ลงทุน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 09 May 2024 09:17:54 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 UOB มองเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ แม้ได้ภาคการท่องเที่ยวช่วยไว้ แนะนำลงทุนกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นปันผลดี https://positioningmag.com/1472645 Thu, 09 May 2024 07:05:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472645 ยูโอบี (UOB) ได้คาดการณ์ว่าอาจปรับลดตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วง 2 เดือนแรก แม้ว่าจะมีภาคการท่องเที่ยวช่วยไว้ก็ตาม นอกจากนี้ยังแนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มปันผลนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาตลาดมีความผันผวน

เอ็นริโก้ ทานูวิดจายา นักเศรษฐศาสตร์ Global Economics and Market Research กลุ่มธนาคารยูโอบี ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาว่ามีความท้าทาย และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกนั้นเพิ่มมากขึ้น ทางด้านเรื่องของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นั้นมีผลกระทบต่อราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก เอ็นริโก้ มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีความแข็งแกร่งอยู่ แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวนั้นจะปรับตัวลดลงมาก็ตาม ทำให้เขามองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้เริ่มต้นในเดือนกันยายน และในช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่เศรษฐกิจจีนเขามองว่าชะลอตัวลง แต่มีเสถียรภาพมากขึ้น ตรงข้ามกับอินเดียที่เติบโตอย่างมาก และเขามองว่าอินเดียจะเป็นดาวเด่นทางเศรษฐกิจด้วย

ข้อมูลจาก UOB

ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ แม้ท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์ Global Economics and Market Research กลุ่มธนาคารยูโอบี ยังได้กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยว่าเศรษฐกิจไทยนั้นได้กลับมาเติบโตเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว แต่การเติบโตนั้นกลับไม่เท่ากันจะเห็นได้จากภาคบริการเติบโตมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดไปแล้ว แต่หลายอุตสาหกรรมเองกลับไม่ฟื้นตัวกลับมา เช่น ภาคการผลิต เป็นต้น

เขากล่าวว่าภาคการท่องเที่ยวที่เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยนั้น นักท่องเที่ยวชาวจีนได้กลับมาแล้ว แต่ไทยเองยังต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ขณะเดียวกันภาคการส่งออกของไทยเขาก็มองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

อย่างไรก็ดี เอ็นริโก้ มองว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะตัวเลขการเติบโตของเงินให้สินเชื่อของสถาบันการเงินไทยที่เติบโตติดลบ แสดงให้เห็นการบริโภคภายในประเทศถือว่าอ่อนแอมาก ทำให้เขามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 2 ครั้งในปีนี้ โดยเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน และในช่วงปลายปี

UOB ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ในรายงานล่าสุดอยู่ที่ 2.8% แต่ เอ็นริโก้ มองว่าอาจมีความเสี่ยงขาลงจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ 2 เดือนแรกของปีแย่กว่าคาด และอาจมีการปรับประมาณการใหม่ เขาคาดว่า GDP ไทยจะเติบโตแค่ 2.4-2.5% ถ้าหากมีการประมาณการตัวเลขใหม่

สำหรับค่าเงินบาทของไทย เขาไม่ได้กังวลมากนัก และมองว่าเม็ดเงินจะไหลออกระยะสั้นเท่านั้น แต่มองว่าค่าเงินบาทของไทยมีเสถียรภาพเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นบวก นอกจากนี้ถ้าหากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ก็จะทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าด้วย

ข้อมูลจาก UOB

หุ้นปันผล อีกหนึ่งทางเลือกลงทุน

เอเบล ลิม Head of Wealth Management Advisory and Strategy กลุ่มธนาคารยูโอบี ได้กล่าวถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะมีอุปสรรคมากมาย เช่น ความไม่แน่นอน แต่ก็พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตได้ดี ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในสภาวะฟื้นตัว ขณะที่ญี่ปุ่นตลาดหุ้นทำผลตอบแทนได้ดีมาก บริษัทญี่ปุ่นยังเติบโตได้ ทางฝั่งยุโรปพบว่ามีเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 1 ปีที่แล้วแต่บริษัทหลายแห่งกลับยังทำผลงานได้ดี

เขากล่าวยังว่า “เนื่องจากตลาดมีความอ่อนไหวต่อดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราการเติบโตและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่แตกต่างกัน การสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอผ่านการลงทุนในหุ้นปันผลจึงเป็นสิ่งสำคัญ” โดยเขายกเหตุผลถึงถ้าหาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็จะเป็นผลดีกับหุ้นปันผลด้วย

ในส่วนของการลงทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อเสริมพอร์ตการลงทุนหลัก UOB ได้แนะนำ 4 กลุ่มได้แก่ หุ้นเติบโตขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ (High Quality) หุ้นกลุ่ม Healthcare หุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น รวมถึงหุ้นในอาเซียน

ขณะที่ความเสี่ยงของการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2024 นี้ที่ UOB มองไว้ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อลดลงได้ช้ากว่าคาด ส่งผลทำให้ธนาคารกลางต้องคงดอกเบี้ยสูงเป็นระยะเวลานาน และยังรวมถึงความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีนจะขยายตัวขึ้น

]]>
1472645
Jitta Wealth ชูโมเดล AI วิเคราะห์ข้อมูลประเทศไหนน่าลงทุน มองหุ้นจีน-ฮ่องกงราคาถูกน่าสนใจ https://positioningmag.com/1472692 Wed, 08 May 2024 17:28:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472692 จิตตะ เวลธ์ (Jitta Wealth) มองถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้สร้างแรงกระเพื่อมในหลายมิติ ซึ่งรวมถึงด้านการลงทุนด้วย ล่าสุดบริษัทได้มีการนำข้อมูลในหลายมิติมาเพื่อวิเคราะห์ถึงการลงทุนว่าประเทศไหนเหมาะสมในการลงทุน เพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทน หรือแม้แต่ลดความเสี่ยงให้กับลูกค้า

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ได้กล่าวถึงว่าบริษัทได้พัฒนา Jitta Intel อัลกอริทึม AI เพื่อการลงทุนของจิตตะมาตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลกว่า 1,000 ล้านชุดข้อมูลต่อวัน วิเคราะห์หุ้นกว่า 48,000 หุ้น ครอบคลุมหุ้น 90% ทั่วโลก เพื่อหาหุ้นที่น่าลงทุนที่สุดของแต่ละตลาด (Jitta Ranking) ตามหลักการลงทุนเน้นคุณค่า (VI)

เขาได้กล่าวเสริมในเรื่องดังกล่าวว่า การเข้ามาของเทคโนโลยี AI ในส่วนของธุรกิจการเงินการลงทุน ได้เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์การลงทุนทั่วโลก เพิ่มศักยภาพและโอกาสการลงทุนให้กับนักลงทุน ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้ฉลาดยิ่งขึ้น ในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์หลายเท่า

นอกจากนี้เขายังมองว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลงทุนยังช่วยไม่ให้เกิดความอคติในการลงทุน หรือแม้แต่ความกลัวเวลาตลาดเกิดผันผวนขึ้นมา เนื่องจากเทคโนโลยีจะช่วยในเรื่องดังกล่าวแทน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Jitta Wealth ได้กล่าวว่าล่าสุด ได้มีการนำโมเดล AI ที่สามารถจะทำนาย (Jitta Market Prediction) ในตลาดหุ้นที่มีพื้นฐานดี และโมเดลดังกล่าวยังมองว่าตลาดไหนจะทำผลตอบแทนได้ดี ช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และสร้างผลตอบแทนได้ดีมากขึ้น

เขายังกล่าวว่า ถ้านำโมเดลดังกล่าวมาใช้จะให้ผลตอบแทนดีมาก ถ้าหากเจอตลาดหุ้นดีๆ ซึ่งในอนาคต ตราวุทธิ์ กล่าวว่าตัวโมเดล AI ดังกล่าวสามารถทายได้ว่าปีไหนไม่ต้องลงทุนเลยก็ได้ เพื่อเน้นความปลอดภัยของพอร์ตลงทุน หรือแม้แต่จะหาสินทรัพย์ที่ไม่มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้อีกทาง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Jitta Wealth ยังได้กล่าวว่า ถ้าหากนำข้อมูลด้านการลงทุนมาวิเคราะห์แล้วจะพบว่าหุ้นจีน กับหุ้นฮ่องกง ยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากหุ้นที่มีมูลค่าถูกนั้นยังมีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ อย่างเช่น ไทย เป็นต้น

ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการของ Jitta Wealth ในส่วนกองทุนส่วนบุคคลนั้นมีมากกว่า 68,000 พอร์ต มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท

สำหรับผลตอบแทนของ Jitta Ranking สามารถเอาชนะผลตอบแทนของกองทุนส่วนมากในไทย โดย Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม สร้างผลตอบแทน 140.27% เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนาม Jitta Ranking หุ้นสหรัฐฯ ก็สร้างผลตอบแทนได้ถึง 77.47% เป็นอันดับ 3 จากกองทุนหุ้นสหรัฐฯ 28 กองทุน เป็นต้น

ลูกค้าที่ต้องการที่จะลงทุนกับ Jitta Wealth นั้นมีเงินเริ่มลงทุนเพียงแค่ 10,000 บาทก็สามารถใช้บริการได้ ตราวุทธิ์ยังมองว่าการทำธุรกิจนั้นเหมือนกับการวิ่งมาราธอน ถ้าหากผลิตภัณฑ์นั้นดีคนก็จะสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทได้พัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

]]>
1472692
บล.พาย เปิดตัวแอปฯ Pi Financial ชูจุดเด่นใช้งานง่ายลงทุนสะดวก ตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำโตเพิ่มอีก 43,000 ล้านบาท https://positioningmag.com/1467261 Fri, 22 Mar 2024 06:51:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1467261 บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน Pi Financial โดยชูจุดเด่นในเรื่องการใช้งานง่าย และลูกค้าสามารถลงทุนได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็น หุ้นไทย กองทุนรวม ไปจนถึงหุ้นต่างประเทศ โดยตั้งเป้าในปี 2024 นี้จะมีสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำโตเพิ่มอีก 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 43,000 ล้านบาท

บ๊อบ เวาเทอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้มีการพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิทัลที่ครบวงจร ควบคู่กับบริการแนะนำการลงทุนส่วนบุคคล เพื่อมอบประสบการณ์การลงทุนแบบไร้รอยต่อให้กับลูกค้า ภายใต้แนวคิด Digital With A Human Touch

สำหรับปี 2024 นี้ บล.พาย ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน Pi Financial โดยชูจุดเด่นในเรื่องการลงทุนที่ง่าย ใช้เอกสารเปิดบัญชีเท่าที่จำเป็น และสามารถเปิดบัญชีได้สะดวกโดยผ่านระบบ NDID รวมถึงมีบริการยืนยันตัวตนที่ 7-Eleven ซึ่งระบบดังกล่าวจะมีภายหลังจากนี้

สำหรับแอปพลิเคชัน Pi Financial นั้นมีบริการซื้อขายสินทรัพย์หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนรวม ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน การทำธุรกรรมฝากและถอนเงิน การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทได้ชี้ถึงหน้าจอการใช้งานที่ง่าย และบริษัทยังรับฟังความเห็นจากลูกค้าที่ใช้งานจริงเพื่อพัฒนาระบบให้ใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ บล.พาย ยังชูจุดแข็งในเรื่องบทวิเคราะห์หุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจ ทั้งช่องทางเดิมที่ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดบทวิเคราะห์ไปอ่านได้ หรือแม้แต่ช่องทาง Social Content ที่เติบโตค่อนเร็ว ส่งผลทำให้บริษัทได้หันมาทำ Channel ผ่าน Youtube ซึ่งตัวเลขล่าสุดมีผู้ติดตามมากว่า 48,000 ราย และยังสามารถติดตามบทวิเคราะห์ดังกล่าวผ่านแอปฯ Pi Financial ได้ด้วย

บล.พาย ยังได้ชูถึงเรื่องบทวิเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นช่องทางแบบดั้งเดิม หรือการที่นักวิเคราะห์ได้ออกไลฟ์สตรีม / ภาพจากบริษัท

นอกจากนี้ บ๊อบ ยังได้กล่าวถึงการที่บริษัทเตรียมรุกธุรกิจ Wealth Management โดยจะเจาะกลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งสูง โดย บล.พาย เตรียมที่จะดึงพนักงาน Relationship Manager จำนวนหนึ่งมาร่วมงานเพื่อให้บริการลูกค้ากลุ่มดังกล่าว และจะเริ่มหาลูกค้าในกลุ่มความมั่งคั่งสูงเข้ามาใช้บริการด้วย

ธุรกิจ Wealth Management ของ บล.พาย ที่กำลังจะเดินหน้านั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บล.พาย มองจุดเด่นที่แตกต่างจากธนาคารที่ได้ทำธุรกิจดังกล่าวในเรื่องของความอิสระที่มากกว่า

ในปี 2023 ที่ผ่านมา บล.พาย นั้นมีฐานลูกค้าล่าสุดมากกว่า 80,000 ราย และบริษัทได้ระดมทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐจากตระกูล Koo Family กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่สัญชาติไต้หวัน และบริษัทคาดว่าจะระดมทุนเพิ่มอีก 10 ล้านเหรียญสหรัฐได้หลังจากนี้เพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยที่มีการแข่งขันสูง บ๊อบ มองว่าการลงทุนช่องทางดิจิทัลใช้เงินลงทุนสูงและเชื่อว่าผู้เล่นในอุตสาหกรรมจะมีจำนวนลดลง ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการ แต่เขาเชื่อว่าด้วยกลยุทธ์ของบริษัท บล.พาย จะเป็นผู้เล่นที่อยู่รอดได้

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บล.พาย ยังมองว่า ด้วยทีมนักวิเคราะห์ที่แข็งแกร่ง และทีมที่ปรึกษาทางการลงทุนที่เชี่ยวชาญ บริษัทได้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และมีสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำโตเพิ่มอีก 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 43,000 ล้านบาท

]]>
1467261
‘เอเซีย พลัส’ เตรียมยกระดับบริการจาก ‘Broker หุ้น’ สู่ ‘Wealth Management’ ตั้งเป้ารายได้ปี 2024 โต 10% https://positioningmag.com/1461445 Sun, 04 Feb 2024 18:53:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1461445 บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบริษัทเอเซีย พลัส เผยแผนธุรกิจและกลยุทธ์ปี 2567-2569 ชู Wealth Management เป็นหัวหอกในการเติบโต พร้อมรุกตลาดกองทุนรวม ต่อยอดบริการทางการเงินและผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม จากเดิมที่เน้นไปยังธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์อย่างเดียว

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเขามองว่าเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง จากเหตุผลที่เม็ดเงินลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า เช่น เวียดนาม ลาว

ขณะเดียวกันก็มองว่าประเทศไทยไม่มีโครงการใหญ่ๆ ดึงดูดนักลงทุน เขายังมองว่าไทยนั้นเหลือแต่บุญเก่าและมองว่าเพื่อนบ้านอาจแย่งไปด้วย เช่น การผลิตสินค้า Electronics ที่ตอนนี้เวียดนามได้เปรียบกว่า และทางออกของรัฐบาลชุดไหนๆ ก็คือต้องเอาใส่ใจ และต้องลงทุนเพิ่ม

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มองว่าหุ้นไทยนั้นมีผลตอบแทนไม่ดีเท่าไหร่ และกลายเป็นว่าหุ้นสหรัฐฯ ดีกว่าด้วยซ้ำ

สำหรับกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนองค์กรในระยะ 3 ปีนั้นจะเน้นไปที่ 4 แกนหลักที่สำคัญ ได้แก่

  1. Product & Value โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
  2. Process & Customer Experience นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานและการบริการ เพื่อมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
  3. Brand Value & Perception มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะการปรับภาพลักษณ์บริษัทให้ทันสมัยและเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth)
  4. People & Innovation พัฒนาศักยภาพของบุคลากรโดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความเข้าใจลูกค้า โดย ก้องเกียรติ กล่าวถึงการพัฒนา Relationship Manager (RM) ให้มีความสัมพันธ์กับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และอยู่เคียงคู่กับลูกค้าทุกเวลา ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะยกระดับบริการจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์หรือ Broker หุ้น ไปเป็นธุรกิจ Wealth Management แต่ ก้องเกียรติ ก็มองว่าธุรกิจดังกล่าวมีความท้าทาย จะเห็นได้จากสถาบันการเงินของไทยหลายแห่งต้องจับมือกับผู้เล่นจากต่างประเทศ

ในปี 2024 นี้ ก้องเกียรติ ได้กล่าวถึงการเน้นไปยังธุรกิจ 2-3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ธุรกิจบริหารกองทุนรวม (บลจ.) จะต้องกองทุนรวมให้บริการลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายภาษีที่ลงทุนในต่างประเทศแม้ว่าจะยังมีความไม่ชัดเจนก็ตาม

ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจวาณิชธนกิจ จะเน้นไปยังเรื่องการควบรวมกิจการ หรือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในด้านต่างๆ ขณะที่ธุรกิจการลงทุนของบริษัทก็จะเน้นการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัททั้งในและนอกตลาดหุ้น

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้า KPI ในปี 2024 นี้รายได้รวมจะเติบโต 10%

]]>
1461445
มองปีหน้า ‘เทคคอมปานี’ อาเซียนมีโอกาส ‘ระดมทุน’ ได้มากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขต้องเห็นหรือมีแผนทำ ‘กำไร’ ชัดเจน https://positioningmag.com/1456527 Wed, 20 Dec 2023 10:37:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1456527 นับตั้งแต่ปี 2560 การลงทุนของเหล่า Venture Capital หรือ VC ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าในปีหน้า เหล่า VC จะมีการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามรายงานของ Google, Temasek และ Bain & Company พบว่า เนื่องจากกระแสระดับโลก เช่น อัตราเงินเฟ้อและต้นทุนเงินทุนที่สูง ได้ส่งผลให้การใช้เงินทุนภาคเอกชนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี และจากข้อมูลของ KPMG ระบุว่า การร่วมทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดลงเหลือ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่สามของปี 2566 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2560 ขณะที่ในไตรมาสสองของปี 2566 การลงทุนของกลุ่ม VC ในภูมิภาคอยู่ที่ 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ปริมาณการลงทุนและข้อตกลงทั่วโลกก็แตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปีเช่นกัน โดยการลงทุนของ VC ทั่วโลกในไตรมาสที่สามอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2559 ในขณะที่ปริมาณข้อตกลงอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2562

อย่างไรก็ตาม Jussi Salovaara ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของ Antler มองว่า การระดมทุนของ VC จะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ขณะที่ Peng T. Ong ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของ Monk’s Hill Ventures มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีหน้าจะได้เห็นการลงทุนมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เราเชื่อว่าการลงทุนกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาสักหน่อยในการฟื้นตัว” Jussi Salovaara กล่าว

ดังนั้น หากปีหน้ามีการลงทุนจาก VC เพิ่มขึ้น แสดงว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีโอกาสเติบโตขั้นต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อดึงดูดเงินทุนในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีจำเป็นต้องแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าพวกเขามีเส้นทางสู่การทำกำไรที่ชัดเจนและเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมานักลงทุนมีความรอบคอบมากขึ้นเกี่ยวกับตัวเลือกการลงทุน

สำหรับเงินทุนพร้อมใช้ของกลุ่ม VC เพิ่มขึ้นจาก 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เป็น 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปี 2565

Source

]]>
1456527
คุยกับ 2 ผู้บริหาร GCAP Gold กับมุมมองราคาทองคำ ทำไมถึงยังเป็นสินทรัพย์น่าลงทุนระยะยาวได้ https://positioningmag.com/1452197 Sun, 19 Nov 2023 07:52:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1452197 Positioning พาไปคุยกับ 2 ผู้บริหารของบริษัท จีแคป จำกัด หรือ GCAP Gold ที่จะมาเปิดเผยถึงพฤติกรรมการลงทุนทองคำของคนไทย ปัจจัยอะไรที่ทำให้ราคาทองคำขึ้น-ลง การปรับตัวของบริษัทจากที่เป็นผู้ทองคำรายใหญ่ของไทยได้หันมาเปิดบริการออมทองคำด้วย

วลีที่เราอาจเคยได้ยินบ่อยอย่างมีเงินเค้านับเป็นน้อง มีทองเค้านับเป็นพี่ จะเห็นได้ว่าคนไทยกับทองคำมีความสัมพันธ์มาเป็นระยะเวลานานแล้ว แม้ว่าเวลาผ่านไปทองคำถือเป็นสินทรัพย์อันดับต้นๆ ที่คนไทยให้ความนิยมในการลงทุน ต่อจากการเก็บออมเงินในธนาคาร

แต่หลายคนสงสัยไม่น้อยว่าปัจจัยทำให้ราคาทองคำขึ้นลงในปัจจุบันมีอะไรบ้าง นอกจากนี้ถ้าอยากจะเริ่มออมทองคำนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง

Positioning พูดคุยกับ ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ ประธานกรรมการบริหารของ GCAP Gold รวมถึง ชัยวัฒน์ สามัคคีนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GCAP GOLD ซึ่งเป็น 2 ผู้บริหารรุ่นใหม่ของบริษัท ในหลากหลายมุมมองเกี่ยวกับทองคำรวมถึงธุรกิจของบริษัท

ชัยวัฒน์ สามัคคีนิชย์ – ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GCAP GOLD (ภาพจากบริษัท)

วิวัฒนาการของการลงทุนทองคำ และปัจจัยขึ้นลงของราคาทองคำ

ธนพิศาล และ ชัยวัฒน์ กล่าวว่าปัจจุบันการลงทุนในทองคำปัจจุบันมีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นเยอะมาก มีหลายผลิตภัณฑ์หลายๆ นักลงทุนสามารถลงทุนในหลายช่องทางได้ และมองว่าตอบโจทย์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ การซื้อทองคำแทง ตลาดซื้อขายล่วงหน้าทองคำ หรือแม้แต่การลงทุนซื้อทองคำแบบซื้อราคาเฉลี่ย (DCA) ที่สามารถออมทองคำได้ตั้งแต่ไม่กี่กรัม จนถึงมูลค่าหลายบาท

2 ผู้บริหารของ GCAP Gold ยังมองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนลงทุนในทองคำคือ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์สำคัญในโลก คนจะมองว่าอะไรที่เซฟสุด ซึ่งทองคำเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่เป็นคำตอบดังกล่าว

ธนพิศาล ยังกล่าวว่า เวลาโลกเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ราคาทองคำกลายเป็นกระชากขึ้นและไม่เคยกลับมาที่เดิมเลย และเขายังให้มุมมองว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐอเมริกามุมมองของนักลงทุนกับทองคำเปลี่ยนไปอย่างมาก เขายังให้ความเห็นว่าตอนนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่า เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และมองว่าค่าเงินบาทจะอยู่ระดับนี้ 

ขณะเดียวกับ 2 ผู้บริหารมองว่าช่วงเศรษฐกิจถดถอย คนจะสนใจทองคำมากขึ้น ยิ่งมีข่าวสารน่ากังวล ราคาทองคำมักจะมีราคาขึ้น

ขณะที่ชัยวัฒน์ ได้กล่าวถึงปัจจัยราคาทองคำว่า ตอนนี้ตลาดทองคำเดายากมาก แต่เขาเชื่อว่าระยะยาวราคาทองคำน่าจะขึ้นแน่ๆ ขณะเดียวกันทิศทางราคาทองคำมีช่วงที่ราคาซึมๆ ก็มี ไม่ได้มองว่าจะขึ้นตลอด มันมีช่วงเวลาของมัน

ชัยวัฒน์ยังกล่าวเสริมว่า ตอนนี้ตลาดถือว่าเงียบมาก ตอนนี้นักลงทุนเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ขึ้น ตลาดหุ้นก็ขึ้น เขายังมองว่าปีหน้าตลาดสหรัฐฯ จะซบเซาหรือไม่ ต้องดูสภาวะดัชนีค่าเงินดอลลาร์ ถ้าหากดัชนีอ่อนค่าลงอาจไปราคาทองคำอาจกลับมาได้

ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ – ประธานกรรมการบริหารของ GCAP Gold (ภาพจากบริษัท)

คนไทยกับการออมทอง

ชัยวัฒน์มองว่าคนไทยชินกับการออมทองมานานแล้ว ตั้งแต่ทองคำในอดีตมีราคาที่ถูกมากสามารถซื้อทองคำสลึงนึงได้ง่ายๆ แต่ปัจจุบันทองคำสลึงนึงถือว่าแพงมาก คนเริ่มศึกษาว่าทำไมทองคำถึงราคาขึ้น คนไทยมีวินัยออมทองคำ โดยลงทุนทีละเล็กละน้อย โดยเขาสังเกตว่าในช่วงของโควิดคนไทยเอาทองคำที่เก็บออมไว้มาขายเยอะมาก

เขายังชี้ว่าคนไทยมีพฤติกรรมออมมานานแล้ว ปัจจุบันวัยรุ่นก็ออมทองคำมากขึ้น นอกจากนี้คนไทยเองยังซื้อ Gift Card ทองคำให้มอบให้คนที่รัก หรือแม้แต่พ่อแม่ด้วย

เขายังชี้ว่าทองคำในฐานะสินทรัพย์อาจไม่หวือหวาเหมือนหุ้น แต่ทองมีความเสี่ยงแต่ไม่มากเท่า มองว่าในกรณีที่แย่สุดราคาของทองคำจะไม่ลดลงมาเหลือ 0 บาทเหมือนหุ้นรวมถึงตราสารหนี้ที่หลายคนมองว่ามีความปลอดภัยก็ยังมีโอกาสไม่ได้รับเงินต้นคืน

นอกจากนี้ทองคำสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ไว เขายังชี้ว่าพฤติกรรมของคนไทยชอบซื้อทองคำรูปพรรณ แต่ชัยวัฒน์ก็แนะนำว่าถ้าหากจะลงทุนแล้ว แนะนำให้เป็นทองคำแท่งเนื่องจากจะเสียค่าธุรกรรมน้อยกว่า และตลาดมีสภาพคล่องมากกว่า

ผู้บริหารของ GCAP Gold มองว่าควรจะลงทุนทองคำในรูปแบบเงินบาทจะปลอดภัยสุด – ภาพจาก Shutterstock

ชัยวัฒน์ อยากจะแนะนำเพื่อการออม มองว่าซื้อหรือลงทุนในทองคำแบบเป็นเงินบาทจะปลอดภัยสุด เขามองว่าการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเหมือนกับมีคนถือหางให้ ทำให้ราคาทองคำที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทไม่เหวี่ยงมากเมื่อเทียบกับราคาทองคำในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ชัยวัฒน์มองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเองไม่แย่ แต่ในระยะยาวแล้วเขาเองให้มุมมองว่าค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนค่าในระยะยาวจากโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยเอง โอกาสค่าเงินบาทระยะยาวโอกาสแข็งค่าน้อยมาก เขาชี้ว่าราคาทองคำในรูปเงินบาทตอนนี้น่าจะขึ้นไปเรื่อยๆ

ในช่วงที่ผ่านมานั้น 2 ผู้บริหารมองว่าพฤติกรรมอีกอย่างของคนไทยคือถ้าหากเศรษฐกิจดีคนก็ซื้อทองคำไว้ เศรษฐกิจที่ไม่ดีคนซื้อน้อยลง แต่ปัญหาคือจะปรับตัวได้กับราคาทองคำที่แพงได้หรือเปล่า ถ้าคนปรับตัวกับราคาทองที่ยืนราคาได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร นอกจากนี้คนชอบโทรมาถามที่บริษัทตอนที่ราคาทองคำนั้นแพงที่สุด

สำหรับเรื่องการออมทองคำนั้น ทั้ง 2 อยากให้ออมทองกับบริษัทที่มีความมั่นคง แนะนำให้ดูคู่ค้าว่าเป็นใคร ต้องดูให้ดี และต้องระวังการโดนหลอกจากมิจฉาชีพด้วย เช่น หลอกว่าลงทุนในราคาทองคำถูกกว่า 20% แต่รับเงินปีหน้า แบบนี้ถือว่าโดนหลอก เป็นต้น

ผู้บริหารของ GCAP Gold ชี้ว่าปัจจัยที่น่าติดตามมองในปี 2024 คือเรื่องของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา – ภาพจาก Shutterstock

ธุรกิจของ GCAP Gold

2 ผู้บริหารรุ่นใหม่ของ GCAP Gold ได้กล่าวว่าบริษัทประกอบธุรกิจซื้อขายทองคำแท่ง และเป็นผู้เล่นรายใหญ่ 1 ใน 5 ของตลาดทองคำในประเทศไทย และมีโรงหล่อทองคำที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ปัจจุบันธุรกิจบริษัทมีทั้งค้าปลีกโดยส่งทองคำให้ตามร้านทอง รวมถึงดูแลรายย่อย จากปริมาณการค้าทองเพิ่มมากขึ้น ตามเทรนด์ราคา

ชัยวัฒน์ ได้กล่าวว่าปัจจุบันทองคำนั้น มีแหล่งที่มาหลักๆ คือมาจากประเทศออสเตรเลียซึ่งมีเหมืองทองคำกับโรงหล่อทองคำ รวมถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นแหล่งรวมโรงหล่อทองคำ ทั้ง 2 นั้นถือเป็นแหล่งสำคัญของทองคำของโลก

ทั้ง 2 ผู้บริหารยังกล่าวว่า GCAP Gold ให้ความสำคัญกับลูกค้า คำไหนคำนั้น ทำธุรกิจตรงไปตรงมาเหมือนกับสมัยรุ่นของคุณปู่ ซึ่งทำให้ธุรกิจในปัจจุบันนั้นคงอยู่ได้

สำหรับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจนั้น ชัยวัฒน์กล่าวว่า สมัยคุณพ่อ คือธุรกิจทองคำสมัยนั้นจะทำในสิ่งที่ทุกคนถนัด คือใครถนัดนำเข้าก็นำเข้า ใครถนัดส่งออกก็ส่งออก และสมัยก่อนการสั่งซื้อทองคำยังไม่มาก ก็มีคนช่วยจดคำสั่งซื้อ แต่เวลาผ่านไปก็นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ทำให้รับคำสั่งซื้อ-ขาย ได้มาก

นอกจากนี้บริษัทขยายเข้ามาในธุรกิจออมทองคำมาเป็นเวลา 7-8 ปีแล้ว มีลูกค้าออมทองคำกับบริษัทมากถึง 4,000 กว่าราย

2 ผู้บริหารยังกล่าวว่าตอนนี้ได้ทำแอปพลิเคชันตัวใหม่ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า มองว่าคนสนใจทองคำมากกว่านี้ เพื่อเตรียมรับลูกค้า และรองรับปริมาณธุรกรรมที่มากขึ้น ภายใน 3 ปีน่าจะโตได้อีกเท่าตัว และตอนนี้ราคาทองคำขยับตลอด บริษัทต้องดูแลลูกค้า ตลาดเปลี่ยนไป ราคาผันผวนมาก มองปัจจัยดังกล่าวเป็นนทั้งโอกาสและการปรับตัว

]]>
1452197
ทรีนีตี้ มองปีหน้าหุ้นไทยชนะหุ้นโลกได้ ให้เป้าหมายดัชนีอยู่ที่ 1560 – 1650 จุด แนะนำลงทุนหุ้นปันผลสูง https://positioningmag.com/1449290 Wed, 25 Oct 2023 15:53:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1449290 บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด มองเทรนด์การลงทุนปีหน้าว่าหุ้นไทยชนะหุ้นโลกได้ ให้เป้าหมายดัชนีอยู่ที่ 1560 – 1650 จุด แนะนำลงทุนหุ้นปันผลสูง โดยกลุ่มที่แนะนำลงทุนได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มโทรคมนาคม

วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนโค้งสุดท้ายของปีว่า ปีนี้หุ้นไทยทำผลตอบแทนได้แย่กว่าตลาดหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากปัจจัยของผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากธนาคารกลางต่างๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ยังมองว่าอีกสาเหตุสำคัญของหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่แย่คือปริมาณเงินตามความหมายแคบ (M2) ของไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลทำให้สภาพคล่องในประเทศไทยลดลง

ขณะเดียวกันเขามองว่าในช่วงปลายปี เม็ดเงินที่ลงทุนในตลาดหุ้นประเทศต่างๆ ในเอเชียจะมีความผันผวนมากทั่วภูมิภาค

สำหรับปัจจัยบวกในการลงทุนในช่วงหลังจากนี้

  1. คาดการณ์การเติบโตของกำไรต่อหุ้นหรือ EPS ของหุ้นไทยเติบโตที่ 15% ในปี 2024 สู่ระดับ 113 บาทต่อหุ้น จากที่เติบโตติดลบ -5.4% ในปี 2023
  2. มีโอกาสมากกว่า 60% ที่ Fed Fund Rate ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ 5.25-5.5% และมีโอกาสต่ำกว่า 40% ที่ Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในช่วงเดือน ธ.ค. 2023
  3. ทาง ทรีนีตี้ คาดการณ์ GDP ไทยเติบโตที่ 3.6% ในปี 2024 เมื่อเปรียบเทียบกับ 3% ในปี 2023 ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น จีน สหรัฐ Euro ต่างมีการเติบโตที่ถดถอยในปี 2024 เมื่อเปรียบเทียบ 2023
  4. ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อแนวโน้มอุปสงค์ภายในประเทศ สาเหตุหลักจากมาตรการลดค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการบริโภค
  5. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริง (เมื่อลบเงินเฟ้อแล้ว) หรือ Real Bond Yields ของไทยจะสูงกว่าของสหรัฐฯ เกือบ 0.5% ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้น
วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล – กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด (ภาพจากทางบริษัท)

ทางด้านของปัจจัยลบในการลงทุนนั้น เช่น อัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลก ยังต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มาตรวัดความเสี่ยงตลาดหุ้นผ่าน VIX Index บ่งบอกว่าตลาดหุ้นโลกยังไม่ได้รวมความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเต็มที่ รวมถึงความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ปี 2024 บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ยังมองตลาดหุ้นไทยยังเป็นบวก เนื่องจากมูลค่าของตลาดหุ้นไทยถูกสุดในรอบ 15 ปี (ในเทอม PBV) และมองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยทำจุดสูงสุดไปแล้ว อาจมีการปรับลดดอกเบี้ยในกลางปีหน้าได้ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหุ้นไทยในปีหน้าจะชนะผลตอบแทนหุ้นโลกได้

ตรงข้ามกับตลาดพันธบัตรของไทยในปี 2024 บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด คาดว่านักลงทุนอาจทำการขายออก เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลอินเดียเข้ามาอยู่ในดัชนีพันธบัตรรัฐบาลของ J.P. Morgan Government Bond Index ทำให้สัดส่วนของไทยที่แต่เดิมอยู่ที่ 10% ลดลงเหลือแค่ 8% เท่านั้น คาดว่าเม็ดเงินจะไหลออกราวๆ 170,000 ล้านบาท

สำหรับธีมการลงทุนในไตรมาส 4 นี้ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่มที่จ่ายเงินปันผลในอนาคตสูง และค่า P/E ต่ำ รวมถึงเป็นหุ้นที่มีความผันผวนน้อยกว่าตลาด โดยกลุ่มที่แนะนำลงทุนได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มโทรคมนาคม

]]>
1449290
ยับเยิน! ‘SoftBank’ ขาดทุน 2.16 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลกร่วงหนัก https://positioningmag.com/1395597 Tue, 09 Aug 2022 08:03:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1395597 นับเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่ของหน่วยลงทุน Vision Fund ของ Softbank บริษัทโทรคมนาคมสัญชาติญี่ปุ่น เนื่องจากผลงานการลงทุนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (เมษายน-มิถุนายน) ขาดทุนอย่างหนักเนื่องจากหุ้นด้านเทคโนโลยียังคงได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

กองทุน Vision Fund ของบริษัท SoftBank ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 เพื่อลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี ขาดทุนหนัก ถึง 2.16 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2.93 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นการขาดทุนหนักสุดอันกับ 2 ของกองทุน Vision Fund โดยการขาดทุนดังกล่าวสวนทางกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่สามารถกวาดกำไรสุทธิถึง 7.61 แสนล้านเยน

สาเหตุที่ทำให้ Vision Fund ขาดทุนหนักมาจากการตกต่ำของหุ้นเทคโนโลยีที่เคยมีการเติบโตสูง อันเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางอื่น ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

“เราเห็นการลดลงของราคาหุ้นของบริษัทพอร์ตโฟลิโอที่หลากหลาย ซึ่งสาเหตุหลักมาจากแนวโน้มราคาหุ้นทั่วโลกที่ลดลงเนื่องจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น” Masayoshi Son ผู้ก่อตั้งของ SoftBank และผู้อยู่เบื้องหลัง Vision Fund กล่าว

Masayoshi ยังกล่าวอีกว่า จากนี้บริษัทจะเข้าสู่โหมด ป้องกัน และ เข้มงวด ในด้านการลงทุนมากขึ้น เพื่อเก็บเงินสดไว้ใช้ในช่วงภาวะขาลงทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ปีงบประมาณที่ผ่านมาขาดทุนไปแล้วถึง 3.5 ล้านล้านเยน เนื่องจากบริษัทลงทุนในสตาร์ทอัพมากกว่าที่ควรจะเป็น และการประเมินมูลค่าธุรกิจก็อยู่ในภาวะฟองสบู่

Source

]]>
1395597
เทรนด์ WealthTech โตก้าวกระโดด ‘StashAway’ ลุยภารกิจพาคนไทยลงทุนต่างประเทศ https://positioningmag.com/1383543 Sun, 01 May 2022 03:05:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383543 ปัจจุบันการ ‘ลงทุนในสินทรัพย์’ นั้นง่ายเเละรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้คน ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง สามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งเเต่เงินก้อนน้อยๆ พร้อมโอกาสในการเเสวงหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ

เเม้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เเต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย เเละการมาของ ‘WealthTech’ เหมือนจะเป็น ‘ตัวช่วย’ เเละ ‘ทางเลือก’ ให้ก้าวผ่านกำเเพง
อุปสรรคการลงทุนเเบบเดิมๆ ที่มีมาในอดีตได้ 

วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงภาพรวมของอุตสาหกรรม WealthTech กับ “ทิม – ยศกร นิรันดร์วิชย” CFA กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ StashAway แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนเจ้าใหญ่ในเอเชีย พร้อมเป้าหมายที่หวังจะเเก้ Pain Point เปิดประตูให้คนทั่วไปเข้าถึงการลงทุน เเละเเผนกลยุทธ์การก้าวสู่ top of mind ในตลาดไทย 

WealthTech เปลี่ยนเกมการลงทุน 

ยศกร เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงความสำคัญของ WealthTech ต่อผู้คนทั่วโลกให้ฟังว่า เป็นเทคโนโลยีการลงทุนบริหารความมั่งคั่งที่จะมาดิสรัปวงการผู้จัดการกองทุน โดยมีหน้าที่เเละบทบาทหลักๆ 4 ประการ คือ

  • ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย

สมัยก่อนผู้คนอาจมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว รวมถึงการเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเงินที่ต้องมีค่าใช้จ่าย เเต่ทุกวันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงคำเเนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเเละข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้าง ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ทำให้เราเข้าถึงการลงทุนได้จากแอปพลิเคชันมือถือ

  • มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในยุคที่มีข้อมูลอยู่มหาศาล เทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยทำให้เราสามารถวิเคราะห์การลงทุนได้กว้างเเละลึกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานของข้อมูลได้ เพราะศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของการลงทุนคืออารมณ์ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตัดสินใจลงทุนจากอารมณ์มากกว่าการยึดถือด้านข้อมูลเป็นหลัก

  • ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง

เเพลตฟอร์ม Wealth Tech ทั่วโลกนั้นจะมีอัตราต่ำกว่าผู้เล่นดั้งเดิม ซึ่งบางเจ้าถูกลงกว่า 10 เท่า โดยค่าธรรมเนียมนั้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในระยะยาวที่จะมีผลโดยตรงต่อค่าตอบเเทน

  • เข้าถึงได้มากขึ้น

เทคโนโลยีทำให้ผู้คนเริ่มลงทุนได้โดยไม่ต้องมีขั้นต่ำ เเละใช้จำนวนเงินที่ไม่สูงมากจึงเข้าถึงคนหมู่มากได้ในเวลาที่รวดเร็ว

โดยกระเเสของ ‘WealthTech’ เริ่มต้นมาจากโซนสหรัฐอเมริกาเเละเเคนาดา ก่อนที่จะเข้ามายังเอเชีย ซึ่งในช่วงเเรกผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพหรือบริษัทเทคฯ เเต่ปัจจุบันเริ่มเห็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ระดับโลก ขยับมาเข้าซื้อกิจการบริษัท WealthTech มากขึ้น

อีกเทรนด์ที่มาเเรงก็คือคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งบริษัท WealthTech ทั้งหลายต่างให้ความสนใจมากขึ้น เเละมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ เกี่ยวกับคริปโตฯ อย่างเช่น StashAway ที่สิงคโปร์ก็มี Crypto Offering มากขึ้น

ในประเทศไทย เราก็หวังว่าจะเอาเข้ามาได้ในเร็วๆ นี้ เเต่ก็ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตต่างๆ ก่อน

Photo : Shutterstock

เงินทุนไหลเข้า เติบโตอย่าง ‘ก้าวกระโดด’ 

ภาพรวมอุตสาหกรรม WealthTech มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เเละมีการประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตได้ถึง 15-35%

บางสำนักข่าวระบุว่า WealthTech ทั่วโลกมีการบริหารเงินทั้งหมดอยู่ราว 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขจากทาง CNBC ระบุว่า เเค่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา WealthTech ก็มีการบริหารเงินรวมกว่า 1.1 ล้านล้าน
เหรียญเเล้ว (คิดเป็นกว่า 2 เท่าของจีดีพีไทยทั้งประเทศ)

ส่วนในเเง่ของการระดมทุนนั้น เมื่อย้อนไปช่วงทศวรรษก่อนต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะนักลงทุนยังไม่ค่อยเข้าใจใน Business Model เเต่ตอนนี้กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

โดยในปี 2019 อุตสาหกรรม Wealth Tech มียอดการระดมทุนที่ราว 3.5 พันล้านเหรียญ ต่อมาในปี 2021 มีการเติบโตเเบบก้าวกระโดด ด้วยยอดการระดมทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ด้านบวกในวิกฤตโควิด

ในช่วงเเรก StashAway ระดมทุนได้ยาก เเต่ช่วงหลังๆ มานี้ เรากลายเป็นฝ่ายที่เป็นผู้เลือกนักลงทุน สะท้อนให้เห็นเกมธุรกิจที่เปลี่ยนไป

ด้านการเเข่งขันนั้น มีผู้เล่นรายใหม่กระโจนเข้ามาในวงการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย StashAway จะมีคู่เเข่งหลักเฉลี่ยประมาณ 2-5 บริษัทในเเต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดใหญ่อย่างสิงคโปร์ ก็จะมีผู้เล่นหลัก 3-4 บริษัท ส่วนในไทยมีประมาณ 4-5 บริษัท

ในทุกวิกฤตใหญ่ของโลก จะเป็นช่วงที่คนเราสนใจเเละพิจารณาวางเเผนการเงินมากที่สุด จากผลกระทบทางรายได้เเละความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต จึงต้องคิดหาทางว่าจะบริหารการเงินอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นวิกฤต เเละรองรับเหตุที่ไม่คาดฝันอื่นๆ ที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย

StashAway ปักธงเเก้ Pain-Point การลงทุน 

สำหรับ StashAway เป็นเเพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายเเรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่เกิดขึ้นจาก Pain-Point ของผู้ก่อตั้งอย่าง Michele Ferrario ที่ต้องการมองหาโซลูชันการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง อีกทั้งยังต้องเจอค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูงเเละตัวเลือกน้อย

เขาจึงมีเเรงบันดาลใจที่จะสร้างเเพลตฟอร์มเพื่อเเก้ไขปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา โดยร่วมมือผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน คือ Freddy Lim และ Nino Ulsamer ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเเละมีประสบการณ์ด้านการบริหารสินทรัพย์ระดับโลก ต่อยอดขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

StashAway เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มบริหารการลงทุนในรูปแบบแอปพลิเคชัน ที่เปิดให้นักลงทุนเข้าถึงสินทรัพย์ทั่วโลกได้ผ่านการลงทุนใน ETF โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเพียง 4 ปี ซึ่งเร็วกว่าที่แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายใหญ่ของโลกอย่าง Betterment และ Wealthfront

เปิดให้บริการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เเละมีพนักงานราว 200 คน ผ่านการระดมทุนมาแล้ว 6 รอบ (Series D) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Venture Capital ระดับโลกอย่าง Sequoia Capital India, Eight Roads Ventures และ Square Peg เเละมีทุนชำระแล้ว (Paid-Up Capital) รวม 61.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2021)

อุตสาหกรรม Wealth Tech นั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มากๆ เเค่ใน 5 ประเทศที่เราอยู่ก็มี financial wealth มูลค่ามากกว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญเเล้ว จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกเยอะมาก เเละนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดย StashAway ตั้งเป้าจะเป็นเเพลตฟอร์มอันดับหนึ่งในเอเชียให้ได้

วางกลยุทธ์สู่ Top of Mind ของคนไทย 

StashAway จะเน้นชูจุดเด่นด้าน ‘กลยุทธ์การลงทุน’ ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก การปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่เสมอ วิเคราะห์สัญญาณของตลาดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมลงทุนด้วยความเสี่ยงที่เหมาะสม มีความหลากหลาย เเละค่าธรรมเนียมต่ำ

การที่คนไทยมีสัดส่วนการถือครองเงินสดถึง 47% ขณะที่ในสหรัฐฯ ประชาชนจะถือเงินสดเพียง 14% ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงการลงทุนของคนไทย โดยการถือเงินสดนั้นมีความเสี่ยงว่าจะมูลค่าลดลง หากต้องเจออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยส่วนใหญ่ก็มีเงินไม่เพียงพอกับการเกษียณ เเละมีการลงทุนกระจุกตัวเเค่ในตลาดไทย เหล่านี้จึงต้องมีการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจด้าน wealth management ให้มากขึ้น 

ตลาดไทยค่อนข้างใหญ่ มูลค่าเฉพาะกองทุนรวมมีถึง 5 ล้านล้านบาท เเละยังมีคนถือเงินสดอยู่อีกกว่า 47% นับเป็นโอกาสของธุรกิจ WealthTech ดังนั้นการเเข่งขันที่ดุเดือดจึงเป็นเหมือนการร่วมกันสร้างตลาดให้ใหญ่ขึ้น มีจุดเด่นที่เเตกต่างกันไป เป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนมากขึ้น” 

โดยมีเเนวโน้มที่คนไทยจะหันไปลงทุนหุ้นต่างประเทศมากขึ้น เพราะหากเอาสินทรัพย์มาถือไว้ที่ตลาดไทยจะเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังซบเซา เนื่องจากพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นหลักจึงฟื้นตัวยาก อีกทั้งยังไม่มีหุ้นบิ๊กเทคคอมพานีระดับโลก

หลัง StashAway เปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการมาตั้งเเต่ช่วงเดือนก.ย. 2021 ผลตอบรับดีกว่าที่คาด โดยจากนี้ จะมุ่งกลยุทธ์การตลาดไปที่การสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ พร้อมให้ความสำคัญกับทีมดูเเลลูกค้าที่จะคอยซัพพอร์ตอยู่เสมอ ทำการตลาดเพื่อเพิ่มการรับรู้ผ่านทางออนไลน์เเละออฟไลน์ไปพร้อมๆ กัน

เราให้ความสำคัญกับทีมเเละการพัฒนาคนมากๆ เลือกคนที่ถูกเเละใช่ ขั้นต่ำต้องสัมภาษณ์กัน 4 รอบ เราไม่ได้เน้นหาคนที่มีประสบการณ์ตรง เเต่เน้นหาคนเก่ง เชื่อใน mission ของบริษัทเเละมีไฟในการทำงาน พร้อมมี Growth Mindset ที่จะเติบโต ให้ความยืดหยุ่นอย่างการให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เเละลากี่วันก็ได้ในหนึ่งปี เน้นไปที่ความรับผิดชอบในงานเป็นหลัก

เป้าหมายของ StashAway ในตลาดไทย คือการได้เข้าไปอยู่ใน top of mind ของคนไทย เป็นเพื่อนคู่คิดช่วยให้คนไทยลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น พร้อมมีการวางเเผนการเงินที่ดีเพียงพอต่อการเกษียณ

โดยผู้บริหาร StashAway มีคำเเนะนำถึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนว่า

เราต้องตระหนักว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องทำ ให้เงินของเราทำงานไปพร้อมๆ กับที่เราทำงาน โดยควรจะเน้นไปที่การลงทุนระยะยาว ด้วยพลังของผลตอบเเทนทบต้นซึ่งจะต้องใช้เวลา พร้อมกระจายการลงทุน อย่าเก็บไว้ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป เลือกระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม อย่าหลอกตัวเอง ซิ่งหนักก็อาจจะเจ็บได้ เเละต้องรักษาวินัยในการลงทุนอยู่เสมอ

 

 

 

]]>
1383543
‘หนี้รัฐบาล’ ทั่วโลกพุ่งไม่หยุด โควิด-เงินเฟ้อ-สงคราม กดดันหลายประเทศต้องกู้เพิ่ม https://positioningmag.com/1380944 Thu, 07 Apr 2022 11:09:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1380944 ปริมาณหนี้สาธารณะทั่วโลกปีนี้ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.5% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 71.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงาน Sovereign Debt Index ประจำปีครั้งที่ 2 โดย Janus Henderson บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ในอังกฤษคาดการณ์ว่า ระดับหนี้ของรัฐบาลต่างๆ จะเพิ่มขึ้น 9.5% จากการกู้ยืมของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นเเละจีนเป็นหลัก เเละประเทศอื่นๆ ก็จะมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ในปี 2021 รัฐบาลทั่วโลกมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 7.8% หรือราว 65.4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ต้นทุนภาระหนี้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.01 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพียง 1.6%

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนภาระหนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ ราว 14.5% คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ 1.16 ล้านล้านดอลลาร์

การระบาดของโควิดส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการกู้ยืมของรัฐบาล และผลกระทบจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่โศกนาฏกรรมในยูเครนยังมีแนวโน้มที่จะกดดันรัฐบาลตะวันตกให้กู้ยืมเงินมากขึ้น เพื่อใช้เป็นทุนในการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศที่เพิ่มขึ้น Bethany Payne ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนพันธบัตรโลกของ Janus Henderson กล่าว

รัฐบาลเยอรมนี ให้คำมั่นแล้วว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศให้มากกว่า 2% ของ GDP นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน

ด้านรายงานการกู้ยืมทั่วโลกล่าสุดจาก S & P Global Ratings ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประเมินว่า การกู้หนี้สาธารณะชุดใหม่ในปีนี้อาจจะทะลุ 10.4 ล้านล้านดอลลาร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดการระบาดใหญ่เกือบหนึ่งในสาม

Karen Vartapetov นักวิเคราะห์สินเชื่อจาก S & P Global Ratings ระบุว่าเราคาดว่าการกู้ยืมจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความต้องการหมุนเวียนของหนี้ที่สูง เช่นเดียวกับความท้าทายของการดำเนินนโยบายการคลังหลังการระบาดใหญ่ อัตราเงินเฟ้อที่สูง ภูมิทัศน์ทางสังคมและการเมืองที่มีการแบ่งขั้ว

โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลก คาดว่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อความต้องการเงินทุนของรัฐบาลมากขึ้น ในขณะที่เงื่อนไขทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนเงินทุนของรัฐบาลสูงขึ้นไปอีก

 

 

ที่มา : CNBC

]]>
1380944