รอชิม! Starbucks ส่งเมนูอาหาร-เครื่องดื่ม “Plant-based” เจาะใจคนรักสุขภาพในเอเชียเเละไทย

Photo : Starbucks

เทรนด์อาหาร “Plant-based” ที่มีส่วนผสมจากพืชและไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน กำลังได้รับความนิยมทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีนี้ เชนธุรกิจอาหารจำนวนไม่น้อย กำลังมองหาโอกาสตีตลาด ด้วยการนำมาสร้างสรรค์เมนูใหม่

เมื่อช่วงต้นปีนี้ Starbucks เชนร้านกาแฟรายใหญ่ ประกาศเตรียมเพิ่มเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่เป็น Plant-based เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค สอดรับพฤติกรรมการทานอาหารวีแกนของคนรักสุขภาพ ไปพร้อมๆ กับการยกระดับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายภายในร้านให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตีตลาดในแคนาดา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มให้บริการในประเทศจีน ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ล่าสุด Starbucks ได้เริ่มขยายเจาะกลุ่มลูกค้าในภูมิภาค “เอเชียเเปซิฟิก เเล้ว โดยตั้งเเต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป บริษัทจะมีการปรับเเผนเเละเพิ่มเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่เป็น Plant-based ซึ่งผลิตจากบริษัท Impossible Foods , Oatly และ Beyond Meat Inc เพื่อตอบโจทย์คนรักสุขภาพที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

Starbucks มองว่า เป็นโอกาสสำคัญที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดในฮ่องกง สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ไต้หวันและไทย ตามรสนิยมและความชื่นชอบของกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจอาหารที่ผลิตจากพืชเป็นหลัก

โดยจะเริ่มทดลองตลาด Plant-based ในรูปแบบเครื่องดื่มตามฤดูกาล 2 เมนูก่อน คือ Oatmilk Cocoa Macchiato และ Almondmilk Hazelnut Latte วางจำหน่าย 8 พื้นที่ ได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

Photo : Starbucks เมนู Oatmilk Cocoa Macchiato

ส่วนเมนูอาหารจะวางขายใน 5 พื้นที่ โดยมีเมนูที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ฮ่องกง :  Maize Impossible Sandwich, the Spiced Impossible Puff เเละ vegan chocolate bread stick
  • นิวซีเเลนด์ : Mince & Cheese Pie
  • สิงคโปร์ : Impossible Wrap
  • ไต้หวัน : Beyond Meat Bolognese Penne, the Beyond Meat Sausage Sandwich เเละ the Beyond Meatball Sandwich
  • ไทย : Beyond Meat Sandwich
Photo : Starbucks เมนู Impossible Wrap ที่จะวางขายในสิงคโปร์

Starbucks  เปิดเผยว่า เมนู Plant-based ของแบรนด์จะมุ่งไปที่การพัฒนารสชาติให้ถูกปากคนในพื้นที่และใช้พืชในท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบ

อย่างไรก็ตาม การออกเมนู Plant-based ในเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นความท้าทายของ Starbucks ที่จะต้องเอาใจผู้บริโภคที่ต้องการรสชาติและตัวเลือกใหม่ในวิถีการกินดื่มของผู้คนในเอเชียที่มีความหลากหลาย โดยจากข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของ นม Plant-based” เพราะเป็นตัวเลือกที่ได้รับการยอมรับในวัฒนธรรมอาหารอยู่แล้ว

สำหรับตลาด Plant-based Food ในประเทศไทย ก็เริ่มมีเชนร้านอาหารนำเนื้อทำจากพืชมาปรุงเป็นเมนูหลัก เช่น Sizzler ในเครือไมเนอร์ หรือร้านฌานาในเครือฟู้ดแพชชั่น รวมถึงมีนำเข้าจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งด้วย

ปัจจุบัน Plant-based Food มีมูลค่ารวมทั่วโลก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปเป็น 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี เนื่องจากผู้บริโภคเห็นข้อดีของวัตถุดิบอาหารรูปแบบนี้มากขึ้น

 

ที่มา : Reuters , Inside Retail , Starbucks