ชาวต่างชาติ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 25 Jun 2024 06:10:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 18 สมาคมอสังหาฯ แถลงหนุนปรับโควตาต่างชาติถือครองคอนโดฯ 75% แต่ต้องมีระเบียบควบคุม https://positioningmag.com/1479554 Tue, 25 Jun 2024 02:41:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1479554 18 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์และที่เกี่ยวข้องแถลงการณ์สนับสนุนมติครม.ที่จะศึกษาการขยายโควตาถือครองห้องชุดของชาวต่างชาติจาก 49% เป็น 75% ของโครงการ แต่ต้องมีกฎระเบียบต่างๆ ควบคุม เช่น จำกัดการขยายโควตาเฉพาะโครงการที่ใหญ่ไม่เกิน 5 ไร่, จำกัดพื้นที่จังหวัดที่อนุญาตขยายโควตา, จำกัดสิทธิการโหวตที่ประชุมลูกบ้านคอนโดฯ ให้เสียงของชาวต่างชาติต้องไม่เกินเสียงของคนไทย

วันที่ 24 มิถุนายน 2567 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์และที่เกี่ยวข้อง 18 แห่ง ออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการขยายสิทธิการเช่าเป็น 99 ปี และขยายสัดส่วนการถือครองคอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติจาก 49% เป็น 75% โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

แถลงการณ์เรื่องขยายระยะเวลาการเช่าและการขยายสิทธิ์ของคนต่างชาติในการซื้ออาคารชุด

18 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มุ่งวางโครงสร้างธุรกิจอสังหา ฯ และจัดระเบียบควบคุมการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง สุจริต โปร่งใสเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ

ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เรื่องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาเรื่องของการขยายระยะเวลาการเช่าจาก 30 ปีเป็น 99 ปี และจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมหินอ่อนและหินแกรนิตไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาค รวม 18  สมาคม มีความเห็นว่า

  1. จากความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ความต้องการความมั่นคงในที่อยู่อาศัยชาวต่างชาติก็ตามมาด้วย การขยายระยะเวลาเช่าจาก 30 ปี เป็น 99 ปี และให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ  ถือว่าเป็นระยะเวลาที่มีความมั่นคงเพียงพอ และจะทำให้การเช่าที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ เป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการซื้อที่อยู่อาศัย หรือการเช่าที่อยู่อาศัยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายของชาวต่างชาติได้ สำหรับข้อกังวลในเรื่องที่ชาวต่างชาติจะถือครองที่ดินทางอ้อม หรือใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมก็สามารถวางกรอบของกฎหมายที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามข้อกำหนดของผังเมือง กำหนดเขตพื้นที่ หรือจำนวนเนื้อที่สำหรับการเช่าของชาวต่างชาติได้ ฯลฯ

สำหรับประโยชน์ของคนไทยที่จะได้รับโดยตรงจากการขยายระยะเวลาเช่า คือการที่มีที่ดินจำนวนมากทั้งในเขตใจกลางเมืองและนอกเมืองในทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นที่ดินของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ และที่ดินของภาคเอกชนที่ไม่มีความประสงค์จะจำหน่ายที่ดินออกมา สิทธิการเช่าระยะยาวจะเป็นหลักประกัน ที่จะทำให้คนไทยเองสามารถลงทุนระยะยาว ทั้งด้านการอยู่อาศัย การลงทุนด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และประกอบธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการใช้สัญญาเช่าเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินและเป็นมรดกตกทอดได้เช่นเดียวกัน

  1. การขยายสิทธิการถือครองห้องชุดในอาคารชุดของคนต่างชาติจาก 49% ให้เป็น 75% จะเป็นการสนับสนุนให้ชาวต่างชาติที่มาลงทุน หรือมีวัตถุประสงค์จะอยู่อาศัยในประเทศไทย ได้ซื้อที่อยู่อาศัยโดยถูกต้องตามกฎหมาย แก้ปัญหาในเรื่องการซื้อหรือการถือครองที่อยู่อาศัยโดยไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถือครองที่ดินโดยทางอ้อมหรือกระทบต่อสิทธิ์ของคนไทยในการอยู่อาศัยในอาคารชุด ก็อาจออกระเบียบเพิ่มเติมในเรื่อง
    • สละสิทธิ์การโหวตของชาวต่างชาติในจำนวนที่เกินกว่า 49%
    • การจำกัดจำนวนที่ดินไม่เกิน 5 ไร่ สำหรับโครงการที่ชาวต่างชาติถือกรรมสิทธิ์เกินกว่า 49% ไม่เกิน 75% เพื่อมิให้เกิดการถือครองที่ดินโดยทางอ้อม
    • จัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนนิติกรรมและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายปีที่สูงกว่าคนไทยในอัตราที่กำหนด โดยนำส่วนเกินจากการจัดเก็บในอัตราที่คนไทยต้องเสียเข้ากองทุนสนับสนุนการมีบ้านของประชาชนชาวไทยที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่ริเริ่มและจัดตั้งขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว
    • ระเบียบอื่นๆ ที่จะไม่กระทบถึงสิทธิและการอยู่อาศัยของคนไทย เช่น
      • ผู้จัดการนิติบุคคล ประธานนิติบุคคล ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น
      • จำนวนคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดชาวต่างขาติ ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
      • รักษาสิทธิ์เสียงข้างน้อยคนไทย โดยสิทธิ์ออกเสียงของชาวต่างขาติรวมกันต้องไม่เกินเสียงข้างน้อยของคนไทยในลงคะแนนประชุม เช่นเดียวกับการรักษาสิทธิ์และเสียงผู้ถือกรรมสิทธิ์รายย่อยที่มีอยู่เดิม
      • ฯลฯ
  • พื้นที่ที่จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองอาคารชุดได้เกินกว่า 49% แต่ไม่เกิน 75% มิได้อนุญาตให้ถือครองเป็นการทั่วไปในทุกพื้นที่ แต่ควรจัดทำประกาศกระทรวงเป็นครั้งคราวไป โดยในเบื้องต้นอาจกำหนดเพียง 3 พื้นที่คือกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และเมืองพัทยา

ทั้งนี้ ได้เคยมีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติอาคารชุดในปี 2542 ที่ให้ชาวต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ถึง 100% มีกำหนดเวลา 5 ปี เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมทั้งมีกฎหมายลำดับรองที่มีการควบคุมป้องกันไม่ให้กระทบสิทธิ์ของคนไทยในการอยู่อาศัยในอาคารชุด และในช่วง 5 ปีที่ให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ได้ถึง 100% ในอาคารชุดก็มิได้มีผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อหรืออยู่อาศัยในอาคารชุดของคนไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ 18 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน และจะเป็นการวางโครงสร้างการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงสร้างการอยู่อาศัยของประเทศให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

 

ขอแสดงความนับถือ

รายชื่อสมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย

  1. นายอิสระ บุญยัง  นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
  2. นายวสันต์ เคียงศิริ  นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
  3. นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต  นายกสมาคมอาคารชุดไทย
  4. นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
  5. นายโอฬาร จันทร์ภู่  นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
  6. นายปรีชา ศุภปีติพร  นายกสมาคมการขายและการตลาดสังหาริมทรัพย์ไทย
  7. นายประวิทย์ อนุศิริ  นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย
  8. นายสมเกียรติ จิตสร้างบุญ  นายกสมาคมหินอ่อนและแกรนิตไทย
  9. นายวัฒนพล ผลชีวิน นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี
  10. นายทายาท กาญจนจิตรา  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ระยอง
  11. นายณัฐพงศ์ ประสารศิวมัย  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา
  12. นายตุรงค์ ธนะปุระ  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี
  13. นายมงคล เหลี่ยมวัฒนกุล  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์พิษณุโลก
  14. นายชินะ สุทธาธนโชติ  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงราย
  15. นายเมธาพงศ์ อุปัติศฤงค์  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต
  16. นายวรัชญ์ ปริสุทธิ์กุล  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์สงขลา
  17. นายปรีชา กุลไพศาลธรรม  นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี
  18. นายธนวัฒน์ พูนศิลป์  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ 3 จังหวัดชายแดนใต้
  19. นายสรนันท์ เศรษฐี  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่

 

]]>
1479554
“ต่างชาติ” เริ่มกลับมาซื้อคอนโดฯ ไทย จับตา “พม่า-อเมริกัน” ลงทุนสูง ซื้อห้องใหญ่ราคาแพง https://positioningmag.com/1410110 Sat, 26 Nov 2022 09:54:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1410110
  • ข้อมูลจาก JLL ระบุ ปี 2565 การเข้าซื้อคอนโดฯ เมืองไทยของ “ต่างชาติ” เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยคิดเป็น 10.1% ของยูนิตขายทั้งหมด
  • ขณะที่ CBRE ชี้เทรนด์หลังโควิด-19 กลุ่มต่างชาติมาแรงคือ “พม่า” และ “อเมริกัน” โดยพม่าเข้าซื้อเพื่อเป็น ‘เซฟเฮ้าส์’ จากการเมืองในประเทศ ขณะที่อเมริกันต้องการแหล่งลงทุนสินทรัพย์
  • สมาคมอาคารชุดไทย จัดสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2023” โดยมีหัวข้อหนึ่งในงานสัมมนารวมผู้เชี่ยวชาญเพื่ออภิปรายในหัวข้อ “แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมกับลูกค้าต่างชาติ” มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

    “สุพินท์ มีชูชีพ” ประธานกรรมการบริหาร  บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JLL ฉายภาพรวมการเข้าซื้อคอนโดฯ ของต่างชาติ เฉพาะ 8 เดือนแรกปี 2565 เมืองไทยมีการขายคอนโดฯ ไปกว่า 58,000 ยูนิต มูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นการซื้อของต่างชาติคิดเป็น 10.1% ของจำนวนยูนิต แต่จะคิดเป็น 19.5% หากคิดตามมูลค่า

    เมื่อเทียบกับสถิติที่ผ่านมา สัดส่วนต่างชาติเข้าซื้อคอนโดฯ ไทยเคยสูงสุดที่ 16% ของจำนวนยูนิตเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 และเมื่อเผชิญโควิด-19 การซื้อของต่างชาติลดสัดส่วนเหลือ 6% เมื่อปี 2563 จึงเห็นได้ว่ากำลังซื้อต่างชาติได้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง

     

    “คนจีน” ยังซื้อมากที่สุดเช่นเคย

    แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาตลาดลูกค้าจีนอาจจะลดลงบ้างเนื่องจากการปิดพรมแดนจีน แต่อย่างไรลูกค้าจีนก็ยังเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดในตลาดคอนโดฯ เมืองไทย โดยสุพินท์ระบุว่า มูลค่าการโอนคอนโดฯ 8 เดือนแรกปี 2565 ในกลุ่มต่างชาติ “คนจีน” คิดเป็นสัดส่วนถึง 50%

    ในตลาดนี้ “เค่อเจียว เตียว” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาร์วี่แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในไทย สรุปอินไซต์จากคนจีนว่า “ทำไมคนจีนจึงชอบอสังหาฯ เมืองไทย” เค่อเจียวกล่าวว่า คนจีนนั้นมองเป้าหมายในการลงทุนอสังหาฯ ไว้ 3 ทวีปคือ ยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย โดยในเอเชีย ประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายอันดับ 1 รองลงมาคือญี่ปุ่น และ มาเลเซีย

    เหตุที่คนจีนชอบประเทศไทย เพราะมองว่าเป็นสถานที่ที่ ‘อยู่ง่าย’ ที่สุดสำหรับคนจีน จากศาสนา อาหาร วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน และคนไทยมีความเป็นมิตรกับคนจีน เปิดกว้างต้อนรับมากกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้อย่างไรไทยยังคงเป็นความสนใจหลักของชาวจีนเสมอ

    Photo : Shutterstock

     

    ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มาแรง “พม่า-อเมริกัน”

    ด้าน “อาทิตยา เกษมลาวัณย์” หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงข้อมูลของ CBRE ที่เก็บสะสมระหว่างปี 2548-2565 พบว่าสัญชาติที่เข้าซื้ออสังหาฯ ในเมืองไทยมากที่สุดคือ 1.จีนแผ่นดินใหญ่ 2.เยอรมัน 3.สิงคโปร์ 4.รัสเซีย 5.ฮ่องกง 6.อังกฤษ และ 7.ไต้หวัน (*CBRE เป็นตัวแทนขายอสังหาฯ ระดับลักชัวรีจนถึงซูเปอร์ลักชัวรีเป็นหลัก ทำให้ข้อมูลอาจแตกต่างจากการเก็บข้อมูลอสังหาฯ รวมทุกระดับราคา)

    ทั้งนี้ ชาวเยอรมันจะสนใจซื้ออสังหาฯ ในพัทยาเป็นส่วนใหญ่ และรัสเซียสนใจซื้อในภูเก็ตและพัทยา ส่วนชาติอื่นๆ จะนิยมในกรุงเทพฯ

    นั่นเป็นข้อมูลที่สะสมในรอบ 17 ปี แต่สำหรับข้อมูลล่าสุดหลังโควิด-19 อาทิตยากล่าวว่ามีเทรนด์ที่มาแรงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ “ชาวพม่า” ซึ่งเกิดแรงผลักดันจากการเมืองภายในประเทศบ้านเกิด ทำให้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยไว้เป็นบ้านหลังที่สอง โดยมูลค่าการซื้อส่วนใหญ่นั้นต้องการคอนโดฯ ห้องใหญ่ราคาสูงเกิน 50 ล้านบาทด้วย

    อีกชาติหนึ่งที่น่าสนใจคือ “อเมริกัน” CBRE พบว่ามีอเมริกันกลุ่มใหม่ที่ลงทุนในหลัก 100 ล้านบาทขึ้นไปต่อยูนิต เพราะต้องการแหล่งลงทุนทรัพย์สินปลอดภัย จากปกติกลุ่มอเมริกันที่ซื้อคอนโดฯ ในไทยมักจะเป็น expat ที่ต้องการที่อยู่อาศัยระหว่างทำงาน

    ส่วนชาติอื่นๆ ที่เป็นการกลับมาซื้ออีกครั้ง เช่น รัสเซีย ที่กลับมาสนใจวิลล่าชายทะเล จ.ภูเก็ต มากขึ้น หรือซาอุดิอาระเบียที่เริ่มเห็นการซื้อคอนโดฯ ใหม่เพื่อทดแทนยูนิตเดิม

     

    ปัจจัยบวก “ท่องเที่ยวฟื้น”

    สำหรับปีหน้าตลาดการขายคอนโดฯ ให้กับต่างชาติก็น่าจะยังสดใสต่อเนื่อง โดย “ณัฏฐา คหาปนะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยในการประเมินว่า ตลาดต่างชาติจะกลับมาได้ดีแค่ไหน สามารถดูได้จาก 2 ปัจจัยคือ 1.การท่องเที่ยว และ 2.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

    การท่องเที่ยวนั้นเป็นปัจจัยสำคัญเพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่จะลงทุนอสังหาฯ มักจะเคยมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยก่อนและเกิดความประทับใจ ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศแล้ว 5.6 ล้านคน และปี 2566 น่าจะเติบโตต่อเนื่อง

    (Photo: Shutterstock)

    แม้ว่าประเทศจีนอาจยังไม่เปิดพรมแดนเต็มที่และน่าจะยังไม่เปิดจนกว่าจะถึงกลางปี 2566 แต่จากสัญญาณปีนี้เห็นได้ว่ามีประเทศอื่นๆ เข้ามาทดแทนเช่นกัน เช่น มาเลเซีย อินเดีย ลาว สิงคโปร์ เวียดนาม ซึ่งน่าสนใจว่าอาจเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ได้

    ด้าน FDI นั้นปี 2565 มีมูลค่ากว่า 2.75 แสนล้านบาท แม้จะยังไม่เทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 แต่เป็นสัญญาณที่ดี และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนั้นมีความสำคัญต่อภาคอสังหาฯ เพราะจะทำให้มีพนักงานชาตินั้นๆ เข้ามาทำงานในไทยสูงขึ้น และจะต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่ม ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอีอีซี

    สรุปได้ว่า ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนมีโอกาสที่ดีในการดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติ จากปัจจัยบวกที่มีมากขึ้น อย่างไรก็ดี อาจจะต้องมองหาโอกาสในกลุ่มลูกค้าชาติอื่นๆ เพิ่มเติมจากชาวจีนด้วย

    ]]>
    1410110
    สรุปร่างกฎหมายให้ “ต่างชาติซื้อที่ดิน” ในไทย ซื้อได้แค่ไหน? ต้องทำอย่างไรบ้าง? https://positioningmag.com/1392828 Sat, 16 Jul 2022 04:36:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1392828 ก่อนหน้านี้ การที่ “ต่างชาติ” จะถือครอง “ที่ดิน” ในไทยได้ จะต้องซื้อผ่านนิติบุคคลสัญชาติไทย แต่ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดที่กำลังจัดทำเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะปลดล็อกให้ต่างชาติซื้อที่ดินไทยได้ในนามบุคคลธรรมดา

    (ข้อมูลอ้างอิง: นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี)

    Q: ชื่อกฎหมายและหน่วยงานรับผิดชอบ
    A: ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงประเทศไทย พ.ศ. …. ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (รับผิดชอบจัดทำโดย กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย)

    Q: ซื้อได้มากแค่ไหน
    A: ไม่เกิน 1 ไร่

    Q: เงื่อนไขก่อนจะซื้อที่ดินไทยได้
    A: ต้องลงทุนในไทยด้วยเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท
    และลงทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในธุรกิจหรือกิจการที่กำหนด เช่น กองทุนรวม กองรีท พันธบัตร

    Q: เงื่อนไขการใช้ที่ดิน
    A: ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น
    หากพบว่านำไปใช้ในจุดประสงค์อื่น จะถูกถอนสิทธิ

    Q: เหตุผลที่รัฐบาลออกกฎหมายนี้
    A: กฎหมายนี้ถือเป็นส่วนพ่วงที่จะช่วยจูงใจให้คนต่างชาติศักยภาพสูงเลือกมาพำนักในไทย หรือ “โครงการ Long-term resident Visa” ทำวีซ่าครั้งเดียวอยู่ได้ 10 ปี ที่จะเริ่มบังคับใช้เดือนกันยายน 2565

    กลุ่มเป้าหมายศักยภาพเหล่านี้คือ กลุ่มผู้เกษียณอายุ, กลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากไทย ทั้งหมดต้องมีฐานะมั่งคั่ง เป้าหมายเพื่อให้มาจับจ่ายในไทย กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

    Q: คาดว่าใครที่จะสนใจซื้อที่ดิน
    A: จากสถิติปี 2564 ต่างชาติที่นิยมซื้อห้องชุดคอนโดฯ ไทยอยู่แล้ว คือ ชาวจีน 59.4% รัสเซีย 3.7% สหราชอาณาจักร 3.4% สหรัฐฯ 3.4% เยอรมนีและฝรั่งเศส 2.9% เท่ากัน (ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.)

     

    รู้หรือไม่? มีหลายประเทศในโลกที่อนุญาตให้ “ต่างชาติซื้อที่ดิน” ได้ แต่อาจมีเงื่อนไขต่างๆ ควบคุม เช่น กำหนดพื้นที่ที่ห้ามต่างชาติซื้อ กำหนดขนาดที่ดิน ห้ามต่างชาติถือครองในโครงการจัดสรรเกินสัดส่วน 50% ห้ามซื้อบ้านทิ้งไว้โดยไม่มีการอยู่อาศัยเกิน 6 เดือน เป็นต้น

    ]]>
    1392828
    “ศูนย์ข้อมูลฯ ธอส.” แนะ 3 ข้อกำหนดก่อนรัฐคลอดกฎหมาย “ให้ต่างชาติซื้อบ้านได้” https://positioningmag.com/1331446 Mon, 10 May 2021 13:30:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331446 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แนะนำ 3 ข้อกำหนดที่ควรมี หากรัฐจะผลักดันกฎหมายเปิดช่อง “ให้ต่างชาติซื้อบ้านได้” จุดประสงค์เพื่อให้คนไทยยังเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่าย และมีสิทธิส่วนใหญ่ในการบริหารโครงการที่อยู่อาศัยของตนเอง พร้อมเปิดข้อมูลปัจจุบันต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยไทยอย่างไรบ้าง

    ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC กล่าวถึงนโยบายภาครัฐที่ต้องการจะแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อหรือเช่าอสังหาฯ ในไทยได้สะดวกขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาฯ ของไทย

    โดยเบื้องต้นนโยบายที่รัฐกำลังพิจารณา ตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 มีดังนี้

    1. ปลดล็อกให้ต่างชาติซื้อกรรมสิทธิ์ห้องชุดในคอนโดมิเนียมได้ 70-80% จากเดิมซื้อได้ไม่เกิน 49% ของจำนวนห้องชุดทั้งโครงการ
    2. ปลดล็อกให้ต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้ โดยต้องเป็นบ้านพร้อมที่ดินราคา 10-15 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมต่างชาติไม่สามารถซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เลย
    3. ขยายระยะสัญญาเช่าของชาวต่างชาติเป็นสูงสุด 50 ปี และสามารถต่อสัญญาอีกครั้ง 40 ปี จากเดิมเช่าได้สูงสุด 30 ปี (หากต้องการทำสัญญา 90 ปี ต้องต่อสัญญา 2 ครั้ง คือ 30+30+30 ปี)
    4. ระยะเวลาผ่อนผันนโยบายข้างต้น ให้เวลา 3-5 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงหลังเผชิญโรคระบาด COVID-19 เท่านั้น
    ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC

    ต่อประเด็นนโยบายให้ต่างชาติซื้อบ้านได้ ดร.วิชัย มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ เพื่อให้ประโยชน์ยังตกแก่คนไทยในการซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต ดังนี้

    1. ในกรณีห้องชุดคอนโดฯ ควรกำหนดให้ซื้อได้เกินกว่า 49% เฉพาะห้องชุดระดับราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท และกำหนดเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะซื้อห้องชุดในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท จึงควรป้องกันไม่ให้ห้องชุดราคาไม่เกิน 5 ล้านถูกซื้อโดยคนต่างชาติมากเกินไป
    2. ในกรณีบ้านพร้อมที่ดิน ควรกำหนดให้ต่างชาติซื้อในราคามากกว่า 15 ล้านบาทเท่านั้น เพราะในทำนองเดียวกับคอนโดฯ คือคนไทย 90% ซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 15 ล้านบาท ขณะที่ต่างประเทศหลายแห่ง กรรมสิทธิ์ที่ดินเกือบทั้งหมดเป็นของรัฐ หรือราคาที่ดินสูงกว่าไทยมาก หากเปิดโอกาสให้คนต่างชาติซื้อได้เสรี เชื่อว่าคนต่างชาติจะสนใจนโยบายของไทยพอสมควร และอาจมีผลกระทบต่อราคาบ้านโดยรวมในไทยปรับตัวขึ้นเร็ว
    3. ควรกำหนดสิทธิในการโหวต (Voting Rights) ของคนต่างชาติในที่ประชุมลูกบ้านโครงการจัดสรรให้ไม่เกิน 49% เพื่อให้การกำหนดกฎเกณฑ์ของโครงการจัดสรรต่างๆ ยังเป็นไปตามหลักบรรทัดฐานสังคม-วัฒนธรรมแบบไทย
    พัทยา หนึ่งในเมืองที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อคอนโดฯ มากที่สุดในไทย

    ดร.วิชัยยังขยายความเรื่อง “พื้นที่” ที่เหมาะสมในการอนุญาตผ่อนผันให้ต่างชาติ คือควรคำนึงไม่ให้กระทบกับพื้นที่ที่คนไทยยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยของตนเองมาก ดังนั้น บริเวณที่เหมาะสมให้ต่างชาติซื้อบ้านหรือเช่าระยะยาว เช่น สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ต เขตนิคมอุตสาหกรรม EEC ภาคตะวันออก เป็นต้น และควรกำหนดราคาควบคู่ไปด้วยดังที่เสนอข้างต้น

     

    เปิดข้อมูล “ต่างชาติ” นิยมห้องชุดราคาไม่เกิน 5 ล้าน

    REIC ยังเปิดเผยข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไทย (ปัจจุบันต่างชาติยังซื้อสิทธิ์ขาดในที่ดินไม่ได้ และ REIC ไม่สามารถติดตามข้อมูลที่เลี่ยงกฎหมายโดยการใช้ ‘นอมินี’ ถือครองที่ดินแทนได้) พบว่า คนต่างชาติเกือบ 78% โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกลุ่มราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาชาวต่างชาติส่วนใหญ่มีดีมานด์อสังหาฯ ในกลุ่มราคาเดียวกับคนไทย

    “กลุ่มราคาห้องชุดที่ต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด ปี 2561-63”

    • กลุ่มราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท 77.6%
    • กลุ่มราคา 10-7.5 ล้านบาท 12.0%
    • กลุ่มราคา 5-10 ล้านบาท 4.6%
    • กลุ่มราคา 10-15 ล้านบาท 3.3%
    • กลุ่มราคามากกว่า 15 ล้านบาท 2.5%

    ด้าน “ทำเลที่ต่างชาติสนใจและมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด แบ่งตามจำนวนยูนิต ปี 2561-63 มีดังนี้

    • กรุงเทพฯ 16,589 ยูนิต สัดส่วน 47.9% ของประเทศ
    • ชลบุรี 11,125 ยูนิต สัดส่วน 32.1% ของประเทศ
    • เชียงใหม่ 2,256 ยูนิต สัดส่วน 6.5% ของประเทศ
    • สมุทรปราการ 2,007 ยูนิต สัดส่วน 5.8% ของประเทศ
    • ภูเก็ต 1,368 ยูนิต สัดส่วน 3.9% ของประเทศ

    อย่างไรก็ตาม หากวัดตาม “มูลค่า” ตลาดซื้อขายอสังหาฯ ให้ต่างชาติใน จ.ภูเก็ต จะมีมูลค่าสูงกว่าเชียงใหม่และสมุทรปราการ

    และถ้าหากเทียบสัดส่วนจำนวนห้องชุดที่ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์เทียบกับการถือครองโดยคนไทย “ชลบุรี” ถือว่ามีสัดส่วนห้องชุดถูกซื้อโดยต่างชาติสูงที่สุดในระยะหลัง

    “ในคอนโดฯ 100 ห้องที่โอนกรรมสิทธิ์ มีชาวต่างชาติเป็นผู้ซื้อกี่ห้อง?” (ข้อมูลรวมเฉพาะปี 2561-63)

    • กรุงเทพฯ 7.8 ห้อง
    • ชลบุรี 30.3 ห้อง
    • เชียงใหม่ 18.5 ห้อง
    • สมุทรปราการ 6.3 ห้อง
    • ภูเก็ต 17.0 ห้อง
    • เฉลี่ยทั้งประเทศ 9.0 ห้อง

    ขณะที่กลุ่มตลาดหลักชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้ออสังหาฯ ไทยย่อมหนีไม่พ้น “ชาวจีน” โดย REIC ให้ข้อมูลไว้ว่า Top 5 สัญชาติชาวต่างชาติที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดไทยมากที่สุด ปี 2563 ได้แก่

    • จีน (ไม่รวมไต้หวัน) 63.4%
    • รัสเซีย 4.7%
    • ฝรั่งเศส 3.4%
    • สหราชอาณาจักร 3.1%
    • เยอรมนี 2.5%
    • อื่นๆ ได้แก่ สหรัฐฯ ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย รวม 9.2%

    ดร.วิชัยทิ้งท้ายว่า นโยบายเหล่านี้น่าจะช่วยส่งเสริมตลาดอสังหาฯ ไทยได้ แต่คงไม่เกิดขึ้นในทันที มองว่าจะเป็นผลบวกต่อแรงจูงใจในการซื้อของต่างชาติในระยะต่อไปมากกว่า และหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จคือไทยต้องควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ เพื่อเร่งเปิดประเทศให้เร็วที่สุด และอสังหาฯ ไทยจะได้รับความสนใจจากต่างชาติอีกครั้ง

    ]]>
    1331446
    ไทยไฟเขียว “บัตร Elite” ให้เศรษฐีต่างชาติได้สิทธิ์ทำงาน หากลงทุนล้านเหรียญ https://positioningmag.com/1306953 Fri, 20 Nov 2020 06:10:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306953 ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงข่าวว่าศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ได้เห็นชอบข้อเสนอของของ ททท. ที่จะออกใบอนุญาตทำงานแก่ชาวต่างชาติที่ถือบัตรอีลิท (Elite Card) และลงทุนในประเทศอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30 ล้านบาท)

    ข้อเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ร่างโดย ททท. เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้าประเทศ และเยียวยาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19

    ยุทธศักดิ์กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการนี้จะทำได้เมื่อผู้ถือบัตรอีลิทลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจในไทยเป็นระยะเวลา 5 ปี พร้อมเสริมว่าการประชุมของ ศบศ. ซึ่งนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้อนุมัติแผนการนี้

    ]]>
    1306953
    โจทย์ใหญ่ “ไรมอน แลนด์” ปี’63 ต่างชาติบินเข้ามาโอนโครงการไม่ได้ ต้องลดราคาปั้นยอดขาย https://positioningmag.com/1290504 Sat, 01 Aug 2020 06:47:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290504 ไรมอน แลนด์ บริษัทอสังหาฯ ที่เน้นพัฒนาโครงการระดับลักชัวรีเป็นหลัก และมีฐานลูกค้าต่างชาติถึง 40-45% เมื่อเผชิญวิกฤต COVID-19 ทำให้บริษัทตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากลูกค้าต่างชาติบินเข้าไทยไม่ได้ ทำให้แบ็กล็อกค้างคาไม่เปลี่ยนเป็นยอดโอน บวกสภาพตลาดอสังหาฯ ปีนี้ซบเซา ยอมรับต้องทำราคาสู้เพื่อจูงใจนักลงทุน

    บมจ.ไรมอน แลนด์ เพิ่งก่อสร้างโครงการ The Lofts สีลม มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาทเสร็จเป็นที่เรียบร้อย โดยโครงการนี้มียอดพรีเซลตุนไว้อยู่แล้ว 75% ของโครงการ

    แต่ยอดโอนกรรมสิทธิ์จะเข้ามาได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลในการบริหารสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากผู้ซื้อโครงการนี้ถึง 40% เป็นชาวต่างชาติ (ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน) เมื่อประเทศไทยปิดประเทศ เข้มงวดการเดินทางเข้าพรมแดน ทำให้ลูกค้าของไรมอน แลนด์ไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ได้ แม้จะยังไม่ทิ้งดาวน์ แต่รายได้ส่วนนี้ที่ควรจะได้โอนก็ยังต้องรอไปก่อน

    นอกจากปัญหาการโอนกรรมสิทธิ์ โรคระบาดยังซ้ำเติมสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยโดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม ที่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปีก่อน มาถึงปีนี้หลายสำนักวิเคราะห์ประเมินว่าราคาคอนโดฯ ไม่ใช่แค่ทรงตัวแต่อาจจะถึงกับติดลบ เช่น ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ประเมินว่าราคาอสังหาฯ ไตรมาส 1/63 ลดลง -9% YoY ทั้งนี้ ถ้าเจาะกลุ่มคอนโดฯ หรูราคามากกว่า 15 ล้านบาท ระดับราคายังทรงตัวเท่ากับปีก่อน แต่ก็ไม่ปรับขึ้นต่อเนื่องอย่างที่เคยเป็นมา

    “ไลโอเนล ลี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไรมอน แลนด์

    อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญปัญหาดังกล่าว “ไลโอเนล ลี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ไรมอน แลนด์ ยังมองว่าภาพรวมลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนยังสนใจอสังหาฯ ไทยอยู่ เพราะต้องการมีบ้านหลังที่สองในต่างประเทศ หรือต้องการลงทุนในอสังหาฯ และหากมองปัจจัยบวกคือตลาดอสังหาฯ ก็ปรับตัวตามสภาวะ การเปิดตัวโครงการคอนโดฯ ระดับลักชัวรีมีน้อยมาก เป็นโอกาสการขายของโครงการที่มีอยู่แล้วในตลาด

    แต่ไลโอเนลก็ยอมรับว่าการขายในปีนี้ยากขึ้น สำหรับโครงการระดับลักชัวรีที่จะขายได้ต้องเป็นโครงการที่ดี ทำเลและการออกแบบดี คุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงเรื่องของ “ราคา” ก็ต้องมีส่วนลดอย่างน้อย 5-7% เพื่อจูงใจกลุ่มนักลงทุน

    ห้องตัวอย่างแบบ High Ceiling Hybrid พื้นที่ใช้สอย 33 ตร.ม. เพดานสูง 4.7 เมตร ภายในโครงการ The Lofts สีลม ราคาเริ่มต้น 8.9 ล้านบาท

    ความยากในการขายโครงการระดับลักชัวรี สะท้อนในแผนของไรมอน แลนด์ที่ตัดสินใจเลื่อนเปิดโครงการคอนโดมิเนียมหรูในซอยสุขุมวิท 38 มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาทออกไปก่อน จากเดิมที่จะเปิดตัวไตรมาส 3/63 ทำให้ปีนี้บริษัทจะไม่มีการเปิดขายโครงการใหม่เลย แต่หันมาเน้นขายสต็อกทั้งที่สร้างเสร็จแล้ว เช่น The Lofts สีลม, The Lofts อโศก, The Diplomat 39, The Diplomat สาทร, The River และ Unixx พัทยาใต้ รวมถึงโครงการที่ยังอยู่ระหว่างสร้าง เช่น The Estelle พร้อมพงษ์, TAIT12, The Lofts ราชเทวี

    ปัจจุบันบริษัทมียอดขายครึ่งปีแรกแล้ว 1,329 ล้านบาท และมีแบ็กล็อกรอโอน 9,300 ล้านบาท ส่วนยอดรับรู้รายได้ปีนี้น่าจะทำได้ที่ 2,500-3,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 3,600 ล้านบาท

    COVID-19 นอกจากจะมีผลกับอสังหาฯ เพื่อขายแล้ว ยังกระทบอสังหาฯ เพื่อเช่าของบริษัทด้วย โดยเดิมไรมอน แลนด์จะเปิดตัวโรงแรม KITCH โรงแรมขนาด 72 ห้องทำเลด้านหน้าโครงการ The River ถนนเจริญนคร ในเดือนเมษายน 2563 หวังเจาะกลุ่มชาวจีนและอินเดีย แต่เมื่อเจอไวรัสระบาดทำให้โรงแรมต้องเลื่อนเปิดตัวไปเป็นไตรมาส 4 ปีนี้ และเริ่มบริการเฉพาะส่วนร้านอาหารด้านหน้าก่อน ยังไม่เปิดให้เข้าพัก

    นับว่าเป็นปีสุดหินของไรมอน แลนด์ที่ต้องเผชิญทั้งสภาพตลาดอสังหาฯ ไทยที่ซบเซา และขาดกำลังซื้อสำคัญจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ

    ]]>
    1290504
    ญี่ปุ่น เตรียมสร้างศูนย์ตรวจ COVID-19 ใกล้สนามบินหลักในโตเกียว-โอซาก้า รองรับนักท่องเที่ยว https://positioningmag.com/1286593 Sun, 05 Jul 2020 05:21:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286593 “ญี่ปุ่น” วางเเผนจะตั้งศูนย์ตรวจ COVID-19 เเห่งใหม่ ใกล้สนามบินหลัก 3 เเห่งในกรุงโตเกียวเเละโอซาก้า รวมถึงในกลางใจเมืองใหญ่ หลังรัฐบาลเตรียมผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

    ศูนย์ตรวจ COVID-19 ดังกล่าว จะตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะและนาริตะ และท่าอากาศยานนานาชาติคันไซในเมืองโอซาก้า เพื่อรองรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเปิดทำการได้อย่างเร็วที่สุดภายในฤดูร้อนนี้

    ปัจจุบันญี่ปุ่นมีศูนย์กักกันโรคในสนามบิน ที่สามารถตรวจหาเชื้อแบบ Polymerase Chain Reaction (PCR) ได้เฉลี่ยราว 1,000 ตัวอย่างต่อวัน ซึ่งต้องรอผลตรวจประมาณ 1-2 วัน เเต่ศูนย์ตรวจเเห่งใหม่ที่กำลังจะสร้างนี้ จะเพิ่มจำนวนการตรวจ PCR เป็นมากกว่า 4,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยหน่วยงานสาธารณสุขญี่ปุ่น หวังว่าจะช่วยร่นเวลาการตรวจเชื้อให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง ด้วยการใช้วิธีการใหม่

    ขณะเดียวกัน ตั้งเป้าว่าศูนย์ตรวจเชื้อในเมืองใหญ่เหล่านี้ จะขยายไปตรวจเชื้อให้กับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศได้ ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาออกใบรับรองให้แก่ผู้ที่มีผลตรวจเชื้อเป็นลบด้วย

    ญี่ปุ่น ออกมาตรการจำกัดการเดินทางที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนก.. เพื่อสกัดการระบาดของ COVID-19 เเละยังคงเดินหน้าควบคุมพรมแดนกับหลายประเทศ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เพิ่มอีก 18 ประเทศ เช่น แอลจีเรีย คิวบา และอิรัก เข้าไปในรายชื่อประเทศที่ถูกแบนการเดินทาง ทำให้จำนวนรวมเพิ่มเป็น 129 ประเทศ

    จากข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า ในเดือนพ..ที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติที่เดินทางมาญี่ปุ่นเพียง 1,700 คน น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ และลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 99.9%

    อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่น กำลังเจรจากับหลายประเทศเพื่อลดข้อจำกัดในการเดินทางร่วมกัน สำหรับนักธุรกิจที่ปลอดเชื้อ และมีการระบุแผนการเดินทางให้ชัดเจนในระหว่างที่พำนักในญี่ปุ่น โดยคาดว่าประเทศที่ญี่ปุ่นจะคลายล็อกให้นั้น มีไทยและออสเตรเลีย ขณะที่แหล่งข่าวทางการทูต เปิดเผยเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลอาจเริ่มเจรจากับไต้หวันและบรูไน ภายในเดือนนี้ด้วย

    ทั้งนี้ เมื่อช่วงเมื่อปลายเดือนที่เเล้ว มีการเดินทางจากญี่ปุ่นไปเวียดนามบางส่วน ด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ

     

    ที่มา : japantimes

     

    ]]>
    1286593
    เปิด 3 แนวทางติดตาม 11 กลุ่มต่างชาติเดินทางเข้าไทย “แยกกัก-กักกัน-คุมสังเกตอาการ” https://positioningmag.com/1286171 Thu, 02 Jul 2020 04:56:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286171 ศบค.แจงยิบแบ่ง 11 กลุ่มคนเข้าไทย ใช้ 3 แนวทางติดตามสกัด COVID-19 ใช้วิธี “แยกกัก” ในคนป่วย หากไม่ป่วยอยู่ระยะยาวใช้วิธี “กักกัน” 14 วัน ในสถานที่ตามเหมาะสมแต่ละกลุ่ม ทั้ง State Quarantine แบบจ่ายเงินเอง รพ. สถานทูต หรือสถานที่ที่องค์กรจัดเอง ส่วนแขกรัฐบาล-มาระยะสั้น ใช้วิธี “คุมไว้สังเกตอาการ” มีบุคลากรทางการแพทย์ติดตาม ห้ามออกนอกเส้นทาง

    นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของไทย เนื่องจากต่างประเทศยังมีผู้ป่วยเพิ่มวันละมากกว่าแสนราย ว่า เรามีการประชุมในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่ โดยเรามีความพร้อมเรื่องเตียง

    • กทม.มีเตียงระดับไอ.ซี.ยู. 106 เตียง ไม่ใช่ไอ.ซี.ยู. 1,589 เตียง โรงแรมที่จัดทำเป็นสถานที่พักผู้ป่วย (Hospitel) 568 เตียง
    • ทั่วประเทศไอ.ซี.ยู. มี 465 เตียง ไม่ใช่ไอ.ซี.ยู. 9,617 เตียง และ Hospitel 9,781 เตียง
    • รวมแล้วมีไอ.ซี.ยู. 571 เตียง ไม่ใช่ไอ.ซี.ยู. 11,206 เตียง และ Hospitel 10,349 เตียง
    • เวชภัณฑ์ หน้ากาก N09 มี 1.12 ล้านชิ้น ชุด PPE มี 5.11 แสนชุด และเครื่องช่วยหายใจ 1.1 หมื่นเครื่อง
    • ยาฟาวิพิราเวียร์ มี 3.19 แสนเม็ด สำหรับผู้ป่วย 4,571 คน และจะมีอีก 4 แสนเม็ดภายใน ก.ค. 2563

    มาตรการรองรับการเดินทางมาจากต่างประเทศ การจัดการในทางกฎหมายโดย พ.ร.บ.โรคติดต่อ บัญญัติวิธีการไว้ 3 อย่าง คือ

    1. แยกกัก คือ ลงเครื่องมาป่วยเอาเข้า รพ.ทันที เรียกว่า Isolation

    2. กักกัน (Quarantine) มี 4 ประเภท คือ

    • กักกันที่บ้าน (Home Quarantine)
    • สถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine : SQ) หรือตามต่างจังหวัด (Local Quarantine :LQ ) และที่จ่ายเงินเอง (Alternative State Quarantine ASQ) และในระดับจังหวัด (Alternative Local Quarantine : ALQ)
    • องค์กรนั้นจัดขึ้นมาและให้พักในพื้นที่ตนเองจัดไว้ (Organization Quarantine : OQ) ซึ่งข้อกำหนดฉบับที่ 12 แบ่งคนออกมา 11 ประเภท มีกลุ่มหนึ่งที่มาเป็นโรงเรียน ครู นักเรียนต่างชาติ ผู้บริหารต่างๆ มาครั้งหนึ่งอาจหลายสิบหรือร้อยคน แต่มีหอพัก หรือ รพ.ประจำสถานศึกษาอยู่แล้ว เราก็อนุญาตให้พักในสถานที่ที่องค์กรจัดได้ แต่จะต้องผ่านมาตรฐานที่กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และฝ่ายมั่นคงเข้าไปกำกับตรวจสอบ และยืนยันว่า จะไม่มีการออกไปข้างนอกให้เกิดการแพร่เชื้อ
    • Hospital Quarantine สำหรับคนที่เดินทางมารักษาหรือดูแลสุขภาพ โดยใช้ รพ.เป็นสถานที่กักกัน
    (Photo by Adisorn Chabsungnoen/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

    3. คุมไว้สังเกตอาการ (Close Observation) คือ ไม่ต้องนอนใน รพ.หรือ รพ. ประเภทนักธุรกิจมาระยะสั้นๆ มาเซ็นสัญญานอน 2-3 วันกลับบ้าน ก็ไม่อยากมาอยู่ 14 วัน แต่ต้องมีระบบตรวจสอบตั้งแต่ก่อนมา ระหว่างมา และก่อนจะกลับ ว่าไม่มีเชื้อ ตรวจกันยิบ และต้องมีแผนว่าจะไปไหนให้เราเห็น โดยรถยนต์ส่วนตัว จะไปดูไปตรงไหนต้องบอกเราทั้งหมดและไปในเส้นทางนี้ และต้องจ่ายเอง นอนโรงแรมไหน โรงแรมนั้นก็ต้องเป็น Alternative State Quarantine มีแพทย์ พยาบาลประกบ และจะไปที่ไหนจะไปเดี่ยวๆ ไม่ได้ ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามไปด้วย คือ เป็นการคุมไว้สังเกต อยู่ในสายตาของเราตลอด และต้องไม่เป็นความเสี่ยงกับเรา

    11 กลุ่มเข้าไทย

    การผ่อนปรน 6 กลุ่มที่จะเข้าไทย 200 คนต่อวัน กลุ่มคนที่จะเข้ามาในประเทศไทยมี 11 กลุ่ม ดังนี้

    1. ผู้มีสัญชาติไทย อยู่ได้ทั้ง SQ LQ ALQ

    2. ผู้มีเหตุยกเว้น ใช้แนวทางคุมไว้สังเกตอาการ

    3. บุคคลในคณะทูต ใช้วิธีกักตนเองในสถานทูตนั้น (Home/Self Quarantine)

    4. ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น เมื่อขนส่งเสร็จเข้ามาก็ขับรถออกไปได้ ไม่ต้องอยู่

    5. ผู้ควบคุมยานพาหนะ อาจต้องพักค้าง เช่น กัปตันเครื่องบิน แอร์โฮสเตส สายการบินทั้งหลาย ใช้วิธี ASQ

    6. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นคู่สมรสคนมีสัญชาติไทย ใช้ ASQ

    7. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีถิ่นที่อยู่ในไทย ใช้ ASQ

    8. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีใบอนุญาตทำงาน ใช้ ASQ

    9. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาในไทย ใช้ ASQ หรือ OQ

    10. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาในไทย ใช้กักใน รพ.

    11. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้รับอนุญาตเข้ามาในไทยตามข้อตกลงพิเศษ มาระยะยาวใช้วิธี ASQ หรือมาระยะสั้นๆ ใช้วิธีคุมไว้สังเกตอาการ

    ]]>
    1286171
    อนุมัติต่างชาติ 6 กลุ่มเข้าไทย จ่ายเงินกักตัว 14 วันเอง กลุ่มแขกรัฐบาลห้ามออกนอกเส้นทาง https://positioningmag.com/1285696 Mon, 29 Jun 2020 15:09:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285696 ศบค.เห็นชอบบุคคล 6 กลุ่มเดินทางเข้าไทย ชี้กลุ่มอยู่นานต้องกักตัว 14 วัน ออกค่าใช้จ่ายเอง คาดให้เข้ามาได้วันละ 200 คน ส่วนกลุ่มเข้ามาด้วยข้อตกลงพิเศษ มี 4 ประเทศเป้าหมาย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และ 1 เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ด้านกลุ่มเข้ามาระยะสั้น เร่งด่วน หรือแขกของรัฐบาล ต้องเป็นคณะเล็กไม่เกิน 10 คน ตรวจเชื้อก่อนมาและเมื่อถึงไทยว่าปลอดเชื้อ ห้ามออกนอกเส้นทาง ย้ำเดินทางเข้าพร้อมไฟลต์นำคนไทยกลับบ้าน

    เปิด 6 กลุ่มให้เข้าประเทศ

    นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงมาตรการผ่อนคลายผู้คนเข้าราชอาณาจักรว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอเพิ่มบุคคล 6 กลุ่มเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่

    1. คู่สมรสและบุตรของผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักร หรือคนที่ได้ Work Permit เดิมได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่แล้ว แต่ญาติไม่ได้เข้ามา ก็อนุญาตให้เข้ามาได้

    2. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

    3. คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่อบด้วยกฎหมายของผู้มีสัญชาติไทย หรือคนต่างชาติที่แต่งงานกับคนไทยและบุตรอนุญาตให้เข้ามา

    4. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยและมีผู้ติดตามเข้ามา คือ Medical Hub โดยจะเน้นบางโรคบางกลุ่ม ยืนยันว่าไม่ได้เอาคนป่วย COVDI-19 เข้ามา เพราะหากป่วยจะต้องถูกกันไว้ตั้งแต่แรก แต่ผู้ที่จะเข้ามารับการรักษา เช่น มาทำตา มาเสริมจมูก ตรวจเรื่องการมีบุตรยาก ซึ่งชื่อเสียงแพทย์ไทยดังด้านนี้ ก็มาได้

    5. นักเรียนนักศึกษาต่างชาติ และผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว

    6. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) กับประเทศเป้าหมาย อาจจะรวมแขกของรัฐบาล นักลงทุนพิเศษทั้งหลาย

    Photo : Shutterstock

    ต้องจ่ายค่ากักตัว 14 วันเอง

    รมว.กต.ได้เสนอขึ้นมาถึงการจัดทำความตกลงพิเศษ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค โควตาที่กำหนดให้สอดคล้องกับสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine : ASQ) คือ โรงแรมหรู ที่จับมือกับ รพ. ซึ่งคนเข้ามาต้องจ่ายเงินเองในการอยู่กักตัว 14 วัน

    ขั้นต้นอาจกำหนดจำนวนรวม 200 คนต่อวัน ซึ่งตอนนี้ห้องว่าง 600 กว่าห้องก็คิดว่าน่าจะพอไหว ส่วนประเทศเป้าหมายที่พิจารณา คือ 4 ประเทศและ 1 เขตการปกครอง คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เกณฑ์การพิจารณา คือ 1. มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไทย 2. ควบคุมการระบาดได้ดีใกล้เคียงกับไทย 3. มีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และ 4. มีความพร้อมและความสนใจในการทำความตกลง

    การที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำได้ 2 ระบบ คือ

    1. ระบบปกติ (Normal Track) คือ ต้องเข้ามาอยู่ใน ASQ เพื่อกักตัว 14 วันก่อน โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง คือ คนที่ต้องมาอยู่กับเรานานๆ มาทำงานนานๆ

    2. ระบบ Fast Track คือ มาระยะสั้นๆ หรือมาเร่งด่วน เช่น มาจดทะเบียนลงนามสัญญาสำคัญ 2 วันแล้วกลับ เป็นต้น ไม่ต้องอยู่ 14 วัน แต่ต้องมีเงื่อนไขเข้มงวด โดยหลักเกณฑ์ในการรองรับการเดินทางของแขกรัฐบาล คือ

    • เป็นคณะเล็กไม่เกิน 10 คน
    • เดินทางระยะสั้น
    • ตรวจรับรองการปลอดเชื้อโควิดที่ประเทศต้นทางและเมื่อเดินทางถึงไทย โดยให้ตรวจและรอผลตรงนั้น ต้องเป็นลบ 2 ครั้งถึงเข้าประเทศได้
    • ให้หน่วยงานราชการที่เป็นเจ้าภาพเชิญแขกระดับสูง พิจาณาจัดเจ้าหน้าที่ประจำคณะในลักษณะ Liaison Officer ติดตาม หรือมีคนตามประกบ
    • มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานความมั่นคงติดตามคณะนั้นไปด้วย และมีค่าใช้จ่ายให้ทีมเหล่านี้ด้วย
    • ต้องจำกัดการเดินทางเฉพาะกำหนดการที่ได้ตกลงไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ห้ามคณะเดินทางไปในที่สาธารณะและห้ามใช้ขนส่งมวลชน สำหรับการเดินทางเข้ามา แบ่งเป็น กลุ่มที่ได้รับการอนุมัติแล้วและยังรอการเดินทาง ให้เดินทางกลับพร้อมคนไทยในเที่ยวบิน Repratiation Flight และกลุ่มที่กำลังขออนุมัติการเดินทาง

    ยกเว้นการนั่งที่เว้นที่บน BTS

    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะที่กระทรวงการคมนาคมขอยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เสนอไป คือ การจัดที่นั่งเว้นที่นั่งบนบีทีเอส หรือรถต่างๆ เนื่องจากตอนนี้เข้าสู่การปกติ การเคลื่อนย้ายโดยขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น จึงขอยกเว้นเรื่องดังกล่าว แต่ต้องใส่หน้ากากตลดเวลา และความหนาแน่นสูงสุด คือ 70%

    (Photo by Allison Joyce/Getty Images)

    เมื่อถามถึงการลักลอบเข้าประเทศ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผอ.ศบค.ห่วงใยและสั่งการให้ตรวจสอบ พบว่ามีการเดินทางผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายมีเป็นประจำ และมีรอบพื้นที่ประเทศไทย จึงสั่งการให้ฝ่ายมั่นคงดูแลเข้ม โดยพบว่ามิ.ย.ที่ผ่านมา ในรอบ 24 ชั่วโมงจากลาวจับกุม 7 คน กัมพูชา จับกุม 26 คน พม่า 35 คน และรายงานตลอดทั้งเดือนสะสม 2,498 คน ในช่วงเกือบ 1 เดือน มากที่สุด พม่า 1,276 คน ลาว 142 คน กัมพูชา 1,016 คน เวียดนาม 4 คน จีน 6 คน อินเดีย 27 คน อื่นๆ 27 คน ซึ่งไม่ใช่แค่พื้นที่ขอบชายแดน ยังมีพื้นที่ตอนในเข้ามาด้วย หมายความว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่ในเมืองไทยและอาจอยู่มานานด้วย อาจจะเป็นเหตุที่เรายังวางใจไม่ได้ ถ้ามีการเดินทางกันอย่างนี้ ฝ่ายมั่นคงดูแลเต็มที่ก็จับได้ประมาณนี้ จะรอให้ฝ่ายมั่นคงทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขอประชาชนช่วยกันสอดส่องด้วยเพราะมีความเสี่ยงทั้งสิ้น

    Source

    ]]>
    1285696
    เปิด 3 ขั้นตอน ผ่อนคลายชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ล็อตแรกเริ่ม 1 ก.ค. https://positioningmag.com/1284978 Sat, 27 Jun 2020 07:46:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1284978 ศบค.เผย 3 ขั้นผ่อนคลาย “ต่างชาติ” เข้าไทย ขั้นแรกเริ่มทันที 1 ก.ค. เป็นนักธุรกิจ แรงงานฝีมือ ต่างด้าว ครู นศ. กักตัว 14 วัน ส่วนนักธุรกิจ-แขกรัฐบาลที่มาระยะสั้น มีทีมแพทย์ติดตามสังเกตอาการ

    ขั้นสองเริ่ม 1 ก.ค.หรือเมื่อพร้อมในกลุ่มเข้ามารับการรักษา ส่วนขั้นที่ 3 คือ Travel Bubble จ่อทำ 2 รูปแบบ เป็น “วิลลา ควอรันทีน” เริ่ม 1 ส.ค. ส่วนรูปแบบยกเลิกควอรันทีนยังต้องรออีกนาน

    นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงการเปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยว่า การผ่อนคลายจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ

    ขั้นที่ 1

    มี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดำเนินการให้เข้ามาได้ทันที คือ นักธุรกิจ/นักลงทุน มีลงทะเบียนไว้ 700 คน และอยู่ใน Waiting List เมื่อเข้ามาจะต้องถูกกักตัวตามมาตรการ 14 วัน และกลุ่มที่ให้เข้ามาได้ในวันที่ 1 ก.ค. 2563 หลังเสนอ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาเห็นชอบวันที่ 29 มิ.ย. คือ แรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 15,400 คน คนต่างด้าว กรณีเป็นครอบครัวคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในไทยจำนวน 2,000 คน ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ประมาณ 2,000 คน ส่วนนี้ต้องถูกกักตัว 14 วันเช่นกัน

    ส่วนนักธุรกิจ นักลงทุน หรือแขกของรัฐบาลที่เดินทางเข้ามาสั้นๆ เช่น ประชุมสัมมนา 2 วันแล้วกลับ หรือลงนามสัญญาวันเดียวแล้วกลับ จะเสนอ ศบค.ให้เริ่มวันที่ 1 ก.ค.ด้วย โดยต้องมีมาตรการขั้นตอนตรวจเชื้อว่าปลอดโควิดทั้งต้นทาง เมื่อเดินทางถึงไทย มีประกันสุขภาพแสนเหรียญ และมีการจัดทีมติดตามทางการแพทย์อย่างน้อย 1 คน เพื่อกำกับดูแลสังเกตอาการ

    (Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images)

    ขั้นที่ 2

    กลุ่มที่จะขอให้ดำเนินการวันที่ 1 ก.ค. หรือเมื่อมีความพร้อม ได้แก่ กลุ่ม Medical and Wellness Tourism ซึ่งประมาณการว่าจะเข้ามาประมาณ 30,000 คน โดยอาจเลือกไว้ในเขต กทม. ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ เชียงราย (ตามความพร้อม) และกลุ่ม Medical and Wellness Tourism ที่ผนวกกับการดำเนินงานด้าน Safety Tour หรือ SHA

    ขั้นที่ 3

    โครงการทราเวล บับเบิล (Travel Bubble) แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ มาตรการวิลลา ควอรันทีน จะเริ่ม 1 ส.ค. โดยกลุ่มเดียวกันที่เข้ามาแล้วพักกลุ่มก้อนเดียวกัน เพื่อสะดวกติดตามกำกับ เช่น เช่าบังกะโลชุดใหญ่ริมหาด บางคนมาอยู่เป็นสัปดาห์เป็นเดือนอยู่แล้วก็อยู่ในพื้นที่ที่จำกัด โดยจะเปิดบริการแบบนี้เพื่อนำเงินเข้ามา

    รูปแบบที่ 2 คือ ผ่อนคลายมาตรการกักตัว แต่จะเริ่มดำเนินการเมื่อพร้อม และสังคมเชื่อมั่นในมาตรการ ตรงนี้ต้องรอไปอีกสักระยะ ส่วนกลุ่มประเทศยังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะตอนแรกหารือจีน ก็มีติดเชื้อปักกิ่ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะคุยก็มีติดเชื้อในประเทศก็ยืดออกไป ก็ต้องค่อยๆ คุยกัน

    เมื่อถามว่ายังมีคนไทยรอกลับประเทศอีก แต่โควตาเข้ามาได้วันละ 500 คน เมื่อจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามา ควรรอให้คนไทยกลับก่อนหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จะมีการขอเพิ่มโควต้าเป็น 600 คนต่อวันหรือมากกว่า นอกจากนี้ คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับก็อาจเลือกเข้าพักสถานกักตัวแบบทางเลือกที่เป็นโรงแรมดีๆ จับมือกับ รพ.เอกชน ซึ่งยังมีห้องว่างอยู่ 605 ห้อง ก็จะกลับมาเพิ่มเติมได้ และอาจจะหารือโรงแรมในต่างจังหวัดเปิดเป็น Alternative Local Quarantine ด้วย ในจังหวัดที่มีสนามบินให้ต่างชาติลง เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย โดยจับคู่กับ รพ.เอกชน

    Source

    ]]>
    1284978