เพื่อนร่วมงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 15 Aug 2023 08:39:44 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สังคมอุดมดราม่า! “เพื่อนร่วมงาน” 5 ประเภทที่เป็นไปได้ “ควรหลีกให้ห่าง” https://positioningmag.com/1440928 Mon, 14 Aug 2023 09:10:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1440928 ที่ทำงานส่วนใหญ่มักจะมีคนที่คอยสร้างสังคม ‘toxic’ เต็มไปด้วยปัญหาดราม่า โดยจำแนกบุคคลได้ 5 ประเภทที่เป็น “เพื่อนร่วมงาน” แบบที่ควรหลีกห่างให้เร็วที่สุด

“แม็ตต์ ฮิกกินส์” ซีอีโอบริษัท RSE Ventures บริษัทด้านการลงทุนในนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยก่อตั้งบริษัทนี้มานานกว่า 10 ปี เขียนบทความลงใน CNBC แนะนำถึง “บุคคล 5 ประเภทที่มักจะก่อดราม่าในที่ทำงาน” ข้อมูลทั้งหมดมาจากประสบการณ์ส่วนตัวในการทำธุรกิจ ซึ่งทำให้ได้เห็นรูปแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าของคนกลุ่มนี้

แน่นอนว่า การพบกันครั้งแรกเรามักจะจับไม่ได้ว่าใครที่เป็นบุคคล ‘toxic’ แต่หากทำงานร่วมกันไปสักระยะและเริ่มจับสังเกตได้ว่า บุคคลคนนั้นมีพฤติกรรมเข้าข่ายคน 5 ประเภท ฮิกกินส์แนะนำให้หลีกให้ห่างโดยเร็ว แต่ถ้าห่างไม่ได้ก็ต้องหาทางรับมือ

5 ประเภทเพื่อนร่วมงานที่ควรหลีกให้ห่างเพื่อเลี่ยงดราม่า มีดังนี้

 

1.นางอิจฉา

นางอิจฉา ไม่ใช่แค่ผู้หญิงแต่เพศไหนๆ ก็เป็นได้ เพราะพฤติกรรมของนางอิจฉาในที่ทำงานคือ คนที่ไม่สามารถรู้สึกชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของคนในทีมได้

พวกเขาจะเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจในตนเอง แต่กลับต้องการจะเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อทีม พวกเขาจะไม่ชอบใครก็ตามที่มีทักษะที่เขาเองทำไม่ได้ ถ้าหากคุณอยู่ทีมนี้และทำได้ดีโดดเด่นในการทำงาน พวกเขาจะเห็นว่าคุณคือเป้าหมายภารกิจของตน ภารกิจนั้นคือดึงคุณลงมาให้ได้

รับมืออย่างไร? : นางอิจฉาจะได้เปรียบหากเป้าหมายเป็นคนไม่พูดไม่จา การรับมือกับคนจำพวกนี้คือต้องคอยพูดเสมอว่าเราต่างก็มีจุดแข็งที่ดีต่อทีม ให้เขามองเห็นว่า การมีทั้งคุณและเขาร่วมมือกันจึงทำให้ทีมประสบความสำเร็จ

 

2.คนชอบเอาหน้า

คนชอบเอาหน้า คือนางอิจฉาที่มีความก้าวร้าวและรุกไล่มากยิ่งขึ้น พวกเขาจะหาจุดอ่อนของคุณ ขณะเดียวกันก็หาทางเอาหน้าจากสิ่งที่คุณทำได้ดี และขโมยความดีความชอบไปเป็นของตน

ฮิกกินส์กล่าวว่า จากการทำงานในสายบริหารมานาน ทำให้เห็นว่าคนชอบเอาหน้ามีจำนวนมาก คนกลุ่มนี้จะไม่รู้จักความเห็นอกเห็นใจ และจะเอารัดเอาเปรียบเมื่อมีโอกาส

รับมืออย่างไร? : คุณต้องปกป้องความสำเร็จของตัวเอง เรียกร้องขอเครดิตความดีความชอบบ้างเมื่อถึงจังหวะเวลา กลุ่มคนชอบเอาหน้าจะไม่ค่อยเลือกเอาเปรียบคนที่มีความหนักแน่นในการปกป้องตัวเอง และเห็นได้ชัดว่ามั่นใจในตัวเองสูง

 

3.เหยื่อ

บางคนในที่ทำงานจะชอบรับบท “เหยื่อ” คนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมตลอดเวลา พวกเขาเห็นว่าทุกอุปสรรคที่พบเจอคือเครื่องยืนยันว่าตัวเองกำลังถูกเล่นงานอยู่

รับมืออย่างไร? : คนที่เล่นบทเหยื่อมักจะบอกว่าตัวเองได้รับภาระงานมากเกินไป ดังนั้น คุณสามารถชูมืออาสาเข้าช่วยเหลือได้เลย เพราะส่วนใหญ่คนที่เล่นบทเหยื่อจะปฏิเสธความช่วยเหลือ ในอนาคตก็คอยบอกเขาและได้เลยว่ายินดีช่วยเสมอ พร้อมกับทำให้คนในทีมเห็นว่าคุณพยายามออกปากช่วยแล้ว เพื่อปกป้องตัวคุณเองว่าไม่ได้ผลักภาระงานให้คนที่รับบทเหยื่ออยู่

 

4.ผู้พลีชีพ

ผู้พลีชีพ คือขั้นกว่าของการเล่นบทเหยื่อ เพราะพวกเขาทำงานจริงนะแต่ว่าไม่ได้ทำงานได้ดีจนต้องเล่นแง่ทางจิตวิทยากับทั้งองค์กร

พวกเขามักจะชอบรับงานไปทำเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ใช่เพื่อช่วยทีม พวกเขาทำไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองถูกบีบบังคับให้ต้องทำงานแทนคนอื่น

รับมืออย่างไร? : หาทางคุยกับพวกผู้พลีชีพว่า จะเป็นการดีที่สุดถ้าพวกเขาแบ่งงานให้คนที่เหมาะกับงานนั้นๆ ทำบ้าง กระตุ้นให้พวกเขาปล่อยมือจากงานบางงานไปให้คนอื่นทำ ไม่ใช่รวบงานทุกอย่างมาทำเองหมด

 

5.ยอดนักปั่น

ยอดนักปั่นมักจะใช้พลังงานทุกหยาดหยดในการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อจะสร้างความเสียหายให้ทุกคนรอบตัว ส่วนใหญ่คนประเภทนี้มักจะมีบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง

นี่คือคนที่ทำทุกอย่างที่คน 4 ประเภทด้านบนทำ ไม่ว่าจะเป็นนางอิจฉา ชอบเอาหน้า เล่นบทเหยื่อและผู้พลีชีพไปพร้อมๆ กัน และมักจะ ‘ปั่น’ สร้างเรื่องราวให้คนในทีมเชื่อว่ามันมีดราม่าเกิดขึ้น

รับมืออย่างไร? : ใช้งานคนประเภทนี้เฉพาะทักษะการงานที่พวกเขามีก็พอ ส่วนอื่นไม่ต้องไปสนใจ ถ้าคุณไม่ไปเสียเวลาและพลังงานรับฟังว่าพวกเขาคิดอย่างไร การปั่นที่เขาพยายามเหลือเกินเพื่อให้เกิดดราม่า ก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

Source

 

อ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1440928
สนิทสนมกับ “เพื่อนร่วมงาน” ไว้! เพื่อชีวิตการ Work from Home ที่มีความสุขขึ้น https://positioningmag.com/1339545 Tue, 29 Jun 2021 09:36:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1339545 ความสนิทสนมระหว่างเพื่อนร่วมงานทำให้งานออกมาดีขึ้นและการทำงานมีความสุขขึ้น แต่เมื่อหลายบริษัทยังต้อง Work from Home กันต่อไป การไปกินข้าวเที่ยงด้วยกัน หรือจับกลุ่มคุยเล่นระหว่างเบรกที่ช่วยสานสัมพันธ์ก็หายไป …แล้วจะรักษาความสัมพันธ์แบบนั้นไว้ได้อย่างไรล่ะ

งานวิจัยจาก Harvard Study of Adult Development พบว่า ความสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างเพื่อนร่วมงานทำให้คนทำงานมีความสุขขึ้นในระยะยาว ขณะที่ เจน ฟิชเชอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุณภาพชีวิตของ Deloitte กล่าวเช่นกันว่า ดูจากชีวิตของเราเองที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ยามตื่นนอนไปกับที่ทำงาน การมีมิตรภาพที่ดีในออฟฟิศจึงเป็นประโยชน์

“ธรรมชาติของการทำงานของเรานั้นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันยิ่งกว่าที่ผ่านมา” ฟิชเชอร์กล่าว “ความสัมพันธ์ที่มีความหมายในออฟฟิศจะเป็นเบาะรับแรงกระแทกในสถานการณ์ที่ตึงเครียด และยังส่งผลต่อเนื่องในการบริหารองค์กร ช่วยลดการขาดงาน ทำให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น คุณภาพงานดีขึ้น และเกิดความภักดีต่อองค์กร”

“การมีความรู้สึกว่า ‘เราสู้ไปด้วยกัน’ จะทำให้แม้แต่ภูเขาลูกใหญ่กลับถูกมองว่าเราจะปีนขึ้นไปได้สำเร็จ เพราะพนักงานรู้สึกได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทีมของตน” ดร.ลอร่า กัลป์ลาเกอร์ นักจิตวิทยาองค์กร ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Gallaher Edge กล่าว

แต่เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันของการทำงานยังอยู่ในช่วง Work from Home (และอาจจะกลายเป็นนโยบายระยะยาวด้วย) คนทำงานจะสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกันได้อย่างไร? เหล่านี้คือคำแนะนำจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ

 

1.ใช้เทคโนโลยีสานสัมพันธ์

ฟิชเชอร์จาก Deloitte อธิบายสถานการณ์การทำงานระยะไกลว่า “แทนที่เราจะได้เดินทักทายเพื่อนร่วมงานในโถงทางเดิน และได้คุยกันแบบเห็นหน้าเห็นตา เรากลับต้องมาคุยกันทางแอปฯ แชทหรืออีเมลแทน เครื่องมือเหล่านี้ทำให้งานเสร็จก็จริง แต่มันได้ลบความเป็นมนุษย์และการสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันไประหว่างขั้นตอนทำงาน”

แต่เนื่องจากเรากำลังทำงานระยะไกล เทคโนโลยีก็เป็นตัวเลือกเดียวที่เรามีเพื่อจะสร้างสัมพันธ์ โดยฟิชเชอร์แนะนำว่าที่ทำงานต้องระมัดระวังการใช้งาน เช่น ไม่ใช้ช่องทางเดียวกันในการคุยเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว อาจจะแยกเรื่องส่วนตัวไปคุยกันบนโซเชียลมีเดียเท่านั้น เป็นต้น

ด้านดร.กัลลาเกอร์ นักจิตวิทยาองค์กรระบุว่า ออฟฟิศสามารถสร้างสัมพันธ์ออนไลน์กันได้ผ่านการพูดคุยเล่นแบบ ‘ไม่เป็นทางการ’ ก่อนหรือหลังประชุมจริงสัก 5 นาที หากทำเช่นนี้ทุกครั้ง ความผูกพันจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ

เธอยังเตือนด้วยว่า บางบริษัทอาจกำลังทำตาราง ‘Zoom Happy Hour’ ให้คนประชุมผ่าน Zoom เพื่อมาคุยเล่นกัน แต่จริงๆ แล้วตารางลักษณะนี้ไม่เหมาะ เพราะทำให้คนรู้สึกว่ามี ‘ตารางงาน’ เพิ่มบนปฏิทินของตัวเอง

ฟิชเชอร์แนะเพิ่มเติมว่า การคุยเล่นระหว่างกันไม่ควรจะถามคำถามผิวเผินอย่าง “สบายดีไหม” เพราะคนก็จะตอบแค่ว่า “สบายดีค่า/ครับ” แล้วก็เข้าเรื่องงานทันที แต่ควรจะถามคำถามที่สนใจคู่สนทนาจริงๆ และทำให้ได้คุยเล่นกันต่อ เช่น “ช่วงนี้มีปัญหานอนไม่หลับไหม” ซึ่งเธอพบว่าคนมักจะมีคำตอบและท่าทีต่างๆ กัน

 

2.สร้างความเชื่อใจ

Photo : Shutterstock

ฟิชเชอร์แนะนำว่า คุณควรจะให้เกียรติเพื่อนร่วมงานเมื่อพวกเขากำลังพูดถึงเรื่องส่วนตัวในชีวิตอยู่ “ขอให้แน่ใจว่า คุณอยู่หน้าจอและมีส่วนร่วมกับสิ่งที่ฟัง กำจัดสิ่งรบกวนก่อนเข้าสาย โดยเฉพาะเมื่อวิดีโอคอลแบบตัวต่อตัวหรือเป็นกลุ่มเล็ก ซึ่งจะเห็นได้ชัดมากถ้าคุณหันไปสนใจสิ่งอื่น”

ผู้นำยังเป็นคนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อใจในทีม ผู้จัดการหรือหัวหน้าควรจะเป็นตัวอย่างในการสร้างมิตรภาพ เชื้อเชิญให้คนในทีมทำตาม

ความเชื่อใจในทีมเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะทำให้ทีมเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ดร.กัลลาเกอร์ยกตัวอย่างว่า “หากเราไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นแค่เพื่อนร่วมงาน และเมื่อคนคนหนึ่งมาเข้าประชุมเลท เราอาจจะเริ่มสร้างเรื่องในหัวแล้วว่าเขาหรือเธอคนนั้นไม่ให้ความสำคัญกับเวลาของเราเลย แต่ถ้าเรามีความเชื่อใจ ก็มีแนวโน้มว่าเราจะสร้างสมมติฐานแบบใจกว้างมากกว่า เป็นความสงสัยถึงสาเหตุของการมาสาย มากกว่าความโมโห”

 

3.มีขอบเขตของความเป็นเพื่อน

เหตุผลใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งที่ทำให้คนทำงานลังเลที่จะเป็นเพื่อนกับคนในออฟฟิศคือ หลายคนกลัวว่าความสัมพันธ์จะล้ำเส้นเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับบริหาร

ผู้จัดการหรือกระทั่งเพื่อนร่วมงานเองเกรงว่า การมีมิตรภาพที่ดีต่อกันจะทำให้เราไม่กล้าให้ความเห็นเชิงลบกับใครบางคนถ้าเขาทำสิ่งที่ผิดพลาด

นอกจากนี้ บางคนก็กลัวว่าความเป็นเพื่อนทำให้บางคนก้าวล้ำเส้นแบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัว แต่ถ้าหากแต่ละคนสามารถขีดเส้นได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องส่วนตัว และเรื่องไหนคือการทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานก็จะยั่งยืน

การสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในช่วงโรคระบาดและการ Work from Home อาจจะยากขึ้น แต่ฟิชเชอร์ย้ำว่า กุญแจสำคัญคือการสร้างมันอย่างตั้งใจ

Source

]]>
1339545