ไนท์แฟรงค์ บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ รายงานดัชนีราคา “บ้านหรู” ไตรมาส 1/2021 พบว่า ราคาบ้านหรูทั่วโลกปรับขึ้นเฉลี่ย 4.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จาก 46 เมืองที่ทำการสำรวจ พบว่ามี 67% ที่ราคาบ้านหรูเติบโตขึ้น ส่วนที่เหลือไม่เติบโต (*นิยามอสังหาฯ ระดับไพรม์หรือบ้านหรูของไนท์แฟรงค์ หมายถึง บ้านที่มีมูลค่าสูงในระดับ Top 5% ของตลาด)
โดยในไตรมาสที่ผ่านมามี 11 เมืองที่ราคาบ้านหรูโตแบบ “ดับเบิล ดิจิต” ที่น่าสนใจคือ Top 3 ของเมืองที่ราคาบ้านหรูเติบโตมากที่สุดล้วนเป็นเมืองใหญ่ในจีน ได้แก่ “เสิ่นเจิ้น” (+18.9%) “เซี่ยงไฮ้” (+16.3%) และ “กวางโจว” (+16.2%)
เมืองอื่นๆ ในระดับ Top 10 ที่ราคาบ้านหรูเติบโตสูง ได้แก่ แวนคูเวอร์ (+15.2%) โซล (+14.8%) เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (+13.4%) ลอสแอนเจลิส (+12.6%) มอสโคว (+12.4%) ไทเป (+12.2%) และไมอามี (+10.2%)
เมื่อไปดูท้ายตารางพบว่า หลายเมืองที่เป็นมหานครดั้งเดิมของโลก ราคาบ้านหรูในเมืองเหล่านี้เข้าสู่ช่วงติดลบ เช่น นิวยอร์ก (-5.8%) ปารีส (-3.7%) ดูไบ (-3.6%) ลอนดอน (-3.5%) ฮ่องกง (-3.1%) โดยเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่มีราคาอสังหาฯ แพงที่สุดของโลก เช่น ฮ่องกง แพงเป็นอันดับ 2, ลอนดอน อันดับ 3, นิวยอร์ก อันดับ 4 หรือ ปารีส อยู่ในอันดับ 7
ทั้งนี้ สำหรับกรุงเทพฯ อยู่ในครึ่งล่างของตาราง เนื่องจากราคาบ้านหรูติดลบ -2.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ไนท์แฟรงค์ระบุว่า 3 เมืองใหญ่ของจีน ราคาอสังหาฯ เติบโตได้ดีเพราะแรงจูงใจจากเศรษฐกิจที่กำลังเป็นขาขึ้นหลังฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้ก่อนใคร และมาจากการลงทุนในเมืองเหล่านี้ของรัฐบาลจีน ส่งเสริมให้นักลงทุนต้องการซื้ออสังหาฯ โดยเฉพาะเมืองเสิ่นเจิ้นและกวางโจวซึ่งอยู่ในเขต Greater Bay Area ของประเทศจีน
ส่วนเมืองที่ราคาอสังหาฯ ติดลบนั้น เกิดขึ้นจากหลายเหตุผลแตกต่างกันไป เช่น ผ่านการล็อกดาวน์หลายครั้ง มีซัพพลายล้นตลาด ไปจนถึงนโยบายด้านภาษีที่ปรับสูงขึ้น แต่ไนท์แฟรงค์คาดว่าราคาน่าจะปรับดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2021 เมื่อการเดินทางทั่วโลกเริ่มสะดวกขึ้น
สำนักข่าว South China Morning Post รายงานถึงประเด็นนี้ว่า เสิ่นเจิ้นเคยเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงธรรมดาเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน แต่ปัจจุบันเสิ่นเจิ้นคือที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของจีนหลายแห่ง เช่น Tencent, Huawei, Ping An Group และ DJI
หลังการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันราคาบ้านหรูของเสิ่นเจิ้นตกราคาเฉลี่ย 100,000 หยวนต่อตร.ม. (ประมาณ 483,000 บาทต่อตร.ม.) บ้านลักชัวรีในเสิ่นเจิ้นมักจะมีขนาด 200 ตร.ม.ขึ้นไป เท่ากับตกยูนิตละประมาณ 20 ล้านหยวน (ประมาณ 96.6 ล้านบาท)
]]>ยุคแห่งความเจริญของประเทศจีน โดยเฉพาะ “เสิ่นเจิ้น” ซึ่งทางการจีนกำลังปั้นให้เป็นฮับการเงินและเทคโนโลยีของโลก ล่าสุดโครงการอาคาร Shenzhen Bay Super Headquarters Base Tower C กำลังจะมาเติมเต็มเส้นขอบฟ้าของเมืองให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้น โดยประกาศแบบอาคารที่ชนะการประกวดจากบริษัท Zaha Hadid Architects ของสถาปนิกหญิง “ซาฮา ฮาดิด” ผู้ล่วงลับ
แบบอาคารนี้ลักษณะเหมือนตึก 2 ตึกเล่นระดับ และเชื่อมต่อกันด้วยข้อต่อส่วนกลาง บริเวณข้อต่อนั้นจะเป็นโพเดียมหลายชั้นและมีระเบียง ภายในปลูกสวนแนวตั้งระบบเลี้ยงพืชในน้ำ และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมจะเชื่อมต่อกับสวนและพลาซ่าโดยรอบอาคาร ทำให้เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของเมือง
Tower C นี้เป็นส่วนหนึ่งของทั้งโครงการ Shenzhen Bay Super Headquarters Base เนื้อที่กว่า 731 ไร่ ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมออฟฟิศโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการเงิน ปัจจุบันมีการออกแบบอาคารไปแล้ว 18 อาคาร เมื่อสร้างเสร็จทั้งหมดราวปี 2026-27 คาดว่าจะมีคนทำงานในโครงการนี้ราว 3 แสนคน
โครงการนี้ไม่ได้สร้างแค่ตึกออฟฟิศ แต่ยังมีศูนย์ประชุมและจัดนิทรรศการ พื้นที่ที่อยู่อาศัย ฮับขนส่ง สวนสาธารณะ และพื้นที่สาธารณะริมน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมพื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินของประเทศ เปรียบได้กับย่าน Canary Wharf ของลอนดอน
นอกจากจะมีดีไซน์ล้ำยุคแล้ว ตัวอาคารยังมีความสูงเกือบ 400 เมตร ทำให้จะกลายเป็นอาคารที่สูงเป็นอันดับ 3 ของเมืองเมื่อสร้างเสร็จ (เทียบกับอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว ณ ขณะนี้) โดยปัจจุบันอาคารที่สูงที่สุดของเสิ่นเจิ้นคือ Ping An Finance Centre สูง 599 เมตร และครองตำแหน่งตึกสูงอันดับ 4 ของโลกด้วย ส่วนอาคารสูงอันดับ 2 ของเสิ่นเจิ้นคือตึก KK100 ที่สูง 442 เมตร
Tower C ยังถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับธรรมชาติด้วย โดยจะมีการใช้วัสดุที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล หรือใช้วัสดุที่มีคาร์บอนฟุตปริ้นต์ต่ำ เน้นการให้แสงธรรมชาติเข้าอาคารเพื่อช่วยเรื่องการประหยัดไฟ และมีพื้นที่จอดจักรยานขนาดใหญ่พิเศษที่เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของเสิ่นเจิ้น เพื่อกระตุ้นให้ชาวเมืองใช้จักรยานและขนส่งสาธารณะ
สำหรับ ซาฮา ฮาดิด นั้นเธอเป็นสถาปนิกหญิงชาวอิรัก-อังกฤษ เธอจากไปเมื่อปี 2016 ในวัย 65 ปี เคยได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่มีอิทธิพลที่สุดในโลกในหมวดหมู่นักคิดของนิตยสาร TIME ปี 2010 เธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลพริตซ์เกอร์เมื่อปี 2004 โดยรางวัลนี้เปรียบได้กับรางวัลโนเบลของแวดวงสถาปัตยกรรม
ผลงานเด่นๆ ของฮาดิดหลายงานตั้งอยู่ในจีนนี่เอง เช่น กวางโจว โอเปร่า เฮาส์, อาคาร Galaxy SOHO ปักกิ่ง, อาคาร Wangjing SOHO ปักกิ่ง ทำให้แม้ตัวเธอจะจากไปแล้ว แต่ชื่อของฮาดิดยังมีอิทธิพลเสมอ
]]>เขตเมืองใหม่ Net City ที่จะก่อสร้างย่านชานเมือง เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน ถูกออกแบบผังเมืองให้เน้นการใช้ชีวิตของ “คน” มากกว่า “การจราจร” บนท้องถนน โดยจะอนุญาตให้รถยนต์เข้ามาในเมืองได้เท่าที่จำเป็น และจะเป็นที่ตั้งของแคมปัสสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Tencent บริษัทด้านอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดของจีน พร้อมกับก่อสร้างที่อยู่อาศัย โรงเรียน ศูนย์การค้ารีเทล สวนสาธารณะ ฯลฯ ครบในเขตเดียว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปีนี้หรือภายในปี 2021
เสิ่นเจิ้นเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชากรมาก รถยนต์บนถนนก็มากตาม นำไปสู่มลพิษทางอากาศ ทั้งยังทำให้พื้นที่สีเขียวในเมืองน้อยลงด้วย ขณะที่เมืองออกแบบใหม่หลายแห่งในโลกจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ให้พื้นที่ส่วนใหญ่กับสวนสาธารณะ ทางเท้า และทางจักรยาน โดยเฉพาะ “พื้นที่สีเขียว” ที่มีความสำคัญ เพราะทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติและยังช่วยซับน้ำ ป้องกันน้ำท่วมด้วย
NBBJ เป็นบริษัทที่ชนะการออกแบบมาสเตอร์แพลนให้กับเมือง Net City นี้ โดยต้นแบบของเมืองจะคล้ายกับการออกแบบโมเดลเมือง “ซูเปอร์บล็อก” ของบาร์เซโลนา ที่ออกแบบเมืองเป็นระบบ grid 9 ช่อง ทำให้สามารถปิดถนนรองระหว่างช่องเล็กๆ ไม่ให้รถเข้า อาศัยการเดินเท้าก็เพียงพอ
โจนาธาน วาร์ด พาร์ตเนอร์ผู้ออกแบบจาก NBBJ อธิบายว่าเมืองนี้จะเป็นระบบ grid 6 บล็อกเหมือนกับเสิ่นเจิ้น แต่แทนที่จะมีถนนใหญ่ล้อมรอบทุกบล็อก จะเหลือถนนใหญ่ล้อมรอบบล็อกทั้ง 6 ช่อง ส่วนถนนอื่นๆ ที่เชื่อมภายในบล็อก 6 ช่องจะกลายเป็นทางเท้า ส่วนที่จอดรถจะอยู่ใต้ดิน ทำให้ไม่จำเป็นต้องขับรถเข้ามา
ส่วนบริษัท Tencent ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงคนเข้ามาอยู่อาศัยและทำงาน บริษัทต้องการให้พื้นที่นี้เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรม และสร้างพื้นที่การทำงานและการอยู่อาศัยที่มีความสุขกว่าเดิม
“สิ่งเดียวที่เป็นข้อจำกัดความเป็นไปได้คือ รถยนต์” วาร์ดกล่าว “เมืองของเรามักจะออกแบบมาเพื่อรถยนต์ ถ้าคุณย้อนเวลากลับไป 3 เจนเนอเรชั่นก่อนหน้า การออกแบบเมืองเป็นไปเพื่อคนขับรถมาตลอด เราคิดว่า เราคงยังดึงการใช้รถออกไปหมดไม่ได้ ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ถ้าหากเราสามารถลดการใช้รถยนต์อย่างมีนัยสำคัญได้ละ? และถ้าเราสามารถลดในจุดที่คุณเคยคิดว่าคุณจำเป็นต้องใช้รถ ทั้งที่จริงไม่จำเป็นล่ะ?”
การออกแบบเขตนี้ให้เป็นแคมปัสหลักของ Tencent ก็ช่วยลดการใช้รถด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเป็นทั้งที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย มีร้านค้าให้ช้อปปิ้ง คนที่อาศัยทำงานในนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้รถ เพราะสถานที่ที่จะไปส่วนใหญ่อยู่ในละแวกที่เดินได้ทั้งนั้น ส่วนคนที่มาจากนอกเขตก็สามารถนำรถมาจอดในบริเวณที่กำหนดได้ หรือใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน รถประจำทาง ทางจักรยาน และเรือ
นอกจากนี้ เขต Net City ยังเป็นเขตสร้างใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (ซึ่งสามารถสั่งการได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์) จึงทำการออกแบบได้เต็มที่ “เราสามารถออกแบบถนนได้ใหม่หมด และเป็นอิสระจากระบบผังเมืองเดิม” วาร์ดกล่าว เนื่องจากทีม NBBJ จะทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น
ไม่ใช่แค่เขต Net City เท่านั้นที่นำคอนเซ็ปต์ลดการใช้รถมาเป็นแนวคิดหลัก หลายเมืองรอบโลกกำลังสร้าง “เขตปลอดรถยนต์” หรือ Car-Free Zone ไม่ว่าจะเป็น “ลอสแอนเจลิส” ที่มีเป้าหมายให้ประชากรลดการใช้รถส่วนตัวให้ได้หลักแสนคนภายใน 1 ทศวรรษข้างหน้า รวมถึงเมืองในยุโรปจำนวนมากกำลังลดการใช้รถยนต์ ผ่านการบีบบังคับทางอ้อม เช่น ยกเลิกจุดอนุญาตจอดรถข้างถนน
วาร์ดกล่าวว่า ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แม้แต่ลูกค้าที่หัวก้าวหน้าที่สุดยังแทบไม่พิจารณาการออกแบบเมืองใหม่ไร้รถยนต์ที่เปลี่ยนไปแรงขนาดนี้ แต่ขณะนี้แนวคิดของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว “ผมคิดว่าคนตระหนักรู้มากขึ้นว่า วัฒนธรรมการใช้รถและโครงข่ายรถยนต์คือความท้าทายสำคัญต่อปัญหาโลกร้อน คนรุ่นใหม่เห็นว่า การใช้รถคือข้อจำกัดต่อการเพิ่มสีสันความหลากหลายให้กับเมือง ตอนนี้มีความตระหนักรู้และตื่นรู้มากขึ้นแล้ว จนเกิดแรงกดดันต่อองค์กรกำกับควบคุมให้สร้างความเปลี่ยนแปลง”
“สิ่งเหล่านี้เกิดจากการรับรู้มากขึ้นเรื่องโลกร้อนและการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เราต้องต่อสู้เพื่อทำให้โลกเราร้อนขึ้นช้าลงกว่านี้” วาร์ดกล่าวทิ้งท้าย
]]>