อุทกภัย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 13 Sep 2023 04:08:35 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘ราคาน้ำมัน’ ไต่ขึ้นสูงสุดอีกครั้ง หลัง ‘ลิเบีย’ เจอน้ำท่วมใหญ่ซึ่งกระทบการ ‘ส่งออกน้ำมัน’ ในกลุ่ม OPEC https://positioningmag.com/1444093 Wed, 13 Sep 2023 01:50:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1444093 เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของ ลิเบีย เกิดขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่รัสเซียและซาอุดีอาระเบียประกาศขยายระยะเวลาที่จะจำกัดการผลิตน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอีก เพราะลิเบียเป็นสมาชิก OPEC และเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 13 ของโลก

น้ํามันดิบเบรนท์ ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานของโลกพุ่งขึ้นเกือบ 2% เป็นระดับสูงสุดระหว่างวันที่ 92.38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นั่นเป็นราคาสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2022 ราคาน้ํามันสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 2.3% สูงถึง 89.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน

สาเหตุที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเป็นเพราะเหตุการณ์ อุทกภัยใหญ่ในลิเบีย หลังจากเจอฝนตกหนักในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทําให้ เขื่อนสองแห่งถล่ม จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยมีผู้เสียชีวิตในอุทกภัยครั้งนี้อย่างน้อย 2,000 คน และมีผู้สูญหายกว่า 10,000 คน รวมถึงมีอาคารบ้านเรือนเสียหายนับไม่ถ้วน

ลิเบียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกโอเปก โดยมีกำลังการผลิตสูงสุด 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นประเทศที่มีการส่งออกน้ำมันมากที่สุดอันดับ 13 ของโลก ซึ่งอุทกภัยนี้จะขัดขวางการส่งออกน้ำมันจากกลุ่มประเทศโอเปกชั่วคราว ขณะที่ก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ํามันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกจับมือกันขยายเวลาที่จะ ลดกำลังการผลิตน้ำมันเหลือ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยาวถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย

“ลิเบียมีท่าเรือหลายแห่งที่ไม่สามารถส่งออกได้ มันเป็นอีกสิ่งหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ํามันดิบพุ่งสูงขึ้น” แมตต์ สมิธ หัวหน้านักวิเคราะห์น้ํามันสําหรับอเมริกาที่ Kpler กล่าว

สำหรับเหตุการณ์อุทกภัยของลิเบียครั้งนี้ นับเป็น หายนะครั้งใหญ่ของประเทศ โดยลิเบียกําลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยโรงพยาบาลใน Derna ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไปและห้องเก็บศพก็เต็มจนทำให้ร่างผู้เสียชีวิตถูกทิ้งไว้นอกห้องเก็บศพบนทางเท้า

Source

]]>
1444093
เคราะห์ซ้ำ! ‘จีน’ ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่สุดของโลกเจอ ‘อุทกภัย’ อาจทำ “ราคาข้าว” ทั่วโลกพุ่งอีก https://positioningmag.com/1440916 Mon, 14 Aug 2023 05:18:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1440916 ราคาข้าวทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายตั้งแต่ที่ ‘อินเดีย’ ประกาศยกเลิกการส่งออก ‘ข้าวขาว’ เพื่อกันไว้ให้กับประชาชนอินเดียบริโภค ท่ามกลางปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวของตลาดภายในประเทศ ล่าสุด ‘จีน’ ที่ถือเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับ 1 กำลังเผชิญกับ อุทกภัย ที่อาจทำให้ ราคาข้าวทั่วโลกยิ่งพุ่งสูงอีก

จีน กำลังเจอกับ ไต้ฝุ่น Doksuri ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพายุที่เลวร้ายที่สุดที่พัดถล่มทางตอนเหนือของจีนในรอบหลายปี โดยเมืองหลวงปักกิ่งได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่หนักที่สุดในรอบ 140 ปี นอกจากทางตอนเหนือแล้ว ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตธัญพืชของจีน โดยเฉพาะใน 3 มณฑล ได้แก่ มองโกเลียใน จี๋หลิน และเฮยหลงเจียง ซึ่งคิดเป็น 23% ของผลผลิตข้าวของประเทศจีน ก็ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำท่วมด้วย

ด้วยปัญหาด้านอุทกภัยดังกล่าว ทำให้มีผลผลิตข้าวของจีนมีแนวโน้มที่จะ เสียหาย ทำให้ผลผลิตมีอัตราลดลง ทำให้จีนอาจจะต้องหาทางนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อราคาข้าวโลกที่สูงอยู่แล้ว 

“สิ่งนี้จะทําให้ราคาธัญพืชในประเทศของจีนสูงขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะผลักดันการนําเข้าที่สูงขึ้นในครึ่งปีหลังเพื่อชดเชยการสูญเสียผลผลิตที่อาจเกิดขึ้น เพราะจีนต้องนําเข้าข้าวมากขึ้นหากการเก็บเกี่ยวของตัวเองล้มเหลว” Fitch Ratings ระบุ

ปัจจุบัน ราคาข้าวทั่วโลกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี ตามดัชนีราคาข้าวทั้งหมดขององค์การอาหารและการเกษตร โดยตลาดกําลังประเมินราคาข้าวที่สูงขึ้นล่วงหน้า หลังจากที่ อินเดีย ประเทศผู้ส่งออกข้าวที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของโลก สั่งห้ามการส่งออกข้าวขาว เมื่อเดือนที่แล้ว และ ไทย เรียกร้องให้เกษตรกร ปลูกข้าวน้อยลง เพื่อประหยัดน้ำอันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่ต่ำ

Source

]]>
1440916
10 ประเทศที่ได้รับ “ผลเสีย” หนักที่สุดจาก “ภาวะโลกร้อน” https://positioningmag.com/1398350 Wed, 31 Aug 2022 05:55:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1398350 ภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) กำลังเล่นงานโลกใบนี้อย่างหนัก ปีนี้ปากีสถานเผชิญกับมหาอุทกภัยที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน แต่ในยุโรปและประเทศจีนกลับเกิดภัยแล้งจนพืชผลการเกษตรเสียหาย สิ่งเหล่านี้เกิดจากภาวะโลกร้อน (Climate Change) ที่หนักข้อขึ้น

แม้ว่าทั้งโลกจะได้รับ “ผลเสีย” จาก “ภาวะโลกร้อน” กันทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วมีประเทศที่ต้องรับผลหนักกว่าประเทศอื่น ส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศรายได้ต่ำ เพราะไม่มีทรัพยากรเพียงพอเท่ากับประเทศรายได้สูงเพื่อที่จะรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ

ข้อมูลจาก Notre Dame Global Adaptation Initiative และ Germanwatch’s Climate Risk Index ประเมิน 10 ประเทศที่ได้รับผลเสียหนักที่สุดจากภาวะโลกร้อน ไว้ดังลิสต์ด้านล่างนี้ (*เรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ)

1.อัฟกานิสถาน

ระหว่างปี 1950-2010 อุณหภูมิในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้น 1.8 องศาเซลเซียส และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1.4 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 (กรณีเลวร้ายที่สุดอาจเพิ่มขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียสภายในปี 2100)

อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้น้ำฝนน้อยลงถึง 40% และเกิดภัยแล้ง แต่ในขณะเดียวกัน ความร้อนทำให้หิมะบนเทือกเขาละลายและเกิดน้ำท่วมตามริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อเผชิญสภาพที่ทั้งแล้งและน้ำท่วม พืชผลเกษตรจึงเสียหายหนัก และทำให้ประเทศขาดแคลนอาหาร

อัฟกานิสถาน (Photo: Mohammad Husaini / Pexels)
2.บังคลาเทศ

ระหว่างปี 2000-2019 บังคลาเทศเผชิญสภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ไปทั้งหมด 185 ครั้ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 3,720 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.35 แสนล้านบาท)

USAID เคยรายงานไว้เมื่อปี 2018 ว่า 89% ของชาวบังคลาเทศอาศัยอยู่ในพื้นที่ “เสี่ยงสูง” หรือ “เสี่ยงสูงมาก” ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และมีชาวบังคลาเทศถึง 11% ที่จะต้องสูญเสียแผ่นดินบ้านเกิดตัวเองไปในภายในปี 2050 เนื่องจากระดับน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น

3.ชาด

ชาด ประเทศในทวีปแอฟริกา เผชิญกับภัยแล้งรุนแรงในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ทะเลสาบชาดซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แห้งเหือดไปแล้วถึง 90% จนทะเลสาบกลายสภาพเป็นเหมือนแอ่งฝุ่นมากกว่าแอ่งน้ำ

ชาดยังเป็นประเทศทะเลทรายด้วย ทำให้เมื่อเกิดภาวะอากาศสุดขั้ว เกิดฝนตกหนักผิดปกติเมื่อใดประเทศก็จะต้องเผชิญน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น เนื่องจากทะเลทรายไม่สามารถอุ้มน้ำเอาไว้ได้

ทะเลสาบชาดหดตัวรุนแรง ทั้งจากการใช้น้ำมากเกินไปและภัยแล้ง (By Blank_Map-Africa.svg: Andreas 06derivative work / Common Wiki)
4.เฮติ

“ภาวะโลกร้อนคือความหวาดหวั่นใหญ่หลวงในเฮติ มันยากมากสำหรับเราที่จะต่อสู้กับโลกร้อน” Joseph Jouthe รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม (ณ ขณะนั้น) ของเฮติ กล่าวไว้ในงาน COP25 ปี 2019

เฮติเป็นหนึ่งในประเทศทะเลแคริบเบียนซึ่งอยู่ในเขตเข็มขัดเฮอริเคน ทำให้ต้องเผชิญผลเสียของภาวะโลกร้อนสูง ไม่ใช่แค่เฮติที่โดนหนัก ประเทศโดมินิกันซึ่งเป็นเพื่อนบ้านก็เช่นกัน แต่เฮติมีทรัพยากรในการป้องกันประเทศจากภัยพิบัติต่ำที่สุด 96% ของชาวเฮติจะอยู่ในความเสี่ยงหากเกิดภัยพิบัติขึ้น รวมถึงปัญหาทางการเงินทำให้ประเทศฟื้นตัวได้ยาก

ธนาคารโลกเคยประเมินไว้ว่า แผ่นดินไหวปี 2010 ที่คร่าชีวิตคนเฮติไป 250,000 คน และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจไป 120% ของจีดีพีโลก ต่อมาในปี 2016 เฮอริเคนแมทธิวสร้างความเสียหายไป 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศ

5.เคนยา

ภัยแล้งคือปัญหาหนักที่สุดของเคนยา ประเทศในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา แค่เพียงปี 2019 ปีเดียว ภัยแล้งสร้างความเสียหายให้เคนยาไปแล้ว 708 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 25,800 ล้านบาท)

เคนยาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกา แต่ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหาโลกร้อน ในทางกลับกัน การที่เคนยาเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ก็จะเกิดผลต่อเนื่องแก่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งรัฐบาลเคนยาก็ไม่นิ่งนอนใจ ทั้งที่เคนยามีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.1% ของโลก แต่ประเทศได้ให้คำมั่นไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 32% ให้ได้ภายในปี 2030

เคนยา (Photo: Adi Perets / Pexels)
6.มาลาวี

มาลาวีเป็นประเทศในเขตแอฟริกาตะวันออก และเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในจุดศูนย์กลางไซโคลนอิดาอีเมื่อปี 2019 ไซโคลนลูกนั้นถือเป็นพายุที่คร่าชีวิตคนไปมากที่สุดและสร้างความเสียหายสูงที่สุดเท่าที่มีบันทึกในภูมิภาคนี้ โดยผลจากไซโคลนอิดาอีทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน มีคนได้รับผลกระทบกว่า 3 ล้านคน และสร้างความเสียหายกว่า 2,200 ล้านเหรียญ (ประมาณ 80,000 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ล่าสุด ประเทศนี้ต้องเผชิญผลจากโลกร้อนมาตั้งแต่ปี 1961 ภาวะอากาศสุดขั้วทำให้เกิดทั้งปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภัยแล้ง และน้ำท่วม จนพืชผลเกษตรเสียหาย โดยประเทศนี้มีประชากรถึง 80% ที่พึ่งพิงรายได้จากการเกษตร

บ้านเรือนพังเสียหายจากไซโคลนอิดาอีในมาลาวี (Photo: Shutterstock)
7.ไนเจอร์

80% ของคนไนเจอร์พึ่งพิงรายได้จากการเกษตร ทำให้ประเทศอยู่บนความเสี่ยง เพราะอุณหภูมิของประเทศปรับสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลก 1.5 เท่า ภายในปี 2100 ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนคาดว่าไนเจอร์จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3-6 องศาเซลเซียส จากปัจจุบันที่ไนเจอร์มีปัญหาขาดแคลนอาหาร ขาดแคลนน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดอาชญากรรมในประเทศ อนาคตข้างหน้าจะยิ่งเต็มไปด้วยวิกฤตและความตึงเครียด

ตั้งแต่ปี 1968 ไนเจอร์เกิดภัยแล้งติดต่อกันหลายปีมาหลายครั้ง ธนาคารโลกรายงานว่า พื้นที่เกษตรของไนเจอร์ลดลงและลดคุณภาพลงด้วยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s แต่ในทางกลับกัน น้ำท่วมกลับรุนแรงขึ้นทุกทีโดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศ ภาวะโลกร้อนจึงทำให้เกษตรกรไนเจอร์เป็นผู้รับผลหนักที่สุด

8.ปากีสถาน

ประเทศที่เพิ่งเผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคม แต่สัญญาณเตือนมีมาตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ซึ่งอุณหภูมิในเมืองจาโคบาบัดของปากีสถานพุ่งขึ้นไปถึง 126 องศาฟาเรนไฮต์ ร้อนจนถูกขนานนามว่าเป็นเมืองที่ร้อนที่สุดในเอเชีย และร้อนรุนแรงจนมนุษย์ทนไม่ได้ อีกเมืองหนึ่งของปากีสถานคือเมืองการาจี ก็เป็นจุดศูนย์รวมแห่งภัยพิบัติอันเนื่องมาจากโลกร้อน โดยที่เมืองนี้มีคนอยู่อาศัยถึง 14.9 ล้านคน

ประเทศปากีสถานเองมีการกระทำที่ยิ่งเร่งปฏิกิริยานั่นคือการตัดไม้ทำลายป่า ปัจจุบันปากีสถานเหลือป่าเพียง 4% ของพื้นที่ประเทศ เพราะประเทศนี้มีกลุ่มมาเฟียตัดไม้ผิดกฎหมาย เมื่อป่าไม้น้อยลง มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะพุ่งขึ้น 3.9 องศาฟาเรนไฮต์ภายใน 3 ทศวรรษ

เมื่ออากาศร้อนขึ้น ธารน้ำแข็งจากเทือกเขา 3 ลูกของปากีสถาน คือ ฮินดูกูช, หิมาลัย และการาโกรัม จึงละลายออกมาต่อเนื่อง ทำให้เกิดทั้งภัยแล้งรุนแรงและน้ำท่วมอย่างที่เกิดในปีนี้

ธารน้ำแข็งบนยอดเขา K2 ปรากฏภาพการละลายมาตั้งแต่ปี 2011 (Photo: Shutterstock)
9.โซมาเลีย

เหมือนกับเคนยา โซมาเลียเผชิญภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดของแอฟริกาในรอบ 40 ปี จนทำให้บางภูมิภาคของประเทศเข้าขั้นเกิดภัยพิบัติขาดแคลนอาหาร มากกว่า 60% ของประเทศนี้เป็นกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ทำให้การมีน้ำฝนเพียงพอเป็นเรื่องสำคัญมากในการหล่อเลี้ยงฝูงสัตว์ของพวกเขา แต่ในทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โซมาเลียเกิดสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งยิ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองและระบบป้องกันภัยพิบัติล้มเหลว

10.ซูดาน

เมื่อปี 2016 นักวิทยาศาสตร์ด้านโลกร้อน Jos Lelieveld กล่าวว่า ภายในศตวรรษนี้ ส่วนหนึ่งของทวีปแอฟริกาเหนือจะร้อนจน “ไม่สามารถอยู่อาศัยได้” และประเทศหนึ่งที่เสี่ยงที่สุดคือ ซูดาน

เหมือนกับหลายประเทศในแอฟริกา ซูดานพึ่งพิงการทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ต้องพึ่งพิงฟ้าฝนในการอยู่รอด แต่ความขัดแย้งในประเทศก็ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาไม่เกิดขึ้นเหมือนๆ กับโซมาเลีย

Source

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1398350
ไทยเบฟ จับมือ ปภ. จัดฝึกอบรมการป้องกันและการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติ เสริมสร้างศักยภาพชุมชนบ้านห้วยขาบและชุมชนโดยรอบ https://positioningmag.com/1391823 Fri, 08 Jul 2022 10:00:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1391823

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา อำเภอดงพญา และจังหวัดน่าน จัด “โครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 5 หมู่บ้าน รอบบ้านห้วยขาบ” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนในชุมชนพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ มีแผนป้องกันสาธารณภัย และสามารถใช้อุปกรณ์จากศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยประจำหมู่บ้านห้วยขาบได้ และเพื่อให้ชาวบ้านมีความตระหนักรู้ในเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีความพร้อมและสามารถช่วยเหลือหมู่บ้านข้างเคียงได้ยามเกิดภัย ซึ่งโครงการดังกล่าว นับเป็นการต่อยอดและยกระดับ จากการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Community Based Disaster Risk Management หรือ CBDRM) หลังเกิดเหตุดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนชุมชนบ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561

ซึ่งพิธีเปิดโครงการฯ ได้รับเกียรติจาก คุณกฤชเพชร เพชรบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย คุณอภัย จันทนจุลกะ คุณอดิศักดิ์ เทพอาสน์ และ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ร่วมด้วย คณะวิทยากรฝึกอบรมจากกองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย และหน่วยงานส่วนราชการจังหวัด ร่วมพิธี ณ อบต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

โดยในการฝึกอบรม ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน 5 ชุมชนรอบหมู่บ้านห้วยขาบ ประกอบด้วย ชุมชนบ้านสะปัน ชุมชนบ้านห้วยโทน ชุมชนบ้านสะว้าเหนือ ชุมชนบ้านห้วยหมี ชุมชนบ้านสะว้า และชุมชนบ้านห้วยขาบ เข้ารับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ตามแนวการจัดการสาธารณภัยของประเทศไทย แนวทางและการจัดการสาธารณภัยโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน โดยวิทยากรจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมด้วย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน สาขาเชียงกลาง และสาขานาน้อย อาทิ การฝึกใช้เชือกสำหรับการอพยพผู้ประสบภัย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชุมชนหมู่บ้าน ปฏิทินความเสี่ยงภัย วิเคราะห์ปัญหา แนวทางการแก้ปัญหา การลดความเสี่ยงภัย และการฝึกซ้อมการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่มของชุมชน

คุณเกริกเสกข์สัณห์ วาสะศิริ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร กองส่งเสริมการป้องกัน สาธารณภัย เผยว่า “การเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัยในชุมชนเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก เพราะจะช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เมื่อเกิดสาธารณภัยแล้วชาวบ้านจะสามารถช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือคนในชุมชน และชุมชนรอบข้างได้ จึงเกิดเป็นการบูรณาการร่วมกันในทุกหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสาธารณภัย สำหรับการบริหารจัดการสาธารณภัยในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ เป็นที่ทราบกันดีว่าการสนับสนุนของภาคเอกชนนั้น สามารถเข้าถึงผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐนั้นมีขั้นตอนในการดำเนินงานที่อาจไม่ทันต่อสาธารณภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

คุณแว่นแก้ว ใจปิง ชุมชนบ้านห้วยโทน เล่าว่า “ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เช่น การเรียนรู้เรื่องการเกิดอุทกภัยในชุมชน ภัยจากน้ำป่าไหลหลาก การฝึกอพยพคนไปยังที่ปลอดภัยโดยใช้แผนที่ ฝึกการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ โดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์มากค่ะ เพราะพื้นที่ อ.บ่อเกลือ เป็นภูเขาสูงชัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกบ้านอยู่ตามเชิงเขา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกดินโคลนถล่มทับได้ตลอดเวลา การฝึกครั้งนี้จะช่วยฝึกให้คนในชุมชนสามารถช่วยเหลือตนเองและช่วยคนในชุมชนและชุมชนรอบข้างได้ ช่วยลดความสูญเสียค่ะ”

คุณธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ชุมชนบ้านห้วยขาบ เล่าว่า “กิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับชุมชน เพราะที่ผ่านมาผมและชาวบ้านไม่ได้มีโอกาสฝึกอบรม ไม่มีความรู้ การเอาตัวรอด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่มี แต่จากนี้ไปหากเกิดภัยพิบัติขึ้น เราจะมีพื้นฐาน และนำความรู้ที่ได้มาใช้ป้องกันเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด โดยเฉพาะชุมชนบ้านห้วยขาบเอง ทางไทยเบฟได้เคยมาจัดฝึกอบรมให้พวกเราแล้ว ทำให้ชาวบ้านมีพื้นฐานอยู่พอสมควร การได้มีโอกาสกลับมาฝึกอีกครั้ง เหมือนเป็นการทบทวนความรู้ที่เคยอบรมมา ส่วนอุปกรณ์ ป้องกันภัยที่ทางไทยเบฟให้การสนับสนุนมาครั้งก่อน คิดว่าเพียงพอแล้วหากเกิดภัยพิบัติขึ้นในวันข้างหน้าครับ”

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ไทยเบฟ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนและผลักดันให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเป็นหลัก เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นชุมชนต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

]]>
1391823
เสนอขุด “คลองบายพาส” ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก แก้ปัญหาน้ำท่วม-ใช้ประโยชน์ที่ดินยาก https://positioningmag.com/1349452 Tue, 31 Aug 2021 09:06:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1349452 มูลนิธิคนรักเมืองมีนร่วมกับหอการค้าไทย-จีนตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาและเสนอโครงการขุด “คลองบายพาส” ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออกผ่านเขตคลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง แก้ปัญหาน้ำท่วม แทนการกำหนดพื้นที่ขาวทแยงเขียวเป็นฟลัดเวย์ ซึ่งทำให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้ยาก

ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ถูกกำหนดเป็น “ฟลัดเวย์” รับน้ำท่วมมาช้านาน แต่จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี อยู่ระหว่างก่อสร้าง จนถึงการลงทุนในเขต EEC และสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้กลุ่มนักธุรกิจและประชาชนที่มีที่ดินในฟากตะวันออกของกรุงเทพฯ ต้องการปรับโมเดลฟลัดเวย์ในพื้นที่ให้เป็นกิจจะลักษณะมากกว่าเป็นที่รับน้ำล้น และไม่สามารถใช้ประโยชน์อื่นได้นอกจากทำเกษตรกรรม

“วิชาญ มีนชัยนันท์” ประธานมูลนิธิคนรักเมืองมีน ร่วมกับหอการค้าไทย-จีน และกรุงเทพมหานคร เปิด “คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีชมพู” เริ่มการศึกษาเมื่อประมาณ 7 เดือนก่อน โดยมีการเชิญนักธุรกิจและผู้นำชุมชนร่วมพูดคุยกับนักวิชาการด้านผังเมือง

แนวรถไฟฟ้าสองสายที่จะเข้ามาในเขตตะวันออกของกรุงเทพฯ

รวมถึงมีการสำรวจความเห็นประชาชน 3,000 คนใน 6 เขตฝั่งตะวันออกกรุงเทพฯ ได้แก่ คันนายาว สะพานสูง คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง และหนองจอก เพื่อรับฟังความต้องการการพัฒนาของประชาชนในพื้นที่

การศึกษาครั้งนี้นำเสนอโดย “ผศ.ดร.เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี” หนึ่งในคณะกรรมการฯ โดยเป็นอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

ส่วนผสมย่านการค้า-พื้นที่สีเขียว

จากการสำรวจประชาชน 3,000 คนใน 6 เขตดังกล่าว ดร.เพชรลัดดาเสนอผลความต้องการของประชาชนในแต่ละเขต ดังนี้

คลองสามวา – ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ฟลัดเวย์ในขณะนี้ ทำให้ประชาชนต้องการระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีขึ้น

หนองจอก – ต้องการเป็นย่านที่พักอาศัยแนวราบชั้นดี ไม่ต้องการคอนโดมิเนียมหรือตึกสูง ต้องการคงความเป็นย่านการเกษตร มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ยังคงเป็นพื้นที่สีเขียว อากาศดี ไม่แออัด

มีนบุรี – ต้องการยกระดับเป็นศูนย์ธุรกิจแห่งกรุงเทพฯ ตะวันออก จากปัจจุบันมีแนวโน้มเช่นนั้นอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแหล่งการค้า รวมถึงเป็นแหล่งที่พักอาศัยทั้งแนวราบแนวสูง

ลาดกระบังต้องการการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับสนามบินสุวรรณภูมิ (Photo : Shutterstock)

ลาดกระบัง – ต้องการเป็นชุมชน Smart City รองรับความเป็น “เมืองการบิน” ของสนามบินสุวรรณภูมิได้ครบวงจร ตอบโจทย์ได้ทั้งการท่องเที่ยว โรงแรม คลังสินค้า รวมถึงมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง รองรับด้านการศึกษาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เขตลาดกระบังเผชิญปัญหา 2 ประการ คือ 1.อยู่ในแนวเขตปลอดภัยด้านการบิน พัฒนาตึกสูงไม่ได้ แต่ที่ดินกลับมีราคาสูง และ 2.อยู่ในแนวฟลัดเวย์น้ำท่วม

สะพานสูง – ต้องการศูนย์ธุรกิจใหม่ๆ เช่น ตลาดค้าส่ง โดยเปรียบเทียบโมเดลกับตลาดไทที่เป็นแหล่งรวมสินค้าของสดทางเหนือของกรุงเทพฯ

คันนายาว – ต้องการระบบถนนที่ดีขึ้น เพราะเป็นเขตที่มีซอยตันมาก การเดินทางไม่สะดวก

ด้านภาพรวมของทุกเขตมีความต้องการการพัฒนาร่วมกัน ได้แก่ 1.โรงพยาบาล 2.นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคปลอดมลพิษ 3.ตลาดกลางสินค้า 4.สวนสาธารณะ 5.โรงเรียน 6.ถนน

 

ติดล็อกพื้นที่ขาวทแยงเขียวเพราะเป็น “ฟลัดเวย์”

ดร.เพชรลัดดา นำเสนอต่อว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ ยังบังคับใช้ผังเมืองรวมปี 2556 ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีพื้นที่ขาวทแยงเขียวบริเวณกว้างพาดผ่านเขตคลองสามวา มีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง เพราะฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มที่เหมาะกับการเป็นพื้นที่รับน้ำมาแต่เดิม จึงถูกกำหนดให้เป็นฟลัดเวย์รับน้ำและเป็นทางระบายน้ำหากเกิดน้ำท่วมน้ำหลากจากทางเหนือ

ผังเมือง 2556 (ฉบับปัจจุบัน) เทียบกับร่างผังเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ (ที่มา : คณะกรรมการฯ)

โดยขณะนี้กรุงเทพฯ มีร่างผังเมืองใหม่รอประกาศใช้ พื้นที่ขาวทแยงเขียวถูกลดขนาดลงแต่ยังคงพาดผ่านเขตคลองสามวา มีนบุรี และลาดกระบัง แม้เขตที่เป็นสีขาวทแยงเขียวจะลดลง แต่ก็ยังมีอยู่ ซึ่งทำให้ผู้ที่มีที่ดินในเขตสีนี้จะใช้ประโยชน์อื่นไม่ได้นอกจากทำเกษตรกรรม

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องสำคัญ คณะกรรมการฯ จึงมองว่าควรจะหาโมเดลอื่นในการระบายน้ำฝั่งตะวันออก มากกว่าการมีแก้มลิงเก็บน้ำและคันกั้นน้ำไม่ให้ทะลักเข้าไปในกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งทำให้น้ำที่ไหลผ่านฝั่งตะวันออกกรุงเทพฯ ไหลเอ่ออย่างไร้ทิศทางในพื้นที่และระบายออกอ่าวไทยได้ช้า

 

เสนอขุด “คลองบายพาส” แบบซัปโปโร-ดัลลัส

ดร.เพชรลัดดากล่าวว่า โมเดลที่มองว่าเหมาะสมกับพื้นที่คือการขุดคลองไว้เป็นทางระบายน้ำ โดยยกตัวอย่างคลองที่ซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น และที่ดัลลัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

คลองระบายน้ำรับมือน้ำท่วมของซัปโปโร นำเสนอโดย ดร.เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี

โมเดลคลองบายพาสเป็นการขุดคลองกว้างไว้สำรองรับน้ำ ในหน้าน้ำปกติ น้ำจะเป็นคลองเส้นเล็กๆ เท่านั้น ระหว่างสองข้างทางคลองที่ซัปโปโรเป็นพื้นที่สีเขียว มีทางจักรยาน ไว้เป็นพื้นที่สาธารณะ ด้านบนบริเวณสันคลองสองข้างเป็นถนนสัญจร ในหน้าน้ำหลาก คลองทั้งหมดจะใช้ระบายน้ำได้อย่างเต็มที่

จึงเสนอว่าบริเวณฟลัดเวย์ขาวทแยงเขียวปัจจุบัน ควรจะมีการขุดคลองบายพาสกว้าง 300 เมตร และมีพื้นที่ริมคลองอีกฝั่งละ 100 เมตร ยาวประมาณ 60 กิโลเมตร โดยพื้นที่ริมคลองนี้อาจจะเป็นพื้นที่ให้เช่าทำนาตามบริบทเมืองไทย หรือให้สัมปทานทำโซลาร์ฟาร์มหรือวินด์ฟาร์ม บางช่วงอาจเว้นเป็นที่สันทนาการสาธารณะ สามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้

โมเดลการขุดคลองบายพาสแก้น้ำท่วม เสนอโดยคณะกรรมการฯ

คลองนี้ด้านบนรับน้ำจาก จ.ปทุมธานี ด้านล่างจะเชื่อมต่อกับ จ.สมุทรปราการ ซึ่งต้องคิดหาโมเดลเพื่อรับน้ำต่อไปออกอ่าวไทย ทั้งนี้ จ.สมุทรปราการ จะมีคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิเป็นที่รับน้ำระบายน้ำอยู่แล้ว

บริเวณที่เหมาะจะขุดคลองนั้น คณะกรรมการฯ มองว่าจะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้กระทบบ้านเรือนอยู่อาศัยให้น้อยที่สุด และถ้าหากโมเดลนี้เป็นจริง กรุงเทพฯ มีคลองระบายน้ำแล้วก็อาจขอให้มีการปรับผังเมืองปลดล็อกพื้นที่ขาวทแยงเขียวออกได้

 

ประชาชนต้องเสียสละพื้นที่ขุดคลอง?

คำถามสำคัญข้อต่อมาคือ ใครจะยอมให้มีการขุดคลองในพื้นที่ของตนเอง? โดยคลองกว้าง 500 เมตร ยาว 60 กิโลเมตรนี้ต้องตัดผ่านที่ดินประชาชนกว่า 70,000 แปลง

ดร.เพชรลัดดากล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ที่ศึกษาเป็นที่ดินขาวทแยงเขียวซึ่งทำได้เฉพาะเกษตรกรรมอยู่แล้ว จึงเสนอว่า การเสียที่ดินบางส่วนจะทำให้ที่ดินที่ยังเหลืออยู่ของประชาชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตามโมเดลการนำที่ดินข้างคลองไปใช้ทำประโยชน์ และมีถนนตัดผ่าน

หากภาครัฐเห็นด้วยกับแนวทางนี้ มองว่าไม่ควรใช้วิธี “เวนคืน” ที่ดิน เพราะถึงแม้ว่าประชาชนจะได้ค่าชดเชยแต่อาจต้องย้ายออกไปไกลจากพื้นที่เดิมที่คุ้นเคย วิธีที่มองว่าควรใช้และเป็นไปได้มากกว่าคือ “การจัดรูปที่ดิน” ร่วมกับการจัดตั้ง “บรรษัทร่วมทุนเอกชน” ของคนในพื้นที่ ให้ทุกคนที่เสียที่ดินทำคลองบายพาสเป็นผู้ถือหุ้นในบรรษัทที่บริหารจัดการพื้นที่ริมคลอง นำกำไรมาปันผลให้ผู้ถือหุ้น

]]>
1349452