กนง. – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 28 Sep 2023 04:27:46 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ดอกเบี้ยนโยบายไทยสูงสุดในรอบ 10 ปีแล้ว หลัง กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ล่าสุดอยู่ที่ 2.5% https://positioningmag.com/1445736 Wed, 27 Sep 2023 07:46:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1445736 ดอกเบี้ยนโยบายไทยสูงสุดในรอบ 10 ปีแล้ว หลัง กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ล่าสุดอยู่ที่ 2.5% ขณะเดียวกันก็ยังมีการปรับตัวเลขเป้าหมายของ GDP ไทย ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่า 3% แล้ว 

กนง. ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% โดยให้เหตุผลถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องนั้นสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ทำให้ล่าสุดอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 2.5% และเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบ 10 ปี

โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2.5% นี้ต้องย้อนไปถึงปี 2013 และไทยไม่เคยมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวเลยหลังจากปีดังกล่าว ก่อนที่จะ กนง. จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคมปี 2022 ที่ผ่านมา

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลากหลายสถาบันการเงินนั้นต่างให้มุมมองทั้งมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้แบบเสียงแตก ต่างกับหลายครั้งก่อนหน้านี้ โดยผลสำรวจของ Bloomberg นั้นนักเศรษฐศาสตร์ 11 คนคาดว่าจะมีการคงอัตราดอกเบี้ย แต่ 10 คนมองว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ผลการประชุม กนง. เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567

ในการประชุม กนง. ยังมีการปรับคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้เติบโต 2.8% และปี 2024 ที่ 4.4% (ดูได้จากรูปด้านล่าง) ปัจจัยสำคัญมากจากการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ ขณะที่ในปีหน้าได้ปัจจัยมาจากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว รวมถึงนโยบายภาครัฐ

ขณะที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อนั้น กนง. คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.6% ในปีนี้ และ 2.6% ในปีหน้า แต่มองความเสี่ยงถึงผลกระทบจากเอลนีโญ รวมถึงผลกระทบของนโยบายภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งนี้ กนง. มีมุมมองว่าการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ท่ีอาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

บทวิเคราะห์ของ Citi ที่วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา มองว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะมีระดับสูงสุดที่ 2.50% โดยอ้างอิงการประชุมของ กนง. ในรอบที่ผ่านมา และจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2025 และไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเร็วๆ นี้

ทางด้าน Goldman Sachs ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอาเซียน โดยมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ยาวไปถึงปี 2025 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ของปี 2024 โดยให้เหตุผลจากการคงดอกเบี้ยเป็นระยะยาวของธนาคารกลางสหรัฐฯ

Note: เพิ่มบทวิเคราะห์จาก Goldman Sachs และอัพเดตมุมมองจาก Citi

]]>
1445736
ดอกเบี้ยนโยบายไทยสูงสุดในรอบ 9 ปีแล้ว ล่าสุดอยู่ที่ 2.25% หลัง กนง. ปรับอัตราดอกเบี้ย https://positioningmag.com/1439563 Wed, 02 Aug 2023 07:51:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ทำให้ล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นอยู่ที่ 2.25% แล้ว สูงสุดในรอบ 9 ปี โดยนักวิเคราะห์บางคนคาดว่านี่อาจเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของไทยแล้วด้วยซ้ำ

กนง. ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% โดยให้เหตุผลถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องนั้นสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

โดยการปรับอัตราขึ้นดอกเบี้ยตรงกับนักวิเคราะห์ 19 รายจาก 21 รายที่ Bloomberg ได้สำรวจไว้ก่อนจะมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ที่ทางสำนักข่าว Reuters ได้ทำการสำรวจนักวิเคราะห์ไว้ทั้งหมด 22 รายนั้น นักวิเคราะห์มากถึง 18 รายมองว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้

เหตุผลอีกประการที่ กนง. ประกาศขึ้นดอกเบี้ยคือต้องการที่จะรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

การปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมในปีที่ผ่านมา หลังจากที่ไทยได้ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% มาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19

กนง. ยังได้ให้มุมมองถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น จากทั้งภาคการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้ในถ้อยแถลงของ กนง. ยังได้กล่าวว่า นโยบายการเงินยังควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืนควบคู่กับให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

โดยนักวิเคราะห์ของ OCBC คาดว่าไทยจะคงดอกเบี้ยหลังจากนี้ หลังจากเงินเฟ้อของไทยลดลง ขณะที่เศรษฐกิจของไทยยังได้รับผลดีจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่นักวิเคราะห์ของ HSBC มองว่าถ้าหาก กนง. ปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกรอบอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งถ้าหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นอาจต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง

]]>
1439563
เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น เเต่เปราะบาง ตลาดเเรงงาน-กำลังซื้ออ่อนเเอ ค่าจ้างต่ำกว่าก่อนโควิด https://positioningmag.com/1374184 Wed, 16 Feb 2022 07:49:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374184 วิจัยกรุงศรี คาดกนง.ตรึงดอกเบี้ย 0.5% ตลอดทั้งปีนี้ มองเเนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว เเต่ยังเปราะบาง ตลาดเเรงงานอ่อนเเอ ค่าจ้างยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด เเละแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้ ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค

คาดกนง.ตรึงดอกเบี้ยทั้งปี 0.5%

วิจัยกรุงศรี คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% ตลอดจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจาก แม้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น แต่ กนง.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2565 และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย (ต่ำกว่า 3%) และยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันอยู่มาก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวล่าช้าและต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อยู่มาก

“เศรษฐกิจโดยรวม กว่าจะฟื้นกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตการระบาดอาจเป็นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และตลาดแรงงานยังอ่อนแอและค่าจ้างที่อาจยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเกิดโควิด-19” 

ค่าจ้างยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด 

วิจัยกรุงศรี ประเมินค่าจ้างที่แท้จริงของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดในปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเพียง 1% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าค่าจ้างที่แท้จริงของครัวเรือนรายได้สูงสุดที่จะเพิ่มขึ้น 3.2%

ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงของทุกกลุ่มครัวเรือนในปีนี้ จะยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายไม่เท่าเทียมกัน และยังบ่งชี้ถึงความเปราะบางในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

Photo : Shutterstock

เงินเฟ้อพุ่งช่วงต้นปี 

ด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคมปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สะท้อนความอ่อนแอของการใช้จ่ายในประเทศ แต่ยังพอมีแรงพยุงจากมาตรการรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคมปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ 44.8 จาก 46.2 เดือนธันวาคม เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ (6 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงสู่ระดับ 52.5 จาก 53.8 เดือนธันวาคม

ปัจจัยลบจากความกังวลการระบาดของไวรัสโอมิครอนที่แพร่ได้เร็ว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นกระทบต่อราคาวัตถุดิบและราคาสินค้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ

ในช่วงต้นปีกำลังซื้ออาจได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในคลาดโลก นอกจากนี้ กำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้อีกด้วย

มาตรการรัฐกระตุ้นใช้จ่าย 

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีปัจจัยบวกที่จะช่วยประคับประคองการใช้จ่ายในประเทศได้บ้าง จากมาตรการควบคุมการระบาดที่ผ่อนคลายมากขึ้น มาตรการช้อปดีมีคืน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดวงเงินรวม 53.2 พันล้านบาท ผ่านโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่

  • โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 (วงเงิน 34.8 พันล้านบาท)
  • โครงการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มเปราะบาง (วงเงิน 9.4 พันล้านบาท)
  • โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 (วงเงิน 9 พันล้านบาท)

“คาดว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท” 

 

]]>
1374184
กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี มอง COVID-19 ระลอกใหม่ สะเทือนเศรษฐกิจไทยไม่เเรงเท่ารอบแรก https://positioningmag.com/1317719 Wed, 03 Feb 2021 08:15:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317719 กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง มอง COVID-19 ระลอกใหม่ไม่กระทบรุนแรงเท่ารอบแรก

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า แม้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

“ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรกจากมาตรการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อน”

กนง. มองว่า เศรษฐกิจยังได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาได้เร็วและตรงจุด และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แต่ต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง เเต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง

โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 แรงสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียงพอและต่อเนื่อง

“ตลาดแรงงานที่เปราะบางขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะสั้น” 

Photo : Shutterstock

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากขึ้นจะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ด้าน ระบบการเงิน มีเสถียรภาพ แต่มีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุดจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs

สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

สภาพคล่องโดยรวม อยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวของสภาพคล่องยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นตามฐานะการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่

ด้าน อัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ เช่น

  • มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต
  • การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง
  • พิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการกระจายสภาพคล่องและเพื่อรองรับเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต
  • มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้
  • ดำเนินการนโยบายด้านอุปทาน เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงจะติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย 

]]>
1317719
กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ปรับเป้าจีดีพีปีนี้ ติดลบ 6.6% เฝ้าระวัง COVID-19 รอบใหม่ https://positioningmag.com/1311715 Wed, 23 Dec 2020 08:27:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311715 กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนสูง ปรับเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ -6.6% ภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ยังเปราะบาง เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ห่วงสถานการณ์เงินบาท “แข็งค่าขึ้นเร็ว” เฝ้าระวัง COVID-19 รอบใหม่

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2563 ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น และกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 4.8 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่

“ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 และพัฒนาการของตลาดแรงงาน ซึ่งยังมีจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานอยู่ในระดับสูง” 

นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่แตกต่างกันของแต่ละภาคเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่ยังคงมีความ “เปราะบาง” ในภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ด้านสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ “ธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs” 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ซึ่งทาง กนง. มีความกังวงกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้ม “แข็งค่าขึ้นเร็ว” จากสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุน (risk-on sentiment) และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิดและพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิเช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง

ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทาน เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

“ต้องติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น”

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย 

 

]]>
1311715
ตามคาด! กนง.คงดอกเบี้ยที่ 0.50% เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว รอ “ไม่ต่ำกว่า 2 ปี” กว่าจะกลับสู่ปกติ https://positioningmag.com/1291221 Wed, 05 Aug 2020 09:18:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291221 กนง. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที มองเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว หลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกสอง ยันพร้อมใช้นโยบายทางการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมถ้าจำเป็น

วันนี้ (5 ส.ค. 63) ทิตนันทิ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว เเต่จะใช้เวลา “ไม่ต่ำกว่า 2 ปี” ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะมีความแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ

การบริการ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนด้านการส่งออกสินค้า เริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ

อุปสงค์ในประเทศ หดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัวและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน

กนง.จึงเห็นว่ามาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมถึงนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงด้วย

Photo : Shutterstock

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง

สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเลื่อนการชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

“หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม” 

ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง

กนง.เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ในบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นต้น

คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย 

]]>
1291221
กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หั่นคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ -8.1% https://positioningmag.com/1284966 Wed, 24 Jun 2020 08:08:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1284966 กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หั่นคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ -8.1% จากเดิมที่คาดไว้ -5.3% หลังเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวกว่าที่คาด เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้

วันนี้ (24 มิ..63) ทิตนันทิ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกรุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ การจ้างงานและรายได้มีแนวโน้มลดลง ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด

คณะกรรมการฯ มองว่ามาตรการการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยังจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าจะต้องมีนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงด้วย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าคาดตามราคาพลังงานที่ลดลงแรงตามอุปสงค์ที่ลดลงจากการชะลอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและเพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง สภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าต้องดูแลให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินสกุลภูมิภาคส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ระบบการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 และเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้า

คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย 

 

]]>
1284966
ตามคาด! กนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.5% เศรษฐกิจไทยหดตัว-เงินเฟ้อติดลบกว่าที่ประเมินไว้ https://positioningmag.com/1279634 Wed, 20 May 2020 07:45:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279634 กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้

ขณะที่กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และเร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ 

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าคาด ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้จากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด

อย่างไรก็ดี มาตรการการเงินการคลังจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ยังมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตในระยะต่อไป

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาดตามราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศและการระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมและโอกาสที่การระบาดในประเทศอาจกลับมา รวมทั้งประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ด้านภาวะการเงิน ตลาดการเงินมีเสถียรภาพ หลัง ธปท. ออกมาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงและอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น

โดยคณะกรรมการฯ ให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้ ด้านสินเชื่อขยายตัวโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงบ้าง สภาพคล่องในระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาและการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) เป็นการชั่วคราว ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ด้านระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนหลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าสถาบันการเงินจึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าและให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด รวมถึงดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย 

]]>
1279634
กนง. ประชุมฉุกเฉิน ปรับลดดอกเบี้ย เหลือ 0.75% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รับวิกฤต COVID-19 https://positioningmag.com/1269187 Fri, 20 Mar 2020 16:02:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1269187 กนง. ประชุมนัดพิเศษ มีมติลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 จากเดิมที่ร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.75 ต่อปี ต่ำสุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย มีผล 23 มี.ค.นี้ รับมือการเเพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ SMEs และประชาชน

ก่อนหน้านี้ กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1 ต่อปี ไปเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด : กนง. ปรับลดดอกเบี้ยเหลือแค่ 1% หลังประเมินเศรษฐกิจ​ไทยแย่กว่า​ที่คาด )

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประชุมนัดพิเศษในช่วงเย็นของวันที่ 20 มี.ค. เพื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและกลไกการทำงานของตลาดการเงินของประเทศ

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย

การระบาดที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย แม้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ

คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งที่ผ่านมาและในครั้งนี้ จะเกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินจะต้องมีบทบาทเชิงรุกในการช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และประชาชน รวมทั้งการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด”

นอกจากนี้ ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินเพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินมีเสถียรภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย 

]]>
1269187
กนง. ปรับลดดอกเบี้ยเหลือแค่ 1% หลังประเมินเศรษฐกิจ​ไทยแย่กว่า​ที่คาด https://positioningmag.com/1263345 Wed, 05 Feb 2020 10:37:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263345 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยให้มีผลทันที

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้เเก่

  • การระบาดของไวรัสโคโรนา
  • ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี
  • ภัยแล้ง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

“ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง”

กนง. จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ โดยมองทิศทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ดังนี้

การท่องเที่ยวเเละส่งออก

มีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคด้วย

อุปสงค์ในประเทศ

การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้าและยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

โดยต้องติดตามผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ และภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

อัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานต่ำกว่าคาดเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง

ภาวะการเงิน

ที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อภาคธุรกิจมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

อัตราแลกเปลี่ยน

แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และสนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระบบการเงินโดยรวม

มีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังต่าง ๆ ที่ภาครัฐและ ธปท. ได้เร่งดำเนินการเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด

ทั้งนี้ กนง. จะติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย

]]>
1263345