เยาวชน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 19 Aug 2024 10:00:22 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ศก. จีนยังโตช้า ทำอัตราว่างงาน ‘เด็กจบใหม่’ เดือนก.ค.พุ่งเป็น 17.1% แตะระดับสูงสุดของปี https://positioningmag.com/1486756 Mon, 19 Aug 2024 04:40:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1486756 การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ยังคงทำได้ไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ ขณะที่อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 67 ยังคงอยู่ที่ระดับ 5.2% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 5.1% และถ้าเจาะลงไปในกลุ่ม เด็กจบใหม่ ถือเป็นการทำสถิติว่างงานสูงสุดของปี

สํานักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) ได้เปิดเผยถึง อัตราการว่างงานของเยาวชน อายุ 16-24 ปี ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นจาก 13.2% ในเดือนมิถุนายน เป็น 17.1% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็น ระดับสูงสุดในปีนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราสูงสุดดังกล่าวยังน้อยกว่าอัตราสูงสุดในปี 2023 ที่อัตราว่างงานของเยาวชนสูงถึง 21.3% ในเดือนมิถุนายน

ปัจจัยที่อัตราว่างงานของเยาวชนค่อย ๆ สูงขึ้นต่อเนื่อง เกิดจากเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเผชิญกับอุปสรรคที่เพิ่มขึ้น อาทิ ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหนี้หนัก และปัญหาการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับตะวันตก ขณะที่มีจำนวนนักศึกษาเกือบ 12 ล้านคน ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของจีนในเดือนมิถุนายน ทําให้การแข่งขันในตลาดงานที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้นไปอีก 

ทั้งนี้ เยาวชนอายุ 25-29 ปี มีอัตราว่างงานอยู่ที่ 6.5% เพิ่มขึ้นจาก 6.4% ของเดือนที่แล้ว ส่วนอัตราว่างงานของแรงงานโดยรวมอยู่ที่ 5.2% โดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ย้ำว่า ปัญหาการว่างงานของเยาวชนถือเป็น ความสําคัญสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของ NBS นั้นอ้างอิงเฉพาะการจ้างงานโดยเฉพาะใน เขตเมือง เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในเมืองใหญ่ ๆ ของจีน อาทิ ปักกิ่ง โดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลง โดยขยายตัวเพียง 5.1% ลดลงจาก 5.3% ในเดือนมิถุนายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ ในเมืองใหญ่ของจีนยังปรับ ลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณของอุปสงค์ที่ซบเซา นอกจากนี้ ความต้องการสินเชื่อธนาคารก็หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ขณะที่ ความท้าทายระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้กําหนดอุปสรรคทางการค้ามากขึ้นเพื่อปกป้องตลาดของตนจากผลิตภัณฑ์จีนที่มีต้นทุนต่ำและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

Source

]]>
1486756
นักวิจัยเผย ‘โซเชียลมีเดีย’ ทำเงินเฉพาะแค่ ‘เยาวชน’ รวมกันกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ https://positioningmag.com/1457421 Thu, 28 Dec 2023 05:06:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457421 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ถูกตั้งคำถามว่าส่งผลเสียต่อเยาวชนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ Harvard TH Chan School of Public Health พบว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลาย สามารถสร้างรายได้จากการโฆษณาในสหรัฐฯ รวมกันมากกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์จากเยาวชน

เพื่อหาตัวเลขรายได้ นักวิจัยได้เก็บข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาที่ อายุต่ำกว่า 18 ปี บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Facebook, Instagram, Snapchat, TikTok, X และ YouTube ในปี 2022 เพื่อประเมินรายได้โฆษณาในสหรัฐฯ ของแต่ละแพลตฟอร์ม และเวลาที่เด็ก ๆ ใช้ต่อวันในแต่ละแพลตฟอร์ม หลังจากนั้น นักวิจัยได้สร้างแบบจำลองเพื่อประเมินรายได้โฆษณาที่แพลตฟอร์มได้รับจากเยาวชนในสหรัฐอเมริกา

จากการศึกษาพบว่า รายได้จากโฆษณาสูงสุดจากผู้ใช้ อายุ 12 ปีหรือต่ำกว่า แพลตฟอร์ม YouTube ทำเงินสูงสุด (959.1 ล้านดอลลาร์) ตามมาด้วย Instagram (801.1 ล้านดอลลาร์) และ Facebook (137.2 ล้านดอลลาร์)

ในส่วนของรายได้โฆษณาจากผู้ใช้ อายุ 13-17 ปี แพลตฟอร์ม Instagram ทำรายได้สูงสุดที่ (4 พันล้านดอลลาร์) ตามมาด้วย TikTok (2 พันล้านดอลลาร์) และ YouTube (1.2 พันล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ นักวิจัยยังคาดการณ์ว่า Snapchat ได้รับส่วนแบ่งสูงสุดของรายได้จากโฆษณาโดยรวมในปี 2022 จากผู้ใช้อายุต่ำกว่า 18 ปี (41%) ตามมาด้วย TikTok (35%), YouTube (27%) และ Instagram (16%)

“การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมโซเชียลมีเดียของรัฐบาล เนื่องจากเด็ก ๆ ยังไม่สามารถควบคุมตัวเองในการใช้แพลตฟอร์มได้ ดังนั้น แพลตฟอร์มควรจะมีความโปร่งใสที่มากขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาอันตรายต่อสุขภาพจิตของเยาวชน และลดแนวทางการโฆษณาที่อาจเป็นอันตรายซึ่งกำหนดเป้าหมายไปที่เด็กและวัยรุ่น” นักวิจัยกล่าว

people using smart phone ,Social, media, Marketing concept

ทั้งนี้ นักวิจัยและผู้ร่างกฎหมายได้มุ่งความสนใจไปที่ผลกระทบด้านลบที่เกิดจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมานานแล้ว ซึ่งอัลกอริทึมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลสามารถผลักดันให้ เด็ก ๆ ใช้งานมากเกินไป โดยที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติในรัฐ เช่น นิวยอร์กและยูทาห์ แนะนำหรือผ่านกฎหมายที่จะควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียในหมู่เด็ก โดยอ้างถึงอันตรายต่อสุขภาพจิตของเยาวชนและข้อกังวลอื่น ๆ

ปัจจุบัน Meta ซึ่งเป็นเจ้าของ Instagram และ Facebook กำลังถูกฟ้องโดยรัฐหลายสิบแห่งในข้อหามีส่วนทำให้เกิดวิกฤตสุขภาพจิต และจากผลวิจัยพบว่า เด็กและวัยรุ่นวัยเรียนอาจจำโฆษณาได้ และมักจะไม่สามารถต้านทานโฆษณาได้เมื่อโฆษณานั้นฝังอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เชื่อถือได้ และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอิทธิพลคนดัง

“แม้ว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอาจอ้างว่าพวกเขาสามารถควบคุมแพลตฟอร์มเพื่อลดอันตรายต่อเยาวชนได้ แต่การศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่า แพลตฟอร์มโซเชียลฯ ยังมีแรงจูงใจทางการเงินอย่างล้นหลามเพื่อชะลอการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อปกป้องเด็ก ๆ ต่อไป” Bryn Austin ศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมและพฤติกรรมศาสตร์ที่ Harvard กล่าว

ทั้งนี้ ตัวแพลตฟอร์มเองไม่ได้เปิดเผยว่าพวกเขาทำรายได้จากเยาวชนมากน้อยแค่ไหน

]]>
1457421
งานเข้า ‘Meta’ หลังทนาย 42 คนยื่นฟ้องข้อหาออกแบบอัลกอริทึมที่ทำให้ “เยาวชนเสพติด” การใช้งาน https://positioningmag.com/1449277 Wed, 25 Oct 2023 11:37:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1449277 แม้จะมีข้อมูลว่า Facebook อาจไม่ได้เป็นที่นิยมของ วัยรุ่น แต่ไม่ใช่กับ Instagram เพราะถือว่ายังคงเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม ด้วยจุดนี้เองทำให้กลุ่มทนาย 42 คน ร่วมกันฟ้องร้อง Meta ว่าทำให้ วัยรุ่นเสพติดการใช้ Facebook และ IG

ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มของ Meta อยู่ที่ 3.88 พันล้านคน/เดือน หรือคิดเป็นประชากร ครึ่งโลก ที่ใช้งาน แน่นอนว่ากลุ่ม วัยรุ่น ก็ต้องรวมอยู่ในจำนวนดังกล่าวแน่นอน ส่งผลให้ กลุ่มทนายทั่วไป 42 คน ฟ้อง Meta โดยอ้างว่า ฟีเจอร์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของ Facebook และ Instagram นั้น ดึงดูดและมุ่งเป้าไปที่เด็กและวัยรุ่น

ส่งผลให้ขณะนี้ Meta กำลังเผชิญกับการฟ้องร้องหลายคดีเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวในหลายเขต โดยอัยการสูงสุดจาก 33 รัฐ ได้ยื่นฟ้อง Meta ซึ่งคดีดังกล่าวถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐที่มีลำดับความสำคัญในการปกป้องเด็กและวัยรุ่นจากอันตรายทางออนไลน์

โดยกลุ่มทนายระบุว่า Meta ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ Facebook และ Instagram เพื่อให้วัยรุ่นใช้งานได้นานขึ้นและกลับมาซ้ำหลายครั้ง ผ่านการออกแบบอัลกอริทึม การแจ้งเตือนมากมาย ส่งผลให้เกิดการเลื่อนฟีดแพลตฟอร์มอย่างไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ กลุ่มทนายยังรวมฟีเจอร์ที่มองว่า ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นผ่านการเปรียบเทียบทางสังคมหรือส่งเสริมความผิดปกติของร่างกาย เช่น “การถูกใจ” ​​หรือฟิลเตอร์รูปภาพ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มพันธมิตรอัยการสูงสุดของรัฐได้ร่วมมือกันเพื่อติดตาม Meta แต่ในปี 2020 มีรัฐจำนวน 48 รัฐได้ฟ้องร้องบริษัทในเรื่อง การต่อต้านการผูกขาด นอกจากนี้ รัฐบาลกลางยังกล่าวหาว่า Meta ละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองความเป็นส่วนตัวออนไลน์ของเด็ก หรือ COPPA โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง โดยรัฐต่าง ๆ กำลังหาทางยุติสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นอันตรายของ Meta เช่นเดียวกับบทลงโทษและการชดใช้ค่าเสียหาย

“Meta ตระหนักดีถึงผลกระทบด้านลบที่การออกแบบอาจมีต่อผู้ใช้รุ่นเยาว์” ทนายความ กล่าว

ที่ผ่านมา เคยมีการรั่วไหลของเอกสารภายในของบริษัท ที่เปิดเผยการวิจัยภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตนเกี่ยวกับ ผลกระทบของ Instagram ที่มีต่อวัยรุ่น โดยพบว่า “เด็กสาววัยรุ่น 32% รู้สึกแย่เกี่ยวกับร่างกายของตนเอง โดย Instagram ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกแย่ลง” 

สื่อแฉ ‘Facebook’ ศึกษาผลด้านลบของ ‘Instagram’ ต่อวัยรุ่นกว่า 3 ปีแต่ไม่เปิดเผย

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ Pew Research Center ระบุว่า วัยรุ่นจำนวนมากเลิกใช้งาน Facebook แต่ Instagram ยังคงได้รับความนิยมในสหรัฐฯ โดยวัยรุ่นที่ใช้ Instagram ในสหรัฐฯ มีประมาณ 22 ล้านคน/วัน

Source

]]>
1449277
‘TikTok’ ถูกสหราชอาณาจักรปรับเงินกว่า 530 ล้านบาท เพราะปล่อยเด็กอายุไม่ถึงเกณฑ์ใช้งานแพลตฟอร์ม https://positioningmag.com/1426380 Wed, 05 Apr 2023 02:23:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1426380 หลังจากที่ทั้ง สหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักร แบน TikTok โดยไม่ให้อุปกรณ์และเครือข่ายของรัฐบาลใช้งานหรือเชื่อมต่อกับ TikTok แพลตฟอร์ม ล่าสุด หน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยก็สั่งปรับ TikTok เป็นเงินเกือบ 16 ล้านดอลลาร์ เพราะใช้ข้อมูลเยาวชนอย่างผิดกฎหมาย

TikTok ถูกหน่วยงานกำกับดูแลด้านความเป็นส่วนตัวของสหราชอาณาจักรสั่งปรับเป็นเงิน 15.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 540 ล้านบาท เนื่องจากการละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูล รวมถึงการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชนอย่างไม่ถูกกฎหมาย เพราะไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง

โดย TikTok อนุญาตให้เด็ก 1.4 ล้านคน ที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีใช้แอปในปี 2020 แม้ว่าจะมีกฎกำหนดให้ผู้ใช้ต้องมีอายุเกิน 13 ปีขึ้นไปจึงจะสร้างบัญชี TikTok ได้ และข้อมูลของเด็ก ๆ อาจถูกใช้เพื่อติดตามและจัดทำประวัติของพวกเขา ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้พวกเขาเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นอันตรายหรือไม่เหมาะสม

TikTok น่าจะรู้ดีกว่านี้ และน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ค่าปรับ 12.7 ล้านปอนด์ของเราสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบร้ายแรงจากความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้ทำมากพอที่จะตรวจสอบว่าใครกำลังใช้แพลตฟอร์มของพวกเขา หรือดำเนินการเพียงพอที่จะลบเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่ใช้แพลตฟอร์มของพวกเขา” John Edwards กรรมาธิการสารสนเทศแห่งสหราชอาณาจักร กล่าว

ขณะที่ทาง TikTok ยืนยันว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป และที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนอย่างหนักเพื่อทำให้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีออกจากแพลตฟอร์ม และแพลตฟอร์มก็มีทีมงานด้านความปลอดภัยที่แข็งแกร่งกว่า 40,000 คน ที่ทำงานตลอดเวลาเพื่อช่วยรักษาแพลตฟอร์มให้ปลอดภัยสำหรับชุมชนบนแพลตฟอร์ม

Source

]]>
1426380
‘TikTok’ เตรียมจำกัดเวลาใช้งานไม่เกิน 60 นาที/วัน ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี https://positioningmag.com/1421807 Fri, 03 Mar 2023 09:44:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1421807 เนื่องจากข้อกังวลในการใช้งานโซเชียลมีเดียของเยาวชนในหลายประเทศ ทำให้แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นสุดฮิตในกลุ่มวัยรุ่นอย่าง TikTok ได้เตรียมออกกฎใหม่ โดยทุกบัญชีที่มีผู้ใช้อายุต่ำกว่า 18 ปี จะมีการจำกัดเวลาการใช้งานที่ไม่เกิน 60 นาทีต่อวัน

Cormac Keenan หัวหน้าฝ่ายความไว้วางใจและความปลอดภัยของ TikTok กล่าวว่า แพลตฟอร์มกำลังออกฟีเจอร์ใหม่ทำให้ เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถใช้งาน TikTok ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง/วัน โดยเมื่อครบเวลาที่กำหนด ผู้ใช้จะถูกบังคับให้ใส่รหัสผ่านเพื่อยืนยันว่าจะใช้งานต่อ สำหรับบัญชีที่ ผู้ใช้อายุต่ำกว่า 13 ปี ต้องใช้งาน TikTok for Younger Users โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะต้องตั้งหรือป้อนรหัสผ่าน เพื่อให้สามารถรับชม TikTok ได้เพิ่มขึ้น 30 นาที หลังจากใช้งานครบขีดจำกัด 1 ชั่วโมง

เบื้องต้น แพลตฟอร์มจะเริ่มกระตุ้นให้เยาวชนกำหนดเวลาการใช้งาน ซึ่งหากพวกเขาเลือกไม่ใช้ค่าเริ่มต้น 60 นาที บริษัทจะส่งการแจ้งเตือนกล่องจดหมายรายสัปดาห์ไปยังบัญชีผู้ใช้ พร้อมสรุปเวลาหน้าจอ นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ Family Pairing สำหรับผู้ปกครองที่จะสามารถเชื่อมต่อบัญชีของบุตรหลานเข้ากับบัญชีของตัวเอง เพื่อดูระยะเวลาการใช้ TikTok และกำหนดระยะเวลาใช้งานในแต่ละวันได้

ไม่ใช่แค่ความกังวลถึงการใช้เวลาบน TikTok ที่มากเกินไปในหมู่เยาวชน แต่แพลตฟอร์มกำลังถูกรัฐบาลในหลายประเทศจับตา ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา แคนาดา รัฐสภายุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป และสภาสหภาพยุโรป ที่สั่งห้ามไม่ให้อุปกรณ์ไอทีของรัฐบาลติดตั้งแพลตฟอร์ม TikTok บนอุปกรณ์ เนื่องจากข้อกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูล

]]>
1421807
โฆษณา McDonald’s ในประเทศรายได้ต่ำ เล็งเป้า “เยาวชน” มากกว่า ชูเรื่อง “สุขภาพ” น้อยกว่า https://positioningmag.com/1369200 Thu, 30 Dec 2021 04:46:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369200 ผลการศึกษา “โฆษณา” ของ McDonald’s ผ่านโซเชียลมีเดียเปรียบเทียบระหว่างประเทศรายได้สูง ปานกลาง และต่ำ พบว่าการโฆษณาของเชนฟาสต์ฟู้ดรายนี้เน้นเป้าหมาย “เยาวชน” มากกว่า และเน้นประเด็น “สุขภาพ” น้อยกว่า เมื่อยิงโฆษณาในประเทศรายได้ต่ำ

การศึกษาวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Nutrition Prevention & Health Journal โดยผู้วิจัยส่วนใหญ่มาจากภาควิชาสุขอนามัยสาธารณะของ New York University พวกเขาทำการวิเคราะห์โฆษณาของ McDonald’s บนบัญชี Instagram ทางการของแบรนด์ในแต่ละประเทศ รวมทั้งหมด 15 ประเทศ แบ่งตามระดับรายได้ทางเศรษฐกิจ ดังนี้

  • รายได้สูง : สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, UAE, โปรตุเกส และปานามา
  • รายได้ปานกลางถึงกลางค่อนสูง : โรมาเนีย, เลบานอน, มาเลเซีย, บราซิล และแอฟริกาใต้
  • รายได้ปานกลางถึงต่ำ : อินโดนีเซีย, อียิปต์ และอินเดีย

การศึกษาโพสต์โฆษณาย้อนหลังไปในช่วงกันยายน-ธันวาคม ปี 2019 รวมระยะเวลา 4 เดือน และมีการสรุปผลวิเคราะห์เมื่อเดือนเมษายน 2020 รวมโพสต์การตลาดที่ถูกนำมาวิเคราะห์ 849 ชิ้น ข้อมูลที่ได้จากการวิจัย มีดังนี้

  • McDonald’s โพสต์โฆษณาในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำมากกว่ากลุ่มประเทศรายได้สูงถึง 154%
  • มีการโพสต์โฆษณาในลักษณะ “เป็นมิตรกับเด็ก” มากกว่าในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ โดยสัดส่วน 22% ของโพสต์ทั้งหมดในประเทศรายได้ต่ำจะเป็นมิตรกับเด็ก เทียบกับกลุ่มประเทศรายได้สูงมีสัดส่วนเพียง 12% ที่เป็นมิตรกับเด็ก
  • โพสต์ในประเทศรายได้สูงมีประเด็นเกี่ยวกับอุปนิสัยเพื่อสุขภาพมากกว่า โดยคิดเป็นอัตราส่วน 5% ขณะที่โพสต์ในประเทศรายได้ต่ำจะมีประเด็นสุขภาพ 2.5% เท่านั้น
  • โพสต์ในประเทศรายได้สูงมีโฆษณาโปรโมชันราคาและการแจกสินค้าฟรีเพียง 14% แต่ประเทศรายได้ต่ำจะมีถึง 40%

“การตั้งเป้าหมายโฆษณาไปที่เยาวชน และใช้โปรโมชันราคาเป็นสำคัญ โฆษณาของ McDonald’s บนโซเชียลมีเดียอาจส่งผลให้ปัญหาสุขภาวะในประเทศที่มีความเปราะบางสูงสุดทั่วโลกยิ่งแย่ลงไปอีก” กลุ่มนักวิจัยกล่าว “ขณะที่โซเชียลมีเดียเติบโตขึ้น โฆษณาบนโซเชียลมีเดียของบริษัทฟาสต์ฟู้ดอาจจะมีผลโดยอ้อมต่อการเลือกรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ”

กลุ่มนักวิจัยระบุว่า “ราคา” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อ พบเห็นได้บ่อยในชุมชนที่มีรายได้ต่ำ เพราะราคามักจะเป็นกุญแจในการตัดสินใจ

แน่นอนว่าการศึกษานี้ นักวิจัยออกตัวด้วยว่าจำนวนประเทศที่นำมาใช้ศึกษาอาจจะน้อยเกินไปและไม่ได้เกลี่ยให้มีจำนวนเท่าๆ กัน รวมถึงไม่ได้ลงลึกถึงพฤติกรรมการซื้อที่เกิดขึ้นจริงหลังการโพสต์โฆษณาของ McDonald’s

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจัยก็ยังมองว่าการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการโฆษณาต่อมื้ออาหารนั้นสำคัญ เพราะสังคมควรจะมีนโยบายกำกับการทำการตลาดของบริษัทอาหาร-เครื่องดื่ม โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับปัญหาสารอาหารไม่สมดุล โรคอ้วน และความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

Source

]]>
1369200
สรุปการปรับ “นโยบายทางสังคม” ของ “จีน” ปี 2021 พลิกโฉมใหม่วิถีชีวิตคนในประเทศ https://positioningmag.com/1358063 Mon, 25 Oct 2021 07:25:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358063 ปี 2021 เป็นปีที่ “จีน” ออกกฎใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมวิถีชีวิตบางอย่างในสังคม ตั้งแต่การเรียน เล่นเกม การทำงาน จนถึงระบบ ‘แฟนคลับ’ ศิลปินดารา ถึงแม้ว่าการตัดสินใจหลายอย่างจะส่งผลลบต่อธุรกิจที่กำลังเฟื่องฟูก็ตาม ไปดูกันว่า ปีนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมวัฒนธรรมใดบ้างที่ประเทศจีน

 

ทลายวงการ “กวดวิชา”

นับเป็น “ระเบิดนิวเคลียร์” ลงกลางวงการ “ธุรกิจกวดวิชา” ก็ว่าได้ เมื่อจีนออกนโยบายทลายธุรกิจกวดวิชา โดยเริ่มประกาศภาพกว้างในเดือนเมษายนและมีระเบียบอย่างละเอียดตามมาในเดือนกรกฎาคม

จุดประสงค์ของนโยบายนี้คือ สกัดไม่ให้นักเรียนต้องเรียนกวดวิชากันอย่างหนัก เพื่อลดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก รวมถึงลดภาระทางการเงินของผู้ปกครองด้วย

รายละเอียดยาวเหยียดของกฎใหม่ มีตั้งแต่การปรับให้บริษัทกวดวิชาทั้งหมดต้องจดทะเบียนใหม่เป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร” เพื่อมิให้มีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และหลังจากนี้จะไม่อนุญาตให้จดทะเบียนบริษัทกวดวิชาเพิ่มอีกแล้ว

(Photo : Shutterstock)

รวมถึงต่อไปนี้โรงเรียนกวดวิชาจะไม่ได้รับอนุญาตให้สอนเนื้อหาซ้ำกับในโรงเรียนหลัก ห้ามเปิดการเรียนในวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และช่วงปิดเทอม หากเป็นการเรียนออนไลน์ต้องมีการพัก 10 นาทีทุกๆ 30 นาทีและห้ามเรียนเกิน 21.00 น. รวมถึงห้ามใช้บุคลากรผู้สอนที่มีฐานการสอนจากต่างประเทศด้วย

เห็นได้ว่ากฎเหล่านี้เป็นการปิดประตูตายโรงเรียนกวดวิชา ทางเลือกที่โรงเรียนเหล่านี้มีเหลือคือการปรับตัวไปสอนหลักสูตรนอกวิชาต่างๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ การแสดง วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน ฯลฯ

ก่อนหน้านโยบายนี้จะถูกประกาศออกมา ธุรกิจกวดวิชาจีนเฟื่องฟูอย่างมาก โดยมูลค่าตลาดสูงถึง 1.2 แสนเหรียญสหรัฐ และหลายบริษัทกวดวิชาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นนิวยอร์ก นอกจากนี้ สมาคมการศึกษาแห่งประเทศจีน เคยให้ข้อมูลเมื่อปี 2016 ว่า 75% ของนักเรียนวัย 6-18 ปีเข้าเรียนกวดวิชาหลังโรงเรียนเลิก แม้ไม่มีสถิติที่ล่าสุดกว่านี้ให้ชม แต่คาดกันว่าสัดส่วนดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

 

ลดการบ้าน ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมอื่น

นโยบายนี้เป็นแพ็กเกจเดียวกับการทลายวงการกวดวิชา คือมุ่งเป้าให้เด็กเครียดน้อยลง และไปทำอย่างอื่นนอกจากคร่ำเคร่งกับการเรียนในระบบ

(Photo : Shutterstock)

โดยกฎใหม่กำหนดให้โรงเรียนห้ามสั่งการบ้านเด็ก ป.1-ป.2 ส่วนเด็ก ป.3-ป.6 สามารถสั่งการบ้านที่ใช้เวลาทำไม่เกิน 60 นาที และเด็กม.1-ม.3 ให้สั่งการบ้านที่ใช้เวลาไม่เกิน 90 นาที

เมื่อไม่มีเรียนกวดวิชา การบ้านก็น้อยลง เด็กควรจะทำอะไร? รัฐบาลระบุว่าโรงเรียนและผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ใช้ร่างกาย (เช่น กีฬา ดนตรี) อ่านหนังสือนอกเวลา และจะได้เข้านอนตามเวลาอันสมควร

 

จำกัดเวลาเล่นเกมของเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี

เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 เกิดนโยบายใหม่ในวงการเกมจีน เมื่อรัฐบาลออกกฎกำหนดให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมออนไลน์ได้ “ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” โดยให้เล่นได้เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 20.00-21.00 น. เท่านั้น

การกำกับควบคุมเรื่องนี้ เป็นเพราะจีนไม่ต้องการให้เยาวชนเป็น ‘เด็กติดเกม’ นั่นเอง โดยจีนมีความพยายามควบคุมมาตั้งแต่ปี 2019 ที่เริ่มออกกฎห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมเกินวันละ 90 นาที และห้ามเล่นเกมในเวลา 22.00-08.00 น.

นโยบายใหม่นี้มีผลกระทบบ้างต่อบริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดของจีนอย่าง NetEase และ Tencent เพราะราคาหุ้นร่วงลงในวันที่นโยบายประกาศออกมา แต่หลังจากนั้นก็ดีดตัวกลับขึ้นไปใหม่

 

หยุดกระแส “แฟนด้อม” มอมเมาเยาวชน

อีกหนึ่งวงการที่รัฐบาลจีนเข้าไปสอดส่องและกำกับควบคุมคือวงการ “แฟนด้อม” โดยวงการนี้ถูกรัฐเพ่งเล็งมาพักใหญ่ จากพฤติกรรมแฟนคลับที่ “บริโภคนิยม” เกินควร และพฤติกรรมของดาราศิลปินบางคนไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีสำหรับเยาวชนและไม่ตรงค่านิยมที่จีนต้องการ

แฟนด้อมจีนนั้นเป็นกลุ่มแฟนคลับที่มีพลังอย่างมาก iResearch Consulting Group เคยประเมินเมื่อปี 2020 ว่า เม็ดเงินที่เกี่ยวพันกับแฟนด้อมจีนมีมูลค่าถึง 4 ล้านล้านหยวน!

เหตุเพราะแฟนด้อมจีนนั้นมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ โดยจะมีผู้จัดการกลุ่มแฟนคลับคอยจัดการแจกงานให้สมาชิกทำบนโซเชียลมีเดีย เช่น ไลก์ คอมเมนต์ แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับดาราศิลปิน กลุ่มแฟนคลับจะคอยติดตามดาราไปทุกที่ ซื้อสินค้าที่ดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ และปั่นโหวตในทุกชาร์ต แม้ว่าจะต้องทุ่มทั้งเงินและเวลาไปมากก็ตาม

ในที่สุดรัฐบาลจีนตัดสินใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้ “เป็นพิษ” มอมเมาเยาวชน จึงออกกฎห้ามหลายประการ เช่น ห้ามแพลตฟอร์มต่างๆ จัดชาร์ตอันดับดาราศิลปินทุกรูปแบบ ซึ่งทำให้รายการประเภทประกวดไอดอลหรือนักร้องเหมือนกับถูกห้ามผลิตไปโดยปริยาย เพราะรายการเหล่านี้ย่อมเกี่ยวข้องกับการจัดอันดับตัวบุคคล

นอกจากนี้ ยังห้ามเยาวชนเป็นสมาชิกกลุ่มแฟนคลับ และห้ามเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องใช้จ่ายเงินเพื่อส่งเสริมคนดัง รัฐบาลยังมีระบบสอดส่องและลบคอนเทนต์ที่ถือว่าเป็น “วัฒนธรรมอันเป็นพิษของกลุ่มแฟนคลับ” ด้วย เช่น การโต้ตอบหรือ ‘ตีกัน’ ระหว่างแฟนคลับต่างกลุ่มกัน

ในแง่ของพฤติกรรมคนดัง จากกฎที่ค่อนข้างเข้มอยู่แล้วของรัฐบาลจีน จีนยังเพิ่มกฎใหม่เข้าไปอีกคือ “ห้ามไอดอลชายในประเทศจีนแสดงออกถึงความหวานแบบหญิงสาว” เพราะถือว่าเป็นการทำลายค่านิยมความเป็นชายที่เข้มแข็งของจีน และเป็นการลอกเลียนค่านิยมแบบเกาหลีใต้

 

ห้ามการทำงานแบบ ‘996’

ตัดมาที่โลกของ ‘ผู้ใหญ่’ บ้าง รัฐบาลจีนมีการปรับสังคมครั้งใหญ่เหมือนกัน โดยเมื่อเดือนกันยายนรัฐบาลมีประกาศว่าวัฒนธรรมการทำงานแบบ ‘996’ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

การทำงานแบบ 996 ของจีน คือการเริ่มงาน 9 โมงเช้า เลิก 3 ทุ่ม และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ นั่นหมายถึงการทำงาน 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และหลายๆ บริษัทไม่มีการให้ค่าโอที ทั้งที่กฎหมายแรงงานจีนกำหนดไว้ว่า อนุญาตให้บริษัทกำหนดเวลางานไว้ไม่เกิน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้พนักงานต้องยินยอมทำงานโอทีและต้องได้รับค่าโอที

ที่ผ่านมาการทำงานแบบ 996 เคยถูกยกย่องว่าเป็นวิถีที่ทำให้จีนสร้างชาติสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จ ทุกคนทุกตำแหน่งตั้งแต่โปรแกรมเมอร์หัวกะทิในบริษัทเทคชื่อดังจนถึงพนักงานเดลิเวอรีต่างเผชิญการทำงานแบบ 996 ทั้งนั้น

แต่ไม่กี่ปีมานี้ ข่าวคราวพนักงานทำงานจนเสียชีวิตในหน้าที่เพราะไม่ได้หลับได้นอน หรือพนักงานฆ่าตัวตายเพราะชีวิตการทำงานเริ่มหนาหูขึ้น ความขุ่นเคืองในสังคมสูงขึ้นจนรัฐบาลต้องหันมาบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังร่างรายละเอียดการบังคับใช้กฎเพื่อให้ระบบ 996 หมดไปจากสังคม ต้องจับตาดูว่าจีนจะจัดการอย่างไรบ้าง

 

อนาคตสังคมจีนและวิถีชีวิตของคนจีนน่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ภาพลักษณ์ของนักเรียนและคนทำงานชาวจีนที่คร่ำเคร่ง เรียนหนัก ทำงานหนัก แข่งขันสูง อาจจะผ่อนความรุนแรงลง ส่งเสริมให้คนจีนมีแนวโน้มสร้างครอบครัวและ “มีลูก” มากขึ้น หลังจากจีนปลดล็อกให้ประชาชนมีลูกได้ถึง 3 คนแล้ว แต่ดูเหมือนสังคมจะไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าไหร่เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลาและต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ดังนั้น นโยบายเหล่านี้จึงสำคัญต่อการสร้างสังคมจีนที่จะยังมีเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ มาสร้างชาติ และต้องโตมาอย่างมีคุณภาพด้วย!

]]>
1358063
ทำความรู้จักภาวะ ‘Cabin fever’ หรือ ‘อาการเบื่อบ้าน’ พร้อมแนะ 10 Tips วิธีรับมือ https://positioningmag.com/1272429 Thu, 09 Apr 2020 06:26:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272429 ภาวะว่า ‘Cabin fever’ หรือสภาวะกดดันทางจิตใจที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้านลบและความทุกข์ที่เกิดจากการถูกจำกัดพื้นที่ ตลอดจนความหงุดหงิดใจ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง หรือแม้กระทั่งมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ กระสับกระส่ายและไม่มีสมาธิ เดิมทีภาวะดังกล่าวเป็นการพูดถึงคนที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวในพื้นที่ห่างไกล แต่ในช่วงที่ต้องอยู่เเต่บ้านเป็นเวลานานเเบบนี้ ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดเช่นกัน

Vaile Wright นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์วิจัย American Psychological Association กล่าวว่า อาการดังกล่าวไม่ใช่อาการป่วยทางจิตแต่อย่างใด โดยผู้ที่หางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำ หรือใช้เวลาใดการจัดการบ้าน มีโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะ Cabin Fever ช้ากว่าคนอื่น ดังนั้น แนวทางในการลดความตึงเครียดและความรู้สึกที่ถูกจำกัดอยู่ในบ้านของตัวเอง สามารถทำได้เองง่าย ๆ ดังนี้

1.สร้างกิจวัตรประจำวัน หรือทำทุกอย่างเป็นปกติตามตารางเวลาเดิมเท่าที่จะสามารถทำได้ แทนที่จะทำเหมือนว่าฃเป็นวันหยุดพักผ่อน

2.จัดบ้านใหม่ การย้ายข้าวของ จัดบ้านใหม่ อาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้

3.ออกกำลังกายและใจสม่ำเสมอ ออกกำลังกายบ้าง หรืออาจจะออกไปเดินเล่นบ้าง แต่พยายามเว้นระยะห่างจากผู้คนไว้ด้วย

4.ติดต่อพูดคุยกับเพื่อนฝูง คุยกันผ่านกล้องวีดีโอ การเข้าร่วมชุมชนออนไลน์ อาจช่วยให้คลายเหงาหรือหงุดหงิดได้

5.ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ การทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และหาทางรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กและวัยรุ่นที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย ที่ปัจจุบันในไทยมีกว่า 5 ล้านคน ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะ ‘Cabin fever’ เนื่องจากวัยรุ่นมักจะใช้เวลาอยู่หน้าจอนานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่ง ดีแทค เองก็มี 5 ข้อแนะนำ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อการดูแลลูกหลานในช่วงอยู่บ้านยาว ๆ ดังนี้

1.หมั่นพูดคุย อธิบายเหตุการณ์ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ผู้ปกครองสามารถช่วยอธิบายข้อมูลที่แท้จริงด้วยภาษาที่เรียบง่าย เพื่อช่วยลดความสับสน ความโกรธ ความเศร้าและความกลัว ที่อาจเกิดจากการรับข่าวสารที่ถาโถมบนโลกออนไลน์ได้

2.ออกแบบกิจกรรมเพื่อการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ผู้ปกครองสามารถช่วยเด็ก ๆ แบ่งเวลาทำกิจกรรมให้สมดุลกัน สำหรับกิจกรรมเพื่อความบันเทิงอย่างเกมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถทำร่วมกับการวิดีโอคอลกับเพื่อน ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี

3.อย่าเชื่อข้อมูลอะไรง่าย ๆ หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองในการย้ำเตือนลูกหลานต่อการแยกแยะก่อนที่จะเชื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งบนโลกออนไลน์ โดยแหล่งข้อมูลควรมาจากพ่อแม้ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ และหน่วยงานที่เชื่อถือได้

4.หมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกหลาน ในช่วงที่เด็ก ๆ ใช้เวลาบนโลกออนไลน์เป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดต่อกับบุคคลแปลกหน้าหรือผู้ไม่ประสงค์ดีมากขึ้น ดังนั้น การเข้าไปพูดคุยและใช้เวลากับเด็ก ๆ มากขึ้น จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมที่ผิดแปลกได้อย่างทันท่วงที

5.สร้างวินัยในการชีวิตในแต่ละวัน พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างมากในการออกแบบกิจวัตรประจำวันที่ทำให้เด็กๆ มีวินัยในการใช้ชีวิตในแต่ละวันมากขึ้น ซึ่งอาจหมายรวมตั้งแต่เวลาในการรับประทานอาหารจนถึงเล่นเกม โดยควรเลือกกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ มีความสุขและไม่เครียดจนเกินไป

 

]]>
1272429
เอาจริง! จีนประกาศ “เคอร์ฟิว” ห้ามเยาวชนเล่นเกมหลัง 4 ทุ่ม จำกัดเวลาวันละ 90 นาที https://positioningmag.com/1252887 Thu, 07 Nov 2019 15:57:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1252887 รัฐบาลจีนประกาศห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมระหว่างเวลา 4 ทุ่ม – 8 โมงเช้าในวันธรรมดา เป็นการป้องกันภาวะเด็กติดเกม

ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นประเทศเจ้าของตลาดเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของมูลค่าเกมของทั้งโลก ในปีที่แล้วสามารถสร้างรายได้กว่า 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 110,000 ล้านบาท แต่ก็ยังต้องออกมาตรการเพื่อป้องกันเยาวชนของชาติติดเกมในอนาคต

มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการที่ทางการจีนบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเยาวชนหมกมุ่นอยู่กับเกมจนทำให้เสียการเรียนและไม่มีเวลาให้กับครอบครัว

นอกจากนี้ เยาวชนยังสามารถเล่นเกมได้ไม่เกินวันละ 90 นาทีในวันธรรมดา และสามารถเล่นเกมได้ในช่วงสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์วันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

รัฐบาลจีนยังกำหนดไม่ให้เยาวชนจีนอายุต่ำกว่า 16 ปีเติมเงินในเกมต่อเดือนมากกว่า 200 หยวน หรือราว 1,000 บาท ส่วนเยาวชนอายุ 16 – 18 ปีจำกัดเพดานไม่เกิน 400 หยวน หรือราว 2,000 บาทต่อเดือน

Source

]]>
1252887