คลัง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 26 Jan 2022 05:31:52 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘คลัง’ ยันไม่เลื่อนเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ เร่งสรุปเเนวทางเก็บภาษีหุ้น ‘เเบงก์ชาติ’ จ่อห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้า https://positioningmag.com/1371736 Tue, 25 Jan 2022 11:35:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371736
‘คลัง’ ยันไม่เลื่อนเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ พร้อมเร่งสรุปเเนวทางเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ ในลำดับต่อไป ด้านเเบงก์ชาติ จ่อออกกฏควบคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้าเเละบริการ 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความกังวลของนักลงทุนในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซีว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังเร่งจัดทำแนวทางปฏิบัติในส่วนของการยื่นเสียภาษีเงินได้ของคริปโตฯ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะเร่งให้เสร็จเรียบร้อยทันปีภาษีนี้ หรือภายในเดือนมกราคมนี้

ในปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเม็ดเงินหมุนเวียนจำนวนมาก และเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีทั้งนักลงทุนในรูปแบบเดิม และนักลงทุนหน้าใหม่ เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก

จากการที่ภาคเอกชนได้ยื่นเสนอให้มีการยกเว้น 1-2 ปีนั้น ทางกระทรวงการคลัง ขอยืนยันว่า จะไม่มีการเลื่อนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป เพราะถือเป็นเงินได้ที่เสียกันมาตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว โดยขณะนี้มุ่งหวังที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ มีความชัดเจนของมาตรการภาษีดังกล่าวมากขึ้น

“การยื่นแบบเงินได้คริปโตเคอร์เรนซี ถือว่าเป็นการประเมินรายได้ของตัวผู้ยื่นแบบนักลงทุนเอง โดยปีนี้จะคาดว่าจะทำให้ชัดเจนขึ้นว่า รายได้ที่เกิดจากการซื้อขายมีจำนวนเท่าไหร่ มีการทำบัญชีแบบค่าเฉลี่ยอย่างไร เพื่อให้นักลงทุนและผู้ยื่นแบบภาษี มีการเสียภาษีในแบบฟอร์มได้ง่ายขึ้น โดยยังคงมีระยะเวลาในการยื่นแบบถึง 31 มี.ค. 2565 ซึ่งไม่ได้มีการเลื่อนเวลาเก็บภาษีออกไป”

ส่วนความคืบหน้าแนวทางการเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ กระทรวงการคลังกำลังอยู่ในช่วงศึกษาเเละหารือ รับฟังความเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดหุ้น ก.ล.ต. โบรกเกอร์ นักลงทุน ฯลฯ

โดยในปัจจุบัน ประเทศที่มีตลาดหุ้นเกือบทุกประเทศมีการจัดเก็บภาษีหุ้นกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ หรือส่วนต่างกำไร หรือ Capital Gain ซึ่งในส่วนของประเทศไทย คาดว่าจะมีข้อสรุปรูปแบบการจัดเก็บภาษีที่ชัดเจนในเร็วๆนี้

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันไม่สนับสนุนใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เป็นช่องทางชำระเงิน โดยระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

หน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น

สำหรับร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ มี 6 ข้อ ดังนี้

1.ไม่โฆษณาเชิญชวนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า ว่าสามารถรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
2.ไม่จัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าเพื่อรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
3.ไม่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้าเพื่อรับชำระ
4.การขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาท ต้องโอนเข้าบัญชีตัวเองเท่านั้น
5.ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล / เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าเเละบริการ
6.ไม่ดำเนินการอื่นใดที่จะเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่า “ณ ขณะนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ”

ดังนั้น จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน

ขณะที่รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับ ธปท. และ กค. ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

.
]]>
1371736
COVID-19 ทุบเศรษฐกิจไทย “คลัง” คาดจีดีพีปีนี้ -8.5% ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 มาแล้ว https://positioningmag.com/1290116 Thu, 30 Jul 2020 08:22:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290116 สศค.คาดการณ์จีดีพีปีนี้ -8.5% จากพิษ COVID-19 ก่อนจะกลับมาขยายตัวในระดับ 4-5% ในปีหน้า เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว หลังผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบเกินกว่า 10% เเละคาดว่าในไตรมาส 3/63 ยังติดลบเเต่ไม่มากเท่าไตรมาสก่อน

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะจีดีพีหดตัวที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -9.0 ถึง -8.0) จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักหดตัวลง

โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าปีนี้ จะหดตัวที่ร้อยละ -11 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -11.5 ถึง -10.5) ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยจะหดตัวที่ร้อยละ -82.9 นอกจากนี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.1 ถึง -2.1) และ -12.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -13.1 ถึง -12.1) ตามลำดับ สอดคล้องกับทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การโอนงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 พ.ศ. 2563 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 ถึง 4.8) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.2 ถึง 10.2)

กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาของรัฐบาล ระยะที่ 1-3 และมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ ท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการหมุนเวียนกิจกรรม เศรษฐกิจภายในประเทศต่อไป ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 และจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0 ในปี 2564 

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 จะอยู่ที่ร้อยละ -1.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง -0.8) ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ตามแนวโน้มราคาน้ามันดิบในตลาดโลก ที่ปรับตัวลดลงและอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลง

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 2.7 ของจีดีพี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง 3.2 ของจีดีพี)

Photo : Shutterstock

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป ได้เเก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การพัฒนาวัคซีน และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต่าง ๆ หลังสถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งจะมีผลต่อจานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2563 และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563

โดยกระทรวงการคลัง คาดว่าธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จะช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการดิจิทัล และธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ให้ขยายตัวได้ดี

 

]]>
1290116
ใครได้-ไม่ได้ ? “คลัง” ไขข้อสงสัย 14 ข้อ รับเงิน 5,000 บาทใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com https://positioningmag.com/1271426 Thu, 02 Apr 2020 10:53:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1271426 กระทรวงการคลัง ตอบข้อสงสัยประชาชน เรื่องมาตรการรับเงินเยียวยาจากผลกระทบไวรัส COVID-19 เดือนละ 5,000 บาทต่อเนื่อง 3 เดือน บนเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยเปิดให้มีการลงทะเบียนตั้งเเต่วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งยอด ณ วันที่ 1 มี.ค. ณ เวลา 18.00 น. มียอดผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 22.5 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดกรองจำนวนผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว

ล่าสุดเฟซบุ๊กของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ใน 14 ข้อ ดังนี้

1.ประชาชนที่ลงทะเบียนได้รับ SMS “ลงทะเบียนไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลตามบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง” และไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก ควรทำอย่างไร

ตอบ กรณีกรอกข้อมูลตามบัตรประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้อง และได้รับ SMS ลงทะเบียนแจ้งผลการลงทะเบียนไม่สำเร็จ สามารถเข้าไปลงทะเบียนใหม่ได้โดยระบุข้อมูลที่ถูกต้อง หากกรณีที่ยังไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้ ขอให้โทรสอบถามสถานะการลงทะเบียนได้ที่ธนาคารกรุงไทย โทร. 02 111 1144

2.ประชาชนที่ลงทะเบียนสำเร็จแล้วมีความต้องการ แก้ไขข้อมูล หรือยกเลิกการลงทะเบียน และหากได้รับเงินจะคืนเงินอย่างไร

ตอบ ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขหรือยกเลิกข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน สำหรับกรณีที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ และต่อมามีความประสงค์จะคืนเงิน กระทรวงการคลังจะพิจารณากำหนดแนวทางและแจ้งให้ท่านทราบอีกครั้งหนึ่ง

3.ระบบลงทะเบียนไม่มีตัวเลือกของ อำเภอเมืองชลบุรี เลยเลือกอำเภออ่างศิลา ที่ใกล้เคียงจะมีปัญหาต่อการลงทะเบียนหรือไม่ และถือเป็นการลงข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมทั้งจะถูกดำเนินคดีหรือไม่

ตอบ ระบบมีตัวเลือกของ “ตำบล/แขวง” และ “อำเภอ/เขต” ครบถ้วน โดยผู้ลงทะเบียนจะต้องกรอกรหัสไปรษณีย์ในพื้นที่ที่ท่านอยู่ในถูกต้องก่อน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

4.หมายเลขบัตรประชาชนของตนเองถูกคนอื่นนำไปลงทะเบียนแล้ว

ตอบ สามารถสอบถามสถานะการลงทะเบียนได้ที่ธนาคารกรุงไทย โทร. 02 111 1144 ว่าเลขประจำตัวประชาชนของตนมีการลงทะเบียนแล้วหรือยัง ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุเกิดจากการที่บุคคลอื่นกรอกหมายเลขประจำตัวประชาชนผิด และไปตรงกับเลขประจำตัวประชาชนของผู้ร้องฯ

5.เป็นบุคคลที่กรมบังคับคดีไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี จึงไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ได้รับผลกระทบเนื่องจากทำอาชีพนวดรับเงินค่าจ้างรายวัน และร้านถูกสั่งให้ปิดทำการ ส่งผลให้ไม่มีรายได้ จะต้องทำอย่างไร

ตอบ กระทรวงการคลังจะโอนเงินชดเชยรายได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

6.อยากให้พระภิกษุได้รับการเยียวยาด้วย เนื่องจากผู้มาทำบุญตักบาตรลดลง และกิจนิมนต์น้อยลง ส่งผลกระทบต่อผู้ติดตามรับใช้พระภิกษุ

ตอบ มาตรการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง แรงงาน ที่มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิต-19

7.ปัจจุบันได้รับเบี้ยคนชรา/เกษตรกร ซึ่งทำงานอื่นไปด้วย สามารถลงทะเบียนขอรับการเยียวยาได้หรือไม่

ตอบ หากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด- 19 สามารถสมัครลงทะเบียนได้ โดยกระทรวงการคลังจะมีการคัดกรองอีกครั้งว่าได้รับสิทธิหรือไม่

8. ออกจากประกันสังคมมา 7 เดือนแล้ว ลงทะเบียนได้หรือไม่

ตอบ หากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สามารถสมัครลงทะเบียนได้ โดยกระทรวงการคลังจะมีการคัดกรองอีกครั้งว่าได้รับสิทธิหรือไม่

9.มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่แจ้งอายัดบัตรไว้ แล้วอยากจะกลับมาใช้บัตรใหม่อีกครั้งได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร

ตอบ โปรดติดต่อธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศเพื่อทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ หรือ โทร. 02 109 2345

10.เป็นเกษตรกร/ทำนา เดือดร้อน แต่ลงทะเบียนไม่ได้

ตอบ มาตรการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง แรงงาน ที่มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิต-19

11.ประกอบอาชีพชาวนาอย่างเดียว จะลงทะเบียนได้ไหม และจะโดนตัดสิทธิการช่วยเหลืออื่นหรือไม่

ตอบ มาตรการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง แรงงาน ที่มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิต-19 ตรง ๆ สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐอื่น จะขึ้นอยู่กับการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของหน่วยงานของรัฐนั้น

12.ประกอบอาชีพหลักเป็นนักพยากรณ์ดูดวงลายมือ ซึ่งจำเป็นต้องตั้งโต๊ะรับดูดวงเพื่อพบลูกค้าเพื่อความแม่นยำ แต่ตอนนี้ไม่สามารถมาตั้งโต๊ะรับลูกค้าได้แล้วเนื่องจากโควิด-19 และมีอาชีพเสริม คือ รับลอตเตอรี่จากพี่สาวมาขายบ้างเป็นบางวันไม่ได้ขายทุกวัน และไม่มีแผงขายประจำเป็นหลักแหล่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน ทั้งนี้ ตอนลงทะเบียนกรอกข้อมูลอาชีพเสริม (ขายลอตเตอรี่) จะเป็นอะไรมั้ย และจะสามารถแก้ไขข้อมูลเปลี่ยนเป็นอาชีพหลัก (นักพยากรณ์) ได้หรือไม่

ตอบ หากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิต-19 สามารถสมัครลงทะเบียนได้ โดยกระทรวงการคลังจะมีการคัดกรองอีกครั้งว่าได้รับสิทธิหรือไม่ ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

13.พี่สาวขายลอตเตอรี่ในแผงที่วัด แต่คนอื่นลงทะเบียนให้ว่าขายลอตเตอรี่ในตลาดสด จะเป็นอะไรมั้ย และจะสามารถแก้ไขข้อมูลได้หรือไม่

ตอบ ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน โดยกระทรวงการคลังจะมีการคัดกรองอีกครั้งว่าได้รับสิทธิหรือไม่

14.บัญชีธนาคารที่กรอกตอนลงทะเบียน มาตรวจสอบกับธนาคารทีหลังแล้วพบว่าบัญชีดังกล่าวโดนระงับไปแล้ว จะสามารถแก้ไขข้อมูลได้หรือไม่

ตอบ ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้วและท่านได้รับสิทธิ จะมีการแจ้งให้ท่านจะต้องเปิดบัญชีและเปิดพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้สามารถโอนเงินได้

]]>
1271426