สมัครสมาชิก – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 29 Jun 2023 10:29:33 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 วิเคราะห์ธุรกิจของ Meta เมื่อ Subscription อาจเป็นโมเดลรายได้ใหม่อีกทาง หลังยอดโฆษณาผันผวน https://positioningmag.com/1436018 Thu, 29 Jun 2023 05:03:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1436018 เมต้า (Meta) ผู้ให้บริการ Social Network ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram เป็นอีกบริษัทที่กำลังหารายได้เพิ่มเติมอย่างมาก ซึ่งหลายครั้งได้สร้างความปวดใจให้กับเจ้าของเพจ หรือแม้แต่แบรนด์ต่างๆ เนื่องจาก Reach ของเพจต่างๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน แม้ว่าจะมีความพยายามโพสต์หรือหาลูกเล่นใหม่แล้วก็ตาม

แต่ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า Meta ได้ประกาศบริการที่ให้สมาชิกนั้นจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดนั้นมีมาแล้ว 2 บริการ ภายใน 1 สัปดาห์เท่านั้น (แม้ว่าจะมีการประกาศมาล่วงหน้าสักพักก็ตาม)

Positioning จะวิเคราะห์โมเดลธุรกิจว่าการที่ Meta ได้เข้าสู่โมเดลสมัครสมาชิก (Subscription) เพราะอะไร

ออก Meta Verified ในไทย

เจ้าของแพลตฟอร์ม Social Media ได้ประกาศเตรียมเปิดบริการ Meta Verified ที่ประเทศไทยเร็วๆ นี้ โดยบริการดังกล่าวทำเพื่อที่จะได้รับ Reach มากขึ้น หรือแม้แต่ป้องกันการสวมรอยจากบุคคลอื่น ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 429 บาท

Meta ยังได้ประกาศว่าเตรียมเปิดบริการ Meta Verified ซึ่งเป็นบริการยืนยันตัวเอง ซึ่งผู้ใช้งานเลือกได้ว่าจะจ่ายเงินเพื่อยืนยันตัวเองบนแพลตฟอร์ม Facebook หรือ Instagram เพื่อที่จะได้รับ Reach มากขึ้น หรือแม้แต่ป้องกันการสวมรอยจากบุคคลอื่น

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาบริษัทได้ทดลองระบบดังกล่าวในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และขยายไปยังสหรัฐอเมริกา แคนาดา เป็นต้น โดยล่าสุดบริการดังกล่าวเตรียมเปิดตัวในประเทศกลุ่มละตินอเมริกา ก่อนที่จะขยายบริการทั่วโลกหลังจากนี้

สำหรับราคาในประเทศไทยนั้น Meta ได้ประกาศว่าราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 429 บาทต่อเดือนถ้าสมัครผ่านเว็บไซต์ แต่ถ้าหากสมัครผ่านแอปพลิเคชันทั้ง Facebook และ Instagram จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

เมื่อบริษัทหารายได้เพิ่ม

ในช่วงที่ผ่านมา Meta ได้พยายามเข็นบริการ Subscription ออกมาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Quest+ ซึ่งเป็นบริการเสริมของแว่นตา VR ของบริษัท ที่เริ่มต้นจ่ายเงินเพียง 7.99 ดอลลาร์สหรัฐ (แต่ถ้าหากจ่ายเงินเป็นรายปีก็จะได้ส่วนลด) เพื่อที่จะได้เกมใหม่ๆ มาเล่น

ซึ่งโมเดลการหารายได้จากบริการสมัครสมาชิกเพิ่ม ยังช่วยลดผลกระทบจากรายได้โฆษณาที่ไม่แน่นอนของบริษัทด้วย โดยในช่วงปี 2021 รายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 117,929 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่ามากสุดเป็นประวัติศาสตร์ของบริษัท อย่างไรก็ดีรายได้ในปี 2022 กลับตกลงมาเหลือ 116,609 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

รายได้ที่ลดลงไปในปี 2022 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้บริษัทต้องปรับลดพนักงานชุดใหญ่ และยังต้องปรับโครงสร้างบริหาร หรือแม้แต่การหารายได้อื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่ง Mark Zuckerberg ได้กล่าวว่าปี 2023 จะเป็นปีในการรีดประสิทธิภาพของบริษัทออกมา

บริษัทแม่ของ Facebook ล่าสุดได้ออกบริการ Meta Verified สำหรับยืนยันตัวเอง – ภาพจาก Meta

นักวิเคราะห์คาดรายได้เพิ่ม

คาดการณ์จาก Bank of America มองว่าบริการ Meta Verified จะมีผู้ใช้งานทั่วโลกประมาณ 12 ล้านรายภายในปี 2024 ทำให้สถาบันการเงินรายดังกล่าวมองว่าบริการนี้จะเพิ่มรายได้กับบริษัทมากถึง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยบทวิเคราะห์ดังกล่าวมองว่าลูกค้าหลักของบริการดังกล่าวคือเจ้าของเพจ หรือบรรดาเจ้าของแบรนด์ต่างๆ มากกว่าที่จะคนทั่วๆ ไป เนื่องจากเพจต่างๆ หรือแบรนด์ที่ต้องการจ่ายเงินกับบริการเหล่านี้ต้องการที่จะเพิ่ม Reach ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ หรือแม้แต่การรับรู้ของแบรนด์มากกว่า

แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคู่แข่งหลายเจ้าได้ใช้โมเดลแบบนี้ด้วย

การที่ Meta ได้ใช้โมเดล Subscription นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้สำหรับการยืนยันตัวเองก่อนหน้านี้ในหลาย Social Network ถือว่าเป็นบริการฟรี สำหรับยืนยันตัวตนโดยเฉพาะผู้ที่มีชื่อเสียง หรือมีความเสี่ยงที่จะโดนปลอมตัวตนได้

โดยคู่แข่งของ Meta ไม่ว่าจะเป็น Twitter นั้นได้เปิดบริการ Verified ขึ้นมา โดยแยกเป็น Account ประเภทส่วนบุคคลที่มีราคาไม่แพง ขณะที่ Account ประเภทธุรกิจนั้นจะมีราคาแพงมากกว่า ขณะที่ Snapchat เองก็มี Snapchat+ ซึ่งมีผู้ใช้งานมากถึง 2 ล้านคน ซึ่งค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 3.99 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

คำถามหลังจากนี้คือจะมีผู้ใช้งานจ่ายเงินให้กับบริการดังกล่าวมากแค่ไหน

]]>
1436018
Twitter จะยกเลิกเครื่องหมาย “ติ๊กถูกสีฟ้า” หลังชื่อคนดัง ใครอยากได้ต้องเสียเงินสมัครเท่านั้น https://positioningmag.com/1424884 Sat, 25 Mar 2023 11:26:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1424884 ยุคก่อนอีลอน มัสก์ของ Twitter กำลังจะจบลงแล้ว เพราะในวันที่ 1 เมษายนนี้ เครื่องหมาย “ติ๊กถูกสีฟ้า” หรือ Verified Badge ที่ให้กับบัญชีคนดัง/องค์กรเพื่อยืนยันว่าเป็นบัญชีตัวจริง กำลังจะถูกยกเลิก ใครก็ตามที่ต้องการมีเครื่องหมายยืนยันตัวตนจะต้องเสียเงินสมัครสมาชิกเท่านั้น

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ Twitter ประกาศว่า จะยกเลิก Verified Badge เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าดั้งเดิมที่เคยให้กับคนดัง องค์กร แบรนด์ดัง ที่แพลตฟอร์มเคยให้ไว้ตั้งแต่ก่อนอีลอน มัสก์เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ

เครื่องหมายติ๊กถูกดั้งเดิมนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 จุดประสงค์เดิมเพื่อช่วยยืนยันตัวตนให้กับเซเลป นักการเมือง บริษัท แบรนด์ องค์กรข่าว หรือบัญชีใดๆ ที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เนื่องจาก Twitter ต้องการยืนยันให้ชัดว่าบัญชีเหล่านี้เป็น “ตัวจริง” ไม่ใช่บัญชีปลอมแปลงเลียนแบบ หรือสร้างตัวตนมาล้อเลียนสนุกๆ ซึ่งแพลตฟอร์มไม่เคยคิดเงินในการยืนยันตัวตนให้มาก่อน และมีการให้ติ๊กถูกสีฟ้าไปแล้วกว่า 420,000 บัญชี

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของมัสก์มองว่าระบบยืนยันตัวตนเดิมของ Twitter นั้น “ฉ้อฉล” และวางนโยบายเปลี่ยนให้การมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้ายืนยันตัวตนเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน ซึ่งเขามองว่า “เป็นประชาธิปไตย” มากกว่า ทำให้เครื่องหมายนี้ไม่ใช่เครื่องแสดงสถานะความดัง

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง นี่จะเป็นช่องทางหารายได้อย่างงามให้กับมัสก์ เพราะคำว่าเข้าถึงได้สำหรับทุกคน หมายถึง Twitter เปิดโอกาสให้ทุกคนจ่ายค่าสมาชิกได้เพื่อรับเครื่องหมายยืนยันตัวตน

Twitter
เครื่องหมายยืนยันตัวตน 3 สี ฟ้า เทา ทอง

ปัจจุบัน Twitter เริ่มเปิดระบบ “Twitter Blue” แล้วทั่วโลก เพื่อให้จ่ายค่าสมาชิกรับเครื่องหมายติ๊กถูกกันได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามลักษณะของผู้ใช้งาน ดังนี้

  • สีฟ้า สำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 8-11 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์การสมัคร)
  • สีเทา สำหรับหน่วยงานรัฐ ราคา 1,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน
  • สีทอง สำหรับหน่วยงานเอกชน ราคา 1,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน

นอกจากจะเป็นการยืนยันตัวตนจริงแล้ว บัญชีที่สมัครสมาชิกจะได้สิทธิพิเศษ เช่น สามารถแก้ไขทวีตของตนเองได้ภายใน 30 นาทีหลังทวีต, ทวีตได้ยาวขึ้นเป็น 4,000 ตัวอักษร และได้เลื่อนขึ้นไปอยู่ด้านบนเมื่อเข้าไปอยู่ในบทสนทนา

สำหรับประเทศไทยนั้น เครื่องหมายถูกสีฟ้าใน Twitter คิดราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 275 บาทต่อเดือน หรือเหมาจ่าย 2,900 บาทต่อปี

ระบบ Twitter Blue นั้นถูกอีลอน มัสก์เร่งเข็นออกมาใช้งานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 แต่หลังจากนั้น 2 วันก็ต้องปิดระบบไปก่อน เพราะเกิดบัญชีปลอมตัวเป็นคนดังมากมายมาขอรับเครื่องหมายยืนยันตัวตน จนเกิดความสับสนในโลก Twitter หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม 2022 แพลตฟอร์มจึงเปิดระบบอีกครั้ง หลังไปปรับปรุงวิธีการยืนยันตัวตนจริงให้รัดกุมมาแล้ว

มัสก์เคยส่งข้อความภายในหาพนักงาน Twitter เมื่อปีก่อนว่า บริษัทต้องการให้ค่าสมัครสมาชิกเป็นแหล่งรายได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของบริษัท มิฉะนั้น หากไม่มีรายได้จากสมาชิก ก็มีโอกาสมากที่บริษัทจะไม่สามารถรอดพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังจะมาถึงได้

Source

]]>
1424884
Subscription Economy: 6 สถิติสะท้อนโมเดลธุรกิจแบบ “สมัครสมาชิก” กำลังเป็นดาวรุ่ง https://positioningmag.com/1349661 Wed, 01 Sep 2021 15:40:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1349661 แต่ละเดือนคุณจ่าย “ค่าสมาชิก” ไปกับอะไรบ้าง? ตั้งแต่ Netflix, Spotify, YouTube Premium จนถึงซอฟต์แวร์การทำงานอย่าง Microsoft Office, Adobe, Zoom บางคนอาจเป็นสมาชิกกาแฟสดรายเดือนหรืออาหารคีโตด้วย เห็นได้ว่าโมเดลธุรกิจแบบ “สมัครสมาชิก” กำลังเป็นดาวรุ่ง สินค้าและบริการหลายอย่างเห็นโอกาสในการปรับใช้

McKinsey บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ เคยแบ่งหมวดสินค้าและบริการที่เปิดรับสมาชิกเป็น 2 หมวดใหญ่ คือ หมวดที่ได้รับพัสดุเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น เช่น กาแฟเดลิเวอรี่ถึงบ้านทุกเช้า อาหารกล่องรายวัน ของสดสำหรับทำอาหารรายสัปดาห์ และอีกหมวดคือ หมวดสมัครสมาชิกออนไลน์ เช่น สื่อบันเทิง ซอฟต์แวร์ เกมออนไลน์

ขณะที่สำนักข่าว Vox มองอีกมุมหนึ่งว่า การแบ่งโมเดลสมัครสมาชิกอาจไม่ใช่แค่การแบ่งเป็นสินค้าจับต้องได้กับจับต้องไม่ได้ แต่แบ่งเป็นกลุ่มที่เหมือนกับ “สาธารณูปโภค” ในชีวิต เช่น ซอฟต์แวร์ พื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ ฟิตเนส อาหาร สื่อบันเทิง และกลุ่มที่ “จ่ายด้วยความรู้สึก” มากกว่า เช่น จ่ายค่าสมาชิกเพื่อบริจาคให้ครีเอเตอร์บน YouTube หรือ OnlyFans

แต่ไม่ว่าจะแบ่งหมวดแบบไหน จะเห็นได้ว่าโมเดล “สมัครสมาชิก” สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้หลายแบบหลายมุม ซึ่งทำให้เกิดสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเติบโตของโมเดลธุรกิจลักษณะนี้

1.ธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่ง ลูกค้าไม่ได้สมัครแค่แพลตฟอร์มเดียว

Ampere Analysis ทำการสำรวจตลาดยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ พบว่า ครัวเรือน 75% สมัครสตรีมมิ่งอย่างน้อย 1 แพลตฟอร์ม โดยมีรายละเอียดจำนวนแพลตฟอร์มที่สมัครดังนี้

– 25% ไม่สมัครสมาชิกสตรีมมิ่ง
– 25% สมัคร 1 แพลตฟอร์ม
– 20% สมัคร 2 แพลตฟอร์ม
– 14% สมัคร 3 แพลตฟอร์ม
– 6% สมัคร 4 แพลตฟอร์ม
– 10% สมัคร 5 แพลตฟอร์มขึ้นไป

น่าสนใจว่าลูกค้าครึ่งหนึ่งสมัครมากกว่า 1 แพลตฟอร์ม และมีลูกค้าถึง 10% ที่สมัคร 5 แพลตฟอร์มขึ้นไป สะท้อนให้เห็นโอกาสว่าแม้สตรีมมิ่งวิดีโอจะผุดกันเป็นดอกเห็ด แต่มีลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่พร้อมจะจ่ายหลายทาง

 

2.ธุรกิจสตรีมมิ่งเพลงกำลังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในทำนองเดียวกัน Deloitte สำรวจผู้บริโภคอเมริกัน 2,003 ครัวเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 พบว่าผู้บริโภค 60% สมัครสมาชิกบริการสตรีมมิ่งดนตรี และ 41% สมัครสมาชิกมากกว่า 1 แพลตฟอร์มด้วย

นอกจากนี้ Deloitte ยังพบว่าบริการสตรีมมิ่งเกมและเพลงในหมู่คนเจนซีมาแรงยิ่งกว่าสตรีมมิ่งวิดีโอ คนวัยนี้นิยมพักผ่อนด้วยการเล่นเกมและฟังเพลงมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้าที่ชื่นชอบการดูทีวี

 

3.“ซอฟต์แวร์” จะมีลูกค้าสมัครสมาชิกเป็นแหล่งรายได้หลัก

International Data Corporation (IDC) บริษัทวิจัยตลาด เคยประเมินไว้ว่า ความต้องการบริการแบบ “คลาวด์” ของผู้บริโภค จะทำให้ธุรกิจซอฟต์แวร์มีฐานลูกค้าแบบสมัครสมาชิกเป็นแหล่งรายได้หลัก โดยคิดเป็นสัดส่วน 53% ของรายได้รวมภายในปี 2022 ปัจจุบันยังไม่ใช่ทุกบริษัทซอฟต์แวร์ที่สามารถให้บริการบนคลาวด์ได้เต็มรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่กำลังมุ่งไปในทิศทางนี้ซึ่งจะทำให้รายได้จากลูกค้าแบบสมัครสมาชิกมีมากกว่าแบบซื้อขาด

 

4.สมาชิก “เช่ารถ” แทนการซื้อรถจะเติบโตสูง

Photo : Shutterstock

หนึ่งในบริการของจับต้องได้ที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนพฤติกรรมคือ “รถยนต์” โดย PYMNTS เคยคาดการณ์ไว้ว่า ระบบสมัครสมาชิกเช่ารถจะเติบโตเฉลี่ย 71% ต่อปีจนถึงปี 2022 ทั่วโลกมีธุรกิจที่จับระบบนี้ทั้งสตาร์ทอัพ ธุรกิจเดิมในวงการรถยนต์ที่แตกไลน์ออกมา หรือแบรนด์รถเปิดระบบสมาชิกด้วยตนเอง อาศัยจุดเด่นคือลูกค้าสมาชิกไม่ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงเอง ไม่ต้องวางเงินดาวน์เหมือนการซื้อรถ และเปลี่ยนรถได้บ่อยๆ

ในไทยเองก็มีหลายเจ้าที่จับตลาดนี้ เช่น Eazy Car ในเครือไทยรุ่ง หรือรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ETRAN มีระบบเช่าแทนการซื้อ

 

5.ระบบสมัครสมาชิกจะทำเงิน “หมื่นล้านเหรียญ”

ด้วยกระแสการยอมรับของผู้บริโภคที่มากขึ้น Zion Market Research คาดการณ์ไว้ว่า มูลค่าตลาดของโมเดลสมัครสมาชิกจะเติบโตจาก 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2018 เป็น 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025

Zion ยังระบุไฮไลต์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนตลาดอนาคต คือกลุ่มค้าปลีกที่กำลังหาทางนำระบบสมาชิกซื้อสินค้ารายเดือนมาใช้เพื่อดึงลูกค้าไว้กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

 

6.ผู้บริหารส่วนใหญ่สนใจ แต่น้อยรายที่ทำสำเร็จแล้ว

Manifesto Growth Architect บริษัทที่ปรึกษาด้านการเติบโตทางธุรกิจ สำรวจผู้นำธุรกิจ 504 รายในอุตสาหกรรมค้าปลีก การเงิน การพักผ่อน ยานยนต์ และสาธารณูปโภค พบว่า 70% มองโมเดลการสมัครสมาชิกเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการเติบโตในอีกหลายปีข้างหน้า

แต่กลับมีเพียง 24% ที่เริ่มนำไปใช้จริงในธุรกิจของตนแล้ว และ 7% เท่านั้นที่เริ่มมีรายได้จากระบบสมัครสมาชิกอย่างชัดเจนแล้ว

ไอเดียการสมัครสมาชิกในสินค้าและบริการอื่นๆ นอกจากบริการออนไลน์นั้นเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก หลายแบรนด์พยายามที่จะคิดโมเดลธุรกิจออกมาตอบโจทย์ เช่น โมเดลการจัดส่งของสดสำหรับทำอาหารให้สมาชิกโดยแพ็กมา 1 ชุดต่อ 1 เมนู ช่วยเรื่องความสะดวกสบายในการทำรายการซื้อของ การทำอาหารง่ายขึ้น และอร่อยสดใหม่กว่าซื้ออาหารแช่แข็ง

ไม่แน่ว่าต่อไปชีวิตเราอาจจะเป็นการเสียค่าสมาชิกผูกปิ่นโตกับแบรนด์สารพัดอย่างก็ได้!

Source: Fusebill Blog, McKinsey, Globe Newswire, PYMNTS, Media Play News, Digital Music News

]]>
1349661
อวสานหารค่า Netflix !? เมื่อสตรีมมิ่งทดลองแจ้งเตือน “ห้ามแชร์พาสเวิร์ด” กับคนอื่น https://positioningmag.com/1323192 Fri, 12 Mar 2021 07:51:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323192 เป็นที่ฮือฮาในสหรัฐฯ เมื่อมีผู้บริโภคพบว่าบัญชี Netflix ถูกล็อก พร้อมข้อความเตือนว่าให้ใช้บัญชีของตนเองเพื่อรับชม ดูเหมือนว่าสตรีมมิ่งยักษ์แห่งนี้กำลังทดลองหาวิธีป้องกันไม่ให้มีการหารค่าสมาชิกกันในหมู่ลูกค้า แต่จะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องหรือไม่ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขนาดนี้

เว็บไซต์ The Streamable โพสต์ภาพหน้าจอ Netflix ที่ถูกล็อกบัญชี และระบุแจ้งเตือนผู้ใช้ว่า “If you don’t live with the owner of this account, you need your own account to keep watching.” หรือ “ถ้าคุณไม่ได้อยู่อาศัยร่วมกับเจ้าของบัญชีนี้ คุณต้องมีบัญชีของตัวเองเพื่อรับชมต่อ” พร้อมกับมีปุ่มให้กดส่งโค้ดชั่วคราวไปที่อีเมล เพื่อให้ผู้ใช้นำมายืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของบัญชีหรืออยู่บ้านเดียวกับเจ้าของบัญชีจริงๆ

เรื่องนี้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้ใช้งานว่า Netflix จะทำจริงๆ หรือ? เพราะถึงแม้ว่าเงื่อนไขการใช้บริการจะแจ้งไว้ชัดเจนว่า บัญชีสมาชิกอนุญาตให้ใช้ร่วมกันได้เฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ ใครๆ ก็นำไปแชร์กันเพื่อหารค่าสมาชิกทั้งนั้น เพราะจะได้จ่ายต่อเดือนถูกลง 

บริษัทวิจัย Magid เคยสำรวจในประเด็นนี้ โดยพบว่าผู้ใช้ 33% มีการหารค่าสมาชิกกับคนอื่น กระทั่งในประเทศไทยก็ไม่แตกต่างกัน หลายคนสมัครแพ็กเกจครอบครัว 419 บาทต่อเดือน ชมพร้อมกันได้ 4 จอ เพื่อจะหารกัน 4 คนในบัญชีเดียว และไม่ใช่แค่หารกับเพื่อน แฟน ครอบครัว หรือคนรู้จัก ยังมีคนที่หารกับคนแปลกหน้าที่เจอกันผ่านอินเทอร์เน็ต ถึงขนาดมีคนตั้งร้านออนไลน์ขายสมาชิก Netflix ราคาถูก

Money Heist Part 4 ซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดของ Netflix ปี 2020

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า Netflix จะ ‘เอาจริง’ กับเรื่องนี้แค่ไหน เพราะถ้าหารไม่ได้ก็จะทำให้ลูกค้าต้องจ่ายค่าสมาชิกแพงขึ้น ลูกค้าอาจเปลี่ยนไปดูเจ้าอื่นที่กำลังมาแรงไม่แพ้กัน เช่น Disney+, HBO แทนได้

ทั้งนี้ ทางโฆษกของ Netflix ชี้แจงกว้างๆ ว่าการทดลองยืนยันบัญชีแบบนี้ บริษัทมีทดลองหลายร้อยครั้งทุกปี และที่จริงมีประโยชน์สำหรับผู้บริโภคเพราะจะช่วยป้องกันการแฮกบัญชีได้ ส่วนการขยายไปใช้งานในวงกว้างขึ้นนั้นก็ ‘อาจจะไม่ทำ’ ก็ได้

ปัจจุบัน Netflix มีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 200 ล้านบัญชี เติบโตแรงจากช่วง COVID-19 ที่กวาดสมาชิกเพิ่มได้ถึง 16 ล้านราย แต่บริษัทก็ยังต้องหาทางทำให้รายได้เพิ่ม จึงอาจเป็นที่มาของความพยายามคุมเข้มการหารค่าสมาชิกครั้งนี้

Source

]]>
1323192
ใครเป็นบ้าง? ยังจ่าย “ค่าสมาชิก” สารพัดกิจกรรม ทั้งที่ไม่ได้ใช้ตั้งแต่หมดล็อกดาวน์! https://positioningmag.com/1322138 Fri, 05 Mar 2021 09:19:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1322138 ล็อกดาวน์ปี 2020 ทำให้หลายคนหันไปหากิจกรรมใหม่ๆ ทำ ตั้งแต่สมัครสตรีมมิ่งหนัง เพลง จนถึงคอร์สออกกำลังกายออนไลน์ แต่สุดท้ายเมื่อชีวิตกลับมาเป็นปกติ กลับไม่ยอมยกเลิก “ค่าสมาชิก” บริการเหล่านั้นทั้งที่ไม่ได้ใช้แล้ว!? วิจัยอังกฤษพบผู้บริโภคกว่าครึ่งเป็นเช่นนี้ และเสียเงินเปล่ากันทุกเดือนเพราะความคิดที่ว่า “เดี๋ยวคงได้ใช้”

Direct Line Life Insurance จัดทำวิจัยในอังกฤษ สำรวจประชาชน 2,000 คนเมื่อเดือนมกราคม 2021 พบว่า คนจำนวนมากเริ่มทำกิจกรรมสมัครใช้บริการใหม่ๆ ในช่วงล็อกดาวน์ปี 2020 แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้อย่างต่อเนื่อง โดยในกลุ่มคนที่มีการสมัครบริการใหม่เมื่อปีก่อนเหลืออยู่เพียง 44% ที่ยังใช้งานต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ บริการเหล่านี้ย่อมต้องเสียค่าสมาชิกรายเดือน แต่ทั้งที่ไม่มีการใช้งานแล้ว ผู้บริโภคก็ยังไม่ยอมยกเลิกสมาชิกด้วยเหตุผลหลักคือ “หวังว่าตนเองจะกลับมาสนใจทำกิจกรรมนั้นอีกครั้ง” ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องเสียเงินเปล่าทุกเดือน

คลาสออกกำลังกายออนไลน์ อีกหนึ่งบริการสุดฮิตที่คนสมัครทิ้งไว้

จากงานวิจัยนี้ พบว่าคนอังกฤษเสียเงินค่าสมาชิกเปล่าๆ เฉลี่ยเดือนละ 10 ปอนด์ (ประมาณ 422 บาท) สำหรับการทำกิจกรรมอดิเรก เช่น คอร์สออกกำลังกาย และเฉลี่ย 15 ปอนด์ (ประมาณ 633 บาท) สำหรับบริการต่างๆ เช่น สตรีมมิ่งหนัง สตรีมมิ่งเพลง ระบบประชุมออนไลน์ ตัวเลขนี้อาจจะดูไม่มาก แต่ถ้ารวมตลอดทั้งปีก็เป็นเงินก้อนใหญ่ไม่น้อย

แล้วทำไมเราไม่ยกเลิกสิ่งที่รู้ว่าไม่ได้ใช้? งานวิจัยนี้พบว่า คน 18% ยังคงหวังว่าตัวเองจะได้ใช้บริการอีกจึงไม่ยกเลิก ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนอีก 18% ให้เหตุผลว่าต่อสมาชิกเพราะคนรอบตัว เช่น เพื่อน ครอบครัว ก็ยังใช้กันอยู่ ทำให้ไม่กล้ายกเลิกสมาชิกเพราะกลัว ‘คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง’

นอกจากบริการที่ต้องสมัครเสียค่าสมาชิกรายเดือนแล้ว งานอดิเรกที่เคยฮิตกันช่วงล็อกดาวน์ เช่น ทำขนม ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ก็เหลือคนเพียง 50% ที่ยังทำอยู่ ในบรรดาคนที่เลิกทำกิจกรรมไปแล้ว 19% ยอมรับว่าเลิกตั้งแต่ได้ลองไปแค่ไม่กี่ครั้ง

ยังจำยุคสมัยที่ทุกคนหัดอบขนมได้หรือเปล่า?

สำหรับ บริการยอดฮิต ที่คนมักจะสมัครช่วงล็อกดาวน์ กลุ่มแรกคือสตรีมมิ่งความบันเทิงต่างๆ เช่น ซีรีส์ หนัง เพลง เกม รองลงมาคือ บริการที่เกี่ยวกับชีวิตภายในบ้าน เช่น อาหารกล่องรายเดือน กาแฟเดลิเวอรีรายเดือน คลาสออกกำลังกาย

ส่วน กิจกรรมยอดฮิต จากช่วงล็อกดาวน์ ได้แก่ อบขนม/ทำอาหาร ทำสวน อ่านหนังสือ และที่เพิ่งมาแรงในช่วงล็อกดาวน์ระลอกหลังๆ คือ ศิลปะ/งานฝีมือ

“การเช็กบัญชีการเงินของตัวเองเป็นประจำคือเรื่องสำคัญ คุณต้องมั่นใจว่าคุณยังใช้บริการในสิ่งที่ตัวเองจ่ายค่าสมาชิกไปทุกเดือนๆ ถ้าไม่ใช้แล้วก็ควรจะยกเลิก เพราะเงินจำนวนน้อยๆ นั้นเมื่อทบกันไปนานก็จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้” วินเซนต์ กัวดาญีโน ผู้จัดการ Direct Line Life Insurance เจ้าของงานวิจัย กล่าวปิดท้าย

Source

]]>
1322138