ตลาด Plant-Based – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 11 Oct 2021 12:56:54 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Sizzler ลดราคาเมนู Plant-based ดึงลูกค้ามาลองชิม ปรับรสชาติให้เป็น ‘สไตล์ไทย’ มากขึ้น https://positioningmag.com/1356091 Mon, 11 Oct 2021 09:38:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1356091 เผชิญกับความท้าทายไม่มีหยุดกับ ‘Sizzler’ ร้านอาหารที่มีจุดเด่นเรื่องบรรยากาศไดน์อิน ที่ต้องเจอมรสุมการล็อกดาวน์ซ้ำเเล้วซ้ำเล่า

การผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้ เป็นโอกาสทองที่ต้องรีบคว้า ทั้งอัดเเคมเปญโปรโมชั่น พร้อมทั้งหา เเนวทางใหม่ๆ เมนูใหม่ๆ ดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาเข้าร้านในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ชดเชยรายได้ที่หายไป

หนึ่งในนั้นก็คือ การลุยตลาด ‘Plant-based’ เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช อย่างเต็มที่ ตามเทรนด์กระเเสนิยมมาเเรงทั่วโลก ซึ่งหลังจากที่ Sizzler ชิมลางวางขายมาตั้งเเต่ปลายปี 2562 ก็มีเสียงตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคคนไทย เเละก็ถึงเวลาต่อยอด ขยายไปให้มากขึ้นกว่าเดิม

Sizzler ปล่อยเมนู Plant-based ออกมาใหม่ทุกๆ 6 เดือน เฉลี่ยซีซั่นละ 3 เมนู (รวมๆ ที่ผ่านมามีประมาณ 12 เมนู) เเละล่าสุดตอนนี้ก็มีการเปิดตัว 2 เมนู Plant-Based มาลงเมนูประจำรับไดน์อินและเดลิเวอรี่

เเต่จุดเด่นครั้งนี้เเตกต่างไปจากเดิม นั่นคือการได้เรียนรู้ถึงวิธีปรุงรสชาติ Plant-based ให้ถูกปากคนไทย จึงมีการปรับเมนูเป็นสไตล์ไทยมากขึ้น พร้อมปรับลดราคาลงมา ซึ่งยังไม่ค่อยมีเชนร้านเฮลท์ตี้เฮาส์ในไทยทำ
เเนวนี้กันมากนัก

เทรนด์อาหารเเห่งอนาคต ที่โตไม่หยุด

เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น ยิ่งเกิดโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งทำให้พฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ซึ่ง Plant-based Food ก็ได้รับอานิสงส์นี้ไปเต็มๆ

การเติบโตของตลาดอาหาร Plant-based ทั่วโลกเมื่อปี 2563 มีมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าราว 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ส่วนตลาดในประเทศไทย ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของผู้บริโภคอาหาร Plant-based เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

จากข้อมูลของ Krungthai COMPASS พบว่า ในปี 2562 มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท และยังคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นถึง 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% เลยทีเดียว

กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือ บมจ. เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ผู้บริหาร ซิซซ์เล่อร์ เล่าว่า ตลาด Plant-based เติบโตขึ้นมาก ทั้งในส่วนฐานผู้บริโภคเเละบรรดาเหล่าผู้ผลิต โดยที่ผ่านมา มักมีผู้ผลิตมาเสนอเป็นพาร์ทเนอร์กับ Sizzler เพียง 2-3 ราย เเต่ตอนนี้มีมากกว่า 10 ราย

ปัจจุบันเเบรนด์ Sizzler เลือกจับมือกับ บียอนด์ มีทและกรีนมันเดย์ ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดโลก เเต่ก็คอยมองหาซัพพลายเออร์รายอื่นๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในไทย

สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เเบรนด์ Sizzler ต้องการจะขยายเจาะตลาดเมนู Plant-based ได้เเก่

  • กลุ่มคนที่ทานวีแกน เเละ Plant-Based อยู่เเล้ว ถ้ามาทานที่ร้านก็สามารถสั่งเมนูสเต๊กได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องไปทานเเต่สลัดบาร์อีกต่อไป
  • กลุ่มคนที่ทานเมนูปกติทั่วไป ที่อยากลองทานเมนู Plant-based หรือคนที่อยากดูเเลสุขภาพ ไปพร้อมๆ กับการรักษ์โลก ต้องการทานวีเเกนประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

Sizzler ตั้งเป้าว่าในปี 2565 เมนู Sizzler จะสามารถสร้างรายได้เติบโตราว 30%” 

เมนูไทยๆ เเถมปรับราคาลง 

ตามที่เกริ่นไปข้างต้นว่า Sizzler ได้ปรับเมนู Plant-based ให้เป็นถูกปากคนไทยมากขึ้น เห็นได้ชัดผ่านเมนูใหม่ที่เปิดตัวใน 30 สาขา ได้เเก่

ออมนิมีท ลาบทอด เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียว เมนูลาบทอดจากโปรตีนพืชในสไตล์ไทย ๆ กับรสชาติเเซ่บๆ แบบฉบับอีสานแท้ ในราคา 299 บาท เเละยังเสิร์ฟเป็นเมนูทานเล่นที่ลูกค้าสามารถสั่งแยกมารับประทานระหว่างรออาหารจานหลักได้ในราคา 99 บาท รวมถึงสั่งเดลิเวอรี่ไปลิ้มลองได้ถึงที่อีกด้วย

สเต๊ก บียอร์น กัวคาโมเล่ และซัลซา เป็นสเต๊กเนื้อที่ไร้เนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม สไตล์เม็กซิกัน ราดด้วยกัวคาโมเล่ที่ทำจากอะโวคาโดบด และซัลซา รวมถึงเผือกทอดด้านบนสุด ในราคา 399 บาท ซึ่งรสชาติที่เผ็ด เปรี้ยว หวาน ลงตัวน่าจะถูกใจคนไทยเช่นเดียวกัน

เเละเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าหันมาลองเมนู Plant-based กันมากขึ้น Sizzler ใช้กลยุทธ์ “ปรับลดราคาของเมนู Plant-based” ลงมาเรื่อยๆ เช่น ในช่วงเริ่มต้นประเดิมราคาที่ 439-479 บาท ในปีที่เเล้วปรับลงมาเป็น 329-399 บาท เเละล่าสุดตอนนี้คือมีราคาเฉลี่ยเริ่มต้นตั้งแต่ 99 – 399 บาท นับเป็นการปูทางสร้างความคุ้นเคยในระยะยาว มีเมนูหลากหลายสไตล์ตลอดทั้งปี ขยายฐานลูกค้าเป็นร้อยเป็นพันคนให้ได้

นอกจาก ลดราคาเเล้ว ในบางโอกาสก็จะมีการนำเนื้อ Plant-based ไปลองใส่ในเมนูสลัดบาร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ลองชิมอย่างกว้างขวางขึ้นด้วย

-สเต๊ก บียอร์น กัวคาโมเล่ และซัลซา

Sizzler สาขาใหม่…สายเล็ก

วิกฤตโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารได้เรียนรู้ถึงการปรับตัวเร็วเเละการขายโดยเน้นหน้าร้านเพียงอย่างเดียวคือความเสี่ยง

ปัจจุบัน Sizzler มีฐานลูกค้าทั้งหมดอยู่ราว 8-9 ล้านคน มีร้านทั้งหมด 54 สาขาทั่วประเทศไทย กลับมาเปิดให้บริการเเล้วเกือบทั้งหมด (ยังปิดชั่วคราวอยู่ 1 สาขา) โดยภายในสิ้นปีนี้ หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ทางเเบรนด์ยังมีเเผนจะขยายสาขาใหม่ตามเดิม อีก 5 สาขา เเบ่งเป็น 3 สาขาใหม่ เเละอีก 2 สาขาเป็นการย้ายสถานที่เเต่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเดิม 

ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ ต่อจากนี้ร้านใหม่ของ Sizzler จะมีขนาด ‘เล็กลง’ จากเดิมที่สาขาใหญ่ๆ เคยกว้างขวางถึง 600 ตร.ม. ลดลงเหลือราว 300-280 ตร.ม. ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สั่งเดลิเวอรี่กันมากขึ้น เเละอีกด้านหนึ่งก็คือการที่ห้างสรรพสินค้าต้องการจัดสรรพื้นที่ให้หลากหลาย เพื่อดึงดูดลูกค้า ที่ตั้งของร้านต่างๆ จึงมีขนาดเล็กลง เเต่ภายในห้างฯ จะมีเเบรนด์ให้เลือกมากขึ้น

สานต่อโมเดล to go พร้อมขยายเดลิเวอรี่ 

ด้านโมเดล Sizzler to go เจาะกลุ่มคนเดินทาง ที่ต้องสะดุดเพราะวิกฤตโควิดหลายรอบ หลังคลายล็อกดาวน์รอบนี้ก็ดูเหมือนจะมีความหวังอีกครั้ง เเต่ยังไม่มีเเผนจะขยายสาขาเพิ่มในปีนี้ ปีหน้าเมื่อการเดินทางกลับมา ก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดี (ตอนนี้มีอยู่ 5 สาขาในกรุงเทพฯ) เพราะเป็นการขยายตลาดเข้าหาผู้บริโภคที่ต้องการความง่าย รวดเร็วเเละต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ เเถมยังมีขนาดเล็กลง ตามเเนวทางของเเบรนด์

ร้าน Sizzler To Go สาขาล่าสุดที่เปิดในโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็เป็นอีกหนึ่งทำเลที่แบรนด์ตั้งใจจะขยายไปในพื้นที่ใหม่ ซึ่งจะมีการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในลักษณะนี้อีกต่อไป

ส่วนฝั่งของ ‘เดลิเวอรี่’ นั้น ผู้บริหาร Sizzler บอกว่า มีการเติบโตถึง 3 เท่าจากช่วงก่อนโควิด ซึ่งตอนนี้สัดส่วนการขายออนไลน์สูงถึง 15-20% เเล้ว ถือว่ามากเเละเร็วกว่าที่คิดไว้ถึง 2-3 ปี โดยมียอดสั่งซื้อเฉลี่ยราว 500 บาทต่อบิล

“ยอมรับว่าปีนี้หนักกว่าปีที่เเล้วมาก เพราะโดนล็อกดาวน์นานกว่า เเต่พอเปิดให้นั่งทานที่ร้านได้ ลูกค้ากลับมาเร็วกว่าเพราะหลายคนอัดอั้น อยากออกมาใช้ชีวิตปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี โดยทิศทางธุรกิจปีหน้าคงจะดีขึ้นตามลำดับ หลังมีการกระจายวัคซีนเเละเริ่มเปิดเมืองอีกครั้ง”

โดย Sizzler จะมี ‘บิ๊กโปรเจ็กต์’ ที่สร้างเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ ที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกหน้าหน้าใหม่ในมุมที่เเตกต่าง โดยกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเปิตตัวได้เร็วที่สุดในช่วงกลางปีหน้า เเต่จะเป็นอะไรนั้น ทางผู้บริหารบอกว่าขออุ๊บไว้ก่อน…ต้องติดตามกันต่อไป 

 

]]>
1356091
Plant-Based เทรนด์อาหารแห่งอนาคต Unilever ขยับรุกตลาดจริงจัง ตั้งเป้าทำเงิน 3.6 หมื่นล้าน https://positioningmag.com/1306712 Thu, 19 Nov 2020 09:19:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306712 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ขยับมูฟใหม่เข้าสู่ตลาด Plant-Based กันอย่างต่อเนื่อง ตามเทรนด์อาหารโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

ล่าสุด Unilever (ยูนิลิเวอร์) ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเจ้าใหญ่ ตั้งเป้าปั้มยอดขายในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช หรือ Plant-Based เพิ่มเป็น 1 พันล้านยูโร (ราว 3.6 หมื่นล้านบาท) ภายใน 5-7 ปีนี้

เป้าหมายดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าบริษัทคาดว่าตลาด Plant-Based จะเติบโตสูงมากในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อเทียบกับเป้าหมายของยอดขายปัจจุบันที่ 200 ล้านยูโร (ราว 7.2 พันล้านบาท) ตามที่บริษัทตั้งไว้ในปีนี้

กลุ่มสินค้าแบรนด์เนื้อมังสวิรัติ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากกระเเสรักษ์โลกของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคอาหารที่ทำมาจากพืช มากกว่าการบริโภคเนื้อสัตว์จริงๆ เพราะเห็นว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ มีการปล่อยคาร์บอนที่เป็นภัยต่อการเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

Hanneke Faber ประธานฝ่ายอาหารของ Unilever ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างยอดขายให้บริษัทได้ถึง 1.93 หมื่นล้านยูโร (6.9 แสนล้านบาท) ในปี 2019 ระบุว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว สินค้า Plant-Based ยังมีส่วนเเบ่งการตลาด ราว 5% เเต่ต่อไปจะสามารถขยายตัวเเละครองตลาดได้ถึง 50%”

โดยต่อไป Unilever จะให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ Plant-Based ในกลุ่มไอศกรีมที่ปราศจากนมและมายองเนสไปจนถึงอาหารทดแทนเนื้อสัตว์จากถั่วเหลืองและสาหร่าย ฯลฯ

นักวิเคราะห์ มองว่า การที่บรรดาเจ้าใหญ่ในวงการกระโดดลงมาเล่นสนาม Plant-Based กันคึกคัก จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชมีราคาถูกลงตามด้วยกำลังการผลิตและการจัดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น เเละจะทำให้อุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวครั้งใหญ่

อย่างการที่ Nestlé คู่แข่งรายสำคัญ หันมาทุ่มลงทุนในการพัฒนาสินค้าทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถทานอาหารที่มีรสชาติและผิวสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์จริง แต่ไม่มีกระบวนการปศุสัตว์ที่สร้างผลกระทบต่อโลก ก็เป็นการกระตุ้นการเเข่งขันในตลาดนี้ได้ดีทีเดียว 

ตอนนี้ผู้ผลิต Plant-Based ส่วนใหญ่จะเป็นพันธมิตรกับเชนฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่เเละมุ่งเข้าตีตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Impossible Foods จับมือกับ Burger King ส่วน Beyond Meat กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์กับ McDonald’s ในสหรัฐฯ สำหรับแพลตฟอร์ม McPlant ขณะที่ Nestlé ส่งวัตถุดิบเมนูเบอร์เกอร์จากพืชให้ McDonald’s ในเยอรมนี

สำหรับตลาด Plant-based Food ในประเทศไทย ก็เริ่มมีเชนร้านอาหารนำเนื้อทำจากพืชมาปรุงเป็นเมนูหลัก เช่น Sizzler ในเครือไมเนอร์ หรือร้านฌานาในเครือฟู้ดแพชชั่น รวมถึงมีนำเข้าจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งด้วย

จากข้อมูลของ NRF ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของไทย ระบุว่า ตลาดเนื้อที่ทำจากพืชปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั่วโลก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปเป็น 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี เนื่องจากผู้บริโภคเห็นข้อดีของวัตถุดิบอาหารรูปแบบนี้มากขึ้น

ไม่ใช่เเค่ NRF รายเดียวที่กำลังเล็งตลาดนี้ เพราะบริษัทยักษ์ด้านอาหารของไทยอย่าง “เครือซีพี” และ “ไทยยูเนี่ยน” ก็กำลังมองความเป็นไปได้ในตลาด Plant-base Food เช่นกัน

อ่านต่อ : NRF ขอเป็น Foxconn แห่งตลาด Plant-based Food กางแผนขยายโรงงานทั่วโลก

 

ที่มา : Financial Times , The Guardian

]]>
1306712