สินเชื่อออนไลน์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 12 Nov 2021 07:12:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 บัตรเครดิตฟื้นตัวปลายปี ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ เร่งดันยอดใช้จ่าย ปล่อยสินเชื่อกลุ่มฟรีเเลนซ์ https://positioningmag.com/1361690 Thu, 11 Nov 2021 16:13:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1361690 สัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์-เปิดประเทศ หนุน ‘ตลาดบัตรเครดิต’ ฟื้นตัวรับโค้งสุดท้ายของปี คนเริ่มใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยว จองโรงเเรมมากขึ้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าทั้งปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเเตะ 2.85 แสนล้าน ลูกค้าใหม่ 3.5 แสนราย รุกปล่อยสินเชื่อออนไลน์จับกลุ่มฟรีเเลนซ์ เน้นใช้ดาต้าทำการตลาด พัฒนานวัตกรรม-เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ดึงลูกค้า 

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ที่ตามปกติเเล้วจะมีการใช้จ่ายมากกว่าช่วงอื่นๆ โดยนโยบายคลายล็อกดาวน์เเละการเปิดประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในทุกหมวด ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะดีขึ้นโดยเฉพาะหมวดช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ท่องเที่ยว และโรงแรม

ปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ผ่านดาต้า

สำหรับ ‘ตลาดสินเชื่อ’ ในไตรมาสสุดท้ายนี้ ก็มีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งมีเทรนด์ที่น่าสนใจคือ สถาบันการเงินทั้งหลายหันมาปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการใช้ ‘ข้อมูลทางเลือก’ ในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อกันมากขึ้น

สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 รวมทั้งต้องการความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ และช่วยตอบสนองความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ 

ช้อปออนไลน์เเรงต่อเนื่อง คนเริ่มกลับมาท่องเที่ยว 

โดยธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้ง บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิต โลตัส วีซ่า มีผลประกอบการตั้งแต่เดือนมกราคมกันยายน 2564 เติบโตต่อเนื่อง โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 199,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 54,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 128,000 ล้านบาท

หมวดใช้จ่ายที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+62%)
2.ประกันภัย (+15%)
3.
ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%)
4.
ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+7%)
5. ร้านสะดวกซื้อ (+6%) 

หากพิจารณาแนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรในเครือของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ พบว่า ยอดใช้จ่ายหมวดช้อปออนไลน์ เดลิเวอรี่ ประกันภัยออนไลน์ จะเติบโตสูง ขณะที่หมวดใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ของใช้ในบ้าน ยาและสุขภาพ ยังคงมียอดใช้จ่ายต่อเนื่อง

“ส่วนหมวดท่องเที่ยว เดินทาง และร้านอาหารยังคงได้รับผลกระทบในเชิงลบ เเต่จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์ในยอดใช้จ่ายโดยการจองตรงกับโรงแรมในบางจังหวัดท่องเที่ยว” 

ฟีเจอร์ใหม่ดึงดูดลูกค้า 

เมื่อผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัว กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีการปรับกลุยทธ์เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น พร้อมการนำเอานนวัตกรรมใหม่ ๆ มายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ

ทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาบริการใหม่ในแอปพลิเคชัน UCHOOSE อย่าง

  • U Cash บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอป โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหรือพร้อมเพย์
  • UCard บริการรับสมัครบัตรใหม่ผ่านทางแอป
  • UMall นำเสนอดีลพิเศษสำหรับสินค้าจากพันธมิตรของบริษัท
  • การเปิดช่องทางบริการใหม่ทาง Krungsri Consumer Line OA และ Facebook
  • การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บัตร Krungsri NOW บัตรเครดิตสำหรับชีวิตดิจิทัลที่มอบเครดิตเงินคืน 5% สำหรับการใช้จ่ายออนไลน์
  • บริการยืนยันตัวตนด้วยเสียง พัฒนา AI มะนาว ที่ให้บริการลูกค้าไปเเล้วกว่า 3.2 ล้านสาย เเละบริการสอบถามข้อมูลบัญชีบัตรผ่านทาง FB Messenger
  • บริการ ‘เเตะเพื่อจ่าย’ อำนวยความสะดวกในการใช้บัตร 

อ่านเพิ่มเติม : เทรนด์ Virtual Card มาเเรง กรุงศรี ส่ง ‘บัตร NOW’ จับใจคนรุ่นใหม่ กระตุ้นใช้จ่ายด้วย ‘เเคชเเบ็ก’

ขยายต่ออาเซียน 

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังจะผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี กรุ๊ปและพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด พร้อมกับหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ รวมทั้งขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และล่าสุดที่เวียดนาม “โดยจะมีการปรับเเผนผ่อนชำระเพิ่มเติม รุกธุรกิจคาร์ฟอร์เเคช สินเชื่อรถยนต์” 

การดำเนินงานจะควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม และการดูแลช่วยเหลือลูกค้าและพนักงานที่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือ 7,000 ล้านบาท กว่า 1 แสนราย

“จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างๆ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ คาดว่าทั้งปี 2564 จะหนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 2.85 แสนล้านบาท เติบโต 3%  ยอดสินเชื่อใหม่ 76,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท” 

 

]]>
1361690
แรบบิท เปิดตัว ‘แรบบิท แคช’ ลุยตลาด ‘Digital Lending’ ปักเป้าปล่อยสินเชื่อ 3,000 ล้านในปีแรก https://positioningmag.com/1358843 Thu, 28 Oct 2021 04:20:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358843 เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรกับการใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง คนไทยถือว่ามีการใช้งานมากที่สุดในโลก โดยมีการผูกบัญชีกว่า 76 ล้านบัญชี ในแต่ละเดือนมียอดธุรกรรมกว่า 1.4 หมื่นล้านรายการ/เดือน มีการใช้งานเฉลี่ย 19 ครั้ง/เดือน ในขณะที่หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยมีเกือบ 90% คิดเป็นมูลค่า 14 ล้านล้านบาท โดยธุรกรรมเล็ก ๆ คิดเป็น 50% และอย่างน้อย 5% เป็นหนี้นอกระบบ

จากตัวเลขดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารหันมาจับตลาด Digital Lending ที่เห็นชัด ๆ น่าจะเป็น Grab, Line เป็นต้น โดย รัชนี แสนศิลป์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แรบบิท แคช จำกัด กล่าวว่า ที่เห็นว่ามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหลายรายทำ Digital Lending ส่วนหนึ่งก็เพื่อ เสริมลูกค้าของตัวเอง เพราะลูกค้าของหลาย ๆ แพลตฟอร์มทำงานอิสระมากขึ้น ดังนั้น เมื่อไม่มีเงินเดือนการเข้าถึงเงินทุนก็ยาก

ดังนั้น แรบบิท ที่มีข้อมูลของลูกค้าในมืออยู่แล้ว จึงร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และมี บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน), บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นและพันธมิตร โดยจัดตั้งบริษัท ‘แรบบิท แคช’

ทั้งนี้ บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด ในเครือของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จะถือหุ้น 77%, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 8% และบริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 5% ทุนจดทะเบียนประมาณ 800 ล้านบาท และมีแผนจะเพิ่มทุนอีก 800 ล้านบาท

สำหรับบริการสินเชื่อของแรบบิท แคชนั้นได้ถูกออกแบบให้ทำผ่านช่องทางดิจิทัล 100% ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยจะใช้ Alternative Data หรือข้อมูลทางเลือกที่แสดงถึง Digital Footprint และ Behavioral Footprint ต่าง ๆ ของผู้บริโภคมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงและพิจารณารูปแบบสินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน

“เนื่องจากแรบบิท แคชเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การซื้อสินค้าหรือบริการ การแลกคะแนนแรบบิท รีวอร์ด แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้การได้รับความยินยอมจากลูกค้า”

เบื้องต้น วงเงินสินเชื่อจะเป็นไปตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท จะกู้ได้ไม่เกิน 1.5 เท่า ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท จะได้รับวงเงิน 5 เท่าของรายได้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1.25% ต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะได้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อจาก ธปท. ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ดังนั้น จะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจะมีทั้งสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย หรือสินเชื่อนาโน, สินเชื่อสวัสดิการ, สินเชื่อ Payday Loan, สินเชื่อผ่อนชำระ Buy Now Pay Later

ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มทดลองนำเสนอสินเชื่อเพื่อลูกค้าของเคอรี่ โดยเลือกจากกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจขายของออนไลน์ที่เป็นสมาชิกเคอรี่ เอ็กซ์เพรส โลยัลตี้ คลับ ที่มีประวัติในการจัดส่งสินค้าพัสดุกับทางเคอรี่เป็นประจำ โดยพบว่าได้รับการตอบรับจากสมาชิกเข้ามามาก และในปีหน้าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อให้พนักงานเคอรี่

“ปัจจุบันเคอรี่มีลูกค้ากว่า 10 ล้านราย มีพนักงานส่งของทั้งหมด 20,000-30,000 ราย ซึ่งเราพบว่าลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ต้องการใช้สินเชื่อ เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือการจัดการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว” วราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าว

ทั้งนี้ แรบบิท แคชตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นยอดสินเชื่อในปี 2565 ประมาณ 2-3 พันล้านบาท และในปี 2566 จะปล่อยสินเชื่อได้ถึง 5 พันล้านบาท

]]>
1358843
กลยุทธ์ ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ ทุ่มสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ดันปล่อยกู้ออนไลน์ทะลุ ‘หมื่นล้าน’ ปีนี้ https://positioningmag.com/1340688 Mon, 05 Jul 2021 11:12:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1340688 พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนเร็วหลังวิกฤตโรคระบาดกรุงศรี คอนซูมเมอร์รุกสร้างระบบนิเวศดิจิทัลทุ่มงบ 500 ล้าน ขยายเเพลตฟอร์ม ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ จับการตลาดเเบบเฉพาะบุคคลร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ปล่อยสินเชื่อผ่านออนไลน์กว่าหมื่นล้านมองการเเข่งขันดุเดือด ช่วงไตรมาส 3-4

อธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด เล่าว่า ในช่วงการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคใช้โซเชียลมีเดีย จ่ายเเบบไร้เงินสดและบริการทางออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริการช่องทางดิจิทัลในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีสูงกว่า 250 ล้านรายการ

จากข้อมูลของ We Are Social ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า คนไทยเกือบ 70 ล้านคน ในช่วงอายุ 16-64 ปี ใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ต (All Devices) กว่า 8 ชั่วโมง 44 นาที ส่วนใหญ่ดูทีวีสตรีมมิ่ง เล่นโซเชียลมีเดีย เเละเสพข่าวสารออนไลน์ ในจำนวนนี้ ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนถึง 98.9% คอมพิวเตอร์เเละโน้ตบุ๊ก 48.5% เเละผ่านเเท็บเล็ต 34.7%

จากกระเเสเทรนด์นี้ ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้ก้าวทันลูกค้าที่ใช้บริการออนไลน์ เพื่อขยายช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างครบวงจร รวดเร็ว และหลากหลาย พร้อมเร่งทำการตลาดโดยใช้ข้อมูล (Data-Driven Marketing)

บริษัทเตรียมขยายธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ด้วยงบลงทุน 500 ล้านบาท ในช่วงปีนี้เเละปีหน้า โดยในไตรมาส 3 จะเริ่มทยอยขยายเเพลตฟอร์ม บริการเเละผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อผ่อนชำระและประกัน ออกมาทำตลาด

คนไทยแห่ใช้ QR Code 

ปัจจุบันกรุงศรี คอนซูมเมอร์มีฐานลูกค้าทั้งหมด 9 ล้านราย มียอดทำรายการผ่านบัตรในเครือสูงถึง 151 ล้านรายการ เฉลี่ยทำรายการอยู่ที่ 4 แสนรายการต่อวัน

ขณะเดียวกัน มีลูกค้าหันมาใช้บริการเเอปพลิเคชัน ‘UChoose’ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดือนธันวาคม ปี 2563 ที่ 5.8 ล้านราย คาดว่าปีนี้เพิ่มเเตะ 6.5 ล้านราย เติบโต 12% หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของฐานลูกค้าทั้งหมด

ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มียอดธุรกรรมผ่าน UChoose แล้วไปกว่า 2.2 ล้านรายการ เเละคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเป็น 6.2 ล้านรายการ

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วงการเเพร่ระบาดของโควิด-19 คนไทยจำนวนมากเลือกชำระเงินผ่าน ‘QR Code’ จากเเรงสนับสนุนของมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาลรวมถึงการหลีกเลี่ยงสัมผัสเงินสด

จากในปี 2563 ที่มีธุรกรรมผ่าน QR Code ราว 8.7 หมื่นรายการ ขยับมาเป็น 1.01 แสนรายการ เพียงในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยประเมินว่า ภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 3 แสนรายการ หรือเติบโต 3.4% สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่หันไปทำธุรกรรมบน ‘โมบายแอปพลิเคชัน’ มากขึ้น เห็นได้จากช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 30 ล้านครั้งเเล้ว จากปี 2563 อยู่ที่ 65 ล้านครั้ง เเละคาดว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 80 ล้านครั้ง หรือเติบโตถึง 23%

3 กลยุทธ์ปั้นโมเดลธุรกิจ รับโลกออนไลน์ 

สำหรับเเนวทางการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลของกรุงศรี คอนซูมเมอร์เเบ่งเป็น 3 ด้านหลักๆ ได้เเก่

Platform : ขยายแพลตฟอร์มข้อมูล ผลิตภัณฑ์ บริการผ่านดิจิทัล-โซเชียลมีเดีย

ที่ผ่านมา กรุงศรี คอนซูมเมอร์ นำเทคโนโลยีมาให้บริการลูกค้า เช่น บริการยืนยันตัวตนด้วยเสียง ที่ใช้เสียงพูดเพื่อยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับบัญชีบัตรเครดิต ผ่านศูนย์บริการข้อมูลทางโทรศัพท์ บริการตรวจสอบข้อมูลบัญชีบัตรเครดิตด้วยตนเอง ผ่านระบบแชทบอทบน Facebook Messenger

โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เป็นต้นไป บริษัทมีแผนเพิ่มช่องทางการสื่อสารทางดิจิทัลใหม่ๆ อย่าง กรุงศรี คอนซูมเมอร์ Line OA, Website, Facebook, Youtube เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้อย่างครอบคลุม เเละบริการ U Card สมัครบัตรใหม่ผ่านแอปฯ UChoose พร้อมขยายจุดรับบริการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (E-KYC) ผ่านจุดยืนยันตัวตนกว่า 14,000 แห่งทั่วประเทศในช่วงไตรมาสที่ 4

Partnership : สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมอัดโปรโมชัน

สานต่อการจับมือกับพันธมิตรในหลากหลายแบรนด์และประเภทกลุ่มธุรกิจ เช่น อโกด้า, แอร์เอเชีย, แกร็บ, โฮมโปร, ช้อปปี้, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, ยูนิโคล่, โลตัสออนไลน์ ฯลฯ เพื่อจะตอบสนองความต้องการเเละไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของลูกค้า ผ่านการทำ ‘โปรโมชันและดีลพิเศษ’ อย่างการให้ส่วนลดซื้อสินค้า ใช้คะแนนแลกเครดิตเงินคืน หรือรับ E-Coupon สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งในผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อส่วนบุคคล

Personalization – การสื่อสารและทำการตลาดเฉพาะบุคคล

หนึ่งในกลยุทธ์เสริมศักยภาพในระบบนิเวศดิจิทัลของ ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ ที่สำคัญ คือ การนำฐานข้อมูล พฤติกรรมการใช้จ่ายต่างๆ ของลูกค้าที่มีอยู่มหาศาล มาสกัดการทำการตลาดเเบบเฉพาะบุคคล หรือที่เรียกว่า Personalized Marketing เพื่อให้บริการ นำเสนอผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม และตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น ให้ ‘ทันที ถูกที่ ถูกเวลา’ 

“ในอนาคต บริษัทยังเตรียมสร้าง Krungsri Consumer Data Platform ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อและระบุตัวตนของลูกค้าจากข้อมูลทั้งออนไลน์และออฟไลน์จากทุก Touch Point ของลูกค้า รวมไปถึง Customer Journey เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้”

ขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ มาเเรง 

ด้านความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของเเวดวงสินเชื่อ ในช่วง ‘ครึ่งปีหลัง’ ของปีนี้ ผู้บริหารกรุงศรีฯ ประเมินว่า ตลาดจะกลับมาแข่งขันดุเดือดมากขึ้น ช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ในกรณีที่การกระจายวัคซีนได้ผลดีเเละมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐไม่ยืดเยื้อเกินไป ซึ่งตลาดตลาดสินเชื่อบุคคลช่วงปลายปี น่าจะกลับมาเติบโตได้ดีกว่าช่วงต้นปี ที่หดตัวลงราว 5%

โดยช่วงนี้บริษัทได้ส่งบริการ ‘ขอสินเชื่อผ่านออนไลน์’ ออกมาเจาะตลาด นั่นก็คือ  ‘ยูแคช’ (U Cash) บริการโอนวงเงินบัตรเครดิตของลูกค้าที่มีอยู่ เข้าบัญชีธนาคารเพื่อใช้เป็นเงินสด หลังเปิดบริการเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา พบว่า ‘กระแสตอบรับดีเกินคาด’

ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิ.ย. มียอดปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1,240 ล้านบาท มีการทำธุรกรรมจำนวน 1.35 แสนรายการ เฉลี่ยวงเงิน 1.6 หมื่นบาทต่อราย คาดว่าภายในสิ้นปีจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 1 หมื่นล้านบาท

โดยได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มลูกค้าเดิม ที่มีวงเงินสินเชื่อในบัตรเครดิต ช่วงอายุ 30-40 ปี ซึ่งมีความคุ้นเคยกับระบบดิจิทัล ได้เปลี่ยนพฤติกรรมมาขอสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด เนื่องจากเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปกดเงินสดเองที่ตู้เอทีเอ็ม

เมื่อถามว่า ท่ามกลางการเติบโตของเทรนด์ผู้ใช้เเพลตฟอร์มออนไลน์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ อีกมุมหนึ่งอะไรเป็นความท้าทายของการสร้าง ‘ระบบนิเวศดิจิทัล’ ในไทย นั้น อธิปตอบว่า คือการพัฒนาระบบให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ความพร้อมของอีโคซิสเต็ม การได้รับสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงการสร้างความรับรู้ การเปลี่ยน
เเปลงของรูปแบบการใช้จ่ายในสังคม เพื่อขยายฐานผู้ใช้งาน

โดยการที่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีฐานลูกค้าตอนนี้กว่า 9 ล้านราย ครอบคลุมทั้งลูกค้าระดับเเมส และกลุ่มลูกค้าระดับบน พร้อมพันธมิตรกว่า 2.5 หมื่นราย เเละมีการเสริมทีมงานพัฒนาระบบให้รองรับการใช้งานที่มากขึ้นตามไปด้วย ก็นับเป็น ‘จุดแข็ง’ ของเเบรนด์ในตลาดที่เเข่งขันสูงนี้ …

 

]]>
1340688
ส่องดีล KBank & Lazada ปล่อยเงินกู้ให้ผู้ขายออนไลน์ รู้ผล 1 นาที ตั้งเป้าปี 63 ทะลุพันล้าน https://positioningmag.com/1255742 Tue, 03 Dec 2019 12:16:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1255742 ช่วงนี้สินเชื่อออนไลน์มาบ่อยมาก ล่าสุดกสิกรไทย (KBank) ร่วมกับลาซาด้า (Lazada) หนุนผู้ประกอบการรายย่อยชั้นดี ให้เข้าถึงเงินกู้ ไม่ต้องเตรียมเอกสาร ไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคาร แค่ต้องมีประวัติค้าขายดี รู้ผลเร็วภายใน 1 นาที ช่วยธุรกิจออนไลน์หมุนเงินรับเทศกาลช้อปปิ้งใหญ่ มองอีคอมเมิร์ซไทยยังโตได้อีก

วงเงินอนุมัติ 2 หมื่นถึง 6 เเสน ใครที่กู้ได้บ้าง อัตราดอกเบี้ยคิดยังไง เงื่อนไขมีอะไร ระยะเวลากู้เท่าไหร่ Positioning รวบรวมมาให้แล้ว

อีคอมเมิร์ซไทยยังโตได้อีกไกล

แจ๊ค จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวถึงความเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียนเเละไทยว่า มีการเติบโตเป็นเท่าตัวเเละมีจำนวนผู้ซื้อโตกว่า 100% อย่างไรก็ตาม เเม้ตัวเลขจะดูเยอะเเต่คิดเป็นเพียง 3% ของภาพรวมทั้งหมด ด้วยจีนมีอยู่ถึง 20% เเละสหรัฐฯ อยู่ที่ 15% เเละนี่คือข้อบ่งชี้ว่าตลาดไทยเเละอาเซียนยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีก จึงเป็นเป้าหมายของลาซาด้าที่ต้องการจะยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยเพราะเชื่อว่าไม่มีแบรนด์ใดใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไปสำหรับการประสบความสำเร็จในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

โดยในมุมมองของลาซาด้า เรามุ่งเน้นหลัก Customer First ที่ไม่ใช่เเค่กลุ่มผู้ซื้อเท่านั้น เเต่กลุ่มผู้ขายก็เป็นลูกค้าที่เราต้องให้ความสำคัญด้วย จึงต้องมีการพัฒนาเเพลตฟอร์ม การขนส่งเเละใช้เทคโนโลยีจาก Alibaba เข้ามาช่วยเเก้ไขปัญหาต่างๆ

“เราตั้งใจจะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการบนเเพลตฟอร์มลาซาด้าเเละมีความต้องการจะขยายกิจการ ให้สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อรองรับเทศกาลช้อปปิ้งใหญ่ โดยที่ผ่านมาถือว่ามหกรรมลดราคาสินค้าอย่าง 11.11 ประสบสำเร็จเเละมีตัวเลขยอดขายที่ถล่มทลายมาก ผู้คนตื่นเต้นเเละตั้งตารอ เป็นโอกาสทองของผู้ขายเช่นกัน”

แจ๊ค จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย)-กลาง / วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย -ขวา

ช่วยร้านเล็ก เสริมแกร่งตลาดใหญ่

ผู้บริหารลาซาด้า เชื่อว่าบริการสินเชื่อเงินด่วนที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เข้าถึงเงินทุนที่ต้องการ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโต ขณะเดียวกันในด้านแพลตฟอร์มเองก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยขยายฐานผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้น

“เป้าหมายคือการช่วยให้ SMEs เติบโตได้จริง เเละไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะเเค่เพียงคุณมีประวัติการขายที่ดี เราจะช่วยรับรองให้คุณเข้าถึงเงินทุนได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนตัวเล็กที่สุดสามารถโตได้ ภาพรวมก็จะเเข็งเเกร่งขึ้นเอง”

แก้ปมพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ …ขอกู้ยาก

วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยคึกคักมากในช่วงที่ผ่านมา มีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่เข้าสู่ธุรกิจนี้จำนวนมาก ดังนั้นต้องมีการปรับตัวรับการเเข่งขันที่สูงขึ้นเช่นกัน ด้วยความท้าทายของผู้ขายของออนไลน์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งการหาลูกค้าประจำ การสต็อกของให้เพียงพอ เเละที่ว่ามาทั้งหมดจำเป็นต้องใช้ “เงินทุน”

แต่ปัญหาที่สำคัญของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เลยก็คือ ปัญหาการเข้าถึงเงินทุน ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น เอกสารไม่เพียงพอ ไม่เดินบัญชี ไม่มีหลักประกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

ดังนั้นธนาคารกสิกรไทยจึงร่วมมือกับลาซาด้า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนับสนุนผู้ขายที่มีการทำธุรกิจจริงบนลาซาด้า ในรูปแบบ “Better Together” ให้สามารถเข้าถึงเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้น

“เราเชื่อว่าผู้ประกอบการต้องการเงินทุนหมุนเวียน ต้องมีการสต็อกของไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ดังนั้นเราจึงให้กู้ตั้งเเต่ 2,000 บาทขึ้นไป โดยไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคาร ไม่ต้องยื่นเอกสาร ให้เอาเวลาไปทำมาหากินขายของดีกว่า ง่ายกว่าการแชทไปขอยืมเงินเพื่อนเสียอีก”

วงเงิน 2 หมื่นถึง 6 เเสน ใครบ้างที่กู้ได้?

สำหรับสินเชื่อเงินด่วนเพื่อร้านค้า Lazada (Xpress Loan) นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่การอนุมัติเร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องใช้หลักประกัน ไม่ต้องมีเอกสารให้ยุ่งยาก และฟรีค่าธรรมเนียม ด้วยวงเงินกู้จาก 20,000 – 600,000 บาท เพื่อช่วยให้ผู้ขายออนไลน์บนลาซาด้า มีเงินทุนเพื่อหมุนเวียนและต่อยอดได้ทันความต้องการของธุรกิจ

“เราตั้งเป้าไว้ว่าสิ้นปี 2563 จะปล่อยกู้ได้ราว 1 หมื่นคน คิดเป็นวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท เเละคิดว่ายอดจะโตได้กว่านี้อีก เพราะเเพลตฟอร์มลาซาด้าใหญ่มาก ”

โดยผู้กู้ต้องเปิดร้านกับลาซาด้ามาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มีประวัติการค้าขายที่ดี มียอดขายสม่ำเสมอ มีความน่าเชื่อถือเเละมีการเปิดบัญชีกับธนาคารกสิกรไทย โดยจะได้รับการอนุมัติผ่านเเอปพลิเคชั่นอย่างเร็วที่สุดคือ 1 นาที เงินโอนเข้าบัญชีทันที เเละต้องดูเป็นรายบุคคล ซึ่งลาซาด้าจะเป็นผู้รับรองให้ว่าผู้ประกอบการว่าโปรไฟล์ดีพอจะกู้ผ่านหรือไม่

“เเม้จะมีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกสิกรไทยเเละลาซาด้า เเต่ขอรับรองว่าข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าจะต้องได้รับการอนุญาตเข้าถึงจากลูกค้าเองเท่านั้น” ผู้บริหารกสิกรย้ำ

อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่?

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้น จะมีการคิดเเบบ Personalised Interest Rate ที่คิดดอกเบี้ยในอัตราตามรายบุคคล เช่นหากคุณทำการค้าขายบนลาซาด้ามายาวนาน ยอดขายสม่ำเสมอ รายได้ดี ก็จะได้รับดอกเบี้ยต่ำมากเป็นพิเศษ เช่นเพียงเเค่ 1% โดยกู้มา 10,000 บาทก็เสียดอก 100 บาทเป็นต้น

ขณะที่หากคุณเป็นร้านค้าที่มียอดขายไม่มาก ก็สามารถกู้ได้เช่นกันหากมีประวัติที่ดี เเต่อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้นมาในอัตราปกติ เท่ากับเรทของการไปกู้ที่ธนาคาร เเละถ้าต่อไปลูกค้ารายดังกล่าวส่งดีส่งตรงเวลา ก็อาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยให้ในอนาคตได้

“ระยะเวลาเงินกู้จะอยู่ที่ 6 เดือน ถ้าอยากกู้ใหม่ก็ต้องปิดสัญญาเดิมก่อน โดยจะมีการตัดผ่านบัญชีของลาซาด้าเป็นการผ่อนจ่ายรายเดือน และหากมีการผิดนัดชำระก็จะมีการทวงหนี้ตามขั้นตอนปกติของธนาคาร” วีรวัฒน์ระบุ

โดยเมื่อถามถึงโมเดลรายได้ ผู้บริหารกสิกรไทยตอบว่า “จะมีรายได้จากในส่วนของดอกเบี้ย ซึ่งก็เป็นความท้าทายของกสิกรไทยเช่นกันในแพลตฟอร์มนี้ แต่ด้วยปัจจุบันเรามีลูกค้าเงินกู้ในระบบที่เป็น SMEs ถึง 40% จึงต้องการสนับสนุนด้วยนี้อย่างแท้จริง”

ขณะที่มุมมองการเติบโตของ SMEs ไทยในปีนี้ เขามองว่า รายย่อยยังโตยาก ด้วยปัจจัยทั้งภายในประเทศอย่างเรื่องการเมือง และปัจจัยนอกประเทศอย่างสงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งค่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการปฏิวัติการให้เงินกู้ออนไลน์ด้วยการเชื่อมต่อ API ของแอปฯ Lazada Seller Center และแอปฯ K PLUS เป็นการนำเสนอเงินกู้ผ่านแอป Lazada Seller Center และเชื่อมต่อมายังแอป K PLUS ทำให้การกู้เงินจบในแอปฯ สร้างประสบการณ์ใหม่ในการขอกู้ที่สะดวกรวดเร็ว โดยทางธนาคารได้ทดลองปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ขายออนไลน์บนลาซาด้าไปแล้ว และได้ผลตอบรับที่ดี

ผู้ขายออนไลน์ ต้องการเงินหมุน-สต็อกของไม่ทันขาย

ฟากฝั่งผู้ประกอบการ Lazada Seller อย่าง “ศุภสัญศ์ จันทรสิริเกษม” ผู้บริหาร SKG Electric เล่าประสบการณ์ค้าขายออนไลน์ว่า เขาเริ่มเปิดขายในลาซาด้ามาแล้ว 5 ปี พบว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 40 % ด้วยพฤติกรรมผู้คนที่เริ่มไม่นิยมออกมาซื้อของนอกบ้าน และคนรู้จักแบรนด์มากขึ้นจากการทำการตลาดบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

“เมื่อขายของดีขึ้น ก็ต้องมีทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขยายร้าน จ้างแรงงานและระบบการจัดส่ง แต่การไปยื่นขอกู้กับธนาคารยุ่งยากมาก ไม่ว่าเราจะมียอดขายดีแค่ไหน เขาก็ไม่เชื่อ อีกทั้งยังต้องรอลุ้นผลอีก 1 เดือน แต่ถ้ากู้ผ่านลาซาด้า เขามีสถิติของร้านเราอยู่แล้ว จึงทำให้กู้ง่ายมาก ได้เงินไปหมุนเวียนในธุรกิจทันเวลา”

ด้าน ณัฐพิสุทธ์ น้อยคำสิงห์ ผู้บริหาร Mr.Barber Pomade ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่ดำเนินธุรกิจขายของบนลาซาด้ามา 2 ปีบอกว่า กระแสช้อปปิ้งออนไลน์ทำให้ร้านมียอดขายในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ที่ผ่านมาถึง 10 เท่าต้องแพ็กของเตรียมข้ามเดือน จากแต่ก่อนต้องพึ่งพายอดขายจากตัวแทนเท่านั้น การปล่อยกู้แบบ Real-Time บนแอปลาซาด้าของกสิกรไทย รวดเร็วมากและไม่ต้องเตรียมเอกสาร ทำให้เรามีเงินสต็อกของและสะดวกสบาย

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา กสิกรไทยได้ประกาศความร่วมมือกับ ช้อปปี้ (Shopee) อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของอาเซียน โดยมีการให้ “เงินกู้ธุรกิจออนไลน์” (MADFUND) ของร้านค้าบนแพลตฟอร์มของช้อปปี้ ไม่ต้องยื่นเอกสาร ไม่ต้องมีหลักประกัน สมัครง่ายผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS คัดกรองผู้รับสินเชื่อจากข้อมูลรายได้ และพฤติกรรมการค้าขายอื่น ๆ ประกอบกัน ด้วยวงเงินอนุมัติสูงสุด 600,000 บาทเช่นเดียวกัน

 

]]>
1255742
SCB ปรับเกมรับมือฟินเทค จับมือลาซาด้าให้สินเชื่อออนไลน์ เจาะกลุ่มร้านค้า SME https://positioningmag.com/1198859 Wed, 21 Nov 2018 23:00:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1198859 การเกิดขึ้นของฟินเทคถือเป็นจุดเปลี่ยนเกมและคู่แข่งที่น่ากลัวของธนาคารในเมืองไทยเลยทีเดียว เนื่องจากวันนี้โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ฟินเทคจึงมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น บริการชำระเงินหรือแพลตฟอร์มลงทุนกู้ยืม ผลักให้ธนาคารต้องเร่งปรับตัวก่อนที่จะถูกกลืนกินจนไม่เหลือพื้นที่ยืนของตัวเองอีกต่อไป

ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB เป็นหนึ่งในธนาคารที่ปรับตัวเองอย่างหนัก เพื่อรับมือการเปลี่ยนเกมในครั้งนี้ โดยภาพเริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ปลายปี 2017 ที่ใช้เงินกว่า 4,000 ล้านบาท ยกเครื่อง “SCB EASY” Mobile Banking ของตัวเอง ครั้งนั้นได้เพิ่มบริการต่างๆ ให้เหมือนกับยกสาขามาไว้ในสมาร์ทโฟน และประกาศฟรีค่าธรรมเนียม เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางนี้กันมากขึ้น

ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer  ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยพูดเอาไว้ว่า สงครามระหว่างธนาคารและฟินเทคในปี 2019 จะอยู่ที่การให้บริการสินเชื่อซึ่งต้องง่ายและตอบโจทย์กับผู้บริโภค SCB จึงเริ่มเปิดบริการยื่นขอ “สินเชื่อส่วนบุคคลผ่าน SCB EASY ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดย ตุลาคม ปล่อยไปแล้วทั้งสิ้น 4,700 ล้านบาท

Next Step ของการขอสินเชื่อออนไลน์ที่ SCB กำลังจะรุกคืบอยู่ที่กลุ่มของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย หรือ SME เนื่องจากกลุ่มนี้ต้องการเงินทุนมาต่อยอดธุรกิจมากที่สุด SCB จึงมอบหมายให้เอสซีบี อบาคัสบริษัทเทคโนโลยีในเครือ นำ AI และ Machine Learning มาใช้ในการให้พัฒนาบริการสินเชื่อออนไลน์สำหรับกลุ่ม SME ซึ่งกลุ่มนี้มีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ

ใช้ชื่อว่าสินเชื่อแม่มณีศรีออนไลน์นำร่องปล่อยสินเชื่อออนไลน์ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กับร้านค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) ของลาซาด้าก่อน ซึ่งหลักพิจารณาจะต้องมีเป็นร้านค้าที่ขายบนลาซาด้าไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

ไม่ต้องยื่นเอกสาร เพียงยื่นความจำนงผ่าน clickcash.scb.co.th แล้ว SCB จะดึงข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อจากแหล่งต่างๆ ที่ผู้ยื่นเซ็นอนุญาต เช่น พฤติกรรมซื้อขายที่เกิดขึ้นในลาซาด้า เครดิตบูโร ถ้ามีบัญชี SCB อยู่แล้วก็จะดึงมาประกอบ เป็นต้น

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด บอกว่า เมื่อทุกอย่างเป็นดิจิทัล 100% การอนุมัติจึงใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากเดิมที่ใช้เวลาตั้งแต่ 3 วันถึงหนึ่งสัปดาห์ ด้วยไม่มีต้นทุนทางเอกสาร จึงทำให้ลดเบี้ยลดลงไปด้วยอยู่ที่ 19.37% ต่อปี (1.59% ต่อเดือน) เมื่อเทียบกับสินเชื่อบัตรเงินสดที่มีดอกเบี้ยเฉลี่ย 28%

วงเงินที่ได้จะไม่เกิน 3 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์และบุคคลมาค้ำประกัน แต่ต้องชำระภายใน 24 เดือน นับตั้งแต่เปิดให้ยื่นมีผู้ประกอบการขอยื่นแล้ว 2,378 ราย โดยมีวงเงินเบื้องต้น 500 ล้านบาท ขณะนี้ใกล้เต็มแล้ว

จริงๆ แล้วโครงการนี้อยู่ระหว่างการทดสอบใน SandBox ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ โดยได้ยื่นขยายการอยู่ใน SandBox ไปจนถึงปลายปีหน้า เนื่องจากจนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้กู้รายใดที่ผิดนัดชำระหนี้เลย ซึ่งตามปรกติแล้วโครงการที่ในระหว่างทดสอบ ต้องศึกษาผลกระทบรอบด้านเสียก่อน แต่ทั้งนี้ได้มีการขยายและมีการขยายขอบเขตพื้นที่การให้บริการจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปยัง 20 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว

ตอนนี้อยู่ในระหว่างของบอร์ดของธนาคาร เพื่ออนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่ม วันนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าเพิ่มหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน เพราะมีคนสนใจจำนวนมาก

ดีลนี้ถือว่า “Win Win” สำหรับทั้ง SCB และลาซาด้า โดยที่ SCB ได้โนว์ฮาวบางส่วนของการทำอีคอมเมิร์ซ และได้ฐานลูกค้าสินเชื่อเพิ่ม ส่วนลาซาด้าก็ได้จุดแข็งด้านสินเชื่อมาเติมความเชื่อมั่น เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการยังอยู่บนแพลตฟอร์มต่อไป

นอกเหนือจากกลุ่มคอมเมิร์ซ SCB ยังวางแผนขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ โดยจะต้องเป็นธุรกิจที่ทำกับผู้บริโภคทั่วไปเป็นหลัก ตอนนี้เล็งกลุ่มบริการไว้ โดยต่อไปการอนุมัติสินเชื่อจะใช้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การชำระหนี้ เพื่อประเมินผู้กู้ก่อนที่จะกำหนดวงเงินดอกเบี้ย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะห่างกันประมาณ 1-3%.

]]>
1198859