไม่เป็นไปตามสถานการณ์โลก ได้แก่ จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ โคลัมเบีย และเอกวาดอร์ ที่สินค้า FMCG กลับมียอดขายลดลง ส่วนประเทศอื่นๆ เป็นไปตามที่กล่าวข้างต้น

Kantar มองว่า สำหรับยอดขายสินค้า FMCG ไตรมาส 1 ปี 2021 ทั่วโลกจะโตประมาณ 10% โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม นม และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ยังโตได้ต่อเนื่อง

แต่คาดว่าทั้งปี 2021 กลุ่มที่เคยขายดีเหล่านี้จะชะลอการเติบโตลง โดยอาจจะติดลบ 1-2% ขณะที่กลุ่มบิวตี้ที่เคยติดลบเมื่อปีก่อนจะกลับมาโต 6% เหตุเพราะว่าโลกน่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการการล็อกดาวน์อย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคระบาดอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และมีผลต่อการขาย “ของกินของใช้” เหล่านี้

]]>
1328686
“ยูนิลีเวอร์” ขอ Go Green ลดใช้พลาสติก คัมแบ็ก “ไลฟ์บอย” เติมพอร์ตไฮยีนสู้ไวรัส https://positioningmag.com/1310208 Tue, 15 Dec 2020 15:38:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1310208 ความเคลื่อนไหวของยูนิลีเวอร์” (Unilever) ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก ท่ามกลางช่วงวิกฤต COVID-19 เเละทิศทางต่อไปจากนี้ เป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทยซึ่งเป็นตลาดสำคัญในภูมิภาคอาเซียน

โรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยและอาเซียน กล่าวว่า เเม้ภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่หลายฝ่ายมองว่าจะติดลบในปีนี้ และอาจจะต่อเนื่องไปปีหน้า จากผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19 เเละสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอน แต่บริษัทยังมองบวก สำหรับประเทศไทย 

โดยเส้นทางการทำงานของ “โรเบิร์ต” นั้น เขาเป็นลูกหม้อที่เติบโตมากับยูนิลีเวอร์มากว่า 2 ทศวรรษ ตั้งเเต่สมัยเข้ามาเป็นเด็กฝึกงานในเเคนาดา โยกย้ายเปลี่ยนผ่านมาหลายประเทศทั่วโลก จนกระทั่งได้มากุมบังเหียนดูเเลตลาดไทยเเละอาเซียน เมื่อ 4 ปีก่อน

“ตั้งแต่ทำงานที่ยูนิลีเวอร์มา 23 ปี ผมไม่เคยเจอปัญหาที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ปีนี้เป็นปีที่ท้าทาย และยากลำบากมากสำหรับทุกคน ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตนี้จะจบลงเมื่อไหร่ ธุรกิจจึงต้องมีเเผนสำรอง หลายแผนเตรียมไว้ปรับใช้ในทุกสถานการณ์” 

โรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ประเทศไทยและอาเซียน

ปั้นสินค้าไฮยีนคืนชีพไลฟ์บอย

ยูนิลีเวอร์ ผลิตและขายสินค้าภายใต้แบรนด์กว่า 400 แบรนด์ทั่วโลก โดยมีพนักงานกว่า 150,000 คน โดยในแต่ละวันมีผู้ใช้สินค้ากว่า 2.5 พันล้านคน

ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ยอดขายของยูนิลีเวอร์ในไทยยังเติบโตด้วยดีและสูงสุดในรอบ 10 ปีก็ว่าได้ (ในเเง่มาร์เก็ตเเชร์) เพราะเรามีการปรับตัว ปรับกลยุทธ์ใหม่

โดยกลยุทธ์ใหม่หลัก ๆ คือ การปรับมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัย และการฆ่าเชื้อที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงในตลาดรวมถึงการนำสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาด เช่น โปรแม็กซ์น้ำยาฆ่าเชื้อ

รวมทั้งได้นำสินค้าแบรนด์ไลฟ์บอยสบู่ในตำนานกว่า 126 ปี แต่ห่างหายจากตลาดไทยกว่า 40 ปี กลับมาทำตลาดใหม่อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นสินค้าที่มีแบรนด์น่าเชื่อถือผู้บริโภครู้จักอยู่แล้ว เเละมองว่าเป็นสูตรที่ดีควรนำมาพัฒนาให้เป็นสินค้าทำความสะอาดที่เหมาะต่อสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน

ผลิตภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์ “ไลฟ์บอย”

ขณะที่สินค้าบางรายการยังถือว่าเติบโตค่อนข้างมากสวนทางกับตลาดรวมของ FMCG อย่างเช่น ผงซักฟอกโอโม ซึ่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้สูงสุดรอบ 10 ปี เเละผงซักฟอกมีส่วนเเบ่งการตลาดสูงสุดรอบ 5 ปี 

นอกจากนี้ ยูนิลีเวอร์ ยังมุ่งเน้นไปที่สินค้ากลุ่มอาหารเช่น มีการออกเครื่องปรุงรสใหม่ ตอบโจทย์ลูกค้าที่หันมาทำอาหารเองที่บ้าน รวมถึงการเพิ่มกำลังผลิตในส่วนสินค้าทานที่บ้านอย่างเเยมทาขนมปัง คนอร์ข้าวต้มที่เพิ่มคุณค่าทางอาหาร ฯลฯ

ส่วนอีกโจทย์ใหญ่ที่ยูนิลีเวอร์ต้องเเก้ในช่วงวิกฤต COVID-19 คือ ธุรกิจไอศกรีม ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เมื่อประเทศไทยขาดนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนเหลือเพียง 6 – 7 ล้านคนต่อปีเท่านั้น

ไตรมาส 2 นับเป็นเป็นช่วงที่แย่มาก เเหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ถ้าไม่มีชาวต่างชาติเเล้วใครจะซื้อไอศกรีมทาน จึงมีการปรับกลยุทธ์ให้ wall’s man (พี่ติมวอลล์กระจายไปขายถึงหน้าบ้านคนไทยให้มากที่สุด เเละได้ออกผลิตภัณฑ์เป็นไซส์ใหญ่สำหรับทานที่บ้านมากขึ้น

ปรับลดราคา ชู “ร้านติดดาว-พี่ติมวอลล์” 

โรเบิร์ต เล่าอีกว่า ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในไทยตอนนี้ มีการเปลี่ยนเเปลงที่สำคัญ คือ การที่กำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยมีเงินซื้อของในราคาที่ต่ำลง ส่วนคนมีกำลังซื้อสูงก็มองหาสินค้าพรีเมียมจึงเกิดช่องว่างทางตลาด

ดังนั้น แบรนด์จึงต้องตอบโจทย์ให้ตรงใจ พร้อมดำเนินเเผนลดราคาเพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นช่วยแบ่งเบาด้านค่าครองชีพให้ผู้บริโภคในยามที่เศรษฐกิจซบเซา

แม้หลายบริษัทจะชะลอการลงทุน แต่ยูนิลีเวอร์ยังคงเดินหน้าลงทุนในไทยต่อไป เพื่อรองรับเทรนด์ผู้บริโภคหลัง COVID-19 เเละก่อให้เกิดการสร้างงาน

ทิศทางการสร้างงานของยูนิลีเวอร์ในไทย คือ การให้ความสำคัญกับ “ร้านติดดาว และโครงการ wall’s man (พี่ติมวอลล์) 

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้สนับสนุนสภาพคล่องทางการเงินของพันธมิตรทางธุรกิจด้วยการยืดระยะเวลาชำระเงินเป็นพิเศษและการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยร้านค้าโชห่วยผ่านโครงการร้านติดดาว

ส่วนโครงการ Wall’s man (พี่ติมวอลล์) นั้นถือว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีผู้ที่ตกงานในช่วง COVID-19 มาสมัครเข้าร่วมเยอะขึ้นเเละกลยุทธ์การส่งไอศกรีมให้กับผู้บริโภคถึงบ้านก็เติบโตได้ดีตามกระเเสนิยมเดลิเวอรี่

ปีหน้า…ทุ่มโฆษณาหนัก ๆ 

ผู้บริหารยูนิลีเวอร์ บอกว่า ในปีหน้ากลยุทธ์ธุรกิจจะเร่งเครื่องมากขึ้น โดยจะมีการสร้างสินค้าใหม่ต่อยอดความต้องการในช่วงวิกฤตโรคระบาด เช่น กลุ่มสินค้าไฮยีน สินค้าเพื่อสุขภาพ เเละจะมีการลงทุนเพิ่มเพื่อกระตุ้นการบริโภค

ในไตรมาส 3 ปีนี้ เห็นได้ชัดว่าการเติบโตกลับมาเป็นบวก ยูนิลีเวอร์จึงได้ทุ่มงบโฆษณามากขึ้นสูงกว่าปีก่อน เพื่อกระตุ้นตลาด เเละเเน่นอนว่าในปีหน้าเราจะรุกตลาดเข้มข้นขึ้นกว่านี้เเน่นอน 

โดยความท้าทายที่สุดตอนนี้ เขามองว่าคือความไม่เเน่นอนของตลาดซึ่งเป็นปัจจัยต่อการขับเคลื่อนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้เเละต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยบริษัทต้องมีเเผนสำรองไว้เสมอ ซึ่งไม่อาจระบุเเน่ชัดได้ เพราะต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เพื่อผลักดันผลประกอบการให้เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนและสังคม

ปีหน้าเราต้องทำงานให้สอดคล้องกับความผันผวนต่าง ๆ ปรับรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเเปลงไป นำเสนอสินค้าที่เป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค รวมถึงรุกการสื่อสาร ทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนการลงทุนในฐานะผู้นำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของโลก

Photo : Shutterstock

ยูนิลีเวอร์ Go Green มุ่งเปลี่ยนระบบอาหารโลก

ยูนิลีเวอร์ได้ประกาศพันธกิจใหม่ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย โดยมีเป้าหมายในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเพื่อคนรุ่นหลัง

โดยภายในปี 2030 ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและซักผ้าทั้งหมดของยูนิลีเวอร์จะเลิกใช้คาร์บอนที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วเปลี่ยนไปใช้คาร์บอนหมุนเวียนหรือที่มาจากการรีไซเคิลแทน

พร้อมจัดตั้งกองทุนมูลค่า 1 พันล้านยูโรสำหรับโครงการ Clean Future เพื่อใช้ในการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และของเสียการใช้สารเคมีคาร์บอนต่ำ

รวมถึงการคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำและย่อยสลายทางชีวภาพได้ ลดขยะอาหารจากกระบวนการผลิตและเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี 2 เท่า

นอกจากนี้ ยูนิลีเวอร์ยังมุ่งเปลี่ยนแปลงระบบอาหารทั่วโลกโดยภายในปี 2025 จะลดปริมาณขยะอาหารจากกระบวนการผลิตโดยตรง นับตั้งแต่ที่โรงงานไปจนถึงชั้นวางของในร้านค้าให้ได้ครึ่งหนึ่งทั่วโลก รวมถึงเดินหน้าลดแคลอรี ปริมาณเกลือและน้ำตาลในทุกผลิตภัณฑ์ลง ผ่านพันธกิจ “Future Food” 

ในส่วนยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจมาครบรอบ 88 ปีนั้น จะเดินหน้าแผนงานระยะกลางยาว เพื่อสร้างความยั่งยืนและลดปริมาณการใช้ขยะ โดยจะมีการลดขยะพลาสติกกว่า 1,400 ตัน และการสร้างอุปสงค์สำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ PCR มากถึง 4,000 ตัน

เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งของ ‘ซันไลต์’ เป็นขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100%

ในปีที่แล้วยูนิลีเวอร์ ได้ประกาศพันธกิจในด้านพลาสติก โดยมุ่งลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่ง และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ใช้ซ้ำได้ หรือย่อยสลายได้ ให้ได้ 100% นอกจากนี้ยังต้องเก็บรวบรวมพลาสติกและนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ให้ได้มากกว่าปริมาณที่จำหน่ายออกไป

ผู้บริโภคยุคใหม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อมมากขึ้น เเละเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพต่อตัวเองเเละต่อโลก เหล่านี้เป็นเทรนด์ที่จะขยายต่อไปในอนาคต

นี่คือทิศทางต่อไปของยูนิลีเวอร์ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเบอร์หนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงครั้งใหญ่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกอย่างเเน่นอน

 

]]>
1310208
จับตาเทรนด์ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ‘ออนไลน์’ ที่อาจเป็นพฤติกรรม ‘ถาวร’ แม้หมด COVID-19 https://positioningmag.com/1282029 Fri, 05 Jun 2020 03:01:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1282029 การซื้อของออนไลน์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เกิดกับสินค้า อุปโภคบริโภค มากนัก โดยคนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อจับจ่ายด้วยตัวเอง แต่หลังจากที่ทั่วโลกเจอกับ COVID-19 ส่งผลให้ห้างร้านบางส่วนต้องปิดตัวลงชั่วคร่าว ส่งผลให้ผู้บริโภคบางรายต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์เป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ Procter & Gamble หรือ P&G หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ อาทิ แพนทีน (Pantene) และ ยิลเลตต์ (Gillette) รวมถึง เนสท์เล่ (Nestlé) บริษัทอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของแบรนด์อย่าง Häagen-Dazs และ Nescafé ต่างกำลังคาดการณ์ถึงพฤติกรรมใหม่ ที่อาจเป็นนิสัย ‘ถาวร’ ของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรค COVID-19

หลายข้อมูลพบว่า การเปลี่ยนไปซื้อออนไลน์กำลังเร่งผู้บริโภคให้ซื้อผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยร้านขายของชำในสหราชอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดสามแห่งมียอดการจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า 500,000 ออเดอร์ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 30% ขณะที่ยอดขายผ่านออนไลน์ของเนสท์เล่ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 30% ในช่วงสามเดือนแรกของปี ขณะที่ P&G เติบโต 35% ในช่วงเวลาเดียวกัน

“วิกฤติ COVID-19 นั้นน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ก้าวหน้าสำหรับการขายอาหารและเครื่องดื่มออนไลน์ เนื่องจากมันทำให้ผู้ที่ไม่เคยซื้อของชำออนไลน์ค้นพบว่ามันสะดวกเพียงใด” มาร์ก ชไนเดอร์ ซีอีโอ เนสท์เล่ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในสภาพแวดล้อมที่เกือบทุกอย่างเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน พฤติกรรมการซื้อแบบใหม่นั้นจะมาแบบชั่วคราว หรือว่าหลังจากมีวัคซีนแล้วคนก็ยังซื้อออนไลน์ นั่นคือสิ่งที่บริษัทจำเป็นต้องรู้ เพราะตอนนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่าผู้บริโภคบางคนเลือกที่จะซื้อสินค้าออนไลน์เพราะร้านค้าถูกปิดหรือหลีกเลี่ยงฝูงชน และเป็นไปได้แค่ไหนว่าพวกเขาจะไม่กลับไปใช้วิธีเดิม ๆ

“บทเรียนต้น ๆ จากประเทศจีนชี้ให้เห็นว่า ส่วนแบ่งตลาดออนไลน์ที่มีประมาณ 3-6% ของมูลค่าการค้าปลีกนั้น มาจากคนรุ่นเก่าที่เพิ่งคุ้นเคยกับช่องทางดิจิทัลและกลุ่มผู้บริโภคหน้าใหม่” หุ้นส่วนบริษัทที่ปรึกษาของ McKinsey เขียนในรายงานการวิจัย

ประชาชนชาวอเมริกันแห่ซื้อสินค้ากักตุน เตรียมพร้อมรับมือการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ห้างสรรพสินค้า Costco สาขานิวเจอร์ซีย์ (Photo by Tayfun Coskun/Anadolu Agency via Getty Images)

อย่างไรก็ตาม แม้ในหลายประเทศจะมีการยกเลิกล็อกดาวน์ พร้อมกับอนุญาตให้ร้านอาหาร บาร์ และโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง แต่ก็มีความรู้สึกว่าผู้คนยังไม่รีบออกไปไหน โดยมีความเป็นไปได้ว่า ผู้บริโภคอาจจะอยู่ติดบ้านมากขึ้น เพื่อทำอาหารที่บ้าน ทำความสะอาดที่บ้านมากขึ้น รวมถึงมีงานอดิเรกใหม่ ๆ ที่ให้ทำเวลาอยู่บ้าย และด้วยการว่างงานในระดับสูง ผู้บริโภคจำนวนมากจะมีงบประมาณน้อยลงในการช้อปปิ้ง ดังนั้นการอยู่บ้านก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย

การเติบโตของยอดขายออนไลน์ของเครื่องทำขนมปังในสหรัฐอเมริกานั้นเป็นที่ 2 รองจากถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง โดยเติบโตถึง 652% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายออนไลน์ของอุปกรณ์ยกน้ำหนัก (+ 307%), ชุดอุปกรณ์งานฝีมือและโครงการ (+ 117%) และโต๊ะปิงปอง (+ 89%) สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคจำนวนมากกำลังหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อให้ตัวเองมีความบันเทิงที่บ้าน

เช่นเดียวกับการช้อปปิ้งออนไลน์สินค้าสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เติบโตก่อนที่จะมี COVID-19 และเมื่อการระบาดเกิดขึ้น สินค้าในกลุ่มนี้กลับยิ่งได้รับความนิยม เพราะผู้บริโภคทำความสะอาดพื้นผิวและล้างมือมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ยอดขาย ‘น้ำส้ม’ ก็สูงขึ้น เพราะคนต้องการวิตามินซี ที่ผ่านมา ยูนิลีเวอร์มียอดขายเพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Lipton Immune Support รวมถึงเครื่องดื่มที่มีสังกะสีและวิตามินซี

“เราค่อนข้างมั่นใจว่าสินค้าทุกอย่างในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่จะได้การตอบรับที่แข็งแรงและยั่งยืน” Alan Jope ซีอีโอของยูนิลีเวอร์ กล่าว

สำหรับประเทศไทยเองในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เเต่อาจจะต้องรอดูยาว ๆ ว่าจะเป็นพฤติกรรมถาวรหรือไม่ เพราะหลังจากที่คลายมาตรการล็อกดาวน์ลง ผู้บริโภคจำนวนมากก็พร้อมที่จะช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตกันตามปกติเเล้ว

Source

]]>
1282029
เมกะโปรเจกต์หนุน! เปิดขุมทรัพย์ “เมืองรอง” กำลังซื้อโตแรง ส่องเทรนด์จับจ่ายไม่แพ้คนกรุง https://positioningmag.com/1238141 Mon, 08 Jul 2019 23:05:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1238141 ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมากับภาวะตลาดโตต่ำ เฉลี่ย 1.4% ปี 2018 บางเดือนสาหัสถึงขั้นติดลบ ดัชนีที่เคยเติบโต 7% เมื่อ 10 ปีก่อนยังไม่มีให้เห็น

สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา บางเดือนดัชนีติดลบ 4 – 6% เรียกว่าต่ำที่สุดตั้งแต่นีลเส็นเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยกว่า 30 ปี ค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่า “โตบางมาก”

อย่างไรก็ตาม ปี 2019 นีลเส็นคาดการณ์ว่าสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ 4% แต่คำถามสำคัญ คือ จะใช้กลยุทธ์ใดผลักดันการขยายตัวให้ได้ตัวเลขนี้ ในมุมของนีลเส็นมองว่าหนึ่งในคำตอบ คือ “เมืองรอง” ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

จับตา 18 เมืองรอง กำลังซื้อโตแรง

สำหรับ “เมืองรอง” ตามนิยามของนีลเส็น ประกอบด้วยเมืองที่มีจำนวนประชากร 1 – 5 ล้านคน และ 3 จังหวัดหลัก ที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Products : GPP) รวมคิดเป็น 35% นอกเหนือจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นเมืองรองจึงประกอบไปด้วย 18 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ภาค

  • ภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย
  • ภาคกลาง ชลบุรี นครสวรรค์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุดรธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร และชัยภูมิ
  • ภาคใต้ นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี
  • 3 จังหวัด จีดีพี 35% ฉะเชิงเทรา ระยอง อยุธยา

ปัจจัยที่ทำให้เมืองรองน่าสนใจคือการขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanization) อย่างรวดเร็ว ในปี 2025 จะมีประชากรเข้ามาอยู่ในเมืองรองอีก 1.1 ล้านคน เติบโต 62% ขณะที่กรุงเทพฯ ประชากรขยายตัว 18% คนที่อาศัยในเมืองรองมีจำนวน 40% ของประชากร และรายได้ต่อคนสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรไทย 4.5%

ปี 2018 พบว่าตลาด FMCG โดยรวมและกรุงเทพฯ เติบโต 2.4% แต่เมืองรองทำได้สูงกว่า คือเติบโต 4.2% โดยพบว่า “ระยอง” เป็นจังหวัดที่มีรายได้ประชากรสูงสุดและสูงกว่ากรุงเทพฯ “เท่าตัว”  

“นิวเจน-นักท่องเที่ยว” กำลังซื้อหลัก

สำหรับประชากรที่อาศัยในเมืองรองส่วนใหญ่คือกลุ่ม New Gen อายุ 12 – 39 ปี คาดเติบโตมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีสัดส่วนของกลุ่มนี้ 77% ขณะที่กรุงเทพฯ มีสัดส่วน 53% พฤติกรรมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตใกล้เคียงกับกลุ่ม New Gen ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 90% แต่ใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน น้อยกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ใช้เวลามากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ “เมืองรอง” ยังมีความสามารถดึงดูดเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ใช้จ่ายในเมืองรองสัดส่วน 30% ของรายได้นักท่องเที่ยวทั้งหมด ที่น่าสนใจคือนักท่องเที่ยวในเมืองรองของภาคกลางและเหนือใช้จ่ายเกือบ 2 เท่าของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคนั้นๆ

เมกะโปรเจกต์หนุนเมืองรองโต

ทิศทางของเมืองรองยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 5 – 10 ปีจากนี้ จากการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ระยะยาวของรัฐบาล ที่มี 44 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี), การส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัด (Special Economic Zone) การลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง มอเตอร์เวย์ โครงการรถไฟรางคู่ โครงการไฮสปีดเทรน เชื่อมภาคเหนือ อีสาน กลางและภาคใต้

“เมกะโปรเจกต์การลงทุนภาครัฐ ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก มีการย้ายถิ่นของประชากรเข้ามาทำงานในเมืองรอง ทำให้เมืองขยายตัวและรายได้ต่อประชากรเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีการขยายสนามบินภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเติบโตด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเมืองรองต่างๆ

โอกาสโตตลาด FMCG

การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร การเข้ามาทำงานของประชากรแฝงและนักท่องเที่ยวในเมืองรองที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีพฤติกรรมแตกต่างกัน ดังนั้นกลยุทธ์ทางการตลาดของกลุ่ม FMCG ที่ต้องการเติบโตเจาะกำลังซื้อเมืองรอง จะต้องทำราคาและขายสินค้าพรีเมียม การออกสินค้าใหม่ การจัดแบ่งประเภทสินค้า หรือการออกแบบขนาดของสินค้า ที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมแตกต่างกัน

โดยพบว่าภาคกลาง นิยมสินค้านวัตกรรมใหม่, ภาคเหนือ ชอบสินค้าที่มีวาไรตี้ของเอสเคยู, ภาคอีสาน นิยมสินค้าแพ็กเกจจิ้งขนาดเล็ก และภาคใต้ ชอบสินค้าพรีเมียม กลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้แบบรายภาคสามารถเติบโตได้ระดับ 20%

“การเติบโตของเมืองรอง ถือเป็นโอกาสให้สินค้าอุปโภคบริโภคเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ต้องปรับมุมมองและทำความเข้าใจผู้บริโภคเมืองรองแต่ละภาคที่มีไลฟ์สไตล์และความต้องการแตกต่างกัน กลยุทธ์การทำตลาดแมสที่ใช้เหมือนกันทั่วประเทศ ไม่สามารถใช้ทำตลาดได้อีกต่อไป หากต้องการสร้างโอกาสโตในเมืองรอง”

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

]]>
1238141
เสี่ยใหญ่เครือสหพัฒน์ สั่งว้าวเข้าถึงทุก Gen! ไฟเขียวลงทุน “ร้านค้าไร้พนักงาน-โรงแรม-คอนโด” https://positioningmag.com/1232938 Tue, 04 Jun 2019 12:59:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1232938 ถือเป็นงานแฟร์แห่งปีจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 23 สำหรับสหกรุ๊ปแฟร์งานจำหน่ายสินค้าในเครือสหพัฒน์กว่า 1,000 บูธ พร้อมโชว์นวัตกรรมที่จะเป็นทิศทางขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต วันนี้โฟกัสไปที่ New Growth Engine จากการผลิตสินค้าสู่บริการและวัฒนธรรม อีกยุทธศาสตร์สำคัญคือต้องทำให้ ทุกเจน” Wow กับสินค้าในเครือ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นฐานลูกค้าให้แบรนด์ไปอีกยาวนาน  

ก่อนถึงวันงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” ที่ปีนี้จัดวันที่ 27 – 30 มิ.ย. 2562 ไบเทค บางนา “เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ในวัย 83 ปี ยังทำหน้าที่เป็นผู้บอกเล่าสิ่งที่เป็นไฮไลต์ของงานแฟร์แต่ละปี สำหรับปีนี้เริ่มตั้งแต่คอนเซ็ปต์งาน “ว้าวถูกใจทุก Gen” ที่ “เสี่ยบุณยสิทธิ์” เป็นผู้ออกไอเดีย เพื่อสื่อว่างานนี้ จะมีสินค้า บริการ และวัฒนธรรมที่หลากหลายมาตอบโจทย์ “ทุกเจน”  

ที่ออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ “ว้าวถูกใจทุก Gen” เพราะต้องการสร้างความ Wow ในทุกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้เข้ามามีส่วนร่วมกับสินค้าของเครือสหพัฒน์ ผ่านงานสหกรุ๊ปแฟร์ เพราะหากคนรุ่นใหม่รู้จักและคุ้นเคยกับแบรนด์ จะทำให้สินค้ามี Life Cycle อยู่กับคนรุ่นใหม่ไปอีกยาวนาน พร้อมต้องพัฒนาสินค้าใหม่ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์เจนใหม่ๆ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็น Old Fashion

ขณะที่คนทั่วไปที่รู้จักสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค กลุ่มแฟชั่น ของเครือสหพัฒน์ดีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องกระตุ้นให้ทุกคนรู้สึก Wow กับสินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำมาเสนอด้วยเช่นกัน

โชว์สมาร์ทช้อป ไม่ต้องมีพนักงาน

นโยบายการเติบโตของเครือสหพัฒน์หลังจากนี้ จะมุ่งสู่ New Growth Engine ด้านการให้บริการและการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น จากเดิมลงทุนสร้างโรงงาน ผลิตสินค้าจำนวนมาก ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและแฟชั่นเกือบทุกอย่าง

แต่ปีนี้จะโฟกัสที่การนำเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้ง AI, Big Data และ IoT มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ในงาน สหกรุ๊ปแฟร์ จะเป็นครั้งแรกที่จะโชว์ “ร้านค้าอัจฉริยะไร้พนักงาน” His & Her Smart Shop ที่ได้ร่วมกับทรู คอร์ปอเรชั่น พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี AI ที่จะเปิดให้ลูกค้าเข้าไปทดลองใช้บริการภายงาน ซื้อสินค้าและจ่ายเงินเองผ่านสมาร์ทเพย์เมนต์ โดยไม่มีพนักงานขาย

แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในอนาคต จะใช้คนลดลง เพราะแรงงานหายากมากขึ้น และให้บริการ Smart Shop ก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นแนวคิดการให้บริการรูปแบบเดียวกับ Vending Machine แต่เปลี่ยนจากตู้มาเป็นร้านค้า และเครือสหพัฒน์เองได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ร่วมกับพันธมิตรในประเทศขึ้นมารองรับแล้วเช่นกัน เพราะต้องการให้บริการที่ล้ำหน้ากว่าคนอื่นๆ หลังจากเปิดให้ทดลองใช้บริการในงานสหกรุ๊ปแฟร์แล้วจะพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้บริการจริงหลังจากนี้

การพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้งานมากขึ้น เพื่อทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการของตลาด เพื่อให้เครือสหพัฒน์ทำธุรกิจได้ครบวงจรและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้ตรงจุด เพราะการเป็นผู้ผลิตสินค้าโดยไม่รู้เทรนด์ตลาดว่ามีความต้องการอย่างไร ไม่สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สำหรับสินค้าไฮไลต์ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ปีนี้ จะมีการเปิดตัว มาม่า OK บิ๊กคัพ โจ๊กและข้าวต้มรสชาติใหม่ เช่น เล้งแซ่บ กุ้งกระเทียม, เสื้อ ARROW ที่ผลิตจากกระบวนการ Upcycling โดย PTTGC, เทคโนโลยี 3D Printing  ของ PAN เป็นการออกแบบพื้นรองเท้านตามขนาดของเท้า, กลุ่มสินค้าชำระล้าง ออร์แกนิกของแบรนด์ ENFANT

อีกไฮไลต์ปีนี้คือประธานเปิดงานคนใหม่ เพราะ “เสี่ยบุณยสิทธิ์ ขอสละตำแหน่งประธานตีฆ้องเปิดงาน หลังจากทำหน้าที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต่อจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ที่เป็นประธานเปิดงานสหกรุ๊ปแฟร์ตั้งแต่ปีแรก 2540

ลงทุนโรงเรียน-โรงแรม-คอนโด

ด้านแผนการลงทุนปีนี้ ตามยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมในกลุ่มโรงเรียน ปีนี้ได้ลงทุน โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ บนพื้นที่ 25 ไร่ ย่านพระราม 3 พื้นที่ติดกับบริษัทไอ.ซี.ซี. ใช้งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท โดยร่วมมือกับโรงเรียน คิงส์คอลเลจ วิมเบิลดัน ประเทศอังกฤษ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2563 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านบุคลากรให้ประเทศ

นอกจากนี้ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ จะมีการเซ็นสัญญาลงทุนกลุ่มบริการเพิ่มเติม กับกลุ่มโตคิว ญี่ปุ่น เพื่อร่วมลงทุนโรงแรม 4 – 4 ดาวครึ่ง ขนาดกว่า 100 ห้อง ลงทุน 1,000 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมขนาดกว่า 200 ห้อง ลงทุน 1,000 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชา เพื่อรองรับอีอีซี

พร้อมกันนี้จะเซ็นสัญญาร่วมกับ Sojostu จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำหน้าที่ดึงบริษัทจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ที่กบินทร์บุรี ลำพูน และแม่สอด

จับตาการเมืองส่งผลชะลอลงทุน

เครือสหพัฒน์ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคและอีกหลากหลายธุรกิจ ปี 2561 ทั้งเครือมีรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท มุมมองของ เสี่ยบุณยสิทธิ์ จึงสะท้อนภาพรวมสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศในฐานะภาคเอกชน โดยมองว่าหลังจากประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2562 และยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มไม่มั่นใจในเสถียรภาพรัฐบาล จึงลังเลเรื่องการลงทุน

เครือสหพัฒน์เองครึ่งปีแรกยังไม่มีแผนลงทุนใหญ่ เพราะพันธมิตรต่างชาติต้องการรอดูนโยบายรัฐบาลเช่นกัน จากเดิมที่มองว่าปีนี้ ที่มีการเลือกตั้ง โอกาสการลงทุนใหม่น่าจะมากกว่าปีก่อน 2 – 3 เท่า แต่มาถึงขณะนี้การลงทุนคงไม่มากกว่าปีก่อน ขณะที่การเติบโตเดิมวางไว้ที่ 5% ก็น่าจะเหลือเพียง 2 – 3%

“การตัดสินใจลงทุนจะต้องดูเสถียรภาพของรัฐบาลด้วยเช่นกัน เปรียบได้กับการขับรถยนต์หากเหตุการณ์ดี ก็จะเหยียบคันเร่งเต็มที่ แต่หากเหตุการณ์ไม่ชัดเจนก็ต้องแตะเบรก”

]]>
1232938
เปิดพฤติกรรมผู้บริโภค 2018 3 เดือนผ่านมา ซื้อสินค้าอุปโภคเป็นหลัก 1-5 ปีข้างหน้า มือถือ ที่อยู่อาศัย คนอายุน้อยสนใจซื้อมากกว่าคนสูงวัย https://positioningmag.com/1182061 Mon, 06 Aug 2018 09:02:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1182061 ศูนย์วิจัยศุภาลัย ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ในแต่ละช่วงวัยและแต่ละระดับรายได้ โดยใช้วิธีเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน โดยสอบถามจากความถี่ในการซื้อสินค้าในแต่ละช่วงเวลา 

สินค้าที่ซื้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

จะเป็นสินค้าที่มีราคาต่ำ นั่นคือ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น น้ำอัดลม แปรงสีฟัน ขนม เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก (เตารีด หม้อหุงข้าว ไดร์เป่าผม เป็นต้น) และเสื้อผ้า ผลปรากฏว่า

ครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูง มีการซื้อน้ำอัดลม แปรงสีฟัน ขนม และเสื้อผ้า มากกว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 21-29 ปี มากกว่ากลุ่มอายุ 39-55 ปีอย่างมีนัยสำคัญ

ครอบครัวที่มีรายได้สูง (85,001 บาทขึ้นไป) มีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กมากกว่าครอบครัวที่มีรายได้ปานกลาง (35,001 – 85,000 บาท) และรายได้น้อย (15,001 – 35,000 บาท) อย่างมีนัยสำคัญ

สินค้าที่ซื้อในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งใจจะซื้อในอีก 1 ปีข้างหน้า

จะเป็นสินค้าที่มีราคาปานกลาง เช่น สินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดกลาง/ใหญ่ (โทรทัศน์ ไมโครเวฟ เครื่องดูดฝุ่น และตู้เย็น ฯลฯ) พบว่า

กลุ่มอายุน้อย (21-29 ปี) มีการซื้อหรือจะซื้อสินค้าประเภท ทรศัพท์มือถือ มากกว่ากลุ่มอายุ 39-55 ปีอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงครอบครัวที่มีรายได้สูงมีการซื้อโทรศัพท์มือถือมากกว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ

ครอบครัวที่มีรายได้สูงและรายได้ปานกลางมีการซื้อหรือจะซื้อสินค้าประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดกลาง/ใหญ่ มากกว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ

สินค้าที่ซื้อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งใจจะซื้อในอีก 5 ปีข้างหน้า

จะเป็นสินค้าที่มีราคาสูง เช่น สินค้าประเภทที่อยู่อาศัย (บ้าน/คอนโดมิเนียม/ทาวน์โฮม) และรถยนต์ จากการสำรวจพบว่า

กลุ่มที่มีอายุระหว่าง 21-47 ปี มีการซื้อหรือมีแนวโน้มที่จะซื้อที่อยู่อาศัย มากกว่ากลุ่มอายุ 48-55 ปีอย่างมีนัยสำคัญ และส่วนมากจะเป็นครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูงมากกว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มครอบครัวมีรายได้สูง มีการซื้อสินค้าประเภทรถยนต์มากกว่ากลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ.

]]>
1182061
แกะกลยุทธ์การตลาดน้ำปลา “ทิพรส” VS “ตราปลาหมึก” สูตรไหน ปรุงได้โดนใจผู้บริโภค https://positioningmag.com/1168182 Thu, 03 May 2018 01:08:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1168182 สาวิตรี รินวงษ์

หากพูดถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่คู่ทุกครัวเรือน ร้านอาหาร “น้ำปลา” เป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการ “ชูรส” อาหารให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น

ตลาดน้ำปลามีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท และหากเดินไปยังโมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้บริโภคจะได้เห็นน้ำปลาสารพัดยี่ห้อวางอยู่บนเชลฟ์ มีหน้าเก่าออกสินค้าใหม่ ไซส์หลากหลาย ราคายิบย่อยให้ได้เลือกซื้อกัน ส่วนหน้าใหม่ ก็พยายาม “ชิงพื้นที่” บนเชลฟ์เทียบรัศมีจากเจ้าตลาด ทว่า มีรายใหญ่ที่เข้ามาทำตลาดไม่นานและน่าสนใจ คือสินค้าจากกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ได้ส่งน้ำปลา “หยดทอง” สินค้าของมาซาน กรุ๊ป ที่ไปซื้อกิจการหลักหมื่นล้านบาท ได้โดดมาเอาจริงกับตลาดดังกล่าวด้วย

แต่ถ้าพิจารณาตลาดน้ำปลา แบรนด์ใหญ่ที่ครองตลาดมาอย่างยาวนาน ต้องยกให้ “ทิพรส” และ “ตราปลาหมึก” ซึ่งหากเปรียบมวยของ ค่ายแล้ว มาดูกันว่ากลยุทธ์ที่ทำให้ครองใจผู้บริโภคได้อย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้กัน

ทิพรส” เรียกว่าเป็นแบรนด์ที่สร้างตำนานน้ำปลาให้กับประเทศไทยกว่า 100 ปีแล้ว เพราะ “ไล่เจี๊ยง แซ่ทั้ง” ได้ทดลองคัดสรรปลาพันธุ์ต่างๆ มาหมักในโอ่งดินจนได้น้ำปลารสอร่อยออกมาบริโภค และขาย จนกระทั่งก่อตั้ง “บริษัท ไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด” ซึ่งปัจจุบันถือเป็นผู้ผลิตน้ำปลารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

สำหรับการทำตลาดเริ่มจากผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย ทั้งบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว PET ขนาดสินค้า 60 ซีซี, 300 ซีซี, 500 ซีซี และ 1.5 ลิตร  ส่วนราคามี 19 บาท, 24 บาท และ 55 บาท เพื่อให้เหมาะกับกำลังซื้อผู้บริโภคแต่ละกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงความสะดวกด้วย อย่างไซส์เล็กเหมาะพกพา ไซส์ลิตรเหมาะกับร้านอาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ แบรนด์ได้ตอกย้ำสโลแกนผ่านรสชาติอาหาร “แค่มีทิพรส ก็อร่อยครบรส” เพื่อสร้างการจดจำให้ผู้บริโภค การเป็นสปอนเซอร์ให้กับร้านอาหารที่ใช้น้ำปลาบริษัท การจัดทิพรสตะลอนชิม เพราะนอกจากจะสนับสนุนให้ร้านค้าใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเป็นการจูงใจให้ร้านค้าใช้ผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะตลาดน้ำปลา นอกจากผู้บริโภครายย่อยทุกครัวเรือนเป็นลูกค้าแล้ว “ร้านอาหาร” ถือเป็นตลาดกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ใช้สินค้าในปริมาณมากยกลัง

ขณะที่ “ตราปลาหมึก” ผลิตภัณฑ์จาก “โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด” ซึ่งเกิดหลังทิพรสประมาณ 31 ปี โดย “เทียน นิธิปิติกาญจน์” ที่อพยพจากเมืองจีนมาตั้งโรงงาน้ำปลาเล็กๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร

สิ่งที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ เพราะมีการชูจุดขาย “น้ำปลาแท้” ควบคู่ขานเรียก “ยี่ห้อ” เป็น “น้ำปลาแท้ตราปลาหมึก” ไม่เพียงแค่สร้างการรับรู้แบรนด์ แต่เป็นการสร้างความมั่นใจในการบริโภค มัดใจกลุ่มเป้าหมายด้วย เพราะหัวใจของการทำธุรกิจอาหารนอกจากอร่อย “ความปลอดภัย” คือสิ่งที่ต้องไม่ขาดตกบกพร่องเป็นอันขาด และถ้าย้อนอดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่า ตลาดน้ำปลามีหลากหลาย Grade มาก โดยเฉพาะตลาดล่างเป็นน้ำปลาผสม เกิดการเจือจางน้ำปลากับวัตถุดิบอื่นเพื่อลดต้นทุน

อีกจุดเด่นคือโลโก้ปลาหมึก Iconic ของแบรนด์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ ด้านบรรจุภัณฑ์ถือว่าเตะตาไม่แพ้กันเพราะ “ฝาเขียว” และ “ขวดแก้ว” เป็นสิ่งที่ตราปลาหมึกใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะขวดแก้วมีคุณสมบัติการคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ดี

ความหลากหลายของสินค้าก็มีออกมาไม่แพ้คู่แข่ง เพราะนอกจากจะเป็นขวดแก้ว PET ไซส์เล็ก ใหญ่จับตลาดผู้บริโภค (End user) แล้ว ยังมีแบบแกลลอนเพื่อจับกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมด้วย

โลกนี้เป็นยุคดิจิทัล ตราปลาหมึกถือว่าตื่นตัวในการทำตลาดผ่านโลกออนไลน์ ทั้ง Youtube Line มีแฟนเพจ Facebook เพื่อสื่อสารการตลาดและ Engage กับกลุ่มเป้าหมาย แม้ฐานยังเล็กหลัก 50,000-60,000 Likes แต่ก็เป็นการก้าวตามกระแสอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ตราปลาหมึกเป็นสินค้าตลาดแมส แต่บรรดาทายาท นิธิปิติกาญจน์” ที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้สานต่อธุรกิจครอบครัวด้วยการตั้งบริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด เพื่อผลิตน้ำปลา “เมกาเชฟ” วาง Positioning แบรนด์เจาะตลาดพรีเมียม เสริมพอร์ตน้ำปลาให้กับตระกูลด้วย

สำหรับตลาดน้ำปลาแม้จะมีขนาดใหญ่ และหลากหลายแบรนด์ทำตลาด แต่ แบรนด์หลักทั้งทิพรส ตราปลาหมึก และเมกาเชฟ ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่ารวมกันเกินกว่า 75% โดยข้อมูลจากสถาบันอาหาร ปี 2558 ระบุว่า ทิพรสมีมาร์เก็ตแชร์ 50% ตราปลาหมึก 25% โดยยังไม่รวมเมกาเชฟ

ส่วนน้ำปลายี่ห้อไหน ครองใจผู้บริโภค ผู้อ่านกันบ้าง ลองเข้าครัวดูกันได้.

]]>
1168182
ถอดรหัส พฤติกรรมคนไทย แห่ช้อปร้านค้าปลีกไซส์เล็ก “กันตาร์” ฟันธง! 3-5 ปี ร้านสะดวกซื้อใหญ่แซงหน้าไฮเปอร์มาร์เก็ต! https://positioningmag.com/1163328 Mon, 26 Mar 2018 14:27:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1163328 ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 4.42 แสนล้านบาท ในปี 2560 ตลาดติดลบ 0.4% ตกต่ำสุดรอบ 10 ปี ส่วนแนวโน้มปีนี้เป็นไปได้ทั้งเติบโต 3% แต่ด้วยสัญญาณบวกยังไม่เห็นภาพชัด มีโอกาสติดลบ 1%

แม้ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคจะโตหรือหดตัว สิ่งที่น่าสนใจคือ “พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย” ในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ไทย (Local Brand) โต 2% ใกล้เคียงกับการซื้อสินค้าอินเตอร์แบรนด์ที่โต 1% สวนทางกับประเทศอื่นในเอเชียที่อินเตอร์แบรนด์โตกว่า

นั่นเป็นเพราะ “โลคัลแบรนด์” ในไทยรู้ความต้องการเชิงลึก (Insight) ของผู้บริโภค สามรถผลิตสินค้านวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการ (Need) ได้ดี และทันท่วงทีกว่าแบรนด์ระดับโลก

สินค้าโลคัลแบรนด์ในไทยมีสัดส่วน 25% อินเตอร์แบรนด์ 75% ใกล้เคียงกับประเทศอื่นในเอเชีย เช่น จีนโลคัลแบรนด์ครองตลาด 24% อินเตอร์แบรนด์ 76% เวียดนามโลคัลแบรนด์ 22% และอินเตอร์แบรนด์ 78% เป็นต้น

สัดส่วนแบรนด์ท้องถิ่นกับอินเตอร์แบรนด์ในประเทศแถบเอเชีย

และไม่ว่าผู้ประกอบการแบรนด์ท้องถิ่นหรือแบรนด์ระดับโลกผลิตสินค้าออกมา จะไปถึงมือผู้บริโภคได้ต้องผ่านตัวกลางอย่างช่องทางจำหน่าย “ร้านค้าปลีก” ประเภทต่าง ๆ

จากผลการศึกษา “พลังแบรนด์เอเชีย ผู้กำหนดทิศทางใหม่ตลาด FMCG พร้อมการรับมือการค้าปลักเมื่อมีปัจจัยตลาดเปลี่ยน” ของ “กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์)” ได้สะท้อนเทรนด์การช้อปปิ้งผ่านร้านค้าปลีกไซส์เล็ก โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ (CVS) มาแรง!

แนวโน้มอนาคตร้านสะดวกซื้อจะเป็นมากกว่า “ช่องทางขายสินค้า” แต่จะยกระดับเป็น “ศูนย์กลางชุมชน” หรือ Community Hub แหล่งรวมบริการครอบจักรวาลตอบสนองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นจุดรับมอบสินค้าที่สั่งซื้อผ่านออนไลน์ ชำระบิล ค่าน้ำ ค่าไฟ ซื้อหุ้น ตัดผม ซักรีด ซื้อตั๋วสารพัดเพื่อการเดินทาง และท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ “กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์)” ได้ทำการศึกษา “พลังแบรนด์เอเชีย ผู้กำหนดทิศทางใหม่ตลาด FMCG พร้อมการรับมือการค้าปลักเมื่อมีปัจจัยตลาดเปลี่ยน” และพบว่า เทรนด์การช้อปปิ้งผ่านร้านค้าปลีกไซส์เล็ก โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ (CVS) มาแรง! าก 3 ปัจจัยดังนี้

1. ร้านสะดวกซื้อปรับตัวตอบสนองต่อลักษณะประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น คนย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง อยู่คอนโดมิเนียม เป็นครอบครัวเล็กมีกัน 2 คน จากเดิม 5-7 คน มีไลฟ์สไตล์ชีวิตเร่งรีบ ซื้อสินค้าเมื่อจำเป็นต้องใช้มากกว่าซื้อตุนไว้เหมือนอดีตเป็นต้น

“ภาพธุรกิจค้าปลีก 30 ปีก่อน (ปี 1980-1990)ไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี เอ็นจอยกับการเติบโตอย่างมาก เพราะร้านขยายสาขาใหญ่บุกทั่วไทย และดึงดูดผู้บริโภค อีกทั้งภายในร้านมีสินค้าอุปโภคบริโภคให้เลือกมากมายมหาศาล แถมราคาถูกและโดนใจสุด ๆ พอเข้ายุค 2010ร้านค้าปลีกฟอร์แมตขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อ กลับโตดีมาก” “มร.ฮาเวิร์ด ชาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ฉายภาพ

เทรนด์การเติบโตของร้านค้าปลีกประเภทต่างๆและเซเว่น อีเลฟเว่นทยานแรง!กว่าทุกฟอร์แมต

ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยน ร้านสะดวกซื้อก็ปรับจากขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป มาเป็นขาย “อาหารพร้อมรับประทาน” หรือ Ready to eat กันเป็นแถว

เทรนด์ดังกล่าวไม่ได้เกิดแค่ในไทย แต่เป็นทั้งเอเชีย เช่น มาเลเซีย มีร้านสะดวกซื้อ 99SPEEDMART โตแซงไฮเปอร์มาร์เก็ต ด้วยกลยุทธ์เปิดสาขาเจาะในเมืองย่านชุมชน นำสินค้ารายการ (SKU) ตรงความต้องการผู้บริโภค และที่สำคัญราคาถูกเท่าไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วย

นั่นเป็นเพราะการมีจำนวนสาขาที่มาก! ทำให้อำนาจต่อรองด้านราคาทำได้ไม่แตกต่างจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่นั่นเอง ส่วนในจีนมี Yonghui เป็นร้านสะดวกซื้อผสมกับซูเปอร์มาร์เก็ตและมีพื้นที่รับประทานอาหารพรีเมียม (Fine Dining) ดึงลูกค้า ซึ่งการมีที่นั่งทานอาหารจะ “เพิ่มยอดขาย” ได้มากขึ้น เพราะกินข้าว ต้องซื้อน้ำ เป็นต้น

2. ร้านสะดวกซื้อนำความสะดวกสบายมาให้ผู้บริโภคในชุมชน จะเห็นว่า CVS อย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ไม่ได้ขายของกินของใช้เท่านั้น แต่เสริมบริการหลายหลายแก่ลูกค้า ทั้งรับชำระบิล จ่ายค่าธรรมเนียม มีร้านขายยา และถ้าไปดูในต่างประเทศ เช่น ร้านสะดวกซื้ออัลฟ่ามาร์ท (Alfa Mart) อินโดนีเซีย ให้บริการซักรีด เป็นจุดรับสินค้าออนไลน์ ร้านตัดผม ซื้อตั๋วเดินทางท่องเที่ยว และขอสินเชื่อ เป็นต้น ส่วนเซเว่น อีเลฟเว่นในไต้หวัน ให้บริการซื้อกองทุนต่าง ๆ จ่ายค่าเทอมการศึกษา และซื้อตั๋วรถไฟ เป็นต้น

AlfaMart อินโดนีเซียมีบริการตัดผม ซักรีด บริการสินเชื่อฯ จะกลายเป็น Community Hub

“อนาคตร้านสะดวกซื้อจะกลายเป็น Community Hub ที่มีบริการตอบสนองลูกค้าทุกด้าน เป็นสถานที่ที่ทุกคนในชุมชนมาเจอกันได้ อย่างอัลฟามาร์ทที่อินโดนีเซีย ทางเจ้าของต้องการให้เป็นร้านของชุมชนจริง หรือ True Community Storesไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกสบายในการช้อปปิ้งใกล้บ้านอีกต่อไป ที่ผ่านมาจึงเห็นเทรนด์เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ต่างส่งฟอร์แมตไซส์เล็กเจาะทำเลใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น” 

3. การผสานช้อปออฟไลน์และออนไลน์แม้ปริมาณคนไทยจะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์ สัดส่วน 10-15% และคิดเป็นมูลค่าเพียง 1% ซึ่งร้านค้าปลีกบุกออนไลน์กันมากขึ้น

เซเว่น อีเลฟเว่น เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธานินทร์ บุรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เซเว่นฯ จะเชื่อมโยงระหว่างระบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์และมารับสินค้ายังจุดขายเซเว่น อีเลฟเว่น แบบออฟไลน์ ด้วยรูปแบบ คลิกและคอลเลค (Click and Collect)   

ระบบนี้จะช่วยยกระดับให้เซเว่น อีเลฟเว่นเป็นจุดศูนย์รวมของคอนเนกชั่น (Point  of Connection) ช่วยทำให้ตลาดอีคอมเมิรซ์ขยายตัว แก้ปัญหาเรื่องของพื้นที่จัดวางที่มีจำกัด

“ด้วยพื้นที่ชั้นวางสินค้าที่จำกัดภายในจุดขาย บางครั้งเราจะนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ก่อนเป็นลำดับแรก และหลังจากที่สินค้านั้น ๆ ได้รับความนิยม เราก็จะนำออกวางขายในร้าน ซึ่งเป็นวิธีการที่เราสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ให้มีโอกาสนำเสนอสินค้าออกสู่ตลาดมากยิ่ง ๆ ขึ้น”

นอกจากนี้ความแรงของร้านค้าปลีกไซส์มินิไม่หยุดแค่การเปิดสาขาเจาะตามตรอกซอกซอย แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง “บิ๊กซี” และ “เทสโก้ โลตัส” ต่างส่ง “กองทัพรถ” ขายสินค้าตรงถึงผู้บริโภคที่บ้านแล้ว ซึ่ง “ชาง” บอกว่าเป็นโมเดลและกลยุทธ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นการนำร้านไปบริการประชิดลูกค้าแบบถึงใจมาก แต่คาดว่าต้องการเจาะเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในชนบทที่ยังเข้าไม่ถึงร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อเท่านั้น

สิ่งที่ 2 ค่ายทำ ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้ตลาดมีความน่าสนใจมากขึ้น และช่วยกระตุ้นตลาดให้มีความน่าสนใจ สินค้าที่ขายก็เพื่อทดแทนสินค้าในครัวเรือนที่จะหมด มาวันนี้ไม่มี พรุ่งนี้ก็นำไปขายไปส่งให้ได้ ซึ่งโมเดลดังกล่าวถือว่าเวิร์คมากในชนบท มีโอกาสที่จะบูม

ปัจจุบันร้านสะดวกซื้อเป็นหน้าร้านให้สินค้าอุปโภคบริโภคสัดส่วน 17-18% จากร้านค้าปลีกทุกประเภท โดย 2-3 ปีที่ผ่านมา CVS เติบโตเฉลี่ย 0.5% ต่อเนื่อง เป็นที่น่าสนใจว่าหากยังรักษาการเติบในอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง 2-3 ปี จะได้เห็นสัดส่วน “แซง” ไฮเปอร์มาร์เก็ตได้ จากปี 2560 มีสัดส่วนตลาด 18.4% ลดลงจากปี 2553 มีสัดส่วน 20%

ขณะที่ร้านค้าทั่วไปหรือโชห่วยยังอยู่ในภาวะขาลง สัดส่วนตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วน 37% ในปี 2553 (2010) มาอยู่ที่ 32.4% ในปี 2560      

พฤติกรรมผู้บริโภคที่ช้อปสินค้าในร้านสะดวกซื้อมีความถี่กว่าร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ประเมินว่าการซื้อมีความถี่ประมาณเดือนละครั้ง โดยความถี่ของร้านสะดวกซื้อมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับหมวดสินค้าและการทำโปรโมชั่นของร้านด้วย

]]>
1163328