เทรนด์บิวตี้ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 16 Mar 2023 08:16:42 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จับ 5 เทรนด์สำคัญวงการ “บิวตี้-เครื่องสำอาง” 2566 จากพลัง “ดาต้า” ของร้าน “วัตสัน” https://positioningmag.com/1423484 Thu, 16 Mar 2023 08:02:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1423484 ปี 2566 เป็นปีที่ทุกวงการธุรกิจจะกลับมาฟื้นเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจ “บิวตี้-เครื่องสำอาง” จากขุมพลัง “ดาต้า” ของร้าน “วัตสัน” ร้านจำหน่ายเครื่องสำอางมัลติแบรนด์ที่มีสาขามากที่สุดในไทย พบเทรนด์สำคัญๆ ในช่วงหลังโควิด-19 ที่ต้องจับตา

“นวลพรรณ ชัยนาม” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ วัตสัน ประเทศไทย เปิดข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคตลาด “บิวตี้-เครื่องสำอาง” ในช่วงหลังผ่านพ้นโควิด-19 ที่น่าสนใจ จากการเก็บ “ดาต้า” ของวัตสัน (Watsons) ที่มีร้านสาขาอยู่มากกว่า 650 สาขาทั่วประเทศ และมีฐานลูกค้าสมาชิกประมาณ 7 ล้านคน โดยความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคมีดังนี้

 

1.ลูกค้าช้อปออนไลน์ไม่ลดลงแม้โรคระบาดคลี่คลาย

ในช่วงโควิด-19 วัตสันมีการออกกลยุทธ์ O+O หมายถึง Offline+Online เพื่อดึงให้ลูกค้าเลือกหาสินค้าและช้อปปิ้งได้ทั้งสองช่องทาง ส่งเสริมกันและกัน

“เราคิดว่าหมดโควิด-19 แล้วลูกค้าที่ซื้อออนไลน์คงจะลดลง แต่ปรากฏว่าไม่ลดลงเลย และลูกค้าเข้าหน้าร้านก็กลับมามากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการช้อปออนไลน์กลายเป็น norm ของสังคมไปแล้ว” นวลพรรณกล่าว

อีกส่วนหนึ่งที่ลูกค้าออนไลน์ไม่ลดลง วัตสันศึกษาพบว่าเป็นเพราะยุคก่อนการช้อปออนไลน์เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ แต่สมัยนี้ทุกวัยมีความรู้ในการซื้อของออนไลน์และเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งหมด

ออนไลน์ยังสำคัญกับการขายผลิตภัณฑ์บิวตี้
2.Search ก่อนช้อป และรู้ลึกรู้จริง

80-90% ของลูกค้าวัตสันยุคนี้มีการค้นหาข้อมูลสินค้าก่อนซื้อ และการค้นหาก็ไม่ใช่เพียงผิวเผิน แต่ต้องการทราบรายละเอียดเชิงลึก

“ลูกค้าต้องการรู้ลึกว่าผลิตภัณฑ์ใส่ส่วนประกอบอะไรบ้าง ส่วนประกอบนั้นมาจากไหน เพราะเดี๋ยวนี้ลูกค้ามีความรู้หมดว่าส่วนประกอบนั้นๆ คืออะไร ใช้ทำอะไร จนกระทั่งรู้ว่าส่วนประกอบชนิดนี้ต้องมาจากแหล่งไหนถึงจะดีที่สุด” นวลพรรณกล่าว

เป็นการบ้านกลับมาที่วัตสันจะต้องฝึกฝนพนักงานร้านให้รู้ลึกรู้จริงเช่นกัน หากลูกค้าสอบถามเข้ามาจะต้องตอบได้ เพื่อคงความเป็นร้านผู้เชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์บิวตี้

 

3.“For Men” สินค้าม้ามืดแห่งยุค

ผลิตภัณฑ์ที่มาแรงมากๆ ในยุคนี้คือ ผลิตภัณฑ์บิวตี้สำหรับผู้ชาย (For Men)

“ผู้ชายที่หันมาใช้ผลิตภัณฑ์บิวตี้จะเริ่มจากพื้นฐานก่อน เช่น โฟมล้างหน้า สกินแคร์บำรุงผิว จนคนที่มั่นใจมากขึ้นก็จะหันมาลงแป้ง คุชชั่น รองพื้น เขียนคิ้ว อายไลเนอร์ เพราะผู้ชายก็ต้องการจะดูดีเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้ามีงานสังคมสำคัญๆ” นวลพรรณกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ชายหลายคนอาจจะยังใช้ของผู้หญิงทดแทนไปก่อนเพราะผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายมีให้เลือกไม่มาก กลุ่มสินค้า For Men ที่วัตสันมีจำหน่ายจะเป็นยี่ห้อ เช่น ศรีจันทร์, in2it, Dermaction Plus by Watsons ซึ่งเป็นกลุ่มที่ออกไลน์สินค้าสำหรับผู้ชาย

ในอนาคตหากมีแบรนด์ที่ออกผลิตภัณฑ์ For Men หลากหลายขึ้น เป็นไปได้ที่วัตสันจะเริ่มจัดโซนบิวตี้สำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ เพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ชายที่คิดเร็ว ซื้อเร็ว มีเป้าหมายในการหยิบ ไม่นิยมเดินดูของในร้านเหมือนผู้หญิง

วัตสัน
ไลน์ผลิตภัณฑ์ For Men ของแบรนด์ Dermaction Plus by Watsons
4.การกลับมาของ “Make up”

ช่วงที่เกิดโรคระบาด ไลน์ผลิตภัณฑ์ Make up หรือเครื่องสำอางตกแต่งใบหน้านั้นทำยอดขายได้ลดลง เพราะคนไทยอยู่บ้านมากขึ้น หากออกไปนอกบ้านก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย จึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้า เช่น ลิปสติก รองพื้น จะขายได้ไม่ดีนัก

แต่เรื่องราวเหล่านั้นเป็นอดีตไปแล้ว นวลพรรณกล่าวว่า ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน จนถึงไตรมาส 1 ปีนี้ ยอดขายกลุ่ม Make up กลับมาโตแบบดับเบิลดิจิต โดยเฉพาะลิปสติกที่ขายดีสุดๆ สอดคล้องกับห้วงเวลาที่คนไทยเริ่มกล้าที่จะถอดหน้ากากอนามัย

บิวตี้ เครื่องสำอาง
Make up กลับมาขายดี โดยเฉพาะ “ลิปสติก”
5.ตลาดแมสยิ่งประหยัด ตลาดไฮเอนด์แพงไม่ว่าแต่ขอสิ่งที่ดีที่สุด

สุดท้ายคือพฤติกรรมที่มีผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ วัตสันพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคแบ่งความเปลี่ยนแปลงได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

ตลาดแมส เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ทำให้การซื้อสินค้าจะเริ่มลดความถี่ลง เพราะลูกค้าพยายามใช้ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นให้ได้นานขึ้น ใช้อย่างประหยัด

แต่ในทางกลับกัน ตลาดกลางบนจนถึงไฮเอนด์ แม้ซื้อสินค้าน้อยชิ้นลงแต่จะจ่ายในราคาแพงขึ้นต่อชิ้น หากเล็งเห็นว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นของคุณภาพดี เพราะมองว่าคุ้มค่ากว่า

 

พร้อมแชร์ “ดาต้า” จับมือกับพาร์ทเนอร์ดันให้สินค้าขายดี

ดาต้าเหล่านี้วัตสันไม่ได้เก็บไว้คนเดียว แต่เป็นข้อมูลที่แชร์กับพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตสินค้าที่ลงจำหน่ายในร้าน เพื่อช่วยกันผลักดันให้สินค้าขายดีขึ้น หรือชี้เทรนด์การออกสินค้าใหม่ต่างๆ เช่น กระแส Make up ที่กลับมา วัตสันจะส่งสัญญาณไปที่เจ้าของแบรนด์ว่าลูกค้ากำลังหาสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น ควรออกสินค้าใหม่ และทำคอนเทนต์การตลาด

วัตสันยังมีการฉลองความสำเร็จให้กับพาร์ทเนอร์ผ่านรางวัล Health Wellness and Beauty Awards (HWB) ด้วย โดยเป็นรางวัลที่มอบให้กับสินค้า 100 ชิ้นจาก 100 หมวดหมู่ที่ขายดีที่สุดในแต่ละปี เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานร่วมกันต่อไป

Eucerin Spotless Brightening Booster Serum 30 ml

โดยรางวัล HWB จะมีรางวัลใหญ่ที่สุดคือ รางวัล Best of the Best สินค้าที่ทำยอดขายสูงสุดกับวัตสัน และปี 2023 รางวัลนี้ตกเป็นของ Eucerin Spotless Brightening Booster Serum 30 ml จาก บริษัท ไบเออร์สด็อฟ (ประเทศไทย)

นวลพรรณกล่าวว่า รางวัล HWB นั้นมีจัดขึ้นมาร่วม 20 ปีแล้ว และมีจัดแยกในทุกๆ ตลาดจำนวน 15 ตลาดที่วัตสันเข้าไปลงทุน สินค้าที่ขายดีที่สุดก็มักจะเป็นภาพสะท้อนตลาดนั้นๆ ด้วย อย่างในประเทศไทยนั้นสินค้าที่เป็น Best of the Best ก็มักจะตกอยู่ในกลุ่มสกินแคร์เกือบทุกปี

“นวลพรรณ ชัยนาม” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ วัตสัน ประเทศไทย

การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์นั้นจะสร้างความสัมพันธ์ที่วิน-วิน คือเมื่อพาร์ทเนอร์นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ เข้ามาขายในร้าน วัตสันจะใช้ดาต้าจากระบบ CRM ช่วยให้พาร์ทเนอร์หาผู้บริโภคที่เหมาะสมกับลักษณะสินค้า และมีการทำโปรโมชันได้เหมาะสมกับรอบการซื้อ

“ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าประจำรายหนึ่งจะกลับมาที่ร้านทุกๆ 65 วันเพื่อซื้อสกินแคร์ เพราะเป็นรอบเวลาการใช้ผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นจนหมดของเขา เมื่อใกล้ครบรอบเวลาวัตสันจะส่งโปรฯ พิเศษให้เพื่อดึงให้ลูกค้าเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เดิมและซื้อกับวัตสัน” นวลพรรณอธิบาย

จากสินค้า 5,000 SKUs ในร้าน มีเพียง 100 SKUs เท่านั้นที่จะได้รับรางวัลแต่ละปี สินค้าที่ได้รางวัล HWB จึงการันตีได้ว่าเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับ โดยร้านยังร่วมกับพาร์ทเนอร์จัดโปรโมชันลดราคาสำหรับสินค้าที่ได้รางวัล HWB ด้วยที่ร้านวัตสัน ระหว่างวันที่ 9-29 มีนาคม 2566 แวะไปเช็กได้ว่ามีสินค้าไหนที่ได้รางวัลนี้บ้างที่นี่

]]>
1423484
ส่องเทรนด์ “บิวตี้” ปี 2022 คนไทยนิยม “สกินแคร์” ที่ชูโรงเรื่อง “ส่วนผสมสำคัญ” มากขึ้น https://positioningmag.com/1414579 Wed, 04 Jan 2023 11:55:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1414579 เทรนด์สินค้า “บิวตี้” ปี 2022 จากการวิจัยโดย Mintel พบว่า คนไทยนิยม “สกินแคร์” ที่ชูจุดเด่นด้าน “ส่วนผสมสำคัญ” มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นโอกาสผู้ประกอบการในการโปรโมตสินค้าด้วยสารบำรุง และเสนอส่วนผสมอื่นที่น่าสนใจให้กับตลาด

วงการบิวตี้ปี 2022 มีอะไรมาแรงที่น่าจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้บ้าง? Mintel วิจัยในคนไทยอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 2,000 คน พบว่า โควิด-19 ทำให้มุมคิดของคนไทยใส่ใจเรื่องสุขภาพผิวจากภายในสู่ภายนอกกันมากขึ้น โดยมีคนไทย 40% ที่รับประทานอาหารเสริมเพื่อดูแลความงาม

แนวความคิดนี้ส่งต่อมาถึงการเลือกสกินแคร์สำหรับใช้ภายนอก การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บิวตี้ของคนไทยไม่ได้มองแค่การบอกคุณสมบัติว่าผลิตภัณฑ์นั้นใช้แล้วได้ประโยชน์อย่างไร แต่ใส่ใจกับการเลือก “ส่วนผสมสำคัญ” ของสกินแคร์นั้นๆ มากขึ้น

สกินแคร์ บิวตี้ ไทย
Photo: Cotton Bro Studio / Pexels

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยยังรู้จักส่วนผสมสารบำรุงในสกินแคร์น้อยชนิด จากการวิจัยของ Mintel มีคนไทย 52% ที่รู้จักชนิดของสารบำรุงน้อยกว่า 4 ชนิดจาก 9 ชนิดที่สำรวจ

สารบำรุงที่คนไทยรู้จักมากที่สุด ปรากฏว่าเป็น “Hyaluronic Acid” ซึ่งมีคนไทย 49% รู้จักส่วนผสมนี้ ส่วนสารบำรุงอื่นๆ ที่มีคนรู้จักเรียงตามลำดับมากไปน้อย ได้แก่

  • Hyaluronic Acid – (49%) คนไทยเรียกกันติดปากว่า “ไฮยา” รู้จักในฐานะสารที่ช่วยกักเก็บน้ำในชั้นผิว ทำให้ผิวดูอิ่มน้ำ
  • AHA – (40%) คนไทยรู้จักว่าเป็นสารที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว ลดรอยดำด่าง
  • Cica – (39%) สารต้านอนุมูลอิสระช่วยรักษาสิว ลดการระคายเคือง
  • Probiotic – (35%) จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ นำมาใช้ในสกินแคร์เพื่อปรับสมดุลแบคทีเรียบนผิวหน้า
  • Peptide – (34%) สารบำรุงที่ช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน ทำให้ผิวเต่งตึง
  • Ceramide – (34%) สารที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นในผิว เหมาะกับผิวที่ขาดน้ำ
  • Zinc – (30%) แร่ธาตุสังกะสีช่วยป้องกันการเติบโตของแบคทีเรีย ลดความมันอุดตัน ทำให้ลดปัญหาสิว
  • Petroleum Jelly – (21%) สารที่ใช้ป้องกันผิวแห้ง รักษาความชุ่มชื้น
  • Niacinamide – (21%) หรือก็คือวิตามินบี 3 ช่วยลดรอยแดง รอยแผลเป็นจากสิว และช่วยกระชับรูขุมขน
ข้อมูลจาก Mintel

Mintel ระบุไฮไลต์จากการสำรวจนี้ว่า ส่วนผสมที่น่าสนใจในการโปรโมต คนไทยรู้จักมากกว่าที่คิดแต่ตลาดกลับยังมองว่าเป็น “นิชมาร์เก็ต” คือ Probiotic เพราะสารกลุ่มนี้กำลังมาแรงในเกาหลีใต้ และคนไทยรับอิทธิพลจาก K-Beauty สูง ทำให้การมีผลิตภัณฑ์ที่ชูโรงสารบำรุงกลุ่มนี้ที่มีประโยชน์ในการปรับสมดุลแบคทีเรีย ทำให้หน้าใสไร้สิวจากพื้นฐานบนใบหน้า น่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ

ในการวิจัยครั้งนี้ มีคนไทยประมาณครึ่งหนึ่งที่รู้จักสารบำรุงน้อยชนิด แต่จะมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง สัดส่วนถึง 32% ที่รู้จักสารบำรุงมากกว่า 6 ชนิดจาก 9 ชนิด เพราะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาผิวหน้าหลายประเด็น จึงมีองค์ความรู้มากเกี่ยวกับสกินแคร์

ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความน่าสนใจต่อผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แบบ ‘customized’ ให้กับลูกค้า เพราะผู้บริโภคมีความรู้พอที่จะผสมสกินแคร์เองได้ ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ออกมาแล้วในตลาด เช่น การ์นิเย่ มีผลิตภัณฑ์แอมพูลเซรั่มที่แบ่งใช้เป็นครั้งๆ ในแต่ละหน่วยจะบรรจุวิตามินซี 3% และสาร Niacinamide เพื่อให้ผู้บริโภคนำไปผสมกับสกินแคร์อื่นได้เอง

อินไซต์จากผู้บริโภคนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการสายบิวตี้ ในการดึงสารบำรุงสำคัญมาเป็นจุดชูโรง ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของลูกค้าที่มีมากขึ้นและใส่ใจมากขึ้นแล้ว

]]>
1414579
จับตา New Normal วงการความงาม “ลอรีอัล” รุกเทรนด์ใหม่ Beauty Behind Mask https://positioningmag.com/1278749 Fri, 15 May 2020 12:20:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1278749 ธุรกิจความงามได้รับผลกระทบไม่น้อยจาก COVID-19 เเต่ดูจะมี “ความหวัง” ที่จะกลับมาฟื้นอีกครั้ง มากกว่าธุรกิจที่กำลังทรุดหนักอย่างภาคท่องเที่ยวหรือการบิน เพราะความงามล้วนเป็นสิ่งใกล้ตัวผู้คนมากกว่า มีผลต่อการใช้ชีวิตเเละจิตใจ

ในเมืองไทย เราเริ่มสวมใส่หน้ากากอนามัยกันมาตั้งเเต่ช่วงปัญหาฝุ่น PM 2.5 เเละกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในช่วงการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เเม้การเเต่งหน้าภายใต้หน้ากากจะดูยุ่งยากขึ้น เเต่เราก็ยังเเต่งหน้ากันอยู่ ก็เพราะเป็นเรื่องของ “ความมั่นใจ” นั่นเอง

สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิด New Normal ของวงการความงามที่เหล่าเเบรนด์ต่างๆ ต้องปรับตัวให้ทัน นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองวีถีชีวิตใหม่ของผู้คน

“อินเนส คาลไดรา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นถึงประเด็น New Normal อุตสาหกรรมความงามเเละกลยุทธ์ฝ่าวิกฤต COVID-19 ที่เธอยอมรับว่าหนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิตการทำงาน 19 ปีของเธอเลยทีเดียว

ความงามเเบบใหม่ : New Beauty Behind Mask 

เเม่ทัพใหญ่เเห่งลอรีอัล (ประเทศไทย) มองโอกาสการเจาะตลาดความงามที่เปลี่ยนเเปลงในมุมที่น่าสนใจว่า การที่ผู้คนต้องต้องใส่หน้ากากในที่สาธารณะทำให้เกิด New Normal เป็นรูปแบบความงามใหม่ อาจเรียกได้ว่า “New Beauty Behind Mask” หรือความงามใหม่ภายใต้หน้ากาก ซึ่งคนจะหันมาให้ความสำคัญกับการดูเเลความสะอาดของผิวพรรณ บำรุงผิวมากขึ้นเพราะความเสี่ยงจากแบคทีเรียสะสมกระทบผิวหน้า

โดยในตอนนี้ กลุ่มสินค้าที่ตกแต่งดวงตาอย่างพวกอายไลเนอร์ มาสคาร่า กำลังมาแรง ลอรีอัลกำลังวางเเผนที่จะคิดค้น “ลิปสติกแบบใหม่” รวมถึงกลุ่มสินค้าเมคอัพดวงตาเเละคิ้ว เเละเน้นพัฒนาสินค้าดูแลเเละทำความสะอาดผิวภายใต้การสวมหน้ากาก

อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

เธอเชื่อว่าความงาม ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ เพราะความงามไม่ใช่เเค่เรื่องภายนอกเท่านั้น เเต่เครื่องสำอางมีผลต่อจิตใจ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เเต่ละบุคคล ถึงเเม้จะไม่ได้เดินทางไปข้างนอกหรือพบเจอผู้คน เราก็ยังเเต่งหน้าเพื่อความสบายใจ คนที่ต้อง Work from Home เมื่อมีประชุมออนไลน์ ก็ยังต้องการความดูดีอยู่

“ความสวยไม่เพียงทำให้ผู้บริโภครู้สึกดี เเต่ยังเปลี่ยนอารมณ์ของผู้คนได้ด้วย ยิ่งในช่วงเกิดโรคระบาด คนต้องการกำลังใจ ดังนั้นสินค้าความงามจึงมีบทบาทพิเศษ มากกว่าการตกเเต่งใบหน้า เเต่เป็นการการมองเห็นคุณค่าในตัวเองหรือ Self Esteem ด้วย”

เหล่านี้เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ธุรกิจความงามจะฟื้นกลับมาได้ หากปรับตัวให้ทันเเละเหมาะสม เเม้ต้องเจอวิกฤตหนักเเค่ไหนก็ตาม

สำหรับภาพรวมตลาดความงามไทยที่มีมูลค่ากว่า 2 เเสนล้านบาท อินเนส ประเมินว่าธุรกิจความงามจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในเดือน เม.ย. ตลาดยังอยู่ใน “แดนลบ” เพราะสถานการณ์ยังไม่เอื้อกับการขายสินค้า เช่นกลุ่มสินค้ากันเเดด ก็จะไม่เติบโต เเม้จะเป็นหน้าร้อนเเต่คนต้องอยู่บ้าน เเละธุรกิจกลุ่มเส้นผมของลอรีอัล อย่างเเบรนด์ L’Oréal Professionnel เเละ KERASTASE ที่เคยเติบโต 2.5% ในปีนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่ำกว่าเดิม

โดยผลประกอบการของ “ลอรีอัล กรุ๊ป” ประจำไตรมาส 1 ปี 2020 ยอดขายทั่วโลกลดลง 4.8% สวนทางกับยอดขายตลอดปี 2019 ที่เติบโตถึง 8% ทุบสถิติในรอบทศวรรษ เรียกได้ว่ากำลังไปได้สวย เเต่มาสะดุดมรสุม COVID-19 นั่นเอง

ซาลอนฟื้นง่าย คนโหยหาร้านทำผม

แผนการตลาดระยะสั้นที่ลอรีอัลกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือมาตรการช่วยเหลือ “ร้านซาลอน” หรือร้านทำผม หลังต้องปิดทำการในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ เเละเพิ่งจะได้กลับมาเปิดร้านได้ เเต่ยังคงจำกัดบริการเเค่ตัด-สระ-ไดร์

โดยลอรีอัลมีเครือข่ายผู้ประกอบการร้านซาลอนทั่วประเทศราว 1,200 ราย จากภาพรวมธุรกิจร้านซาลอนในไทยมีประมาณ 1.2 แสนร้าน มูลค่าตลาดราว 6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่รายได้ 70% ของร้านมาจากการทำสีผม ดัดผม ซึ่งตอนนี้ยังให้บริการไม่ได้

สำหรับโปรแกรม Salon Solidarity Program จะช่วยให้ช่างทำผมได้พัฒนาตัวเองทั้งเรื่องของทักษะทางวิชาชีพ มีการจัดสอนเทคนิคผ่านช่องทางไลฟ์สตรีมมิ่ง ส่งเสริมความปลอดภัยทางสุขภาพที่เพิมเติมขึ้นมาในช่วงนี้ รวมทั้งเสริม Digital Skill การตลาดออนไลน์ของร้านตัดผมเพื่อช่วยผลักดันธุรกิจ

โดยเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาทางลอรีอัลได้ “พักชำระหนี้” ให้กับร้านค้าในเครือข่าย รวมถึงเป็นตัวกลางติดต่อแอปพลิเคชัน “จองคิว” เพื่อทำให้ร้านทำผมสามารถจัดคิวลูกค้าได้เหมาะสมตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

“ในฐานะที่ลอรีอัลเป็นบริษัทใหญ่ที่มีอายุกว่า 110 ปี มีผลิตภัณฑ์เเรกเป็น “น้ำยาเปลี่ยนสีผม” ดังนั้นจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือพาร์ตเนอร์ของเราเหล่าร้านซาลอน ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องขาดรายได้ ต้องช่วยให้เขาสามารถอยู่รอดไปได้เพราะมีผู้คนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ถึง 5 เเสนคน มีผู้เกี่ยวข้องกว่า 2 ล้านคน ซึ่งมีผลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ”

ภาพเปรียบเทียบการจัดอบรมช่างผมของลอรีอัลในสมัยก่อน ปี 1952 เเละการสอน E-Training ในปี 2020 ที่มีการเเพร่ระบาดของ COVID-19

จากผลสำรวจของลอรีอัล ที่สอบถามความเห็นผู้บริโภคชาวไทย 1,060 คน ระหว่างวันที่ 3 เม.ย. – 4 พ.ค. พบว่า กว่า 85% ของผู้ตอบแบบสำรวจรู้สึกถึงความจำเป็นในการใช้บริการทำผมที่ร้านในช่วงล็อกดาวน์ตามด้วย 70% รู้สึกว่าการไม่สามารถรับบริการจากช่างผมได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะและความมั่นใจของตนเอง เเละกว่า 40% ของผู้ชายรู้สึกว่าการไม่สามารถรับบริการจากช่างผม กระทบความมั่นใจและสุขภาวะตนเอง

ส่วนบริการที่ต้องการมากที่สุด 38% คือทำสีและไฮไลต์ ตามด้วย 27% อยากดัดผม หลังร้านเปิดเต็มรูปแบบ

โดย 41% รู้สึกมั่นใจที่จะได้ใช้บริการตัดผม เสริมสวยอีกครั้ง และ 78% อยากกลับไปใช้บริการซาลอนในสัปดาห์แรกที่เปิด เเละ 44% จะไปใช้บริการทันทีที่ร้านเปิดบริการเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ผู้บริโภค 2 ใน 3 เชื่อว่าร้านจะปฏิบัติตามมาตรการรัฐอย่างถูกต้อง เช่น รักษาระยะห่าง สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

“ในช่วงกักตัว จะเห็นว่าบัตตาเลี่ยนตัดผม ขายดีในออนไลน์ เพราะคนจำเป็นต้องตัดผมเองที่บ้าน เเต่มองว่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่ว่าอย่างไรผู้คนยังเชื่อใจที่จะตัดผมกับช่างผมมืออาชีพมากกว่า”

โดยผู้บริหารลอรีอัล เชื่อว่าเมื่อร้านซาลอนกลับมาเปิดได้เต็มรูปแบบ จะมีลูกค้ามาใช้บริการทำสีผม ดัดผมหรือตัดผมทรงใหม่อย่างเนืองเเน่น เพราะคนมีความอึดอัดเเละรอมานาน ดังนั้นร้านซาลอนเองก็ต้องปรับตัวเเละหาวิธีรองรับเรื่องความปลอดภัยให้ลูกค้าอย่างดีที่สุด

อยากอยู่รอด ต้องปรับตัวเร็ว 

ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่าวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้เป็นงานหินที่หนักสุดในชีวิตการทำงาน 19 ปีของ “อินเนส คาลไดรา” ก่อนเข้ามานั่งเเท่นนำทัพลอรีอัล ประเทศไทยได้ 2 ปี เธอเคยผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง อย่างวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ช่วงปี 2007-2008 เเต่ครั้งนั้นเป็นผลกระทบด้านการเงินมากกว่าที่จะกระทบผู้บริโภคทั่วไปอย่าง COVID-19

เธอมองว่าธุรกิจความงามในช่วงนี้ “จะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องมีการปรับเเผนเเละดูสถานการณ์สัปดาห์ต่อสัปดาห์มาตรการรัฐก็เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง”

โดยลอรีอัล มีการปรับตัวในวิกฤติครั้งนี้ ทั้งในแง่ยอดขายและการทำงานภายในองค์กร เช่น เริ่มจากการทำงาน Work from Home และปรับการดำเนินงานตามความต้องการของคู่ค้า อย่างการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย E-Commerce ทีมฝ่ายขายที่เคยต้องไปเยี่ยมลูกค้า ก็เปลี่ยนเป็น E-Visit มีการทำ E-Training เป็นต้น

“ธุรกิจมี 2 ทางเลือกไม่ตายก็ต้องอยู่รอด ซึ่งผู้ที่อยู่รอดต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด นี่คือสิ่งที่ทำให้ลอรีอัลยังคงเป็นผู้นำความงามโลกเรื่อยมา”

]]>
1278749
ส่อง 6 เทรนด์บิวตี้ปี 2018 “ลดใช้น้ำ-เครื่องสำอางเด็ก” มาแรง https://positioningmag.com/1117057 Wed, 22 Feb 2017 08:00:35 +0000 http://positioningmag.com/?p=1117057 ยูบีเอ็มเผยเทรนด์อุตสาหกรรมความงามไทยโตทวนกระแสเศรษฐกิจ ปิดตลาดปี 59 ที่ 2.6 แสนล้านบาท คาดการณ์มูลค่าปี 60 พุ่งถึง 2.8 แสนล้าน


พบว่าปัจจุบันมีธุรกิจเครื่องสำอางที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,800 ราย ด้วยมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลกว่า 11,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยอัตราเติบโต 40% สามารถแบ่งตามพื้นที่เป็นกรุงเทพมหานคร 53.5%, ภาคกลาง 27.5% และ ภาคเหนือ 6.2% ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งการค้า แหล่งวัตถุดิบ และนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น โดยในจำนวนของผู้ดำเนินกิจการทั้งหมดนี้เป็น SMEs ถึง 90%


ส่วนเทรนด์ความงามปี 2018 ยังคงตอบรับกับกระแสรักษ์โลก รักสุขภาพของผู้บริโภค


อนุชนา วิชเวช ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ บริษัท ยูบีเอ็ม (เอเชีย) ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เทรนด์ความงามในปี 2018 มองว่ามีแนวโน้มว่าสินค้าความงามจะต้องลดการใช้น้ำอันเป็นทรัพยากรสำคัญลง ตามมาด้วยเทรนด์การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่เข้าใกล้ความเป็น 100% ให้ได้มากที่สุด ส่วนอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามอง คือเทรนด์เครื่องสำอางสำหรับเด็ก โดยการวิจัยของ Mintel (มินเทล) ระบุไว้ว่า เด็กอเมริกัน 80% ที่มีอายุระหว่าง 9-11 ขวบ ได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่ทำขึ้นมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ อาทิ ลิปมัน โลชั่นที่มีกลิ่นหอม ฯลฯ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับเทรนด์ความงามในแต่ละเทรนด์ ดังนี้


  1. Water …The New Luxury

ในอนาคตโลกจะเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำ และน้ำจะกลายเป็นทรัพยากรที่หาได้ยากและกลายเป็นวัตถุดิบที่มีราคาสูงไปโดยปริยาย ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศในปัจจุบันกำลังตื่นตัวถึงปัญหาด้านการใช้น้ำ โดย 33% ของประชากรในสหราชอาณาจักร บอกว่ายอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ช่วยประหยัดน้ำ 27% อาบน้ำเร็วขึ้นและประหยัดน้ำมากขึ้น


waterthenewluxury


ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ ต้องปรับตัว เริ่มจากการปรับสูตรของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นสูตรใช้น้ำน้อยไปจนถึงไม่ต้องใช้น้ำเลย เช่น Dry-Shampoo, สบู่ที่ไม่ต้องล้างออก และยาสีฟันที่ไม่ต้องล้าง เป็นต้น สำหรับในยุคต่อไป คาดการณ์ว่าสินค้าความงามเกือบทั้งหมดจะพัฒนารูปแบบไปสู่การที่ไม่ใช้น้ำอีกเลย


  1. Gas-tronomia       

Gas-Tronomia


จากกระแสนิยมรักสุขภาพและการใฝ่หาความเป็นธรรมชาติ 100% ทั้งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันหลังให้สิ่งที่ผลิตขึ้นจากห้องแล็บ โดยจากผลสำรวจของมินเทล พบว่า 50% ของเพศชายในสหราชอาณาจักรเชื่อว่าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมและวัตถุดิบจากธรรมชาติให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเครื่องสำอางแบรนด์ใหญ่ที่ผลิตในห้องแล็บ และอีกกว่า 42% ของผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรเชื่อว่าการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจะทำให้สุขภาพดีขึ้นและสภาพแวดล้อมของโลกดีขึ้นด้วย


นำมาซึ่งความนิยมของเทรนด์ความงามที่เรียกเล่นๆ ว่า ‘kitchen-beauty’ ที่หยิบเอาวัตถุดิบต่างๆ ในครัวมาใช้สำหรับเสริมความงาม โดยนอกจากจะเป็นการตอกย้ำถึงกระแสรักสุขภาพแล้ว ยังสามารถเห็นถึงการมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้กำหนดสูตรต่างๆ ของเครื่องสำอางได้เองอีกด้วย

  1. Power Play 

powerplayไลฟ์สไตล์แบบคนยุคใหม่ที่เร่งรีบ และทำกิจกรรมหลากหลาย ทำให้ปัญหากวนใจเรื่องผิวพรรณเปลี่ยนจากยุคขาวกระจ่างใส และต้านริ้วรอยมาเป็นความกังวลเรื่องพลังงาน และความสดใสของผิวแทน จึงทำให้ผู้บริโภคในยุคนี้เริ่มค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการให้เพิ่มพลังให้ผิว โดย 79% ของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรไม่ชอบความรู้สึกไร้เรี่ยวแรง เหนื่อยล้า และเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 2 ที่ชาวอเมริกันกังวลเช่นกัน และในปัจจุบัน ผู้บริโภคไม่มีเส้นแบ่งระหว่างปัญหาด้านความงาม โดยผลงานวิจัยรายงานว่า 72% อยากทำให้ผิวมีสุขภาพดีขึ้นด้วยการนอนหลับที่ดีขึ้น, 64% ต้องการทานอาหารอย่างสมดุลเพื่อลดน้ำที่ค้างอยู่ในผิวหนัง, 59% ต้องการที่จะออกกำลังกายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมองหาสินค้าและบริการทางความงามที่ตอบสนองเพื่อสุขภาพองค์รวมเพิ่มมากขึ้น


จากรายงานของมินเทล ระบุว่า ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้ามากกว่า 12% เพิ่มส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มพลังให้ผิว ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สำหรับดวงตา และผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายอื่นๆ เพิ่มมาเช่นกัน ผลงานวิจัยนี้ทำให้เห็นความต้องการของผู้บริโภคและโอกาสของแบรนด์ในอนาคต ที่จะผลิตสินค้าในกลุ่ม Energy-Boosting มากขึ้น


  1. Digital Experience

 digitalexperience


เทคโนโลยีความงาม ทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ว่าตัวเองมีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการกับความงามบนร่างกายตัวเองได้อย่างแท้จริง  ซึ่งผลงานวิจัยระบุว่า ผู้บริโภคชาวจีน 18% เป็นเจ้าของเทคโนโลยีความงามที่ทรงประสิทธิภาพ  เพิ่มขึ้นถึง 13% จากปี 2014  นอกจากนี้ 48% ของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดในอังกฤษ ให้ความสนใจที่จะใช้แอปพลิเคชั่น ที่สามารรถตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสภาพผิว และจุดด่างดำต่างๆ ซึ่งในปัจจุบัน กว่า 30% ของผู้หญิง อเมริกาบอกว่าพวกเขาสนใจที่จะลองใช้สกินแคร์ที่มีเครื่องมือช่วยตรวจสภาพผิวพร้อมกันด้วย


มีรายงานว่า 64%  ของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าความงามนั้น มีความสนใจกับอุปกรณ์ความงามที่สร้างการมีส่วนร่วมกับพวกเขา รวมถึง ประสบกาณ์ดิจิตอลที่เกิดขึ้นในสโตร์ เช่น Virtual mirror, Vitual reality headsets และ Interactive Displays รวมถึงในซาลอนเช่นกัน


  1. Kids Cosmetics

kidcosmetics


เมื่อความงามไม่ได้จำกัดอยู่แค่เครื่องสำอางสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานอีกต่อไป เนื่องจากกระแสการดูแลตัวเองและการเอาใจใส่ในรูปลักษณ์ได้ส่งผลต่อความต้องการของเด็กๆ ในอเมริกา การวิจัยของ Mintel ระบุไว้ว่า เด็กอเมริกัน 80% ที่มีอายุระหว่าง 9-11 ขวบ ได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่ทำขึ้นมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ อาทิเช่น ลิปมัน แป้งพัฟ โลชั่นที่มีกลิ่นหอม ฯลฯ โดยเด็กวัยรุ่นอเมริกัน 80% ที่มีอายุระหว่าง 9 และ 11 ขวบ จะนิยมใช้เมคอัพเพียงแค่บางอย่างเท่านั้น


ส่วนเด็กวัยรุ่นที่อายุระหว่าง 12-14 ปีนั้น 54% นิยมใช้มาสคารา, อายแชโดว์, อายไลเนอร์ และดินสอเขียนคิ้ว ข้อมูลจากการวิจัยยังระบุไว้อีกว่า วัยรุ่นอเมริกันในช่วงอายุ 12-14 ปีบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่พวกเขาได้ตัดสินใจใช้เครื่องสำอางตั้งแต่ยังเด็กเนื่องจากมันทำให้พวกเธอรู้สึกมั่นใจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางหันมาใส่ใจในความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่นี้


  1. Real Influencer

realinfluencer


เชื่อว่าเจ้าของแบรนด์หลายๆ แบรนด์ที่อยากทำการตลาดออนไลน์ ต้องสนใจหา Influencer หรือ Blogger มารีวิวสินค้าอยู่แน่ๆ  เพราะในปัจจุบันกลยุทธ์การใช้ Influencer รีวิวสินค้า หรือบริการ ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ จนใครๆ ต้องจับตามมอง  ซึ่งจุดเด่นของการทำการตลาดผ่าน Influencer ก็คือ การสื่อสารที่ดูเป็นธรรมชาติเหมือนไม่ใช่การโฆษณา ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่าสื่อดั้งเดิม ตามข้อมูลจาก Acumen Report พบว่าในกลุ่มผู้บริโภควัย 18-24 ปี มี 62% ที่คิดจะซื้อสินค้าที่มีคนดังใน YouTube โฆษณาให้


แต่มีเพียง 49% ที่จะซื้อสินค้าที่โฆษณาผ่านทีวีหรือภาพยนตร์ ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากผู้ชมคลิป YouTube มองผู้ผลิตคลิปหรือ Influencer เป็นเหมือนเพื่อนที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่เซเลบริตี้ที่เข้าไม่ถึง


เพราะความดังทำให้ Influencer  ขายได้ และเพราะความดังเช่นกัน ที่เป็นจุดเปลี่ยนในยุค Influencer เพราะในอนาคตผู้บริโภคจะรู้ว่าคนดังเหล่านี้ ได้รับผลประโยชน์จากการรีวิว และเลิกเชื่อในที่สุด ขณะเดียวกันก็จะหันมาเชื่อ Influencer เฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นเพื่อน หรือคนรู้จัก ใกล้ตัว เพราะเชื่อว่าการรีวิวเหล่านั้นเกิดจากประสบการณ์ตรงจากการใช้จริงมากกว่า  ภายใน 5 ปี  ข้างหน้า เพื่อนๆ พี่น้อง ใกล้ตัวของเราจึงกลายเป็น  The Real Influencer ที่แท้จริง 


ตลาดบิวตี้ไทยยังโตสวนเศรษฐกิจ


นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่าอุตสาหกรรมความงามของไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี ปัจจุบัน ธุรกิจนี้มีมูลค่าตลาดในประเทศถึง 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% หรือ 1.68 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกที่ทำรายได้ให้ประเทศถึง 40% หรือกว่า 1.12 แสนล้านบาท ส่วนในเวทีโลก ไทยครองอันดับที่ 17 ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกเครื่องสำอางรายสำคัญ ทั้งยังรั้งที่ 1 ในระดับอาเซียนอีกด้วย


สำหรับสินค้าความงามของไทยพบว่า การบริโภคของตลาดในประเทศแบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผิว  46% ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม 16%, เครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า 16% และน้ำหอม 3%


ส่วนการส่งออกสินค้าความงามของไทยไปยังอาเซียนและทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม 40%, ผลิตภัณฑ์สำหรับอาบน้ำ 22%, ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก 16%, สกินแคร์ 13%


โดยประเทศที่ไทยส่งออกเครื่องสำอางไปจำหน่ายมากที่สุด คือญี่ปุ่น รองลงมาคือฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซียตามลำดับ

]]>
1117057