-
เบโค (Beko) แบรนด์น้องใหม่จากตุรกี หลังเข้าไทยมา 7 ปี คาดปีนี้ยังเติบโตมากกว่า 35% แม้เผชิญล็อกดาวน์ การรับรู้แบรนด์เพิ่มขึ้นเป็น 30%
-
ส่ง “เครื่องซักผ้าฝาหน้า” เทคโนโลยี AquaTech ลุยตลาด หวังสิ้นปีชิงส่วนแบ่งกลุ่มฝาหน้าได้ 10%
-
คาดตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2565 จะดีขึ้นจากปีนี้หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว บริษัทเน้นเร่งเครื่องยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซควบคู่กระจายจุดขายสินค้าให้ครอบคลุม
หลังเปิดตัวในไทยมาประมาณ 7 ปี Beko ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย “พรชัย ตระกูลเตชะเดช” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อปี 2563 บริษัททำยอดขายเติบโต 55% ขณะที่ปีนี้ ช่วงครึ่งปีแรก 2564 บริษัทเติบโตถึง 65% แต่ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้คาดว่าจะเติบโต 35% เท่านั้น เนื่องจากมีช่วงที่คาบเกี่ยวกับช่วงล็อกดาวน์ ทำให้การขายสินค้าชะลอตัว แต่โดยรวมทั้งปีเชื่อว่ายอดขายจะเติบโตมากกว่า 35%
พรชัยระบุว่า ขณะนี้ Beko เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า อันดับ 8 ในตลาด เน้นสินค้าระดับกลางจนถึงไฮเอนด์ แบ่งพอร์ตสินค้าหลักออกเป็น 40% กลุ่มตู้เย็น 30% กลุ่มเครื่องชักผ้า 15% กลุ่มเครื่องปรับอากาศ และ 15% เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ในห้องครัว เช่น ไมโครเวฟ เตาอบ ตู้แช่ไวน์
เนื่องจากเป็นแบรนด์ใหม่จากตุรกีท่ามกลางเรดโอเชียนของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย ทำให้ประเด็นสำคัญที่บริษัทผลักดันมาตลอดคือ “การสร้างการรับรู้แบรนด์” (Brand Awareness) ซึ่งปีนี้ดีขึ้น มีผู้บริโภครู้จัก Beko เพิ่มเป็น 30% เทียบกับปีก่อนมี 20% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องเร่งเครื่องต่อเนื่อง เพราะผู้นำตลาดที่อยู่ในไทยมานานหลายๆ แบรนด์มีผู้บริโภครู้จักมากกว่า 80%
ลุย “เครื่องซักผ้า” เทคโนโลยีฝาหน้า “น้ำตก”
ที่ผ่านมา Beko เน้นส่ง “ตู้เย็น” เป็นหัวหอกเจาะตลาดไทย โดยชูด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ปีนี้ก็เช่นกัน มีการเปิดตัว ‘Hero Product’ เป็น “เครื่องซักผ้าฝาหน้า” เทคโนโลยีใหม่ AquaTech จุดเด่นอยู่ที่มีระบบปล่อยกระแสน้ำที่เหมือนน้ำตกลงบนผ้า ทำให้ผ้าซักทั่วถึงเร็วขึ้น ประหยัดเวลาการซัก 50% แต่ได้ความสะอาดเหมือนเดิม และการซักที่ใช้เวลาน้อยลงจะทำให้ถนอมผ้าได้มากขึ้นด้วย
พรชัยกล่าวว่า อินไซต์ผู้บริโภคที่นำมาสู่เทคโนโลยีนี้ คือพบว่าผู้บริโภคที่ใช้เครื่องซักผ้าฝาหน้าจะมีความกังวลว่า ผ้าจะสะอาดไม่ทั่วถึง เนื่องจากเห็นน้ำผสมผงซักฟอกกองอยู่ด้านล่างของถังซัก การมีสายน้ำลงมาจากด้านบนน่าจะช่วยแก้ความกังวลให้กับผู้บริโภคได้
โดยเครื่องซักผ้า AquaTech ผลิตเป็น 2 รุ่นตามขนาด คือขนาด 10.5 กก. และ 12.5 กก. เหมาะกับครอบครัวคนไทยที่อยู่กันหลายคน ต้องการเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่
ปัจจุบัน Beko มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเครื่องซักผ้าฝาหน้าเป็น 6% วางเป้าจากการเปิดตัวเครื่องซักผ้าเทคโนโลยีใหม่ จะดันส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 10% ภายในสิ้นปี 2564
นอกจากนี้ ยังได้อานิสงส์จากกระแส “เครื่องอบผ้า” ทำให้เครื่องอบผ้าของบริษัทขายดีขึ้น ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์ 20% เป็นอันดับ 3 ของตลาด
พรชัยยังมองภาพตลาดเครื่องซักผ้าในไทยว่า เป็นตลาดที่เติบโตขึ้นมากในระยะหลัง ข้อมูลปี 2562 พบว่าครัวเรือนที่มีเครื่องซักผ้าคิดเป็น 69% แล้ว เทียบกับในอดีตจะมีอยู่เพียง 30-40% แต่ก็ยังต่ำกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่อื่นๆ ที่อัตราการเข้าถึงครัวเรือนสูงกว่า เช่น ตู้เย็น 91% ทีวี 95%
เร่งตลาด “อีคอมเมิร์ซ” ควบคู่จุดจำหน่าย
สำหรับภาพตลาดปี 2565 พรชัยมองว่ากำลังซื้อน่าจะดีกว่าปีนี้ เพราะเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัว หลังไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และธุรกิจที่เคยถูกล็อกดาวน์ เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ อีเวนต์ น่าจะกลับมาเปิดได้เต็มที่มากขึ้น โดยคาดหวังว่าจะไม่มีการระบาดหนักรอบใหม่จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอีก เนื่องจากไทยมีอัตราฉีดวัคซีนสูงขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนเทรนด์ตลาดที่น่าสนใจจะเกี่ยวกับช่องทางจำหน่าย โดยปีนี้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยมีการขายผ่านอีคอร์มเมิร์ซถึง 17% เทียบกับปี 2563 ที่มีสัดส่วนอยู่ 10%
อย่างไรก็ตาม Beko มีสัดส่วนจำหน่ายผ่านออนไลน์เพียง 3% เท่านั้น สาเหตุจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความเป็นแบรนด์น้องใหม่ ทำให้ผู้ซื้อออนไลน์ยังไม่รู้จัก และไม่มีพนักงานขายคอยแนะนำจูงใจเหมือนกับ ณ จุดจำหน่ายตามห้างร้านต่างๆ ตัวบริษัทเองเริ่มทำตลาดออนไลน์มาเพียง 2 ปี อัตราเข้าถึงผู้บริโภคไม่สูง
รวมถึงการเน้นตลาดพรีเมียมของ Beko ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อออนไลน์ยากกว่า เนื่องจากปกติแนวโน้มการซื้อออนไลน์มักจะมี basket size ต่ำกว่าออฟไลน์ 15% ผู้บริโภคเน้นซื้อสินค้าระดับพื้นฐาน ราคาไม่สูง
ดังนั้น กลยุทธ์ของ Beko ต่อไปจะบุกออนไลน์ควบคู่กับออฟไลน์แบบ O2O ขยายจุดจำหน่ายให้มากขึ้นเพื่อให้แบรนด์ได้แนะนำสินค้า ขณะที่ช่องทางออนไลน์ก็พร้อมตอบสนองเมื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อภายหลัง
สำหรับประเด็นโครงสร้างการทำงานของบริษัทที่อาจเปลี่ยนไป เนื่องจากเมื่อต้นปีนี้มีข่าวว่า Archelik (อาเชลิค) บริษัทแม่ของแบรนด์ Beko ในตุรกี ได้เข้าซื้อธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในต่างประเทศของ “Hitachi” (ฮิตาชิ) โดยดีลนี้จะทำให้ Archelik ถือหุ้น 60% และ Hitachi 40% จุดประสงค์เพื่อให้ Archelik เป็นผู้บริหารการผลิต จำหน่าย ดูแลหลังการขายกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดต่างประเทศของ Hitachi ทั้งหมด ซึ่งจะรวมถึงโรงงานของ Hitachi สองแห่งในไทยและจีนด้วย
ต่อประเด็นนี้ พรชัยกล่าวว่าน่าจะมีการแถลงข่าวอีกครั้งต้นปี 2565 ว่าทั้งสองบริษัทจะมีการ synergy กันอย่างไร แต่ขณะนี้ยังถือเป็นการดำเนินงานแยกจากกันอยู่