สมประวิณ มันประเสริฐ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 25 Nov 2020 11:37:53 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เศรษฐกิจไทยมีหวัง! กรุงศรี คาด GDP ปี 64 โต 3.3% ส่งออกดี-ท่องเที่ยวซบยาว การเมืองกระทบ “ลงทุน” https://positioningmag.com/1307537 Wed, 25 Nov 2020 09:30:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307537 ปีหน้ายังมีหวัง เศรษฐกิจไทยจะฟิ้นตัว เเต่ไม่หวือหวามากนักเเบงก์กรุงศรีปรับจีดีพี ปี 2564 ดีขึ้นเป็น 3.3% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.9% จากเเรงหนุนส่งออก ลงทุนภาครัฐ บวกอานิสงส์ต่างประเทศเริ่มฟื้น ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวยังต้องรอชาวต่างชาตินานถึงปลายปีหน้า

ปัญหาการเมืองยืดเยื้อ กระทบจีดีพี 0.6-1.1% มีผลต่อการลงทุนเเละความเชื่อมั่น มองไทยเข้าร่วม RCEP เปิดตลาดเสรี คือโอกาสหนุนเศรษฐกิจโตในระยะยาว 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 อยู่ที่ 3.3% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.9%

พร้อมๆ กับการปรับจีดีพี ปี 2563 จาก -10.3% มาอยู่ที่ -6.4% เนื่องจากเห็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวมาตั้งเเต่ช่วงไตรมาสที่ 3 จากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีการเร่งตัวขึ้น และการส่งออกที่ดีเกินคาดโดยล่าสุดการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นทุกหมวดสินค้า

คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะกลับมาเป็นบวกได้ ตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า การเร่งใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ

การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 10.5% ในปีหน้า จะเป็นตัวผลักดันภาคการบริโภคขยายตัว 2.5% จากปีนี้ -1.1% และการลงทุนในประเทศโต 3.2% จาก -11% ในปีนี้

ส่วนความท้าทายที่รออยู่นั้น วิจัยกรุงศรีฯ มองว่า หลักๆ คือปัจจัยลบจากสถานการณ์ในประเทศ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช้ากว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทำให้เกิดการว่างงาน ส่งต่อเป็นปัญหารายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภค

“คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ได้ในไตรมาส 3 ปี 2565” 

ท่องเที่ยวฟื้นช้า รอต่างชาติยาวถึงปลายปี 64

ผู้บริหารกรุงศรี มองว่า ภาคการท่องเที่ยว เป็นดัชนีชี้วัดเดียวที่ยังไม่มีหวังที่จะกลับมาในเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 จะอยู่ที่ 4 ล้านคน จากปีนี้อยู่ที่ 6.7 ล้านคน ซึ่งตอนนั้นยังพอมีนักท่องเที่ยวต่างชาติบ้างในช่วงไตรมาส 1

คาดว่าวัคซีน COVID-19 จะถูกนำมาใช้จริงในช่วงกลางปีหน้า เเต่ยังต้องใช้เวลาในการเเจกจ่ายให้ทั่วถึง ขึ้นอยู่กับนโยบายของเเต่ละประเทศ ทำให้การเปิดพรมเเดนรับนักท่องเที่ยวต้องใช้เวลานานยิ่งขึ้นไปอีก โดยความคืบหน้าด้านวัคซีน อาจเร่งให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4/2564”

ขณะที่การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน ปี 2563 มีการปรับคาดการณ์จาก -4.2% เป็น -1.1% และคาดว่าจะเติบโตที่ 2.5% ในปี 2564 โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่การใช้จ่ายในเกือบทุกหมวดสินค้าจะยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤต

“การใช้จ่ายของผู้บริโภคในปีนี้ จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ จากมาตรการให้เงินช่วยเหลือวงเงินมากกว่า 4 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 และมาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ในไตรมาส 4/2563”

ส่วนในปี 2564 กรุงศรีฯ มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (งบประมาณพิเศษของรัฐบาลวงเงิน 2 แสนล้านบาท) กำลังซื้อจากกลุ่มชั้นกลาง และกลุ่มที่มีรายได้สูง จะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง

การเมืองกระทบ “ลงทุน” 

สมประวิณ กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศนั้น อาจจะส่งผลให้จีดีพีของปี 2564 ลดลงราว 0.6% ถึง 1.1% และมีผลกระทบระยะยาว (ธนาคารได้รวมปัจจัยนี้ไว้ในการคาดการณ์จีดีพีที่ 3.3% ในกรณีที่ไม่เกิดเหตุรุนเเรง)

โดยมีการประเมินจาก เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งมีผลโดยตรงกับความเชื่อมั่น เเละการตัดสินใจในการเข้ามาทำธุรกิจ

มอง RCEP เปิดตลาดเสรี คือโอกาส

เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะ “เป็นบวก” ได้มาจาก “การส่งออก” ที่จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 4.5% จากปี 2563 ที่ -7.5% จากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน COVID-19 อุปกรณ์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home)

องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าการเติบโตของยอดส่งออกโลกจะเพิ่มขึ้น 7.2% ในปี 2564 จากคาดการณ์ที่ติดลบในปีนี้ -9.2% มีโอกาสการเติบโตในระยะปานกลาง จากภูมิภาคอาเซียนที่กำลังขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization)

“การเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทย ถือว่าเป็นปัจจัยหนุนต่อการช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป” 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ผู้บริหารกรุงศรี มองว่า ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันบนซัพพลายเชนโลก แสดงถึงโอกาสที่จะเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน ดังนั้นความร่วมมือ RCEP ที่เชื่อมโยงทั้งการค้าและห่วงโซ่อุปทานการผลิต จะเป็นโอกาสในการที่ประเทศไทย จะได้ขยายฐานการส่งออกไปสู่ประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น และเป็นกลุ่มประเทศที่ประชากรเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น ทำให้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยได้

ทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สรุปข้อเสนอเเนะเกี่ยวกับ “มาตรการช่วยเหลือ” ใน 4 ประเด็น ได้เเก่ 

  • การปรับโครงสร้างหนี้ เพราะจะช่วยให้ระบบการเงินขับเคลื่อนไปได้
  • สร้างสภาพคล่องในระบบ เเม้ว่าธุรกิจต่างๆ จะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติเเล้ว
  • สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นให้กลุ่มคนที่ “มีกำลังซื้อ” ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
  • ช่วยเหลือภาคท่องเที่ยว เช่นการลดภาษี กระตุ้นให้ผู้คนท่องเที่ยวในประเทศ

“ควรดำเนินการทันทีและทำให้เหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับของปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่ออกมาส่วนใหญ่ยังคงไม่เพียงพอ เเละยังขาดมาตรการที่ส่งเสริมการให้สินเชื่อใหม่”

 

]]>
1307537