ภาคบริการ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 15 Nov 2021 05:49:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เมื่ออุตสาหกรรมแข่งไม่ไหว หรือภาคบริการคือคำตอบของไทย? https://positioningmag.com/1360917 Sun, 14 Nov 2021 14:27:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1360917 KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าถึงแม้นักท่องเที่ยวจะยังคงสามารถกลับเข้ามาได้หลังจากโควิด-19 จบลง ภาคบริการที่พึ่งพาเฉพาะการท่องเที่ยวจะไม่เพียงพอเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

จากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ และอาจทำให้เติบโตได้ช้าลงกว่าเดิม จากทั้งปัญหาการถูกทิ้งห่างด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงอายุ และการเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์โลก หรือหมายความว่า เศรษฐกิจไทยแบบเก่ากำลังไม่เหมาะกับโลกยุคใหม่ที่มีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างมาก” 

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเสี่ยงที่การท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 จะฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่ากับที่คาด จากทั้งกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% อาจไม่กลับมาอย่างถาวรและในกรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวจีน (ประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยว) ไม่กลับมาในระยะยาวตามนโยบายของจีนที่สนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดค่อนข้างมาก

เหตุการณ์นี้กำลังเร่งให้ไทยต้องมองหาเครื่องยนต์อื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการเติบโตที่อาจลดลงในระยะยาว 

ภาคบริการเดิมไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว 

ภาคบริการมีความหลากหลายตามนิยามโดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มบริการสมัยใหม่ที่เน้นการใช้นวัตกรรม เช่น กลุ่มสื่อสารและสารสนเทศ
  2. กลุ่มบริการดั้งเดิมที่เน้นการใช้แรงงานทักษะต่ำ และเน้นการค้าระหว่างประเทศ (Low-Skill Tradable Services) เช่น ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง
  3. กลุ่มบริการที่ใช้แรงงานทักษะต่ำและพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก (Low-Skill Domestic Services) เช่น ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์
  4. กลุ่มบริการที่เน้นแรงงานทักษะสูง (High-Skill Intensive) เช่น แพทย์ การศึกษา
Photo : Shutterstock

เมื่อพิจารณาลักษณะของภาคบริการไทยยังพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริการแบบเก่าซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นตัวตามเศรษฐกิจมากกว่าตัวนำเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจาก

  1. โครงสร้างภาคบริการไทยยังอยู่ในกลุ่มบริการแบบเก่า เช่น การค้าปลีกค้าส่ง การขนส่ง การให้บริการสาธารณะ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มน้อย
  2. ภาคบริการไทยไม่ได้ทำหน้าที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม
  3. การเติบโตหลักของบริการในระยะหลังเกิดจากภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนทิศทางนโยบายของไทยในอดีตว่า ภาคบริการไทยยังไม่ได้รับการใส่ใจจากนโยบายภาครัฐและไม่ได้ถูกผนวกเข้าเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวทำให้โครงสร้างภาคบริการของไทยยังเป็นภาคบริการแบบเก่า

บริการโตได้แต่ตามหลังประเทศพัฒนาแล้ว  

ภาคบริการเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศพัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มมีความสำคัญมากขึ้น โดยประเทศรายได้สูงมีแนวโน้มพึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคบริการในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา

KKP Research มองว่าลักษณะสำคัญของบริการในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ภาคบริการสามารถเติบโตได้ดี เกิดจากองค์ประกอบของภาคบริการที่มักมีลักษณะเป็นบริการสมัยใหม่ในสัดส่วนที่สูง ตัวอย่างเช่น การบริการในกลุ่ม IT คอมพิวเตอร์ ภาคการเงิน ผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือธุรกิจ (Professional Business Services) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30%-40% จากบริการทั้งหมด เทียบกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนประมาณ 10%-20% เท่านั้น

สำหรับเศรษฐกิจไทยถือว่ามีสัดส่วนภาคบริการค่อนข้างใหญ่ คือ ประมาณ 60% ของ GDP แต่เป็นบริการสมัยใหม่เพียงประมาณ 14% เท่านั้นสะท้อนชัดเจนว่าภาคบริการไทยยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก 

KKP Research ประเมินว่าลักษณะของภาคบริการในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นบริการสมัยใหม่ (Modern Services) สร้างโอกาสสำคัญให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมจากลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ  

1) ภาคบริการสมัยใหม่มีลักษณะที่สามารถช่วยส่งเสริมศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกที่เกิดจากภาคบริการพบว่าประเทศพัฒนาแล้วพึ่งพาภาคบริการในประเทศเป็นหลักเกินกว่า 80% ของบริการทั้งหมดในขณะทีไทยพึ่งพาบริการในประเทศเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าทั้งหมดเท่านั้น

2) ภาคบริการสมัยใหม่สามารถเพิ่มขนาดตลาด (scalable) ผ่านการหารายได้จากการค้ากับต่างประเทศ (Tradeable) ได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตและมูลค่าของการค้าบริการสูงกว่าการค้าสินค้าปกติ สะท้อนโอกาสจากการเติบโตในภาคบริการที่ยังมีอยู่สูง

3) เทคโนโลยีใหม่มีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มโอกาสการขยายตัวและประสิทธิภาพของภาคบริการในอนาคต (Innovation) โดยเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาจะให้ประโยชน์มากกว่ากว่ากับกลุ่มบริการแบบใหม่ (Modern Services) โดยสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ผ่านรูปแบบของ Online Outsourcing ในขณะที่บริการแบบเก่าได้ประโยชน์น้อยกว่าเนื่องจากเป็นกลุ่มบริการที่ต้องเจอหน้ากันโดยตรง เช่น การค้า การท่องเที่ยว

ลักษณะของภาคบริการสมัยใหม่อาจเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ภาคบริการสามารถทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาภาคการผลิตมาก่อนตามความเชื่อแบบเก่า ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนว่าในระยะต่อไปประเทศไทยควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคบริการเพิ่มเติมจากภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน  

การพัฒนาภาคบริการไทยยังเผชิญอุปสรรคมหาศาล 

ภาคบริการในแต่ละกลุ่มมีโอกาสในการเติบโตและต้องการปัจจัยสนับสนุนที่แตกต่างกัน KKP Research ประเมินว่าในภาพรวมการพัฒนาภาคบริการไทยจะเจอความท้าทายมหาศาลแต่ยังมีโอกาสในบริการบางกลุ่มอยู่บ้าง ได้แก่

Photo : Shutterstock
  1. ภาคบริการสมัยใหม่ (Modern Services) มีโอกาสเติบโตจากการยกระดับสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แต่ไทยขาดการลงทุนด้าน R&D และนวัตกรรม และแรงงานมีฝีมือซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา ทำให้ในระยะสั้นประเทศไทยจะไม่มีศักยภาพมากพอในการพัฒนาไปสู่ Modern Services และเป็นศูนย์กลางบริการของโลกได้
  2. ภาคการเงินมีโอกาสเติบโตจากความเชื่อมโยงของภาคการเงินระหว่างประเทศที่มากขึ้น แต่ไทยยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบและข้อจำกัดในระบบการเงิน โอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค (Financial Center) ในไทยจึงมีความท้าทายสูง
  3. อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ (Low-Skilled Labor) เช่น การท่องเที่ยว การค้าปลีกค้าส่ง ยังเติบโตได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ในระยะยาวต้องเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ภาคบริการในกลุ่มนี้ของไทยมีโอกาสเติบโตได้แต่ต้องหันไปพึ่งพาปัจจัยด้านคุณภาพมากขึ้น เช่น พัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูงรวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยวและการค้า
  4. บริการที่เน้นแรงงานทักษะสูงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะแนวโน้มความต้องการดูแลสุขภาพและการเข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่ไทยยังการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางและเทคโนโลยีด้านการสื่อสารขั้นสูง บริการสุขภาพของไทยมีศักยภาพในการเติบโตผ่านการสนับสนุนท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แต่ต้องเร่งดำเนินการในหลายเรื่อง คือ 1) เพิ่มจำนวนแรงงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 2) การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโทรคมนาคม

นโยบายภาครัฐ ปัจจัยสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภาคบริการ 

แม้ภาคบริการอื่นๆ ของไทยนอกเหนือจากการท่องเที่ยวในปัจจุบันจะยังเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก การพัฒนาภาคบริการให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีมูลค่าเพิ่มที่สูง และผนวกเข้าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ

ทั้งในแง่ของการช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในทางอ้อม ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทยในมิติของการกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกในยุคของ De-Globalization และสร้างโอกาสให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาจากลักษณะของภาคบริการที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก 

Photo : Shutterstock

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร สรุปภาพรวมว่าเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์และสามารถพัฒนาภาคบริการได้อย่างเต็มที่ในระยะต่อไป จำเป็นต้องดำเนินนโยบายในอย่างน้อย 4 เรื่องหลัก

  1. การปฏิรูปกฎระเบียบ เพิ่มการแข่งขันในภาคบริการ
  2. การปฏิรูปและปรับปรุงระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน การพัฒนาภาคบริการจะเกิดขึ้นได้จากแรงงานที่มีทักษะสูงซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของภาคบริการซึ่งต่างจากภาคอุตสาหกรรม
  3. การลดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของภาคบริการ ภาคบริการยังถือเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับการปกป้องมากที่สุดของไทย การเปิดเสรีจะช่วยให้การพัฒนาภาคบริการเกิดเร็วขึ้น
  4. เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดแรงงานและตลาดทุน โดยเปิดให้มีการแข่งขันในตลาดแรงงาน และตลาดทุนอย่างเสรี จะช่วยส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกลุ่มผู้ประกอบการในภาคบริการ 

การพัฒนาภาคบริการในระยะยาวจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง และการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวจำเป็นต้องพิจารณาโอกาสของภาคบริการในการเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มไปด้วย การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้หรือการพัฒนาบริการเชิงสร้างสรรค์จะเป็นอีกหนึ่งทางออกของไทย 

]]>
1360917
ศึกชิงแรงงานภาคบริการ! Starbucks สหรัฐฯ เตรียมขึ้นค่าแรง 2 รอบปีหน้า ยื้อตัวบาริสต้า https://positioningmag.com/1358897 Thu, 28 Oct 2021 04:13:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358897 Starbucks ประกาศขึ้นค่าแรง 2 รอบภายในปี 2022 เพื่อสู้ศึกชิงตัวพนักงาน หลังจากตลาดแรงงานภาคบริการโดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหารขาดแคลนพนักงานอย่างหนัก นอกจากนี้ บริษัทจะให้ค่าแนะนำ 200 เหรียญหากพนักงานสามารถดึงเพื่อนมาสมัครงานได้

ร้านกาแฟดัง Starbucks ในสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2021 ว่า บริษัทเตรียมขึ้นค่าแรงให้บาริสต้าอย่างน้อย 2 รอบภายในปี 2022

กลุ่มพนักงานที่จะได้รับการขึ้นค่าแรง ได้แก่กลุ่มบาริสต้าที่ทำงานมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี จะได้ขึ้นค่าแรงสูงสุด 5% ภายในปลายเดือนมกราคมนี้ และบาริสต้าที่ทำงานมาอย่างน้อย 5 ปี จะได้ขึ้นค่าแรงสูงสุด 10%

ส่วนค่าแรงทั่วไป Starbucks จะปรับขึ้นครั้งแรกภายในช่วงฤดูร้อนปีหน้า ซึ่งจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของพนักงานอยู่ที่ 15 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง (ประมาณ 499 บาทต่อชั่วโมง) ในบางพื้นที่อาจจะได้ขั้นต่ำถึง 23 เหรียญต่อชั่วโมง และจะทำให้ค่าแรงโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มจาก 14 เหรียญต่อชั่วโมง เป็น 17 เหรียญต่อชั่วโมง

บริษัทเพิ่งจะขึ้นค่าแรงไปรอบหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2020 ขณะนั้น เควิน จอห์นสัน ซีอีโอ Starbucks ระบุว่าบริษัทจะมีการขึ้นค่าแรงอีก ทำให้ขั้นต่ำไปอยู่ที่ 15 เหรียญต่อชั่วโมงภายใน 3 ปี ดังนั้น การประกาศขึ้นค่าแรงปี 2022 จึงเป็นการขึ้นค่าแรงที่เร็วกว่าแผนเดิม

นอกจากขึ้นค่าแรงแล้ว บริษัทยังมีโปรแกรมให้ “โบนัสพิเศษ” 200 เหรียญสหรัฐ สำหรับการแนะนำเพื่อนเข้ามาสมัครงาน รวมถึงจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ชักชวนสมัครงานทั่วประเทศด้วย

การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและบาร์ทั่วประเทศที่ไม่สามารถหาพนักงานได้เพียงพอ ระหว่างที่กำลังซื้อจากผู้บริโภคฟื้นตัว เชนร้านอาหารหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Domino’s Pizza, McDonald’s, Chipotle Mexican Grill ฯลฯ ต่างระบุเมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมาว่าบริษัทกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทำให้เร่งยอดขายไม่ได้มากเท่าที่ต้องการ

นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้มองว่า ปัจจัยที่ทำให้พนักงานในกลุ่มธุรกิจนี้ขาดแคลน เกิดจากความกังวลต่อโรคระบาด COVID-19 ทำให้งานที่ต้องพบปะคนจำนวนมากมีพนักงานสนใจสมัครงานน้อยลง ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นลักษณะเดียวกัน เช่น ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ก็ขาดแคลนแรงงานเช่นกัน หนำซ้ำงานประเภทอื่นที่ให้ค่าแรงสูงกว่า เช่น คลังสินค้าของ Amazon ก็ดึงดูดแรงงานไปแทบหมด

นอกจากหาแรงงานยากแล้ว Starbucks กำลังเผชิญความท้าทายด้านแรงงานอีกส่วนหนึ่งคือ พนักงานกลุ่มหนึ่งในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก พยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานอยู่ขณะนี้ เพราะพนักงานต้องการรวมเป็นหนึ่งเพื่อเรียกร้องให้บริษัทแก้ปัญหาพนักงานในร้านไม่เพียงพอที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

Source

]]>
1358897
GDP สิงคโปร์ ขยายตัว 14.3% ในไตรมาส 2 โตสูงสุดในรอบ 11 ปี ‘ภาคบริการ-ก่อสร้าง’ คัมเเบ็ก https://positioningmag.com/1342303 Wed, 14 Jul 2021 09:58:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1342303 กระจายวัคซีนที่ได้ผลดี เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้ เศรษฐกิจสิงคโปร์กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องการผลิตบริการก่อสร้างคัมเเบ็ก โดยล่าสุดตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2021 ขยายตัวที่ 14.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดใหญ่

โดยเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2010 ช่วงหลังวิกฤตการเงินโลก ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์ ณ ตอนนั้น ขยายตัวได้ถึง 18.6%

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของสิงคโปร์ ยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด-19 เพราะเเม้จะเป็นฟื้นตัวระดับสูง เเต่ก็เป็นผลจากการมีฐานที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขในไตรมาสแรกของปีนี้ ก็จะพบว่า GDP สิงคโปร์ ยังคงหดตัวที่ 2% 

ท่ามกลางยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐต้องออกข้อจำกัดต่างๆ พร้อมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวดในช่วง 4 สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนพ.ค.ถึงเดือนมิ.ย.ของปีนี้ รวมไปถึงการห้ามรับประทานอาหารในร้านอาหารด้วย

เเต่ทางอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อย่างภาคการผลิต บริการเเละก่อสร้าง เริ่มกลับมาขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด

โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เเถลงว่า ในภาคการผลิต มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 18.5% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมพรีซิชั่น ที่ขยายตัวได้อย่างเเข็งเเกร่งจากอุปสงค์ความต้องการอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว

ขณะที่ภาคบริการ กลับมาขยายตัวได้ 9.8% เเละภาคการก่อสร้าง ขยายตัวได้ถึง 98.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

Photo : Shutterstock

แม้ว่าภาคธุรกิจเหล่านี้ จะยังคงมีอุปสรรคจากข้อจำกัดด้านการเดินทางและการรวมตัวทางสังคม ไปจนถึงการขาดเเคลนเเรงงานต่างชาติเเต่ก็มีสัญญาณฟื้นตัวได้ดี โดยการเติบโตของภาคบริการนั้น ได้กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส

Alex Holmes นักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics มองว่าวัคซีนโควิด จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์กลับมาเปิดพรมแดนได้อีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป’ เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ให้มีการเติบโตจากปัจจัยภายใน พร้อมๆ กับการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และเวชภัณฑ์ที่กำลังไปได้ดีจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น

สิงคโปร์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุดของโลก โดยกว่า 70% ของจำนวนประชากรในประเทศ 5.69 ล้านคน ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 โดส และกว่า 41% ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส

ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีนี้ จะเติบโต 4% ถึง 6% ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ตอนนี้ก็มีเวียดนามที่เพิ่งประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2021 ว่าเพิ่มขึ้นในระดับ 6.6%

 

ที่มา : Nikkei Asia , CNBC

 

]]>
1342303