ห้างไอที – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 20 Apr 2023 12:07:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ย้อนตำนานห้าง “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” 4 สาขา กับการปรับตัวหลังกระแสธุรกิจ “ไอที” เปลี่ยนทิศ https://positioningmag.com/1428066 Thu, 20 Apr 2023 12:06:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1428066 ครั้งหนึ่ง “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” เคยเป็นตำนาน “ห้างไอที” ของเมืองไทย ศูนย์รวมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่และครบมากที่สุด จนกระทั่งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไอทีมาถึง พัดพาความร่วงโรยมาสู่พันธุ์ทิพย์ ทำให้ศูนย์การค้าแห่งนี้ทั้ง 4 สาขาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

“แต่ไม่ไปพันธุ์ทิพย์ แต่ไม่ไปพันธุ์ทิพย์แน่นอน” เนื้อเพลงท่อนฮุกของนักร้องดัง “เสก โลโซ” ดังก้องขึ้นมาในความทรงจำเมื่อพูดถึงห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า พร้อมด้วยภาพผู้คนขวักไขว่เลือกซื้ออุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์ หรือแบกซีพียูมาจากบ้านเพื่อนำมาส่งซ่อมร้าน

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2527 โดยเจ้าของมือแรกคือตระกูลบุนนาค แรกเริ่มไม่ได้เป็นห้างไอที แต่เป็นศูนย์การค้าทั่วไปที่มีโรงภาพยนตร์และภัตตาคาร อย่างไรก็ตาม ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นในย่านประตูน้ำ ทำให้สุดท้ายตัดสินใจขายให้กับ “กลุ่มทีซีซี” ของตระกูลสิริวัฒนภักดีไปในปี 2531 ปิดดีลด้วยมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท

หลังจากนั้น ทีซีซีเริ่มการปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ เป็นผู้ปั้นให้ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ กลายเป็นห้างไอที ชักนำผู้ประกอบการเข้ามาเปิดร้าน และมีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดในยุคทศวรรษ 2540-2550 ยุคที่แต่ละครัวเรือนต่างก็มีคอมพิวเตอร์ประกอบใช้งาน และเป็นยุคเฟื่องฟูของแผ่นซีดีเพลง-ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ กลายเป็นแหล่งใหญ่ในการซื้อหา

หลังจากความเป็นห้างไอทีประสบความสำเร็จที่ประตูน้ำ ทำให้พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าขยายสาขาไปอีก 3 สาขาโดยใช้ธีมห้างไอทีเหมือนกัน คือ สาขาเชียงใหม่ สาขางามวงศ์วาน และสาขาบางกะปิ

ทว่าต่อมาสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึงอีกครั้ง ในช่วงหลังปี 2550 พฤติกรรมผู้บริโภคก็เริ่มเปลี่ยนไป จากการซื้อคอมพิวเตอร์ประกอบ เริ่มหันมาซื้อโน้ตบุ๊กพกพามากขึ้น และเริ่มนิยมการ “ซื้อใหม่” มากกว่า “ซ่อม” นั่นทำให้การเป็นศูนย์รวมอะไหล่และอุปกรณ์คอมพ์ของพันธุ์ทิพย์เริ่มจำเป็นน้อยลง เพราะผู้บริโภคสามารถซื้อเครื่องใหม่ได้ที่ร้านไอทีในศูนย์การค้าใกล้บ้าน

ทางกลุ่มทีซีซีจึงเริ่มต้องหาจุดขายใหม่เพื่อให้พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าทุกสาขายังน่ากลับมาเดินอีกครั้ง

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ

ในช่วงปี 2557 ทีซีซีมีการปรับโฉมใหม่ในสาขาประตูน้ำ พร้อมกับคอนเซ็ปต์ใหม่ “เทคไลฟ์ มอลล์” คือเป็นห้างไอทีสมัยใหม่ นิยามเรื่องไอทีให้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ แต่ยังมีไอทีด้านอื่นของชีวิต เช่น เครื่องเสียง อุปกรณ์สมาร์ทโฮม อุปกรณ์ไอทีสำหรับสำนักงาน เกม ของเล่นวัยเด็ก ฯลฯ รวมถึงมีโคเวิร์กกิ้งสเปซมาเสริมทัพ โดยทีซีซีวางแพลนปรับปรุงทั้งอาคารจากเดิมเป็นอาคารแบบโคโลเนียลมาเป็นสไตล์ที่ทันสมัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าของห้างกลับต้องเจอกระแสต่อต้านและประท้วงของผู้เช่าในศูนย์ฯ เพราะผู้เช่ามองว่า การก่อสร้างปรับปรุงที่ยาวนานมากกว่า 1 ปี ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าพันธุ์ทิพย์จะปิดตัว จนลูกค้ามาเดินห้างน้อยลง ยังผลให้ยอดขายของร้านตกลง ที่สุดแล้วร้านค้ารายย่อยที่เคยมีมากกว่า 600 รายจึงทยอยย้ายออกจนเหลือราว 300 รายในปี 2558

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ หลังรีโนเวตเป็น เทค-ไลฟ์ มอลล์ เสร็จในปี 2559

ในที่สุดพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำก็ปรับโฉมเสร็จในปี 2559 พร้อมกับเปิดตัว “Pantip e-Sport Arena” สร้างจุดดึงดูดใหม่ให้วัยรุ่นมาเดินห้าง

แม่เหล็กใหม่นี้ดูจะช่วยต่อลมหายใจได้ระยะหนึ่งแต่ก็ไม่ยั่งยืน กระแสของพันธุ์ทิพย์แผ่วลงอีกครั้งเมื่ออีคอมเมิร์ซบูมในปี 2560 ทำให้ผู้บริโภคยิ่งสะดวกในการหาซื้อสินค้าไอทีทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์แทนการเดินห้าง หนำซ้ำห้างยังเผชิญโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กระหน่ำจนต้อง “ฉีก” แนวไปโดยสิ้นเชิง

ปลายปี 2563 มีการประกาศที่ปิดตำนาน “พันธุทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ” ไปโดยสิ้นเชิง เพราะห้างถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “AEC Trade Center Pantip Pratunam” เลิกเป็นห้างไอที และหันมาเป็นศูนย์ค้าส่งสารพัดสินค้าแทน

เปลี่ยนรอบล่าสุดเป็น AEC Food Wholesale Pratunam

อย่างไรก็ตาม ด้วยโควิด-19 ที่ไม่จบลงง่ายๆ และคอนเซ็ปต์ที่อาจจะยัง “ไม่โดน” ทำให้ในปี 2566 มีการปรับคอนเซ็ปต์อีกครั้งเป็น “AEC Food Wholesale Pratunam” เพื่อจะโฟกัสไปที่การค้าส่งวัตถุดิบอาหารโดยเฉพาะ หมายมั่นจะเป็นแหล่งรวมอาหารจากทั่วโลก เพื่อจับคู่กับผู้ซื้อกลุ่มโรงแรม-ร้านอาหารในอาเซียน

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่

ห้างไอทีที่บุกโซนภาคเหนือ เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับที่ประตูน้ำเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วประเทศไม่ต่างกัน ที่สาขาเชียงใหม่เคยรับโมเดลธุรกิจแบบเดียวกันมาใช้คือ เสริมฟังก์ชัน “Pantip e-Sport Arena” สาขา 2 เข้าไป แต่ก็ไม่เวิร์กเช่นกัน

จุดดึงดูดของพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่ในระยะหลังกลับกลายเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงเรียนสอนพิเศษแทน นั่นทำให้แผนปี 2566 พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่จะถูกปรับเป็น “The Pantip Lifestyle Hub”

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า
พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ รีโนเวตเป็น The Pantip Lifestyle Hub

สาขานี้ยังเก็บชื่อเก่าเอาไว้แต่คอนเซ็ปต์ใหม่ทั้งหมด จะมีการรีโนเวตทั้งห้างให้กลายเป็นศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ เน้นสัดส่วนหลักคือ แหล่งกิจกรรมเยาวชน เช่น โรงเรียนสอนพิเศษ ศูนย์การเรียนรู้ สนามเด็กเล่นในร่ม , ศูนย์รวมร้านอาหารชั้นนำ และตลาดนัดไลฟ์สไตล์ ขายสินค้าที่เข้ากับความเป็นเชียงใหม่ เช่น งานศิลปะ สินค้าทำมือ

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน

ใน 4 สาขาของพันธุทิพย์ พลาซ่า ปัจจุบันสาขางามวงศ์วานน่าจะเป็นสาขาที่ “อยู่รอด” ได้มากที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ที่เคยเป็นห้างไอที มีส่วนหนึ่งของห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วานที่มีผู้เช่าเป็นกลุ่ม “ศูนย์พระ” อยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อฝั่งไอทีเริ่มนิยมลดลง ในปี 2562 ทีซีซีจึงเลือกดันส่วนศูนย์พระให้ขยายใหญ่ขึ้น โดยปัจจุบันมีเนื้อที่ 2 ชั้นเต็มๆ ในห้างแห่งนี้ที่กลายเป็นแหล่งรวมวัตถุมงคลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง เครื่องราง ของขลัง ดึงดูดเหล่าเซียนพระให้มาเดินเลือกชม

พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน

พร้อมกับการดันสนามพระให้ขยายตัว สาขางามวงศ์วานยังปั้น “ตลาดนัดติดแอร์” เฉพาะวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ขึ้นด้วย ซึ่งมีจุดเด่นที่การขายของมือสอง

 

พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ

ปัจจุบันมีการปรับตัวที่คล้ายกับสาขางามวงศ์วาน คือดึงกลุ่มสนามพระเข้ามาเปิดกิจการ และมีการดึงหน่วยงานภาครัฐเข้ามา เช่น สำนักงานประกันสังคม สำนักงานจัดหางาน ศูนย์ฝึกวิชาชีพ

*สาขานี้ยังเปิดให้บริการ แต่ไม่อยู่ในพอร์ตของ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC)

ต้องรอชมทั้งสาขาประตูน้ำและเชียงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้าไปอย่างชัดเจนว่า จะสามารถปั้นให้(อดีต)พันธุ์ทิพย์ พลาซ่ากลายเป็นห้างแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้หรือไม่

]]>
1428066
ทำไม AWC ต้องยกเครื่อง “พันธุ์ทิพย์” เป็นศูนย์ค้าส่ง ปิดฉาก 36 ปี ห้างไอทีในตำนาน https://positioningmag.com/1303992 Mon, 02 Nov 2020 13:01:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303992 ย้อนกลับไปเมื่อปี 2527 จุดเริ่มต้นของยุครุ่งโรจน์ของพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ห้างใหญ่ย่านประตูน้ำที่ใครๆ ก็นึกถึง ด้วยดีไซน์ทันสมัยมากๆ (ในยุคนั้น)

เมื่อ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งทีซีซี กรุ๊ป ได้เข้ามาซื้อกิจการต่อในปี 2530 “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าได้รับการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นเเลนด์มาร์กของคนไอที ใครจะซื้อคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก มือถือ อุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องชวนกันไปดูของที่นั่น เป็นห้างไอทีในตำนานที่มีชื่อติดลมบน จนเป็นหนึ่งในเพลงของวงร็อคชื่อดังอย่าง LOSO

จากประตูน้ำ ได้ขยายสาขาไปยังพันธุ์ทิพย์ บางกะปิ และพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน กลายเป็นต้นเเบบ “ไอทีมอลล์ในเมืองไทย ที่มีห้างอื่นๆ แห่เปิดตามกันในเวลาต่อมา

ในปี 2559 “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำขยับอีกครั้งด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่เทคไลฟ์ มอลล์ตามความนิยมของยุคสมัยที่ยังเน้นความเป็นแหล่งเทคโนโลยี เเต่มีการเพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์เข้ามา เช่นโซนพระเครื่องก็ได้รับความนิยมไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีโซน Co-working Space สำหรับผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพให้มีมุมทำงานนอกออฟฟิศ รวมถึงเจาะตลาดเกมเมอร์สร้าง E-Sport Arena บุกเรื่องอีสปอร์ตอย่างจริงจัง

เเต่หลายทศวรรษผ่านไป ต้องยอมรับว่าค้าปลีกไอทีไม่มีวันเหมือนเดิม เราสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ผ่านปลายนิ้วคลิก หมดยุคการเดินไปเลือกซื้อตามตึกคอม เมื่อสินค้าสเปกดี ราคาถูกลงนั้นเข้าถึงง่าย  มีให้เลือกซื้อใกล้บ้านส่งเร็ว ผู้คนไม่นิยมประกอบคอมเองอีกต่อไป จึงถึงเวลาที่ห้างไอทีเก่าเเก่ต้องปรับตัวไปจนถึงขั้นเปลี่ยนธุรกิจไปเลย

ภาพของศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ หลังการปรับเป็น “เทค-ไลฟ์ มอลล์” ในปี 2559

ทำไมต้องเป็นศูนย์ค้าส่ง ?

มาถึงในปี 2563 ครบ 36 ปีที่ห้างไอทีในตำนาน ต้องปิดฉากลงเเล้ว

ก่อนหน้านี้ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้บริหารพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำออกมาส่งสัญญาณว่า จะมีการยกเครื่องใหม่ เมื่อการเป็นห้างไอทีอยู่ยากเเล้วในยุคนี้

ล่าสุด ศูนย์ไอทีย่านประตูน้ำ กำลังจะเเปลงร่างเป็นศูนย์ค้าส่งที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกเเห่งอาเซียน ด้วยช่องว่างในตลาดที่ยังมีโอกาสอยู่มาก เเละยังไม่มีศูนย์ค้าส่งใหญ่ๆ ในไทย

โดย AWC ได้ประกาศเปลี่ยนพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ สู่ธุรกิจ Wholesale ด้วยคอนเซ็ปต์ ศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติครบวงจรของอาเซียน ที่มีชื่อว่า AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการในวันที่ 26 พฤศจิกายน นี้ โดยใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาทในการปรับพื้นที่ วางระบบอาคารเเละการขนส่งต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์ค้าส่งแห่งใหญ่ใจกลางเมือง ด้วยพื้นที่รวมกว่า 30,000 ตร..

โดยชื่อเต็มๆ ของ AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION มาจากการรวมคำที่เป็น “Keyword” ของธุรกิจ เพื่ออธิบายถึงความเป็นอาเซียนด้วยคำว่า AEC ตามด้วยความเป็นศูนย์ค้าส่ง – TRADE CENTER เเละคำว่า WHOLESALE ซึ่งยังคงคำว่า PANTIP (พันธุ์ทิพย์) ไว้เพราะเป็นชื่อที่คุ้นหูผู้คนมานาน ส่วนคำว่า DESTINATION นั้น อธิบายถึงคอนเซ็ปต์ของรีเทลยุคใหม่ที่ต้องปรับเป็นจุดหมายที่รวมความน่าสนใจของสินค้าและบริการต่างๆ ไว้ 

อย่างไรก็ตาม ชื่อใหม่ของ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ ดูจะยาวเเละ “จำยาก” ไปเสียหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้อง “รีเเบรนด์ใหม่” เเละลบภาพจำห้างไอทีดั้งเดิม ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขยายการรับรู้อยู่ไม่น้อย 

ปรับโฉมใหม่เป็น AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ศูนย์ค้าส่งเเห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนไทย ทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า เป็นโอกาสที่จะขยายตลาดขายสินค้าให้กลุ่มลูกค้าใหม่ ได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความนิยมสินค้าไทยสูงมาก

“ย่านประตูน้ำมีชื่อเสียงด้านค้าส่งอยู่เเล้ว เเละตอนนี้เมืองไทยยังไม่มีธุรกิจค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีทำเลอยู่ใจกลางกรุงเทพ AWC จึงมองว่าโอกาสที่ดีที่จะปั้นพันธุ์ทิพย์ให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติ” 

โดยศูนย์ค้าส่งแห่งนี้ จะเชื่อมโยงการส่งออกและนำเข้าสินค้าของภูมิภาคผ่านโครงการ AEC TRADE CENTER ประตูน้ำพระอินทร์ที่มีทำเลขนาด 160 ไร่ ในตำบลเชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติม วางเเผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2564 นี้

หลังจากนั้น AWC มีเเผนจะขยายไปยังพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีที่ดินเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่การก่อสร้างเท่านั้น เเต่จะสร้างเมื่อไรนั้นต้องรอดูสถานการณ์ก่อน

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC

อัดโปรใจป้ำ “ให้เช่าฟรี 6 เดือน” 

อนันต์ ลาภสุขสถิต หัวหน้ากลุ่ม Wholesales Business Officer บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป เสริมว่า ธุรกิจค้าส่งเป็นรูปเเบบธุรกิจที่เข้ากับย่านประตูน้ำ ที่มีทั้งสินค้าเสื้อผ้าเเฟชั่น เเละศูนย์ไอทีค้าส่งอยู่เเล้ว

“AEC TRADE CENTER เป็นโมเดลทดลองธุรกิจใหม่ของ AWC ที่ต้องการช่วยเหลือคนไทย เรายังมีที่ดินอีกจำนวนมากที่จะสานต่อธุรกิจนี้ให้เป็นศูนย์กลางค้าส่งในภูมิภาค

หากดูจากความนิยมของมหกรรม Thaifex งานแสดงนวัตกรรมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทย ที่มีผู้ซื้อจากทั่วโลกเดินทางมาทำ Business Matching ในงานจำนวนมาก เเต่ติดปัญหาว่ามีเวลาเเค่ 4 วันเช่นเดียวกับงาน STYLE Bangkok แหล่งสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งจัดปีละครั้ง ก็มีผู้สนใจร่วมงานจำนวนมาก เเต่ผู้ส่งออกยังไม่มีหน้าร้านเเสดงสินค้าเเบบถาวร

เหล่านี้เป็น Pain Point ที่ทาง AEC TRADE CENTER ต้องการเข้ามาแก้ไขเเละวางคอนเซ็ปต์ห้างพันธุ์ทิพย์ใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งแบบวันสต็อปครบวงจรใจกลางกรุงเทพฯ แห่งแรกของไทย ช่วยให้คู่ค้าสามารถเจรจาธุรกิจได้ตลอด 365 วัน สร้างโอกาสสำคัญให้คู่ค้าได้มาสรรหา (Sourcing) สินค้าในพื้นที่เดียวประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา เข้ากับการค้าขายในยุค New Normal

เบื้องต้น AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION จะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะเข้ามาขายสินค้า โดยเน้นผลักดันให้มีสินค้าจากผู้ผลิตต้นน้ำที่มีคุณภาพ เเละมีความหลากหลาย เช่น เฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์ตกแต่งภายใน ของเล่น ของชำร่วย เครื่องเขียน ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน นวัตกรรมการพิมพ์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่แสดงสินค้า และศูนย์ SMEs Service Solution (SSS) ซึ่งจะมีสตูดิโอถ่ายภาพเพื่อให้ผู้ค้าสามารถใช้บริการถ่ายทอดสดออนไลน์ (Live Streaming) ห้องประชุม และสัมมนาขนาดย่อม พื้นที่ให้บริการคำปรึกษาด้านธุรกิจ ที่จะเชื่อมโยงกลุ่มผู้ซื้อ ทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าสินค้า ทั้งภายในประเทศ ระหว่างภูมิภาค และทั่วโลก

ในเฟสแรกคาดว่าจะมีร้านค้าเข้ามาทั้งสิ้น 300 ร้านค้า ซึ่ง AWC มีโปรโมชันดึงดูดใจอย่างการไม่คิดค่าเช่านาน 6 เดือนจากปกติพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำจะมีค่าเช่าตั้งเเต่ 800-7,000 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เลยทีเดียว

มีการประเมินว่า โปรโมชันให้เช่าฟรี 6 เดือนในครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 300 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของอาคารตามที่กล่าวมาข้างต้นอีก 200 กว่าล้านบาท รวมๆ เเล้ว AWC ทุ่มใช้งบไปกับโครงการนี้ถึง 500 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้เช่าเดิมเหลืออยู่บางส่วนราว 10-15% ซึ่งจะมีการดูเเลเเละพูดคุยกันต่อไป โดยอาจจะต้องพัฒนาไปขายในรูปแบบค้าส่ง จากนั้นไตรมาสแรก ปี 2564 จะเปิดเต็มพื้นที่ทั้งอาคารกว่า 50,000 ตารางเมตร คาดทั้งโครงการจะมีผู้เช่าเต็มพื้นที่ราว 500 ร้านค้า โดยได้ลงนามกับสมาคมการค้า 11 แห่งในไทย เพื่อดึงดูดสมาชิกของหอการค้าฯ ที่มีอยู่ถึง 1 เเสนรายให้เข้ามาตั้งร้านค้าต่อไป

ตั้งเป้าเงินสะพัด “พันล้าน” ต่อเดือน เเม้เปิดช่วง COVID-19 

เเม้การค้าขายในโลกทุกวันนี้ จะปรับไปสู่เเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเเล้ว ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของธุรกิจ “ค้าส่ง”

โดยผู้บริหาร AWC มองว่า อย่างไรเเล้วการค้าปลีกก็ต้องควบคู่กันไปเเบบ “ออนไลน์-ออฟไลน์” การซื้อสินค้าน้อยชิ้นสั่งออนไลน์ได้ เเต่หากต้องซื้อในรูปเเบบค้าส่ง การสั่งซื้อ “บิ๊กล็อต” ระดับเเสนบาทขึ้นไป ก็ยังมีความจำเป็นที่คู่ค้าต้องเห็นและสัมผัสสินค้าจริง รวมไปถึงการเจรจาต่อรองเเบบเจอหน้ากัน เพื่อสร้างความมั่นใจของทั้งสองฝ่าย

“ในเฟสแรก เราหวังว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เเม้ตอนนี้จะมีเเต่ลูกค้าคนไทยเป็นหลัก เเต่บริษัทต่างๆ น่าจะมาซื้อของเพื่อจัดเทศกาลปีใหม่กันเยอะ หากอนาคตมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ก็คาดว่าจะเห็นเงินสะพัดถึง 4,000-5,000 ล้านบาทต่อเดือน” 

นอกเหนือจากช่องทางออฟไลน์แล้ว ยังเตรียมที่จะเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นทั้งเว็บไซต์เเละเเอปพลิเคชัน ภายใต้ชื่อ ‘ฟีนิกซ์บ็อก’ (Phenixbox) ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้าสามารถติดต่อกับคู่ค้าต่างประเทศได้ทุกช่องทาง คาดว่าจะเปิดตัวในเฟส 2 ช่วงต้นปีหน้า

เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเติบโตได้ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) และจีน บริษัทได้ร่วมมือกับความร่วมมือกับ Zhejiang China Commodities City Group Co., Ltd. (CCC Group) รัฐวิสาหกิจผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู (Yiwu) ประเทศจีน จัดศูนย์แสดงสินค้า Yiwu Selection Thailand Showcase” และศูนย์ให้บริการด้านการส่งออกไปยังจีนใน IC Mall” เชื่อมโยงช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการจะส่ง
ออกสินค้าไปยังประเทศจีนด้วย 

ผู้บริหาร AWC มองว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ปลุกปั้นให้ AEC TRADE CENTER เป็นที่รู้จักในวงกว้างก่อน โดยหัวใจของศูนย์ค้าส่ง คือ “การขายของได้” ดังนั้นหากผ่านช่วงโปรโมชันไม่คิดค่าเช่า 6 เดือนไปแล้ว ยังมีผู้เช่าอยู่ต่อ เเละเพิ่มขึ้นในระดับที่วางไว้…ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

ต้องมาลุ้นกันว่า ก้าวใหม่ของ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” สู่ศูนย์ค้าส่งระดับอาเซียน จะเป็นไปในทิศทางไหน เสียงตอบรับจะเป็นอย่างไร เมื่อยังคงมีอุปสรรครออยู่อีกมาก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่เเน่นอนหลังวิกฤต COVID-19 

 

]]>
1303992