อิมแพ็ค – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 31 Oct 2024 04:29:21 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “อิมแพ็ค” แย้มสนใจเปิดโรงแรมเพิ่ม 1,000 ห้อง เทรนด์อีเวนต์กลับมา – คิวคอนเสิร์ตเต็มเอี้ยดทั้งปี’68! https://positioningmag.com/1496548 Wed, 30 Oct 2024 12:25:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1496548
  • “พอลล์ กาญจนพาสน์” เผยปีหน้าลุ้นขายโรงแรม 2 แห่งเข้ากองรีท หมุนเงินลงทุนโรงแรมแห่งที่ 3 เพิ่ม 1,000 ห้องใน อิมแพ็ค เมืองทองธานี เน้นระดับ 5 ดาวตอบโจทย์แขกวีไอพี
  • ปี 2567 เทรนด์อีเวนต์กลุ่มคอนเสิร์ตและอินเซนทีฟพุ่งทะยาน เหลือกลุ่มจัดประชุมและนิทรรศการยังรอฟื้น ภาพรวมรายได้กลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19
  • ปี 2568 สัญญาณบวกงานคอนเสิร์ตจองคิว อิมแพ็ค อารีน่าเต็มยาวถึงสิ้นปีแล้ว
  • การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขั้นต่อไปภายใต้วิสัยทัศน์ของ “พอลล์ กาญจนพาสน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ไม่ใช่การสร้างฮอลล์จัดงานเพิ่ม แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการมาจัดงานอีเวนต์นั่นคือ “โรงแรม”

    ปัจจุบันในเมืองทองธานีบริเวณใกล้สถานที่แสดงสินค้าของอิมแพ็คมีโรงแรม 2 แห่งหลัก คือ ไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค กับ โนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค พอลล์ระบุว่าทั้ง 2 แห่งรวมกันมีจำนวนห้องพักประมาณ 1,000 ห้อง ซึ่งปรากฏว่าไม่เพียงพอแล้วในวันนี้

    “exhibitor พูดมาเยอะมากว่าอยากให้เรามีโรงแรม 5 ดาวในบริเวณ เพราะแขกผู้ที่จะมาร่วมงานของเขามีเงื่อนไขว่าจะต้องพัก 5 ดาว” พอลล์กล่าวถึงช่องว่างที่ต้องการจะอุดให้อิมแพ็คเป็นสถานที่จัดงานที่สมบูรณ์แบบ “รวมถึงจำนวนห้องพักก็ไม่พอ exhibitor หลายรายบอกว่า ขอห้องพักรอบๆ ขั้นต่ำ 2,000 ห้อง ถ้าเรามีให้ไม่พอ เขาก็ตัดเราออกจากตัวเลือกเลย”

    โนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค (Photo: Facebook@NovotelIMPACT)

    ทำให้ปี 2568 นี้อิมแพ็คมีแนวทางว่าอาจจะมีการขายโรงแรมทั้งไอบิสและโนโวเทลเข้ากองทรัสต์ IMPACT GROWTH REIT เพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนโรงแรมแห่งใหม่ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หากต้องการมีโรงแรม 5 ดาวเพิ่ม 1,000 ห้องในเมืองทองธานี

    “จริงๆ การมีโรงแรมเพิ่มจะดีกับทั้งเมืองทองธานี เพราะอิมแพ็คก็มีโอกาสได้รายได้ค่าเช่าเพิ่มจากจำนวนงานที่เพิ่มมากขึ้น และแขกที่พักโรงแรมก็มีโอกาสจะมาใช้จ่ายกับร้านค้าต่างๆ แถวอิมแพ็ค” พอลล์กล่าว

    ทั้งนี้ หากมีนักลงทุนรายใดสนใจที่จะร่วมพาร์ทเนอร์กับอิมแพ็คเพื่อก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่ดังกล่าวก็ไม่ขัดข้อง เปิดรับเจรจาทุกดีล

     

    ปี’67 ธุรกิจอีเวนต์กลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19

    ด้านภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ปี 2567 สำหรับอิมแพ็คแล้วพอลล์กล่าวว่ากลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มที่มีทั้งเติบโตมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ได้แก่

    • กลุ่มคอนเสิร์ตคาดการณ์รายได้ปีนี้ 380 ล้านบาท เติบโตเกือบ 70% จากปี 2562 ถือเป็นปีที่การจัดแสดงทางดนตรีเฟื่องฟูอย่างมาก
    • กลุ่มอินเซนทีฟ (เลี้ยงลูกค้าหรือพนักงาน) – คาดการณ์รายได้ปีนี้ 250 ล้านบาท เติบโต 103% จากปี 2562 เป็นธุรกิจที่เติบโตดีมากในปีนี้ สามารถดึงลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาได้มาก
    • กลุ่มจัดประชุมสัมมนา รายได้ยังเติบโตได้ไม่เท่ากับปี 2562 อยู่ระหว่างร่วมมือกับภาครัฐเพื่อดึงงานประชุมสัมมนาจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น
    • กลุ่มจัดนิทรรศการและแสดงสินค้าถือเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะต้องรออีกราว 18 เดือนจึงจะฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจร่วมกับค่าเงินบาททำให้การดึงการจัดงานเข้าสู่เมืองไทยทำได้ยากขึ้น ประกอบกับ exhibitor หลายรายปิดตัวไปตั้งแต่เกิดโควิด-19

    อิมแพ็ค

    หากวัดตามฐานลูกค้ามาจากแหล่งใดนั้น อิมแพ็คให้ข้อมูลไว้ว่าเมื่อรอบปีบัญชีก่อน (1 เมษายน 2566 – 31 มีนาคม 2567) อิมแพ็คมีสัดส่วนงานจากภาคเอกชน 57% จากรัฐบาล 21% และจากผู้จัดต่างประเทศ 22%

     

    สัญญาณดีคอนเสิร์ตจองเต็มทั้งปี’68

    ขณะที่สัญญาณธุรกิจอีเวนต์ปีหน้า พอลล์กล่าวว่าในกลุ่มคอนเสิร์ตเป็นไปในเชิงบวกมาก ปัจจุบันอิมแพ็ค อารีน่ามีคิวจองเต็มตลอดทั้งปี 2568 เรียบร้อยแล้ว

    อิมแพ็ค

    ส่วนกลุ่มอื่นๆ นั้นอิมแพ็คมีกลยุทธ์ “หากลุ่มเป้าหมายใหม่” 2 กลุ่มที่จะช่วยดึงการจัดงานเข้ามาได้มากขึ้น คือ

    1.กลุ่มตลาด “จีน”

    เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดใหญ่ มีโอกาสที่จะดึงทั้งกลุ่มจัดแสดงสินค้าและอินเซนทีฟเข้ามาไทยได้จำนวนมาก และประเทศจีนเริ่มเปิดให้คนเดินทางออกนอกประเทศได้มากขึ้น จากปี 2567 มีกลุ่มอีเวนต์จากประเทศจีนเข้ามาเช่าจัดแสดงคิดเป็นรายได้กว่า 100 ล้านบาท คาดว่าปี 2568 น่าจะดันขึ้นไปถึง 200-250 ล้านบาทได้ โดยอิมแพ็คมีการจัดทีมเซลส์สำหรับเจาะตลาดจีนโดยเฉพาะ เพื่อสร้างโปรไฟล์ให้ exhibitor ชาวจีนรู้จักอิมแพ็คมากยิ่งขึ้น

    นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มต่างประเทศอื่นๆ ที่ถือว่าน่าสนใจสำหรับอิมแพ็คและมีการจัดเซลส์เข้าไปเจาะตลาดด้วยเช่นกัน เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น

    2.กลุ่มลูกค้าใหม่ – อินฟลูเอนเซอร์และสื่อ

    สมัยก่อนนี้การจัดงานอีเวนต์ต่างๆ มักจะถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดย exhibitor มืออาชีพเป็นหลัก แต่ระยะหลังมีเทรนด์ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่หันมาเป็นผู้จัดกันมากขึ้น คือ “อินฟลูเอนเซอร์และสื่อ” โดยมักจะจัดงานที่สอดคล้องกับสิ่งที่สื่อของตนสื่อสารและมีกลุ่มลูกค้าของตนเองอยู่แล้ว เช่น ปีนี้มีการจัดงาน Restech 2024 ที่จัดโดย TORPENGUIN ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ทำให้อิมแพ็คมองเห็นว่าลูกค้าจัดงานในกลุ่มนี้จะเป็น ‘New S-Curve’ ได้ จึงมีแนวคิดจะจัดเป็นแพ็กเกจราคาเฉพาะกลุ่มที่ทำให้อินฟลูฯ สามารถขึ้นงานอีเวนต์ใหม่ได้ง่ายขึ้น มีโอกาสโตไปด้วยกันมากขึ้น

    บรรยากาศจากงาน Restech 2024 (Photo: Facebook@Restechthailand)

    พอลล์ยังมองด้วยว่าปี 2568 อิมแพ็ค เมืองทองธานี น่าจะได้แรงบวกหลักจาก “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ส่วนต่อขยาย 2 สถานีเข้าสู่เมืองทองธานี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการภายในไตรมาส 2/2568 ขณะที่การก่อสร้างโครงการ Sky Entrance ทางเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้าสู่อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์นั้นคืบหน้าไป 62.6% คาดจะเสร็จรอการมาถึงของรถไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568

    อิมแพ็ค เมืองทองธานีนั้นถือเป็นสถานที่จัดแสดงสินค้าและการประชุมที่ใหญ่ที่สุดและมีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดหากวัดตามขนาดพื้นที่เช่า โดยคิดเป็น 50% ของตลาดพื้นที่จัดงานทั้งหมดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล แต่ถ้าเทียบกับสถานที่จัดงานแห่งอื่นอาจจะยังเสียเปรียบในเรื่องขนส่งมวลชน เพราะสถานที่ที่เป็น ‘คู่แข่ง’ อื่นๆ ได้แก่ ไบเทค บางนา, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และพารากอน ฮอลล์ ล้วนเข้าถึงได้ด้วยรถไฟฟ้าแล้วทั้งหมด ดังนั้น การมาถึงของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่อิมแพ็คน่าจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับพื้นที่

    อิมแพ็คให้ข้อมูลด้วยว่าอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยรวมขณะนี้ (ณ เดือนเมษายนมิถุนายน 2567) อยู่ที่ 50% ซึ่งพอลล์มองว่าหากสามารถดันอัตราเช่าให้ขึ้นไปถึง 60% ได้จะถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

    ]]>
    1496548
    “อิมแพ็ค” ปรับกลยุทธ์ “Employer Branding” แก้ปัญหาธุรกิจ MICE ขาดบุคลากรรุ่นใหม่ https://positioningmag.com/1409811 Thu, 24 Nov 2022 08:28:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1409811 อุตสาหกรรม MICE กลายเป็นธุรกิจที่กำลัง “ขาดแคลน” บุคลากรคนรุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่สายอาชีพที่น้องๆ สนใจสูงอีกต่อไป ทำให้ “อิมแพ็ค” พี่ใหญ่วงการของเมืองไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้าน “Employer Branding” เพื่อสร้างความนิยมในฐานะ “นายจ้าง” ที่ดี ดึงคนรุ่นใหม่มาร่วมงาน พร้อมจัดโครงการ “กล้า MICE” ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 4 เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รู้จักสายงานนี้มากขึ้น

    “อิมแพ็คเราทำงานร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขา MICE อยู่ตลอด อาจารย์จะบอกกับเราทุกปีว่า มีเด็กมาสมัครเรียนสาขานี้น้อยลงๆ ทุกปีนะ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกหน่อยแรงงานจะหายไปจากตลาด” ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในตลาดงานที่ทำให้บริษัทต้องวางกลยุทธ์เพื่อ ‘ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจงาน MICE และสนใจทำงานกับอิมแพ็ค’

    เหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่เข้ามาในวงการนั้นมีหลายเหตุผล บ้างไม่รู้จักว่า MICE คืออะไรและทำงานอะไร บ้างได้ยินเสียงเล่าปากต่อปากว่าการจัดการประชุมและแสดงสินค้านั้นเป็นงานที่ ‘หนักมาก’ ในขณะที่ทางเลือกของคนเจนใหม่มีมากขึ้น มีอาชีพที่เป็นที่นิยมสูงเข้ามาแทนอย่างงานสายเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงแนวคิดของคนรุ่นใหม่ไม่ชอบการทำงานประจำที่เข้าออกเป็นเวลา แต่ชอบงานอิสระ หรือเป็นเจ้าของกิจการเองมากกว่า

    นั่นทำให้อิมแพ็คเริ่มแก้เกมการดึงบุคลากรเข้าสู่องค์กร โดยจะต้องทำทั้งสองด้าน คือ การปรับองค์กรให้เป็นที่ดึงดูดใจในฐานะนายจ้าง (Employer Branding) และ การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทำความรู้จักกับอาชีพในสายงาน MICE ผ่านโครงการกล้า MICE

     

    3 ด้านปรับ Employer Branding ใหม่ของ “อิมแพ็ค”

    ปัจจุบัน “บางกอกแลนด์” บริษัทแม่ของอิมแพ็ค มีพนักงานทั้งหมดกว่า 2,000 คน (รวมทั้ง 6 บริษัทย่อยในเครือ) โดยทมิตาคะเนคร่าวๆ มีคนเจนเอ็กซ์จนถึงบูมเมอร์ราวครึ่งหนึ่งขององค์กร ขณะที่คนเจนวายอยู่ในองค์กรราว 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนเจนซีซึ่งมักจะเป็นกลุ่ม first jobber นั้นยังน้อยมาก ไม่เกิน 10%

    ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด

    กลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยน Employer Branding ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อจะทำให้คนเจนวายจนถึงเจนซีสนใจร่วมงานกับองค์กรมากขึ้น โดยเราสรุปจากการพูดคุยกับทมิตาว่า อิมแพ็คได้เปลี่ยนอะไรไปแล้วบ้างรวม 3 ข้อ ดังนี้

    1.การทำงานที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่

    แนวนโยบายใหม่ของอิมแพ็คจะมีการส่งเสริม mindset ในระดับบริหาร ให้เปิดการรับฟังและโอกาสในการทำงานแก่คนเจนใหม่ มอบหมายให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้รับผิดชอบงานและเสนอไอเดียการทำงานมากขึ้น

    โดยก่อนหน้านี้บริษัทมีการเปิด “โครงการประกวดนวัตกรรม R2i” (From Routine to Innovation) จัดขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี โครงการนี้เป็นทั้งเวทีที่เปิดให้ทุกคนได้แสดงความสามารถ และกระตุ้นให้พนักงานคิดนอกกรอบ สร้างนวัตกรรม เพื่อทำให้งานมีคุณภาพดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งโครงการที่ได้รับรางวัลจะมีการนำมาใช้ในบริษัท เช่น นวัตกรรมเครื่องปูพรมพื้นฮอลล์จัดแสดงสินค้า เพื่อให้การปูและเก็บพรมรวดเร็ว สวยงาม เป็นฝีมือการออกแบบจากพนักงานหน้างานตัวจริง

    อิมแพ็ค
    โครงการประกวดนวัตกรรม R2i
    2.ปรับการจ้างงานมาเป็น project-based มากขึ้น

    จากแนวคิดคนรุ่นใหม่ไม่ชอบการทำงานเป็นเวลาตอกบัตรเข้าออก และไม่ชอบการทำงานประจำที่ใดที่หนึ่ง แต่ชอบการควบคุมการรับงานและปริมาณงานได้เอง ทำให้อิมแพ็คเริ่มทดลองการจ้างงานแบบ project-based และพนักงานระบบชั่วคราว (gig workers) โดยเริ่มจากแผนกทรัพยากรบุคคล (HR) ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างในองค์กรว่างานบางรูปแบบสามารถยืดหยุ่นได้ในการจ้างงาน

    3.การสร้างที่ทำงานที่เป็น ‘Happy Workplace’

    อิมแพ็คประกาศนโยบาย LGBTQ-Friendly รับพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ และให้ความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกในการทำงาน

    “น้องหลายคนที่จะสมัครงาน คำถามแรกๆ ที่ถามกันมากคือ ‘หนูเป็นสาวประเภทสอง สมัครได้ไหมคะ’ เพราะหลายแห่งเขาไม่รับ แต่ที่นี่เราเปิดกว้าง และเราให้แต่งกายได้ตามที่ต้องการ” ทมิตากล่าว

    นอกจากนี้ยังปรับเรื่องสวัสดิการสุขภาพซึ่งคนสนใจมากขึ้นหลังผ่านโควิด-19 โดยมีแพทย์ประจำออฟฟิศ และเน้นการทำโครงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันให้กับพนักงานด้วย

     

    “กล้า MICE” เพื่อให้น้องได้รู้จักสายอาชีพนี้

    อีกส่วนที่สำคัญในการหาคนทำงาน คือต้องเปิดให้น้องๆ ได้รู้จักกับงานประเภทนี้ก่อน อิมแพ็คจึงจัด “โครงการกล้า MICE” ครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 4 โดยจะเปิดรับสมัครไปจนถึง 18 ธันวาคม 2565

    โครงการจะคัดเลือกนักศึกษาทั้งหมด 50 คน โดยไม่จำกัดสาขาวิชาที่เรียนและไม่จำกัดสถาบัน ขอเพียงมีความสนใจที่จะเรียนรู้งาน MICE ก็สามารถเข้ามาร่วมอบรมได้ ผู้ที่ผ่านคัดเลือกจะได้เรียนรู้งานจริงทุกด้านในอิมแพ็ค และทดลองปฏิบัติงานจริงในประเภทงานที่ชื่นชอบ

    อิมแพ็ค
    ภาพจากโครงการ กล้า MICE

    ทมิตากล่าวว่า ตั้งแต่จัดโครงการมา ทำให้มีนักศึกษาจากโครงการสมัครและทำงานต่อกับอิมแพ็คราว 10% จากนักศึกษาทั้งหมด ที่เหลือก็ไม่ได้หายไปไหน หลายคนเข้าทำงานกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งอิมแพ็คไม่ได้ปิดกั้น เพราะถือเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเติมบุคลากรให้กับทั้งอุตสาหกรรม

    เมื่อถามถึงคนทำงานในสายอาชีพ MICE ว่าควรมีทักษะอย่างไร ทมิตาตอบว่ามี 4 กุญแจสำคัญ คือ เป็นคนยืดหยุ่นได้ แก้ปัญหาหน้างานเป็น, ใช้ทักษะได้หลายอย่าง (multi skills), มีทักษะทางสังคมสูง (social skills) เพราะต้องติดต่อผู้คนหลากหลาย และที่สำคัญที่สุดคือ มีแพสชั่นในการทำงานสายนี้ เนื่องจากธรรมชาติงานทำงานไม่เป็นเวลาแน่นอนและมีความกดดัน ทำให้ต้องการ ‘ใจรัก’ จริงๆ

    “เราต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาในสายอาชีพนี้ เพราะคนรุ่นเก่าคือคนที่สามารถสอนงานได้ มีประสบการณ์สูง แต่คนรุ่นใหม่คือคนที่จะมาพัฒนาต่อ ทำให้องค์กรเรายังอยู่ต่อได้อีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า” ทมิตากล่าวปิดท้าย

    ]]>
    1409811
    อีเวนต์เริ่มฟื้น! “อิมแพ็ค” นำร่องใช้ไฮบริดมิตติ้ง เดือนก.ค. มีลูกค้าจองแล้ว 20 งาน https://positioningmag.com/1285258 Fri, 26 Jun 2020 06:49:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285258 อิมแพ็คเดินหน้าเปิดบริการเต็มรูปแบบภายใต้มาตรฐาน New Normal พร้อมเสริมเทคโนโลยี Hybrid Meeting แจงพื้นที่ศูนย์ฯ มากกว่า 140,000 ตร.ม. ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอบรับรูปแบบจัดงานวิถีใหม่ทุกประเภท เผยกรกฎาคม 2563 ลูกค้าจองพื้นที่จัดงานแล้วมากกว่า 20 งาน

    งานอีเวนต์เริ่มกลับมา

    พอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงการกลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ประกาศคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 4 ให้กลุ่มกิจการและกิจกรรมธุรกิจศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าเปิดบริการได้ แต่ยังต้องเข้มงวดในมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากเป็นกิจการและกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของประชาชนจำนวนมาก จึงต้องให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการรักษาระยะห่างและการควบคุมความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในพื้นที่ ควบคู่กับมาตรการดูแลสุขอนามัยเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

    จากข้อมูลเบื้องต้น เดือนกรกฎาคม 2563 ลูกค้าจองพื้นที่จัดงานแล้วมากกว่า 20 งาน แบ่งเป็น กลุ่มงานประชุมสัมมนา จำนวน 11 งาน เช่น การประชุมของหน่วยงานราชการ, การประชุมผู้ถือหุ้นบางกอกแลนด์ กลุ่มงานแสดงสินค้า จำนวน 7 งาน ทั้งของหน่วยงานราชการและเอกชน ซึ่งงานไฮไลต์มีผู้ร่วมงานจำนวนมาก เช่น งานแสดงสินค้าอุปโภคบริโภค Midyear Sale, งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับบ้าน HomePro Expo, งานแสดงสินค้าเพื่อแม่และเด็ก BBB Baby and Kids Best Buy, งานแสดงสินค้ายานยนต์ Bangkok Motor Show กลุ่มงานสอบจำนวน 2 งาน เป็นการสอบคัดเลือกบุคคลรับราชการ และกลุ่มงานพิเศษ จำนวน 5-6 งาน เช่น กิจกรรมอินเซนทีฟ กิจกรรมจัดเลี้ยงปาร์ตี้

    “งานใหญ่ของอิมแพ็คที่หลายคนรอคอย คือ บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2020 ครั้งที่ 41 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15-26 กรกฎาคม 2563 บนพื้นที่รวมกว่า 170,000 ตารางเมตร ถือเป็นงานใหญ่งานแรกสำหรับวงการยานยนต์ของโลกที่จัดขึ้นหลังสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งหลายคนจับตามอง แต่ด้วยเชื่อมั่นถึงการเตรียมความพร้อมของสถานที่จัดงาน นั่นคือ อิมแพ็ค การประกาศผ่อนปรนระยะ 4 ของทางราชการ การดำเนินการจัดงานตามวิถี New Normal และความร่วมมืออันดีของทุกภาคส่วน รวมถึงลูกค้าที่เป็นแฟนประจำงานนี้ที่พร้อมมาชมงานและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสอย่างเข้าใจและไม่ประมาท จะทำให้การจัดงานครั้งนี้ราบรื่นและประสบความสำเร็จ กลายเป็นต้นแบบให้การจัดงานอื่นๆ ต่อไป”

    จัดมาตรการรับ New Normal

    พอลล์กล่าวว่า ในช่วงที่ปิดบริการกว่า 3 เดือน อิมแพ็คได้เตรียมความพร้อมของพื้นที่และบริการเพื่อให้สอดรับกับระเบียบของทางราชการที่กำหนดข้อปฏิบัติสำหรับกิจการ/กิจกรรมการแสดงสินค้าและการประชุม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยให้ปฏิบัติตามหลายเงื่อนไข เช่น ประชุม อบรม สัมมนา 4 ตร.ม.ต่อคน, จัดเลี้ยง งานอีเวนต์ เปิดตัวสินค้า การประกวด แข่งขันกีฬา ระยะนั่ง-ยืน ห่าง 1 เมตร, งานแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ลดหนาแน่น-ไร้ระเบียบ เกณฑ์ 5 ตร.ม./คน เป็นต้น

    พร้อมกันนี้ อิมแพ็คได้จัดทำคู่มือสร้างความเข้าใจร่วมกับลูกค้าผู้จัดงานถึงแนวทางดำเนินการให้บริการในวิถีใหม่ หรือ New Normal จำนวน 7 คู่มือ ได้แก่

    • คู่มือมาตรการความห่วงใยในสุขภาพและความปลอดภัย IMPACT We Do Care
    • คู่มือการจัดงานประชุม-สัมมนา Meeting & Convention
    • คู่มือการจัดงานสังสรรค์ Party
    • คู่มือการจัดงานแสดงสินค้า-นิทรรศการ Exhibition
    • คู่มือการจัดงานสอบ Examination
    • คู่มือการจัดงานแต่งงาน Wedding
    • คู่มือการจัดแสดงคอนเสิร์ต Concert

    โดยทุกคู่มือได้วางข้อปฏิบัติที่เหมาะสมกับกิจกรรมและพื้นที่ของการจัดงาน โดยอ้างอิงข้อมูลคำแนะนำจากทางหน่วยงานด้านสาธารณสุข ระเบียบข้อกำหนดของทางราชการ รวมถึงหน่วยงานผู้กำกับดูแล เช่น สมาคมการแสดงสินค้าไทย (TEA) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือทีเส็บ (TCEB)

    ยุคนี้ต้อง Hybrid Meeting

    นอกจากนวัตกรรมดูแลสุขภาพอนามัยแล้ว อิมแพ็คเพิ่มความสมาร์ทให้ลูกค้าโดยลงทุนระบบจัดการประชุม Hybrid Meeting หรือ Visual Seminar ซึ่งเป็นระบบที่ตอบรับนโยบายรัฐในการจำกัดความหนาแน่นของการจัดประชุม-สัมมนา อ้างอิงพื้นที่ 4 ตารางเมตรต่อท่าน ทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมลดลง

    แต่ด้วยระบบไฮบริดสามารถรองรับผู้มาร่วมประชุมในห้องจริง และเปิดลงทะเบียนให้ผู้สนใจร่วมประชุมทางออนไลน์ได้เพิ่มตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสองส่วนสามารถสื่อสารระหว่างกันและมีส่วนร่วมในการประชุมได้เสมือนอยู่ในห้องเดียวกัน ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถลงทะเบียนผู้ร่วมประชุมได้ตั้งแต่ 100-3,000 ท่าน

    ข้อดีนอกจากการเตรียมระบบ รวมถึงกล้องและอุปกรณ์รองรับการจัดประชุมแล้ว ยังมีทีมเจ้าหน้าที่เทคนิคให้การดูแลตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงานด้วย เพื่อให้ความสะดวกสำหรับลูกค้าจัดการประชุมสัมมนา แตกต่างจากหลายแห่งที่ลูกค้าจะต้องติดต่อนำระบบเข้ามาเอง

    Source

    ]]>
    1285258