ทำงานระยะไกล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 05 Sep 2023 11:13:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กลับลำ! ซีอีโอ “Meta” “Snap” “Zoom” เลิกอวย Work from Home หันมากดดันพนักงานที่ไม่เข้าออฟฟิศ https://positioningmag.com/1443468 Tue, 05 Sep 2023 06:42:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1443468 หมดยุคทองของการ Work from Home แล้วหรือเปล่า? ล่าสุดทั้งซีอีโอของ Meta, Snap และ Zoom ต่างเปลี่ยนนโยบายให้พนักงานกลับมาเข้าออฟฟิศ และเริ่มกดดันลงโทษทางวินัยหรือไล่ออกพนักงานที่ไม่ยอมทำตาม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในช่วงโควิด-19 บรรดาซีอีโอต่าง อวย การทำงานจากบ้านว่าดีกับสมดุลชีวิตและการงานมากกว่า

3 ปีที่ผ่านมา โรคระบาดบีบให้หลายบริษัทต้องใช้นโยบาย Work from Home สำหรับพนักงานออฟฟิศ จนวิถีชีวิตการทำงานลักษณะนั้นเกือบจะมาแทนที่การเข้าออฟฟิศแบบเดิมๆ ไปโดยเฉพาะในโลกตะวันตก

อย่างไรก็ตาม บางบริษัทเริ่มทยอยเปลี่ยนใจ หันมาใช้นโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” เหมือนเก่าแล้ว เช่น Meta และ Goldman Sachs ที่เริ่มต้นใช้นโยบายกลับเข้าออฟฟิศมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมาพร้อมกับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากพนักงานไม่เข้าออฟฟิศบ่อยครั้งเท่าที่กำหนด อาจจะมีบทลงโทษทางวินัยถึงขั้นไล่ออกได้

ที่ผ่านมาพนักงานส่วนใหญ่ให้ค่ากับบริษัทที่มีนโยบายอนุญาตการทำงานทางไกล (remote work) ไว้สูงมาก The Wall Street Journal เคยรายงานไว้ว่า พนักงานมองว่าการมีนโยบายยืดหยุ่นเรื่องที่ทำงานนั้นเทียบเท่ากับการให้เงินเดือนเพิ่ม 8% เลยทีเดียว ดังนั้น การปรับระบบกลับมาเข้มงวดเรื่องเข้าออฟฟิศจึงเป็นสิ่งที่สวนทางกับความรู้สึกพนักงาน

ในช่วงโควิด-19 มีซีอีโอหลายรายที่อวยยศให้การ Work from Home เป็นนวัตกรรมการทำงานที่ดี แต่ปัจจุบันนี้ ‘กลับลำ’ อย่างแรง เมื่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานไม่ได้ดีอย่างที่คิด

 

‘Mark Zuckerberg’ แห่ง Meta จากอวยสู่ไล่ออก

(Photo by David Ramos/Getty Images)

ย้อนไปในช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 หลังล็อกดาวน์ในสหรัฐฯ ผ่านไป 2 เดือน Mark Zuckerberg ซีอีโอ Meta เคยกล่าวในการประชุมภายในบริษัทว่า การมีนโยบายที่ทำงานแบบยืดหยุ่นทำให้บริษัทมีโอกาสเปิดกว้างขึ้นในการจ้างงาน ‘ทาเลนต์’ เพราะทาเลนต์ที่ไม่ต้องการย้ายมาอยู่เมืองใหญ่ก็สามารถทำงานกับ Meta ได้

ในแง่ชีวิตส่วนตัวของพนักงาน เขามองว่าการทำงานทางไกลทำให้ตัวเขาเองมีพื้นที่และเวลาได้คิดมากขึ้น และได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งทำให้เขามีความสุขและทำงานได้มีประสิทธิภาพ

เมื่อปี 2020 Zuckerberg ถึงกับวาดฝันว่าพนักงานของ Facebook จะได้ทำงานทางไกลกันใน 5-10 ปีข้างหน้า เขาถึงขั้นบอกด้วยว่าในปี 2022 เขาจะเริ่มทำงานจากระยะไกลสักครึ่งปี

ตัดภาพมาในปี 2023 บริษัท Meta กลับลำอย่างแรงเรื่องของการทำงานจากที่ไหนก็ได้ สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า Meta จะเริ่มเข้มงวดเรื่องการกลับเข้าออฟฟิศของพนักงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2023

พนักงานบางคนอาจจะได้รับอนุมัติให้ทำงานระยะไกลได้ แต่ส่วนใหญ่จะต้องเข้าออฟฟิศเกือบทั้งสัปดาห์การทำงาน พนักงานจะเริ่มถูกมอนิเตอร์จากฝ่ายบริหารว่าเข้ามาออฟฟิศจริง และจะเริ่มมีบทลงโทษทางวินัยหรือไล่ออก หากพนักงานไม่ให้ความร่วมมือเรื่องเข้าออฟฟิศ

ภาพการสนับสนุนของ Zuckerberg ว่าการทำงานแบบ Work from Home ช่วยขับเคลื่อนประสิทธิภาพนั้นไม่มีอีกแล้ว ปัจจุบันเขากล่าวว่า จากการติดตามดาต้าด้านประสิทธิภาพการทำงานในบริษัท เขาพบว่า “คนที่ทำงานจากบ้านไม่มีประสิทธิภาพ และวิศวกรที่มาออฟฟิศนั้นทำงานสำเร็จได้มากกว่า”

 

Snap: จากใช้เวลากับครอบครัว ตอนนี้ขอใช้เวลากับพนักงาน

Even Spiegel ซีอีโอของ Snap ในงาน Snap Partner Summit 2023 (Photo by Joe Scarnici/Getty Images for Snap, Inc.)

Even Spiegel ซีอีโอของโซเชียลมีเดียใหญ่ Snap ในอดีตก็คิดคล้ายๆ กัน หลังผ่านการทำงานจากบ้านในช่วงล็อกดาวน์ไปเพียงเดือนครึ่ง เขาถึงกับบอกสื่อว่า “ผมบอกทีมผมแล้วว่า ผมจะไม่กลับไปออฟฟิศอีก”

เหตุเพราะการทำงานจากบ้านทำให้เขาได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ได้ทานอาหารเช้าและข้าวเย็นกับที่บ้าน ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

แต่ตัดภาพมาถึงเดือนพฤศจิกายน 2022 ดูเหมือน Spiegel จะใช้ชีวิตกับครอบครัวมาจนพอแล้ว

เอกสารภายในของ Snap มีคำสั่งให้พนักงานของบริษัททุกคนต้องกลับเข้าออฟฟิศ 4 วันต่อสัปดาห์ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งนโยบายนี้ถูกกำหนดให้ใช้กับสำนักงานของ Snap ทั้ง 30 แห่งทั่วโลก

เหตุผลเพราะตอนนี้เขามองว่าการมาทำงานร่วมกันแบบเจอหน้ากันจะทำให้ได้ใช้ศักยภาพสูงสุดในการทำงาน และความสะดวกสบายส่วนตัวที่แต่ละคนต้องสละไปนั้น เขาเชื่อว่าจะนำมาสู่การประสบความสำเร็จร่วมกันในทีม

 

แม้แต่ Zoom ยังให้เข้าออฟฟิศ

อีริค หยวน ขึ้นเป็นวิทยากรในงาน Dropbox Work In Progress Conference ปี 2019 (photo: Matt Winkelmeyer/Getty Images for Dropbox)

ในยุคการทำงานทางไกลระหว่างเกิดโควิด-19 “Zoom” คือบริษัทสุดฮอตที่พุ่งทะยานตีคู่มากับบรรดาบริษัทวัคซีน

นั่นทำให้ Eric Yuan ซีอีโอของ Zoom ยากที่จะปฏิเสธไม่ให้พนักงานทำงานทางไกลได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็เหมือนปฏิเสธบริการของบริษัทตัวเอง

เมื่อเดือนมกราคม 2022 ในช่วงที่บริษัทอื่นเริ่มให้กลับเข้าออฟฟิศได้แล้ว แต่ Zoom ประกาศว่ามีพนักงานของบริษัทเพียง 2% ที่เลือกกลับมาออฟฟิศ ตามนโยบายของบริษัทที่ให้พนักงานมีทางเลือก สามารถ Work from Home ได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะสร้างโปรดักส์ที่เกี่ยวกับการทำงานทางไกลโดยตรง แต่ Yuan คือหนึ่งในกลุ่มซีอีโอที่ ‘รู้สึกคลางแคลงใจ’ กับการให้พนักงาน Work from Home ได้ตลอดไป เขาเป็นหนึ่งในคนที่มองว่าหลังผ่านช่วงโรคระบาดแล้ว ออฟฟิศต่างๆ น่าจะมีการทำงานแบบไฮบริดมากกว่า

ในที่สุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 บริษัท Zoom แจ้งกับพนักงานของตนเองให้กลับมาออฟฟิศ โดยใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในระยะ 50 ไมล์จากออฟฟิศ (ประมาณ 80 กิโลเมตร) จะต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์

Yuan กล่าวว่า การทำงานทางไกลทำให้พนักงานยากที่จะทำความรู้จักกันและสร้างความเชื่อใจกัน “ความเชื่อใจเป็นรากฐานของทุกอย่าง ถ้าไม่มีความเชื่อใจ เราจะทำงานได้ช้าลง” Yuan กล่าวในการประชุมภายในบริษัท

“เราไม่สามารถอภิปรายกับคนอื่นได้ดีนัก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้ Zoom ทุกคนจะพยายามทำตัวให้เป็นมิตรมากๆ” Yuan กล่าวยอมรับว่า Zoom มักจะไม่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียอย่างตรงไปตรงมา แต่ว่าบริษัทของเขาจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป

น่าสนใจว่าการทำงานระยะไกลหรือ Work from Home ที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้พนักงานมีความสุขและมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น และอาจจะกลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เมื่อองค์กรพบว่าวิธีการทำงานแบบนี้ทำให้พนักงานไม่มีวัฒนธรรมองค์กร และบางทีก็ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลงด้วย

Source

]]>
1443468
การตลาดแบบ Airbnb ซีอีโอลุยเอง! ย้ายที่พักทุก 2 สัปดาห์พัฒนาศักยภาพ “ทำงานทางไกล” https://positioningmag.com/1370920 Thu, 20 Jan 2022 05:03:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370920 หลังจาก Airbnb พบว่าการเช่าเพื่อ “ทำงานทางไกล” เติบโตสูงมากหลังเกิดโรคระบาด บริษัทจึงใช้โอกาสนี้โปรโมตฟังก์ชันใหม่ของที่พักในเครือข่าย สามารถเช่าไว้สำหรับทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยล่าสุด “Brian Chesky” ซีอีโอบริษัท ประกาศย้ายที่พักบน Airbnb ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อพิสูจน์และพัฒนาประสบการณ์การทำงานทางไกลในที่พักของแพลตฟอร์ม

Brian Chesky ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb ประกาศผ่านบัญชีทวิตเตอร์ว่า เขาจะเริ่มย้ายที่อยู่ทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อ “ทำงานทางไกล” (remote work) จากหลายๆ เมือง แน่นอนว่าที่พักที่เขาเลือกจะต้องมาจากแพลตฟอร์ม Airbnb ของเขาเอง

“ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจะเริ่มอาศัยอยู่ใน Airbnb” Chesky ทวีตข้อความนี้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2022 “ผมจะเปลี่ยนที่พักไปในเมืองต่างๆ ทุกๆ 2 สัปดาห์”

ปกติแล้ว Chesky อาศัยอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก และที่แรกที่เขาจะย้ายไปอยู่คือเมืองแอตแลนตา และจะย้ายเมืองไปเรื่อยๆ

ทวีตของ Brian Chesky อ่านเต็มๆ ได้ที่ >> https://twitter.com/bchesky/status/1483474046847225865

เขาบอกว่า เขาต้องการจะทำอย่างนี้เพราะ “มันคงสนุกดี แต่ที่สำคัญกว่าคือ ประสบการณ์นี้จะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองสำหรับคนที่สามารถอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้”

การตลาดของ Airbnb ล้อตามดาต้าที่บริษัทพบเมื่อปีที่แล้ว เมื่อการเช่าพักระยะยาวบน Airbnb สูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เกิดโรคระบาด COVID-19

“เมื่อเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนปีก่อน 1 ใน 5 ของการจองที่พักบน Airbnb เป็นการเช่าพัก 1 เดือนหรือนานกว่านั้น และเกือบครึ่งหนึ่งของการจองเป็นการเช่าพัก 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น” Chesky ทวีตข้อความนี้ และเสริมว่า “เฉพาะปีที่แล้ว มีแขกที่พัก Airbnb จำนวน 1 แสนรายที่จองเพื่อพักเป็นเวลา 3 เดือนหรือมากกว่า”

 

คนจะทำงานทางไกลมากขึ้น

Chesky คาดการณ์ว่าปีนี้ก็จะยังเห็นคนที่ “เดินทางไปในหลายพันเมืองเพื่อพักอาศัยยาวนานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือกระทั่งพักอยู่ทั้งฤดูต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง”

“คนจำนวนมากจะเริ่มย้ายไปอยู่ต่างประเทศ บางคนจะไปเที่ยวตลอดฤดูร้อน และบางคนจะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นดิจิทัล โนแมด” Chesky ทวีต “เมืองต่างๆ และหลายๆ ประเทศจะแข่งขันกันเพื่อดึงดูดคนทำงานทางไกลเหล่านี้ และต่างต้องการเป็นผู้นำในการกระจายตัวแบบใหม่ของคนที่ต้องการใช้ชีวิตและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน”

Airbnb ทำงานทางไกล
(Photo : Airbnb)

Future Workforce Pulse รายงานข้อมูลที่สนับสนุนการคาดการณ์ของ Chesky โดยพบว่า ชาวอเมริกันที่ทำงานทางไกลจะขยายเกือบเป็นเท่าตัวเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด โดยคาดว่าจะเพิ่มจาก 16.8 ล้านคนเป็น 36.2 ล้านคนภายในปี 2025

Airbnb คือผู้ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์นี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัททำกำไรได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2008 และมียอดจองที่พักสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด

ตัวบริษัท Airbnb เองก็สนับสนุนเทรนด์การทำงานทางไกล โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ซีอีโอ Chesky ได้แจ้งถึงผู้ถือหุ้นว่าบริษัทอนุญาตให้พนักงานไม่ต้องกลับมาเข้าออฟฟิศอีกจนถึงเดือนกันยายน 2022 หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น จนถึงเดือนพฤศจิกายนปีก่อน บริษัทก็ประกาศเตรียมทำนโยบาย “การทำงานแบบยืดหยุ่น” ให้อย่างถาวร ทำให้พนักงานทำงานทางไกลได้เลย

Airbnb เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2020 และถึงแม้ว่าข่าวการทำกำไรและเทรนด์ที่เข้าทางบริษัทน่าจะเป็นผลบวก แต่ล่าสุดบริษัทวิจัย Gordon Haskett ลดเกรดหุ้น Airbnb ลงและทำให้ราคาหุ้นตกไป 3.4%

Source

]]>
1370920
‘ลงทุนไอที’ ปีหน้าฟื้นแน่! เทคโนโลยีทำงานระยะไกลจะเป็น ‘พระเอก’ ดันตลาด https://positioningmag.com/1304630 Thu, 05 Nov 2020 11:09:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1304630 แม้สถานการณ์ COVID-19 จะทำให้องค์กรทั่วโลกต้องหันมาพึ่งพาไอทีมากขึ้น แต่ ‘การ์ทเนอร์’ ก็ยังคาดว่าเม็ดเงินการลงทุนด้านไอทีจะลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าคาดว่าจะกลับมาโตได้อีกครั้ง

ภายในงาน Gartner IT Symposium/Xpo Americas ที่จัดขึ้นในรูปแบบเวอร์ชวล เหล่านักวิเคราะห์ได้แสดงความคิดเห็นถึงแนวโน้มตลาดไอทีทั่วโลกในปี 2564 อาจจะแตะ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 4% โดยตลาดซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรจะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งที่ 7.2%

เนื่องจากแรงกระตุ้นขององค์กรที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาส่งเสริมการทำงานจากระยะไกลของบุคลากรมากขึ้น รวมถึงบริการแบบเวอร์ชวล อาทิ บริการเรียนหรือบริการด้านสุขภาพทางไกล และการประยุกต์ใช้ระบบไฮเปอร์ออโตเมชั่น เพื่อให้องค์กรตอบรับความต้องการที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดได้อย่างเหมาะสม

ส่วนตลาดดาต้าเซ็นเตอร์จะเติบโตสูงเป็นอันดับสองที่ 5.2% เนื่องจากไฮเปอร์สแคลเลอร์เร่งสร้างศูนย์ข้อมูล และองค์กรทั่วไปกลับมาดำเนินแผนการขยายศูนย์ข้อมูลตามปกติ โดยอนุญาตให้พนักงานกลับเข้าทำงานในสำนักงานได้เหมือนเดิม และแม้ว่ากิจกรรมบนคลาวด์จะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่องค์กรเปลี่ยนไปใช้ระบบการทำงานผ่านระยะไกล หรือมีการใช้จ่ายของคลาวด์ระดับองค์กรในหลากหลายหมวดหมู่ แต่กิจกรรมเหล่านั้นจะยังไม่ส่งผลต่อรายได้ของผู้ผลิตต่างๆ จนถึงปี 2564

“ภาวะการใช้จ่ายชะลอตัวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ราวเมษายนจนถึงสิงหาคมปีนี้ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ประเภท ‘ทดลองใช้’ ของผู้ให้บริการระบบคลาวด์กำลังจะเริ่มทำให้รายได้จากคลาวด์ขยับขึ้นจากปีนี้ และจะเติบโตยาวไปถึงปี 2565 เนื่องจากคลาวด์พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี” จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยความผันผวนของรายได้ทำให้ ‘เงินสด’ มีสถานะสำคัญสูงสุด ทำให้ตอนนี้เหล่าซีไอโอกำลังจัดลำดับความสำคัญว่างานไหนเหมาะสมกับการลงทุนด้วยต้นทุนต่ำที่สุด ดังนั้น แม้ว่าบริษัทต่าง ๆ มีงานด้านไอทีต้องทำมากขึ้นด้วยเงินให้ใช้ที่น้อยลง พวกเขาจึงเบรกในส่วนที่ไม่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือและเครื่องพิมพ์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การเติบโตของตลาดอุปกรณ์และบริการด้านการสื่อสารลดลง

“จากนี้ต่อไปการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัลจะไม่อยู่ภายใต้เหตุผลเรื่อง ROI แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาด ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศวันนี้ได้เป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของธุรกิจมากกว่าแง่ของการเติบโต”

ทั้งนี้ คาดการณ์ภาพรวมมูลค่าการใช้จ่ายไอทีของประเทศไทยในปีหน้าจะพลิกกลับมาเติบโตที่ 5.6% จากในปีนี้คาดว่าจะลดลง 6.8%

]]>
1304630