ครบรอบ 3 ปีหลัง “อาร์เซลิก” จากตุรกี และ “ฮิตาชิ” จากญี่ปุ่น ควบรวมกิจการกัน (*เฉพาะกิจการนอกประเทศญี่ปุ่น) โดยในเชิงการตลาดแบรนด์ยังคงใช้ชื่อ “ฮิตาชิ” ต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และฐานผลิตสินค้าของฮิตาชิที่ จ.ปราจีนบุรี ยังเดินเครื่องต่อเพราะเป็นฐานผลิตส่งออกไปกว่า 65 ประเทศทั่วโลก (อ่านข้อมูลย้อนหลังในช่วงควบรวมกิจการได้ที่นี่)
ขณะที่การพัฒนาปรับเปลี่ยนต่างๆ หลังผ่านไป 3 ปี “ซาแฟร์ อัสทูเนอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ กล่าวว่า บริษัทมีการเพิ่มสินค้าจำนวนมากตามแผนงานที่วางไว้ ยกตัวอย่างปีนี้ผ่านมากว่าครึ่งปี ฮิตาชิออกสินค้าใหม่ไปแล้วกว่า 120 SKUs
ฮิตาชิยังมีการวางสโลแกนใหม่ “The Art of Ease” ปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ผู้บริโภคเห็นว่าฮิตาชิมีดีไซน์ที่ทันสมัยขึ้น คู่ไปกับนวัตกรรมและความพิถีพิถันในสไตล์ญี่ปุ่น รวมถึงสื่อสารไปยังกลุ่ม Gen Y มากกว่าเดิม เพื่อให้คน Gen Y ได้รู้จักความเป็นฮิตาชิ เหมือนที่คน Gen X จดจำแบรนด์ได้
ด้านตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2567 ซาแฟร์ไม่ได้ให้ตัวเลขประมาณการที่ชัดเจน แต่มองว่าสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความไม่มั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปีนี้จะทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า โดยเชื่อว่าผู้บริโภคจะหันมา “ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพคงทนยาวนานขึ้นเพื่อให้คุ้มค่า” และต้องการสินค้าที่ “ประหยัดพลังงาน” เพราะค่าไฟฟ้าที่ถีบตัวสูงขึ้น
การสื่อสารการตลาดของฮิตาชิจะเน้นในแง่มุมนี้ คือให้ผู้บริโภคเห็นว่าการจ่ายสูงกว่าให้กับสินค้าคุณภาพจะได้ของที่ทนทานกว่า และได้นวัตกรรมช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าด้วย ในอีกมุมหนึ่งการซื้อสินค้าที่ใช้ทนยังเป็นการช่วยเรื่อง “ความยั่งยืน” ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องผลิตใหม่ออกมามากๆ เพื่อชดเชยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พัง
ซาแฟร์กล่าวว่าฮิตาชิเน้นการเป็นสินค้าเพื่อความยั่งยืนมาโดยตลอด และมีเป้าหมายไปสู่การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ภายในปีค.ศ. 2030 ซึ่งทางแบรนด์ก็หวังว่าผู้บริโภคไทยจะใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะอันที่จริงแล้วภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมาก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเสี่ยงภัยจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี จึงอยากเห็นคนไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้
ประเด็นเรื่องการจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือ “Green Products” นั้นเป็นสิ่งที่นักการตลาดพูดคุยกันมานานเพราะยังเป็นเรื่องยาก(แต่ต้องทำ)ในตลาดเอเชียแปซิฟิก (APAC)
มีงานวิจัยจาก Kantar ที่ปรึกษาด้านการตลาด พบว่า ผู้บริโภค 60% ใน APAC สนใจที่จะซื้อสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีเพียง 18% เท่านั้นที่ยอมควักกระเป๋าซื้อจริง แถมมีแค่ 11% ที่มีการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง เหตุผลก็เพราะ Green Products มักจะเป็นสินค้าที่แพงกว่าสินค้าทั่วไป และผู้บริโภคใน APAC ก็ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม ฮิตาชิถือเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มตลาดพรีเมียม ทำให้เรื่องกำลังซื้อที่จะยอม “จ่ายมากกว่า” เพื่อสิ่งที่ทนทานกว่าก็มีแนวโน้มเป็นไปได้เช่นกัน
]]>หน่วยธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของ “ฮิตาชิ” เฉพาะตลาดนอกประเทศญี่ปุ่น ควบรวมกิจการกับ “อาร์เซลิก” ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าตุรกีสำเร็จเรียบร้อยเมื่อช่วงกลางปี 2564 กลายเป็นบริษัทใหม่คือ “อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์” โดยบริษัทนี้จะเป็นผู้ดูแลการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าฮิตาชิทุกชนิดใน 65 ประเทศนอกประเทศญี่ปุ่น (*ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ) และจะใช้แบรนด์เดิมต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนชื่อ
“ซาแฟร์ อัสทูเนอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทคู่พาร์ทเนอร์อยู่ระหว่างการ ‘synergy’ แผนการผลิตและการรวมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นการพัฒนาที่มาจากการจอยต์เวนเจอร์ได้ตั้งแต่ปีนี้
โดยเป้าหมายของอาร์เซลิก ฮิตาชิ คือการขึ้นเป็น “Top 3” ของตลาด “เครื่องใช้ไฟฟ้า” ในทุกๆ ประเทศที่มีการวางจำหน่าย ทั้งนี้ บริษัทไม่มีการวางกรอบกำหนดที่ชัดเจนว่าต้องทำเป้าให้ได้ภายในกี่ปี
ซาแฟร์กล่าวต่อว่า จากแผนที่จะขึ้นสู่ Top 3 ให้สำเร็จ บริษัทจะต้องผลิตสินค้าให้หลากหลายขึ้น เช่น มีไซส์ให้เลือกหลายแบบ มีฟีเจอร์ที่แตกต่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกรูปแบบ
ทำให้ปี 2566 นี้อาร์เซลิก ฮิตาชิมีแผนการเปิดตัวสินค้าใหม่รวม 361 SKUs ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนราว 10% ในจำนวนนี้จะมีสินค้าไฮไลต์คือ ตู้เย็นพรีเมียมแบบ 4 ประตู, ตู้เย็นฮิตาชิ คาร์บอน ไลน์, เครื่องซักผ้ารุ่น BD-D120XGV มีโปรแกรมกำจัดแบคทีเรียและทำความสะอาดถังซักอัตโนมัติ, เครื่องซักผ้ารุ่น BD-100XFVEADM มีเทคโนโลยีลดรอยยับให้เสื้อผ้า, เครื่องดูดฝุ่นรุ่น PV-XH3M น้ำหนักเบา 1.8 กิโลกรัม และเป็นครั้งแรกที่ฮิตาชิจะมี “เครื่องล้างจาน” ออกสู่ตลาดด้วย
ด้าน “คาซูชิ โคบายาชิ” ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ จำกัด เสริมว่า สำหรับตลาดประเทศไทยถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 ของฮิตาชิหากไม่นับประเทศญี่ปุ่น โดยมีส่วนแบ่งในรายได้รวมบริษัทถึง 15% รวมถึงเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุดด้วย
สินค้าเรือธงของอาร์เซลิก ฮิตาชิทั่วโลกจะเป็นกลุ่ม “ตู้เย็น” ซึ่งในไทยเองฮิตาชิถือเป็นแบรนด์ตู้เย็นในระดับ Top 3 เรียบร้อยแล้ว ทำให้หลังจากนี้บริษัทจะมีแผนทั้งการรักษาฐานในกลุ่มตู้เย็นไว้ให้ได้โดยมีเป้าจะเติบโตในกลุ่มนี้แบบ ‘ดับเบิล ดิจิต’ และจะสร้างโอกาสในสินค้าประเภทอื่นๆ เพิ่ม
ทางอาร์เซลิก ฮิตาชิขอไม่ระบุว่าสินค้าประเภทอื่นที่จะผลักดันคืออะไร แต่จากการไฮไลต์สินค้ากลุ่มเครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องล้างจาน ทำให้เห็นทิศทางว่าเป็นไปได้ที่สินค้าเหล่านี้คือตลาดที่ฮิตาชิต้องการเจาะเข้าไปให้ได้
สำหรับฐานผลิตของอาร์เซลิก ฮิตาชิ ปัจจุบันมีฐานใหญ่ 2 แห่ง คือ ไทย และ จีน ซึ่งกว่า 50% ของการผลิตสินค้าเกิดขึ้นที่โรงงาน จ.ปราจีนบุรี ในไทยจะเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว
ซาแฟร์กล่าวตอบถึงคำถามเรื่องความท้าทายของนโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่รัฐบาลไทยอาจมีการปรับขึ้นว่า ไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาฐานผลิตในไทยของอาร์เซลิก ฮิตาชิ เพราะแรงงานไทยเป็นแรงงานทักษะสูง และไทยเป็นฐานตลาดใหญ่ด้วย บริษัทจึง “ไม่มี” แผนที่จะย้ายฐานผลิตออกจากไทย
“แรงงานนั้นถ้าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมในการทำงาน มีทักษะที่สูงขึ้น ทำงานโดยใช้เวลาน้อยลงได้ ค่าแรงปกติก็ต้องขึ้นตามประสิทธิภาพไปอัตโนมัติโดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลปรับเพิ่ม” ซาแฟร์กล่าว
ปิดท้ายที่ภาพรวมตลาด “เครื่องใช้ไฟฟ้า” ไทยปี 2566 คาซูชิมองภาพใหญ่ว่าปีนี้ยังถือเป็นช่วง “ฟื้นตัว” ยกเว้นตลาดเครื่องปรับอากาศที่ขายดีมากเพราะเป็นปีที่อากาศร้อนจัดจนดีมานด์พุ่งสูง
ทั้งนี้ แบรนด์คู่แข่งอย่าง “โตชิบา” เคยให้ข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยมีมูลค่ารวม 45,000 ล้านบาท เติบโต 14% แต่ไส้ในของการเติบโตแทบจะมาจากเครื่องปรับอากาศทั้งหมด เพราะถ้าตัดหมวดแอร์ออกไป ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะติดลบเล็กน้อย -1%
]]>