ขัตติยา อินทรวิชัย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 15 Nov 2021 10:44:32 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “KBank” รับรางวัลใหญ่แห่งปี “องค์กรนวัตกรรมแห่งอนาคต” ธนาคารแรกของไทยที่คว้ารางวัลนี้จาก IDC Future Enterprise Award 2021 https://positioningmag.com/1362062 Tue, 16 Nov 2021 10:00:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362062

ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของวงการเงินธนาคาร ทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว การถูกดิสรัปชั่นโดยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวอย่างมาก เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทยหรือ KBank ที่มีการปรับตัวไปสู่โลกของดิจิทัลมาตลอด โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างนวัตกรรมทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จนเติบโตและสามารถครองใจลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่น

ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย คว้า 4 รางวัลใหญ่จากเวทีระดับโลก IDC Future Enterprise Award 2021 เป็นธนาคารแห่งแรกของไทยที่ได้รับรางวัล “Future Enterprise of the Year” ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศไทย รวมถึงยังกวาดรางวัล “Best in Future of Digital Infrastructure Thailand” และ “Best in Future of Industry Ecosystem Thailand” มาครอง

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารต้องเร่งปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับองค์กรในทุกๆ ด้าน เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life and Business) โดยใช้กลยุทธ์ “K-Strategy” ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเพิ่มศักยภาพทั้งด้านเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ บริการ ตลอดจนบุคลากร ตอกย้ำบทบาทของธนาคารกสิกรไทยในฐานะกลไกหลักผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งพิสูจน์ความสำเร็จในเรื่องนี้ได้จากการที่ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแห่งแรกในไทยที่ได้รับสำหรับรางวัล “Future Enterprise of the Year” ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศไทย โดยได้รับยกย่องให้เป็น “องค์กรนวัตกรรมแห่งอนาคต” จากยุทธศาสตร์องค์กรที่มุ่งเป้าสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability)

IDC Future Enterprise Award เป็นรางวัลที่จัดขึ้นโดย International Data Corporation (IDC) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลและวิจัยทางเทคโนโลยีระดับโลก ผ่านการตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อมอบให้กับองค์กรที่มีศักยภาพยอดเยี่ยมในการพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์ “Digital Transformation” ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการก้าวสู่โลกยุคใหม่ โลกที่ต้องตอบโจทย์ใหม่ๆ ของลูกค้า มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวโดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยปี 2021 นี้ ธนาคารกสิกรไทยคว้ารางวัลจากเวที IDC มาได้ถึง 4 รางวัล ได้แก่ รางวัล Future Enterprise of the Year ประจำปี 2021 จำนวน 2 รางวัล ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและไทย

จุดเด่นของ KBank ที่ทำให้ชนะรางวัลนี้ คือยุทธศาสตร์ “K-Strategy” ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และยกระดับขีดความสามารถขององค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ใช้ในทุกด้านทั้งผลิตภัณฑ์ บริการ บุคลากร ทำให้สามารถตอบโจทย์การการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจของลูกค้าได้ รวมถึงช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับธนาคาร สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคม


รางวัล Best in Future of Digital Infrastructure : Thailand

KBank ได้รับรางวัลนี้จากการเสริมศักยภาพเทคโนโลยีเชื่อมโยงระหว่างในประเทศกับต่างประเทศ สร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อให้กับลูกค้าด้วย “ฟีเจอร์โอนเงินต่างประเทศในแอปพลิเคชัน K PLUS” ปัจจุบันสามารถโอนได้ 14 สกุลเงิน ครอบคลุม 32 ประเทศทั่วโลก ชูจุดเด่น สะดวก ถูก เร็ว ทำธุรกรรมได้แบบเรียลไทม์ ปลายทางรับเงินเต็มจำนวน ตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ทั้งครอบครัว ศึกษาต่อต่างประเทศ ช้อปปิ้ง นักท่องเที่ยว เป็นต้น

และอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์และบริการในการสร้างเสริมให้ลูกค้าเข้าถึงบริการการเงินได้ง่ายขึ้นด้วย “เทคโนโลยีพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัล” ซึ่งทำได้ทั้งใน K-ID Platform และจุดบริการยืนยันตัวตน (K CHECK ID) ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา สามารถใช้บริการธนาคารได้สะดวกรวดเร็ว

รางวัล Best in Future of Industry Ecosystem : Thailand


ความโดดเด่นของ KBank อยู่ที่การเชื่อมต่อระหว่างแพลตฟอร์มแอปฯ K PLUS กับพันธมิตรทางธุรกิจ ประกอบด้วย 2 บริการ คือ “Grab Pay Wallet (Powered by KBank)” ร่วมมือกับ Grab เพื่อเชื่อมโยงผู้คนในระบบนิเวศ (ecosystem) ได้แก่ ลูกค้าที่ใช้บริการ ไรเดอร์ผู้ขับ ร้านค้า และตัวแทนของ Grab ได้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ลูกค้าสามารถจ่ายค่าบริการ Grab ได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่ต้องใช้เงินสดและบัตรเครดิต และอีกหนึ่งบริการคือ “การเชื่อมต่อแอปฯ K PLUS เข้ากับแอปฯ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ” ทำให้สมาชิกสหกรณ์ฯ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ยิ่งขึ้น

4 รางวัลใหญ่บนเวทีระดับโลก IDC Future Enterprise Awards ที่ KBank ได้รับเป็นเครื่องการันตีให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่จัดเจน ทำให้สามารถตอบสนองลูกค้าและธุรกิจในยุคดิจิทัล และเป็นพลังขับเคลื่อนให้ KBank ก้าวสู่การเป็นสถาบันการเงินในระดับภูมิภาคได้สำเร็จตามเป้าหมาย

]]>
1362062
มองโอกาสเเละความเสี่ยง ‘การลงทุน’ ปี 2564 เมื่อ ‘วัคซีน’ ปรับทิศเศรษฐกิจโลก https://positioningmag.com/1323070 Mon, 15 Mar 2021 03:00:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323070

โลกหลังโควิด-19 ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ‘วัคซีน’ กลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญของทิสทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางตลาดที่ผันผวน ‘นักลงทุน’ ต้องเตรียมรับมือและวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้ตามทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

แนวโน้มเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคระบาดและธุรกิจท่องเที่ยวของปี 2564 จะส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร ความร้อนแรง ‘สกุลเงินดิจิทัล’ น่าสนใจเเค่ไหน ‘ทองคำ vs Bitcoin’ เลือกอะไรดี ตลาดหุ้นไทยเเละสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในปีนี้มีอะไรบ้าง

วันนี้ Positioning จับประเด็นสำคัญจากงาน ‘THE WISDOM The Symbol of Your Vision: 2021 Economic Outlook & Investment Forum’ โดย  เดอะวิสดอม กสิกรไทย มาฝากกัน


เศรษฐกิจ ‘ฟื้นตัว’ บนความไม่เเน่นอน 

‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เเม่ทัพหญิงเเห่งค่าย KBank มองว่า เเม้สถานการณ์การเเพร่ระบาดโรคระบาดทั่วโลกจะมีเเนวโน้ม ‘ดีขึ้น’ กว่าปีก่อน เเต่ก็ยังเต็มไปด้วย ‘ความไม่เเน่นอน’ จากหลายปัจจัยโดยการเเพร่ระบาดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในช่วงต้นปี ได้ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว ทำให้ทิศทางของธุรกิจต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น

“แม้ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเท่ารอบเเรก เเต่ผลกระทบได้ขยายวงกว้าง ผู้ประกอบการเเละร้านค้าในห้าง ยังต้องเเบกต้นทุนเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลงกว่า 80-90%” 

ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม เเละอสังหาริมทรัพย์ ที่มีรายรับหายไปติดต่อกันนานกว่า 12 เดือน นับเป็นธุรกิจที่ต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพื่อพยุงให้พวกเขาอยู่รอดผ่านวิกฤตนี้ไปได้

โจทย์สำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการควบคุมโควิด-19 ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน เพื่อให้สังคมมี ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (herd immunity) ช่วงเวลาเเละนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การใช้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ เเละสิ่งที่ต้องจัดการหลังโควิด-19 ว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาไทย ในปี 2564 จะมีราว 2 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เป็น ‘ไฮซีซั่น’ เเละเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับคนที่ทำงานในภาคท่องเที่ยวไทย จะต้องได้รับวัคซีนเเล้วอย่างน้อย 2.2 แสนโดส ก่อนช่วงเดือนตุลาคม

อ่านเพิ่มเติม : ความหวัง ‘ท่องเที่ยวไทย’ เร่งฉีดวัคซีนให้ทัน ‘ไฮซีซั่น’ รับต่างชาติ 2 ล้านคน ระวัง ‘หนี้ครัวเรือน’ พุ่ง

Photo : Shutterstock

ท่ามกลางความฝืดเคืองของเศรษฐกิจไทย KBank พบว่า เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากลูกค้า โดยประเมินจากความสามารถ  ‘คืนเงินกู้’  ได้ในสัดส่วนที่ดีกว่าที่คาดไว้ มีการกลับมาชำระหนี้ได้ดีขึ้น เเม้จะต้องเจอการเเพร่ระบาดรอบใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ก็ตาม ซึ่งทางธนาคารจะยังดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป

“ประเด็นวัคซีน และการผลักดันมาตรการต่างๆ ของทางการไทย ย่อมมีผลต่อแนวโน้มผลตอบแทนตราสารหนี้ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า” 

โดยทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ควรจับตา คือนโยบายของผู้นำสหรัฐคนใหม่อย่าง ‘โจ ไบเดน’ ที่ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อฟื้นฟูประเทศ ซึ่งจะมีผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในระยะยาวปรับขึ้น  “คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะทยอยออกจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในปี 2565”

ส่วนราคาน้ำมันนั้นจะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ ควบคู่กับการปรับลดกำลังการผลิตของตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อราคาทองคำมากนัก“จากเงื่อนไขเศรษฐกิจเเละปัจจัยความไม่เเน่นอน จะส่งผลต่อราคาสินทรัพย์แต่ละประเภทที่ต่างกัน นักลงทุนจะต้องจับจังหวะการลงทุนอย่างละเอียดเเละรอบคอบมากขึ้น พร้อมทั้งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”


ตลาดยังมีสภาพคล่อง ดอกเบี้ยต่ำ ดัน ‘คริปโต’ มาเเรง เเต่ ‘เสี่ยง’ 

เมื่อเจาะลึกไปที่ประเด็น ‘การลงทุน’ ในยามที่ตลาดมีความผันผวนสูง ‘ธิติ ตันติกุลานันท์’ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย ฉายภาพให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจและตลาดเงิน ทั้งในปัจจุบันเเละระยะต่อไปว่า ตอนนี้เริ่มมี ‘ข่าวดี’ เรื่องการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ ฉีดไปแล้ว 25% ส่วนสหราชอาณาจักร 35% เเละคาดว่าจะครอบคลุม 70% จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะที่ในไทย คาดว่าจะมีการกระจายฉีดวัคซีนสู่ระดับ 50% ได้ ต้องใช้เวลาถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก็ยังฉีดวัคซีนได้น้อย จึงมองว่า ‘ข่าวดี’ ของเศรษฐกิจไทยจริงๆ อาจจะได้เห็นกันในช่วงปีหน้า 

เเม้ว่าการกระจายวัคซีนของไทยจะยังไม่ถึงขั้นสร้าง ‘herd immunity’ ได้เร็วภายในปีนี้ ก็มองว่ารัฐมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณา ‘การเปิดประเทศ’ เพราะไทยเป็นชาติที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมากกว่า 10% ของ GDP ดังนั้นการเปิดประเทศนานถึง 2 ปี จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก

“แม้รายได้ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจะลดลง แต่ราคาหุ้นกลับไม่ลดลงตามไปด้วย” 

โดยมองว่าการที่สภาพคล่องเยอะเกินไปก็ต้องระวัง เพราะคนจะไม่มองที่ความเสี่ยง เเต่จะไปเน้นหา ‘ผลตอบแทน’ ที่ได้มากขึ้น ยิ่งในช่วงที่ภาวะ ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ เรายิ่งจะได้เห็นคนเเห่ไปเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอย่าง ‘คริปโตเคอเรนซี่’ สกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น

“การลงทุนใน Bitcoin ในช่วงปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 540% เพราะตอนนี้เงินไม่มีที่ไป ปัจจัยหลักๆ มาจากนักลงทุนสถาบันเเละบริษัท เจ้าใหญ่ลงมาเล่นเเบบ ‘ชุบตัว’ ใหม่ ส่งผลให้ราคาขึ้น ต่างจากเดิมที่เคยเป็นรายย่อย การลงทุนก็ต้องมีการกระจายพอร์ตมากขึ้น”

จากการสำรวจความคิดเห็นของเหล่ามหาเศรษฐีเอเชีย ของ Lombard Odier ร่วมกับ KBank Private Banking พบว่า ผู้มั่งคั่งกว่า 78% มองว่าภาวะดอกเบี้ยตํ่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคหลังโควิด-19 และอาจดําเนินต่อเนื่องไปอีกทศวรรษ

อ่านเพิ่มเติม : เปิดความเห็น ‘เศรษฐีเอเชีย’ มองเทค บริหารเงินกงสี ความยั่งยืน ปรับพอร์ตลงทุนในตลาดผันผวน

สำหรับสถานการณ์ของ ‘ตลาดหุ้นไทย’ ตอนนี้ตลาดหุ้นอยู่ที่ราว 1500 จุด โดยปีนี้ประเมินว่า P/E Ratio (กำไรสุทธิต่อหุ้น) น่าจะอยู่ที่ราว 20-22 เท่า ซึ่งถือว่ายังสูงเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ขณะที่นักลงทุนเองก็ ‘ยอมซื้อ’ ในราคาที่สูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในอดีต P/E ratio ของไทยอยู่ที่ 17 เท่า เเละปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 30 เท่า แม้รายได้จะตกลง 36% สะท้อนให้เห็นว่าเหล่านักลงทุนมองว่า เศรษฐกิจไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไม่ไปได้ เพราะยังมีหลายบริษัทที่หลายธุรกิจที่ยังมีผลประกอบการที่เเข็งเเกร่ง

Photo : Shutterstock

ปี 2564 ลงทุนอะไรดี ? 

ด้านสินทรัพย์ที่น่าลงทุนเเละประเภทไหนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในปี 2564 นั้น ผู้บริหาร KBank มองว่าปียังเป็นช่วงที่ลงทุนลำบาก เพราะสินทรัพย์มีราคาเเพง ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เองก็ P/E ขึ้นมา 26 เท่า เเต่นักลงทุนก็ยังซื้อเพราะต้องหาผลตอบเเทนที่มากขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง

โดยในตลาดหุ้นไทย ธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้ดีก็มี อย่างกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจพลังงาน ฯลฯ ขณะที่สินทรัพย์ที่มองว่ายังสามารถหาจังหวะลงทุนได้ คือ ทองและน้ำมัน

ส่วนคำถามที่ว่า ‘ทองคำ หรือ Bitcoin อะไรน่าจะลงกว่ากันนั้น ส่วนตัวของธิติมองว่า Bitcoin ก็เป็นการลงทุนตามเทรนด์ที่ยังไปต่อได้ เเต่มีความเสี่ยงเเละความผันผวนสูง เพราะทองคำมีสถิติเเละตัวชี้วัดของราคา เเต่ Bitcoin วิเคราะห์ไม่ได้เเละเงินดิจิทัลไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ราคาขึ้นลงตามดีมานด์เเละซัพพลาย

“ผู้ลงทุนต้องทำใจรับความเสี่ยงที่มากกว่า ยอมรับการสูญเสียเกือบทั้งจำนวนได้ จึงควรลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม ต้องมีเงินเย็นมากๆ เพื่อลงทุนระยะยาว เเต่ต้องติดตามความเป็นไปอย่างใกล้ชิด มีวินัยในการลงทุนเเละตัดสินใจตัดขาดทุนได้”

เมื่อโลกเปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไป เกิดธุรกิจใหม่เเละการปรับตัวของธุรกิจเก่าอย่างมากมาย ผู้ลงทุนจึงต้อง ‘เปลี่ยนวิธีคิดใหม่’ ตามไปด้วย

 

 

]]>
1323070
ก้าวใหม่กสิกรไทย เปิดเเนวคิด “กอบกาญจน์-ขัตติยา” รับไม้ต่อ พาธุรกิจเเบงก์ฝ่าวิกฤต https://positioningmag.com/1272531 Thu, 09 Apr 2020 12:01:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272531 การปรับทัพของเเบงก์ใหญ่ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 น่าจับตามองยิ่ง หลังการอำลาวงการธนาคาร 40 ปีของ “บัณฑูร ล่ำซำ” ที่เพิ่งลงจากตำแหน่งประธานกรรมการ เปิดทางผู้บริหารหญิง 2 คน ได้ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนสูงสุดของ “กสิกรไทย” เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา

คนเเรกคือ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทยคนใหม่ที่ก้าวขึ้นมารับตำเเหน่งหลังเป็นกรรมการอิสระมานาน กลับเข้าสู่งานธนาคารอีกครั้ง หลังไปเป็น “รัฐมนตรี” บริหารงานภาครัฐ

กอบกาญจน์ เคยร่วมงานในฐานะกรรมการอิสระมาแล้วในปี 2554 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อพ้นจากตำแหน่งได้กลับมาร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยอีกครั้ง เดือนเมษายน 2561 ในฐานะรองประธานกรรมการและประธานกรรมการอิสระ ควบคู่กับประธานกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ต่อมาเดือนตุลาคม 2561 ได้ทำหน้าที่ประธานกรรมการกากับความเสี่ยงเพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และเป็นที่ปรึกษา หอการค้าไทย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี (สถาปัตยกรรมศาสตร์) Rhode Island School of Design สหรัฐฯ

อีกคนคือ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ลูกหม้อที่งานอยู่กับเเบงก์สีเขียวมายาวนาน ค่อยๆ เลื่อนตำเเหน่งจนขึ้นมาเป็น
“ซีอีโอ” คนเเรกที่ไม่ได้มาจากตระกูล “ล่ำซำ”

เธอเริ่มทำงานกับกสิกรไทยมาตั้งเเต่ปี 2530 สำเร็จการศึกษา ปริญญาโท (บริหารธุรกิจ-การเงินและการลงทุน)
University of Texas at Austin สหรัฐฯ จากการเป็นนักเรียนทุนธนาคารกสิกรไทย หลังจากสำเร็จปริญญาตรี (บริหารธุรกิจ-การตลาด) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ด้านสินเชื่อ ยทธศาสตร์องค์กร การตลาด การเงิน เทคโนโลยีทรัพยากรบุคคล เคยผ่านเหตุการณ์สำคัญมาตั้งแต่ยุค re-engineering ปี 2553 ผ่านวิกฤติการเงิน “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 และ K-Transformationปี 2550

สองผู้บริหารคนใหม่แห่ง KBank ได้เปิดตัวครั้งเเรกเวที HER TALK พูดคุยกับสื่อมวลชนผ่านออนไลน์ ถึงหลักการทำงาน วิสัยทัศน์ ทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรในช่วงโรคระบาด เเละเป้าหมายต่อไปของการเป็นธนาคารเเห่งอาเซียน

กอบกาญจน์ เล่าว่าในฐานะคณะกรรมการ บทบาทสำคัญคือการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล เพื่อให้ธนาคารดำเนินการให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและบริหารความเสี่ยงให้พอเหมาะ โดยสิ่งที่จะทำอย่างแรก คือ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการกับฝ่ายจัดการ ที่ต้องความสัมพันธ์ที่มีอิสระต่อกัน แต่ทำงานร่วมกัน

ภารกิจสำคัญอีกอย่างอย่างการ “หาคนเก่งมาร่วมงาน” โดยจะความสำคัญการสรรหาบุคคลชั้นนำ ที่มีการพัฒนาทักษะ มีความรู้ความสามารถหลากหลาย เเละมิติความหลากหลายทางเพศ เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการธนาคาร เพื่อให้มีส่วนผสมครบทุกมุมมอง

“ปัจจุบันคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยมีสัดส่วนผู้หญิงมากถึง 41% มีจำนวน 7 คน จาก 17 คน เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในระบบธนาคารไทย เรามีกรรมการอิสระถึง 9 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ”

หลังการทำงานในฐานะผู้บริหารธุรกิจมาเกือบ 40 ปี เเละมีโอกาสทำหน้าที่รัฐมนตรีบริหารประเทศ “กอบกาญจน์” มีหลักการทำงานที่ถือปฏิบัติอยู่เสมอ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. สร้างคน ต้องเปิดกว้างให้พนักงานกล้าคิด กล้าคิดนอกกรอบ กล้าทำ ดึงศักยภาพของเขาออกมาให้คน
ทำงานมีเเรงบันดาลใจ

2. ทำให้คนเก่งเหล่านั้นร่วมมือกันในทิศทางเดียวกัน เพราะในบริษัทหนึ่งมีคนเก่งจากหลายมิติ เเต่สิ่งสำคัญคือต้อง “ใจเดียวกัน” มีเป้าหมายเดียวกัน ถึงจะมีพลังขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ฝันที่ตั้งเป้าไว้

3. ผู้นำต้องเข้มแข็ง ต้องมีสติ ต้องมีวินัย ตัดสินใจดี ทำงานบนความถูกต้อง ความเสมอภาค จะทำให้เติบโตต่อไปอย่างมั่นคง

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร (ซ้าย) ขัตติยา อินทรวิชัย (ขวา)

พระอาทิตย์ขึ้นใหม่เสมอ – เรียนรู้ตลอดชีวิต – เท้าต้องติดดิน

ประธานกรรมการกสิกรไทย ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานและกำลังขบคิดว่าทำอย่างไรจะให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขว่า เราต้องมีจุดยืน มีปรัชญาในการดำรงชีวิต ปรัชญาในการทำงาน เพื่อที่ว่าจะได้แน่วแน่ไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้

“การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเรียนจบอะไรมาหรือประสบความสำเร็จในอดีต วันนี้และวันข้างหน้าสำคัญกว่า อะไรที่อยู่ในตำราวันนี้อาจจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญคือเท้าต้องติดดิน รับฟังความเห็นของผู้อื่น เราต้องกล้าที่จะรับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้าง”

ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวเเละมีปัญหารอบด้าน กอบกาญจน์เเนะว่า ต้องเชื่อมั่นในประเทศ เชื่อในจังหวัดที่เราอยู่ เชื่อมั่นในธุรกิจที่ทำ

“เรามักจะมองสนามหญ้าหน้าบ้านคนอื่นเขียวกว่าเรามักคิดว่าธุรกิจเราเป็นประเภทพระอาทิตย์ตกหรือเปล่า เมื่อเราปล่อยให้มันตก ก็จะตกทันที เเต่ถ้าคิดว่าในทุกๆ ที่มีสิ่งดีๆ อยู่ เราจะกล้าหาญสร้างสรรค์ พระอาทิตย์จะขึ้นใหม่เสมอ ในธุรกิจของเรา ในจังหวัดของเรา และในประเทศของเรา”

คำว่า “โชคดี” ไม่มีจริง – ทำงานเเบบมองไปข้างหน้า

คำว่า “โชคดี” ไม่มีจริง แต่มีประโยคหนึ่ง คือ life is what happens when preparation meets opportunity หมายถึง ทุกอย่างเราต้องเตรียมพร้อม เราต้องเตรียมความพร้อมเสมอ ไม่หยุดเรียนรู้ ไม่มีใครแก่เกินเรียน

นี่คือความเชื่อของขัตติยา โดยเธอเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนนี้ได้เริ่มเรียนภาษาจีนเพื่อรองรับกับการเป็นธนาคารในภูมิภาค รวมถึงได้เรียนเรื่อง design thinking ผ่านออนไลน์เพราะเป็นทักษะใหม่ในยุคนี้

“กสิกรไทยเปิดโอกาสให้คนได้แสดงความสามารถ และจะผสมผสานคนแต่ละรุ่น ความเก่งในหลายมุมที่เรียกว่า multi-disciplinary เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่คนเก่งหลากหลายมุมทำงานร่วมกันได้ ให้ประสบการณ์ต่างๆ ผสมผสานกัน สร้างสิ่งดีไปในอนาคต”

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

สำหรับหลักการทำงานของเธอ คือการ “มองไปข้างหน้า” ในฐานะที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอ สิ่งที่ต้องทำคือต้องบริหารเวลาให้ดีขึ้น ทำในสิ่งที่ซีอีโอสามารถทำได้ งานที่เป็นของคนอื่นทำได้ก็ให้คนอื่นทำ จะได้โฟกัสไปยังสิ่งที่สำคัญจริงๆ

“เราต้องเพิ่มอำนาจให้ทีม ต้องเชื่อมั่นในทีมงานของเรา และต้องดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้งานสะดุด”

อีกเรื่องที่ขัตติยา อยากฝากถึงคนวัยทำงาน คือชีวิตเราต้องมี work-life-balance จากประสบการณ์ของตัวเองนั้น
เมื่อทำงานหนัก ต้องหาเวลาพัก ซึ่งการพักของเเต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจเป็นการได้อยู่กับครอบครัว การออกกำลังกาย ในการทำงานเราก็หาความสุข หรือพัฒนาตัวเองได้ด้วย เป็นการเสริมกันเเละกัน ทำให้มีพลังและกลับมาทำงานใหม่ได้

ส่งไม้ต่อ…ช่วงวัดใจ

ด้าน “บัณฑูร ล่ำซำ” ก็ออกมาเปิดใจเช่นกันว่า มั่นใจในการปรับทัพทีมบริหารใหม่ครั้งนี้จะผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ไปได้ โดยช่วงชีวิตต่อไปของเขาจะขอเดินหน้าทำงานด้านสิ่งเเวดล้อมสานต่อโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” เต็มตัวเเละยืนยันไม่มีแนวคิดลงเล่นการเมือง

บัณฑูร มองว่าการส่งไม้ต่อตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดแล้ว ไม่มีเรื่องกังวล เพราะทีมงานเก่งทุกคน

“ตอนนี้เป็นอีกฉากหนึ่งของชีวิต ทำมาเต็มที่แล้ว ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ทำงานแบงก์มา 40 ปี อยากไปทำอย่างอื่นบ้าง
สมควรแก่เวลาในการส่งต่ออย่างดี ตอนนี้ไม่มีความกังวลอะไรเลย แถมยังมีความสุขด้วย เพราะมั่นใจว่าทีมงานเก่งทุกคน จบฉากเดิมอย่างสบายใจ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิต”

บัณฑูรบอกว่าเหตุผลที่เลือก “กอบกาญจน์” นั่งแท่นรักษาการประธานกรรมการ เพราะเป็นคนเก่ง เป็นบุคลากรคุณภาพจากหลายแวดวง มีประสบการณ์ มีมุมมองหลากหลาย เป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ และมีคุณธรรม ทางด้านของ “ขัตติยา” เป็นคนเก่ง ใจดี มีเมตตา เฉียบคมทั้งด้านความรู้ และทางเทคนิค

“ที่ลงจากตำแหน่งในวิกฤตเป็นช่วงเวลาที่ดี แสดงว่าเชื่อมั่นในคณะผู้บริหาร เป็นการทดสอบทีมใหม่ ถ้ารับมือกับสถานการณ์ตอนนี้ได้ ก็สามารถรับมือกับตอนไหนก็ได้ จังหวะนี้จึงดีที่สุด เป็นเวลาของเธอที่จะรับโจทย์ยากๆ และก็โชคดีที่จัดการเรื่องต่างๆ เข้าที่มานานแล้ว ส่งไม้ต่อได้ทันที ทุกระดับมีความพร้อม”

อ่านเพิ่มเติม : เปิดใจ “บัณฑูร ล่ำซำ” ปิดฉาก 40 ปีนายแบงก์กสิกรไทย สู่ฉากชีวิต “รักษ์ป่าน่าน” เต็มตัว

สู้ศึกหนัก วิกฤต COVID-19  

กอบกาญจน์กล่าวว่า ในปีที่ผ่านเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวจากหลายปัจจัย สิ่งสำคัญคือ ดิสรัปชันของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทำให้สะเทือนทุกภาคธุรกิจ

“ธุรกิจของธนาคาร จะต้องปรับตัวอย่างเข้มข้น ธนาคารเองต้องทำตัวให้มีความหมาย ทำให้ผู้บริโภค ซึ่งคือลูกค้าของธนาคารใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ และทำให้ลูกค้าธุรกิจสามารถต่อยอดและขยายธุรกิจต่อไปได้ด้วยมือของเขาเอง”

การระบาดของไวรัสนี้ มีผลกระทบต่อคนทุกชนชั้น คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะอยู่ที่ -5% หากสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ภายในไตรมาสสอง แต่ยังมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ การลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัว 3% รัฐต้องเร่งผลักดันการลงทุนออกมาในปีนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนบอบช้ำพอสมควรน่าจะอยู่ที่ -5%

ในมุมมองของอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กอบกาญจน์มองว่านักท่องเที่ยวจะหายไปเหลือครึ่งหนึ่งราว 17 ล้านคน อาจจะเริ่มกลับมาได้ไตรมาส 3-4 เเละหากพ้นวิกฤตนี้ไปประเทศไทยต้องกลับมาคิดใหม่ เรื่องการเเจ้งเกิดการท่องเที่ยว Health & Wellness เเละ Sport Event ควบคู่ไปกับการส่งเสริม “ไทยเที่ยวไทย”

Photo by Lauren DeCicca/Getty Images

ด้านขัตติยา กล่าวถึงความรู้สึกในการรับตำแหน่งใหม่ในช่วงนี้ว่ามีความท้าทายมาก มีปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจถดถอย ดิสรัปชัน และ COVID-19 ธนาคารจึงต้องดำเนินธุรกิจในหลายมิติ ทั้งต้องพยายามทำให้ผลประกอบการดีเเละต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด รวมถึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้ความยากลำบากนี้เรายังต้องทำให้ระบบการเงินการธนาคารของประเทศฝ่าฟันไปได้

“เป็นความท้าทายที่หนักทีเดียว แต่หากเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งเเล้ว ครั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภาระหนี้ต่างประเทศไม่สูง ไม่มีการเก็งกำไรในหุ้นหรือในอสังหาริมทรัพย์เหมือนในครั้งต้มยำกุ้ง อีกทั้งมาตรการความช่วยเหลือต่างของรัฐมาเร็วกว่าคราวก่อน แต่ครั้งนี้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การเติบโตเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยเติบโตมาระยะหนึ่งแล้ว หนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง เมื่อมาเจอ COVID-19 เหตุการณ์นี้เป็นโจทย์ของทั้งโลก ทุกประเทศ ทุกบริษัท”

“กสิกรไทยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 มากกว่า 16% เราตระหนักว่าเงินกองทุนเป็นสิ่งสำคัญ จึงติดตามอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่อยู่ในระดับที่จัดการได้ เพราะมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และมีทีมงานที่มีการจัดการอย่างดี เเละได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้านสินเชื่อไปแล้ว 115,000 ราย ยอดสินเชื่อ 124,000 ล้านบาท”

ซีอีโอ KBank ย้ำว่าบริษัทไม่มีนโยบายลดพนักงาน ในช่วงการระบาดของ COVID-19 เเละสุขภาพของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ต้องดูแลพนักงาน ซึ่งจะมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อให้พนักงานและลูกค้าที่มาใช้บริการปลอดภัย โดยรวมเชื่อมั่นว่าจะผ่านไปได้

“หลังจากผ่านวิกฤตไปได้ กสิกรไทยจะเป็นธนาคารเเห่งความยั่งยืน ก้าวใหญ่กว่าดิจิทัลเเบงก์กิ้ง โดยจะเน้นขยายไปยังประเทศในอาเซียน ซึ่งกำลังเตรียมลงทุนในอินโดนีเซีย เเละเพิ่มศักยภาพการเติบโตในเมียนมา ลาวเเละกัมพูชา เป็นทิศทางที่เราต้องไป เเม้รายได้ตอนนี้จะยังไม่มากนักเเต่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเติบโตในอนาคต พร้อมกับการลงทุนใน “สตาร์ทอัพ” ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าในยุคดิจิทัล”

 

]]>
1272531