ชาวต่างชาติฐานะดี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 16 Jul 2022 04:37:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สรุปร่างกฎหมายให้ “ต่างชาติซื้อที่ดิน” ในไทย ซื้อได้แค่ไหน? ต้องทำอย่างไรบ้าง? https://positioningmag.com/1392828 Sat, 16 Jul 2022 04:36:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1392828 ก่อนหน้านี้ การที่ “ต่างชาติ” จะถือครอง “ที่ดิน” ในไทยได้ จะต้องซื้อผ่านนิติบุคคลสัญชาติไทย แต่ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดที่กำลังจัดทำเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะปลดล็อกให้ต่างชาติซื้อที่ดินไทยได้ในนามบุคคลธรรมดา

(ข้อมูลอ้างอิง: นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี)

Q: ชื่อกฎหมายและหน่วยงานรับผิดชอบ
A: ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงประเทศไทย พ.ศ. …. ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (รับผิดชอบจัดทำโดย กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย)

Q: ซื้อได้มากแค่ไหน
A: ไม่เกิน 1 ไร่

Q: เงื่อนไขก่อนจะซื้อที่ดินไทยได้
A: ต้องลงทุนในไทยด้วยเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท
และลงทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในธุรกิจหรือกิจการที่กำหนด เช่น กองทุนรวม กองรีท พันธบัตร

Q: เงื่อนไขการใช้ที่ดิน
A: ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น
หากพบว่านำไปใช้ในจุดประสงค์อื่น จะถูกถอนสิทธิ

Q: เหตุผลที่รัฐบาลออกกฎหมายนี้
A: กฎหมายนี้ถือเป็นส่วนพ่วงที่จะช่วยจูงใจให้คนต่างชาติศักยภาพสูงเลือกมาพำนักในไทย หรือ “โครงการ Long-term resident Visa” ทำวีซ่าครั้งเดียวอยู่ได้ 10 ปี ที่จะเริ่มบังคับใช้เดือนกันยายน 2565

กลุ่มเป้าหมายศักยภาพเหล่านี้คือ กลุ่มผู้เกษียณอายุ, กลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากไทย ทั้งหมดต้องมีฐานะมั่งคั่ง เป้าหมายเพื่อให้มาจับจ่ายในไทย กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

Q: คาดว่าใครที่จะสนใจซื้อที่ดิน
A: จากสถิติปี 2564 ต่างชาติที่นิยมซื้อห้องชุดคอนโดฯ ไทยอยู่แล้ว คือ ชาวจีน 59.4% รัสเซีย 3.7% สหราชอาณาจักร 3.4% สหรัฐฯ 3.4% เยอรมนีและฝรั่งเศส 2.9% เท่ากัน (ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.)

 

รู้หรือไม่? มีหลายประเทศในโลกที่อนุญาตให้ “ต่างชาติซื้อที่ดิน” ได้ แต่อาจมีเงื่อนไขต่างๆ ควบคุม เช่น กำหนดพื้นที่ที่ห้ามต่างชาติซื้อ กำหนดขนาดที่ดิน ห้ามต่างชาติถือครองในโครงการจัดสรรเกินสัดส่วน 50% ห้ามซื้อบ้านทิ้งไว้โดยไม่มีการอยู่อาศัยเกิน 6 เดือน เป็นต้น

]]>
1392828
รัฐเตรียมปลดล็อกให้ “ต่างชาติซื้อบ้านในไทย” ควรตื่นตระหนกหรือไม่? https://positioningmag.com/1353952 Wed, 29 Sep 2021 09:38:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1353952 มติ ครม. อนุมัติโครงการ “วีซ่าระยะยาว” หวังดึงต่างชาติที่มีฐานะหรือมีทักษะสูงเข้ามาใช้ชีวิตในไทย โดยจะมีการให้สิทธิพิเศษบางประการ หนึ่งในนั้นคือการให้สิทธิซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ทำให้คนไทยกลุ่มใหญ่กังวล เกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติกว้านซื้อที่ดิน Positioning จึงสอบถามความเห็นจากเอเย่นต์อสังหาฯ และนักวิชาการเพื่อเพิ่มข้อมูลให้คุณก่อนเลือกว่าจะสนับสนุนนโยบายหรือไม่

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 64 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการ “วีซ่าระยะยาว” (Long-term Residence Visa) เพื่อดึงชาวต่างชาติ 4 กลุ่มเป้าหมายเข้ามาพำนักในไทย คือ กลุ่มต่างชาติที่มีความมั่งคั่งสูง, กลุ่มผู้เกษียณอายุ, กลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานระยะไกลจากประเทศไทย และ กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (อ่านข้อมูลคุณสมบัติต่างชาติที่เข้าโครงการนี้ได้ คลิก)

จุดประสงค์โครงการคือต้องการดึงชาวต่างชาติเหล่านี้ 1 ล้านคนเข้าไทยภายในระยะ 5 ปี (2565-69) หวังให้พวกเขาอยู่อาศัยในไทยระยะยาว มีการใช้จ่ายในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน

สิทธิพิเศษของต่างชาติที่ได้วีซ่าระยะยาว คือจะได้สิทธิทำงานทันที มีวีซ่าให้ผู้ติดตาม ยกเว้นภาษีหากได้รายได้จากต่างประเทศ และลดเพดานภาษีเหลือไม่เกิน 17% หากรับรายได้ในไทย

คนไทยกังวล ปลดล็อกให้ต่างชาติซื้อบ้านในไทยได้ จะกระทบกับการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนไทยหรือไม่

ที่สำคัญคือ จะได้สิทธิประโยชน์ด้านการถือครองที่ดินในไทยด้วย แต่ประเด็นนี้ ครม. ยังให้คณะทำงานไปศึกษาเพิ่มเติม จึงยังไม่ชัดเจนว่าจะให้สิทธิอย่างไรบ้าง แต่แนวโน้มจากกระแสข่าวที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า ‘อาจจะ’ มีการให้สิทธิ เช่น ถือครองบ้านพร้อมที่ดินได้ ขยับสัดส่วนต่างชาติถือครองห้องชุดจากไม่เกิน 49% เป็นไม่เกิน 70-80% แต่จะตามมาด้วยข้อจำกัดบางประการ เช่น ราคาบ้านพร้อมที่ดินขั้นต่ำที่อนุญาตให้ซื้อ เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมเมื่อทราบว่าจะมีการปลดล็อกให้ต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินในไทยได้ ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าจะทำให้ทุนต่างชาติไหลเข้ามากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์จนคนไทยขาดแคลนที่อยู่อาศัย รวมถึงดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ราคาอสังหาฯ สูงขึ้นมากจนคนไทยเข้าถึงยากขึ้นไปอีก

 

ต่างชาติสนใจบ้านพร้อมที่ดินน้อยกว่าคอนโดฯ

ต่อประเด็นนี้ Positioning คุยกับ “พนม กาญจนเทียมเท่า” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและเอเย่นต์อสังหาฯ มองว่า ขณะนี้หลักเกณฑ์ของรัฐยังไม่ชัดเจน แต่เบื้องต้นเห็นว่าความต้องการของนักลงทุนต่างชาติไม่น่าจะอยู่ในกลุ่มบ้านพร้อมที่ดินมากนัก ปกติต่างชาติจะมีดีมานด์ในกลุ่มคอนโดมิเนียมมากกว่า

เหตุผลเพราะหากเป็นการลงทุน การซื้อคอนโดฯ ในเขตเมืองยังมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนการเช่า (yield) ประมาณ 5% เทียบกับบ้านพร้อมที่ดิน yield อยู่ที่ 2-3% เท่านั้น ทำให้คอนโดฯ น่าสนใจกว่า

ต่างชาติสนใจบ้านพร้อมที่ดินน้อย ส่วนใหญ่จะสนใจเฉพาะทำเลท่องเที่ยว ลักษณะวิลล่าหรือบ้านพักตากอากาศ — พนม กาญจนเทียมเท่า, ไนท์แฟรงค์

หากเป็นการซื้อ “บ้านพร้อมที่ดิน” ชาวต่างชาติมักจะซื้อหรือเช่า 30 ปีเพื่ออยู่เองเนื่องจากมีภรรยาคนไทย หรือต้องการพำนักวัยเกษียณ

อาจมีบ้างที่ลงทุนบ้านพร้อมที่ดินแต่จะกระจุกอยู่ในทำเลแหล่งท่องเที่ยว เป็นบ้านพักตากอากาศแถบพัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย หรือเชียงใหม่ พนมยังกล่าวด้วยว่า เชื่อว่าแม้เปิดโครงการวีซ่าระยะยาว ดีมานด์บ้านพักตากอากาศจากต่างชาติก็ไม่น่าจะเกิน 1,000 หลังต่อปี เทียบกับยุค 7-10 ปีก่อนที่กระแสบ้านพักตากอากาศบูมสุดขีดมีการขาย 300-500 หลังต่อปี

สรุปแล้วพนมจึงมองว่าทุนต่างชาติไม่น่าจะหลั่งไหลเข้ามามากในกลุ่มบ้านพร้อมที่ดิน จึงไม่ส่งผลให้ราคาบ้านสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

หลายประเทศอนุญาตให้ซื้อได้

เมื่อถามถึงสถานการณ์ในประเทศอื่น พนมชี้ให้เห็นว่า หลายประเทศในโลกเปิดให้ต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ แคนาดา หรือเพื่อนบ้านเรา “มาเลเซีย” ก็มีกฎหมายเปิดช่อง เพียงแต่มีข้อจำกัดเป็นโซนที่อนุญาตให้ซื้อ จากสถานการณ์ในต่างประเทศ หลังเปิดช่องให้ต่างชาติซื้อ ไม่ได้มีทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปจนเกิดผลกระทบกับคนท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนไทยมีความกังวล รัฐอาจจะกำหนดกฎเกณฑ์ต่างชาติซื้อบ้านในไทยเพื่อให้คนไทยคลายความกังวลบ้าง เช่น อนุญาตเฉพาะการซื้อเพื่ออยู่เอง ซื้อได้ไม่เกิน 2 ไร่ กำหนดพื้นที่เป็นรายจังหวัดหรืออำเภอที่อนุญาต เก็บภาษีเกี่ยวกับอสังหาฯ เพิ่มเป็น 2 เท่าของคนไทย เป็นต้น

ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้

 

ไม่แปลกที่คนไทยจะ ‘กังวล’ แต่ไม่ควรตื่นตระหนก

ด้าน “สฤณี อาชวานันทกุล” อาจารย์และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ให้ความเห็นว่า คนไทยมีความชอบธรรมที่จะรู้สึกกังวลกับข่าวที่ออกมา เพราะประเด็น “ที่ดิน” เป็นเรื่องอ่อนไหว จากลักษณะทรัพยากรที่ดินเป็นสิ่งที่มีจำกัด ไม่สามารถผลิตเพิ่มได้ (ยกเว้นถมทะเล) ขณะที่คนไทยเกินกว่า 50% ปัจจุบันไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ข่าวการปลดล็อกให้ต่างชาติเข้ามาซื้อบ้านพร้อมที่ดินจึงขัดแย้งกับความรู้สึกคนไทยส่วนใหญ่

ดังนั้น หากกฎหมายอนุญาตให้คนต่างชาติซื้อได้อย่างไม่มีข้อจำกัด กรณีนี้จะเริ่มน่ากังวลใจ แต่จากท่าทีของรัฐที่ระบุว่าโครงการจะมุ่งเน้น “ผู้พำนักอาศัยระยะยาว” ทำให้สฤณีเชื่อว่ารัฐน่าจะเข้าใจการป้องกันการเก็งกำไร คนไทยไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกและมองเปรียบเทียบไปถึงกรณีที่ “สุดขั้ว” อย่างเกาะฮ่องกง เพราะกรณีนั้นเป็นดินแดนเกาะที่มีขนาดเล็ก แต่มีประชากรแออัด ทำให้ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยรุนแรงมาก

ในมุมมองของสฤณี เห็นว่ารัฐควรจะมีข้อจำกัดต่างๆ เพื่อป้องกันให้กระทบคนไทยน้อย เช่น จำกัดให้ซื้อเฉพาะอสังหาฯ ระดับไฮเอนด์ซึ่งปกติมีคนไทยจำนวนน้อยที่เข้าถึงได้อยู่แล้ว จำกัดทำเลที่ซื้อได้เพื่อป้องกันไม่ให้รุกล้ำพื้นที่อนุรักษ์ ควรอนุญาตเฉพาะกรณีอยู่อาศัยเองเพื่อป้องกันการเก็งกำไร เป็นต้น โดยเสนอว่าควรศึกษาตัวอย่างจาก “จีน” ซึ่งมีข้อกำหนดที่เคร่งครัดสำหรับชาวต่างชาติที่จะเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาว

 

‘ต่างชาติซื้อบ้านได้’ อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะดึงดูด

อย่างไรก็ตาม สฤณีตั้งคำถามกลับด้วยว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อดึงต่างชาติให้เข้ามาพำนัก แต่การเปิดให้ต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้อาจไม่ใช่ปัจจัยจำเป็นเพื่อดึงดูด

“มีหลายองค์กรที่ศึกษาปัจจัยความน่าอยู่ของเมือง และดัชนีชี้วัดส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องการถือครองอสังหาฯ แต่เป็นเรื่องคุณภาพชีวิต เช่น สิ่งแวดล้อม บริการขนส่งสาธารณะ คุณภาพโรงเรียนเพื่ออนาคตของลูกๆ สิ่งเหล่านี้ดึงดูดให้คนอยากมาอยู่อาศัยได้มากกว่า” สฤณีกล่าว

การจะดึงชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยระยะยาว จึงต้องพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ไม่ได้มีเฉพาะสิทธิด้านภาษีและการครอบครองที่ดินเท่านั้น!

]]>
1353952
ครม.อนุมัติ “วีซ่าระยะยาว” ดึงต่างชาติมีฐานะ “อสังหาฯ” อ้อนรัฐปลดล็อกการถือครองบ้าน-คอนโด https://positioningmag.com/1351999 Wed, 15 Sep 2021 13:31:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1351999 มติ ครม. อนุมัติการจัดทำโครงการ “วีซ่าระยะยาว” ให้ชาวต่างชาติที่มีฐานะหรือมีทักษะสูงเข้ามาพำนักในไทย หวังดึงเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเด็นนี้ทำให้กลุ่มธุรกิจ “อสังหาฯ” ตื่นตัว และส่งเสียงถึงภาครัฐอีกครั้งว่าต้องการให้มีการ “ปลดล็อก” กฎหมายการถือครองที่อยู่อาศัย “ดีดีพร็อพเพอร์ตี้” เปิดข้อมูลคนจีนยังสนใจกลับมาลงทุน

เมื่อวานนี้ (14 ก.ย. 64) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ข้อหนึ่งในมติที่มีการอนุมัติ คือการให้จัดทำ “วีซ่าระยะยาว” (Long-term Resident Visa) มุ่งเป้าดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะดีหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพำนักในไทย เพื่อดึงกำลังซื้อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น

โครงการนี้วางแผนในระยะ 5 ปี (2565-2569) ตลอดระยะโครงการหวังผลดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน แต่ละคนมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับรวมมูลค่าจากการลงทุนและการชำระภาษีเงินได้ที่ไทยจะได้ประโยชน์

(Photo : Shutterstock)

กลุ่มที่ต้องการจะดึงดูดเข้ามามีทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

– ลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15 ล้านบาท) ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

– มีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

– มีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านบาท)

2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

– ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท) ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

– มีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท)

– กรณีไม่มีการลงทุน ต้องมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท)

3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) มีคุณสมบัติกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้

– กรณีที่ 1 มีรายได้ส่วนบุคคล (อาทิ เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

– กรณีที่ 2 มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือ ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุน Series A และมีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี

4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled professional) มีคุณสมบัติกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้

– กรณีที่ 1 มีรายได้ส่วนบุคคล (อาทิ เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

– กรณีที่ 2 มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวระดับคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ การบิน การแพทย์ครบวงจร เศรษฐกิจหมุนเวียน ฯลฯ)

(Photo : Shutterstock)
ต่างชาติที่ยื่นขอ “วีซ่าระยะยาว” จะได้สิทธิประโยชน์อะไร?

กลุ่มข้อ 1-3 จะได้สิทธิประโยชน์คือ

  • สิทธิทำงาน ได้พร้อมกันกับวีซ่า
  • ทั้งคู่สมรสและบุตรจะได้วีซ่าผู้ติดตาม
  • ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้ที่มาจากต่างประเทศ

ส่วนกลุ่มข้อ 4 จะได้สิทธิประโยชน์แบบเดียวกับข้อ 1-3 แต่เนื่องจากกลุ่มนี้น่าจะเข้ามาเพื่อทำงานในประเทศไทย มีรายได้ภายในประเทศไทย ทำให้รัฐมีแรงจูงใจทางภาษีคือ ไทยจะคิดภาษีเงินได้เท่ากับภาษีของการจ้างแรงงานในเขต EEC (ปัจจุบันต่างชาติที่มาทำงานระดับบริหารใน EEC จะได้ลดเพดานอัตราภาษีไม่เกิน 17% จากปกติ 35%)

ทั้งนี้ ประเด็นสิทธิการถือครองที่ดินยังค่อนข้างกำกวม เนื่องจากรายงานที่เสนอ ครม. ระบุว่าคนต่างชาติกลุ่มวีซ่าระยะยาวจะมีสิทธิประโยชน์ด้านการถือครองที่ดิน 5 ปีนับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้โครงการนี้ แต่ยังไม่ลงรายละเอียดว่าสิทธิส่วนนี้จะเป็นอย่างไร

 

“อสังหาฯ” ขานรับ ขอปลดล็อกการถือครองที่ดิน

ต่อประเด็นนี้ ผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีมุมมองเชิงบวกกับโครงการวีซ่าระยะยาว โดย “สุพินท์ มีชูชีพ”  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ ประเทศไทย จำกัด (JLL) กล่าวว่า โครงการนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น เพราะการขอวีซ่าพำนักจะง่ายขึ้นและอยู่อาศัยได้สะดวกขึ้น จากเดิมต้องรายงานตัวกับสำนักตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน แต่การมีวีซ่าตามโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องไปรายงานตัว

ภาพมุมสูง กรุงเทพฯ

เช่นเดียวกัน “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ มีความหวังว่า โครงการวีซ่าระยะยาวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคอสังหาฯ ฟื้นตัว จาก 1 ล้านคนที่เป็นเป้าหมายของรัฐ นอกจากการเช่าที่พักอาศัยแล้ว ขอเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากจำนวนนี้ที่เข้ามาซื้ออสังหาฯ ก็จะช่วยภาคธุรกิจนี้ได้

สุพินท์กล่าวต่อว่า ประเด็นหนึ่งที่ต้องการร้องขอให้รัฐพิจารณา คือการอนุญาตให้ต่างชาติในโครงการนี้ถือครองที่ดินในหมู่บ้านจัดสรรได้ โดยอาจจะมีเงื่อนไขไม่ให้มีสิทธิออกเสียงในฐานะเจ้าของร่วมเมื่อมีการประชุมลูกบ้าน รวมถึงอนุญาตให้ต่างชาติถือครองห้องชุดในคอนโดฯ ได้เกินสัดส่วน 49% ของโครงการซึ่งเป็นข้อจำกัดเดิม

(Photo : Shutterstock)

ข้อร้องขอของสุพินท์เป็นประเด็นที่คนในวงการธุรกิจอสังหาฯ ร้องขอมานาน รวมถึงเคยมีข้อเสนอของ TDRI ในทำนองเดียวกันเมื่อปี 2563 โดยเล็งผลด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก

ข้อเสนอของ TDRI มีการชี้แนะว่าการปลดล็อกหรือผ่อนผันเหล่านี้ควรจะมาพร้อมกับการจำกัดวงบ้านหรือคอนโดฯ ที่ต่างชาติซื้อได้มากกว่าเกณฑ์ปกติ ให้ซื้อเฉพาะกลุ่มราคาสูง และอยู่ในทำเลเฉพาะที่รัฐกำหนด เพื่อให้กระทบกลไกราคาบ้าน-คอนโดของคนไทยทั่วไปน้อยลง (อ่านมุมมองของ TDRI ที่นี่ >> https://positioningmag.com/1309568)

 

“คนจีน” ยังสนใจอสังหาฯ ไทยอยู่

กมลภัทรให้ข้อมูลว่า ชาวต่างชาติเริ่มกลับมาให้ความสนใจอสังหาฯ ไทย วัดจากยอดการเข้าชมเว็บไซต์ดีดีพร็อพเพอร์ตี้เพื่อชมรายการอสังหาฯ ขายของไทย มีการเข้าชมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 31% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เทียบกับปีก่อนหน้า แน่นอนว่า กลุ่มคนต่างชาติที่ต้องการอสังหาฯ ไทยมากที่สุดคือ “ชาวจีน”

ทั้งนี้ อสังหาฯ ไทยถือเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของคนจีนในการลงทุนนอกประเทศ อันดับ 1 ที่คนจีนเลือกคือ ญี่ปุ่น (22%) อันดับ 2 ไทย (21%) และอันดับ 3 สหรัฐฯ และ มาเลเซีย (12% เท่ากัน) สาเหตุที่คนจีนชื่นชอบอสังหาฯ ไทยเพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ย 5% มากกว่าผลตอบแทนในจีนที่ได้เฉลี่ยเพียง 2% และคนจีนยังชื่นชอบวัฒนธรรมไทยเป็นพิเศษ

ราคาที่พักอาศัยที่คนจีนสนใจซื้อในประเทศไทย (ที่มา : ดีดีพร็อพเพอร์ตี้)

เมื่อวัดจากกลุ่มราคาอสังหาฯ ที่คนจีนสนใจ พบว่ามีถึง 30% ที่มองหาอสังหาฯ ในราคามากกว่า 10 ล้านบาท สอดคล้องกับแนวคิดของภาครัฐที่ต้องการให้มีกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งเข้ามาลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากนี้ต้องรอดูเงื่อนไขโดยละเอียดของภาครัฐในการจัดทำโครงการวีซ่าระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ จะเป็นไปตามที่ภาคธุรกิจหวังไว้หรือไม่ รวมถึงรอการเปิดประเทศของไทยที่จะทำให้กลุ่มนักลงทุนเข้ามาชมโครงการจริงได้ในที่สุด

]]>
1351999
“คนรวยฮ่องกง” หนีกม.ความมั่นคงใหม่ แห่ขอวีซ่า Elite Card อยู่ไทยระยะยาว https://positioningmag.com/1288465 Sat, 18 Jul 2020 15:15:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288465 เว็บไซต์ข่าวของญี่ปุ่นรายงานว่า ไทยเป็นหนึ่งในชาติที่ชาวฮ่องกงฐานะดีที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่จีนเพิ่งบังคับใช้ ประสงค์ใช้เป็นถิ่นพำนักในระยะยาว เคียงข้างประเทศอื่นอย่างสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

รายงานของนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่าไทยยินดีต้อนนับคลื่นการไหลบ่าของชาวฮ่องกงฐานะดี ในฐานะสมาชิกโครงการพักอาศัยระยะยาว หลังจากจีนบังคับใช้ฎหมายความมั่นคงใหม่ในเขตปกครองพิเศษแห่งนี้

นิกเกอิ เอเชียน รีวิว อ้างคำสัมภาษณ์ของ สมชัย สูงสว่าง ประธานของ Thailand Privilege Card ซึ่งเป็นตัวแทนจัดหาวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่มีฐานะดี และต้องการพักอาศัยในประเทศไทยว่า “เราพบเห็นชาวฮ่องกงยื่นขอวีซ่าประเภทนี้เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน

สื่อมวลชนแดนปลาดิบรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลของ Thailand Privilege Card ว่าจำนวนพลเมืองฮ่องกงกลายมาเป็นผู้ถือครองวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่มีฐานะดีเพิ่มขึ้นถึง 380% ในช่วง 9 เดือนจนถึงวันที่ 31 มิถุนายน ทั้งนี้แม้ Thailand Privilege Card ปฏฺิเสธเปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจน แต่ นิกเกอิ เอเชียน รีวิว เข้าใจว่าจำนวนชาวฮ่องกงที่ถือครองวีซ่าดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 คนในช่วงเวลานั้น

Photo : Xinhua

นอกจากนี้แล้ว สมชัย ยังคาดหมายด้วยว่าทางบริษัทจะได้สมาชิกในโครงการจัดหาวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่มีฐานะดีและต้องการพักอาศัยในประเทศไทยอีก 20 คนหรือมากกว่านั้น ในช่วงไตรมาส 3 หรือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2020 “เราเห็นอุปสงค์ที่มากมายจากฮ่องกงในตอนนี้

ทั้งนี้ สมชัย ระบุว่าปัจจัยที่สนับสนุนให้ชาวฮ่องกงยื่นขอวีซ่าประเภทนี้มากขึ้น ก็คือการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ของจีนในฮ่องกงในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งกำหนดความผิด 4 ประเภทได้แก่ การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างการปกครอง การก่อการร้ายและสมคบคิดกับต่างชาติที่เป็นภัยต่อความมั่งคงแห่งชาติ

จำนวนชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าผู้มีฐานะดีของไทย เพิ่มขึ้น 20% หรือจาก 1,761 คน เป็น 10,363 คน ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2020 ในจำนวนนั้นเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่มากที่สุด 38% ขณะที่ชาวญี่ปุ่นตามมาเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 9% และสหรัฐอเมริกากับสหราชอาณาจักรมีอยู่ชาติละ 7%

18 ส.ค. 2019 ผู้ประท้วงเรียกร้องเสรีภาพให้ฮ่องกงชุมนุมกัน ณ สวนสาธารณะเบลมอร์ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (photo : Brook Mitchell/Getty Images)

สมชัย ยอมรับ ไทยกำลังแข่งกับอีกหลายประเทศในการเปิดรับผู้อพยพชาวฮ่องกง เช่น กลุ่มสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งไทยนั้นมีจุดเด่นอยู่ 3 ด้านคือ 1.สภาพอากาศที่ใกล้เคียงกัน 2.มีวัฒนธรรมที่เป็นมิตร และ 3.มีความสะดวกในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ การออกวีซ่าสำหรับผู้มีฐานะดีใช้เวลาเพียง 15 วันเท่านั้น หากบุคคลที่ยื่นขอผ่านการตรวจสอบประวัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วไม่มีปัญหาใดๆ

รายงานข่าวระบุว่า อังกฤษและออสเตรเลียเป็น 2 ชาติที่ประณามการออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีน และเสนอเปิดรับชาวฮ่องกงให้ไปอยู่ในประเทศของพวกเขา โดยกลุ่มสหราชอาณาจักรประกาศว่าชาวฮ่องกง 3 ล้านคนมีสิทธิในการตั้งถิ่นฐานและในอนาคตยังสามารถกลายเป็นพลเมือง ขณะที่ออสเตรเลียเสนอให้ต่ออายุวีซ่าของชาวฮ่องกงได้นานที่สุด 5 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การมีถิ่นฐานถาวร สำหรับชาวฮ่องกงจำนวน 10,000 คน

สำหรับวีซ่าของชาวต่างชาติฐานะดี หรือ Elite Card นั้นค่าสมัครอยู่ที่ 500,000 ถึง 2 ล้านบาท เมื่อสมัครแล้วจะได้สิทธิประโยชน์มากมาย เช่น มีรถลีมูซีนไปรับที่สนามบิน จัดช่องตรวจหนังสือเดินทางเป็นพิเศษแยกต่างหาก บริการช่วยเหลือในกระบวนการรายงานตัวต่อทางการไทยทุกๆ 90 วัน

Source

]]>
1288465