สำนักข่าว The Register รายงานข่าวนโยบายการทำงานแบบใหม่ของ “Dell Technologies” ที่ประกาศเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่า บริษัทต้องการให้พนักงานลงทะเบียนเลือกระหว่าง “กลับเข้าออฟฟิศ” ตามนโยบายใหม่ของบริษัท หรือ “ทำงานทางไกล” (remote work)
หากเลือกนโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” ของ Dell พนักงานจะต้องเข้ามาอย่างน้อย 39 วันต่อไตรมาส หรือเฉลี่ยแล้วเท่ากับอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์
แต่ถ้าหากเลือกตัวเลือก “ทำงานทางไกล” พนักงานจะต้องยอมรับเงื่อนไขติดตามมา 4 ข้อ คือ 1)ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ หากทีมงานจะนัดหมายเข้ามาประชุมแบบออนไซต์ 2)ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น 3)ห้ามย้ายตำแหน่งงานภายในองค์กร 4)บุคคลที่ทำงานทางไกลจะถูกพิจารณาก่อนหากองค์กรมีการปรับโครงสร้าง …หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘เลย์ออฟ’
สรุปได้ว่า ทางเลือก “ทำงานทางไกล” ไม่เข้าออฟฟิศ จะทำให้พนักงานเหมือนเลือกเส้นทางตันให้กับอาชีพของตัวเองที่ Dell โดยพนักงานมีเวลาตัดสินใจถึงแค่วันที่ 7 มีนาคมนี้เป็นวันสุดท้าย
Dell เป็นบริษัทที่มีนโยบายยืดหยุ่นด้านการทำงานมานาน 15 ปี ในช่วงเกิดโรคระบาดเมื่อปี 2020 “ไมเคิล เดล” ผู้ก่อตั้งบริษัท เคยกล่าวไว้ว่าการ “work from home” จะกลายเป็นนโยบายถาวรของชีวิตคนทำงานที่ Dell ต่อมาในปี 2021 มีการสำรวจความเห็นพนักงานตามนโยบายดังกล่าว พบว่ามีถึง 65% ที่พอใจกับตัวเลือกที่ยืดหยุ่นในการทำงานจากที่ไหนก็ได้
เมื่อมีการเปลี่ยนนโยบายบีบให้พนักงานเข้าบริษัท ทำให้แหล่งข่าวกลุ่มพนักงานจำนวนหนึ่งใน Dell บอกกับ The Register ว่า พวกเขาคิดว่าแผนนี้คือการ “บีบให้ลาออก” เพื่อที่บริษัทจะไม่ต้องเสียเงินค่าชดเชยในการปลดพนักงาน
แนวคิดนี้มีที่มาที่ไปจากการประกาศก่อนหน้านี้ของ Dell ที่ต้องการจะลดพนักงานให้ต่ำกว่า 100,000 คนเพื่อลดต้นทุนบริษัท
Dell ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีที่เดียวที่เปลี่ยนใจเรื่องนโยบายการทำงานทางไกล เมื่อปีที่แล้วมีหลายบริษัทเทคฯ ที่ประกาศบังคับให้พนักงานกลับมาออฟฟิศหรือกดดันให้กลับ
แหล่งข่าวภายใน Dell ยังกล่าวด้วยว่า จากการประเมินผ่านกลุ่มตัวอย่างในดาต้าองค์กร พบว่า “ผู้หญิง” จะได้รับผลกระทบมากกว่า จากการสุ่มพบว่ามีผู้หญิง 29 คนที่ทำงานทางไกลอยู่ขณะนี้ เทียบกับ “ผู้ชาย” ที่มีเพียง 2 คน
เหตุที่ผู้หญิงใน Dell กระทบมากกว่าเพราะส่วนใหญ่พวกเธอมักจะเลือกทำงานทางไกล เพื่อให้สามีของตนที่ทำงานบริษัทอื่นซึ่งไม่มีนโยบายทำงานทางไกลได้มีโอกาสย้ายงานไปอยู่ในเมืองที่ต้องการ หรือหลายๆ คนมีสามีเป็นทหารที่ต้องย้ายจุดประจำการบ่อยครั้ง
เมื่อคำนวณแล้ว กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดจากนโยบายนี้คือ พนักงานผู้หญิงวัย 40-55 ปี และ พนักงานที่ทำงานมานาน 8 ปีขึ้นไป
จากผลการดำเนินงานไตรมาสล่าสุดของ Dell ที่รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 บริษัททำรายได้ 22,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -10% YoY อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรสูงมากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ สูงขึ้น +317% YoY
แม้มีกำไรแล้วแต่คาดว่า Dell น่าจะยังต้องการลดต้นทุนลงอีก โดยทำตามแผนลดภาษีที่หน่วยงานท้องถิ่นแต่ละเมืองเสนอ ปัจจุบันเมืองหลายเมืองต้องการดึงให้บริษัทเข้ามาตั้งสำนักงานโดยต้องมีจำนวนพนักงานเข้าออฟฟิศมากพอ เพื่อมาปลุกให้เศรษฐกิจเมืองมีชีวิตชีวาขึ้น แลกกับการลดภาษีให้กับบริษัท ล่อตาล่อใจให้หลายบริษัทเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อลดต้นทุน
รายงานนี้ยังไม่ได้รับความเห็นเพิ่มเติมจากทาง Dell นอกไปจากคำแถลงเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า Dell ออกนโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” เพราะ “ท่ามกลางการปฏิวัติเทคโนโลยีในวันนี้ เราเชื่อว่าการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลจับคู่กับวิธีการทำงานแบบยืดหยุ่นนั้น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการสร้างความแตกต่างที่มีคุณค่า”
]]>อีเมลเวียนภายในบริษัท Tesla ที่ส่งต่อถึงระดับผู้บริหารจาก “อีลอน มัสก์” หลุดออกสู่สาธารณะ โดยหัวข้อของอีเมลระบุว่า “การทำงานทางไกลจะไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป” พร้อมมีข้อความที่กล่าวถึงการทำงานทางไกลว่า “ใครก็ตามที่อยากจะทำงานทางไกล ต้องเข้ามาออฟฟิศให้ได้อย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้ได้ก่อน (และผมขอย้ำอีกครั้งว่า *อย่างน้อย*) หรือไม่ก็ออกจาก Tesla ไปเสีย”
มัสก์ยังย้ำในอีเมลด้วยว่า “ออฟฟิศหมายถึงออฟฟิศหลักของ Tesla ไม่ใช่สำนักงานสาขาไกลๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเนื้องาน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยู่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของโรงงานในฟรีมอนต์ แต่ไปเข้าออฟฟิศบริษัทในรัฐอื่น”
ความหมายของมัสก์ชัดเจนว่า พนักงานจะต้องกลับมาเข้าออฟฟิศเต็มเวลาตามปกติ ไม่อนุญาตให้มีการทำงานทางไกล (ยกเว้นมีเหตุผลเฉพาะบุคคลที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมัสก์จะตรวจสอบและอนุมัติเอง)
มัสก์ไม่ได้ยอมรับโดยตรงว่าอีเมลนั้นเป็นของจริง แต่ดูเหมือนความเห็นของเขาก็สอดคล้องกับอีเมล หลังจากมีผู้ติดตามมัสก์ถามเขาใน Twitter ว่า มีคนมองว่าการกลับเข้าออฟฟิศเป็นแนวคิดโบราณ มัสก์ทวีตตอบกลับว่า “ก็ให้พวกเขาไปแสร้งทำเป็นทำงานที่อื่นละกัน”
ชื่อเสียงของมัสก์ด้านความเข้มงวดต่อพนักงานนั้นค่อนข้างจะรู้กันทั่ว ยกตัวอย่างเช่น “คีธ ราบัวส์” เพื่อนนักลงทุนที่รู้จักมัสก์ตั้งแต่สมัยยังอยู่ PayPal เล่าถึงสมัยที่มัสก์เปิดสตาร์ทอัพ Space Exploration Technologies Corp. วันหนึ่งมัสก์สังเกตเห็นกลุ่มเด็กฝึกงานที่เอาแต่เดินไปเดินมาโดยไม่มีอะไรทำ ซึ่งเขามองว่าทำให้ผลิตผลการทำงานต่ำลง เขาถึงกับขู่ไล่ออกหากมีการกระทำแบบนี้ขึ้นอีก พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้สอดส่องภายในที่ทำงานด้วย
นอกจากนี้ สถานการณ์ในโรงงานของ Tesla ที่เซี่ยงไฮ้ก็สะท้อนแนวคิดการทำงานหนักแบบเดียวกัน เพื่อจะเร่งการผลิตให้ทันส่งมอบ มัสก์ให้พนักงานทำงานกะละ 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ ยิ่งเมื่อมี COVID-19 ระบาด Tesla ทำการเปลี่ยนค่ายทหารเก่าหรือโรงงานเก่าที่ไม่ได้ใช้เป็นหอพักพนักงาน เพื่อจะมีรถรับส่งสลับกะกลางวันกลางคืนได้เต็มประสิทธิภาพ บางครั้งพนักงานบางคนก็ต้องนอนบนพื้นโรงงานด้วย
มัสก์เคยกล่าวชื่นชมวัฒนธรรมการทำงานแบบจีนเมื่อเร็วๆ นี้เอง ในการให้สัมภาษณ์กับ Financial Times เขาบอกว่า คนงานจีนพร้อมจะทำงานถึงดึกดื่น ไม่ใช่แค่เที่ยงคืน แต่ตี 3 ก็ทำได้ ขณะที่คนงานอเมริกันเอาแต่พยายามเลี่ยงไม่ทำงานเลย
แม้ว่าบริษัทตะวันตกจำนวนมากจะพร้อมปรับระบบการทำงานเป็นแบบไฮบริด ผสมผสานการเข้าออฟฟิศกับการทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่ก็ใช่ว่า Tesla จะไม่มีเพื่อน มีบริษัทดังอย่างน้อย 2 แห่งที่เรียกพนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์แล้ว นั่นคือ Netflix และ Goldman Sachs
“รีด เฮสติ้งส์” ซีอีโอ Netflix เป็นอีกคนหนึ่งที่คัดค้านวิถีการทำงานสมัยใหม่ในหลายๆ แง่ โดยเฉพาะการ Work from Home หากไม่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคระบาด เขาก็จะให้พนักงานกลับมาออฟฟิศทั้งหมดทันที เพราะเห็นว่าการทำงานจากบ้านไม่ใช่ปัจจัยบวก “การที่ไม่สามารถจะมาพบปะเจอตัวกันได้ โดยเฉพาะการทำงานข้ามประเทศ เป็นปัจจัยลบต่อการทำงานโดยแท้” เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal
สำหรับฝั่งเอเชียแปซิฟิก CBRE มีการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2022 พบว่าบริษัท 38% ต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานออฟฟิศทุกวัน ขณะที่มี 52% อนุญาตให้ทำงานแบบไฮบริด ผสมผสานการเข้าออฟฟิศกับการทำงานทางไกล
Source: Hindustan Times, HubbleHQ, The Indian Express
]]>ตัวอย่างของบริษัทที่กำลังเจอแรงต้านจากการให้กลับเข้าออฟฟิศก็คือ Apple ที่ได้ปรับให้พนักงานทำงานแบบไฮบริดโดยให้กลับเข้าออฟฟิศ 3 วัน/สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่ผ่านมาพนักงานกว่า 1,000 คนของ Apple ได้เขียนจดหมายถึงผู้นำของบริษัท ว่าขอให้ตัดสินใจด้วยตัวเองร่วมกับทีมและผู้จัดการโดยตรงว่าจะต้องกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีพนักงานหลายคนของบริษัท รวมถึงพนักงานระดับสูง อาทิ Ian Goodfellow ผู้อำนวยการด้านแมชชีนเลิร์นนิ่งยื่นหนังสือลาออก เนื่องจากมองว่าการกลับมาที่ออฟฟิศทำให้มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ทั้งด้านสุขภาพและสุขภาพจิต โดยด้าน Apple เองยังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
นักวิเคราะห์มองว่าที่หลายบริษัทเริ่มให้กลับมาทำงานในออฟฟิศเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง, ร้านอาหาร, คอนเสิร์ต, ร้านค้าต่าง ๆ ทำให้ผู้บริหารไม่สามารถมั่นใจได้อีกต่อไปว่าพนักงานจะกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพท่ามกลางการผ่อนคลายต่าง ๆ ซึ่งต่างจาก 2 ปีก่อนที่พนักงานอาจตั้งใจทำงานเพราะไม่สามารถออกไปจากบ้านได้
อย่างไรก็ตาม เจมี่ ไดมอน ผู้บริหารระดับสูงของ JPMorgan Chase & Co. เป็นหนึ่งในนักวิจารณ์ที่ได้ออกมาพูดถึงเกี่ยวกับมาตรการ Work From Home มากที่สุด ได้ออกมาคาดการณ์ว่า การทำงานทางไกลจากที่บ้านกำลังจะกลายเป็น เรื่องถาวร ในอเมริกามากขึ้น และคาดว่าประมาณ 40% ของแรงงานกว่า 270,000 คน ของบริษัทเขาจะ ทำงานแบบไฮบริด ซึ่งจะมีทั้งวันที่เข้าออฟฟิศและวันที่ทำงานอยู่กับบ้าน
จากรายงาน ล่าสุด ของ Harvard Business School พบว่า การทำงานแบบไฮบริดสามารถลดอัตราการลาออกได้ถึง 35% และจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่า คนอเมริกันลาออกจากงานในอัตราที่สูงเป็น ประวัติการณ์ในเดือนมีนาคมที่ 4.5 ล้านคน โดยสาเหตุที่ลาออกเป็นเพราะมองว่า ความยืดหยุ่น นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่หลายบริษัทตกลงกันว่าจะกลับมาทำงานในออฟฟิศ 3-4 วัน แต่ระยะเวลาที่พนักงานต้องการคือ 1-2 วันในการเข้าออฟฟิศ
]]>Airbnb ประกาศกับพนักงานในวันที่ 28 เม.ย. 2022 ว่า พวกเขาสามารถ “ทำงานจากที่ไหนก็ได้” ภายในประเทศที่พวกเขาทำงานอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศอีกตลอดไป และการทำเช่นนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อเงินเดือนหรือสวัสดิการแต่อย่างใด หมายความว่าบริษัทจะไม่ตัดเงินเดือนหากพนักงานเลือกย้ายไปอยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพต่ำลง ทั้งนี้ Airbnb มีพนักงาน 6,000 คนทั่วโลก โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐอเมริกา
Brian Chesky ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอบริษัท เขียนในอีเมลถึงพนักงานทุกคนว่า ความยืดหยุ่นในการทำงานอย่างถาวรนี้จะทำให้บริษัทสามารถ “ว่าจ้างและรักษาบุคลากรที่ดีที่สุดในโลกไว้ได้” ไม่ใช่ต้องหาแต่บุคลากรที่ “อยู่ในระยะเดินทางไปกลับออฟฟิศของเราได้”
Chesky ระบุว่า พนักงานจะต้องปรึกษาผู้จัดการของตนก่อนย้ายสถานที่ทำงาน รวมถึงมีหน้าที่บางประเภทที่อาจจะยังต้องเข้าออฟฟิศหรือถูกกำหนดสถานที่ทำงานอย่างชัดเจนเพื่อให้รับผิดชอบหน้าที่หลักได้ เขายังบอกด้วยว่า เนื่องจากการย้ายไปทำงานจากต่างประเทศนั้นมีความซับซ้อนอยู่ “ทำให้เราไม่สามารถสนับสนุนการทำงานลักษณะนั้นได้ในปีนี้”
อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมการไปทำงานแบบ “ลองสเตย์” ในประเทศอื่นเป็นจริงได้บ้าง ตั้งแต่เดือนกันยายนปีนี้ พนักงานจะสามารถย้ายไปทำงานได้ใน 170 ประเทศ ยาวนานสูงสุด 90 วันต่อปีต่อหนึ่งโลเคชัน แต่ทุกคนยังต้องมีที่อยู่ถาวรไว้สำหรับทำเอกสารยื่นภาษีและรับเงินเดือน
“เราตื่นเต้นที่จะให้ความยืดหยุ่นแก่คุณได้ถึงระดับนี้ บริษัทส่วนใหญ่ไม่ทำแบบนี้เพราะความซับซ้อนของการทำเอกสารภาษี การจ่ายเงินเดือน และไทม์โซนการทำงานที่จะติดตามมา แต่เราหวังว่า โซลูชันที่เราสร้างขึ้นจะสามารถเปิดเป็นโอเพ่นซอร์ส เพื่อให้บริษัทอื่นได้สร้างความยืดหยุ่นแบบนี้เหมือนกับเรา” Chesky กล่าว
เรื่องไทม์โซนสำหรับการทำงานในสหรัฐฯ Chesky มองว่า Airbnb น่าจะปรับมาใช้ Pacific Standard Time (PST) เป็นหลัก (ในสหรัฐฯ ไม่รวมอลาสก้าและฮาวาย สามารถแบ่งเป็น 4 เขตเวลาที่ต่างกันสูงสุด 3 ชั่วโมง เขตเวลา PST จะตรงกับฝั่งตะวันตกของประเทศ)
ความเคลื่อนไหวนี้ของ Airbnb ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะ Chesky ลงทุนทำการตลาดเรื่องการ “ทำงานจากที่ไหนก็ได้” ด้วยตนเองมาตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยการย้ายที่อยู่และทำงานไปรอบประเทศสหรัฐฯ ทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยโปรโมตวิถีการทำงานที่ให้ประโยชน์สูงมากกับบริษัทในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา
มีคนมากมายที่เลือกย้ายไปอยู่ใน Airbnb ในช่วงที่ออฟฟิศปิด เพื่อจะเที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วยได้ และ Chesky เชื่อว่าวิถีนี้จะเป็นกระแสต่อเนื่องในปี 2022 เขาถึงกับเรียกวิธีใช้ชีวิตแบบนี้ว่าเป็น “การกระจายศูนย์กลางการอยู่อาศัย”
“ความยืดหยุ่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณให้ความไว้ใจคนที่อยู่ในทีม” Chesky กล่าว “คุณได้แสดงให้เห็นแล้วว่าคุณสร้างความสำเร็จได้มากแค่ไหนเมื่อทำงานจากระยะไกล ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราได้หาหนทางฝ่าพ้นโรคระบาด สร้างบริษัทขึ้นมาใหม่ตั้งแต่พื้นฐาน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อัปเกรดบริการของเราทั้งหมด และรายงานรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างที่เราทำงานจากระยะไกลนี่แหละครับ”
]]>Brian Chesky ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb ประกาศผ่านบัญชีทวิตเตอร์ว่า เขาจะเริ่มย้ายที่อยู่ทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อ “ทำงานทางไกล” (remote work) จากหลายๆ เมือง แน่นอนว่าที่พักที่เขาเลือกจะต้องมาจากแพลตฟอร์ม Airbnb ของเขาเอง
“ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจะเริ่มอาศัยอยู่ใน Airbnb” Chesky ทวีตข้อความนี้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2022 “ผมจะเปลี่ยนที่พักไปในเมืองต่างๆ ทุกๆ 2 สัปดาห์”
ปกติแล้ว Chesky อาศัยอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก และที่แรกที่เขาจะย้ายไปอยู่คือเมืองแอตแลนตา และจะย้ายเมืองไปเรื่อยๆ
เขาบอกว่า เขาต้องการจะทำอย่างนี้เพราะ “มันคงสนุกดี แต่ที่สำคัญกว่าคือ ประสบการณ์นี้จะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองสำหรับคนที่สามารถอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้”
การตลาดของ Airbnb ล้อตามดาต้าที่บริษัทพบเมื่อปีที่แล้ว เมื่อการเช่าพักระยะยาวบน Airbnb สูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เกิดโรคระบาด COVID-19
“เมื่อเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนปีก่อน 1 ใน 5 ของการจองที่พักบน Airbnb เป็นการเช่าพัก 1 เดือนหรือนานกว่านั้น และเกือบครึ่งหนึ่งของการจองเป็นการเช่าพัก 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น” Chesky ทวีตข้อความนี้ และเสริมว่า “เฉพาะปีที่แล้ว มีแขกที่พัก Airbnb จำนวน 1 แสนรายที่จองเพื่อพักเป็นเวลา 3 เดือนหรือมากกว่า”
Chesky คาดการณ์ว่าปีนี้ก็จะยังเห็นคนที่ “เดินทางไปในหลายพันเมืองเพื่อพักอาศัยยาวนานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือกระทั่งพักอยู่ทั้งฤดูต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง”
“คนจำนวนมากจะเริ่มย้ายไปอยู่ต่างประเทศ บางคนจะไปเที่ยวตลอดฤดูร้อน และบางคนจะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นดิจิทัล โนแมด” Chesky ทวีต “เมืองต่างๆ และหลายๆ ประเทศจะแข่งขันกันเพื่อดึงดูดคนทำงานทางไกลเหล่านี้ และต่างต้องการเป็นผู้นำในการกระจายตัวแบบใหม่ของคนที่ต้องการใช้ชีวิตและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน”
Future Workforce Pulse รายงานข้อมูลที่สนับสนุนการคาดการณ์ของ Chesky โดยพบว่า ชาวอเมริกันที่ทำงานทางไกลจะขยายเกือบเป็นเท่าตัวเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด โดยคาดว่าจะเพิ่มจาก 16.8 ล้านคนเป็น 36.2 ล้านคนภายในปี 2025
Airbnb คือผู้ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์นี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัททำกำไรได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2008 และมียอดจองที่พักสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
ตัวบริษัท Airbnb เองก็สนับสนุนเทรนด์การทำงานทางไกล โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ซีอีโอ Chesky ได้แจ้งถึงผู้ถือหุ้นว่าบริษัทอนุญาตให้พนักงานไม่ต้องกลับมาเข้าออฟฟิศอีกจนถึงเดือนกันยายน 2022 หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น จนถึงเดือนพฤศจิกายนปีก่อน บริษัทก็ประกาศเตรียมทำนโยบาย “การทำงานแบบยืดหยุ่น” ให้อย่างถาวร ทำให้พนักงานทำงานทางไกลได้เลย
Airbnb เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2020 และถึงแม้ว่าข่าวการทำกำไรและเทรนด์ที่เข้าทางบริษัทน่าจะเป็นผลบวก แต่ล่าสุดบริษัทวิจัย Gordon Haskett ลดเกรดหุ้น Airbnb ลงและทำให้ราคาหุ้นตกไป 3.4%
]]>องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Environment International ระบุว่า การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องทำงานทางไกล และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก เพิ่มความเสี่ยงให้ลูกจ้างมีชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้นตามไปด้วย
โดยการทำงานมากกว่า ’55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์’ เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น 35% และเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงขึ้น 17% เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานสัปดาห์ละ 35-40 ชั่วโมง
ในปี 2016 ประชาชนกว่า 745,000 คน เสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกและโรคหัวใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทำงานยาวนานหลายชั่วโมง สูงขึ้นเกือบ 30% จากปี 2000
ผลวิจัยของ ILO พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบ 3 ใน 4 เป็นผู้ชายในวัยกลางคนหรือสูงอายุ หลายกรณีเสียชีวิตในช่วงบั้นปลายชีวิต 10 ปีให้หลังจากที่ทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน
โดยแรงงานที่ใช้ชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก ตามนิยามของ WHO รวมจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้มากที่สุด
นักวิจัย ชี้ว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งด้านสรีรวิทยาโดยตรงเเละก่อให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ยังส่งผลให้เเรงงานมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมทำลายสุขภาพ เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การนอนหลับน้อยลง ไม่มีเวลาออกกำลังกายและทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
“การทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง ต้องยอมรับว่าการทำงานที่ยาวนาน อาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร” Maria Neira ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพของ WHO กล่าว
การทำงานทางไกล ประชุมออนไลน์ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากพิษไวรัส เร่งให้พนักงานต้องเเบกภาระงานหนักมากขึ้น WHO ประเมินว่า ประชาชนอย่างน้อย 9% มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่าเดิม
ในทางตรงกันข้าม การ ‘ลดชั่วโมงการทำงาน’ ลงจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้างมากกว่า เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าจะช่วยให้ผลิตภาพของพนักงานเพิ่มขึ้น
“ไม่มีงานใดที่คุ้มค่าจะเสี่ยงกับการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุข้อตกลงเพื่อปกป้องสุขภาพของเเรงงาน“
]]>