เงินออม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 15 Jun 2023 13:32:12 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 55% ของคนทำงานยังมี “เงินเก็บ” ไม่พอใช้หลัง “เกษียณ” หรือยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันนั้นจะมีพอหรือเปล่า https://positioningmag.com/1434313 Thu, 15 Jun 2023 12:43:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1434313 World Economic Forum สำรวจกลุ่มตัวอย่างจากคนวัยทำงานในหลายทวีป พบว่าคนส่วนใหญ่ 55% ยังไม่มี “เงินเก็บ” พอใช้หลัง “เกษียณ” หรือยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันนั้นจะมีพอหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม 44% ของคนวัยต่ำกว่า 40 ปียังฝันถึงการเกษียณในวัยไม่เกิน 60 ปี แม้แนวโน้มของคนส่วนใหญ่จะทำไม่ได้ตามเป้า

คนในโลกนี้พร้อมแค่ไหนที่จะ “เกษียณ” อายุ? World Economic Forum (WEF) หาคำตอบผ่านการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 397 คนจากหลากหลายทวีป ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ทวีปเอเชีย และตะวันออกกลาง ตามลำดับ โดย 90% สำรวจในกลุ่มคนที่จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีขึ้นไป แต่มีการกระจายตัวของกลุ่มอายุ ตั้งแต่ไม่เกิน 20 ปี จนถึงกลุ่มอายุมากกว่า 70 ปี

การสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะสหประชาชาติพบว่าค่าเฉลี่ยอายุขัยประชากรได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากอายุขัย 48 ปีในปี 1950 ขึ้นมาเป็น 73 ปีในปี 2019 และยังคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะขึ้นไปแตะ 81 ปีในปี 2100 อีกด้วย

ด้วยอายุขัยที่เพิ่มมากขึ้นจากคนรุ่นพ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่าตายายถึง 20 ปี นั่นแปลว่าประชากรวัยเกษียณในยุคต่อจากนี้จะต้องมีเงินเก็บเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณมากกว่าเดิม มิฉะนั้นอาจเกิดความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนยากไร้ในวัยชราได้

นอกจากอายุขัยจะเพิ่มขึ้นแล้ว ความคาดหวังของคนยุคนี้ยังต้องการจะเกษียณเร็วด้วย โดย 44% ของคนวัยไม่เกิน 40 ปี หวังว่าตนจะได้เกษียณในวัยไม่เกิน 60 ปี

(Photo : Shutterstock)

ในทางกลับกัน มีคนกลุ่มใหญ่เหมือนกันที่ต้องการทำงานไปเรื่อยๆ โดยมี 40% ของผู้ถูกสำรวจที่ต้องการทำงานไปจนอายุมากกว่า 65 ปี หากแยกตามประเทศที่อาศัยอยู่ คนทำงานจนถึงวัยชรามักจะอยู่ในเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน

แล้วคนเรามองว่า “ตนเองต้องการรายได้เท่าไหร่หลังเกษียณ?” คำตอบเป็นดังนี้

  • 9% ต้องการ 1 ส่วน 3 ของรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 24% ต้องการ 1 ส่วน 2 ของรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 38% ต้องการ 2 ส่วน 3 ของรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 23% ต้องการเท่ากับรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 6% ต้องการมากกว่ารายรับสุทธิปัจจุบัน
เกษียณ
(ที่มา: World Economic Forum)

 

ความเป็นจริงแล้วคนเราจะไม่ได้ “เกษียณ” ตามแผนที่ฝันไว้

แม้ว่าจะมีตัวเลขในใจแล้วว่าควรมีรายได้เท่าไหร่หลังเกษียณ แต่คนถึง 55% กลับยังไม่มีเงินเพียงพอหรือยังไม่รู้ว่าตัวเองจะมีเงินเก็บได้ถึงเป้าที่ตั้งไว้หลังเกษียณหรือไม่ และเฉพาะในกลุ่มคนวัยไม่เกิน 40 ปี มีถึง 37% ที่ยังไม่เคยคำนวณเลยด้วยว่าตนเองต้องมีเงินเก็บหลังเกษียณมากน้อยแค่ไหน

WEF ยังรายงานด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้วมีความเป็นไปได้ที่คนส่วนใหญ่จะไม่ได้เกษียณตามแผนที่ฝันไว้ เพราะตัวเลขรายได้หลังเกษียณที่ต้องการไม่สอดคล้องกับความจริงที่สามารถทำได้ นั่นแปลว่าคนทำงานจะมีทางออกอยู่ 4 เส้นทางหากต้องการจะถึงฝัน คือ

  1. เก็บเงินออมให้มากขึ้นตั้งแต่วันนี้
  2. เกษียณให้ช้าลง
  3. ยอมรับที่จะมีรายได้หลังเกษียณน้อยลง
  4. ปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เสี่ยงมากขึ้นแต่โอกาสได้ผลตอบแทนจะสูงขึ้น
45% ของกลุ่มคนวัยไม่เกิน 40 ปี คาดว่าตนเองจะต้องมีเงินเก็บเตรียมไว้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่จะทำให้แผนเกษียณของคนยุคต่อไปยากยิ่งขึ้น เพราะคนกลุ่มใหญ่มองว่านอกจากจะเตรียมเงินเก็บให้ตนเองแล้ว “ยังต้องเตรียมเงินเก็บไว้ดูแลพ่อแม่ยามแก่ชราด้วย” โดย 1 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจเห็นด้วยว่าตนเองจะต้องใช้เงินดูแลพ่อแม่ในอนาคต

ตัวเลขนี้ยิ่งสูงขึ้นในกลุ่มคนวัยไม่เกิน 40 ปี ซึ่งมีถึง 45% ที่คาดว่าตนเองจะต้องมีเงินเก็บเตรียมไว้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า โดยเฉพาะผู้ถูกสำรวจจากทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงคนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่คนผิวขาวในทุกทวีป จะยิ่งมีค่าเฉลี่ยปัจจัยเรื่องการดูแลพ่อแม่มากกว่าคนอื่น

สรุปจาก WEF มีความเห็นว่า โลกกำลังก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ที่ประชากรต้องเปลี่ยนมุมมองเรื่องการ “เกษียณ” ที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อน จากในอดีตคนเรามีขั้นตอนการใช้ชีวิต 3 ขั้น คือ วัยเรียน, วัยทำงาน และวัยเกษียณ แต่ยุคต่อไปชีวิตจะมีหลายขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นและคนเราอาจจะมีทางเดินหลายแบบ หมายถึงเราจะต้องอาศัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปลี่ยนแปลงอาชีพ และมีอาชีพใหม่ในช่วงบั้นปลาย รวมถึงโลกทางการเงินอาจจะต้องมีวิธีหรือนวัตกรรมใหม่ที่จะส่งเสริมให้คนยังยืดหยุ่นทางการเงินได้ หากอายุขัยยืนยาวขึ้นกว่าเดิม

Source

]]>
1434313
คลัง เปิดขายพันธบัตร ‘ออมไปด้วยกัน’ รุ่นอายุ 5 และ 10 ปี เริ่ม 15 พ.ย.นี้ https://positioningmag.com/1361962 Sun, 14 Nov 2021 10:49:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1361962 คลังเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น ‘ออมไปด้วยกัน’ วงเงิน 8 หมื่นล้าน เริ่ม 15 พ.ย. – 3 ธ.ค. นี้ ผ่านหลายช่องทางทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ บนแอปฯ เป๋าตัง เคาน์เตอร์ธนาคาร อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โมบายแบงกิ้ง

โดยกระทรวงการคลัง จะเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นออมไปด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท เน้นจำหน่ายให้แก่ประชาชนรายย่อย 6.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทจำหน่ายแก่นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร

‘ออมไปด้วยกัน’ มีอะไรบ้าง ซื้อได้ที่ไหน ? 

สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์ ที่กระทรวงการคลังจะจำหน่ายครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 รุ่นอายุ คือ อายุ 5 ปี และ 10 ปี เเละช่องทางการจำหน่ายแยกเป็น 2 ส่วน มีรายละเอียด ดังนี้

ส่วนที่ 1 จำหน่ายในวอลเล็ต สะสมบอร์ดมั่งคั่ง (สบม.) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2564

พันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี : จ่ายดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได

  • ปีที่ 1 ดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • ปีที่ 2 – 4 ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี
  • ปีที่ 5 ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.10 ต่อปี

พันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี : จ่ายดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได

  • ปีที่ 1 – 3 ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี
  • ปีที่ 4 – 5 ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี
  • ปีที่ 6 – 9 ดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี
  • ปีที่ 10 ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี

วงเงินซื้อเท่าไหร่ ? 

  • ขั้นต่ำ 100 บาท (100 หน่วย) และซื้อเพิ่มเป็นจำนวนเท่าของ 100 บาท โดยจำหน่ายราคาหน่วยละ 1 บาท
  • วงเงินซื้อขั้นสูงไม่เกิน 10,000,000 บาท (10,000,000 หน่วย) ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เข้าซื้อต่อราย

วันที่จ่ายดอกเบี้ย 

  • จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์, พฤษภาคม, สิงหาคม และพฤศจิกายน ของทุกปี จนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอน โดยดอกเบี้ยงวดแรกจะจ่ายวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565

คุณสมบัติผู้ซื้อเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่กรณีผู้เยาว์เมื่อลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง แล้วต้องไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครองที่สาขาธนาคารกรุงไทยสำหรับการซื้อครั้งแรก

ส่วนที่ 2 จำหน่ายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ วงเงิน 70,000 ล้านบาท ลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาท โดยไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง แยกเป็นการจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปก่อนในวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 อัตราดอกเบี้ยทั้งรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี และรอบการจ่ายดอกเบี้ยเหมือนกับผู้ลงทุนผ่านแอปพลิชันเป๋าตัง
ประชาชนที่สนใจสามารถลงทุนผ่านทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งของธนาคารทั้ง 4 แห่ง คุณสมบัติผู้ลงทุนเช่นเดียวกับการลงทุนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่ายและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน
ส่วนที่เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทนั้น จะจำหน่ายให้แก่นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร มีเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปี เปิดจำหน่ายตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.20 จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยจำหน่ายเฉพาะช่องทางเคาน์เตอร์ธนาคารทั้ง 4 แห่ง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง มีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2565 รวม 1.5 แสนล้านบาท โดยรอบนี้ออกพันธบัตร 8 หมื่นล้านบาทแล้ว ส่วนอีก 7 หมื่นล้านบาท จะออกจำหน่ายอีกในช่วงเดือน พฤษภาคม-กันยายน 2565

 

 

 

]]>
1361962
หนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้ ซ้ำคนไทยไร้เงินออม ‘หนี้ครัวเรือน’ ทะลุ 14 ล้านล้าน คาดปีนี้เเตะ 91% ต่อจีดีพี https://positioningmag.com/1326143 Thu, 01 Apr 2021 13:28:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1326143 หนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2563 ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี คิดเป็นกว่า 89.3% ต่อจีดีพี KBANK คาดปีนี้พุ่งต่อ เเตะ 89-91% คนไทยมีเงินออมน้อย อยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ห่วงกังวลหาใช้หนี้คืนไม่ทัน

จากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 ทำให้กระแสรายได้ และสถานะทางการเงินของครัวเรือนบางกลุ่มย่ำแย่ลง ตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 4/2563 ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปิดสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยภาพของระดับหนี้ครัวเรือนที่ทะลุ 14 ล้านล้านบาท นับเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

หนี้เพิ่ม’ 3 ปีติด สวนทางเศรษฐกิจหดตัว

โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับ GDP ในปี 2563 เร่งตัวขึ้นเป็นปีที่ 3 เทียบกับ 78.4% ต่อจีดีพี และ 79.8% ต่อจีดีพีในปี 2561 และปี 2562 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติอัตราการเติบโตของหนี้ พบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี

สะท้อนว่าทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ ต่างก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากผลกระทบของโรคระบาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งข้อสังเกตว่า สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้นั้น ชี้ให้เห็นถึงสถานะของผู้กู้และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมที่แตกต่างกันระหว่างผู้กู้สองกลุ่ม 

กลุ่มแรก เป็นการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ไม่ได้ถูกกระทบมากจาก COVID-19

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้หรือกู้ยืมเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง หรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และสถานะทางการเงินอ่อนแอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ

ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม ถดถอยลง โดยเฉพาะผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ และผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้

Photo : Shutterstock

สำหรับภาระหนี้หรือ Debt Service Ratio (DSR) ของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจอยู่ที่ 44.1% ของรายได้ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2564 

ส่วน DSR ของผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้อยู่ที่ 43.8% ซึ่งภาระหนี้ของผู้กู้ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ภาพรวมของผู้ตอบแบบสอบถามในผลสำรวจรอบนี้ซึ่งอยู่ที่ 42.8% ของรายได้ต่อเดือน

ขณะที่หนี้ครัวเรือนในส่วนอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก็มีทิศทางขยับขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ซบเซาของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลทำให้ครัวเรือนหลายส่วนต้องรัดเข็มขัด และบริหารกระแสรายรับรายจ่ายของครัวเรือนให้มีความสมดุล

สถานะทางการเงินของประชาชนค่อนข้างตึงตัวมากขึ้น และสถานการณ์รายได้ของประชาชนหลายกลุ่ม เริ่มจะไม่สัมพันธ์กับหนี้สินที่ต้องแบกรับภาระ

 

คนไทยไร้เงินออม กังวลใช้หนี้ไม่ทัน

เมื่อสอบถามถึงความสามารถในการผ่อนชำระคืนหนี้ในอนาคตนั้น ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 3 ใน 4 ของผลสำรวจ แสดงความกังวล เนื่องจากยังคงมีประเด็นรายได้ที่ไม่แน่นอน (45.3% ของผู้ตอบ) และค่าครองชีพและภาระหนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ (41.4%) รวมถึงการที่ภาระผ่อนหลังมาตรการเยอะและนานขึ้น (12.7%)

ตอกย้ำว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง น่าจะยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะที่เหลือของปี

ส่วนระดับการออมของภาคครัวเรือนลดต่ำลง หากเปรียบเทียบมุมการออมภาคครัวเรือนต่อรายได้จากผลสำรวจฯ ปี 2564 กับการออมภาคครัวเรือนในปี 2562 โดยเฉลี่ยแล้ว สัดส่วนเงินออมต่อรายได้ของครัวเรือนลดลงประมาณ 3.6% จากที่มีสัดส่วนเงินออมประมาณ 16.1% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 12.5% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2564

และเมื่อเจาะลงไปในกลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและกลุ่มที่มีปัญหาด้านรายได้ จะพบว่า สถานการณ์เงินออมเฉลี่ยของ 2 กลุ่มนี้แย่กว่าภาพรวมค่อนข้างชัด โดยมีเงินออมเพียง 11.7% และ 10.8% ของรายได้ต่อเดือนตามลำดับ

นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะประชาชนที่มีเงินออมในผลสำรวจฯ ในปี 2564 จะพบว่า มีประชาชนเพียง 38.9% จากประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเป็นผู้ที่มีเงินออม แต่ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีเงินออมไม่สูงมาก

หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีเงินออมในผลสำรวจฯ พบว่า มีเพียง 46.2% เท่านั้นที่มีเงินออมสะสมเพียงพอสามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 3 เดือน (ในกรณีที่ขาดรายได้ หรือตกงาน)

สถานการณ์เงินออมจากผลสำรวจฯ รอบนี้ แย่ลงกว่าผลสำรวจเมื่อปี 2562 อย่างชัดเจน โดยผลสำรวจฯ เมื่อปี 2562 สัดส่วนผู้มีเงินออมสะสมที่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 3 เดือน สูงถึง 75% ของผู้มีเงินออมทั้งหมด

คาดปีนี้หนี้ครัวเรือนพุ่งต่อ เเตะ 89-91%

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปี 2564 มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 ที่เติบโตเพียง 3.9%

ภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อ GDP ในปี 2564 เทียบกับระดับ 89.3% ต่อ GDP ในปี 2563 

ทางการไทยคงหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง เมื่อหลังวิกฤตโรคระบาดสิ้นสุดลง โดยอาจกลับมาสานต่อมาตรการดูแลให้การก่อหนี้ของครัวเรือนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability)”

]]>
1326143