ครีเอเตอร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 28 Nov 2024 13:44:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เมืองแห่งคอนเทนต์! “ไทย” มีครีเอเตอร์เยอะเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองอินโดฯ  https://positioningmag.com/1501198 Thu, 28 Nov 2024 05:57:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1501198 จากข้อมูลของ DAAT (สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) เผยว่า การเติบโตของสื่อโซเชียลมีเดียที่มีการรวมการทำคอนเทนต์และการใช้อินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้นกว่า 3.3% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,686 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ทำให้ คอนเทนต์ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจที่เหล่านักการตลาดและเจ้าของธุรกิจต้องให้ความสนใจและมีการพัฒนาไอเดียทำคอนเทนต์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ปัทมวรรณ สถาพร ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย (GroupM)

“ไทย” มีครีเอเตอร์เยอะเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดฯ 

ปัทมวรรณ สถาพร ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย (GroupM) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคที่พฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับสื่อที่มีความ Authentic หรือสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น การทำคอนเทนต์ผ่านครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์รวมทั้งการใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือต่างๆ มาประกอบคอนเทนต์ กลายเป็นอาวุธสำคัญในการสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากจะเชื่อมโยงการสื่อสารทางการตลาดไปสู่ผู้คนทั่วโลกได้แล้ว ยังสามารถดึงดูดให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ผ่านครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์นั้นๆ ทำให้ต่อยอดไปสู่การสร้างยอดขายได้จริงผ่าน Content Commerce (การทำคอนเทนต์ในเชิงพาณิชย์) ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า 1 ใน 2 หรือคิดเป็น 30% ของผู้บริโภค มักถูกใจและมั่นใจในคอนเทนต์ที่มาจากครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในคอมมูนิตี้หรือเรื่องนั้นๆ เช่น บิวตี้ หรือ เกม มากกว่าคอนเทนต์ที่มาจากแบรนด์โดยตรง

ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนครีเอเตอร์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ชั่วโมงทั่วโลกกว่า 285 คน โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนครีเอเตอร์อยู่เยอะเป็นอันดับ 2 ใน SEA เป็นรองแค่อินโดนีเซียเท่านั้น

เทรนด์คอนเทนต์ปี 2024

WiseSight บริษัทให้บริหารวิเคราะห์ข้อมูล Social Media เผยว่า Theme Content ที่ได้รับความนิยมในปี 2024 มีอยู่ด้วยกัน 6 ประเภท ได้แก่

  • Family & Pet
  • Working & Money 
  • Believe & Mutelu
  • Entertainment (Celeb, Fandom, Music, Game, Sport, การประกวด)
  • Lifestyle (Food, Health, Travel)
  • Social Issue (การเมือง และ ความเท่าเทียม)

นอกจากนั้นยังมีสไตล์ของคอนเทนต์อีก 6 สไตล์ที่ได้รับความนิยมในปี 2024 เช่นกัน อาทิ

  • Meme (มีมตลก)
  • Mentality (จิตวิทยา)
  • Surprise Knowledge (ความรู้ใหม่ๆ ที่น่าประหลาดใจ)
  • Yes, I am (ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมนั้นๆที่เหมือนกันของคน)
  • Game & Challenge 
  • Vlog / Behind The Scene

ครีเอเตอร์เร่งปรับตัว รับพฤติกรรม “ออนดีมานด์”

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป รวมถึงการเสพสื่อความบันเทิงก็มีหลากหลายมากขึ้น ทำให้บริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องเร่งปรับตัว ผลิตคอนเทนต์ออกมาแต่ละชิ้นงานก็ต้องมีความทันสมัยและตอบโจทย์เพื่อมัดใจผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

ณฤทธิ์ ยุวบูรณ์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ “ธี่หยด” กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเป็นพฤติกรรมแบบออนดีมานด์ คือ ต้องการความสะดวกสบาย เข้าถึงง่าย เมื่อพอใจจึงตัดสินใจซื้อและต้องได้ในเวลาอันรวดเร็ว 

ต้องยอมรับว่าส่งผลต่อแวดวงการหนังจอเงินไม่น้อย เพราะเมื่อก่อนเวลาจะดูหนังผู้บริโภคมักจะเดินทางไปที่โรงหนังเพื่อเลือกเวลาฉายและซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังในโรง แต่ปัจจุบันผู้บริโภคจะเลือกดูหนังตามกำหนดการของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแพลตฟอร์มที่จะดู เวลาที่สะดวกดู ไม่ซีเรียสว่าจะดูจบหรือไม่ 

ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคนิยมจ่ายเงินเพื่อซื้อแพ็กเกจเพื่อดูหนังในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้หนังหรือคอนเทนต์ประสบความสำเร็จแล้ว ผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ หรือผลิตหนังสักหนึ่งเรื่องจะต้องมีการรีเสิร์ชข้อมูลเพื่อมากำหนดตีมคอนเซ็ปต์ของหนังให้มีความสมเหตุสมผล มีความเป็นธรรมชาติ ทำยังไงให้ดึงดูดความสนใจของผู้ชม เรื่องโปรดักชั่นก็ต้องดีและการวางแผนการตลาดที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน

“ไทย” เตรียมปั้นคอนเทนต์เทียบชั้นเกาหลีใต้

อภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พฤติกรรมการดูคอนเทนต์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสมาร์ทโฟนที่รูปแบบการดูสตรีมมิ่งได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิงสู่รูปแบบใหม่ที่มีความออนดีมานด์มากขึ้น ซึ่งคลิปสั้นในรูปแบบคอนเทนต์ 1-2 นาที อาทิ มีมข่าว เป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมของคนดูและกำลังได้รับความนิยม

จากปัจจัยดังกล่าว ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ทาง TV ก็ต้องบอกว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้คอนเทนต์ละครที่ผลิตออกมา ตอบโจทย์ผู้บริโภค ที่มีอยู่ทุกกลุ่มทุก GEN 

โดยใช้การเก็บข้อมูลผู้ใช้งานที่บริษัทฯ เห็น เช่น ความถี่และช่วงเวลาในการเข้าชม หรือ คอนเทนต์แนวไหนที่กำลังเป็นที่นิยม เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาแล้วก็นำมาวิเคราะห์และมีการนำเสนอออกไปยังไงให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนดู ให้คนดูหรือผู้บริโภคกลับมาที่แพลตฟอร์มเราอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มให้เลือกเสพมากมายและผู้บริโภคแต่ละคนก็มีแพลตฟอร์มที่ชอบในใจ เช่น บางคนชอบเข้า TikTok บางคนชอบดูผ่านสตรีมมิ่ง เป็นต้น

ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ เน้นผลิตคอนเทนต์แนว Empower Women (หญิงเก่ง หญิงแกร่ง) มากขึ้นเนื่องจากเป็นแนวที่ขับเคลื่อนการเติบโตของแพลตฟอร์ม TV และได้รับความนิยมอย่างมาก หากผู้ผลิตไทยปรับตามดีมานด์และผลิตคอนเทนต์ตอบสนองผู้บริโภคในระดับสากลได้ ก็จะได้ฐานกลุ่มอินเตอร์แฟนจำนวนมาก ผนวกกับมีความร่วมมือภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็จะส่งผลให้ไทยก้าวสู่ประเทศดาวรุ่งต่อจากเกาหลีใต้ได้เลยทีเดียว

คอนเทนต์พากย์ไทยเจาะตลาดสูงวัย ทำซีรีส์จีนโต 27% 

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า WeTV คือ แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งเพื่อความบันเทิงที่มีคอนเทนต์คุณภาพจากทั่วเอเชีย ทั้งซีรีส์ วาไรตี และอนิเมะ ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในแพลตฟอร์มก็เป็นพฤติกรรมแบบออนดีมานด์เช่นกัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคอนเทนต์ในภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งคอนเทนต์จีนมีอัตราการเติบโตสูงกว่า 27% ซึ่งในกลุ่มผู้ใช้งานในเขตเมืองรองนั้นมีอัตราการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุจะมีจะนิยมคอนเทนต์พากย์ไทยของทางแพลตฟอร์มกันเป็นส่วนมาก ทำให้ WeTV มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

WeTV มีทั้งการเลือกนำซีรีส์จีนเข้ามาฉายบนแพลตฟอร์ม และผลิตคอนเทนต์ซีรีส์ไทยส่งออกต่างประเทศเช่นกัน สิ่งสำคัญคือการทำให้แพลตฟอร์มมีความสดใหม่อยู่ตลอดเวลา และการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคก็สำคัญ 

การส่งออกซีรีส์ไทย ทางแพลตฟอร์มก็มีเกณฑ์ในการคัดเลือกที่ค่อนข้างเยอะ แต่ปัจจัยหลักคือการเลือกนวนิยายที่ได้รับความนิยมและมีฐานแฟนคลับอยู่แล้วมาต่อยอดผลิตเป็นซีรีส์ เป็นต้น

ส่วนซีรีส์จีนที่ฉายบน WeTV มีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นแพลตฟอร์มในเครือของบริษัท เทนเซ็นต์ ที่เป็นบริษัทไอทีของจีนที่ทำธุรกิจด้านความบันเทิงด้วย  ซึ่งใน 1 ปี บริษัทฯ มีการผลิตซีรีส์จีนกว่า 80 เรื่อง ทำให้สามารถเลือกนำ  ซีรีส์เข้ามาฉายบนแพลตฟอร์มได้หลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นคอนเทนต์ที่ย่อยง่าย 

เช่น เรื่องเกี่ยวกับความรัก ตลก หรือคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทั้งทางเพศและความคิดสร้างสรรค์ ก็กำลังเป็นที่นิยมมากในแพลตฟอร์ม ฉีกกรอบการดูซีรีส์จีนแบบเดิมๆ ที่เมื่อก่อน มักจะเป็นแนวต่อสู้กำลังภายในเสียส่วนใหญ่ 

]]>
1501198
CLOVER ENTERTAINMENT เอเจนซี่จากเกาหลีใต้บุกไทย รุกตลาดอินฟลูฯ เชี่ยวชาญด้าน TikTok Live https://positioningmag.com/1496458 Wed, 30 Oct 2024 09:18:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1496458 THE CLOVER UNIVERSE ENTERTAINMENT หรือ CLOVER ENTERTAINMENT เอเจนซี่ผู้พัฒนาครีเอเตอร์อันดับ 1 จากเกาหลีใต้ ประกาศเดินหน้าบุกตลาดโลก ปักหมุดประเทศไทยเป็นแห่งแรก นำทัพครีเอเตอร์ระดับท็อป ความเชี่ยวชาญด้าน TikTok Live และการตลาดดิจิทัลครบวงจร พร้อมมุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างครีเอเตอร์และแบรนด์ธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อสร้างความสำเร็จและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ปาร์ค อิลซอ CEO THE CLOVER UNIVERSE ENTERTAINMENT กล่าวว่า

ตลาดอินฟลูเอนเซอร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยมีมูลค่าถึง 21.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 คาดว่าจะสูงถึง 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 และยังมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มถึง 199.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2575 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 28.6% ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ทรงพลังและได้รับความนิยมไปทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่อินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยมูลค่าที่คาดว่าจะสูงถึง 68.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากฐานผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นิยมเสพคอนเทนต์ออนไลน์และติดตามครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ตนชื่นชอบ และมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการตามคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์

แบรนด์ต่าง ๆ จึงหันมาใช้กลยุทธ์นี้ทำการตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มที่กำลังมาแรงอย่าง TikTok Live ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อกับอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์ได้แบบเรียลไทม์กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ Clover Entertainment เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ Clover Entertainment ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งอันดับ 1 จากเกาหลีใต้และมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปสู่ระดับโลก ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางการตลาดในประเทศไทยอีกทั้งยังเป็นประเทศที่เปิดรับวัฒนธรรม K-POP อย่างแพร่หลาย และเป็นพันธมิตรที่ดีของเกาหลีใต้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่ไทยจะเป็นประเทศแรกสำหรับการขยายธุรกิจไปสู่ระดับโลก

“Clover Entertainment เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง โดยเฉพาะการพัฒนาครีเอเตอร์สำหรับ TikTok Live เรามีประสบการณ์ในการคัดสรรและช่วยผลักดันครีเอเตอร์ให้เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในแง่ของการเพิ่มยอดผู้ติดตาม ยอดวิว และยอดขาย มีเครือข่ายครีเอเตอร์ระดับแถวหน้ามากกว่า 1,500 คน ในจำนวนนี้ติดอันดับท็อป 100 ของโลกถึง 64 คน โดยท็อป 3 ของครีเอเตอร์ระดับโลกมาจาก Clover และครีเอเตอร์อันดับ 1 ของโลก ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็มาจาก Clover เช่นกัน ตัวอย่าง ครีเอเตอร์ชื่อดังระดับโลกในเครือข่ายของเรา เช่น คูฮยอนโฮ (Ku Hyunho) ชเวซีวอน (Choi Siwon) อีอินฮวา (Lee Inhwa) อีอินจู (Lee Inju) รวมถึง อีชียอง (Lee Si-Young) ผู้ได้รับฉายาว่าไอคอนแห่ง TikTok เกาหลี

นอกจากนี้ เรายังมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง Kiwe Lab ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเนื้อหาขนาดสั้น (short-form content) และการตลาดดิจิทัล ทำให้ Clover Entertainment สามารถกำหนดกลยุทธ์การตลาดที่แม่นยำ สร้างคอนเทนต์ที่โดดเด่น เป็นไวรัล สร้างสรรค์แคมเปญการตลาดที่เหมาะกับคาแรกเตอร์ของอินฟลูเอนเซอร์ ตอบโจทย์แบรนด์ โดนใจกลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มยอดขายได้อย่างรวดเร็ว ด้วยจุดแข็งเหล่านี้ทำให้เราเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเติบโตถึง 300% ในปี 2566 และ 400% ในครึ่งปีแรกของปี 2567 ครองส่วนแบ่งตลาดในด้าน TikTok Live Commerce อันดับ 1 ในเกาหลีใต้ และเติบโตเร็วที่สุดในโลกในธุรกิจประเภทเดียวกัน

THE CLOVER UNIVERSE ENTERTAINMENT เป็นเอเจนซี่อันดับ 1 จากเกาหลีใต้ที่เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลครบวงจร ตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์ การวางแผนการตลาด การสร้างสรรค์คอนเทนต์ การจัดทำแคมเปญ การผลิตไปจนถึงการโปรโมต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาครีเอเตอร์สำหรับแพลตฟอร์ม TikTok Live โดยมีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ครีเอเตอร์และแบรนด์เติบโตไปพร้อมกันตามแนวคิด “Our success is shared by all”

THE CLOVER UNIVERSE ENTERTAINMENT ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2564 และหลังจากเปิดบริการ TikTok Live เพียงไม่นาน บริษัทก็สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 300% ในปี 2566 และ 400% ในครึ่งแรกของปี 2567 ถือเป็นผู้นำในตลาดอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งระดับโลก มีเครือข่ายครีเอเตอร์ระดับแถวหน้ากว่า 1,500 คน และในจำนวนนี้ติดอันดับท็อป 100 ของโลกถึง 64 คน ครองส่วนแบ่งตลาดในด้าน TikTok Live Commerce อันดับ 1 ในเกาหลีใต้ และเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในธุรกิจประเภทเดียวกัน

จากความสำเร็จที่ผ่านมา Clover Entertainment จึงมีแผนขยายธุรกิจไปสู่ระดับโลก โดยเริ่มจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรก เนื่องจาก Clover เล็งเห็นศักยภาพและโอกาสทางการตลาดในประเทศไทย

]]>
1496458
เจ้าของ “OnlyFans” รับปันผลอู้ฟู่กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท หลังแพลตฟอร์มทำรายได้พุ่ง 20% https://positioningmag.com/1489645 Wed, 11 Sep 2024 11:06:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1489645 รวยต่อเนื่อง! เจ้าของแพลตฟอร์ม “OnlyFans” รับเงินปันผลปีเดียวทะลุ 1.5 หมื่นล้านบาท หลังจากผลประกอบการบริษัทเมื่อปีที่ผ่านมาเติบโตดี จำนวนครีเอเตอร์และฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้น 30% รายได้พุ่ง 20%

บริษัท “Fenix International” บริษัทแม่ของแพลตฟอร์ม “OnlyFans” ประกาศผลประกอบการและการจ่ายเงินปันผลของบริษัทต่อสาธารณะไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2024

โดย “ลีโอนิด รัดวินสกี้” นักธุรกิจชาวยูเครน-อเมริกันวัย 42 ปี ผู้เป็นเจ้าของบริษัทคนปัจจุบัน ได้รับเงินปันผลอู้ฟู่ไปที่ 472 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และนับตั้งแต่ปี 2020 ที่บริษัทเริ่มจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น รัดวินสกี้ได้รับเงินจากบริษัทสะสมไปแล้วเกือบ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 4.3 หมื่นล้านบาท

OnlyFans เป็นแพลตฟอร์มแหล่งรวมครีเอเตอร์สาย “18+” ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในนาทีนี้ วัดได้จากผลประกอบการของบริษัทรอบปีบัญชีสิ้นสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 พบว่า บริษัททำรายได้ไป 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 20% จากรอบปีบัญชีก่อนหน้า

ส่วนจำนวนบัญชีกลุ่มครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 4 ล้านคน ขณะที่บัญชีกลุ่มแฟนคลับเพิ่มขึ้นเป็น 305 ล้านคน ทั้งสองกลุ่มบัญชีเติบโตขึ้น 30% ใกล้เคียงกัน

“เคียลีย์ แบลร์” ซีอีโอของ OnlyFans กล่าวว่า “ปี 2023 เป็นปีที่แข็งแกร่งของบริษัท เราได้ยึดหัวหาดการเป็นบริษัทบันเทิงดิจิทัลชั้นนำและเป็นความสำเร็จในกลุ่มบริษัทเทคในสหราชอาณาจักร เราทำได้สำเร็จก็เพราะเราเปิดโอกาสให้ชุมชนครีเอเตอร์ที่หลากหลายได้เข้ามาสร้างรายได้จากคอนเทนต์ของพวกเขาและสร้างฐานแฟนได้ในระดับโลก เห็นหลักฐานได้จากการเติบโตของจำนวนครีเอเตอร์ ฐานแฟนคลับ และรายได้”

OnlyFans แบ่งรายได้จากยอดสมัครสมาชิกให้กับครีเอเตอร์ 80% ส่วนอีก 20% จะเป็นรายได้ของแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม ครีเอเตอร์สามารถทำเงินเพิ่มได้อีกจากการรับ “ทิป” และการสร้างคอนเทนต์พิเศษที่ต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อรับชมเป็นครั้งๆ (pay-per-view) ซึ่งทำให้ปัจจุบันรายได้หลักบนแพลตฟอร์มที่จริงแล้วมาจากแฟนๆ ที่ไม่ได้สมัครสมาชิกเหล่านี้

ทั้งนี้ ถ้าวัดเม็ดเงินที่แฟนๆ สมัครสมาชิกและ “เปย์” ให้กับครีเอเตอร์คนโปรดบน OnlyFans ปีที่แล้วปีเดียวมีเม็ดเงินหมุนเวียนผ่านแพลตฟอร์มนี้ถึง 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.21 แสนล้านบาท!

OnlyFans เป็นเทคสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งขึ้นในอังกฤษเมื่อปี 2016 โดย “ทิม สโต๊คลีย์” ผู้ประกอบการอังกฤษวัย 33 ปี (ณ ขณะนั้น) ร่วมกับคุณพ่อที่เป็นอดีตนายแบงก์คือ “กาย สโต๊คลีย์” ก่อตั้งแพลตฟอร์มรวมครีเอเตอร์แห่งนี้ขึ้น จากนั้นคู่พ่อลูกสโต๊คลีย์ได้ขายบริษัทให้กับรัดวินสกี้ไปในปี 2018 โดยไม่เปิดเผยมูลค่าซื้อขาย

แพลตฟอร์ม OnlyFans มาบูมสุดขีดในช่วงโรคระบาดโควิด-19 และส่งให้บริษัทนี้เป็นหนึ่งในเทคสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จสูงสุดบนเกาะอังกฤษ พร้อมจ่ายภาษีให้กับกระทรวงการคลังของอังกฤษไป 149 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5 พันล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว

Source

]]>
1489645
มาแล้ว! “Meta Verified” ในไทยเคาะราคาเริ่ม 280 บาท/เดือน ฟีเจอร์ยืนยันตัวตนให้ “ครีเอเตอร์” https://positioningmag.com/1437672 Thu, 13 Jul 2023 06:08:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1437672 “Meta Verified” เข้าไทยแล้ว เปิดราคาเริ่มต้นเดือนละ 280 บาท ฟีเจอร์ใหม่สำหรับ “ครีเอเตอร์” ใช้ยืนยันตัวตนจริงใน Facebook หรือ Instagram ป้องกันบัญชีแอบอ้างลอกเลียนแบบ

หลังจาก Meta เริ่มเปิดตัว “Meta Verified” ในสหรัฐอเมริกาไปเมื่อเดือนมีนาคม 2023 ตามด้วยอีกหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อินเดีย ล่าสุดฟีเจอร์นี้เริ่มเปิดให้ใช้งานในไทยแล้วเช่นเดียวกัน

โดยข่าวประชาสัมพันธ์จาก Meta สรุปราคา Meta Verified ในไทย ราคาอยู่ที่ 280 บาทต่อเดือนเมื่อสมัครผ่านเว็บไซต์ และ 330 บาทต่อเดือนเมื่อสมัครผ่านมือถือระบบ iOS หรือ Android

ทั้งนี้ เป็นราคาสำหรับต่อหนึ่งแอปฯ หากต้องการสมัคร Verified ทั้ง Facebook และ Instagram จะต้องจ่าย 2 ครั้ง

ฟีเจอร์นี้จะได้สิทธิต่างๆ ดังนี้

  • เครื่องหมาย Verified ในบัญชี Facebook หรือ Instagram ของครีเอเตอร์ เพื่อยืนยันว่ามีตัวตนจริงและเป็นตัวจริง
  • ช่วยตรวจสอบบัญชีในเชิงรุก เพื่อป้องกันบัญชีอื่นที่มาสวมรอยแอบอ้างตัวตน
  • สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรงหากเกิดปัญหากับบัญชี
  • ฟีเจอร์พิเศษอื่นๆ เช่น สติ๊กเกอร์พิเศษ สำหรับใช้ใน Facebook/Instagram/Reels

ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานว่าผู้สมัคร Verified จะได้รับการดันยอด Reach มากเป็นพิเศษจากการเพิ่มอัตราการแสดงเป็นโพสต์แนะนำ (suggested post) และขึ้นมาอยู่ลำดับบนเมื่อผู้ใช้กด search หาข้อมูล อย่างไรก็ตาม ในข่าวประชาสัมพันธ์ของประเทศไทยไม่ได้ระบุไว้ว่าจะได้สิทธิดังกล่าว

 

ใครสมัครได้บ้าง? พิสูจน์ตัวตนอย่างไร?

สำหรับครีเอเตอร์หรือบุคคลที่ต้องการสมัคร เพียงแค่เป็นบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไปก็สามารถสมัครได้ (ไม่มีขั้นต่ำยอดฟอลโลเวอร์) ทั้งนี้ บัญชีธุรกิจขณะนี้ยังไม่เปิดให้สมัคร Verified

ขั้นตอนการสมัครใช้เพียง “บัตรประชาชน” ที่มีชื่อสกุลและภาพถ่ายตรงกับชื่อบัญชี Facebook หรือ Instagram ที่จะยืนยันตัวตน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ ในบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจจะร้องขอให้เจ้าของบัญชีถ่ายวิดีโอเซลฟี่เพื่อพิสูจน์ตัวตนอีกชั้นหนึ่ง (ดูขั้นตอนสมัครอย่างละเอียดที่นี่)

หลังจากสมัคร Verified ผ่านแล้ว ระบบจะไม่อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อโปรไฟล์และวันเดือนปีเกิด ยกเว้นยกเลิกการสมัคร ทำการเปลี่ยนชื่อหรือวันเดือนปีเกิด แล้วสมัครใหม่อีกครั้ง

 

คาดมีผู้ใช้ 12 ล้านรายภายในปี 2024

ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์จาก Bank of America เคยคาดการณ์ไว้ว่า Meta Verified จะมีผู้สมัครราว 12 ล้านรายทั่วโลกภายในปี 2024 ซึ่งจะทำให้ Meta รับรายได้เพิ่มถึง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์นี้มองในฐานคิดว่าผู้ที่จะยอมเสียค่าสมาชิกรายเดือนหลักๆ จะเป็นเพจของแบรนด์หรือบริษัทต่างๆ มากกว่าครีเอเตอร์ และต้องการฟีเจอร์ประเภทช่วยดันยอด Reach มากกว่าการป้องกันการแอบอ้าง แต่เมื่อปัจจุบัน Meta ยังไม่ได้เปิดให้นิติบุคคลรับ Verified และไม่เปิดเผยชัดเจนว่าผู้สมัครจะได้ยอด Reach เพิ่มหรือไม่ ก็ต้องติดตามต่อว่า Meta จะได้รายได้สูงอย่างที่คาดหรือเปล่า

Meta ไม่ใช่บริษัทเดียวที่มีบริการสมัครสมาชิกลักษณะนี้ โซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น Snapchat ก็มีบริการ Snapchat+ โดยบริษัทเคยระบุไว้เมื่อต้นปีนี้ว่ามียอดสมาชิกทะลุ 2 ล้านแล้ว ส่วน Twitter ก็เพิ่งเปิด Twitter Blue ซึ่งมีนักวิเคราะห์เคยประเมินไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า มีผู้สมัครสมาชิกแล้วประมาณ 475,000 คน

]]>
1437672
ตลาดกล้องยังไม่ตาย! ‘แคนนอน’ ชี้ ‘ครีเอเตอร์’ คือน่านน้ำใหม่ พร้อมวางเป้าเติบโต 20% https://positioningmag.com/1425989 Mon, 03 Apr 2023 06:12:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1425989 ย้อนกลับไปปี 2019 ก่อนที่โลกจะเจอกับการระบาดของ COVID-19 ตลาด กล้อง มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6,500 ล้านบาท มียอดขายประมาณ 230,000 เครื่อง แต่ในปี 2022 ที่ผ่านมา มูลค่าของตลาดก็ลดลงเหลือเพียง 3,000 ล้านบาท มียอดขายประมาณ 95,000 เครื่องเท่านั้น แต่ แคนนอน (Canon) ก็ยังเชื่อว่า ตลาดยังไม่ตาย และน่านน้ำใหม่ก็คือ ครีเอเตอร์

ตลาดยังไม่ตายแต่ไม่โต

ตลาดกล้อง ถือเป็นอีกตลาดที่ถือเป็นช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่การมาของสมาร์ทโฟนที่ประสิทธิภาพของกล้องนับวันจะดีมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อภาคการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นอีกปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดยังหายไปนับตั้งแต่ที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าตลาดกล้องจะหายไปเกินครึ่ง อย่างไรก็ตาม เนตรนรินทร์ จันทร์จรัสสุข ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์อิมเมจจิ้งอินฟอร์เมชั่น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เชื่อว่า ตลาดคงไม่ตกต่ำไปกว่านี้แล้ว

โดยสิ่งที่ช่วยพยุงตลาดในตอนนี้ก็คือ กล้อง Full Frame โดยในปีที่ผ่านมาเป็นกลุ่มเดียวที่ยังเติบโตได้ถึง 11% ขณะที่ปี 2023 ทาง GFK คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 6% นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่กลับมาเติบโตก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดยังคงประคองตัวได้ เพราะกล้องเป็นสินค้าแรก ๆ ที่คนอยากอัปเกรดเมื่อจะไปท่องเที่ยว

“ตลาดมันลดมานานจนถึงจุดที่มันนิ่งเเล้ว อย่างกล้องคอมแพคก็ถูกแทนที่โดยมือถือ ส่วนกล้อง DSLR คนก็อัปเกรดไปใช้ Full Frame ทำให้มูลค่าตลาดตกน้อยกว่าจำนวน เพราะมีราคาสูงกว่า แต่แม้ตลาด Full Frame ยังเติบโตได้ แต่คงจะโคเวอร์ตลาดไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น ตลาดกล้องปีนี้เราคาดว่าตลาดยังทรงตัว”

ครีเอเตอร์ น่านน้ำใหม่ของตลาด

ด้วยการเติบโตของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะเห็นว่ามี อินฟลูเอนเซอร์ หรือ ครีเอเตอร์ หน้าใหม่เกิดขึ้นมาทุกวัน ซึ่งแคนนอนมองว่าครีเอเตอร์เป็น บลูโอเชี่ยน ของตลาดกล้อง ซึ่งแคนนอนก็ต้องการจะเจาะกลุ่มครีเอเตอร์ที่ต้องการ อัปเกรดจากสมาร์ทโฟนมาใช้งานกล้อง เพราะถึงแม้ว่าการใช้สมาร์ทโฟนจะสะดวกแต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง

โดย เนตรนรินทร์ มองว่า เห็นเทรนด์การเติบโตของครีเอเตอร์ตั้งแต่ก่อนโควิด ที่คนไทยเปลี่ยนจากแค่ถ่ายรูปมาเป็นถ่ายคลิป จนนำไปสู่การแชร์และเกิดเป็นการสร้างรายได้

“แน่นอนว่ากล้องมือถือมันสะดวก แต่ลูกค้าที่ซื้อกล้องเพราะฟีเจอร์มันตอบโจทย์สิ่งที่มือถือไม่มี โดยเราเชื่อว่ามีไม่น้อยกว่า 30% ของครีเอเตอร์ที่ใช้สมาร์ทโฟนทำคอนเทนต์เป็นหลัก และสำหรับคนที่เริ่มสร้างรายได้จากคอนเทนต์ได้ เขาก็อยากจะอัปเกรดอุปกรณ์เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มคุณภาพของคอนเทนต์”

ส่งกล้อง 2 รุ่นใหม่จับตลาดเอนทรี่-มิดไฮ

ล่าสุด แคนนอนได้เปิดตัวกล้อง 2 รุ่น ได้แก่ EOS R8 และ EOS R50 สำหรับจับกลุ่มครีเอเตอร์ พร้อมออกแคมเปญ You ‘R Creator ใช้งบการตลาดที่ 50 ล้านบาท

โดย EOS R8 เป็นกล้อง Mirrorless Full Frame เน้นการใช้งานมืออาชีพ บันทึกวิดีโอคุณ 4K 60P ได้แบบไม่ครอป มีฟังก์ชัน Auto Focus detect only ช่วยให้ภาพวิดีโอดูเนียนตา โฟกัสไม่หลุดแม้เดินเข้า-ออกจากเฟรมภาพ โดยราคากล้องเปล่าอยู่ที่ 56,590 บาท และพร้อมเลนส์ RF24-50mm f/4.5-6.3 IS STM ที่ 64,790 บาท

ส่วน EOS R50 จะจับตลาดครีเอเตอร์กลุ่มเริ่มต้นที่อยากอัปเกรดจากการใช้สมาร์ทโฟนถ่ายคอนเทนต์มาเป็นกล้อง เหมาะสำหรับทำ Live Streaming Blogger และ Vlogger โดยสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อไลฟ์ได้โดยไม่ต้องลงแอปพลิเคชัน, ใช้ทัชสกรีนหาจุดโฟกัส เป็นต้น โดยราคาจะเริ่มต้นที่ 28,990 บาท มีสีขาวและดำ

“ราคาสินค้าที่ขายดีจะอยู่ประมาณ 30,000-90,000 บาท ดังนั้น ตัวเริ่มต้นราคาประมาณ 2 หมื่นไม่เกิน 3 หมื่น เรามองว่าเป็นราคาที่ลูกค้ามีกำลังจ่ายได้”

วางยอดขายโต 20%

สำหรับยอดขายทั้ง 2 รุ่นใหม่ แคนนอนวางไว้ที่ 6,000 เครื่อง พร้อมวางเป้ายอดขายทั้งปี เติบโต 20% ปัจจุบัน รายได้จากกล้องคิดเป็นประมาณ 25% ของรายได้รวม หรือราว 800 ล้านบาท

“เราจะไม่ทำสงครามราคา เพราะมองว่าไม่ยั่งยืน อย่างในตลาดตอนนี่้เทียบคู่แข่งเราไม่ได้ถูกกว่า แต่มั่นใจว่าคุ้มค่าการจ่าย โดยรุ่น EOS R50 เราต้องการจะไปแทนที่การใช้สมาร์ทโฟน เพราะเรามองว่ามันยังมีข้อจำกัด เราเลยทำฟีเจอร์ที่แทนที่ข้อจำกัดของการใช้กล้องสมาร์ทโฟน ส่วน EOS R8 จะมาเพื่อรักษาความแข็งแรงของกลุ่ม Full Frame” เนตรนรินทร์ ทิ้งท้าย

]]>
1425989
นิตยสาร “Playboy” คัมแบ็ก! พร้อมเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับ “ครีเอเตอร์” สายเซ็กซี่ https://positioningmag.com/1423830 Sat, 18 Mar 2023 06:19:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1423830 หลังปิดตัวไป 3 ปี ในที่สุดนิตยสารวาบหวิวในตำนานอย่าง “Playboy” กลับคืนสังเวียนแล้วในรูปแบบดิจิทัล พร้อมเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับ “ครีเอเตอร์” สายเซ็กซี่ สามารถเก็บค่าสมาชิกรายเดือนได้คล้ายคลึงกับ OnlyFans แต่มีลิมิตไม่ให้ลงคอนเทนต์หนังโป๊อนาจาร

Playboy (เพลย์บอย) ยกเลิกการผลิตนิตยสารหลังฉบับสุดท้ายออกมาในเดือนมีนาคม 2020 ถือเป็นช่วงครบรอบ 70 ปีหลังเปิดตัวครั้งแรก แต่วันนี้นิตยสาร Playboy กลับมาอีกครั้งในรูปแบบดิจิทัล โดยมี “Amanda Cerny” นางแบบ นักแสดง และบันนี่ของ Playboy ขึ้นปกในธีม “บันนี่แพลตตินัม” แห่งโลกอนาคต และถ่ายโดยช่างภาพดัง Charlotte Rutherford

ทีเซอร์ปกใหม่ Playboy ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนฉบับเต็มจะออกมาทั้งหมดภายในปีนี้

Playboy
ปกใหม่ Playboy หลังกลับมาอีกครั้งในรอบ 3 ปี

การกลับมาของนิตยสารไม่ได้มาเปล่าๆ แต่มีลูกเล่นคือ ในนิตยสารจะมีภาพที่คัดมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ถ้าใครต้องการดูภาพเบื้องหลังการถ่ายทำหรือภาพที่เอ็กซ์คลูซีฟมากขึ้น จะต้องเข้าไปสมัครสมาชิกในช่องของครีเอเตอร์แต่ละรายใน Playboy.com แพลตฟอร์มใหม่สำหรับครีเอเตอร์สายเซ็กซี่

อย่างไรก็ตาม โฆษกของ Playboy ระบุว่าแพลตฟอร์มนี้จะไม่เหมือน OnlyFans แพลตฟอร์มสายหวิวที่กำลังโด่งดังขณะนี้ เพราะครีเอเตอร์ส่วนใหญ่ที่ชักชวนมาทำคอนเทนต์จะไม่ทำคอนเทนต์ถึงระดับโป๊เปลือยสุดทาง “เราอนุญาตให้มีภาพเปลือยได้ แต่ไม่อนุญาตคอนเทนต์โป๊อนาจาร” โฆษกของบริษัทกล่าว “เราไม่ได้กำหนดตำแหน่งทางการตลาดของเราว่าเป็นแพลตฟอร์ม ‘สำหรับผู้ใหญ่’ แต่จะเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน รวมถึงครีเอเตอร์กระแสหลักก็มาทำคอนเทนต์กับเราได้”

สำหรับแพลตฟอร์มสำหรับครีเอเตอร์ในสไตล์ Playboy เริ่มเปิดตัวมาตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2022

Playboy นิตยสาร
ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์ม Playboy โดยต้องชำระค่าสมาชิกเพื่อชมคอนเทนต์

“ตั้งแต่เราเริ่มเปิดตัวแพลตฟอร์มระดับพรีเมียม Playboy เริ่มมีการลงเรื่องราวส่วนตัวที่เขียนโดยครีเอเตอร์เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา และพูดถึงความภูมิใจที่ได้มาอยู่ใน Playboy”

ยกตัวอย่าง Cerny ที่ได้กลับมาขึ้นปกอีกครั้ง เธอเป็นบันนี่หรือ Playmate มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2011 และตั้งแต่มีแพลตฟอร์มใหม่ เธอสร้างรายได้กับบริษัทไปแล้ว 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ครีเอเตอร์ของ Playboy คือคนที่สามารถโอบรับความคิดสร้างสรรค์ การแสดงออกทางเพศ และแสดงตัวตนของตัวเองได้อย่างอิสระและไม่เกรงคำวิจารณ์” Cerny กล่าว “ฉันแทบรอไม่ไหวที่จะแบ่งปันการเดินทางของฉันกับภาพเบื้องหลังการถ่ายทำสุดเอ็กซ์คลูซีฟกับแฟนๆ ในช่องของ Playboy”

“เราจะมุ่งเน้นการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับครีเอเตอร์ที่ปลอดภัยที่สุดและสามารถสร้างรายได้อย่างงามที่สุดในโลกให้พวกเขา” Rachel Webber ประธานเจ้าหน้าที่ด้านแบรนด์ของ Playboy กล่าว

เธอเสริมด้วยว่า ครีเอเตอร์วัย Gen Z ที่เกิดมากับ TikTok มองว่าแบรนด์ Playboy คือสัญลักษณ์ของความหรูหราชั้นสูงในพื้นที่แพลตฟอร์มที่ต้องชำระเงินเข้าชม “พวกเขาต้องการแพลตฟอร์มที่ไม่ต้องถูกขับเคลื่อนด้วยการลงโฆษณา ไม่มีข้อจำกัดในการทำคอนเทนต์ และเป็นที่ที่ถูกนำเสนอด้วยแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจที่พวกเขาอยากจะทำงานด้วย”

เมื่อปี 2011 คุณปู่ “Hugh Hefnerผู้ก่อตั้งนิตยสาร Playboy นำบริษัท PLBY Group ออกจากตลาดหลักทรัพย์หลังอยู่ในตลาดมานานถึง 40 ปี โดยมีผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ในบริษัทคือไพรเวทอิควิตี้ Rizvi Traverse

หลังจากนั้นปู่ Hefner เสียชีวิตไปในปี 2017 และมีการนำ PLBY Group กลับเข้าตลาดอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021

Source

]]>
1423830
คุยกับ ‘ไลน์ สติกเกอร์’ กับโจทย์ใหญ่จะ ‘ขาย’ อย่างไรในวันที่คน “ไม่อยากมีสติกเกอร์เพิ่ม” https://positioningmag.com/1422669 Sat, 11 Mar 2023 06:10:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1422669 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด ‘ไลน์ สติ๊กเกอร์’ (LINE STICKERS) ที่ถือเป็น 1 ใน 3 ธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับ ไลน์ (LINE) ซึ่งกำลังอยู่ในช่วง อิ่มตัว แต่พอทุกคนต้องอยู่บ้านเพราะการระบาด การเติบโตของสติ๊กเกอร์ก็พุ่งขึ้นอีกครั้ง และในช่วงที่การระบาดกลับสู่ภาวะปกติ โจทย์เรื่องอิ่มตัวของสติ๊กเกอร์ก็กลับมาอีกครั้งหรือไม่ บี อิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ LINE STICKERS, LINE ประเทศไทย จะมาให้คำตอบ

ผู้ใช้ไลน์มีสติ๊กเกอร์เฉลี่ย 120 ชุด/คน

ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม ไลน์ ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้สูงถึง 53 ล้านราย และสิ่งที่ผู้ใช้งานไลน์ทุกคนต้องมีก็คือ สติ๊กเกอร์ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกซื้อกว่า 5.8 ล้านชุด โดยในอดีตนั้นผู้ใช้งานไลน์มีสติ๊กเกอร์ในมือเฉลี่ยเพียง 40 ชุด/คน แต่ปัจจุบันได้เติบโตขึ้นเป็น 120 ชุด/คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นสติ๊กเกอร์ที่ ซื้อเอง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 ธุรกิจสติ๊กเกอร์ของไลน์ก็เริ่มถึงจุด อิ่มตัว แต่เมื่อทั่วโลกเจอการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคต้องอาศัยอยู่แต่บ้านทำให้ยอดขายสติ๊กเกอร์เติบโตสูงขึ้นกว่า 20% โดยเฉพาะการสติ๊กเกอร์ที่ จิกกัดสถานการณ์ของโควิด เพราะผู้บริโภคใช้สติ๊กเกอร์เป็นตัวสื่อถึงความรู้สึก

“พอคนอยู่บ้านเยอะ ๆ ไม่มีอะไรทำ เขาก็จะส่งสติ๊กเกอร์บอกความรู้สึกเพราะไม่มีเรื่องจะคุยกัน ดังนั้น แอคชั่นที่ส่งกันเยอะ ๆ ช่วงโควิดจะไม่ใช่สติ๊กเกอร์ที่เป็นคำพูด แต่เป็นสติ๊กเกอร์ที่สื่อถึงความรู้สึก” อิสรี อธิบาย

อิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ LINE STICKERS, LINE ประเทศไทย

ภาวะอิ่มตัวกลับมาอีกครั้ง

แม้ว่าจุดอิ่มตัวกำลังมา แต่โควิดก็ทำให้สติ๊กเกอร์กลับมาเติบโตอีกครั้ง และเมื่อการระบาดของโควิดกลายเป็นเรื่องปกติ ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จุดอิ่มตัวของสติ๊กเกอร์ก็กลับมาอีกครั้ง และมาในจุดที่ ผู้บริโภคไม่อยากจะมีสติ๊กเกอร์เพิ่ม เพราะซื้อไปเยอะแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดแค่กับประเทศไทย แต่เป็นทั้งในญี่ปุ่นและไต้หวัน

“ความยากของสติ๊กเกอร์ตอนนี้คือ ช่วงโควิดเขาซื้อไปเยอะมาก เหมือนตอนนั้นเขามีความสุขที่ได้กดซื้อ มันเลยกลายเป็นว่า เขารู้สึกว่าสติ๊กเกอร์เยอะแล้ว การจะซื้อเพิ่มมันเลยยากขึ้น”

นอกจากผู้บริโภคจะไม่อยากซื้อ แต่สติ๊กเกอร์ก็ยัง ไม่หลากหลาย แม้ครีเอเตอร์ในระบบจะเพิ่มขึ้นจาก 5 แสนราย กลายเป็น 1 ล้านราย ก็ตาม เนื่องจากคอนเทนต์ถูกจำกัดอยู่กับแค่ไม่กี่เรื่อง เพราะคนส่วนใหญ่อยู่แต่บ้านไม่ได้ใช้ชีวิตจริง ๆ ทำให้แนวทางของคอนเทนต์ออกมาคล้ายกันไปหมด แต่ตอนนี้ต้องพยายามทำคอนเทนต์ให้หลากหลายขึ้น

ดังนั้น โจทย์ของทีมไลน์ สติ๊กเกอร์คือ ต้องทำให้ สติ๊กเกอร์ใหม่รู้สึกว่าน่าใช้กว่าสติ๊กเกอร์เก่า ซึ่งก็คือการ โฟกัสที่ คุณภาพ หรือก็คือสติ๊กเกอร์ที่สามารถ ใช้ได้ง่าย สื่ออารมณ์ได้ชัดเจน ไม่ใช่แค่มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น ซึ่งสิ่งที่พยายามจะบอกครีเอเตอร์คือ สไตล์ไกด์ ที่ต้องระบุให้ชัดว่า คาแรกเตอร์ที่ออกแบบมีนิสัยแบบไหน ท่าทางการสื่ออารมณ์เป็นอย่างไร

“เราเห็นเลยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยุคแรกนั้นขอแค่สติ๊กเกอร์มี Wording ตรงใจเขาซื้อเลย แต่หลังจากโควิดตอนนี้เขาคิดเยอะขึ้น เขาดูจริง ๆ ว่าสติ๊กเกอร์ที่จะซื้อมันสื่อถึงสิ่งที่เขาต้องการสื่อหรือเปล่า เราเลยต้องการสติ๊กเกอร์ที่มีคุณภาพ”

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยครีเอเตอร์ เช่น Creator Connect Day หรืองานประกวด LINE Creators Market Sticker Contest เพื่อพาผู้ชนะไปค้นหาแรงบันดาลใจที่ประเทศญี่ปุ่น โดยในปี 2022 ไลน์ก็ได้เพิ่ม ยอดขาย มาเป็นเกณฑ์ตัดสินในปีนี้ด้วย

“ถ้าเทียบกับประเทศญี่ปุ่นครีเอเตอร์ 1 ล้านคนของไทยถือว่าน้อยและครีเอเตอร์ที่ขายได้เยอะ ๆ ของญี่ปุ่นก็มีมากกว่า แต่ไทยก็ถือว่าพัฒนาขึ้นจากครีเอเตอร์ระดับท็อปที่มาประมาณ 5-6 คน ปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนั้น เราเลยต้องเอายอดขายมาเป็นเกณฑ์ในปีนี้”

ครีเอเตอร์ทั้ง 12 คนที่ชนะงานประกวด LINE Creators Market Sticker Contest

พร้อมดันโกอินเตอร์

ปัจจุบันในจำนวนครีเอเตอร์กว่า 1 ล้านรายก็มีประมาณ 10-20% ที่ทำเป็นอาชีพจริง ๆ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ไลน์พยายามผลักดัน และอีกหมุดหมายที่ไลน์ต้องการคือ ดันครีเอเตอร์ไทยให้ไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยแต่ละประเทศก็จะมีทีมที่คอยหาสติ๊กเกอร์ที่น่าจะดังในประเทศตัวเอง หรือหากทีมในไทยเห็นคาแรกเตอร์ที่คิดว่าน่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายในประเทศนั้น ๆ ก็จะเสนอไป ปัจจุบัน มีประมาณ 30 คาแรกเตอร์ของคนไทยที่สามารถไปขายต่างประเทศ จากอดีตมีประมาณ 10 คาแรกเตอร์เท่านั้น

“แน่นอนว่าแต่ละประเทศจะมีความชอบไม่เหมือนกัน อย่าง ไต้หวันจะชอบคาแรกเตอร์ที่เป็นเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชาย มีแอ็คชั่น ส่วนญี่ปุ่นจะเป็นคาแรกเตอร์ที่เป็นสัตว์ ไม่ชอบให้มีข้อความ เน้นแสดงอารมณ์ ดังนั้น อาจมีบางคาแรกเตอร์ที่ไม่ได้โดนคนไทย แต่อาจเติบโตได้ในต่างประเทศ”

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ไลน์พยายามผลักดันคือ Licensing หรือ Merchandise เพราะญี่ปุ่นทำให้เห็นว่าคาแรกเตอร์สามารถต่อยอดเป็นสินค้าอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นของสะสม ของใช้ หรือแม้แต่เมนูอาหาร โดยปัจจุบันไลน์ก็เป็นตัวกลางในการจับคู่ครีเอเตอร์กับแบรนด์ ในการขายลิขสิทธิ์เพื่อไปคอลแลบหรือออกเป็นสินค้า โดยปัจจุบันไลน์มีคาแรกเตอร์ประมาณ 20 ตัวที่ช่วยจับคู่

เลิกพึ่งพาแต่ครีเอเตอร์ต้องใช้ฟีเจอร์เสริม

อิสรี ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ไลน์พึ่งพาความสามารถของครีเอเตอร์ จนไม่ได้เน้นที่เรื่อง ฟีเจอร์ เท่าที่ควร ดังนั้น อีกกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตของสติ๊กเกอร์ก็คือ ฟีเจอร์ที่จะมาเสริมให้ผู้ใช้หาสติ๊กเกอร์เจอง่ายขึ้น แนวคิดการ นำสติ๊กเกอร์เก่ามาเป็นส่วนลดซื้อสติ๊กเกอร์เซตใหม่ หรือ ซื้อเป็นชิ้นที่อยากได้ไม่ต้องซื้อทั้งชุด

รวมไปถึง บิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ โดยเฉพาะโมเดล ซับสคริปชั่น ให้เลือกสติ๊กเกอร์ที่อยากได้แล้วจ่ายเป็นรายเดือนแทนที่จะซื้อขาด โดยโมเดลดังกล่าวได้เริ่มใช้ในไต้หวันและญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งในช่วงแรกที่ออกโมเดลซับสคริปชั่นก็ส่งผลให้ยอดขายสติ๊กเกอร์ลดลง แต่สุดท้ายก็ดีดกลับมาเติบโต เพราะมีผู้บริโภคหลายคนที่ได้ลองใช้สติ๊กเกอร์พอชอบก็ซื้อขาด แต่ในส่วนของโปรโมชันคงจะมีน้อยลง เพราะที่ผ่านมาไลน์ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเสีย เพราะมีการลดราคาบ่อย ทำให้เขาเลิกซื้อสติ๊กเกอร์ราคาเต็ม

“โมเดลซับสคริปชั่น มันเหมือนกับฟีเจอร์ของโปรดักส์ที่กำลังจะตาย เพราะมันเป็นอะไรที่คุณไม่สามารถขายในราคาปกติได้แล้ว แต่สติ๊กเกอร์ยังไม่ได้อยู่ในช่วงนั้นแค่มันอาจไม่ได้โตหวือหวาเหมือนช่วงแรก และโมเดลนี้ตอนแรกเหมือนจะทำให้ยอดตก แต่สักระยะยอดขายก็กลับมา เพราะกลายเป็นว่าเหมือนเขาได้ลองใช้แล้วชอบ”

อย่างไรก็ตาม ในไทยยังไม่ได้กำหนดว่าจะลันช์ฟีเจอร์นี้เมื่อไหร่ เพราะตราบใดที่ขายได้เรื่อย ๆ ก็ยังไม่อยากจะเอาโมเดลซับสคริปชั่นมาใช้ นอกจากนี้ ทีมยังต้องดูความพร้อมของตลาดและความพร้อมของไลน์ โดยเฉพาะต้องทำใจให้ได้เพราะมันจะมีช่วงที่ยอดตกหากฟีเจอร์ถูกปล่อยไป ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลากลับมาเติบโตอีกครั้งตอนไหน เพราะในไต้หวันกับญี่ปุ่นก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน

อิสรี ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของไลน์ใน 10 ปีจากนี้ยังคงต้องการรักษาสถานะของสติ๊กเกอร์ให้เป็น 1 ใน 3 ช่องทางสร้างรายได้ให้ไลน์ พร้อมกับ รักษาการเติบโตให้ได้ 2 หลักต่อไปในทุกมิติ ทั้งยอดขายและจำนวนครีเอเตอร์

]]>
1422669
อัปเดต 3 เทรนด์ ‘YouTube’ ในวันที่ ‘Gen Z’ กว่าครึ่งดูวิดีโอที่คนทั่วไปไม่ดู https://positioningmag.com/1403033 Tue, 04 Oct 2022 08:17:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1403033 ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงแรกวิดีโอไวรัลบน YouTube เป็นตัวกำหนดเทรนด์ต่าง ๆ แต่บทบาทของ YouTube เปลี่ยนไปจากแมสเทรนด์ไปสู่คน แต่ตอนนี้เป็นการสร้างเทรนด์ ยิ่งในยุคนี้ที่ใคร ๆ ก็ครีเอทวิดีโอเองได้ โดยเฉพาะ Gen Z ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี อีกทั้ง ยังมีความเป็นตัวเองสูง ดังนั้น ไปอัปเดต 3 Types ที่เหล่าครีเอเตอร์ควรรู้ เพื่อที่จะสร้างวิดีโอให้ตรงใจคนดู

จากการสำรวจของ Ipsos พบว่า Gen Z ถึง 85% เคยโพสต์วิดีโอมาก่อน และเพราะคน Gen Z คุ้นเคยกับการผลิตและชมวิดีโอ ทำให้มีความเป็นตัวเองมากที่สุด 65% ของคน Gen Z ดูคอนเทนต์ที่ เกี่ยวของกับตัวเองมากกว่าคอนเทนต์ที่เป็นที่สนใจ และ 50% ดูคอนเทนต์ที่คนทั่วไปไม่ดู ดังนั้น ไปเจาะลึก 3 เทรนด์ ที่เหล่าครีเอเตอร์ควรรู้

Community Creativity

การสร้างคอนเทนต์สำหรับคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน โดย 61% ของคน Gen Z ระบุว่าพวกเขาเป็น BigFan ของใครสักคนหรืออะไรสักอย่าง ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากแค่ วิดีโอเครื่องบินขึ้น-ลง จะมียอดวิวหลักหมื่นล้าน หรือครีเอเตอร์บางคนก็ผันตัวจาก แฟนด้อม ไปสู่การสร้างคอนเทนต์ที่ตรงใจเหล่าแฟน จนสามารถขยายฐานผู้ติดตามไปจนกลายเป็นแมส

“เราเห็นชุมชนย่อย ๆ ที่มีความเฉพาะตัวสูงบน YouTube มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมันอาจไม่แมสแต่มีคนดูเหนียวแน่น และ 92% รอตอนต่อไปของครีเอเตอร์ นอกจากนี้ ยังพบเห็นการสนับสนุนผ่าน Fan Funding จากแฟนคลับด้วยฟีเจอร์ Membership” มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ ยูทูบ ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าว

มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ ยูทูบ ประเทศไทย และเวียดนาม

Responsive Creativity

การสร้างคอนเทนต์เพื่อตอบสนองต่อความรู้สึกหรืออารมณ์ของคน โดย 83% ของ Gen Z หาคอนเทนต์ที่ทำให้ ผ่อนคลาย ทำให้คอนเทนต์ประเภท ASMR (Autonomous Sensory Meridian Response) มีการค้นหามากขึ้น โดยยอดวิวทั่วโลกของคอนเทนต์ประเภทนี้มีกว่า 65,000 ล้านวิวเลยทีเดียว นอกจากนี้ Gen Z 64% ยังต้องการหาคอนเทนต์ที่สามารถดูเรื่อย ๆ เพื่อเป็น เพื่อนแก้เหงา และ 80% ใช้วิดีโอรำลึกอดีต

Multi-format Creativity

เพราะฟอร์แมตวิดีโอบน YouTube เปลี่ยนไป มีทั้ง Shorts From, Long From และ Live-Stream ดังนั้น ครีเอเตอร์ควรสร้างสรรค์หลาย ๆ แบบ เพื่อหารูปแบบที่ตรงใจกับผู้ชม อย่าง Shorts อาจตั้งสั้น ๆ เป็น Meme เพื่อดึงดูดให้มาดูวิดีโอยาว เพราะ 59% ของ Gen Z ระบุว่า เขามักเจอวิดีโอใหม่ ๆ ในวิดีโอสั้น

]]>
1403033
‘Instagram’ กำลังทดสอบฟีเจอร์ ‘Gifts’ อีกช่องทาง ‘สร้างรายได้’ ให้ครีเอเตอร์ https://positioningmag.com/1400104 Wed, 14 Sep 2022 08:22:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1400104 TikTok ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของ Instagram ได้เพิ่มฟีเจอร์ให้ ทิป กับเหล่าครีเอเตอร์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ Twitter ได้เปิดตัวฟีเจอร์ Tip Jar ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้มีวิธีในการให้ทิปครีเอเตอร์ได้อย่างรวดเร็วด้วยการแตะเพียงไม่กี่ครั้ง แม้แต่ Tumblr ก็มีฟีเจอร์ที่เปิดตัวเมื่อต้นปีนี้

ไม่รู้ว่าช้าไปไหม เพราะ Instagram กำลังทดสอบฟีเจอร์สำหรับให้ ของขวัญ (Gifts) ที่จะเป็นการให้ทิปครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ชื่นชอบ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการหารายได้ให้เหล่าครีเอเตอร์ อย่างไรก็ตาม ทาง Meta ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด โดยระบุเพียงว่า ฟีเจอร์ดังกล่าวยังเป็นเพียงต้นแบบที่ทดสอบภายในและยังไม่ได้ทดสอบกับภายนอก

อย่างไรก็ตาม ฟีเจอร์ดังกล่าวถูกค้นพบครั้งแรกโดย Alessandro Paluzzi ซึ่งเป็นนักวิจัยแอปเมื่อเดือนกรกฎาคม โดย Instagram กำลังพัฒนาฟีเจอร์ดังกล่าวภายใต้ชื่อ Content Appreciation โดยฟีเจอร์ดังกล่าวจะช่วยให้แฟน ๆ ครีเอเตอร์สามารถส่ง ของขวัญ ให้กับพวกเขาได้

สำหรับฟีเจอร์ดังกล่าวหากเปิดตัว มันจะไม่ใช่ฟีเจอร์สำหรับให้ทิปครีเอเตอร์เพียง อย่างเดียว ของ Meta grikt ในปี 2020 Instagram ได้เปิดตัว Badges ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้แสดงการสนับสนุนครีเอเตอร์ระหว่างไลฟ์สดวิดีโอ ผ่านการส่งดาวโดยมีราคาเริ่มต้นที่ $0.99, $1.99 หรือ $4.99 ซึ่งช่วยให้ครีเอเตอร์มีช่องทางในการสร้างรายได้ผ่านทั้งสตรีมสดและฟีเจอร์ Reels

ก็คงต้องรอดูว่าฟีเจอร์ดังกล่าวจะเปิดตัวมาให้ใช้เมื่อไหร่ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเปิดตัว เพราะหากย้อนดูคู่แข่งซึ่งส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์สำหรับให้ทิปครีเอเตอร์กันหมดไปตั้งนานแล้ว

Source

]]>
1400104
ดาว ‘TikTok’ เตรียมเฮ! หลังแพลตฟอร์มเล็งเพิ่มโมเดล ‘Subscription’ เพิ่มรายได้ให้ครีเอเตอร์ https://positioningmag.com/1386540 Wed, 25 May 2022 09:31:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1386540 คงไม่ต้องพูดถึงความร้อนแรงของ TikTok กันอีกแล้ว เพราะขนาดเจ้าพ่อโซเชียลอย่าง Facebook หรือแพลตฟอร์มวิดีโออย่าง YouTube ยังต้องเพิ่มฟีเจอร์วิดีโอสั้นมาแข่งด้วย อย่างไรก็ตาม TikTok เองก็พยายามจะมัดใจเหล่า ครีเอเตอร์ ให้มีแรงในการผลิตคอนเทนต์ต่อไปด้วยโมเดลหารายได้ใหม่ ๆ ล่าสุดก็คือ โมเดล Subscription

ที่ผ่านมา TikTok ได้เริ่มเพิ่มโมเดลการทำรายได้ให้กับครีเอเตอร์ในแพลตฟอร์ม นอกเหนือจากที่ครีเอเตอร์รับโฆษณาจากแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Creator Next ที่จะเพิ่ม Virtual Gift หรือการ ให้ของขวัญ จากผู้ชมไลฟ์ ซึ่งคล้าย ๆ กับ การส่งดาวแบบใน Facebook

หรือจะเป็นโปรแกรม TikTok Pulse ที่แพลตฟอร์มจะแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาให้ถึง 50% ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริง แต่ครีเอเตอร์จะต้องมีผู้ติดตามอย่างน้อย 100,000 คนขึ้นไป โดย TikTok จะยิงโฆษณาไปที่ Top 4% แรกของวิดีโอทั้งหมด เพื่อให้เจ้าของแบรนด์มั่นใจว่าจะมีคนเห็นเยอะมากขึ้นแน่นอน

ล่าสุด TikTok ก็ได้เพิ่มโมเดล ‘Subscription’ สำหรับบัญชียอดนิยมบางบัญชี โดยจะสามารถเก็บค่าสมาชิกจากผู้ติดตาม เพื่อเข้าถึงคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ รวมถึงจะมีโหมดแชทเฉพาะสำหรับสมาชิก เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างครีเอเตอร์และสมาชิก

“การสมัครสมาชิกสดเป็นส่วนเสริมของความพยายามของเราในการสร้างโอกาสในการสร้างรายได้จากครีเอเตอร์ที่หลากหลายซึ่งเหมาะกับความต้องการของครีเอเตอร์” TikTok กล่าว

‘TikTok’ ซุ่มปั้น ‘TikTok Shop’ ดึงแบรนด์เปิดร้านบนแพลตฟอร์มโกย ‘เงินโฆษณา’

อย่างไรก็ตาม TikTok ระบุว่า ฟีเจอร์การสมัครสมาชิกที่เปิดตัวในสัปดาห์นี้จะเปิดให้สำหรับครีเอเตอร์ที่ได้รับคำเชิญเท่านั้นในตอนนี้ แต่จะขยายไปทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ในการเข้าถึงคุณสมบัติการสมัครสมาชิก ผู้สร้างจะต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี ในขณะที่ผู้ใช้จะต้องมีอายุอย่างน้อยเท่ากันในการสมัครสมาชิก

แม้ว่า TikTok จะได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนมีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านคน แต่แพลตฟอร์มก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้ให้วิธีการสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ โดยก่อนหน้านี้ทั้ง TikTok และแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอื่น ๆ ยังไม่มีฟีเจอร์หรือฟังก์ชันให้ผู้ใช้สามารถสร้างรายได้ได้โดยตรง ทำให้เหล่าครีเอเตอร์จะได้รายได้จากการรีวิวสินค้าหรือการทำคอนเทนต์ที่มีผู้ว่าจ้างให้ทำเท่านั้น

ดังนั้น หลายคนมองว่าที่ TikTok ต้องเพิ่มโมเดลหารายได้ใหม่ ๆ ให้ครีเอเตอร์เป็นเพราะต้องการใช้มัดใจให้ผลิตคอนเทนต์อยู่บนแพลตฟอร์ม และช่วยให้ครีเอเตอร์สร้างรายได้จากคอนเทนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Source

]]>
1386540