งดปั่นโหวต! Weibo เตรียมลบลิสต์อันดับคนดัง หลังรัฐเข้มกวดขันเยาวชน “แฟนด้อม” จีน

Weibo (เวยป๋อ) คือโซเชียลมีเดียทรงอิทธิพลของวงการบันเทิงจีน แต่แพลตฟอร์มนี้กำลังจะลบ “ลิสต์จัดอันดับคนดัง” ออกไป เพื่อตอบรับนโยบายรัฐที่เริ่มกวดขัน “แฟนด้อม” ทั้งหลาย โดยมองว่าพฤติกรรมการเป็นแฟนคลับที่มากเกินไปทำให้เยาวชน “บริโภคเกินตัว”

โซเชียลมีเดียดัง Weibo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคล้ายกับ Twitter ผสมกับ Facebook ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2021 ว่า แพลตฟอร์มกำลังจะลบลิสต์คนดังในวงการบันเทิงและดนตรีหรือ “Weibo Star Power Ranking List” ออกไป โดยลิสต์นี้มีการจัดอันดับจากยอดผู้ติดตามและความนิยมของโพสต์ที่คนดังเหล่านั้นลงใน Weibo

นโยบายของบริษัทรับลูกหลังหนังสือพิมพ์ของรัฐ People’s Daily ลงบทความวิพากษ์วิจารณ์แพลตฟอร์มว่า ให้ความสำคัญกับทราฟฟิกยอดผู้เข้าชมออนไลน์ของตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ของเยาวชน

สำนักข่าว Reuters แปลบทความชี้ชะตาชิ้นนี้ว่า บทความระบุให้สื่อโซเชียล “ควรจะกำกับควบคุมรายการพัฒนาไอดอล และเข้มงวดกับรายการประกวดแสดงทาเลนต์ต่างๆ” การควบคุมที่ว่าคือให้จัดระเบียบระบบการโหวต การรีวิว และคอมเมนต์เสียใหม่

ตัวอย่างรายการประกวดไอดอลที่ถูกรัฐบาลจีนจับตามอง

บทความดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อ Weibo โดยตรง แต่ทางบริษัทก็ตัดสินใจจะนำ “ลิสต์คนดัง” ออกจากแพลตฟอร์มในเวลาต่อมา ทั้งนี้ แพลตฟอร์มให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแฟนคลับบางกลุ่มแสดงออกถึง “แรงสนับสนุนที่ไร้เหตุผล” ต่อเซเลปคนดังที่พวกเขาหรือเธอชื่นชอบ

แพลตฟอร์มมองว่า ลิสต์คนดังนี้กลายเป็นตัวกระตุ้นในเชิงลบในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดังกับกลุ่มแฟนๆ

บทความของ People’s Daily ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังกล่าววิจารณ์อย่างรุนแรงด้วยว่า “พฤติกรรมการไล่ตามดาราอย่างบ้าคลั่งได้ทำให้ประชาชนค่อยๆ เสียสติของตนเองไป”

ตัวอย่างหน้าแพลตฟอร์ม Weibo

บทความดังกล่าวมีข้อความที่สื่อถึงแนวคิดจากรัฐบาลจีนหลายจุด เช่น “โดยทั่วไปแล้ว แฟนคลับอายุน้อยส่วนมากยังไม่สามารถหาเงินเองได้ อีกทั้งความคิดความอ่านก็ยังไม่โตพอ พวกเขามักจะตกลงในกับดักของ ‘การบริโภคเกินตัว’ และ ‘มีการยืมเงินเพื่อไปตามดารา’ ด้วย”

“…ด้วยความรักที่มีให้ แฟนคลับยินดีที่จะใช้ทั้งเงิน เวลา และพลังงานเพื่อสร้างโมเมนตัมและทรัพยากรเป็นฐานให้กับไอดอล ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล แต่ในกรณีของแฟนคลับที่สุดโต่งบางคน เงินเท่ากับความรัก และความรักที่มีให้ไอดอลมากเท่าไหร่ ต้องสะท้อนออกไปด้วยเงินที่คุณใช้จ่ายให้พวกเขามากเท่านั้น”

“ถ้าคุณใช้เงินน้อยลง คุณจะถูกโจมตีว่า ‘ความรักของคุณไม่มีค่า’ ทำให้การกดไลก์และการสนับสนุนต่างๆ กลายมาเป็นการสร้างแบรนด์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด สร้างลิสต์จัดอันดับไม่มีที่สิ้นสุด และดาต้ามากมายไม่มีที่สิ้นสุด”

หนังสือพิมพ์ยังสรุปด้วยว่าธุรกิจโชว์บิซขณะนี้กลายเป็น “ทฤษฎีสมคบคิดจากหลายฝ่ายที่ล้อมรอบและกดขี่แฟนคลับเอาไว้” โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่ “ศิลปิน แบรนด์ แพลตฟอร์ม ทีมโบรกเกอร์ ฯลฯ”

Screenshot วิดีโอแบบ UGC ใน Bilibili

นอกจาก Weibo แล้ว ช่องทางที่แฟนๆ มักใช้ติดตามคนดังยังรวมถึง Bilibili (คล้าย YouTube ที่เรารู้จัก) , Kuaishou (เว็บไซต์จัดไลฟ์สตรีมมิ่ง) และ Douyin (หรือที่เรารู้จักในชื่อ TikTok)

การกวดขันโซเชียลมีเดียของจีนมีมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ยกตัวอย่างเช่น เดือนก่อนทั้ง Weibo, Taobao มาร์เก็ตเพลซของจีน, QQ แอปแชทจีน, Kuaishou และ Xiaohongshu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ต่างถูกปรับเงินทั้งหมดเพราะซื้อขายสติ๊กเกอร์ออนไลน์หรือเผยแพร่วิดีโอที่เกี่ยวข้องกับ “เยาวชน” ในท่าทางที่ “สื่อถึงเรื่องเพศ”

หนังสือพิมพ์ People’s Daily เปรียบได้กับกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในอดีตมีบทความหลายชิ้นที่ตีพิมพ์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์บางเรื่องและรัฐดำเนินการจัดการตามนั้น เช่น เคยมีบทความเรียกร้องให้ทลายอุตสาหกรรมเกมเพราะทำให้วัยรุ่นเหมือน “ติดฝิ่นทางจิตวิญญาณ” จากการเล่นเกมมากเกินไป หลังจากนั้นรัฐเข้ามากวดขันวงการเกมทันที

Source