รถ EV – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 12 Jul 2024 01:35:04 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘ZEEKR’ น้องใหม่อีวีประนาม ‘สงครามราคา’ ทำภาพแบรนด์จีนในไทยแย่ ยันไม่ลงเล่นราคาแน่นอน! https://positioningmag.com/1482425 Thu, 11 Jul 2024 12:57:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1482425 หากจะพูดถึงแบรนด์ อีวีจีน ในไทยตอนนี้ ถือว่ามีมากมายจนนับนิ้วไม่พอ ดีไม่ดีจำนวนอาจจะแซงหน้าจำนวนแบรนด์รถญี่ปุ่นที่ครองตลาดในไทยไปแล้ว ล่าสุด แบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในงาน Motor Show 2024 ครั้งที่ 45 อย่าง ZEEKR (ซีเคอร์) ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการในตลาดไทย ซึ่งกำลังเป็นช่วงที่แบรนด์จีนกำลังมีประเด็นพอดิบพอดี

รู้จัก ZEEKR

ZEEKR (ซีเคอร์) ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 โดยเป็นแบรนด์อีวีในเครือบริษัท Geely Holding ของจีน เครือเดียวกับ Volvo Cars โดย ZEEKR นั้นจะเน้นทำตลาดในเซกเมนต์ พรีเมียม-ลักชูรี เป็นหลัก ปัจจุบัน ZEEKR ทำตลาดใน 20 ประเทศ มียอดขายสะสมในช่วง 29 เดือนกว่า 2.4 แสนคัน และภายในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะเปิดตัวแบรนด์ในอาเซียนครบทั้ง 9 ประเทศ

สำหรับประเทศไทย แบรนด์ได้เปิดตัวรถรุ่นแรกคือ ZEEKR X รถไฟฟ้าพรีเมียมเอสยูวีอเนกประสงค์ โดยมียอดจองกว่า 200 คัน จากงานมอเตอร์โชว์

ประนามผู้เริ่มสงครามราคาในไทย

เป่า จ้วงเฟย (อเล็กซ์) ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซีเคอาร์ อินเทลลิเจนท์ เทคโนโลยี มองว่า ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก โดยในปีที่ผ่านมายอดขายรถอีวีมีประมาณ 76,000 คัน หรือ 10% ของตลาดรถยนต์ในไทยทั้งหมด หรือเติบโตกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งแปลว่าคนไทยตอบรับกับรถอีวีจีนเร็วมาก อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถอีวีส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่ม อีโคคาร์ หรือ SUV ซึ่ง SUV ยังเป็นกลุ่มที่ยังมีช่องให้เติบโต รวมไปถึงกลุ่มอย่าง MPV (Multi Purpose Van) และคอมเมอร์เชียล

อย่างไรก็ตาม ตลาดไทยอาจจะต้องสะดุดเพราะเริ่มเห็น สงครามราคา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ เลวร้ายมาก เพราะทำให้ลูกค้าไทย ลังเลหรือชะลอการซื้อ ซึ่งมันจะทำลายทั้งระบบนิเวศ ดังนั้น จะเริ่มเห็นรัฐบบาลไทยเริ่มคุยกับแบรนด์ที่เริ่มทำสงครามราคา โดย สงครามราคาที่จีนเคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะไตรมาส 1 ที่รุนแรงมาก ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดวุ่นวาย และต้องใช้เวลา ประมาณ 3-4 เดือนกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ดังนั้น มองว่าตลาดไทยก็อาจจะคล้าย ๆ กัน

“การลดราคาอย่างต่อเนื่องหลังเปิดตัวไปไม่นาน มันเป็นการทำตลาดที่ไม่รับผิดชอบต่อลูกค้าที่ซื้อมาก่อน นี่เป็นการทำการตลาดที่ไม่ดี ในจีนเองก็มีสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ที่ต้องเรียกแต่ละแบรนด์มายุติสงคราม”

ดังนั้นยืนยันว่า ZEEKR จะไม่เล่นสงครามราคาเด็ดขาด แต่จะเน้นการมอบประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ด้วยคุณภาพสินค้า บริการหลังการขาย นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เฉิน หยู (มาร์ส) รองประธาน ซีเคอาร์ อินเทลลิเจนท์ เทคโนโลยี (ซ้าย), เป่า จ้วงเฟย (อเล็กซ์) ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซีเคอาร์ อินเทลลิเจนท์ เทคโนโลยี (ขวา)

วางเป้าพันคันในสิ้นปี

ปัจจุบัน ZEEKR มีดีลเลอร์ 6 ราย เป็นพันธมิตร ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นดีลเลอร์ให้กับแบรนด์พรีเมียมของยุโรป รวมแล้ว ZEEKR มีศูนย์บริการ (ZEEKR House) 14 แห่ง คาดว่าสิ้นปีจะมี 20 แห่ง โดยในปีแรกที่เปิดตัวนี้ อเล็กซ์ มองว่าอยากเน้นไปที่การ สร้างการรับรู้ ดังนั้น จึงวางเป้ายอดขายไว้ที่ประมาณ 1 พันคัน ซึ่งมองว่ายังอยู่ในความเป็นจริงที่จะเป็นไปได้

สำหรับ ZEEKR X จะเริ่มส่งมอบเดือนสิงหาคม และภายในไตรมาส 3-4 ปีนี้คาดว่าจะเปิดตัวอีกรุ่นคือ ZEEKR 009 รถ MPV ไฟฟ้า ส่วนแผนการเปิดโรงงานในไทยนั้นกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา

“เราไม่ได้เทียบตัวเองกับแบรนด์จีน แต่เราเทียบตัวเองกับ BMW หรือ Mercedes-Benz เพราะมั่นใจในโปรดักส์ที่มีคุณภาพสูงจริง ๆ เพราะแบรนด์จีนที่เข้ามาก่อน ก็เหมือนมาช่วยโปรโมทแบรนด์จีนให้เป็นที่รู้จัก” เฉิน หยู (มาร์ส) รองประธาน ซีเคอาร์ อินเทลลิเจนท์ เทคโนโลยี ทิ้งท้าย

]]>
1482425
CFO ของ BMW มั่นใจ ยอดขาย EV ปีหน้าอาจเติบโตได้มากกว่า 70% หลังความต้องการเพิ่ม https://positioningmag.com/1401854 Tue, 27 Sep 2022 04:27:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1401854 ผู้บริหารด้านการเงินของ BMW ได้แสดงความมั่นใจว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปีหน้าของบริษัทนั้นจะเติบโตมากกว่า 70% โดยเขาชี้ให้เห็นว่ายอดขายยังเติบโต ขณะเดียวกันปัญหาด้านการขาดแคลนพลังงานยังไม่สร้างผลกระทบกับบริษัทในปีนี้

Nicolas Peter ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของ BMW ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปี 2023 นั้นอาจได้เห็นการเติบโตมากกว่า 70% โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 400,000 คัน หลังจากความต้องการในรถยนต์ประเภทดังกล่าวนี้ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา BMW เป็นอีกบริษัทที่ประสบปัญหาในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนกับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของชิปขาดแคลน หรือแม้แต่วัสดุสำคัญอย่างนิกเกิลที่ใช้ในแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า

ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมันรายนี้คาดว่าสัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนมากถึง 10% จากยอดขายรถยนต์รวมทั้งหมดของบริษัทในปี 2022 นี้

ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินรายดังกล่าวถึงสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ทั่วโลก เขาชี้ว่าในช่วงเวลานี้ยอดขายในจีนกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว และเปรียบว่าสถานการณ์ในปีนี้เหมือนกับ “รถไฟเหาะ” ขณะที่ยอดขายในทวีปยุโรปยังมีความต้องการอยู่ แต่มีสัญญาณอ่อนแอลง

ขณะที่ด้านภาคการผลิตรถยนต์ของบริษัทที่ต้องใช้พลังงานอย่างก๊าซธรรมชาตินั้น เขาได้กล่าวว่าโรงงานในเยอรมันและออสเตรียได้ลดการใช้ก๊าซลงถึง 15% และจะลดลงมากกว่านี้ เขายังชี้ว่าปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาตินั้นไม่กระทบกับบริษัทโดยตรงในปี 2022 นี้ นอกจากนี้เขาชี้ว่าซัพพลายเออร์ของบริษัทก็ยังไม่มีการลดกำลังการผลิตชิ้นส่วนที่ส่งให้บริษัทด้วย

ขณะที่ในปี 2022 นั้นคาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของ BMW จะขายได้ราวๆ 240,000 คัน ถึง 250,000 คัน

ที่มา – Auto News Europe

]]>
1401854
‘โจ ไบเดน’ อัดฉีด 3 พันล้านดอลลาร์ เป็นเงินทุนหนุน ‘ผลิตแบตเตอรี่’ รถยนต์ไฟฟ้า https://positioningmag.com/1383823 Wed, 04 May 2022 04:06:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383823 ย้อนไปช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ปักเป้าที่จะเป็น ผู้นำ ในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมประกาศเป้าหมายภายในปี 2030 ผลักดันให้รถยนต์ใหม่ในสหรัฐฯ 50% เป็นยานยนต์ไฟฟ้า ล่าสุด ไบเดนก็ได้อัดฉีดงบกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับกองทุนดังกล่าวจะได้รับการจัดสรรโดย กระทรวงพลังงาน จากร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามเมื่อปีที่แล้ว โดยงบดังกล่าวจะใช้เพื่อแปรรูปแร่ธาตุเพื่อใช้ในแบตเตอรี่ความจุสูง และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เป็นต้น

กองทุนดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในแผนของไบเดน ที่ต้องการให้ภายในปี 2030 ยอดขายรถยนต์ 50% ในสหรัฐฯ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ รวมถึงขัดขวางการแข่งขันของจีนในตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อน

“ไบเดน” ตั้งเป้าปี 2030 รถใหม่ในสหรัฐฯ 50% ต้องเป็น “รถยนต์ไฟฟ้า”

“ในขณะที่เราเผชิญกับการปรับขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย สิ่งสำคัญที่ต้องทราบด้วยว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาถูกกว่าการเดินทางระยะไกลสำหรับครอบครัวชาวอเมริกัน” Mitch Landrieu ผู้ประสานงานโครงสร้างพื้นฐานของทำเนียบขาว กล่าว

ด้าน Ford ได้ออกมายินดีกับประกาศ โดยระบุว่า “การลงทุนนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนด้านแบตเตอรี่ในประเทศของเรา สร้างงาน และช่วยให้ผู้ผลิตในสหรัฐฯ แข่งขันกันในเวทีโลก เรามีโอกาสเป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้ในสหรัฐฯ และการลงทุนอย่างที่ประกาศในวันนี้จะช่วยให้เราไปถึงที่นั่น” สตีเวน โครลีย์ ที่ปรึกษาทั่วไปของฟอร์ด กล่าว

อย่างไรก็ตาม เงินทุนดังกล่าวจะไม่ไปนำสู่การพัฒนาเหมืองในประเทศแห่งใหม่เพื่อผลิตลิเธียม นิกเกิล โคบอลต์ และแร่ธาตุที่มีความต้องการสูงอื่น ๆ ที่จำเป็นในการผลิตแบตเตอรี่เหล่านั้น เนื่องจากโครงการบางโครงการเผชิญกับการคัดค้านในท้องถิ่นและเชื่อมโยงกับการทบทวนด้านสิ่งแวดล้อมและกฎหมายของไบเดน

Source

]]>
1383823
Tata Motors เผยต้นทุน ‘แบตเตอรี่’ รถยนต์ไฟฟ้า พุ่ง 20% เเต่มองเป็นแรงกดดัน ‘ระยะสั้น’ https://positioningmag.com/1379691 Wed, 30 Mar 2022 07:12:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379691 Tata Motors ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายสูงสุดในอินเดีย เปิดเผยว่า ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่คือราคาของลิเธียม โดยคาดว่าจะสร้างแรงกดดันให้กับบริษัทได้ในระยะสั้น

ราคาแบตเตอรี่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกประมาณ 1 ปี

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีในตอนนี้ คือต้นทุนแบตเตอรี่ที่ปรับสูงขึ้นประมาณ 20% ซึ่งจะสร้างแรงกดดันระยะสั้น โดยปัญหานี้จะบรรเทาลงสู่ระดับปานกลางได้ภายในเวลา 1 ปี จากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ Shailesh Chandra ประธานฝ่ายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ Tata Motors กล่าวกับ Reuters

อย่างไรก็ตาม Chandra ไม่ได้ให้ความคิดเห็นว่าปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อยอดขายหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทหรือไม่ แต่กล่าวว่า ความต้องการใน รถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเขาหวังว่าส่วนนี้จะช่วยชดเชยต้นทุนบางส่วนได้ ด้วยการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศในการประกอบรถยนต์ของบริษัท

ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก กำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของราคานิกเกิล โคบอลต์ และลิเธียมที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่

นักวิเคราะห์ มองว่า ผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียจะทำให้ราคาเเบตเตอรี่สูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับความพยายามที่จะทำให้ถูกลง เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้าถึงคนหมู่มากเเละเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่อ่อนไหวต่อราคาอย่างอินเดีย

ตลาดรถ EV ของอินเดียยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นเพียง 1% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดเท่านั้น

ทั้งนี้ Tata Motors ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอินเดียมากกว่า 90% คาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทจะเติบโตมากกว่าสี่เท่าในปีงบประมาณนี้ จากยอด 4,200 คันในปีที่แล้ว

 

ที่มา : Reuters 

]]>
1379691
รู้จัก ‘Rivian’ ผู้ผลิต ‘รถกระบะไฟฟ้ารายแรก’ ที่ปาดหน้าทั้ง Tesla, GM และ Ford https://positioningmag.com/1352232 Fri, 17 Sep 2021 04:22:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352232 ส่งมอบไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ ‘รถกระบะไฟฟ้า R1T’ ของ ‘Rivian’ สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกาที่ปาดหน้า Tesla, GM และ Ford เปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าเป็นรายแรก แน่นอนว่าคนไทยเองอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับแบรนด์นี้ ดังนั้น Positioningmag จะพาไปทำความรู้จัก

Rivian เกิดขึ้นในปี 2009 โดย Robert RJ Scaringe นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ในด้านวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งตอนแรก Robert ไม่ได้จะมาผลิตรถกระบะ แต่อยากทำรถสปอร์ตไฟฟ้า แต่เพราะรถยนต์กระบะยังไม่มีผู้เล่นในตลาด โดยผู้เล่นส่วนใหญ่เน้นไปที่รถเก๋งมากกว่า เขาจึงเบนเข็มมาพัฒนารถกระบะและรถ SUV ไฟฟ้าแทน

รถกระบะไฟฟ้า ‘R1T’ คันแรกที่ถูกขับโดยผู้ก่อตั้ง Robert RJ Scaringe

สิ่งที่ทำให้ Rivian พิเศษกว่าแบรนด์อื่นไม่ใช่แค่เป็นรายแรกที่คิดจะทำรถกระบะไฟฟ้า แต่เพราะ ‘Skateboard Platform’ ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาช่วงโครงช่วงล่างของรถยนต์ ที่บริษัทสร้างเพื่อให้โครงสร้างของรถมีศูนย์ถ่วงที่ต่ำ และนำมอเตอร์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่ และแผงควบคุมต่าง ๆ ติดตั้งไว้ด้านล่างของตัวรถ ทำให้การขับขี่สนุก และเหมาะกับการขับเคลื่อนสี่ล้อ เหมาะกับรถยนต์ประเภท Off-Road อย่างรถกระบะและ SUV นอกจากนี้ยังทำให้การออกแบบทำได้อิสระมากขึ้น โดย Skateboard Platform นี้

  • รองรับการติดตั้งมอเตอร์ได้สูงสุด 4 ตัว
  • ใช้ระบบกันสะเทือนแบบถุงลมแยกอิสระ
  • ติดตั้งระบบจัดการแบตเตอรี่อัจฉริยะ
  • ติดตั้งระบบควบคุมไฮดรอลิกช่วงล่าง
  • ติดตั้งระบบระบายความร้อน
ช่วงล่างแบบ Skateboard Platform

ด้วยแนวคิดดังกล่าวทำให้ Rivian สามารถระดมทุนจากบริษัทใหญ่ ๆ ได้มากมาย โดยได้เงินทุนจาก 450 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุนรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ Abdul Latif Jameel ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย, Sumitomo Corp จากญี่ปุ่น และธนาคาร Standard Chartered จากอังกฤษ

จนในปี 2018 บริษัท Rivian ก็ได้ผลิต ‘Rivian R1T’ เป็นรถกระบะไฟฟ้าต้นแบบรุ่นแรกที่ใช้พื้นฐานรถแบบ Skateboard Platform ออกมาสำเร็จ โดย R1T มาพร้อมความสามารถวิ่งได้ไกลสูงสุด 644 กิโลเมตร มอเตอร์แบบสี่ตัว ขับเคลื่อนสี่ล้อ สามารถเร่งความเร็ว 0-96 กม./ชม. ใน 3 วินาที เท่านั้น จากนั้นก็เปิด ‘Rivian R1S’ ตัวต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้า SUV โดย Rivian ได้ประกาศว่าจะผลิตในปี 2019 และส่งมอบออกจำหน่ายในปี 2020

ซึ่งหลังจากวางเป้าที่จะผลิตรถยนต์ในปี 2019 Rivian ก็สามารถระดมทุนได้อีก โดยได้เงินกว่า 700 ล้านดอลลาร์จาก Amazon ตามมาด้วย Ford อีก 500 ล้านดอลลาร์ จากนั้นก็มี Cox Automotive เว็บขายรถของอเมริกาอีก 350 ดอลลาร์ และได้เงินทุนอีก 1,300 ล้านดอลลาร์ จาก T. Rowe Price Associates บริษัทที่เคยลงทุนมหาศาลใน Tesla

Rivian R1T และ Rivian R1S

แม้จะบอกว่าจะส่งมอบรถภายในปี 2020 แต่จากวิกฤติ COVID-19 ทำให้ต้องเลื่อนไปเป็นต้นปี 2021 แต่แม้จะเลื่อนไปต้นปี แต่สุดท้าย R1T ก็เพิ่งออกจากสายการผลิตที่โรงงานในเมือง Normal รัฐอิลลินอยส์ เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา โดยราคาเริ่มต้นสำหรับรถกระบะไฟฟ้า R1T จะอยู่ที่ 69,000 ดอลลาร์ (2,110,050 บาท) และรถ SUV ไฟฟ้า R1S ก็คือ 72,500 ดอลลาร์ (2,188,200 บาท)

จากนี้ก็คงต้องจับตาสงครามรถยนต์ไฟฟ้าว่าจะเป็นอย่างไร ค่ายรถยนต์รุ่นบุกเบิกตั้งแต่สมัยรถน้ำมันคงไม่ยอมที่จะถูกสตาร์ทอัพใหม่ ๆ เหล่านี้ดิสรัปต์ง่าย ๆ เพราะจะเห็นแต่ละค่ายอัดงบลงทุนไปมหาศาลเพื่อจะบุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จากนี้คงต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ว่าจะเลือกไปอยู่ค่ายไหน

]]>
1352232
โอกาสตลาด ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ในไทย อีก 7 ปีแตะ 1 ล้านคัน มีเเววต่อยอดเป็นฐานผลิต ‘รถไฮบริด’ https://positioningmag.com/1337621 Thu, 17 Jun 2021 11:40:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1337621 เมกะเทรนด์การเปลี่ยนแปลง Krungthai COMPASS ประเมินอุตสาหกรรม ‘ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย คาดปี 2028 มียอดผู้ใช้เเตะ 1 ล้านคัน ในจำนวนนี้จะเป็น ‘รถไฮบริด’ ถึง 93% เเนะรัฐออกมาตรการช่วยดัน มีโอกาสต่อยอดเป็นฐานผลิต’ ของภูมิภาค 

ช่วงวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจนเข้าสู่ภาวะถดถอยเเต่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยยอดขายสูงถึง 3.2 ล้านคันทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นกว่า 43%

ในไทยก็ได้รับความนิยมไม่น้อย โดยมียอดจดทะเบียนสูงถึง 3 หมื่นคัน ขยายตัวถึง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สวนทางยอดขายรถยนต์โดยรวมที่ลดลง 21%

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงปัจจัยที่สนับสนุน EV ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการตื่นตัวของภาครัฐในต่างประเทศเพื่อแก้ไขประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงปารีส โดยเฉพาะนโยบายยกเลิกการขายยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ควบคู่ไปกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม

ประกอบกับความเคลื่อไหวของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ปรับตัวหันไปทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามความสนใจของผู้บริโภคที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกมีโอกาสแตะระดับ 25-45 ล้านคันได้ภายในปี 2030 จาก 10 ล้านคันในปัจจุบัน”  

ตลาดไทยยังเล็ก เเต่มีเเววต่อยอด ‘ฐานผลิตไฮบริด’ 

สำหรับประเทศไทยนั้น มียอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศ ณ สิ้นปี 2020 อยู่ที่เพียง 1.9 แสนคัน หรือคิดเป็นเพียง 1% ของยานยนต์ทั้งหมด ถือว่ายังมีขนาดเล็กและอยู่ในช่วงเริ่มต้นเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ

ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่าข้อได้เปรียบของไทย คือการเป็นฐานผลิตยานยนต์เครื่องยนต์ ICE แบบดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับกลยุทธ์การทำตลาดของผู้ผลิตยานยนต์ OEM ในประเทศที่ยังคงเน้นทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดตามบริษัทแม่ในญี่ปุ่น

ยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในไทยมีโอกาสแตะ 1 ล้านคันได้ในปี 2028 หรือขยายตัวเฉลี่ยราว 24% ต่อปี โดยยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 93% ของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด

โดยมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค จะเป็นส่วนสำคัญให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย มีโอกาสต่อยอดเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในอนาคตต่อไป

ผู้ประกอบการกลุ่มไหน ได้รับผลประโยชน์-ผลกระทบ ? 

การเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดของไทย นอกจากจะช่วยรักษาตลาดผู้ผลิตในกลุ่มเครื่องยนต์ ICE ในประเทศเเล้ว รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องในระยะปานกลางแล้ว ยังส่งผลดีต่อ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตวัสดุน้ำหนักเบาและแข็งแรงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ของ Krungthai COMPASS ระบุว่า ในระยะยาว การที่สัดส่วนยานยนต์ปราศจากการปล่อยมลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle : ZEV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยตามกระแสเมกะเทรนด์ที่กำลังเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด (Green Economy) นั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Powertrain และ Engine ในไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 20% ของรายได้ของผู้ผลิตชิ้นส่วนในตลาดทั้งหมด

โดยสรุปเเล้ว ในระยะสั้นปานกลาง อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยแบบดั้งเดิม จะถูกปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างเพื่อรองรับฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดมากขึ้น ทำให้ดีมานด์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มยานยนต์เครื่องยนต์ ทั้ง ICE แบบเดิม ควบคู่ไปกับระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ ยังเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี กระแสเมกะเทรนด์ที่ตื่นตัวต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การปรับตัวของผู้ผลิตที่เน้นไปหายานยนต์แบบปราศจากมลพิษ (ZEV) มากขึ้น รวมทั้งการเปิดรับจากผู้บริโภคที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าแบบ ZEV จะทยอยเข้ามามีบทบาทในไทยมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งก็จะทำให้ในระยะยาวที่สัดส่วนยานยนต์ ZEV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่ม Powertrain และ Engine มากที่สุด

 

 

 

]]>
1337621
จับตา ‘Volkswagen’ ในศึก ‘รถ EV’ เตรียมทุ่มเงิน 4.3 หมื่นล้านเหรียญงัดข้อกับ ‘Tesla’ https://positioningmag.com/1314482 Fri, 15 Jan 2021 07:18:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1314482 ‘Volkswagen’ แบรนด์รถยนต์สัญชาติเยอรมันสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ถึง 231,600 คันในปี 2020 แต่เมื่อเทียบกับยอดขายของ ‘Tesla’ ที่เติบโตถึง 214% มียอดขายถึง 500,000 คันก็ยังถือว่า ‘น้อยกว่าครึ่ง’ แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ขนาดใหญ่ของเยอรมนีกำลังเริ่มท้าทายผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว

รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดของ Volkswagen คือ ID.3 ใหม่ซึ่งขายได้ 56,500 คัน ส่วนรุ่น e-Golf ขนาดกะทัดรัดและ e-up ที่มีขนาดเล็กลงอยู่ที่ 41,300 และ 22,200 ตามลำดับ ขณะที่ Audi ซึ่งเป็นแบรนด์หรูของกลุ่มมียอดขาย e-tron SUV และ sportback 47,300 คัน

ส่วน Porsche Taycans ไฟฟ้ามียอดขาย 20,000 คัน ยอดขายรถยนต์ไฮบริดซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงธรรมดาก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน Volkswagen ขายรถไฮบริด Plug-in 190,500 ในปีที่แล้วซึ่งเพิ่มขึ้น 175% จากปี 2019

“เราพร้อมที่จะบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ปี 2020 เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับ Volkswagen และถือเป็นความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า Ralf Brandstätter ซีอีโอของ Volkswagen Passenger Cars กล่าว

(Photo by Christophe Gateau/picture alliance via Getty Images)

อย่างไรก็ตาม Tesla ยังคงมีความท้าทายที่น่ากลัว บริษัทที่นำโดย Elon Musk บรรลุเป้าหมายในการสร้างรถยนต์ 500,000 คันในปี 2020 รายงานเมื่อต้นเดือนนี้ การผลิตและการส่งมอบเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 3 จากระดับปี 2019 ซึ่งเป็นผลกำไรที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าโรงงานของบริษัทในฟรีมอนต์ แคลิฟอร์เนียปิดตัวลงเป็นเวลาเกือบสองเดือนเนื่องจากการระบาด แต่บริษัทก็กำลังสร้างโรงงานในเยอรมนีหลังจากเปิดอีกแห่งในจีนในปี 2019

นักลงทุนต่างตอบแทนด้วยการทำให้ Tesla เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกที่ 8 แสนล้านดอลลาร์มูลค่าตลาดของ Tesla นั้นมากกว่า Volkswagen ถึง 8 เท่า

Volkswagen ได้กล่าวว่ามีแผนจะลงทุน 35,000 ล้านยูโร (4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ในรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2025 และตัวเลขยอดขายในปี 2020 ชี้ให้เห็นว่าลูกค้าเริ่มตอบสนอง ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตตั้งใจที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์ประมาณ 70 รุ่นภายในปี 2030 เพื่อแข่งขันกับ Tesla

ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันรายอื่นกำลังเข้าร่วมการแข่งขัน BMW ขายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ได้ 44,530 คันในปี 2020 เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนและรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอินกว่า 148,000 คัน ส่วน mercedes-benz ขายรถไฮบริดปลั๊กอินและรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์ได้มากกว่า 160,000 คันในปีที่แล้ว

การเติบโตของไฟฟ้าเกิดขึ้น แม้ว่าการระบาดของโรคจะผลักดันให้ยอดขายของอุตสาหกรรมโดยรวมถอยหลัง Volkswagen Group มียอดขาย 9.3 ล้านคันในปี 2020 ลดลง 15% จากปีก่อนหน้า แต่ระบุว่ายอดส่งมอบลดลงเพียง 3.2% ในเดือนธันวาคมเนื่องจากความต้องการที่ดีดตัวขึ้น

Volkswagen กำลังทำการรุกอย่างมีนัยสำคัญในบางตลาด อาทิ ในนอร์เวย์ซึ่งแรงจูงใจด้านราคา ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีราคาถูกกว่ารถยนต์เบนซินรุ่นที่คล้ายกัน ทำให้ Audi e-tron เป็นผู้นำด้านยอดขายในปี 2020 ซึ่งแซงหน้ารุ่น 3 ของ Tesla

Source

]]>
1314482
ทำอย่างไรให้ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ไม่ใช่ ‘ไฟไหม้ฟาง’ ที่มาแล้วหายไปในสายตา ‘MG’ https://positioningmag.com/1308036 Fri, 27 Nov 2020 09:26:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308036 ‘รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)’ หนึ่งในรูปแบบของ ‘รถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่’ ที่ทั่วโลกกำลังเห็นความสำคัญและพยายามผลักดันให้มาแทนที่ ‘รถยนต์สันดาป’ เนื่องจากต้องการจะดูแลโลกใบนี้ให้สะอาดและน่าอยู่ขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในตัวการก่อปัญหา ‘โลกร้อน’ และ ‘มลพิษทางอากาศ’ ก็คือ รถยนต์ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้นถือว่าสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าถือว่าค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้น ‘MG’ หนึ่งในแบรนด์รถยนต์ที่ตั้งเป้าชัดเจนแล้วว่าต้องการเป็น ‘ผู้นำ’ ในตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่จะมาฉายภาพให้ฟังว่าอะไรยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

ความมั่นใจ ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีข้อดีในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงรักษาที่ถูกกว่ารถยนต์สันดาป ความเงียบ อัตราเร่งที่ดีกว่าเพราะไม่มีขั้นตอนการทดเกียร์ และที่สำคัญสุด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถึงอย่างนั้น ‘ระยะการขับ’ และ ‘สถานีชาร์จ’ ที่ยังเป็น 2 ความกังวลที่ทำให้ผู้บริโภคไม่มีความ ‘มั่นใจ’ ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่การขับไปต่างจังหวัดหรือพื้นที่ไกล ๆ ไม่ได้ขับทุกวัน ดังนั้น หากแค่ใช้งานในเมืองรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าตอบโจทย์

“ลูกค้าที่ยังชะลอการซื้อเพราะกลัวว่าถ้าใช้งานในพื้นที่ไกล ๆ กลัวจะไม่สะดวก ดังนั้นมันเป็นเรื่องของความไม่มั่นใจที่จะต้องใช้งานระหว่างจังหวัด มันเลยกลายเป็นอุปสรรคในการซื้อ”

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว MG ได้พยายามขยายสถานีชาร์จก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า โดยภายในปีนี้คาดว่าจะสามารถติดตั้งได้ครบ 100 จุดที่ศูนย์ MG ทั่วประเทศ และในปีหน้าจะติดตั้งเพิ่มอีก 500 จุด รวมเป็น 600 จุด

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

รัฐบาลไม่สนับสนุนจริงจัง

สำหรับนโยบายการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าของไทยยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ อย่างในประเทศจีน รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนจุดบริการชาร์จไฟฟ้าให้ บางประเทศรถยนต์ไฟฟ้าจะได้สิทธิ์จอดรถฟรี หรืออย่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรเตรียมห้ามจำหน่ายเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2030 ดังนั้น ภาครัฐไทยควรมีนโยบายสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น

อย่างกระแสข่าวลือนโยบาย ‘รถเก่าแลกรถใหม่’ ที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ จำนวน 100,000 คันนั้น รัฐบาลควรมีความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะทำให้ตลาดรถยนต์ชะลอตัว เพราะผู้บริโภคยังไม่กล้าตัดสินใจซื้อรถยนต์ และ MG มองว่ารัฐควรถือโอกาสนี้พิจารณาถึงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของรถยนต์ที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะรถยนต์ประเภท EV ซึ่งมีทั้งรถยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด และรถยนต์ไฮบริด ซึ่งรัฐควรพิจารณาเกณฑ์การให้ส่วนลด หรือการสนับสนุนที่ลดหลั่นกันไปตามเทคโนโลยีของรถยนต์ด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ปักกิ่งเปิด “สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า” ขนาดใหญ่สุดในเมือง รองรับได้วันละ 1,300 คัน

ค่ายออกรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่อเนื่อง

รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ในไทยยังมีน้อย มีหลายแบรนด์ที่ยังไม่เข้ามาทำตลาด ดังนั้น MG จึงใช้โอกาสเดินหน้าลุยตลาดเพื่อขึ้นเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา MG มียอดจำหน่าย MG ZS EV ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ถึง 1,200 คัน และเมื่อรวมยอดจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดทำให้ MG มียอดขายรถยนต์พลังงานทางเลือกประมาณ 2,000 คัน คิดเป็นกว่า 90% ของตลาดรวม โดยล่าสุด MG ได้เปิดตัว ‘New MG EP’ รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นที่ 2 ของ MG ซึ่งรุ่นนี้เป็นรถยนต์สไตล์สเตชั่นแวกอนที่สามารถใช้งานได้ทุกวัน

“รถ EV ในตลาดส่วนใหญ่ทำออกมาแล้วหาย ดังนั้น เราจึงต้องเปิดตัวอีกรุ่นเพื่อทำให้เขารู้ว่าไม่ใช่ไฟไหม้ฟางที่มาแล้วหายไป เราต้องทำให้เขามั่นใจ โดยในอนาคตเราจะมีรถ EV อีกหลายรุ่น เพราะแค่รุ่นเดียวคงไม่สามารถตอบสนองความต้องการตลาดได้พอ”

สำหรับจุดเด่นของ ‘์New MG EP’ มี 4 ด้าน ได้แก่ 1.ตัวถังขนาดใหญ่ มีพื้นที่ห้องโดยสารกว้างขวาง และมีพื้นที่ความจุสัมภาระสูงสุดถึง 1,456 ลิตร 2.มีความสะดวกสบายและระบบความปลอดภัยที่ครบครัน อาทิ จอ Touchscreen ขนาด 8 นิ้ว ที่รองรับ Apple CarPlay 3.สมรรถนะที่วิ่งได้ไกลถึง 380 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่ง มีมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงที่ 163 แรงม้า และ 4.ต้นทุนในการเป็นเจ้าของที่ต่ำ ทั้งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าบำรุงรักษาที่ต่ำ โดยการชาร์จไฟบ้านอยู่ประมาณ 200 บาท/การชาร์จ 1 ครั้ง ส่วนค่าบำรุงรักษาก็ลดลงเพราะไม่มีเครื่องยนต์ ดังนั้น 1 แสนกิโลเมตรอยู่ที่ไม่เกิน 8,000 บาท

ทั้งนี้ MG EP จะเปิดราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการที่งาน Motor Expo 2020 ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 นี้ พร้อมเปิดรับจองภายในงาน และโชว์รูมเอ็มจีทุกสาขาทั่วประเทศ

]]>
1308036