ยอด ชินสุภัคกุล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 18 Mar 2021 23:35:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 LINE MAN Wongnai: เมื่อยูนิคอร์นเป็นแค่ตัวเลขให้นักลงทุน ขอเป็นแพลตฟอร์มให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น https://positioningmag.com/1324060 Thu, 18 Mar 2021 15:53:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1324060 ในปี 2020 ได้มีข่าวใหญ่ในวงการสตาร์ทอัพของไทยเมื่อ ‘วงใน’ (Wongnai) แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ ได้ถูก ‘ไลน์แมน’ (LINE MAN) แพลตฟอร์ม on-demand ส่งอาหารและส่งของของ ‘LINE’ เข้าควบรวมกิจการในมูลค่า 3,300 ล้านบาท โดยได้งบลงทุนจากบริษัท BRV Capital Management (BRV) 5 เดือนผ่านไป ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ ที่ได้นั่งแท่นเป็น CEO ก็ได้ออกมาอัปเดตการเติบโตของตลาด ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ รวมถึงทิศทางและกลยุทธ์ของไลน์แมน วงในของปี 2021 และวงการสตาร์ทอัพของไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนจะลงสนามรบ องค์กรต้องเป็นหนึ่งเดียว

จุดเริ่มต้นของ Wongnai นั้นมาปี 2010 จากการเป็นเว็บไซต์รีวิวร้านอาหารโดยผู้ใช้งาน จากนั้นก็ขยายตัวมายังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับร้านอาหาร อาทิ จัดงานเทศกาล Wongnai Food Festival และ Food Caravan มีระบบ POS สำหรับจัดการร้านอาหาร มีแอปสำหรับรับออเดอร์ทั้งจากเดลิเวอรี่และลูกค้าไปรับเองที่หน้าร้าน มีระบบการขายดีลเพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้ร้านอาหาร จนเมื่อประมาณปี 2016 LINE MAN ได้มาชวนทำธุรกิจเดลิเวอรี่ร่วมกัน และในปี 2020 ก็ควบรวมกันในที่สุด

เมื่อ 2 องค์กรควบรวมกิจการเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ปรับวัฒนธรรมองค์กรของทั้งคู่ให้เข้ากันก่อน โดยยอดระบุว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือต้องสร้างความ ‘ไว้เนื้อเชื่อใจ’ ที่ต้องเร่งสร้าง ด้วยความที่เป็น CEO ของ Wongnai มาก่อน จึงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจทีมงานของ LINE MAN ว่าเป็นอย่างไร รวมถึงแสดงตัวตน แสดงถึงมาตรฐาน แสดงความจริงใจ และแสดงให้เห็นว่า ‘เรามีศัตรูคนเดียวกัน’ ดังนั้น ศัตรูอยู่ข้างนอก ไม่ใช่ภายในองค์กร

“เราโชคดีที่เคยร่วมงานกันมาก่อน ดังนั้น การรวมกันเลยไม่มีปัญหาหรือดราม่า และอีกสิ่งที่สำคัญคือ ต้องทำให้เห็นว่าเรามีศัตรูคนเดียวกันที่อยู่ข้างนอก”

การแข่งขันเพิ่งมาได้ครึ่งทาง

การระบาดของ COVID-19 ถือเป็นแรงส่งสำคัญให้กับตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยโดยเติบโตเกิน 3 หลัก ซึ่งยอดมองว่ายังสามารถเติบโตได้อีกมากเพราะตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยเริ่มมีการทำตลาดอย่างจริงจังเมื่อปี 2018 จนถึงปัจจุบันยังเพิ่งผ่านมาได้ ‘ครึ่งทาง’ เท่านั้น

เพราะหากเทียบกับมูลค่าตลาดอาหารทั้งหมดในไทยแล้วมีสัดส่วนเพียง 5% ของมูลค่า 9 แสนล้านบาท ขณะที่ผู้ใช้งานก็ยังไม่มาก ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ซึ่งเชื่อว่าตลาดมีโอกาสขยายเป็น 20% ของตลาดอาหารทั้งหมด

Photo : Shutterstock

สำหรับ LINE MAN Wongnai เองยอดออเดอร์ก็มีการเติบโตกว่า 5 เท่า ระบบ POS (Point of sale) หรือจุดชำระเงินหน้าร้าน โตขึ้น 3.5 – 4 เท่า ขณะที่การบริการก็ขยายได้จาก 7 จังหวัดเป็น 36 จังหวัด อย่างไรก็ตาม COVID-19 ก็ส่งผลกระทบกับฝั่งสื่อที่เป็นคอนเทนต์หลักของ Wongnai

“หากพูดจริง ๆ เราเองไม่ได้มีความพร้อมที่จะรับมือการเติบโตขนาดนี้ แต่เราก็ต้องไปให้เร็วที่สุด พร้อมไม่พร้อมก็ต้องวิ่ง นี่คือโลกของเรา”

ชูความหลากหลาย และผู้เล่นโลคอล

หากมองดูในตลาดประเทศไทยปัจจุบันนี้จะเห็นว่ามีคู่แข่งมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Grab, Gojek, Food Panda หรือแพลตฟอร์มคนไทยอย่าง ‘โรบินฮู้ด’ โดยผู้เล่นแต่ละรายก็มีจุดแข็งต่างกันไป ซึ่งก็ยอมรับว่า ‘กังวล’ เพราะมีการแข่งขันสูง แต่มั่นใจในจุดแข็งมากพอ ทั้งเรื่องของ ‘ทางเลือก’ ในแง่ของฝั่งร้านอาหาร และผู้บริโภค

โดยในฝั่งของร้านอาหาร ทาง LINE MAN Wongnai มีให้เลือกทั้งแบบ GP หรือ Non-GP ก็ได้ แล้วแต่ร้านค้าต้องการ สำหรับร้านที่ต้องการจะทำให้ค่าส่งถูกก็ร่วมแบบเสีย GP หรือถ้าร้านอาหารมีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้วก็สามารถเลือกแบบ Non-GP ได้ ส่วนฝั่งผู้บริโภค แพลตฟอร์มก็มีร้านค้ากว่า 300,000 ร้านให้เลือก ถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

สุดท้าย ความเป็นผู้เล่น ‘โลคอล’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มั่นใจมาก เพราะพนักงาน LINE MAN Wongnai จำนวนเกือบ 800 คน มีพนักงานต่างชาติแค่ 2 คน โดยทีมวิศวกรที่มี 150 คนเป็นคนไทยทั้งหมด ดังนั้น จึงมั่นใจว่าสามารถพัฒนาฟีเจอร์ได้ตรงตามความต้องการ ไม่เหมือนกับคู่แข่งที่อาจจะใช้ทีมจากต่างชาติ ดังนั้น ความเข้าใจในคนไทยอาจจะน้อยกว่า

ปูพรมครบ 77 จังหวัด

กลยุทธ์ของ LINE MAN Wongnai ปีนี้จะเปิดบริการให้ครบ 77 จังหวัด และจะเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น เริ่มจากแคมเปญ ‘LINE MAN Food Hero’ ซึ่งเป็นแคมเปญการตลาดใหญ่สุดที่เคยทำมา

โดยไฮไลต์ของแคมเปญ ก็คือ ‘นายฮ้อย-ล่ามทรง’ ที่จะมาเป็น ‘Food Hero’ หรือ ‘แบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรก’ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น มีโปรโมชันส่วนลดต่าง ๆ รวมถึงเอ็กซ์คลูซีฟเมนูกว่า 20 ร้านอาหาร โดยแคมเปญนี้จะยาวตลอด 2 เดือนจากนี้

นอกจากนี้ จะได้เห็นความร่วมมือกับฝั่ง LINE มากขึ้น เช่น Mini-app สั่งผ่านไลน์ได้เลยไม่ต้องโหลดแอปเพิ่ม และใน 2 เดือนจากนี้จะได้เห็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ทำร่วมกันออกมาอีก สุดท้าย Restaurant solution (ระบบจัดการสำหรับร้านอาหาร) ก็จะพัฒนาให้ครบทุกแกน

ภาพจาก Facebook Lineman

ยูนิคอร์นไม่ใช่เส้นชัยอีกต่อไป

เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว LINE MAN Wongnai อาจมี ‘ยูนิคอร์น’ เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กร แต่ผ่านมาปัจจุบันที่บริษัทเติบโตขึ้น 5 เท่าตัว ทำให้ยูนิคอร์นไม่ใช่เป้าหมายที่อยู่ไกลอีกต่อไป บริษัทต้อง ‘ขยับเป้า’ ให้ไกลขึ้นเรื่อย ๆ โดยเป้าหมายจากนี้

คือ ทำให้ร้าน คนขับ และชีวิตคนไทยดีขึ้น และจะเป็น ‘E-Commerce Platform for Services’ ที่รวมบริการหลากหลายไว้รองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งเรื่องอาหาร, การขนส่งคน, การขนส่งสิ่งของ, การให้บริการสปา เป็นต้น

“การเป็นยูนิคอร์นไม่ได้สำคัญขนาดนั้นสำหรับคนในองค์กรและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งพาร์ตเนอร์คนขับ พาร์ตเนอร์ร้านอาหาร เพราะเขาคิดแค่ทำยังไงให้มีรายได้มากขึ้น ทำยังไงให้ผู้ใช้กลับมาใช้งานซ้ำ ดังนั้น ยูนิคอร์นเป็นแค่ทางผ่าน โดยเราต้องการเป็นผู้เล่นสัญชาติไทยที่ยืนอยู่ในตลาด”

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai

ในส่วนของ ‘จุดคุ้มทุน’ อาจจะยังเปิดเผยไม่ได้ว่าใกล้ถึงจุดนั้นหรือยัง แต่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยปัจจุบันรายได้หลักของ LINE MAN Wongnai มาจากฟู้ดเดลิเวอรี่ ซึ่งทางบริษัทไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะสร้างรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงินอื่น ๆ อาทิ บริการปล่อยเงินกู้, ประกัน ซึ่งไม่ปิดโอกาสที่จะทำงานกับพาร์ตเนอร์อื่น ๆ นอกจาก LINE ซึ่งนี่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ LINE MAN Wongnai แยกตัวออกมา

“สุดท้าย ผู้ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับ 3 ฝั่ง ได้แก่ ลูกค้า, ร้านอาหาร และคนขับให้ได้พร้อม ๆ กันจะเป็นผู้ชนะในตลาดฟู้ดเดลิเวอร์รี่ ไม่ใช่แค่สร้างประโยชน์ให้ใครฝั่งใดฝั่งหนึ่ง”

สตาร์ทอัพไทยอยากอยู่รอดต้องอึดและฝันไกล

ตลาดสตาร์ทอัพไทยไม่ได้ง่ายขนาดนั้นแล้ว เมื่อมี COVID-19 ที่ทำให้ ‘สตาร์อัพ’ บางแห่งเกิดผิดเวลา และการแข่งขันตอนนี้ยิ่งยาก เพราะเมื่อสตาร์ทก็ลงสู่สนามโลก เพราะเทคโนโลยีไม่มีพรมแดน นอกจากจะเป็น ‘Deep Tech’ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำสตาร์ทอัพต้องมีความเชื่อมั่น มีความดื้อรั้น ไม่ยอมแพ้ง่ายเกินไป แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของ ‘ไอเดีย’ ที่ดี ซึ่งไอเดียที่ดี จะถูกพิสูจน์โดยพนักงานที่ติดตาม

อีกสิ่งที่สำคัญคือ การมองไปข้างหน้า แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครสามารถคาดการณ์ทุกอย่างได้อย่างแม่นยำแม้แต่ตัวเอง เพียงแต่ก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลายให้ได้ อย่างไลน์แมน วงในก็ไม่ถูกจำกัดอยู่กับธุรกิจมีเดีย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมากระทบกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งก็จะรับมือกับสถานการณ์ได้

]]>
1324060
‘ยอด ชินสุภัคกุล’ เตรียมรับตำแหน่งซีอีโอ ‘LINE MAN Wongnai’ https://positioningmag.com/1291313 Thu, 06 Aug 2020 05:32:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291313 ถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการสตาร์ทอัพของไทยเลยทีเดียว เมื่อ ‘วงใน’ (Wongnai) แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ ได้ถูก ‘ไลน์แมน’ (LINE MAN) แพลตฟอร์ม on-demand ส่งอาหารและส่งของของ ‘LINE’ เข้าควบรวมกิจการในมูลค่า 3,300 ล้านบาท หลังจากที่ได้งบลงทุนจากบริษัท BRV Capital Management (BRV)

ล่าสุด LINE คอร์ปอเรชั่น ประกาศเลือก ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ ผู้ก่อตั้งวงในให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ บริษัท LINE MAN Wongnai บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างไลน์แมนและวงในแพลตฟอร์ม โดยจะมีผลในช่วงเดือนกันยายน 2563 โดย ‘ยอด’ จะรับหน้าที่บริหารจัดการธุรกิจและการปฏิบัติการต่าง ๆ ของบริษัท

“คุณยอด ชินสุภัคกุล เป็นผู้ที่เข้าใจในธุรกิจ O2O อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะด้านฟู้ดเดลิเวอรี ่LINE MAN Wongnai ภายใต้การบริหารของคุณยอด จะเป็นบริษัทที่สร้างโดยคนไทย บริหารโดยคนไทย และดำเนินงานเพื่อคนไทย ซึ่งจะสามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ น่าตื่นเต้นและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง” อึนจอง ลี หัวหน้าฝ่ายบริหารธุรกิจ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น กล่าว

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า “การผนึกกำลังของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างอีโคซิสเต็ม Online-to-offline ที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับทั้งร้านอาหารและผู้ใช้ สามารถสร้างคุณค่าให้กับทุกฝ่ายในธุรกิจ LINE MAN Wongnai เป็นบริษัทที่ก่อตั้งและบริหารโดยคนไทย ด้วยความเข้าใจเรื่องอาหารการกินของคนไทยอย่างแท้จริง เรามั่นใจว่านี่จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับเราที่จะดำเนินธุรกิจที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทย และธุรกิจไทยในประเทศไทยเช่นเดียวกัน”

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ ยอด ชินสุภัคกุล ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Wongnai ได้เคยรับตำแหน่งเป็น Support Manager ที่ Thomson Reuters ยอดจบการศึกษา MBA จาก UCLA Anderson School of Management ในปี 2010 และด้าน Computer Engineering จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2004

]]>
1291313
เปิดใจ “ยอด ชินสุภัคกุล” วันที่ COVID-19 เป็นพายุลูกใหญ่ของทั้ง Wongnai และร้านอาหาร https://positioningmag.com/1276405 Thu, 30 Apr 2020 16:18:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1276405 พาไปพูดคุยกับ “ยอด ชินสุภัคกุล” บอสใหญ่แห่ง “Wongnai” ที่วันนี้เจอพายุลูกใหญ่ที่ชื่อว่า COVID-19 ส่งผลกระทบทั้งในแง่ของธุรกิจ และพาร์ตเนอร์คนสำคัญก็คือ “ร้านอาหาร” กลายเป็นศึกใหญ่ที่ต้องฝ่าวิกฤตธุรกิจ และพาร้านอาหารในไทยรอดไปด้วยกัน

ยอมหั่นเงินเดือน ลดค่าใช้จ่ายบริษัท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกะรทบไปทั่วโลกในตอนนี้ เรียกว่าสร้างความเสียหายทางด้านร่างกาย และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในประเทศไทยเองได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งการล็อกดาวน์ และการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ทุกธุรกิจต้องหยุดชะงักกันตามๆ กัน

วันนี้ Positioning ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ยอด ชินสุภัคกุล” CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม วงใน (Wongnai) แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ที่เติบโตจากการรีวิวอาหาร และได้ต่อยอดไปยังไลฟ์สไตล์อื่นๆ ทั้งท่องเที่ยว บิวตี้ และทำอาหาร

วงในไม่ต่างกับธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งต้องฝ่าวิกฤตของทั้งบริษัทตัวเอง และช่วยพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านอาหารให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน แต่ด้วยความที่ Culture ขององค์กรเป็นสตาร์ทอัพที่คิดเร็ว ทำเร็ว ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการปรับตัวครั้งนี้

ยอดบอกว่า มาตรการเบื้องต้นของบริษัทในตอนนี้คือ “ลดค่าใช้จ่าย” เป็นนโยบายที่หลายองค์กรเริ่มใช้แล้วเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเงินเดือนพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง ปรัยลดสวัสดิการของพนักงานต่างๆ แต่ยืนยันไม่ปลดพนักงาน

“ตอนนี้ทุกวงการได้รับผลกระทบหมด วงในมีทั้งสื่อ และงานอีเวนต์ ก็ได้รับผลกระทบทั้ง 2 ส่วน เพราะสปอนเซอร์หาย แบรนด์ชะลอการใช้จ่าย ตอนนี้ได้มีมาตรการปรับลดเงินเดือนบางส่วน ลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง ลดสวัสดิการของพนักงาน ตัดงบการตลาดเหลือศูนย์ จากปกติที่ใช้หลักหลายล้าน”

การปรับลดเงินเดือนของวงในมีเป็นขั้นบันได และเบื้องต้นได้ลดเป็นเวลา 2 เดือนก่อน ตัวของยอดเองยอมลดเงินเดือน 50% ระดับเมเนจเมนต์ลด 30% และพนักงานทั่วไปลด 20% มีการปรับลดสวัสดิการอย่างอาหารกลางวัน เบิกค่ารถ ค่า และกิจกรรมอื่นๆ และให้พนักงาน Work from Home

โดยปกติแล้ววงในจะมี Core Value ที่เรียกง่ายๆ เหมือนค่านิยมองค์กร 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ Impact, Grit, Speed และ Flexible เพื่อสะท้อนการทำงานของคนรุ่นใหม่ แต่เมื่อเกิดวิกฤตครั้งนี้ ได้มีการเปลี่ยน Core Value เป็น “ออกศึก” เพียงคำเดียวเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้พนักงานสู้ไปด้วยได้

พร้อมกับกำหนดวลี และคำย่อใหม่ว่า #สปดกรจรกม แปลว่า “สู้ไปด้วยกันเราจะรอดกันหมด”

ปรับคอนเทนต์ตามสถานการณ์

นอกจากการมีมาตรการเรื่องลดค่าใช้จ่ายแล้ว ในเรื่องการทำงานก็ต้องปรับครั้งใหญ่ เพราะ COVID-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีการเสพสื่อ เสพคอนเทนต์อย่างสิ้นเชิง

ธุรกิจหลักของวงในก็คือการทำสื่อ การทำคอนเทนต์ต่างๆ ที่วันนี้มีแตกไลน์ออกมาทั้ง Wongnai Beauty, Wongnai Travel และ Wongnai Cooking เมื่อวิถีชีวิตของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลง ไปทานอาหารเหมือนเดิมไม่ได้ เดินศูนย์การค้าก็ไม่ได้ ท่องเที่ยวก็ไม่ได้ การทำคอนเทนต์ของวงในก็ต้องมีการปรับใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์

“ด้านคอนเทนต์มีการปรับใหม่ ทำแบบเดิมไม่ได้เพราะคนไม่สนใจ สำหรับอาหารต้องมาดูว่าคนใช้ชีวิตอย่างไรในตอนนี้ รวมถึงทำคอนเทนต์ช่วยเหลือร้านอาหารด้วย ร้านมีการปรับตัวอย่างไร มีโปรดักต์อะไรใหม่ๆ รวมถึงทำ Unbox สำหรับเดลิเวอรี่ ส่วนของบิวตี้มาทำคอนเทนต์พวกออกกำลังกายอยู่ที่บ้าน แต่ท่องเที่ยวจะกระทบหนัก ก็หยุดทำหมดเลย แต่คอนเทนต์ทำอาหารคนยังสนใจอยู่ เพราะคนอยู่บ้านกัน”

ทำให้มีการ Rotation ตำแหน่งงานกันภายในชั่วคราว ย้ายทีม หรือตำแหน่งที่ทำหน้าที่เดิมไม่ได้ ไปช่วยทีมอื่น ที่ผ่านมีการโยกตำแหน่งเป็นร้อยคนแล้ว เป็นการปรับเรื่องการทำงานภายในให้คล่องตัว

ต้องพาร้านอาหารรอดไปด้วยกัน

“ร้านอาหารกระทบหนักกว่า ข้อมูลจาก Wongnai POS ของเราพบว่า ร้านอาหารยอดขายหายไป 80%”

เป็นข้อมูลที่หลายคนรู้อย่างดี เพราะร้านอาหารเปิดให้บริการแบบปกติไม่ได้ วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ไม่สามารถให้บริการแบบนั่งทานที่ร้านได้ ต้องซื้อกลับบ้าน หรือแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น ทำให้ร้านอาหารต้องประสบวิกฤตอย่างหนัก บางเจ้าต้องหากลยุทธ์หนีตายเพื่อให้ร้าน และพนักงานอยู่ ความท้าทายของวงในจึงต้องทำให้ร้านอาหารในไทยอยู่รอดไปด้วยกัน

ยอดบอกว่าร้านอาหารกลุ่ม Fine Dining ร้านที่ต้องอาศัยกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงร้านชาบู ปิ้งย่าง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ในการนั่งทานที่ร้าน แต่ก็พบว่าในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการทำโปรโมชั่นซื้อชาบูแถมหม้อให้เห็นบ้างแล้ว ก็ทำให้มียอดขายกลับมาบ้าง

“ทางรอดของร้านอาหารในตอนนี้ ต้องลดรายจ่าย เพราะรายได้ไม่เท่าเดิมอีกต่อไป และร้านปรับตัวให้เร็ว ตอนนี้เดลิเวอรี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ต้องปรับเมนูให้เหมาะเดลิเวอรี่มากที่สุด”

แต่ถึงแม้ว่าเดลิเวอรี่จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่สามารถทดแทนได้แค่ 30% เท่านั้น อีกทั้งเรื่องการใช้จ่ายต่อครั้งก็ต่างกัน ด้วยพฤติกรรมคนไทย ถ้าไปทานอาหารที่ร้านยอมจ่ายหัวละ 500 บาทได้ ได้ทานอาหารครบทั้งคาวหวาน แต่กับช่องทางเดลิเวอรี่คนยอมจ่ายเฉลี่ย 150 บาท เป็นเรื่องของประสบการณ์ล้วนๆ

เดลิเวอรี่โตสุด แต่กำไรแสนบาง

นอกจากธุรกิจสื่อ วงในยังมีกลุ่มธุรกิจ POS เป็นผู้ช่วยให้กับร้านอาหาร และยังมีธุรกิจเดลิเวอรี่ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทาง LINE MAN และ Lalamove เป็นผู้บุกเบิกตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยก็ว่าได้

ในวิกฤตนี้ตลาดเดลิเวอรี่เติบโตสูงสุดในบรรดาทุกธุรกิจ แต่กลายเป็นว่าธุรกิจนี้กลับไม่มีกำไรมากมายขนาดนั้น เพราะด้วยการแข่งขันอันดุเดือดในตลาดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

LINE MAN ได้เปิดตลาดมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่การแข่งขันของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เริ่มมีให้เห็นอย่างดุเดือดเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นเจ้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดทั้ง GrabFood, Food Panda และ GET ซึ่งทำให้ตลาดแข่งกันด้วย “ค่าส่ง” ที่แสนถูก เริ่มต้นเพียงแค่ 10 บาท เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ใช้งาน แต่ส่วนทางกับต้นทุน

แน่นอนว่าการตัดราคาเรื่องค่าส่ง ทำให้กลไกตลาดผิดเพี้ยน เพราะจริงๆ แล้วตลาดเดลิเวอรี่ต้องมีการคิดค่าส่งตามระยะทางของลูกค้า การแข่งขันแบบนี้เป็นการ “สปอย” ผู้บริโภค เมื่อทางแพลตฟอร์มเก็บค่าส่งกับลูกค้าในราคาถูกที่ 10 บาท แพลตฟอร์มก็ต้องมาเก็บรายได้จากทางร้านในรูปแบบของค่า GP หรือค่าธรรมเนียมร้านค้าในอัตรา 25-30%

เมื่อดูข้อมูลตลาดในต่างประเทศในตลาดใหญ่ๆ อย่างเกาหลี หรือสหรัฐอเมริกา จะมีการต่อสู้กันราวๆ 2-3 ปี จนถึงจุดหนึ่งที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ทั้งแพลตฟอร์ม ร้านค้า และลูกค้า ค่าส่งอาจจะเพิ่มขึ้น และลด GP ร้านค้าลง

ยอดได้พูดถึงประเด็นดราม่าที่ว่าแพลตฟอร์มมีการเก็บค่า GP ที่แพง “เราอยากช่วยร้านอาหารจริงๆ ช่วยโดยที่ไม่ตาย แต่ถ้าเราลดค่า GP เราตายก่อน เพราะแพลตฟอร์มไม่ได้มีกำไร อาจจะสามารถลดค่า GP ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า หลังจากที่ผ่านการแข่งขัน แล้วตลาดมีความลงตัว ตอนนี้เอาตัวรอดให้ได้ก็เก่งแล้ว”

สุดท้ายยอดได้พูดถึงวิกฤตครั้งนี้ไว้ว่า “ครั้งนี้เป็นผลกระทบที่หนักจริงๆ หาคนที่ไม่กระทบน้อยมาก เราเป็นสตาร์ทอัพก็เหนื่อย อยากให้ทุกคนต้องดูเรื่องกระแสเงินสดให้ดี ต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้ ตอนนี้ยังไม่รู้วิกฤตจะจบเมื่อไหร่ ต้องแข่งกันดำน้ำ ใครไม่ไหวตายไปก่อน”

สำหรับ 3 กิจกรรมที่ยอดอยากทำมากที่สุด หลังจากหมดวิกฤต COVID-19 ได้แก่ ไปทานอาหารร้านที่จองยากๆ อย่างร้าน “มหาสาร” ไปเที่ยวต่างจังหวัด และปาร์ตี้กับเพื่อน

]]>
1276405