ภัยความมั่นคง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 09 Feb 2023 08:11:34 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 หวั่นถูกเจาะข้อมูล! “ออสเตรเลีย” สั่งถอดกล้อง CCTV “จีน” ออกจากอาคารด้านความมั่นคง https://positioningmag.com/1418526 Thu, 09 Feb 2023 05:59:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1418526 “ออสเตรเลีย” สั่งถอดกล้อง CCTV สัญชาติ “จีน” ออกจากอาคารราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติทั้งหมด หวั่นบริษัทเจ้าของเครื่องส่งต่อข้อมูลลับให้รัฐบาลจีน

หลังจากออสเตรเลียสำรวจพบว่า หน่วยงานราชการด้านความมั่นคงมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดจากบริษัทจีน เช่น Hikvision, Dahua อยู่ถึง 900 ตัว ล่าสุดรัฐบาลออสซี่สั่งการให้ “ถอด” กล้องจีนทั้งหมดออกทันที

ถือเป็นประเทศที่สามที่สั่งการเกี่ยวข้องกับกล้องวงจรปิดจีน หลังจากปีก่อน สหรัฐอเมริกา และ อังกฤษ มีคำสั่งในลักษณะคล้ายกันมาแล้ว

Hikvision มีการแถลงการณ์ตอบโต้ว่าบริษัทไม่มีการส่งต่อข้อมูลของลูกค้า ส่วน Dahua ยังไม่ออกความเห็น

กล้องทั้ง 900 ตัวจากจีนนั้นถูกติดตั้งกระจายอยู่ในอาคารราชการกว่า 200 หลัง แม้แต่ในหน่วยงานอ่อนไหว เช่น ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็มีติดตั้งเช่นกัน

ริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งออสเตรเลีย เปิดเผยว่า กล้องจีนทุกตัวจะถูกนำออกเพื่อ “ความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์”

“ผมคิดว่าเราไม่ควรจะกังวลจนเกินไป แต่ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพิจารณา ดังนั้น เราก็จะแก้ไขมัน” มาร์ลส์กล่าว

ส่วนการขยายผลไปถอนการติดตั้งในหน่วยราชการอื่น ทางรัฐบาลออสเตรเลียจะพิจารณาต่อไป

ก่อนหน้านี้รัฐบาลออสเตรเลียเริ่มตรวจสอบกล้องวงจรปิดในหน่วยราชการ เพราะเกิดความกังวลว่ารัฐบาลจะ “ไม่มีทางรู้ได้เลย” ว่าดาต้าที่อุปกรณ์เหล่านี้จัดเก็บไป จะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานสืบราชการลับของจีนหรือไม่

เนื่องจากกฎหมายด้านความมั่นคงของจีนนั้นมีข้อบังคับให้องค์กรหรือประชาชนจีน “จะต้องให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือกับงานด้านความมั่นคงของชาติ”

Hikvision มีการตอบโต้คำสั่งของออสเตรเลียว่า เป็นความผิดพลาดที่มองบริษัทนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และยืนยันว่าบริษัทไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลปลายทางของผู้ใช้งานได้ตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่สามารถส่งต่อให้หน่วยงานอื่นใดได้

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่สั่ง “แบน” การติดตั้งกล้อง CCTV จากบริษัท Dahua และ Hikvision เพิ่มเติมในอาคารที่ “มีความอ่อนไหว” ต่อความมั่นคงของชาติ และบอกด้วยว่ารัฐบาลจะเริ่มตรวจสอบอุปกรณ์ของบริษัทเหล่านี้ที่ถูกติดตั้งไปแล้วว่าควรจะต้องนำออกหรือไม่

ไม่กี่วันถัดมา สหรัฐฯ ออกคำสั่งแบนการขายและนำเข้าอุปกรณ์ด้านการสื่อสารจากบริษัทจีน 5 แห่ง สองบริษัทในจำนวนนั้นปรากฏชื่อของ Dahua และ Hikvision ด้วย

แอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า เขาไม่มีความกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลจีนที่อาจเกิดขึ้นหลังออสเตรเลียมีคำสั่งดังกล่าว “เราสั่งการในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาติออสเตรเลีย เรากระทำอย่างโปร่งใสและจะทำเช่นนี้ต่อไป” อัลบานีสกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลียนั้นระอุขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2018 ที่รัฐบาลออสซี่สั่งแบน Huawei ออกจากเครือข่าย 5G ของประเทศ หลังจากนั้นจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีและกีดกันสินค้าจากแดนจิงโจ้หลายรายการ เช่น ถ่านหิน ไวน์ กุ้งล็อบสเตอร์ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เมื่อเร็วๆ นี้ดูเหมือนจะดีขึ้นบ้างหลังรัฐบาลที่อยู่ในขั้วสายกลางซ้ายเข้าสู่ตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2022

source

]]>
1418526
ผู้บริหาร TikTok ในสหรัฐฯ แห่ลาออก การแยกบริษัทไม่มีผล “จีน” ยังควบคุมการตัดสินใจทั้งหมด https://positioningmag.com/1401670 Mon, 26 Sep 2022 04:21:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1401670 ผู้บริหารอาวุโสของ TikTok สหรัฐฯ ทยอยลาออกไปอย่างน้อย 5 คนในรอบ 2 ปี หลังจากพบว่าตนเอง “ไม่มีอำนาจตัดสินใจ” ฝ่ายบริหาร ByteDance จาก “จีน” ยังคงควบคุมการดำเนินงานทั้งหมด สะท้อนภาพว่าการที่สหรัฐฯ พยายามบังคับให้แอปฯ นี้แยกการบริหารเด็ดขาดจากจีนนั้นไม่มีผลจริง

สำนักข่าว Forbes สหรัฐฯ รายงานพิเศษสัมภาษณ์แหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตน 3 ราย โดยพวกเขา/เธอเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงใน TikTok สหรัฐฯ แต่ลาออกมาเพราะพบว่า ByteDance บริษัทแม่ในจีนยังคงควบคุมทิศทางการทำงานทุกอย่าง วิธีบริหารนี้เกิดขึ้นกับทุกแผนก จนทำให้ผู้บริหารอาวุโสพากันลาออก เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินใจใดๆ

“พวกเขาแค่ต้องการเบี้ยตัวหนึ่ง หรือคนที่ตอบ ‘ได้ครับ/ค่ะ’ อยู่ตลอด เขาแค่อยากได้คนเดินเอกสาร แค่ฟันเฟืองตัวหนึ่งในระบบ ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวผม/ฉันเลย” หนึ่งในอดีตระดับหัวหน้าที่ TikTok สหรัฐฯ กล่าว

ทำไมการลาออกของผู้บริหาร TikTok สหรัฐฯ จึงสำคัญ? ย้อนกลับไปในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยมีคำขู่จะ “แบน” แอปพลิเคชัน TikTok ออกจากตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากเกรงว่าแอปฯ นี้จะเป็นภัยความมั่นคง มีการส่งข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าอเมริกันกลับไปที่จีน

ทำให้ในปี 2019 บริษัทต้องออกมาชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกันไว้ในประเทศจีน

บริษัทยังเริ่มเปิดโปรเจกต์ Project Texas มีวัตถุประสงค์เพื่อจะแยกการดำเนินงานของ TikTok สหรัฐฯ ออกจากบริษัทแม่ ByteDance ที่จีน เพื่อจะทำให้รัฐสภาของสหรัฐฯ มั่นใจว่ารัฐบาลจีนไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของคนอเมริกัน

ByteDance
ก่อนหน้านี้บริษัทแม่ที่จีนทำเหมือนกับให้ TikTok สหรัฐฯ ได้บริหารแยกเป็นอิสระแล้ว แต่มาพบในภายหลังว่า ByteDance ยังคงควบคุมเบ็ดเสร็จ (Photo: Shutterstock)

แต่สุดท้ายความก็แตกในช่วงต้นปี 2022 เมื่อสำนักข่าว BuzzFeed News ออกรายงานว่า แม้ว่าสถานที่เก็บข้อมูลของ TikTok สหรัฐฯ จะไม่อยู่ในจีน แต่พนักงาน ByteDance จากจีนก็เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้อเมริกันได้อยู่ดีและมีการเข้าถึงเป็นประจำด้วย ข้อมูลนี้ต่อมาได้รับการยืนยันเป็นจดหมายจากตัวบริษัทส่งถึงวุฒิสภา

รวมถึงพนักงานคนในของบริษัทก็ยืนยันตรงกันว่า แม้ภายนอก TikTok จะทำเหมือนลดความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ที่จีน แต่จริงๆ แล้วภายในก็ยังบริหารเสมือนเป็นบริษัทเดียวกันด้วยซ้ำ

ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน 2021 พนักงานตรวจสอบภายในจาก ByteDance ยังเคยให้คำแนะนำกับทีมงานที่สหรัฐฯ ว่า ควรจะสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างทีมอเมริกันกับจีน เพราะอย่างไรทางจีนก็เป็นผู้ควบคุมเครื่องมือในการทำงานของ TikTok สหรัฐฯ อยู่ดี หากไม่มีความร่วมมือกัน การทำงานให้สำเร็จก็จะยากขึ้น

 

สหรัฐฯ กลับมาเข้มกับการควบคุม TikTok

หลังจากรายงานดังกล่าว สหรัฐฯ มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2022 คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (FCC) กลับมาร้องขอให้ Apple และ Google ลบแอปฯ TikTok ออกจากแอปสโตร์อีกครั้ง

หน่วยงานสืบสวนของวุฒิสภาเริ่มเปิดการสืบสวนว่า TikTok บิดเบือนข้อมูลที่ให้แก่รัฐสภาสหรัฐฯ หรือไม่ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ออกคำสั่งผู้บริหารให้คณะกรรมการกำกับการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐฯ ดูแลความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์และการเก็บข้อมูลคนอเมริกันของ TikTok ให้รัดกุมยิ่งขึ้น

สมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกัน 5 รายยังเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายที่จะทำให้การที่พนักงาน TikTok จากจีนเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้อเมริกันได้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมถึงจะแบนการดาวน์โหลดแอปฯ นี้ลงบนอุปกรณ์ใดๆ ของรัฐบาล

ดัสตี้ จอห์นสัน ส.ส.จากรัฐเซาท์ดาโกตา หนึ่งในคนที่เสนอกฎหมายดังกล่าว หวังว่า หากรัฐบาลแบนการใช้ TikTok บนเครื่องมือของรัฐ น่าจะทำให้คนอเมริกันตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด

การที่ผู้บริหารระดับอาวุโส TikTok สหรัฐฯ พากันลาออกเพราะ “ไม่มีอำนาจตัดสินใจ” จึงสะท้อนว่า ความพยายามที่จะแยกการบริหารออกจากกัน ไม่ให้จีนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการที่ดำเนินอยู่ในสหรัฐฯ นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ได้ผล

Source

]]>
1401670
กองทัพสหรัฐฯ สั่งเเบนเเอปฯ TikTok ห้ามทหารใช้ในราชการ ชี้เป็นภัยความมั่นคงของชาติ https://positioningmag.com/1259181 Thu, 02 Jan 2020 07:46:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1259181 ด้วยกระเเสไวรัลวิดีโอที่กำลังฮอตฮิตอย่างมาก ส่งผลให้เเอปพลิเคชั่น TikTok สตาร์ทอัพยูนิคอร์นสัญชาติจีน ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายตลอดช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา เเต่ดูเหมือนว่ายังต้องฝ่าอุปสรรคเข้าเจาะตลาดอเมริกาอยู่มาก เพราะล่าสุดกองทัพสหรัฐฯ ประกาศสั่งห้ามไม่ให้ทหารใช้เเอปฯ นี้ ด้วยเห็นว่าเป็น “ภัยต่อความมั่นคง”

พันโท โรบิน โอชัว (Lt. Col. Robin Ochoa) โฆษกประจำกองทัพบกสหรัฐเปิดเผยกับ Military.com ว่า TikTok ถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ จึงไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ในกองทัพติดตั้งไว้บนโทรศัพท์ที่ใช้ในงานราชการ

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า กองทัพเรือของสหรัฐฯ ก็มีคำสั่งห้ามทหารเรือทุกนายติดตั้งเเอปฯ TikTok ลงบนโทรศัพท์ที่ใช้งานราชการเช่นกัน ขณะที่กองทัพอากาศยังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลต่อกรณีนี้

ในช่วงปีที่ผ่านมา TikTok ถูกสอบสวนจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะมีความสงสัยว่าข้อมูลผู้ใช้งานเเละคอนเทนต์ทั้งหลายที่ถูกเเชร์ในเเอปฯ นั้นจะถูกรัฐบาลจีนจัดเก็บและควบคุมหรือไม่ นอกจากนี้ TikTok ยังถูกมองว่าอาจเป็นเครื่องมือแทรกแซงการเลือกตั้ง รวมถึงการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงที่ต่อต้านรัฐบาลจีนด้วย

ด้าน TikTok ภายใต้การบริหารของบริษัท ByteDance ออกแถลงการณ์ตอบโต้ต่อกรณีนี้ โดยยืนยันว่าข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ทั้งหมดถูกจัดเก็บในสหรัฐฯ และสำรองข้อมูลไว้ที่ศูนย์ข้อมูลใหญ่ที่สิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายและการควบคุมของรัฐบาลจีน เเละเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจีนจะเข้ามาเเทรกเเซงตามที่โดนกล่าวหา รวมถึงไม่มีการจัดการคอนเทนต์หรือลบข้อมูลใดๆ ตามคำสั่งของรัฐบาลจีน เเละพร้อมเดินหน้าให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อไป

 

ที่มา : military.com , the verge , tiktok 

]]>
1259181