ย้อนไปเมื่อปลายปี 2563 เกิดดีลสำคัญขึ้นเมื่อ หน่วยธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า “ฮิตาชิ” กลุ่มนอกประเทศญี่ปุ่น ควบรวมกิจการกับ “อาร์เซลิก” บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากตุรกี โดยฝั่งตุรกีถือหุ้น 60% และฮิตาชิถือ 40% กลายเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ “อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์”
อาร์เซลิก นั้นเป็นบริษัทในเครือของ “คอช กรุ๊ป” ยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจหลากหลายในประเทศตุรกี ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของอาร์เซลิกมีตลาดอยู่ใน 45 ประเทศทั่วโลก แบรนด์ในเครือนี้ที่คนไทยพอจะคุ้นเคยคือ “เบโค” (Beko) เพราะเข้าทำตลาดไทยมาตั้งแต่ปี 2557
อาร์เซลิกมีนโยบายที่จะบุกตลาดเอเชียแปซิฟิกมานาน ทำให้การตั้งจอยต์เวนเจอร์กับฮิตาชิถือว่าเข้าเป้า เพราะแบรนด์ฮิตาชินับว่าแข็งแกร่งมากในตลาดแถบนี้ และมีการส่งออกไป 65 ประเทศ
การควบรวมครั้งนี้ทำให้บริษัทจอยต์เวนเจอร์เป็นเจ้าของแหล่งผลิต และมีสิทธิบริหารการจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ฮิตาชินอกประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด (ยกเว้นเครื่องปรับอากาศซึ่งไม่ได้อยู่ในดีลนี้ ต้องเจรจาเป็นรายประเทศ ทั้งนี้ ในไทยยังเป็นสิทธิจัดจำหน่ายของอาร์เซลิก ฮิตาชิ)
ปัจจุบันฮิตาชิมีแหล่งผลิต 2 แห่ง คือ ไทย และ จีน ซึ่งสินค้าเกินกว่า 50% ผลิตในไทยนี้เอง เป็นสินค้าประเภทเครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว ส่วนสำนักงานใหญ่มีทั้งหมด 8 ประเทศ แต่ตลาดใหญ่ที่สุดคือ ไทย และ จีน หากไม่นับประเทศญี่ปุ่น
ข้อมูลเดิม เมื่อปี 2561 ฮิตาชิเคยทำรายได้ในไทย 5,000 ล้านบาท และเป็นผู้นำอันดับ 1 ในกลุ่ม “ตู้เย็น” มีมาร์เก็ตแชร์ 20% ส่วนตลาด “เครื่องซักผ้า” อยู่ในอันดับ 3 ถือเป็นสองสินค้าชูโรงของแบรนด์ นอกจากนี้จะมี “หม้อหุงข้าว” ที่ขายดีในตลาด โดยตัวแบรนด์จัดอยู่ในกลุ่มแบรนด์พรีเมียม ราคาเป็นตลาดกลางถึงสูง
หลังกระบวนการควบรวมกิจการเสร็จเรียบร้อยช่วงกลางปี 2564 ทำให้ขณะนี้ อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ พร้อมจะเปิดแผนกลยุทธ์หลังการควบรวมว่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนไป และอะไรที่คงเดิมบ้าง
ไม่เปลี่ยนแบรนด์ + “ตู้เย็น” ยังเป็นฮีโร่โปรดักส์
“ซาแฟร์ อัสทูเนอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ จำกัด เปิดเผยถึงอนาคตของบริษัทนี้ว่า บริษัทจะยังใช้ไทยเป็นฐานผลิตเช่นเดิมเพราะมีฐานผลิตขนาดใหญ่ใน จ.ปราจีนบุรี แรงงานไทยมีคุณภาพ และตลาดประเทศไทยก็ยังเติบโตได้เมื่อมองในระยะยาว แม้ว่าระยะสั้นยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจก็ตาม
รวมถึงแบรนด์ “ฮิตาชิ” ก็จะยังใช้แบรนด์เดิมต่อไป ไม่ได้รวมชื่อแบรนด์อาร์เซลิกเข้าไปด้วย เพราะฮิตาชิเป็นชื่อที่คุ้นหูและแข็งแรงอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้แบรนด์กลับมา “มีพลัง” มีการตอกย้ำแบรนด์บ่อยครั้ง
ขณะที่สินค้าชูโรงก็จะยังคงเป็น “ตู้เย็น” เพราะสินค้านี้ได้รับความเชื่อถือสูงมากในตลาด และจะยังระดับแบรนด์เกาะกลุ่มตลาดพรีเมียมต่อเนื่อง เหล่านี้คือสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนไปของฮิตาชิ
สินค้าต้องเยอะ
ในทางกลับกัน ซาแฟร์กล่าวว่า สิ่งที่เมื่อควบรวมแล้วจะทำให้พัฒนามากขึ้นคือ “การเพิ่มจำนวนสินค้า” และ “พัฒนานวัตกรรม-ดีไซน์” ให้ดีกว่าเดิม
หลังจากนี้จะได้เห็นฮิตาชิออกสินค้ารุ่นใหม่ถี่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อช่วงชิงตลาด ยกตัวอย่างปีนี้เพิ่งออก “เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย” น้ำหนักเบาเพียง 1.5 กิโลกรัม มีไฟส่องฝุ่น นอนราบได้ 180 องศา กระบอกเก็บฝุ่นที่เปิดทิ้งฝุ่นได้แบบไม่ต้องใช้มือสัมผัส เรียกว่าออกมาชนกับ ‘Dyson’ ในราคาที่ถูกกว่า เพราะขายในราคา 9,990 บาท
ในไลน์อัปสินค้าที่จัดแสดง ยังจะมี “เครื่องล้างจาน” และ “เครื่องซักผ้า-เครื่องอบผ้าแบบฝาหน้า” ที่เตรียมออกจำหน่ายเร็วๆ นี้ และซาแฟร์ยังแย้มว่าฮิตาชิจะมีสินค้าหลายประเภทกว่าเดิมนับตั้งแต่ปี 2566 เพราะสมัยนี้พฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย เป็นโอกาสของแบรนด์
สินค้าที่จะออกมามากขึ้น แน่นอนว่ามาจากการรวมทีมทั้งฝั่งญี่ปุ่นและตุรกี ซึ่งทำให้เทคโนโลยีและงานดีไซน์มีหลากหลายให้หยิบใช้กว่าเดิม จึงออกโปรดักส์ใหม่ได้เร็วกว่า
นวัตกรรม-ดีไซน์ต้องทันสมัย
อีกส่วนที่อาร์เซลิก ฮิตาชิจะเน้นมากขึ้นคือ “นวัตกรรม” และหลายนวัตกรรมจะชูโรงเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างนวัตกรรมที่มีในผลิตภัณฑ์แล้วและที่กำลังทดลอง เช่น
- Autodosing นวัตกรรมในเครื่องซักผ้า ช่วยปริมาณน้ำยาซักผ้าและน้ำยาปรับผ้านุ่มให้เหมาะสม (ปกติคนมักจะใช้มากเกินไป) ลดความสิ้นเปลือง ใช้น้ำน้อยลง ดีกับผิวผู้สวมใส่ และดีต่อสิ่งแวดล้อม
- PET Tub การดักเอาเส้นใยที่หลุดออกจากเสื้อผ้าในเครื่องซักผ้ากลับมาใช้ใหม่ ส่งเสริมการรีไซเคิลเสื้อผ้า
- ไส้กรองดักจับไมโครพลาสติกในเครื่องซักผ้า ไม่ให้หลุดปล่อยลงแหล่งน้ำ ทำลายสิ่งแวดล้อม
- ตู้เย็นที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์จ่ายพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดค่าใช้จ่าย
ซาแฟร์ยังกล่าวถึง “ดีไซน์” ที่มองว่าควรจะเพิ่มความทันสมัยมากขึ้น เพราะอย่างไรงานดีไซน์สวยงามก็เป็นสิ่งแรกที่ทำให้ลูกค้าสนใจ ลองหยิบจับ เปิดดูแล้วรู้สึกสะดวกในการใช้งาน ก่อนที่จะเข้าถึงเรื่องเทคนิคของเครื่องใช้ไฟฟ้า
บริษัทยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเชิงตัวเลข แต่ความเปลี่ยนแปลงจากการควบรวมทำให้เห็นว่าบริษัทจะ ‘รุกหนัก’ แน่นอน!