ส่องกระเเสลงทุน ‘ฟินเทค’ เมกะเทรนด์ใกล้ตัว เปลี่ยนการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่

เทคโนโลยีการเงินหรือที่เราเรียกกันว่า  ‘ฟินเทค’ (Fintech) นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เเต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ผ่านเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำบ่อยๆ อย่างการโอน ซื้อ จ่าย ถอน ทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ไปจนถึงการลงทุนในสินทรัพย์ที่ง่ายเเละรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก 

วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึง ‘เมกะเทรนด์’ ที่กำลังมาแรงเเละช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างฟินเทค กับ “ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จิตตะ เวลธ์ จำกัด

โควิด คือจุดเปลี่ยนสำคัญของ ‘ฟินเทค’ 

เขาเล่าย้อนให้ฟังว่า ในอดีต ‘กลุ่มธุรกิจการเงิน’ มีปรับตัวเเละประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาเรื่อยๆ อย่างการทำตู้เอทีเอ็ม บัตรเครดิตเเละโมบายเเบงก์กิ้ง เเต่ก็ยังมีอุปสรรคใหญ่คือคนไม่กล้าใช้’ จึงต้องอาศัยความเชื่อมั่นเเละให้เวลาช่วยให้ผู้คนเริ่มคุ้นชิน

เเต่ในช่วงปีที่ผ่านมา การมาของโควิด-19 นับเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทาง ทำให้เหล่าสตาร์ทอัพ บริษัทต่างๆ รวมไปถึงธนาคารยักษ์ใหญ่ต้องปรับกลยุทธ์มามุ่งเน้นการทำธุรกรรมออนไลน์กันมากขึ้น

ผู้คนเริ่มเข้าใจการใช้เเอปพลิเคชัน เปิดบัญชีออนไลน์หรือทำ KYC ยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ โอนเงินออนไลน์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การเติบโตในช่วงปีที่ผ่านมาในธุรกิจฟินเทค จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปได้อีกในช่วงหลายปีข้างหน้า

เมื่อเรื่องความเชื่อมั่นถูกปลดล็อกเเล้ว ก็จะขยายไปสู่การทำอย่างอื่นได้เเพร่หลายมากขึ้น อย่างการที่คนกล้าโอนเงินออนไลน์ จากนั้นก็จะกล้าซื้อของออนไลน์ เเละต่อๆ ไปก็จะกล้าลงทุนออนไลน์ วางใจทำธุรกรรมสำคัญ เเบบไม่ต้องเจอหน้ากันได้

สำหรับประเทศไทย หนึ่งในนวัตกรรมเข้ามาทำให้คนไทยเข้าถึงฟินเทคมากขึ้นก็คือพร้อมเพย์’ ที่มีการดำเนินการมาตั้งเเต่ปี 2559 เเละปัจจุบันก็มีการใช้อย่างเเพร่หลายในทุกพื้นที่ โดยมีจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นจาก 50 ล้านรายการ ในปี 2560 มาสู่ระดับ 5.8 พันล้านรายการในปี 2564 พร้อมมูลค่าธุรกรรมที่เเตะ 20 ล้านล้าน

รวมไปถึงเเอปฯ เป๋าตัง ที่มีผู้ใช้มากกว่า 40 ล้านคน จากอานิสงส์โครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งมีส่วนทำให้คนไทยจำนวนมาก ‘เปิดใจเเละคุ้นชิน’ กับการใช้เเพลตฟอร์มฟินเทคที่จะเกิดขึ้นมาในระยะต่อไปได้ดี

จากรายงาน e-Conomy SEA Report 2021 มีการประเมินว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศ ‘อาเซียนจะมีมูลค่าถึง 3.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 และมีโอกาสแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในปี 2030 ปัจจุบันยอดรวมของผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งภูมิภาค และที่สำคัญคือ “ในจำนวนนี้กว่า 8 ใน 10 คน เคยสั่งซื้อของออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง”

Photo : Shutterstock

เงินลงทุนจากทั่วโลก ดันสตาร์ทอัพ ‘เกิดใหม่’

ในเเง่การลงทุนด้านสตาร์ทอัพของกลุ่มฟินเทคนั้น เติบโตอย่างก้าวกระโดดมาตั้งเเต่ปี 2020 ต่อเนื่องมายังปี 2021

โดยในปี 2021 มีสตาร์ทอัพฟินเทคมากกว่า 2.6 หมื่นรายทั่วโลก เเบ่งคร่าวๆ เป็นฝั่งอเมริกา 1 หมื่นราย ซึ่งเติบโตมาจากปี 2019 กว่าเท่าตัว ขณะที่ฝั่งยุโรป ตะวันออกกลางเเละเเอฟริกา มีการเติบโตจาก 3 พันกว่าราย มาเป็น 9 พันกว่าราย ส่วนในเอเชียเเปซิปิก มีการเติบโตจากปี 2019 ที่ 2.8 พันราย มาเป็น 6.2 พันราย

เมื่อมาดูด้านเงินทุนสนับสนุน พบว่าในปี 2019 มีการระดมทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคราว 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เเละในปี 2021 มีการเติบโตมากกว่าปีก่อนหน้ามากกว่า 26% เเล้ว

ยกตัวอย่างเช่น Square เเพลตฟอร์มบริการระบบจ่ายเงิน ที่มี Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter เป็นซีอีโอบริษัท , และ Coinbase ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ก็มีการเติบโตอย่างมากในช่วงโควิด-19 

ขณะเดียวกัน บริษัทเทคโนโลยีที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก ก็เริ่มขยับเข้ามาทำตลาดการเงินด้วย เช่น การที่ LINE จับมือกับธนาคารอย่าง KBank เปิดตัว LINEBK เพื่อให้บริการ Social Banking เต็มรูปแบบรายแรกของไทย หรืออีมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee ที่เพิ่มบริการสินเชื่อออนไลน์ เป็นต้น

ทิศทางฟินเทค ปี 2022 

ตลาดฟินเทคทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 127,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 โดยคาดการณ์ว่า จะเติบโตราว 25% ต่อปี และในปี 2022 จะมีมูลค่าสูงถึง 309,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากเเรงหนุนการชำระเงินดิจิทัลและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallets) ที่ได้กลายเป็นเทรนด์กระแสหลักอย่างรวดเร็ว เชื่อมโยงกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ที่การซื้อสินค้ามักจะถูกชำระผ่านออนไลน์แทนที่จะใช้เงินสด

ปูทางให้กลุ่ม ‘WealthTech’ ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมองเห็นศักยภาพในการเติบโตเมื่อคนเริ่มให้ความเชื่อมั่นว่าสามารถนำเทคโนโลยีมาจัดการการลงทุนได้ เเละมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น

ส่วนสกุลเงินดิจิทัล หรือ ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ (cryptocurrency) ที่เป็นอีกเเขนงหนึ่งของฟินเทค บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในไทยเเละทั่วโลก มีการเพิ่มฟังก์ชันการใช้สกุลเงินดิจิทัลเข้ามาในเเพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โลกคริปโตฯ ยังมีความท้าทายที่ต้องเจออีกมาก เพราะยังมีความผันผวนสูง ด้วยความที่ยังใหม่จึงยังไม่มีอดีตให้ศึกษามากนัก เเละผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความกล้าเสี่ยง

“ผมมองว่าที่ผ่านมาระบบเปิดมักจะชนะระบบปิดเสมอ คริปโตฯ ก็เป็นเหมือนระบบเปิดเเห่งโลกการเงิน ที่อาจจะชนะระบบปิดเเบบดั้งเดิมในอนาคตก็ได้ ต้องจับตาดูกันต่อไป”

โดยในปี 2022 ก็ต้องดูความเคลื่อนไหวเเละท่าทีของทางหน่วยกำกับฯ ด้วย ขณะที่หากมองภาพใหญ่ในระยะยาว อาจจะเป็นการพยายามอยู่ร่วมกันให้ได้มากกว่า

ส่วนเทรนด์การ ควบรวมของธุรกิจดั้งเดิมกับสตาร์อัพรุ่นใหม่ นั้น เขามองว่า เป็นการร่วมมือกัน เพื่อผสานจุดเด่นของกันเเละกัน เเละนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างธนาคารก็มีความน่าเชื่อถือเเละเงินทุนมหาศาล ส่วนสตาร์ทอัพก็มีความคล่องตัวเเละเทคโนโลยีที่ล้ำกว่า

ด้านทิศทางของ Metaverse โลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปิดให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ ทำกิจกรรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้ ทั้งพบปะพูดคุย ท่องเที่ยวไปจนถึงช้อปปิ้ง ก็เป็นเทรนด์ที่ทุกคนรู้จักมานาน เเต่ยังไม่เกิดขึ้นจริงอย่างเต็มรูปแบบ เเต่เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook , Microsoft เข้ามาลงสนามเเข่งในตลาดนี้ เราก็คงจะได้เห็นการเปลี่ยนเเปลงเเบบก้าวกระโดดมากขึ้น

“ต้องดูว่าทุกอย่างในโลก metaverse จะเติบโตไปได้เเค่ไหน เมื่อคนเข้ามามากขึ้นเเล้ว ก็ต้องขยายโครงสร้างพื้นฐานเเบบเสมือนจริงขึ้นมาด้วย เป็นชุมชน มีตลาดซื้อขายเเลกเปลี่ยน ซึ่งก็จะเกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย เเบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Adidas , Nike ก็พร้อมที่จะเข้าไปสร้างเเบรนด์ในโลก metaverse เพื่อเพิ่มช่องทางการขาย”

ลงทุนฟินเทค ผ่าน Thematic

สำหรับภาพรวมการลงทุนในปีที่ผ่านมา มีเรื่อง ‘เซอร์ไพรส์’ เยอะมาก ทั้งการระบาดของโควิดหลายระลอก หลายสายพันธุ์ ตลาดหุ้นจีนที่ผันผวน สหรัฐฯ ก็ยังมีอุปสรรคในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงเงินเฟ้อ ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีที่น่าจะมีการเติบโตได้ดีก็มาประสบปัญหาขาดเเคลนชิป

เเต่เมื่อมองเเบบ ‘จิตตะ เวลธ์ที่เน้นสาย VI ให้ความสำคัญพื้นฐานของธุรกิจเป็นหลัก ก็จะมองว่า ความผันผวนย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้ามีหลักการที่ถูกต้อง เราจะมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ยิ่งตลาดผันผวนก็ยิ่งสร้างผลตอบเเทนได้ดี

โดยกระแสการลงทุนในธุรกิจที่เป็นธีมโดยเฉพาะในกลุ่มเมกะเทรนด์โลก หรือที่เรียกว่า Thematic Investment ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังกลายเป็นการลงทุนกระแสหลัก เมื่อคนเริ่มมองหาการลงทุนที่เป็นธีมเเห่งอนาคต อย่างเช่น กลุ่มเทคโนโลยี , ฟินเทค , คลาวด์คอมพิวติ้ง, หุ่นยนต์ AI, เกมและอีสปอร์ต รวมไปถึงพลังงานสะอาด ซึ่งการลงทุนดังกล่าวตอบโจทย์ภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

ทั้งนี้ การลงทุนแบบ Thematic จะเน้นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจผ่าน ETF (Exchange Traded Fund) เพื่อกระจายการลงทุนไปยังหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธีมหรือเมกะเทรนด์นั้นๆ

หลังเห็นแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนแบบ Thematic ในตลาดโลก จิตตะ เวลธ์จึงได้เปิดกองทุนส่วนบุคคล Thematic มาตั้งแต่ปี 2019 เเละปัจจุบันมีธีมการลงทุนให้เลือกทั้งหมด 16 ธีม

เเละได้เปิดตัว Thematic Optimize ไปเมื่อช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์การเติบโตของธีมเมกะเทรนด์ต่าง ๆ จากหุ้นในธีมกว่า 2,500 หุ้น พิจารณาผลตอบแทน รวมถึงความเสี่ยง เพื่อ คัดเลือก 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุด ณ เวลานั้น มาจัดพอร์ตในสัดส่วนเท่า ๆ กัน และคอยดูแลปรับพอร์ตให้โดยอัตโนมัติทุก ๆ 3 เดือน โดยเริ่มต้นลงทุนที่ 1 เเสนบาท หลังจากมีกระเเสตอบรับที่ค่อนข้างดี จิตตะ เวลธ์ ก็มีเเผนจะปรับลงเงินลงทุนขั้นต่ำลงมาอีก เพื่อให้เข้าถึงฐานลูกค้าได้มากขึ้น

เมื่อฟินเทคกำลังเป็นเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเเละเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าลงทุน จากแนวโน้มที่จะเติบโตไปในระยะยาว 10-20 ปี ทางจิตตะ เวลธ์ จึงพัฒนาเทคโนโลยีมาตอบโจทย์นักลงทุนในจุดนี้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น Global X FinTech ETF (FINX) กองทุนส่วนบุคคล Thematic ธีมฟินเทค ที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเงินจากทั่วโลก ครอบคลุมมากกว่า 50 บริษัทหุ้น เช่น ประกัน การลงทุน ลงทุนระดมทุน สินเชื่อผ่านระบบดิจิทัล เช่น บล็อกเชน คริปโตเคอร์เรนซี และการบริหารความมั่นคั่งอัตโนมัติ เป็นต้น

บริหารความเสี่ยง เเละ ‘อย่าโลภเกินความรู้’

พฤติกรรมของนักลงทุนไทยในช่วงโควิด มีการเปลี่ยนเเปลงไปพอสมควร โดยในภาพรวม เขามองว่าผู้คนได้มีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนมากขึ้น เปิดใจศึกษาหุ้นต่างประเทศ รับความเสี่ยงได้มากขึ้น คนรุ่นใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เเม้จะมีคนจำนวนมากที่เลือกเพิ่มการลงทุนช่วงวิกฤต ก็ยังมีคนบางกลุ่มก็รู้สึกไม่กล้าลงทุนเเละหวั่นวิตก

โดยผู้บริหาร จิตตะ เวลธ์ มีคำเเนะนำถึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนว่า อย่างเเรกคือ ‘อย่าโลภเกินความรู้’  ต้องเข้าใจเเละรู้จักผลิตภัณฑ์ที่เราจะลงทุน กระจายความเสี่ยง ค่อยเเบ่งเงินสัก 10-20% มาลงทุนก่อน เพื่อการศึกษา หาประสบการณ์ “ตกรถขบวนนี้ก็มีขบวนใหม่มาเสมอ ดีกว่าไม่ตกรถเเต่หมดตัว”

“เราต้องเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ไม่ตื่นเต้นหรือหวั่นไหวไปกับการขึ้นลงของราคา เเต่ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ถ้าจะลงทุนให้ดี ต้องทำการบ้านเยอะๆ ศึกษาเทรนด์ ศึกษาเศรษฐกิจ เเล้วใช้จังหวะที่ผันผวนให้เป็นโอกาสในการลงทุน รวมถึงมีวินัยการลงทุน มีการปรับพอร์ตที่ถูกต้องเเละเป็นระบบ”