ตลาดทาวน์เฮาส์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 24 Jan 2024 09:55:57 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เฟรเซอร์ส” ปี 2567 “คลังสินค้า” ยังเป็นขาขึ้น ด้านธุรกิจที่อยู่อาศัยงดเปิด “ทาวน์โฮม” เหตุลูกค้ากู้ไม่ผ่าน https://positioningmag.com/1460024 Wed, 24 Jan 2024 05:56:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1460024
  • แผนธุรกิจ “เฟรเซอร์ส” ปี 2567 ยังคงรักษาสมดุลพอร์ตกลุ่มที่อยู่อาศัยเพื่อขายกับกลุ่มสร้างรายได้ประจำ ชี้เทรนด์​ “คลังสินค้า” ยังเป็นธุรกิจขาขึ้น เตรียมลงทุนอีก 4,000 ล้านบาท
  • ขณะที่ธุรกิจ “ที่อยู่อาศัย” ยังอึมครึม งดเปิดตัว “ทาวน์โฮม” หลังแบงก์เข้มหนัก ลูกค้ากู้ไม่ผ่าน เทน้ำหนักเปิดใหม่ให้กับ “บ้านเดี่ยว” ทดแทน
  • “วู้ดดี้-ธนพล ศิริธนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำทีมผู้บริหารเปิดทิศทางธุรกิจของเฟรเซอร์สในรอบปีบัญชี ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567 มองปีนี้โลกยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจสูงที่ต้องฝ่าไป

    สรุปผลงานของรอบปี ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 ก่อนว่า เฟรเซอร์สทำรายได้รวมจากทุกกลุ่มธุรกิจไป 16,809 ล้านบาท เติบโต 2.1% YoY กำไรสุทธิ 1,852 ล้านบาท

    สินทรัพย์การลงทุนภายในบริษัทยังรักษาสมดุลพอร์ตไว้ที่ 40:60 คือเป็นสินทรัพย์กลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างรายได้จากการขาย 40% ขณะที่อีก 60% มาจากสินทรัพย์เพื่อสร้างรายได้ประจำ (recurring income) ได้แก่ โรงงานและคลังสินค้า รีเทล อาคารสำนักงาน และโรงแรม

    เฟรเซอร์ส
    (จากซ้าย) “สมบูรณ์ วศินชัชวาล” รักษาการซีอีโอ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม, “ธนพล ศิริธนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), “พีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์” รักษาการซีอีโอ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเตรียล

    ธนพลมองภาพพื้นฐานการจัดสมดุลพอร์ตของบริษัทแบบนี้ว่า ถือว่าเป็นพื้นฐานที่ดีเพราะช่วยสร้างกระแสเงินสดเข้าบริษัทได้สม่ำเสมอ และพร้อมรับมือกับทุกวงจรอสังหาริมทรัพย์ที่มีขึ้นและลงสลับกันไปในแต่ละธุรกิจ

     

    วงจรอสังหาฯ “คลังสินค้า” รุ่งสุด

    ซีอีโอเฟรเซอร์สให้ความเห็นว่า ปีนี้ตลาดที่ยังคงมาแรงคือกลุ่ม “คลังสินค้า” ธุรกิจยังเติบโตจากนโยบาย China+1 กระจายฐานผลิตออกต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องที่ยังคงทยอยเข้ามาลงทุนในไทย

    อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าจะเข้าวงจรฟื้นตัวคือ “โรงแรม” เพราะการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยและภาครัฐให้การสนับสนุน

    เฟรเซอร์ส
    วงจรนาฬิกาอสังหาฯ เมืองไทย (ข้อมูลจาก เฟรเซอร์ส)

    ส่วนธุรกิจที่อยู่ในช่วงที่ท้าทายคือ “อาคารสำนักงาน” ยังเป็นขาลงเพราะตลาดมีซัพพลายเติมเข้ามาต่อเนื่อง ในอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีอาคารสำนักงานเข้าตลาดอีกปีละ 5 แสนตร.ม. แต่ตลาดไทยมีดีมานด์ดูดซับได้เพียงปีละ 2.5 แสนตร.ม. ทำให้ตลาดนี้จะท้าทายมาก อัตราการเช่าอาจต่ำลง ขึ้นอยู่กับผู้ให้เช่าจะสามารถรักษาฐานผู้เช่าเดิมได้ดีแค่ไหน

    รวมถึงกลุ่มธุรกิจ “รีเทล” ก็กำลังเคลื่อนเป็นขาลงด้วยซัพพลายศูนย์การค้าที่เติมเข้าตลาดสูงขึ้นเช่นกัน

    ที่น่าสนใจคือกลุ่ม “ที่อยู่อาศัย” ดูเหมือนจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเภทสินค้า “บ้านเดี่ยว” ที่ธนพลเห็นว่าขึ้นสู่จุดพีคเรียบร้อยแล้ว เนื่องด้วยดีมานด์ในตลาดสูง แต่ซัพพลายเข้าตลาดสูงยิ่งกว่า จนทำให้หลังจากนี้อาจจะเริ่มค่อยๆ เข้าสู่ช่วงขาลงเพราะซัพพลายล้นตลาด ตรงข้ามกับ “ทาวน์โฮม” ที่น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว หลายบริษัทหยุดหรือลดการพัฒนาทาวน์โฮม จนทำให้ซัพพลายน้อยลง ต่อจากนี้อาจได้เห็นตลาดฟื้นตัว แต่ต้องขึ้นอยู่กับการผ่อนปรนความเข้มงวดให้กู้สินเชื่อบ้านของแบงก์ในสินค้ากลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

    “โกลเด้นทาวน์ ศรีนครินทร์-สุขุมวิท” ตัวอย่างโครงการทาวน์โฮมภายใต้บริษัทเฟรเซอร์ส

     

    ลงทุน “คลังสินค้า” เพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท

    “พีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์” รักษาการซีอีโอ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเตรียล เปิดเผยส่วนธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าว่า ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวม 3.5 ล้านตร.ม. ทั้งพื้นที่ในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม และมีอัตราการเช่าที่ 86.5%

    ตลาดคลังสินค้าของเฟรเซอร์สมีผู้เช่าหลักมาจาก 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โลจิสติกส์ โมเดิร์นเทรด ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ และผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นสัญชาติญี่ปุ่น ไทย และยุโรป

    จากโอกาสในการเติบโตของคลังสินค้า ปีนี้เฟรเซอร์สจะมีใช้งบลงทุนอีก 4,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายพื้นที่จัดการเพิ่มอีก 1.5 แสนตร.ม. และตั้งเป้าเพิ่มอัตราการเช่าขึ้นเป็น 87% สร้างรายได้ให้บริษัทแม่ 6,000 ล้านบาท

     

    ที่อยู่อาศัยงดเปิด “ทาวน์โฮม” ก่อน

    ด้านธุรกิจที่อยู่อาศัย “สมบูรณ์ วศินชัชวาล” รักษาการซีอีโอ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม เปิดข้อมูลรอบปีบัญชีก่อนว่าบริษัทมีการเปิดตัว 8 โครงการ มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท ทำยอดขายไปได้ 24,926 ล้านบาท โต 4.4% YoY อย่างไรก็ตาม รับรู้รายได้ที่ 11,004 ล้านบาท ลดลง -5% YoY

    ส่วนรอบปีบัญชีนี้ ตั้งเป้าเปิดตัว 7 โครงการ มูลค่ารวม 11,600 ล้านบาท เป้ายอดขาย 23,750 ล้านบาท ลดเป้าลง -5% YoY และวางเป้ารับรู้รายได้ 13,003 ล้านบาท เติบโต +18% YoY

    ปีนี้เฟรเซอร์สฯ โฮมมีการลดการเปิดตัวใหม่ลง และในกลุ่มโครงการที่จะเปิดใหม่ประกอบด้วย

    • บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี ราคา 15-40 ล้านบาท 2 โครงการ แบรนด์ “เดอะ แกรนด์” ทำเลแจ้งวัฒนะ-เมืองทอง และ ปิ่นเกล้า-วงแหวนกาญจนาฯ
    • บ้านเดี่ยว ราคา 7-15 ล้านบาท 3 โครงการ แบรนด์ “แกรนดิโอ” ทำเลแจ้งวัฒนะ-เมืองทอง และ เกษตร-นวมินทร์ และแบรนด์ “เพรสทีจ” สาทร
    • บ้านแฝด 1 โครงการ แบรนด์​ “นีโอ​ โฮม” ทำเลจังหวัดระยอง
    • คอนโดมิเนียม 1 โครงการ “โคลส รัชดา 7” ด้านหลังเดอะสตรีท รัชดา เป็นคอนโดฯ โลว์ไรส์ขนาดเล็ก (*เลื่อนเปิดตัวมาจากปีก่อนหน้า)

    ในปีนี้เฟรเซอร์สเลี่ยง ‘ไม่เปิดตัวในตลาดทาวน์โฮมเลย’ โดยสมบูรณ์ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะตลาดทาวน์โฮมกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาทที่เฟรเซอร์สพัฒนานั้นมีดีมานด์ก็จริง แต่ลูกค้ากู้ไม่ผ่านสูงเกิน 30% เนื่องจากแบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้าน และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นในปีที่ผ่านมายิ่งมีผลต่อกำลังการผ่อนของลูกค้ามาก

    สมบูรณ์กล่าวว่า ปัจจุบันเฟรเซอร์สมีสต็อกสร้างเสร็จในมือประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นทาวน์โฮม โดยหลายโครงการยังยืนราคาเก่าไม่ปรับขึ้นตามราคาตลาด เพราะบริษัทต้องการระบายสต็อกเพื่อปิดโครงการ

    ส่วนวงจรอสังหาฯ ที่ซีอีโอเฟรเซอร์สมองว่าทาวน์โฮมถึงจุดต่ำสุดแล้ว และควรจะเป็นขาขึ้นได้แล้วนั้น ขอรอดูสัญญาณว่ากลับมาแล้วจริงๆ ก่อนดีกว่าเพราะสุดท้ายตลาดนี้ต้องขึ้นอยู่กับการปล่อยสินเชื่อจากแบงก์เป็นหลัก

    ]]>
    1460024
    ศอข.เตือนซัพพลาย “บ้าน” แนวราบเริ่มล้น แนะดูตลาดรายทำเลก่อนสร้างเพิ่ม https://positioningmag.com/1332928 Wed, 19 May 2021 10:01:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1332928 ศอข. วิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ ปี 2564 พบตลาดดีขึ้นเพียงเล็กน้อย สต๊อกยังล้น รอลุ้นฟื้นตัวครึ่งปีหลัง จับตา “บ้านแนวราบ” เปิดตัวเพิ่มสะสมจนซัพพลายอาจล้นตลาด แนะวิเคราะห์รายทำเลก่อนตัดสินใจเปิดโครงการ

    บรรยากาศตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีอาการซึมๆ มาตั้งแต่ปี 2562 หลังเจอมาตรการเข้มงวด LTV ของภาครัฐที่ทำให้การกู้สินเชื่อบ้านยากขึ้น ต่อด้วยเคราะห์ซ้ำในปี 2563 จากปัญหาเศรษฐกิจ COVID-19 จนตลาดคอนโดมิเนียม ‘แทบหยุดชะงัก’ ผู้ประกอบการหลายรายหันมาโหมเปิดโครงการแนวราบแทนเพื่อดักกำลังซื้อ ‘เรียลดีมานด์’

    แล้วปี 2564 ทิศทางตลาดจะดีขึ้นหรือยัง? ตลาดแนวราบจะยังเป็นแพกู้ชีพให้กับทุกบริษัทได้อยู่หรือไม่? ติดตามบทวิเคราะห์จาก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศอข.) เสนอโดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารและรักษาการผู้อำนวยการ ศอข. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่นี่

    1) ซัพพลายเปิดตัวใหม่

    – ครึ่งปีแรก 2564F เปิดใหม่ 26,900 ยูนิต (-9.7% YoY) มูลค่ารวม 1.32 แสนล้านบาท (-3.5% YoY)
    – ครึ่งปีหลัง 2564F เปิดใหม่ 32,700 ยูนิต (-10.3% YoY) มูลค่ารวม 1.76 แสนล้านบาท (-10.6% YoY)

    หากแยกออกเป็นตลาดคอนโดฯ มูลค่าการเปิดตัวในครึ่งปีแรกจะกลับมาโต 5.1% YoY แต่ครึ่งปีหลังยังติดลบ -7.2% YoY ขณะที่ตลาดบ้านแนวราบ มูลค่าการเปิดตัวครึ่งปีแรก -7.4% YoY และครึ่งปีหลัง -12.9% YoY

    สรุป : ซัพพลายการเปิดตัวใหม่ปี 2564 จะลดลง -10% YoY ยังเปิดลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่เป็นการลดลงที่เริ่มชะลอตัว ส่งสัญญาณทรงตัว

    2) หน่วยขายได้ใหม่

    – ครึ่งปีแรก 2564F ขายได้ 33,200 ยูนิต (+1.2% YoY) มูลค่ารวม 1.47 แสนล้านบาท (-7.7% YoY)
    – ครึ่งปีหลัง 2564F ขายได้ 36,800 ยูนิต (+6.5% YoY) มูลค่ารวม 1.63 แสนล้านบาท (-1.0% YoY)

    หากแยกออกเป็นตลาดคอนโดฯ มูลค่าการขายครึ่งปีแรกคาดว่าจะกลับมาโต 24.9% YoY แต่ครึ่งปีหลังจะยังติดลบเล็กน้อย -0.9% YoY ส่วนตลาดบ้านแนวราบ มูลค่าการขายครึ่งปีแรกกลับติดลบ -22.7% YoY แต่ครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น ติดลบเล็กน้อย -1.0% YoY

    สรุป : ภาพรวมตลาดครึ่งปีหลังแม้จะยังติดลบเล็กน้อย แต่เมื่อรวมถัวเฉลี่ยทั้งปีแล้ว หน่วยขายใหม่น่าจะเติบโต +4% YoY ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีกว่าปี 2563 ซึ่งตลาดติดลบ

    3) หน่วยเหลือขาย

    – ครึ่งปีแรก 2564F จำนวน 1.73 แสนยูนิต (+0.1% YoY) มูลค่าสะสม 8.45 แสนล้านบาท (-3.9% YoY)
    – ครึ่งปีหลัง 2564F จำนวน 1.75 แสนยูนิต (-0.8% YoY) มูลค่าสะสม 8.53 แสนล้านบาท (-6.1% YoY)

    หากแยกออกเป็นตลาดคอนโดฯ มูลค่าเหลือขายครึ่งปีแรกคาดว่าจะลดลงเล็กน้อย -2.3% YoY ครึ่งปีหลังจะลดลงต่อเนื่อง -6.6% YoY ส่วนตลาดบ้านแนวราบ มูลค่าเหลือขายครึ่งปีแรกลดลง -4.9% YoY ครึ่งปีหลังลดลงต่อเนื่องเช่นกันที่ -5.8% YoY

    สรุป : หน่วยเหลือขายหากคิดเป็นจำนวนยูนิตจะลดลง -0.8% YoY นับว่ายังทรงตัว ไม่ลดลงมากนัก แต่หากคิดเป็นมูลค่าถือว่าค่อยๆ ลดลง เป็นไปในทางบวก

    เมื่อมองปัจจัยทั้งการเปิดตัวใหม่ ยอดขายใหม่ และสต๊อกที่ยังเหลือในตลาดมารวมกัน ปีนี้ต้องรอลุ้นตลาดครึ่งปีหลังที่น่าจะยังประคองตัวขายได้เท่ากับปีก่อน ขณะที่ต้องคุมซัพพลายเปิดใหม่ไม่ให้มากเกินไป เพราะสต๊อกที่มีแม้จะลดลงแต่ลดไม่มาก จำนวนเหลือขาย 1.73-1.75 แสนยูนิตยังเกินค่าเฉลี่ยในตลาด (ศอข.ประเมินค่าเฉลี่ยหน่วยเหลือขายควรอยู่ที่ 1.6 แสนยูนิต) ทำให้ปีนี้ก็ยังเป็นปีที่อสังหาฯ อาจจะยังไม่ดีนัก

     

    ระวังซัพพลาย “บ้านแนวราบ” ล้นตลาด

    สำหรับตลาดบ้านจัดสรรแนวราบที่ผู้ประกอบการนิยมพัฒนามากตั้งแต่ปีก่อน ดร.วิชัยชี้ให้เห็นข้อมูลว่า ซัพพลายเริ่มสะสมในตลาดมากขึ้นแล้ว แม้จะเป็นสินค้าประเภทที่ทยอยสร้างได้ แต่ก็ควรต้องระมัดระวังในบางกลุ่มราคาและทำเล

    เหตุที่ต้องระมัดระวัง เพราะ ศอข. พบว่าเมื่อช่วงสิ้นปี 2563 จำนวนหน่วยเหลือขายกลุ่มบ้านจัดสรรมีถึง 1.02 แสนยูนิต ซึ่งเกินค่าเฉลี่ยที่ควรมี และมากกว่าหน่วยเหลือขายของอาคารชุดแล้ว

    บ้านระดับไฮเอนด์ 10 ล้านบาทขึ้นไป แม้จะขายดีมาก แต่เป็นกลุ่มที่ ศอข. เตือนว่าซัพพลายเริ่มมีเข้ามามากเกินไป ขณะที่มีดีมานด์อยู่จำกัด

    หากแยกเป็นแต่ละกลุ่มราคา ถือว่าหน่วยเหลือขายเริ่มมีซัพพลายมากเกินไปทุกกลุ่ม แต่กลุ่มที่ดร.วิชัยโฟกัสเป็นพิเศษคือ บ้านเดี่ยวราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งถึงแม้จะขายดี แต่ซัพพลายก็เข้ามามากเช่นกัน ในขณะที่ดีมานด์ของตลาดนี้มีอยู่จำกัด

    ขณะที่ตลาดที่มีดีมานด์สูงแต่หาทำเลพัฒนาได้ยากคือ บ้านเดี่ยวราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการเลือกพัฒนาบ้านแฝดทดแทนเพื่อให้ทำราคาได้เหมาะสมกับกำลังซื้อ แต่ตลาดอาจยังไม่นิยมเท่าไหร่นัก

     

    ทำเลไหนยังไปได้?

    แม้ว่าตลาดจะยังซึมๆ แต่บางตลาดก็ยังมีโอกาสที่จะทำยอดขายได้ โดย 5 ทำเลขายดีที่มี “อัตราดูดซับ” สูงสุดเมื่อช่วงครึ่งปีหลังปี 2563 ตามข้อมูลที่ได้จาก ศอข. มีดังนี้ (จัดอันดับเฉพาะทำเลที่มีหน่วยขายได้อย่างน้อย 300 หน่วย)

    “อาคารชุด”

    1. พุทธมณฑล-นครชัยศรี-สามพราน 8.2% ต่อเดือน
    2. บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง 6.0% ต่อเดือน
    3. พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ 4.9% ต่อเดือน
    4. ราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทอง 4.8% ต่อเดือน
    5. บึงกุ่ม-คันนายาว-สะพานสูง 4.5% ต่อเดือน
    ตัวอย่างคอนโดฯ ชานเมือง : เสนา คิทท์ เพชรเกษม-พุทธมณฑล สาย 7

    อาคารชุดนั้นมีอัตราดูดซับเฉลี่ยทั้งตลาดเมื่อปี 2563 ที่ 2.7% ต่อเดือน มีทำเลที่ถือว่า “ขายอืด” เพราะขายได้ช้ากว่าค่าเฉลี่ยตลาด เช่น ห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง (2.4% ต่อเดือน), ธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด (2.0% ต่อเดือน), เมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ (2.1% ต่อเดือน), สุขุมวิท (2.2% ต่อเดือน) เป็นต้น

    เห็นได้ว่าโซนขายดีของคอนโดฯ เมื่อปีก่อนส่วนใหญ่กลายเป็นทำเลชานเมืองที่ยังไม่มีรถไฟฟ้า ส่วนทำเลขอบเมืองกระทั่งกลางเมืองกลับขายได้ช้ากว่า

     

    “บ้านจัดสรร”

    1. พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ 4.6% ต่อเดือน
    2. เมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ 4.2% ต่อเดือน
    3. บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง 3.9% ต่อเดือน
    4. พุทธมณฑล-นครชัยศรี-สามพราน 3.9% ต่อเดือน
    5. กระทุ่มแบน-บ้านแพ้ว 3.6% ต่อเดือน
    ตัวอย่างโครงการในทำเลขายดี : สิริ เพลส บางนา-เทพารักษ์

    เช่นกันกับอาคารชุด บ้านจัดสรรมีอัตราดูดซับเฉลี่ยทั้งตลาดปีก่อนที่ 2.7% ต่อเดือน ทำเลที่ขายอืด ทำได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เช่น บางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย (1.7% ต่อเดือน), ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ (1.6% ต่อเดือน), เมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก (2.0% ต่อเดือน), คลองสามวา-มีนบุรี-หนองจอก-ลาดกระบัง (2.0% ต่อเดือน)

    สำหรับโซนขายอืดของบ้านจัดสรร ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ของกลุ่มสินค้านี้ จำนวนยูนิตขายได้มาก แต่เมื่อเทียบกับซัพพลายที่มากเช่นกัน ทำให้อัตราดูดซับยังไม่ดีเท่าที่ควร ผู้ประกอบการควรชั่งน้ำหนักทำเลโครงการให้ดีก่อนเปิดตัว

    ดร.วิชัยทิ้งท้ายว่า ปัจจัยที่จะกระตุ้นภาคอสังหาฯ ได้ต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจประเทศ ขึ้นอยู่กับการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนเพื่อให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ สามารถเปิดประเทศได้ รัฐบาลควรสร้างแหล่งงานเพื่อทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หากออกนโยบายที่ดึงกำลังซื้อต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ ไทยเพิ่มได้ ก็จะทำให้มีดีมานด์สูงขึ้นในการดูดซับสต็อกที่อยู่อาศัยขณะนี้

    ตลาดอสังหาฯ ไทยจะปรับตัวดีขึ้นได้เมื่อไหร่ ดร.วิชัยมองว่าน่าจะเป็นช่วงปี 2565-67 ขึ้นอยู่กับการคงซัพพลายใหม่ไม่ให้มากเกินไป และหากยอดขายกลับมาดีขึ้น

    ]]>
    1332928