วัฒนธรรมจีน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 19 Feb 2024 01:21:19 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ถั่งผิง” ไลฟ์สไตล์ใหม่มาแรงในหมู่ “หนุ่มสาวชาวจีน” ที่รัฐบาลต้องการกำจัด https://positioningmag.com/1463059 Sat, 17 Feb 2024 08:05:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463059 “ถั่งผิง” เป็นคำจีนที่แปลตรงตัวจะหมายถึง “การนอนแผ่” แต่ในภาษาสแลงคำนี้จะหมายถึงการทำตัวต่อต้านวัฒนธรรม “996” เทรนด์การทำงานหนักแบบจีนที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก

ไลฟ์สไตล์ทำตัวชิลๆ แบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเอาเสียเลย ทำให้รัฐบาลจีนต้องการกำจัดไลฟ์สไตล์นี้ออกไปจากความคิดของคนหนุ่มสาวจีนยุคใหม่ให้ได้

Positioning สรุปรวบรวมที่มาที่ไปของ “ถั่งผิง” การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของหนุ่มสาวจีน และความพยายามตีกรอบใหม่ของจีน ดังนี้

========

“ถั่งผิง” วิถีชีวิตที่กลับด้านจาก “996”

  • หลายคนน่าจะเคยได้ยินวิถีการทำงานแบบ “996” ของจีนมาบ้าง สิ่งนี้หมายถึงการทำงานหนักตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ก่อนหน้านี้วิถี 996 ได้รับการยกย่องในสังคมจีนว่าเป็นการทำงานหนักที่ทำให้จีนสร้างชาติได้
  • ระหว่างการทำงานก็ไม่ใช่จะทำกันแบบสบายๆ ทุกนาทีต้องอุทิศให้งานเท่านั้น ตัวอย่างของเรื่องนี้ เช่น บริษัทจีน Wanda Group โพสต์รูปประจานพนักงานคนหนึ่งที่เล่นมือถือระหว่างพักกินข้าวเที่ยง สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจีนเข้มงวดกับพนักงานมากแค่ไหน
  • อย่างไรก็ตาม สังคมยุคใหม่เริ่มรู้สึกถึงความกดดันและไม่ยอมรับวัฒนธรรมนี้ เพราะ 996 ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาส่วนตัวเลย รัฐบาลจีนจึงออกกฎหมายให้ลูกจ้างจีนทำงานไม่เกิน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (หากเกินเวลาต้องได้ค่าโอที) แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังให้พนักงานทำงานหนักแบบเดิม
  • ในที่สุด ความกดดันก็ปริแตกออกเมื่อคำว่า “ถั่งผิง” กลายเป็นเทรนด์ฮิตขึ้นมาในโลกโซเชียลจีนช่วงปี 2021 จากความรู้สึกร่วมของหนุ่มสาวจีนทั้งสังคมที่มีต่อวัฒนธรรมการทำงานสไตล์จีนดั้งเดิม

========

ทำไมต้องทนทรมานกับการทำงานหนัก

  • “ถั่งผิง” ความหมายตรงๆ ตัวคือการนอนแผ่ แต่คำนี้เป็นสแลงที่หมายถึง การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ไม่อยากสู้ชีวิตขวนขวายเหมือนคนจีนรุ่นก่อน
  • การทำตัว “ถั่งผิง” ทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาวที่เรียนจบแล้วขออยู่แบบคนว่างงาน, เป็นฟรีแลนซ์รับจ้างเป็นงานๆ ไปขอแค่พออยู่รอดได้ รวมถึงการทำตัวแบบ ‘ไม่เต็มร้อย’ ทำงานเช้าชามเย็นชามที่บริษัท
  • เหตุผลของคนหนุ่มสาวคือ ‘บริษัทให้พนักงานทำงานหนักมากแต่ให้ค่าตอบแทนต่ำ ทำแล้วบริษัทรวยขึ้นแต่พนักงานเก็บออมเงินไปดาวน์บ้านยังไม่ได้ด้วยซ้ำ’ เมื่อชีวิตหมดหวังที่จะรวยขึ้น ผลคือหนุ่มสาวขออยู่ไปวันๆ ดีกว่า
  • ปัญหาหลายอย่างที่ประดังเข้ามา ทั้งสภาพเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาตั้งแต่เผชิญโควิด-19 ผนวกกับการทำตัว ‘ปล่อยจอย’ มากขึ้นของคนหนุ่มสาว ทำให้อัตราการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาววัย 16-24 ปี พุ่งสูงเมื่อปี 2023 ค่าเฉลี่ยคือถ้าถามคนหนุ่มสาว 5 คน จะมีอย่างน้อย 1 คนที่ไม่ได้ทำงาน

========

ไม่ทำงานบริษัทแล้วจะทำอะไร?

  • คำถามต่อมาคือหนุ่มสาวจะใช้ชีวิตรอดอย่างไร? คำตอบคือบางคนก็ใช้วิธีรับจ๊อบทำงานแค่พอประทังชีพ หรือบางคนก็เข้าบริษัทไปทำงานไปวันๆ
  • อีกเทรนด์หนึ่งที่ฮิตมากคือการประกาศตัว “ทำหน้าที่ลูกเป็นงานประจำ” หมายถึงการกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ ดูแลพ่อแม่ ทำความสะอาดบ้าน ทำกับข้าว ซื้อของ พาพ่อแม่เที่ยว ซึ่งพ่อแม่จีนบางคนก็รู้สึกดีที่ลูกหลานมาอยู่ด้วย เพราะชีวิตบั้นปลายย่อมต้องการคนดูแล
  • ส่วนคนที่มีลู่ทางประกอบอาชีพแบบ “ทำงานจากที่ไหนก็ได้” ก็เลือกจะเป็น “ดิจิทัล โนแมด” เพื่อหลีกหนีวิถีชีวิต 996 ไปใช้ชีวิตต่างประเทศที่ค่าครองชีพต่ำกว่าเมืองใหญ่ของจีน เช่น บาหลี, เวียดนาม หรืออาศัยอยู่ตามชนบทจีน ส่วนใหญ่คนที่ทำได้มักจะเป็นงานที่ทำออนไลน์ได้ 100% เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์, โปรแกรมเมอร์, นักเขียน, ครีเอทีฟ เป็นต้น

========

รัฐบาลจีนจะไม่ทน

  • เทรนด์การใช้ชีวิต “ถั่งผิง” เหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านโซเชียลมีเดียมากมายจนหนุ่มสาวอยากจะทำตามมากขึ้นเรื่อยๆ
  • มีกิจกรรมหลายอย่างที่กลายเป็นคอนเทนต์ฮิตในโซเชียล เช่น การจัดปาร์ตี้ลาออกให้ตัวเอง (ยิ่งลาออกแบบ ‘ไม่มีงานรองรับ’ ยิ่งเจ๋ง) หรือ การเสี่ยงโชคซื้อลอตเตอรี ถึงขนาดว่ายอดขายลอตเตอรีของรัฐเมื่อเดือนเมษายนปี 2023 พุ่งสูงถึง 5 หมื่นล้านหยวน สูงขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า เพราะเทรนด์ ‘อยากรวยทางลัด’
  • หลังจากปล่อยให้โซเชียลโพสต์เรื่องเหล่านี้มานาน ในที่สุดเมื่อปลายปี 2023 รัฐบาลจีนก็เริ่มทนไม่ไหว และกำหนดให้ “คอนเทนต์มองโลกในแง่ร้าย” เป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ไม่เหมาะสมที่รัฐต้องการเซ็นเซอร์ (*คอนเทนต์ที่รัฐบาลจีนแบนอื่นๆ เช่น อวดรวย แฟนด้อมคลั่งดารา)
  • คอนเทนต์ที่สะท้อน ‘วัฒนธรรมการทำงานในแบบที่ผิด’ จะถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์ เพราะรัฐจีนต้องการให้หนุ่มสาวเลิกมองโลกในแง่ร้าย และกลับมาสร้างประสิทธิผลให้กับชาติอีกครั้ง

 

#ถั่งผิง #เศรษฐกิจจีน #วัฒนธรรมจีน #positioningmag

ที่มา: Jing Daily, Yahoo
ภาพจาก: Shutterstock

อ่านบทความอื่นๆ

]]>
1463059
国潮 เมื่อคลื่นจีนถาโถม https://positioningmag.com/1364025 Sun, 28 Nov 2021 13:30:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364025

ถ้าคนศึกษาประวัติศาสตร์จีนจะทราบว่าสมัยก่อนวัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลอย่างมหาศาล ขนาดที่ว่าญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และอีกนานาประเทศในแถบเอเชียได้มีการเลียนแบบหลากหลายภาคส่วนของวัฒนธรรมจีนมาใช้กับประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงปี 1966 – 1976 ที่นำโดยเหมา เจ๋อตง นั้น วัฒนธรรม ศิลปะจีน กลับดูเป็นเรื่องล้าหลัง น่าอับอาย ครั้งหนึ่งขนาดที่ว่าตัวอักษรจีนก็เกือบจะหายไป

หลายสิบปีผ่านไปคลื่นกระแสความนิยมในวัฒนธรรมจีนได้หวนกลับมาอีกครั้ง และในยุคที่จีนเหมือนเป็นกึ่งๆ ทุนนิยมนี้ กระแสการกลับมาในรอบนี้กลับมาในรูปแบบของการผสมผสานระหว่างรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนกับสินค้าและบริการต่างๆ ในยุคใหม่โดยคลื่นกระแสนี้ถูกเรียกว่า 国潮 (กั๋วเฉา) หรือ China-Chic Concept ในภาษาอังกฤษ

Source: Carousell, ehangzhou.gov

ถ้าถามว่ากระแสนี้มีผลต่อผู้บริโภคแค่ไหนก็ต้องตอบว่า 93% ของผู้บริโภคจีนมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้า และบริการเหล่านั้นเพิ่มขึ้นหากมันเป็น 国潮 โดยเหตุผลที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ 国潮 นี้ได้รับความนิยมอย่างมาก หลักๆ ก็เป็นเพราะคนจีนในยุคปัจจุบันมีความต้องการที่จะนำกลับมาซึ่งความยิ่งใหญ่ของชนชาติจีนในอดีต พร้อมกับกระแส ‘ชาตินิยม’ ที่ก่อตัวรุนแรงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ปัจจุบันสามารถพบเห็นสินค้าประเภทนี้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมประเภทแฟชั่น เครื่องสำอาง อาหาร เทคโนโลยี หรือกระทั่ง อุตสาหกรรมรถยนต์

อ้างอิงจากข้อมูลจาก AliResearch ช่วงปี 2018 ผู้บริโภคชาวจีนได้มีการค้นหาคำที่เกี่ยวกับ 国潮 นี้ถึง 1.26 หมื่นล้านครั้ง ในแพลตฟอร์มอาลีบาบา และเพียง 7 เดือนแรกของปี 2019 ตัวเลขนี้ก็เพิ่มขึ้นถึง 393% หนึ่งในตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ 国潮 ที่หลายคนอาจนึกถึงคือ 汉服Hanfu หรือก็คือเสื้อผ้าย้อนยุคของจีน เฉพาะแค่ใน Tmall ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เองมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 500% ในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2019 และมีการคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2021 นี้ เฉพาะแค่ตลาดของ 汉服Hanfu นี้จะมีมูลค่าถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

Source: Weibo @她街拍

จริงๆ แล้วไม่เพียงแค่เสื้อผ้าย้อนยุค แต่วงการแฟชั่นจีนเองก็มีการประยุกต์ดีไซน์สมัยใหม่กับองค์ประกอบสไตล์จีน ทำให้เกิดรูปแบบแฟชั่นแนวใหม่ที่มีลักษณะความเป็นจีนอยู่อย่างเด่นชัด หลากหลายแบรนด์ และดีไซเนอร์จีน อาทิเช่น BanXiaoxue, Li Ning, Feiyue, Minghuatang, Guo Pei และ Zhang Turan ได้ผงาดขึ้นมาในเวทีระดับประเทศและเวทีระดับโลกจากคอนเซ็ปต์การดีไซน์ในรูปแบบนี้

Source: bilibili

ความนิยมใน 国潮 นี้ทำให้หลากหลายแบรนด์ต่างชาติต้องมีการปรับตัวตาม ซึ่งก็มีทั้งแบรนด์ต่างชาติที่ทำได้ดีและทำได้ไม่ดี ในแบรนด์ที่ทำได้ไม่ดีมักจะเกิดจากการตีความถึงความเป็น “จีน” ในลักษณะที่ตื้นเขินเกินไป ในขณะที่แบรนด์ที่ทำได้ดีนั้นจะแสดงถึงความเข้าใจในความเป็น “จีน” ได้ลึกซึ้งกว่า เช่น ไนกี้ที่มีการรคอลแลปส์กับศิลปินอย่าง Jason Deng ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมอาหารของประเทศจีน หรืออย่าง Dior ที่ได้สร้างป๊อปอัพสโตร์โดยมีการผสมผลานระหว่างการดีไซน์หุ่นล้ำยุคกับอาคารโบราณรวมไปถึงตึกระฟ้าอันทันสมัยในประเทศจีน

Source: High Snobiety& Founder type

จากผลการสำรวจของ China Market Research Group and Fidelity International ปัจจุบัน 85% ของผู้บริโภคชาวจีนชื่นชอบ และให้น้ำหนักแบรนด์จีนมากกว่าแบรนด์ต่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเยอะมากหากเทียบกับสมัยก่อนที่คนจีนเองยังไม่เชื่อถือในผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วยซ้ำ

โดยในปี 2016 มีเพียง 60% และ 2011 มีเพียง 15% ที่จะเลือกซื้อสินค้าจีนก่อนสินค้าต่างชาติ จริงๆ แล้วในหมู่คนจีนด้วยกันเองมีคำเรียกสินค้าจีนสมัยก่อนว่า 山寨(ซันไจ้) หรือก็คือพวกสินค้าก๊อปนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าเพียงไม่กี่สิบปีก่อนหน้า คนจีนเองยังดูแคลนผลิตภัณฑ์ของประเทศตัวเองอยู่เลย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจีนมาได้ไกลมากๆ ทั้งในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทำให้ประชาชนรู้สึกภูมิใจในชาติ และผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

หากหันกลับมามองที่ไทยเราดูเหมือนไม่ว่าผ่านไปกี่ปี แบรนด์ สินค้า และบริการต่างชาติก็ดูเหมือนจะได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเรา มากกว่าแบรนด์ไทยเองมาโดยตลอด อาจต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลากลายภาคส่วน อีกหลายปีกว่าที่จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่หันมานิยมภูมิใจในแบรนด์ไทย และเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าไทยก่อนแบรนด์ต่างชาติได้

]]>
1364025
สรุปการปรับ “นโยบายทางสังคม” ของ “จีน” ปี 2021 พลิกโฉมใหม่วิถีชีวิตคนในประเทศ https://positioningmag.com/1358063 Mon, 25 Oct 2021 07:25:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358063 ปี 2021 เป็นปีที่ “จีน” ออกกฎใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมวิถีชีวิตบางอย่างในสังคม ตั้งแต่การเรียน เล่นเกม การทำงาน จนถึงระบบ ‘แฟนคลับ’ ศิลปินดารา ถึงแม้ว่าการตัดสินใจหลายอย่างจะส่งผลลบต่อธุรกิจที่กำลังเฟื่องฟูก็ตาม ไปดูกันว่า ปีนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมวัฒนธรรมใดบ้างที่ประเทศจีน

 

ทลายวงการ “กวดวิชา”

นับเป็น “ระเบิดนิวเคลียร์” ลงกลางวงการ “ธุรกิจกวดวิชา” ก็ว่าได้ เมื่อจีนออกนโยบายทลายธุรกิจกวดวิชา โดยเริ่มประกาศภาพกว้างในเดือนเมษายนและมีระเบียบอย่างละเอียดตามมาในเดือนกรกฎาคม

จุดประสงค์ของนโยบายนี้คือ สกัดไม่ให้นักเรียนต้องเรียนกวดวิชากันอย่างหนัก เพื่อลดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก รวมถึงลดภาระทางการเงินของผู้ปกครองด้วย

รายละเอียดยาวเหยียดของกฎใหม่ มีตั้งแต่การปรับให้บริษัทกวดวิชาทั้งหมดต้องจดทะเบียนใหม่เป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร” เพื่อมิให้มีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และหลังจากนี้จะไม่อนุญาตให้จดทะเบียนบริษัทกวดวิชาเพิ่มอีกแล้ว

(Photo : Shutterstock)

รวมถึงต่อไปนี้โรงเรียนกวดวิชาจะไม่ได้รับอนุญาตให้สอนเนื้อหาซ้ำกับในโรงเรียนหลัก ห้ามเปิดการเรียนในวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และช่วงปิดเทอม หากเป็นการเรียนออนไลน์ต้องมีการพัก 10 นาทีทุกๆ 30 นาทีและห้ามเรียนเกิน 21.00 น. รวมถึงห้ามใช้บุคลากรผู้สอนที่มีฐานการสอนจากต่างประเทศด้วย

เห็นได้ว่ากฎเหล่านี้เป็นการปิดประตูตายโรงเรียนกวดวิชา ทางเลือกที่โรงเรียนเหล่านี้มีเหลือคือการปรับตัวไปสอนหลักสูตรนอกวิชาต่างๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ การแสดง วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน ฯลฯ

ก่อนหน้านโยบายนี้จะถูกประกาศออกมา ธุรกิจกวดวิชาจีนเฟื่องฟูอย่างมาก โดยมูลค่าตลาดสูงถึง 1.2 แสนเหรียญสหรัฐ และหลายบริษัทกวดวิชาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นนิวยอร์ก นอกจากนี้ สมาคมการศึกษาแห่งประเทศจีน เคยให้ข้อมูลเมื่อปี 2016 ว่า 75% ของนักเรียนวัย 6-18 ปีเข้าเรียนกวดวิชาหลังโรงเรียนเลิก แม้ไม่มีสถิติที่ล่าสุดกว่านี้ให้ชม แต่คาดกันว่าสัดส่วนดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

 

ลดการบ้าน ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมอื่น

นโยบายนี้เป็นแพ็กเกจเดียวกับการทลายวงการกวดวิชา คือมุ่งเป้าให้เด็กเครียดน้อยลง และไปทำอย่างอื่นนอกจากคร่ำเคร่งกับการเรียนในระบบ

(Photo : Shutterstock)

โดยกฎใหม่กำหนดให้โรงเรียนห้ามสั่งการบ้านเด็ก ป.1-ป.2 ส่วนเด็ก ป.3-ป.6 สามารถสั่งการบ้านที่ใช้เวลาทำไม่เกิน 60 นาที และเด็กม.1-ม.3 ให้สั่งการบ้านที่ใช้เวลาไม่เกิน 90 นาที

เมื่อไม่มีเรียนกวดวิชา การบ้านก็น้อยลง เด็กควรจะทำอะไร? รัฐบาลระบุว่าโรงเรียนและผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ใช้ร่างกาย (เช่น กีฬา ดนตรี) อ่านหนังสือนอกเวลา และจะได้เข้านอนตามเวลาอันสมควร

 

จำกัดเวลาเล่นเกมของเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี

เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 เกิดนโยบายใหม่ในวงการเกมจีน เมื่อรัฐบาลออกกฎกำหนดให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมออนไลน์ได้ “ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” โดยให้เล่นได้เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 20.00-21.00 น. เท่านั้น

การกำกับควบคุมเรื่องนี้ เป็นเพราะจีนไม่ต้องการให้เยาวชนเป็น ‘เด็กติดเกม’ นั่นเอง โดยจีนมีความพยายามควบคุมมาตั้งแต่ปี 2019 ที่เริ่มออกกฎห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมเกินวันละ 90 นาที และห้ามเล่นเกมในเวลา 22.00-08.00 น.

นโยบายใหม่นี้มีผลกระทบบ้างต่อบริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดของจีนอย่าง NetEase และ Tencent เพราะราคาหุ้นร่วงลงในวันที่นโยบายประกาศออกมา แต่หลังจากนั้นก็ดีดตัวกลับขึ้นไปใหม่

 

หยุดกระแส “แฟนด้อม” มอมเมาเยาวชน

อีกหนึ่งวงการที่รัฐบาลจีนเข้าไปสอดส่องและกำกับควบคุมคือวงการ “แฟนด้อม” โดยวงการนี้ถูกรัฐเพ่งเล็งมาพักใหญ่ จากพฤติกรรมแฟนคลับที่ “บริโภคนิยม” เกินควร และพฤติกรรมของดาราศิลปินบางคนไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีสำหรับเยาวชนและไม่ตรงค่านิยมที่จีนต้องการ

แฟนด้อมจีนนั้นเป็นกลุ่มแฟนคลับที่มีพลังอย่างมาก iResearch Consulting Group เคยประเมินเมื่อปี 2020 ว่า เม็ดเงินที่เกี่ยวพันกับแฟนด้อมจีนมีมูลค่าถึง 4 ล้านล้านหยวน!

เหตุเพราะแฟนด้อมจีนนั้นมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ โดยจะมีผู้จัดการกลุ่มแฟนคลับคอยจัดการแจกงานให้สมาชิกทำบนโซเชียลมีเดีย เช่น ไลก์ คอมเมนต์ แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับดาราศิลปิน กลุ่มแฟนคลับจะคอยติดตามดาราไปทุกที่ ซื้อสินค้าที่ดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ และปั่นโหวตในทุกชาร์ต แม้ว่าจะต้องทุ่มทั้งเงินและเวลาไปมากก็ตาม

ในที่สุดรัฐบาลจีนตัดสินใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้ “เป็นพิษ” มอมเมาเยาวชน จึงออกกฎห้ามหลายประการ เช่น ห้ามแพลตฟอร์มต่างๆ จัดชาร์ตอันดับดาราศิลปินทุกรูปแบบ ซึ่งทำให้รายการประเภทประกวดไอดอลหรือนักร้องเหมือนกับถูกห้ามผลิตไปโดยปริยาย เพราะรายการเหล่านี้ย่อมเกี่ยวข้องกับการจัดอันดับตัวบุคคล

นอกจากนี้ ยังห้ามเยาวชนเป็นสมาชิกกลุ่มแฟนคลับ และห้ามเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องใช้จ่ายเงินเพื่อส่งเสริมคนดัง รัฐบาลยังมีระบบสอดส่องและลบคอนเทนต์ที่ถือว่าเป็น “วัฒนธรรมอันเป็นพิษของกลุ่มแฟนคลับ” ด้วย เช่น การโต้ตอบหรือ ‘ตีกัน’ ระหว่างแฟนคลับต่างกลุ่มกัน

ในแง่ของพฤติกรรมคนดัง จากกฎที่ค่อนข้างเข้มอยู่แล้วของรัฐบาลจีน จีนยังเพิ่มกฎใหม่เข้าไปอีกคือ “ห้ามไอดอลชายในประเทศจีนแสดงออกถึงความหวานแบบหญิงสาว” เพราะถือว่าเป็นการทำลายค่านิยมความเป็นชายที่เข้มแข็งของจีน และเป็นการลอกเลียนค่านิยมแบบเกาหลีใต้

 

ห้ามการทำงานแบบ ‘996’

ตัดมาที่โลกของ ‘ผู้ใหญ่’ บ้าง รัฐบาลจีนมีการปรับสังคมครั้งใหญ่เหมือนกัน โดยเมื่อเดือนกันยายนรัฐบาลมีประกาศว่าวัฒนธรรมการทำงานแบบ ‘996’ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

การทำงานแบบ 996 ของจีน คือการเริ่มงาน 9 โมงเช้า เลิก 3 ทุ่ม และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ นั่นหมายถึงการทำงาน 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และหลายๆ บริษัทไม่มีการให้ค่าโอที ทั้งที่กฎหมายแรงงานจีนกำหนดไว้ว่า อนุญาตให้บริษัทกำหนดเวลางานไว้ไม่เกิน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้พนักงานต้องยินยอมทำงานโอทีและต้องได้รับค่าโอที

ที่ผ่านมาการทำงานแบบ 996 เคยถูกยกย่องว่าเป็นวิถีที่ทำให้จีนสร้างชาติสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จ ทุกคนทุกตำแหน่งตั้งแต่โปรแกรมเมอร์หัวกะทิในบริษัทเทคชื่อดังจนถึงพนักงานเดลิเวอรีต่างเผชิญการทำงานแบบ 996 ทั้งนั้น

แต่ไม่กี่ปีมานี้ ข่าวคราวพนักงานทำงานจนเสียชีวิตในหน้าที่เพราะไม่ได้หลับได้นอน หรือพนักงานฆ่าตัวตายเพราะชีวิตการทำงานเริ่มหนาหูขึ้น ความขุ่นเคืองในสังคมสูงขึ้นจนรัฐบาลต้องหันมาบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังร่างรายละเอียดการบังคับใช้กฎเพื่อให้ระบบ 996 หมดไปจากสังคม ต้องจับตาดูว่าจีนจะจัดการอย่างไรบ้าง

 

อนาคตสังคมจีนและวิถีชีวิตของคนจีนน่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ภาพลักษณ์ของนักเรียนและคนทำงานชาวจีนที่คร่ำเคร่ง เรียนหนัก ทำงานหนัก แข่งขันสูง อาจจะผ่อนความรุนแรงลง ส่งเสริมให้คนจีนมีแนวโน้มสร้างครอบครัวและ “มีลูก” มากขึ้น หลังจากจีนปลดล็อกให้ประชาชนมีลูกได้ถึง 3 คนแล้ว แต่ดูเหมือนสังคมจะไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าไหร่เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลาและต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ดังนั้น นโยบายเหล่านี้จึงสำคัญต่อการสร้างสังคมจีนที่จะยังมีเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ มาสร้างชาติ และต้องโตมาอย่างมีคุณภาพด้วย!

]]>
1358063