ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่าง “อินเดีย” และ “อินโดนีเซีย” ที่มีจำนวนประชากรเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มจะได้ประโยชน์จากการตัดสินใจของนักลงทุน เนื่องจากปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการตัดสินใจ ตามข้อมูลจาก Fidelity International และ BlackRock Investment Institute
นักลงทุนกำลังมุ่งลงทุนไปที่สองประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคาดว่ารัฐบาลจะมีการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
อีกทั้งอินเดียและอินโดนีเซียบังเอิญมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในปีนี้ และรัฐบาลใหม่ของทั้งสองประเทศแสดงจุดยืนว่ามีความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็น “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” โดยมีโครงสร้างประชากรคนหนุ่มสาวเป็นจุดแข็งหลัก
สองประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่โดดเด่นขึ้นมาในห้วงเวลาที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันมีปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงประเทศ “จีน” ด้วย
อินเดีย กลายเป็นประเทศที่เอาชนะจีนได้ในเรื่องจำนวนประชากรมาตั้งแต่กลางปี 2023 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์
ขณะที่การวิเคราะห์ของ BlackRock ฉายภาพให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกันในทางบวกระหว่างจำนวนประชากรวัยทำงานที่เติบโตขึ้นของประเทศหนึ่งกับการเติบโตของราคาหุ้นในตลาดหุ้น ส่วน Fidelity มองว่าภาคธุรกิจการเงินจะเป็นธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของประชากร เพราะทุกคนต้องการผลิตภัณฑ์การเงินไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือผู้บริโภคทั่วไปก็ตาม
“แรงงานของอินเดียกับอินโดนีเซียยังเป็นหนุ่มสาว โครงสร้างประชากรของทั้งสองประเทศนี้โดดเด่นกว่าเพื่อนบ้านที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด” เอียน แซมสัน ผู้จัดการกองทุนของ Fidelity ในสิงคโปร์กล่าว “ทุกบริษัทไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องการบริการทางการเงิน นี่คือเหตุว่าทำไมราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารถึงมักจะโตสอดคล้องไปกับจีดีพีประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”
จำนวนประชากรในอินเดียและอินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นอย่างน้อย 10% นับจากปีนี้ไปจนถึงปี 2040 ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก (World Bank) แตกต่างจากจีนที่คาดว่าจำนวนประชากรจะลดลงเกือบ 4%
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าจำนวน คือการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรในกลุ่มวัยทำงานซึ่งหมายถึงคนวัย 15-64 ปี ในกรณีนี้จีนมีโครงสร้างประชากรวัยทำงานลดลงต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีคนหนุ่มสาวมากที่สุดในหมู่ประเทศที่เป็นประเทศหลักทางเศรษฐกิจ
ฌอน บัววีน ผู้นำกลุ่มนักวางกลยุทธ์จาก BlackRock Investment Institute วิเคราะห์ว่า การเพิ่มสัดส่วนกลุ่มคนวัยทำงานที่เร็วขึ้นมักจะสอดคล้องกับการเติบโตของผลกำไรบริษัทในอนาคต และเสริมด้วยว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผล ได้แก่ การย้ายถิ่นของแรงงาน การมีส่วนร่วมของแรงงานมากขึ้น และระบบออโตเมชัน
ปัจจุบันดัชนี Nifty 50 (ดัชนีรวมหุ้น 50 บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นอินเดีย) มีการซื้อขายกันในเป็นสถิติใหม่ และเตรียมจะเข้าสู่ช่วงการเติบโตต่อเนื่อง 9 ปีหากเทรนด์การซื้อขายยังรักษาระดับไว้ได้แบบนี้ ส่วนดัชนี Jakarta Composite Index (JCI) ของอินโดนีเซียก็เพิ่งจะทำราคาแตะสถิติสูงสุดไปเมื่อเดือนมีนาคม 2024
นักวิเคราะห์ยังบอกด้วยว่า หลังจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีงานที่ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ โดยการลดความยุ่งยากในการกำกับควบคุมโดยรัฐ กระตุ้นให้เกิดความยืดหยุ่นในตลาดงาน และอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนจากต่างประเทศ ถึงจะทำให้ประเทศเหล่านี้ได้รับแรงส่งจากโครงสร้างประชากรที่ดีของตนเอง
นักวิเคราะห์มองว่า มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นบ้างแล้วในการสร้างเสริมเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีอะไรต้องทำอีกมาก
ปราโบโว ซูเบียนโต ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของอินโดนีเซีย และจะเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ ประกาศว่า ตนตั้งเป้าจะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตปีละ 8% แม้ว่าสถิติที่ผ่านมาของประเทศจะต่ำกว่านั้นมากก็ตาม
ส่วนในอินเดียนั้นยังอยู่ระหว่างเลือกตั้งที่จะไปสิ้นสุดวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งต้องจับตาดูว่า นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะชนะเลือกตั้งสมัยที่ 3 หรือไม่และชนะด้วยสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะหากชนะด้วยสัดส่วนที่เฉียดฉิวอาจจะทำให้แผนปฏิรูปประเทศของเขาเผชิญกับความยุ่งยากและไม่เป็นผลดีต่อตลาดเงินตลาดทุน
“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศหนึ่งๆ จะมีผลต่อต้นทุนการอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลและเกษียณอายุ โดยในประเทศพัฒนาแล้วมักจะมีต้นทุนเรื่องสวัสดิการสังคมเหล่านี้สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา” ซานเจย์ ชาห์ ผู้อำนวยการแผนกตราสารหนี้ที่ HSBC Global Asset Management กล่าว “ในประเทศกำลังพัฒนา ภาระการจ่ายเงินเกษียณอายุให้ประชาชนมักจะต่ำกว่าและมีสิทธิประโยชน์ให้น้อยกว่า ซึ่งแปลว่าภาระต่อการใช้งบประมาณประเทศในส่วนนี้ก็จะน้อยกว่าเช่นกัน” ชาห์กล่าว
]]>OYO Hotels and Homes เป็นบริษัทในเครือ Oravel Stays จากอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่มีแบ็กอัพรายใหญ่คือ SoftBank จากญี่ปุ่น ที่ผ่านมาบริษัท OYO พยายามจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินเดียมาแล้ว 2 ครั้ง แต่กลับถอนตัวและยกเลิกไปทั้งหมด
ล่าสุดมีรายงานว่า OYO กำลังเข้าสู่การระดมทุนรอบใหม่ แต่ถูกตีมูลค่าบริษัทลดลงเหลือเพียง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงถึง 74% จากเมื่อปี 2021 ซึ่งบริษัทเคยมีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นรอบที่มี Microsoft มาร่วมลงทุนด้วย
The Economics Times รายงานว่า Ritesh Agarwal ผู้ก่อตั้ง OYO กำลังพูดคุยกับนักระดมทุนที่เป็นผู้มีความมั่งคั่งสูงอยู่หลายราย โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า หนึ่งในนั้นที่แสดงความสนใจคือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซีย
รายละเอียดการลงทุนยังพูดคุยกันอยู่ แต่ทาง OYO คาดการณ์ว่าการระดมทุนรอบนี้จะได้เงินลงทุนรวม 70-80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการระดมทุนรอบนี้จะเป็นการ ‘รีไฟแนนซ์’ หนี้สินของบริษัท
ย้อนกลับไปในเส้นทาง IPO ของบริษัท OYO บริษัทเคยยื่นไฟลิ่งขอจดทะเบียนในตลาดหุ้นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ก่อนที่ SoftBank ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะตัดสินใจลดการตีมูลค่าบริษัทนี้ลงจากเดิม 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ต่อมา OYO ต้องทำเอกสาร IPO ใหม่ ลดขนาดบริษัทลงประมาณ 40-60% และยื่นไฟลิ่งใหม่อีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน 2023
หลังจากนั้นกลับมีข่าวออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ว่าบริษัทได้ถอนตัวจากการเปิด IPO เป็นครั้งที่สอง ก่อนที่ทางตลาดหุ้นอินเดียจะยืนยันเองในเดือนนี้ว่า OYO ได้ถอนตัวไปแล้วจริงๆ
ปัจจุบัน SoftBank มีหุ้นอยู่ใน OYO เป็นสัดส่วน 46% ตามด้วยผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Ritesh Agarwal ถือหุ้น 33% ส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนรายอื่นๆ เช่น Lightspeed, Peak XV Partners
OYO มีการดำเนินธุรกิจในไทยด้วยเช่นกัน โดยเข้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ใช้โมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ คือให้ใช้แบรนด์สวมในโรงแรมเดิม รวมถึงใช้ระบบบริหารและจองห้องพักของ OYO เป้าหมายของบริษัทคือบรรดาโรงแรมบัดเจ็ทขนาดเล็กที่เข้าถึงลูกค้ายากเมื่อไม่มีแบรนด์ นอกจากนี้ ปีนี้บริษัทยังแตกแบรนด์ใหม่ชื่อ ‘Palette’ มาเจาะตลาดโรงแรมระดับกลางในไทยด้วย
]]>ตลาดหุ้นอินเดีย ล่าสุดมีขนาดของตลาดแซงหน้าตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อย และทำให้ตลาดหุ้นอินเดียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกทันที
ข้อมูลล่าสุดจาก Bloomberg เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 มกราคม) ขนาดของตลาดหุ้นอินเดียนั้นอยู่ที่ 4.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้าขนาดตลาดหุ้นฮ่องกงที่มีขนาดตลาด 4.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และการแซงหน้าในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกด้วย
ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคมปี 2023 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอินเดียมีขนาดแตะ 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหุ้นเป็นต้นมา
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นอินเดียได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นคือ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียที่อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันอินเดียยังมีจำนวนประชากรที่มากกว่าจีน ส่งผลทำให้มีแรงงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าประเทศ
อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ข้อมูลจาก BMI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Fitch Solutions ได้คาดการณ์ว่า การเติบโตของการใช้จ่ายครัวเรือนต่อหัวของอินเดียจะแซงหน้าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียได้ภายในปี 2027 และจะทำให้อินเดียเป็นตลาดผู้บริโภคใหญ่อันดับ 3 ยิ่งดึงดูดเม็ดเงินเพิ่มเติม
ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดียถ้าหากดูตัวเลขกำไรการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นอีกตลาดหุ้นที่ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติสนใจมากขึ้นด้วย
ตรงข้ามกับตลาดหุ้นของฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด และอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว
ขณะเดียวกันปัญหาเศรษฐกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ได้สร้างผลกระทบต่อบริษัทในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่หลายรายจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นฮ่องกง และยังรวมถึงปัจจัยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้เม็ดเงินนักลงทุนโยกย้ายออกไปลงทุนในตลาดหุ้นอื่น ซึ่งรวมถึงอินเดียนั่นเอง
]]>มูลค่าตลาดหุ้นของ อินเดีย แซงหน้า ฮ่องกง จนกลายเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็น อันดับ 7 ของโลก โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติของอินเดียอยู่ที่ 3.989 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับฮ่องกงอยู่ที่ 3.984 ล้านล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลจากสหพันธ์การแลกเปลี่ยนโลก
โดยดัชนี Nifty 50 ของอินเดียพุ่งสู่ถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยรวมทั้งปี ดัชนี Nifty 50 พุ่งขึ้นเกือบ +16% ในปีนี้และกําลังมุ่งหน้าเติบโตติดต่อกันเป็นปีที่ 8 ในทางตรงกันข้ามดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงร่วงลง -17% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทําให้เป็นตลาดหลักในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีผลการดําเนินงานแย่ที่สุด
อินเดียถือเป็นตลาดที่โดดเด่นในปีนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยขนาดจำนวนประชากรถึง 1.4 พันล้านคน สูงสุดในโลก อีกทั้งยังมีขนาดการเติบโตเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในโลก ซึ่งสะท้อนได้จากการใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าไฮเอนด์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สามารถดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียก็มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ในปีนี้ตลาดหุ้นอินเดียมีผลงานโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สวนทางกับทางดัชนีหุ้นฮ่องกงที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนสูง ทำให้วิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์จากจีนส่งผลต่อตลาดหุ้นฮ่องกง อีกทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นผลทำให้ดัชนี Hang Seng มีผลดำเนินการแย่ที่สุดในเอเขียแปซิฟิก
จากการประเมินของ HSBC มองว่า ภาคการธนาคาร, การดูแลสุขภาพ, และพลังงาน จะเป็นภาคส่วนที่ดีที่สุดของอินเดียในปีหน้า ขณะที่ภาคส่วนต่าง ๆ เช่น รถยนต์, ค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์ และโทรคมนาคมก็อยู่ในตําแหน่งที่ค่อนข้างดีในปีหน้าเช่นกัน
]]>